10 พฤษภาคม 2019
74 K

นครสวรรค์มีแลนด์มาร์กแล้วนะ

เชื่อว่าใครๆ ก็ต้องตะลึงกับสิ่งก่อสร้างรูปทรงเรียวยาวขนาดใหญ่ พาดลอยขึ้นคล้ายสะพาน ตัวอาคารห่อหุ้มด้วยเหล็กและทองแดง ดูเผินๆ เหมือนหลุดมาจากหนังไซไฟ จนแทบลืมไปว่าเรากำลังอยู่ในเมืองเล็กๆ ไม่ใช่มหานครใหญ่แต่อย่างใด

สถานที่สุดล้ำยุคนี้ชื่อว่า ‘พาสาน’ ตั้งอยู่บริเวณจุดเริ่มต้นของแม่น้ำเจ้าพระยา ที่แม่น้ำสองสี ปิง-วัง และ ยม-น่าน มาบรรจบกันพอดี ตัวสถาปัตยกรรมทำหน้าที่เป็นอาคารให้ความรู้เรื่องน้ำ ส่วนพื้นที่รอบๆ ก็เป็นลานสาธารณะให้ประชาชนชาวนครสวรรค์ และนักเดินทางที่ผ่านเมืองนี้ไปมา ได้ใช้บริการ

กว่าจะได้มาเป็นแลนด์มาร์กอย่างที่คุณเห็นตอนนี้ไม่ใช่ง่ายๆ แท้จริงแล้วผ่านการต่อสู้ฝ่าฟันมา 12 ปีกว่าจะสำเร็จ ยิ่งไปกว่านั้นคือ ตลอด 12 ปี ชาวนครสวรรค์กันเองนี่แหละที่เป็นทั้งผู้ผลักดันและผู้ลงมือทำอยู่ตลอดทาง คนที่เล่าเรื่องนี้ให้เราฟังคือ ดร.ชเล คุณาวงศ์ คณะกรรมการฝ่ายวิชาชีพสถาปัตยกรรม ฝ่ายวิชาการ อดีตอุปนายกสมาคมสถาปนิกสยามฯ ผู้เป็นชาวนครสวรรค์แต่กำเนิด

ชเลบอกเราว่า หากอยากรู้ว่าแลนด์มาร์กแห่งนี้สำคัญกับคนนครสวรรค์อย่างไร ต้องย้อนกลับไปดูตั้งแต่เริ่มนับหนึ่ง

พาสาน, นครสวรรค์
01

ที่มา

นครสวรรค์เป็นเมืองชุมทาง

หากลองกางแผนที่ประเทศไทย แล้วเอานิ้วลากเส้นจากกรุงเทพฯ ขึ้นไปจังหวัดใดๆ ทางภาคเหนือ ก็จะพบว่าต้องผ่านนครสวรรค์ด้วยกันทั้งสิ้น

นี่คือสาเหตุที่ทำให้นครสวรรค์สมัยก่อนคึกคัก ในเมื่อรถวิ่งไกลๆ แล้วต้องหยุดพัก แถมถนนหนทางก็ไม่ดีเหมือนสมัยนี้ หากชาวภาคกลางจะเดินทางขึ้นเหนือคราใด ขับไปได้ 3 – 4 ชั่วโมงแล้วก็ย่อมต้องหยุดพักใจที่นครสวรรค์อยู่เสมอ

ตัดภาพมาในปัจจุบัน เมื่อถนนพัฒนาขึ้นจนขับรถได้ลื่นไหล คนก็วิ่งผ่านนครสวรรค์ไปโดยไม่คิดจะแวะพัก ทำให้จังหวัดนี้เหงาลงเรื่อยๆ

ชาวนครสวรรค์ทุกคนต่างรู้ปัญหานี้ และเริ่มคิดว่าต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อฟื้นชีวิตเมืองกลับมา

พาสาน, นครสวรรค์
02

ริเริ่ม

ใช่ โครงการนี้เกิดจากภายในเทศบาลนครสวรรค์เอง

ชเลบอกเราว่า โดยทั่วไปแล้วโครงการพัฒนาเมืองทั่วประเทศมักเป็นคำสั่งที่มาจากส่วนกลาง แต่สำหรับงานนี้คือเทศบาลเองที่ลุกขึ้นมาศึกษาวิจัยเมืองเพื่อจัดทำผังเมืองนครสวรรค์เพื่อให้เมืองมีแนวทางไว้เบื้องต้น หากโปรเจกต์จากกรมโยธาธิการเข้ามาเมื่อไร เทศบาลจะได้มีความเข้าใจเพียงพอที่จะนำมาปรับใช้กับนครสวรรค์

ทีมที่เข้ามาทำงานศึกษาวิจัยประกอบด้วยบริษัทสถาปนิก 3 แห่ง คือ บริษัท เอ-เซเว่น คอร์ปอเรชั่น จำกัด, บริษัท ดีพิคต์ จำกัด และบริษัท องศา สถาปนิก จำกัด ที่ชเลทำงานอยู่ ทุกคนมาสุมหัวกันอยู่ในจังหวัดนี้จนออกมาเป็นแผนเสนอแนวทางพัฒนาเมืองหลากหลายประเภท เช่นการทำเส้นทางจักรยาน ปรับปรุงทางเท้า เพิ่มพื้นที่สวนสาธารณะและลานออกกำลังกาย รวมถึงการสร้างหอชมเมือง

หนึ่งในนั้นคือเกาะยม ต้นแม่น้ำเจ้าพระยา

พื้นที่ที่เราเรียกกันว่า ‘ปากน้ำโพ’ ไม่ได้สำคัญกับแค่คนนครสวรรค์ แต่รวมถึงทั้งประเทศด้วย เพราะเป็นจุดกำเนิดของแม่น้ำสายหลักอันดับหนึ่งที่หล่อเลี้ยงประเทศไทย จึงสมเหตุสมผลทุกประการที่ทีมเลือกพัฒนาบริเวณนี้ก่อนเป็นงานแรก

นี่คือโอกาสครั้งหนึ่งในชีวิตที่ชาวนครสวรรค์จะได้ทำเพื่อชาติโดยตรง

พาสาน, นครสวรรค์
03

ระดมทุน

เมื่อคิดได้คร่าวๆ ว่าจะทำอะไร ขั้นต่อไปคือหาทุนมาทำ

พื้นที่ตรงต้นแม่น้ำมีโฉนดแยกกันอยู่จำนวนมาก และเทศบาลก็ไม่ได้มีงบประมาณเพียงพอจะไล่ซื้อที่ดินทั้งหมด พวกเขาจึงต้องหาทางเรี่ยไรเงินบริจาค และการรับบริจาคก็ต้องเริ่มจากการทำให้ผู้คนรู้ก่อนว่าโครงการนี้มีตัวตนอยู่

กิจกรรมหลากหลายถูกจัดขึ้น ตั้งแต่ชวนกันมาวาดรูปต้นแม่น้ำเจ้าพระยาและนำไปจัดแสดงพร้อมเล่าเรื่องโครงการ รวมถึงการทำ focus group ที่มีชาวบ้านมาร่วมหารือกันว่าถ้าอยากทำอะไรสักอย่างบนจุดยุทธศาสตร์ดังกล่าวจะทำอะไรดี

“เราถามเขาว่าอยากให้พื้นที่ตรงนี้เป็นอะไร ก็มีคนบอกว่ากวนอิมยักษ์เพราะเขาเป็นชุมชนจีน บ้างว่าควรเป็นหลวงพ่อเดิมยักษ์เพราะหลวงพ่อเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองนครสวรรค์ เราก็ถามต่อไปว่า แล้วสิ่งเหล่านั้นจะเป็นสัญลักษณ์ของต้นแม่น้ำเจ้าพระยาได้จริงหรือเปล่า พอไม่มีใครตอบได้ว่ามันจะเป็นได้ยังไง เขาก็ เออ จริงด้วย เริ่มเข้าใจ” ชเลเล่าให้ฟัง

เขาเสริมว่า “คนท้องถิ่นทุกคนต้องอยากให้ท้องถิ่นดีอยู่แล้ว เพียงแต่หลายคนก็ไม่รู้ว่าจะช่วยเหลือหรือมีส่วนร่วมอย่างไรได้บ้าง”

การดึงประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่เนิ่นๆ จึงเป็นการยิงปืนครั้งเดียวได้นกหลายตัว ได้ทั้งระดมเงินบริจาค ได้สร้างความเข้าใจให้ตรงกัน ได้ทำให้เกิดความตระหนักในวงกว้าง จนโครงการไม่อาจล้มเลิกได้ง่ายๆ และสำคัญที่สุดคือ ได้โจทย์ในการประกวดแบบที่มาจากเสียงประชาชนจริงๆ

พาสาน, นครสวรรค์
04

ประกวดแบบ

แม้จะรู้แล้วว่าอยากให้ต้นแม่น้ำเป็นอะไร แต่ก็ยังไม่มีใครเห็นภาพสิ่งที่จะก่อสร้างในเชิงรูปธรรม

จึงเกิด ‘โครงการประกวดแบบต้นแม่น้ำเจ้าพระยา’ ขึ้น

โจทย์ในการประกวดแบบ ประกอบไปด้วยสองข้อหลักๆ คือ หนึ่ง เป็นสัญลักษณ์ของต้นแม่น้ำเจ้าพระยาที่คนอยากแวะเวียนมาหา และสอง ภายในมีนิทรรศการเล็กๆ สำหรับให้ความรู้เรื่องแม่น้ำเจ้าพระยา

จากโจทย์ 2 ข้อหลักนี้ ชเลร่วมกับสมาคมสถาปนิกสยามฯ จัดงานประกวดแบบ 2 รอบ โดยรอบแรกเป็นการประกวดแบบเปิดกว้างที่ใครอยากสมัครเข้ามาก็ได้ทั้งนั้น จะไม่เป็นสถาปนิกเลย เป็นแค่เด็ก ป.4 ก็ได้ ตราบเท่าที่สร้างสรรค์สิ่งที่เป็นสัญลักษณ์ของต้นแม่น้ำเจ้าพระยามาได้ แล้วรอบที่ 2 จึงค่อยเป็นการนำแนวคิดนั้นมาปั้นให้สร้างได้จริง

ชเลบอกว่า สุดท้ายแล้วผลลัพธ์จะออกมาดีหรือไม่ดี อาจไม่ได้ขึ้นอยู่กับแบบที่ส่งเข้ามามากเท่ากับความคิดเห็นของกรรมการ

การประกวดแบบครั้งนี้ กรรมการประกอบด้วย 1.ดร.ไขศรี ภักดิ์สุขเจริญ ผู้เชี่ยวชาญด้านผังเมือง 2.อ.นนทิวรรธน์ จันทนะผลิน ศิลปินแห่งชาติ ผู้เชี่ยวชาญด้านประติมากรรม 3.ชาตรี ลดาลลิตสกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านสถาปัตยกรรม 4.อ.สุภรณ์ โอเจริญ ผู้เชี่ยวชาญท้องถิ่น 5.จิตตเกษมณ์ นิโรจน์ธนรัฐ นายกเทศมนตรีนครสวรรค์ 6.ดร.พรธรรม ธรรมวิมล ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิสถาปัตยกรรม 7.ศุภกิจ บุญญฤทธิพงษ์ อดีตผู้ว่าราชการนครสวรรค์ และ 8.อัจฉริยะ โรจนะภิรมย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสถาปัตยกรรม

สังเกตว่าทีมมีทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ที่จะช่วยให้คำแนะนำด้านศาสตร์การออกแบบและก่อสร้าง และตัวแทนจากท้องถิ่นที่จะช่วยให้ความรู้กรรมการท่านอื่นเกี่ยวกับบริบทของพื้นที่

แบบที่ชนะ จึงเป็นแบบที่ทั้งผู้เชี่ยวชาญและคนในท้องถิ่นเห็นชอบต้องกัน

พาสาน, นครสวรรค์
05

ได้แบบ

ผู้ที่ชนะคือ ไกรภพ โตทับเที่ยง ผู้ซึ่งกลายมาเป็นกรรมการบริหารบริษัท Fars Studio ในปัจจุบัน

ตอนนั้นชายหนุ่มไกรภพเพิ่งจบการศึกษามาหมาดๆ และอยากลองฝึกวิชากับงานประกวดดู

เขาศึกษานครสวรรค์แล้วพบว่าระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาแถวนั้นจากต่ำสุดถึงสูงสุดขึ้นมาได้มากถึง 9 เมตร เทียบเท่าตึก 3 ชั้น ทำให้เกาะยมเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่น้ำท่วมถึงแทบทุกปี

ในขณะที่ทีมอื่นๆ ซึ่งเข้ารอบพร้อมไกรภพเสนอประภาคาร หอคอย เขากลับเสนอภูมิสถาปัตยกรรมที่แบนราบไปกับพื้น เพื่อให้กลมกลืนกับทั้งเมืองและแม่น้ำที่โอบล้อมอยู่ รวมถึงออกแบบโดยตั้งใจให้น้ำท่วมถึง

แรกสุดเขาตั้งใจจะคว้านเกาะยมให้น้ำลอดผ่านใต้อาคารได้ด้วยซ้ำ แต่เมื่อกรมเจ้าท่าทักท้วงว่าความเชี่ยวของน้ำอาจทำให้เกิดอันตรายกับเรือที่ลอดผ่าน จึงปรับจนกลายเป็นอาคารรูปร่างคล้ายสะพานแทน โดยให้ 2 เมตรแรกที่ติดพื้นทำจากคอนกรีต ในขณะที่ส่วนที่พ้นน้ำแน่นอนเป็นโครงสร้างเหล็ก รวมถึงคิดให้ทางเข้าอาคารอยู่ด้านบน เมื่อทำแบบนี้ แม้น้ำท่วมก็จะยังใช้บริการได้ไม่มีปัญหา

อีกข้อดีของทรงสะพานคือเมื่อคนเดินขึ้นไปแล้วจะเห็นทัศนียภาพในระดับที่สูงขึ้นไปตามลำดับ มุมมองที่มีต่อเมืองนครสวรรค์ก็จะค่อยๆ เปลี่ยนไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเมื่อถึงจุดบนสุด ก็จะได้เห็นจุดที่แม่น้ำสองสายมารวมกันเป็นเจ้าพระยาอย่างชัดเจน พร้อมกับที่เห็นเมืองจากด้านบน

พูดอีกนัยหนึ่งคือ อาคารนี้ช่วย ‘ผสาน’ แม่น้ำเจ้าพระยาและเมืองนครสวรรค์เข้าด้วยกัน

พาสาน, นครสวรรค์
06

ก่อสร้าง

และแล้วก็มาถึงการเนรมิตให้เกิดขึ้นจริง

หลังจากประกวดจนได้แบบมา ก็ต้องประมูลหาผู้ก่อสร้าง ซึ่งผลออกมาปรากฏว่าบริษัทที่ประมูลได้คือบริษัท เจริญภัณฑ์พาณิชย์ (1984) จำกัด ก็เป็นชาวท้องถิ่นนครสวรรค์อีก

ความยากของการก่อสร้างอยู่ในรูปแบบอาคารที่บิดพลิ้วคล้ายสายน้ำ นั่นหมายความว่าจะสร้างตึกตรงๆ เหมือนที่ผ่านมาไม่ได้แล้ว

ผู้รับเหมาต้องไปขวนขวายศึกษาอย่างหนักหน่วง พร้อมความช่วยเหลือของทั้งผู้ออกแบบ เทศบาล และชเลเอง พวกเขาสุมหัวกันปรับแบบเพื่อให้ก่อสร้างได้จริง และนำเครื่องมือ BIM หรือโปรแกรมออกแบบอาคารแบบสามมิติมาใช้คำนวณวัสดุก่อสร้าง รวมถึงผลัดกันช่วยให้คำแนะนำตลอดการก่อสร้าง

พิจารณาจากงานที่เสร็จออกมาแล้ว นับว่าทุกคนเก่งกันมากจริงๆ

07

ใช้งาน

กลับมาที่ปัจจุบัน

ตอนนี้ที่ต้นแม่น้ำเจ้าพระยามีแลนด์มาร์กขนาดยักษ์ตั้งตระหง่านอยู่เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง นอกจากขนมโมจิและบึงบอระเพ็ด ให้ผู้ที่เดินทางผ่านนครสวรรค์ได้แวะชื่นชม

แม้พาสานจะยังไม่ได้เปิดใช้งานเต็มที่ เพราะยังมีบางส่วนที่ยังไม่เรียบร้อยดีนัก แต่แค่พื้นที่เท่าที่เปิดตอนนี้ ก็มีคนพากันมาใช้งานกันมากมาย ทั้งรำไทเก็ก พูดคุย เล่นดนตรี แม้แต่ใช้ชีวิตพักผ่อนเฉยๆ ก็มีเหมือนกัน ทำให้นครสวรรค์ค่อยๆ มีชีวิตชีวากลับขึ้นมาทีละนิดละน้อย

ภาพ : ราเชนทร์  ทองยิ้ม

แต่นี่เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น

ชเลหวังว่าแลนด์มาร์กแห่งนี้จะช่วยให้พื้นที่รอบๆ เติบโตไปด้วยกันได้ โดยเฉพาะพื้นที่ริมน้ำทั้งสองฝั่ง เช่น ด้านฝั่งแม่น้ำยมที่สมัยก่อนเคยเป็นเรือนแพ และตลาดเก่าที่เคยมีขายอาหารแบบนครสวรรค์แท้อีกมากมาย เมื่อพาสานสำเร็จแล้ว ก้าวต่อไปคือการรื้อฟื้นสิ่งเหล่านี้กลับมา

ต้นเจ้าพระยาจะได้กลับมามีสีสันอีกครั้ง

พาสาน, นครสวรรค์
facebook ของพาสาน : PasanNakhonsawan

Writer

Avatar

อลิษา ลิ้มไพบูลย์

นักอยากเขียนผู้เรียนปรัชญาเพื่อเยียวยาอาการคิดมาก เวลาว่างใช้ไปกับการร้องคอรัสเล่นๆ แบบจริงจัง และดูหนังอย่างจริงจังไปเล่นๆ

Photographer

Avatar

ทรงชัย กีรกมลชัย

เกษตรกรระดับประถม ช่างภาพตาบอดสี เป็นมือสมัครเล่นด้านการถ่ายรูป งานประจำเป็นคุณพ่อลูกหนึ่ง