เมื่อกลางเดือนกันยายน 2022 ที่ผ่านมา มีข่าวใหญ่ที่เขย่าทั้งวงการธุรกิจและวงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เมื่อสื่อสำนักต่าง ๆ พาดหัวว่า

“ผู้ก่อตั้งบริษัท Patagonia บริจาคบริษัทเพื่อต่อสู้กับ Climate Change”

ผู้ก่อตั้ง Patagonia คือใคร ทำไมจึงบริจาคบริษัทมูลค่ากว่า 3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อการต่อสู้กับวิกฤตการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ครอบครัวและทายาทคิดอย่างไรกับการตัดสินใจของเขา

 จากนักปีนผาสู่มหาเศรษฐีพันล้าน

Patagonia ธุรกิจครอบครัวที่ลูกหลานไม่ใช่ทายาท แต่เป็นโลกใบนี้และเราทุกคน

อีวอน ชูนาร์ด (Yvon Chouinard) ผู้ก่อตั้งบริษัท Patagonia เกิดเมื่อปี1938 ชอบการปีนเขาและการโต้คลื่นมาตั้งแต่เล็ก

ในปี 1957 อีวอนในวัย 19 ปีเริ่มทำหมุดนิรภัยสำหรับปีนเขา (Pitons) ใช้เอง และยังทำใส่ท้ายรถขายหาเงินด้วย จนในที่สุดตั้งเป็นบริษัท Chouinard Equipment ที่เติบโตประสบความสำเร็จ และอีก 20 กว่าปีต่อมา ได้ขึ้นแท่นเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์ปีนเขาที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

ขณะเดียวกัน ธุรกิจของเขาก็เป็นผู้ทำลายสิ่งแวดล้อมตัวสำคัญ เพราะหมุดนิรภัยที่ตอกเข้าไปบนหน้าผาสร้างรอยแผลเป็นบนแผ่นหินครั้งแล้วครั้งเล่า ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการสำนึกถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของเขาเองด้วย

ในปี 1972 Chouinard Equipment จึงเสนออุปกรณ์ทางเลือก คือ Aluminum Chocks ที่เป็นมิตรกับธรรมชาติมากกว่า ทำให้ในเวลาไม่กี่เดือน ยอดขาย Pitons หดตัวลง ขณะที่ยอดขายผลิตภัณฑ์ใหม่นี้พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

สิบกว่าปีต่อมา Chouinard Equipment ประสบปัญหาโดนฟ้องร้องเรื่องผลิตภัณฑ์ จนในที่สุดก็ประกาศล้มละลาย และขายทรัพย์สินให้ลูกจ้างไปเปิดเป็นบริษัทใหม่ชื่อ Black Diamond Equipment

ถึงแม้ว่าจะไม่มีบริษัท Chouinard Equipment แล้ว แต่ Yvon ยังมีอีกหนึ่งธุรกิจที่เติบโตได้ดีอย่างเสื้อผ้าเอาต์ดอร์ ซึ่งมีจุดกำเนิดในปี 1970 จากที่เขาไปปีนเขาที่สกอตแลนด์ แล้วเอาเสื้อรักบี้มีปกไปใส่ ปกเสื้อรักบี้ที่ทำจากวัสดุทนทานช่วยป้องกันเชือกปีนเขาไม่ให้บาดผิวหนังที่คอ ทำให้เพื่อน ๆ นักปีนเขาสนใจในเสื้อที่เขาสวมใส่

Yvon เล็งเห็นช่องทางธุรกิจ จึงเริ่มขายเสื้อรักบี้เพื่อเสริมธุรกิจอุปกรณ์ปีนเขาที่กำไรต่ำ

นอกจากนี้ เขายังพบว่าเสื้อผ้าที่นักปีนเขาใส่ในเวลานั้นมักทำจากผ้าฝ้ายหรือขนสัตว์ ซึ่งมีปัญหาทั้งเปียกและอมความชื้น เขาจึงได้ไอเดียว่า วัสดุสังเคราะห์ที่ชาวประมงในเขตมหาสมุทรแอตแลนติกตอนเหนือใช้ทำเสื้อผ้าน่าจะเหมาะสำหรับนักปีนเขา เพราะอุ่น กันน้ำ และแห้งไว ไม่ต้องใส่เสื้อผ้าหลายชั้น

ในที่สุดเขาก็ก่อตั้งบริษัท Patagonia ขึ้นที่เมือง Ventura ซึ่งเป็นเมืองชายทะเลในรัฐแคลิฟอร์เนียในปี 1973 ธุรกิจเติบโตต่อเนื่องจนประมาณกันว่า บริษัทนี้มีมูลค่ากว่า 3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปัจจุบัน

Patagonia ธุรกิจครอบครัวที่ลูกหลานไม่ใช่ทายาท แต่เป็นโลกใบนี้และเราทุกคน
(สำนักงานใหญ่ของ Patagonia โดย Kyle Sparks)

 ‘ผู้มาก่อนกาล’ ด้านกระแส Green

Patagonia เป็นบริษัทที่ให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมมาก และถือว่าเป็นหนึ่งในธุรกิจผู้บุกเบิกงานอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพราะเริ่มและทำต่อเนื่องมาตั้งแต่ทศวรรษ 1970 ซึ่งเป็นเวลาหลายสิบปีีก่อนที่ประเด็น Corporate Social Responsibility (CSR) หรือประเด็น Environmental, Social, and Governance (ESG) จะกลายมาเป็นกระแสหลักในการประกอบธุรกิจในปัจจุบัน

หมุดหมายที่สำคัญคือปี 1986 ที่ Patagonia ให้คำมั่นสัญญาว่า จะบริจาคเงิน 10% ของกำไรเพื่องานสาธารณประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อม และต่อมาเปลี่ยนนโยบายให้เข้มข้นขึ้นไปอีก โดยสัญญาว่าจะบริจาคเงิน 1% ของยอดขาย ไม่ว่าบริษัทจะได้กำไรหรือไม่ก็ตาม ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการ ‘1% for the Planet’ ที่ก่อตั้งโดย Yvon และเพื่อนนักธุรกิจในปี 2002

ภายในบริษัท Patagonia เองก็ได้มีการเริ่มใช้กระดาษรีไซเคิลมาตั้งแต่ทศวรรษ 1980 หรือกว่า 40 ปีมาแล้ว และยังมีการพัฒนา Recycled Polyester จากขวดน้ำอัดลมอีกด้วย

นอกจากนี้ในปี 1994 บริษัทประกาศว่าจะใช้ผ้าฝ้ายออร์แกนิก 100% ภายใน 2 ปี ซึ่งทำสำเร็จ หรือไม่นานมานี้ในปี 2017 ก็ให้ลูกค้านำเสื้อผ้าใช้แล้วแต่ยังอยู่ในสภาพดีมาแลกเป็น Store Credits สำหรับซื้อสินค้าใหม่ได้ ซึ่ง Patagonia ก็เอาสินค้าเก่าเหล่านี้ไปทำความสะอาดแล้วขายในเว็บไซต์ชื่อ Worn Wear 

ในที่สุดในปี 2018 Yvon เปลี่ยน Mission Statement ของแบรนด์เป็น ‘We’re in business to save our home planet.’ เพื่อตอกย้ำว่าพันธกิจของพวกเขาคือการปกป้องโลก

Patagonia ธุรกิจครอบครัวที่ลูกหลานไม่ใช่ทายาท แต่เป็นโลกใบนี้และเราทุกคน

 คู่ชีวิตผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ

นอกเหนือจากชายคนนี้ ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของ Patagonia ทั้งในด้านธุรกิจและด้านสังคมก็คือ มาลินดา ชูนาร์ด (Malinda Chouinard) ภรรยาผู้ไม่ชอบออกหน้าหรือออกสื่อ แต่มีบทบาทไม่น้อยกว่าสามีเลยทีเดียว

Yvon กับ Malinda พบกันที่อุทยานแห่งชาติโยเซมิตี เธอเป็นนักเรียนศิลปะและคหกรรมผู้ไปรับจ้างเป็นพนักงานที่ Yosemite Lodge ทั้งคู่แต่งงานกันในปี 1971 หลังจากฝ่ายหญิงเรียนจบ

Malinda มีบทบาทบริษัทตั้งแต่เริ่มแรก ตอนก่อตั้งบริษัท เธอเป็นคนตระเวนหาวัสดุผ้าสังเคราะห์ในลอสแอนเจลิสมาลองตัดเย็บเป็นต้นแบบ

Patagonia ธุรกิจครอบครัวที่ลูกหลานไม่ใช่ทายาท แต่เป็นโลกใบนี้และเราทุกคน

นอกจากนี้ยังริเริ่มศูนย์เลี้ยงเด็กที่บริษัทในปี 1983 เพื่อเป็นสถานที่ให้ลูก ๆ พนักงานเล่น ทำให้พนักงานมีโอกาสได้ทานข้าวเที่ยงกับลูกอีกด้วย ก่อนจะพัฒนาเป็น The Great Pacific Development Center ในปี 1985 ซึ่งเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ทำให้ Patagonia เป็นบริษัทที่ขึ้นชื่อมากในเรื่องสวัสดิการพนักงาน

ถึงแม้ว่า Malinda จะทำตัวเงียบ ๆ แต่ทุกคนในบริษัทต่างรู้ว่าเธออยู่เบื้องหลังการบริหารธุรกิจ อีเมลที่เธอส่งถึงพนักงานจะเขียนแบบละเอียดยิบ จนพนักงานเรียกว่า Malindagrams

 คิดนอกกรอบเพื่อตอบโจทย์ Growth and Green

นอกเหนือจากการบริจาคเงินของบริษัทแล้ว สองสามีภรรยายังบริจาคเงินเดือนของตนเองครึ่งหนึ่งให้การกุศล

Yvon เป็นคนสมถะ นั่งเครื่องบินในชั้นประหยัดและไม่เชื่อเรื่องการลงทุนในตลาดหุ้น เขาเคยลงทุนในกองทุนเพื่อการเกษียณ แต่ถอนเงินออกมาแล้วนำเงินไปลงทุนกับป่าไม้ใน Pacific Northwest เพื่ออนุรักษ์แหล่งน้ำของปลาแซลมอนกับปลา Steelhead แทน

ในปี 2013 เขาตั้ง Venture Capital เพื่อสนับสนุนสตาร์ทอัพที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและสังคม เพื่อให้ผู้ประกอบการธุรกิจคิดและวางแผนสำหรับระยะยาว

อย่างไรก็ตาม เขามีมุมมองต่างจากกระแส CSR หรือ ESG ที่บริษัทต่าง ๆ กำลังตื่นตัว เขาไม่เชื่อว่าธุรกิจจะทำอะไรเพื่อส่งเสริมความยั่งยืนได้มาก และเห็นว่าสิ่งที่ทำกันอยู่เป็นแค่การฟอกเขียว (Greenwashing) ถ้าอธิบายให้เห็นภาพคือ การอ้างว่าใส่ใจสิ่งแวดล้อม แต่สุดท้ายก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน เขาเห็นว่าธุรกิจต่าง ๆ สนใจเรื่องการเติบโตเป็นหลัก จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่บริษัทมหาชน (Public Company) จะปรับตัวให้เป็นธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมได้

Yvon บอกว่า เราต้องหาวิธีใหม่เพื่อให้ธุรกิจจัดสรรเงินไปใช้แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้มากขึ้น โดยไม่ทำลายคุณค่าของบริษัทด้วย เพราะทางเลือกในปัจจุบันไม่สามารถทำให้เราบรรลุวัตถุประสงค์นี้ได้

เช่นการขายบริษัทแล้วนำเงินไปบริจาค ซึ่งย่อมได้เงินมาบริจาคตามวัตถุประสงค์ แต่มั่นใจไม่ได้ว่าเจ้าของรายใหม่จะรักษาคุณค่าของบริษัทไว้ได้

หรือการระดมทุนจากตลาดหลักทรัพย์โดยการขายหุ้นหรือ Initial Public Offerings (IPO) ซึ่งเขาคิดว่าน่าจะนำไปสู่ความหายนะ เพราะบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ย่อมสนใจกำไรในระยะสั้นมากกว่าต้นทุนในระยะยาว

ในเมื่อวิธีที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่ใช่ทางเลือก Yvon จึงต้องสร้างทางเลือกใหม่ขึ้นมาเอง โดยแทนที่จะหากำไรจากธรรมชาติเพื่อสร้างความมั่งคั่งให้นักลงทุน เขาจะใช้ความมั่งคั่งจาก Patagonia ในการคุ้มครองปกป้องสิ่งแวดล้อม

แนวคิดนี้นำไปสู่ข่าวที่เขย่าวงการธุรกิจและวงการสิ่งแวดล้อมในปี 2022 เมื่อYvon ประกาศว่า“Earth is now our only shareholder.” หรือโลกใบนี้เป็นผู้ถือหุ้นแต่เพียงผู้เดียวของบริษัท

Patagonia ธุรกิจครอบครัวที่ลูกหลานไม่ใช่ทายาท แต่เป็นโลกใบนี้และเราทุกคน

เขาเปลี่ยนโครงสร้างผู้ถือหุ้นของบริษัท Patagonia เพื่อสะท้อนความเชื่อนี้โดยโอนหุ้นที่มีสิทธิ์ออกเสียง (Voting Stock) ซึ่งคิดเป็น 2% ของหุ้นทั้งหมด ไปให้ Patagonia Purpose Trust ที่ดูแลโดยครอบครัว Chouinard และที่ปรึกษา เพื่อเป็นหลักประกันว่า บริษัทยังดำเนินกิจการโดยคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมไว้ และโอนหุ้นที่ไม่มีสิทธิ์ออกเสียง (Non-voting Stock) ที่เหลืออีก 98% ของหุ้นทั้งหมด ไปให้ Holdfast Collective องค์กรไม่แสวงหากำไรที่มุ่งต่อสู้เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมและภาวะโลกร้อน โดยทุกปีกำไรหลังหักการลงทุนในบริษัทจะจ่ายเป็นปันผลให้ Holdfast Collective ในฐานะผู้ถือหุ้นเพื่อใช้สู้วิกฤตสิ่งแวดล้อม

ทายาท ‘ธุรกิจ-ครอบครัว’

ผู้อ่านหลายท่านอาจจะมีคำถามหลายข้อขึ้นในใจ

คำถามแรก Yvon กับ Malinda มีทายาทหรือไม่ ทำไมไม่ยกหุ้นบริษัทให้กับลูกหลาน คำตอบก็คือเขามีลูกชาย 1 คน และลูกสาว 1 คน

คำถามที่สอง ลูก ๆ ของเขาเห็นด้วยกับการบริจาคนี้หรือเปล่า คำตอบก็คงแค่เป็นการคาดเดา เพราะลูก ๆ ไม่ได้ออกมาแถลงข่าวใด ๆ 

แต่ถ้าศึกษาจากคำสัมภาษณ์ของลูก ๆ ในอดีตที่ผ่านมา เราจะเห็นว่าคุณค่าที่คนในครอบครัวยึดมั่น (Family Value) เรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมและการใส่ใจรับผิดชอบต่อสังคมนั้น ส่งต่อไปยังลูกทั้งสองของ Yvon และ Malinda อย่างชัดเจน

Fletcher ลูกชายคนโตทำธุรกิจกระดานโต้คลื่น ชื่อ FCD Surfboard (Fletcher Chouinard Design) ที่ Patagonia สนับสนุน เขายึดมั่นในการทำธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเหมือนพ่อแม่

Fletcher บอกว่า ไม่ว่าอย่างไรการทำกระดานโต้คลื่นก็ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม แม้แต่การใช้ไม้จากต้นไม้ที่ตายแล้ว ยังมีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ที่สร้าง Carbon Footprint ดังนั้น วิธีที่จะสร้างผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด คือการทำกระดานโต้คลื่นให้คงทนและใช้ได้นานที่สุด

ส่วน Claire ลูกสาวคนเล็กก็ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนและความรับผิดชอบต่อสังคมเช่นกัน ปัจจุบันเธอดูแลด้านการออกแบบเสื้อผ้าของธุรกิจครอบครัว โดยยึดถือหลักการของการผลิตที่รับผิดชอบต่อสังคม (Responsible Manufacturing) ซึ่งได้ให้สัมภาษณ์ว่า ถ้าบริษัททำสิ่งที่เธอไม่เห็นด้วย เธอก็ไม่ต้องการทำงานที่นี่อีกต่อไป

ลูกไม้ทั้งสองหล่นไม่ไกลต้น พวกเขาไม่ได้เป็นแค่เจ้าของหรือกรรมการบริษัท แต่เป็นลูกจ้างกินเงินเดือนปกติด้วย เขาไม่ได้ถูกเลี้ยงมาให้สนใจเรื่องเงิน ในทางกลับกัน กลับอายที่เป็นคนรวยเสียอีก นั่นหมายความว่าทั้งคู่น่าจะสนับสนุนการตัดสินใจครั้งสำคัญของพ่อแม่

Patagonia เป็นตัวอย่างของธุรกิจที่ลูก ๆ ไม่ได้เป็นทายาทกองมรดกธุรกิจของครอบครัว แต่เป็นผู้สืบทอดความยึดมั่นและทุ่มเทของพ่อแม่ในเรื่องการต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อม

ในขณะที่ทายาทที่ได้รับมรดกที่เป็นทรัพย์สินคือโลกใบนี้ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือคนที่อาศัยอยู่บนโลกใบนี้ทุกคน ทั้งในปัจจุบันและอนาคต

Patagonia ธุรกิจครอบครัวที่ลูกหลานไม่ใช่ทายาท แต่เป็นโลกใบนี้และเราทุกคน

ภาพ : Campbell Brewer

ข้อมูลอ้างอิง

https://www.patagonia.com/company-history/

https://www.patagonia.com/ownership/

https://www.newyorker.com/magazine/2016/09/19/patagonias-philosopher-king

Writer

Avatar

ดร.กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์

ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ University of California, San Diego นักวิชาการผู้หลงใหลเรื่องราวจากโลกอดีต รักการเดินทางสำรวจโลกปัจจุบัน และสนใจวิถีชีวิตของผู้คนในโลกอนาคต