หากจะยกให้ ปุ๋ย-วรวิทย์ ศิริพากย์ ผู้ก่อตั้งปัญญ์ปุริ (PAÑPURI) เป็นหนึ่งในผู้นำในการ Collaboration ก็คงจะไม่มากจนเกินไป เพราะการร่วมงานกับเกือบ 10 แบรนด์ในระยะเวลาไม่ถึง 10 ปี ทำให้วันนี้เขามาพร้อมประสบการณ์และบทเรียนที่น่าจะเป็นประโยชน์กับหลาย ๆ คน 

แต่ถ้าจะให้ลงรายละเอียดในทุกคอลเลกชัน บทความนี้ก็อาจจะยืดยาวจนกลายเป็นหนังสือขนาดย่อมกันเลยทีเดียว เราจึงขออาสาคัด ‘ที่สุด’ ในการคอลแล็บที่ผ่านมาของ PAÑPURI และนำมาถอดรหัสให้คุณย่อยเฉพาะเนื้อเน้น ๆ ในบทความนี้

รู้อย่างนี้แล้ว จะมัวรีรออะไร มาทำความรู้จักสูตรคูณในแบบฉบับของ PAÑPURI กัน

สรุปบทเรียนสำคัญจากหลากหลายคอลเลกชันที่ทำให้ PAÑPURI กลายเป็นนักคอลแล็บมือหนึ่งในวงการ

PAÑPURI x Jean-Marc Gady

คอลเลกชันแรกจากเคมีที่ลงตัว

คุณปุ๋ยเริ่มต้นเล่าถึงการร่วมงานกับแบรนด์อื่นครั้งแรกสุดที่ต้องย้อนกลับไปเกือบ 8 ปีก่อน “คอลเลกชันแรกคือเมื่อตอนปี 2016 เราร่วมงานกับศิลปินชาวฝรั่งเศส คือ Jean-Marc Gady เขาเคยเป็นครีเอทีฟไดเรกเตอร์ให้ Apple และมีดีไซน์สตูดิโอของตัวเอง”

“เราสนใจงานดีไซน์ของเขา และอยากให้คนตีความสิ่งที่เป็นเราจากมุมมองแปลกใหม่ เราไม่รู้ว่าจะถูกบิดไปไกลแค่ไหน และจะหน้าตาออกมาเป็นยังไง เลยคิดว่าน่าสนใจดี ส่วนเขาก็ไม่เคยทํางานกับแบรนด์เอเชียแบบเรา เป็นความแปลกใหม่สําหรับเขาเหมือนกัน การที่ต่างคนต่างชอบงานของกันและกัน และมีเคมีที่ทำให้รู้ว่าจะได้อะไรน่าสนใจออกมา ผมว่าอันนี้เป็นเรื่องสําคัญมาก” 

เมื่อความสนใจของทั้งคู่ชัดเจน การทำงานจึงเริ่มต้นขึ้น “เราตกลงทําเครื่องพ่นกลิ่น เพื่อมาใช้กับกลิ่นของ PAÑPURI เขาดีไซน์เครื่องให้เป็นเหมือนตะเกียงในเรื่อง อะลาดิน ที่มีจีนี่ผุดขึ้นมา รูปร่างจึงแปลกตา และเขาก็ทำพื้นผิวของวัสดุให้น่าสนใจขึ้นด้วย จากที่ปกติเป็นวัสดุกึ่ง ๆ พลาสติก กลายเป็นวัสดุที่ดูเหมือนอะลูมิเนียม ทำให้ดู Hi-end ขึ้นมา”

สรุปบทเรียนสำคัญจากหลากหลายคอลเลกชันที่ทำให้ PAÑPURI กลายเป็นนักคอลแล็บมือหนึ่งในวงการ

แต่การคอลแล็บนั้นมีรายละเอียดที่ต้องคำนึงถึงมากกว่าแค่การออกแบบสินค้าใหม่ “พอเป็นชาวต่างชาติ และยิ่งเป็นดีไซน์สตูดิโอด้วย เราก็ดีลจริงจัง เริ่มจากทำสัญญา การแบ่งรายได้กัน ต้องดูต้นทุน เทียบเคียงราคาในตลาด บวกกับ Margin ที่ควรจะเป็น แบ่งกําไรเขา กําไรเรา ให้ทุกคนแฮปปี้”

เมื่อตกลงรายละเอียดบนกระดาษเสร็จเรียบร้อย ก็มาถึงขั้นตอนการผลิต ซึ่งคุณปุ๋ยเองได้บทเรียนใหม่ ๆ ในการทำงานกับหลายฝ่ายมากกว่าที่เคย “ครั้งแรกที่ทํามาค่อนข้างมี Defect เยอะ เพราะมีฝ่ายที่ 3 มาดูเรื่องการผลิต จึงมีอีกกระบวนการหนึ่งที่เราต้องเข้าไปควบคุม เลยใช้เวลาในการทํานานหน่อย ซึ่งก็เป็นการเรียนรู้ของเรา”

แต่หลังจากฝ่าฟันขั้นตอนการผลิตจนสินค้ามีในสต็อกพร้อมขาย ก็ถึงเวลาทำการตลาด ซึ่ง PAÑPURI ทดลองทั้งออฟไลน์และออนไลน์ไปพร้อม ๆ กัน “ตอนนั้นมีงานเปิดตัวที่ห้างใหญ่ และสมัยนั้นมีออนไลน์แล้วด้วย เลยทำการตลาดออนไลน์ควบคู่กันไป” 

สุดท้ายแล้ว แม้คอลเลกชันนี้จะมีราคาสูงกว่าเครื่องจุดความหอมปกติของแบรนด์ แต่ยอดขายก็ออกมาเป็นที่น่าพอใจของทุกฝ่าย “ทุกคนแฮปปี้ เพราะการที่แบรนด์ไทยไปร่วมงานกับดีไซเนอร์ต่างประเทศซึ่งค่อนข้างมีชื่อเสียงในวงการเป็นความแปลกใหม่ ผมคิดแล้วยังเสียดายที่ไม่ได้เก็บไว้สักอันหนึ่ง”

สรุปบทเรียนสำคัญจากหลากหลายคอลเลกชันที่ทำให้ PAÑPURI กลายเป็นนักคอลแล็บมือหนึ่งในวงการ

PAÑPURI x DROP BY DOUGH

คอลเลกชันเอามันที่ได้ผลตอบรับเกินคาด

ช่วงโควิดเป็นจุดเปลี่ยนและเป็นจุดกำเนิดของการคอลแล็บครั้งสำคัญระหว่าง PAÑPURI และ DROP BY DOUGH

 “ผมรู้จักกับ โอ๊ต-ณรงค์ฤทธิ์ ศรีตลานนท์ จาก DROP BY DOUGH อยู่แล้ว เราสนิทกันเพราะผมชอบกินโดนัท แล้วเขาก็ชอบ PAÑPURI เลยคิดว่ามาทําอะไรด้วยกันดีกว่า โจทย์ตอนนั้นคือจะเอาโดนัทกับแบรนด์เรามาผสมกันได้ยังไง เลยเอาแรงบันดาลใจเรื่องรสชาติมาแปลให้เป็นกลิ่นของเทียน เพราะ PAÑPURI เก่งเรื่องเทียน DROP BY DOUGH ก็ชอบเทียน และเขาอยากมีเทียนในร้านที่เป็นกลิ่นโดนัท”

เพราะไม่ใช่การคอลแล็บครั้งแรก คุณปุ๋ยจึงรู้ว่าควรให้ความสำคัญกับอะไร “ตอนนั้นรู้แล้วว่าควรเอาความเป็นเราใส่เข้าไปเยอะ ๆ โดยเฉพาะในเรื่องงานฝีมือ แก้วเทียนเลยต้องไม่ใช่แก้วปกติ เราให้ช่างปั้นที่เชียงใหม่ปั้นแก้วเซรามิกขึ้นมา และมีเรื่องราวด้วยว่าเป็นแก้วทรงกระบอกที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางเท่ากับโดนัท ดูผ่าน ๆ เหมือนง่าย แต่การจะทําดินเผาให้ตรงนั้นยากมาก แล้วก็ยังมีเรื่องสีจากธรรมชาติ ซึ่ง DROP BY DOUGH เขาซีเรียสเรื่องสีที่มีแรงบันดาลใจมาจากสีของขนมปัง เราก็ต้องทำให้ได้ ส่วนการจะปั๊มโลโก้ลงไปบนดินเผาก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะจะทำให้ดินเบี้ยว ซึ่งแก้ยากมาก เพราะเป็นงานฝีมือ ดังนั้น กว่าจะเลือกสี ทํารูปร่างกันได้ก็ยาวนาน แต่สนุกมาก” คุณปุ๋ยเล่าถึงเบื้องหลังแก้วเทียนหน้าตามินิมอลที่ดูเหมือนจะง่าย แต่กลับซับซ้อนพอตัว

สรุปบทเรียนสำคัญจากหลากหลายคอลเลกชันที่ทำให้ PAÑPURI กลายเป็นนักคอลแล็บมือหนึ่งในวงการ
สรุปบทเรียนสำคัญจากหลากหลายคอลเลกชันที่ทำให้ PAÑPURI กลายเป็นนักคอลแล็บมือหนึ่งในวงการ

เมื่อวางขายเข้าจริง ทั้ง 2 แบรนด์ก็หายเหนื่อยเป็นปลิดทิ้ง เพราะทั้งเรื่องราวและงานฝีมือที่ประกบผลิตภัณฑ์แปลกใหม่ ทำให้ผู้บริโภครู้สึกดี “เราไม่ได้หวังจะร่ำรวยหรือเติบโตจากการคอลแล็บ เราแค่ชอบกินขนม อยากให้ไอเดียสนุก ๆ ที่คิดได้มาอยู่ในร้าน แต่ก็ขายดีเกินคาด เพราะว่าแฟน DROP BY DOUGH เขาเหนียวแน่นมาก เราวางขายในทั้งช็อป PAÑPURI และ DROP BY DOUGH ซึ่งขายหมดเร็วมาก เราทํามาในจํานวนจํากัดด้วย เพราะเป็นงานปั้นมือ” 

ความสำเร็จจากการคอลแล็บเอามันครั้งนี้ทำให้มีคนสนใจร่วมงานกับ PAÑPURI มากมาย “เราได้เรียนรู้ว่าการทำงานร่วมกันนั้น แค่เอา 2 แบรนด์มาแปะกันมันไม่พอ สมมติแบรนด์นั้นดังจากฝั่งเขา แบรนด์เราก็มีชื่อเสียง เอาสินค้าปกติของแต่ละคนมาผสมกันแล้วแปะตราเข้าไปมันไม่ได้ เพราะเราไม่ได้นำเสนออะไรใหม่ให้ผู้บริโภค สุดท้ายเขาก็รู้สึกว่าไม่ได้พิเศษขนาดนั้น มันง่ายไป

“หรือแม้แต่การทำ Gift to Purchase เช่น ซื้อของแล้วจะได้ PAÑPURI เป็นของขวัญ มันก็ง่ายไป ไม่ใช่ว่าคนจะสนใจ เราต้องใส่พลังมากกว่านี้ ผมว่าต้องคิดถึงเรื่องความใหม่ให้ผู้บริโภคก่อน แล้วความสำเร็จในด้านคอมเมอร์เชียลจะตามมา ถ้าคิดว่าจะทําออกมาเพื่อขาย ส่วนตัวผมว่าไม่ค่อยเวิร์ก ควรเป็นการคอลแล็บที่ปล่อยพลัง เป็นที่ปล่อยของของทั้ง 2 แบรนด์ ถ้าปล่อยของได้สุดจริง ๆ เดี๋ยวผู้บริโภคจะชอบเอง”

สรุปบทเรียนสำคัญจากหลากหลายคอลเลกชันที่ทำให้ PAÑPURI กลายเป็นนักคอลแล็บมือหนึ่งในวงการ
สรุปบทเรียนสำคัญจากหลากหลายคอลเลกชันที่ทำให้ PAÑPURI กลายเป็นนักคอลแล็บมือหนึ่งในวงการ

PAÑPURI x CARNIVAL

เขาคอลแล็บกันไปได้อย่างไร

คนอื่นอาจมองว่าความแตกต่างระหว่าง PAÑPURI และ CARNIVAL เป็นความเสี่ยง แต่คุณปุ๋ยไม่คิดเช่นนั้น “CARNIVAL มีกลุ่มลูกค้าที่ไม่น่าจะใช่กลุ่มเดียวกันกับเราในตอนนั้น แต่เราคิดว่าน่าสนใจ และมีความเป็นไปได้ที่เราจะเข้าถึงกลุ่มลูกค้าใหม่นี้ เพราะเครื่องหอมอยู่ในชีวิตประจําวันของทุกคน รวมถึงคนที่ชอบสตรีตแวร์ด้วย”

เมื่อตัดสินใจอยากเข้าไปสัมผัสกลุ่มลูกค้าสายสตรีต คุณปุ๋ยจึงตกลงปลงใจร่วมงานกับ CARNIVAL ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่ายอีกเช่นเคย 

“โห ใช้เวลาทํากันนานมาก จําได้ว่าคุยกันตั้งแต่ก่อนมีโควิด จนจบโควิดเพิ่งจะเสร็จ” คุณปุ๋ยเปิดก่อนจะเริ่มเล่าถึงกระบวนการทำงานในการคอลแล็บสุดแปลกใหม่นี้ 

“CARNIVAL เป็นแบรนด์สตรีต ซึ่งไม่น่าจะเป็นเรื่องเดียวกันกับ PAÑPURI ได้เลย ตอนนั้นตีโจทย์กันอยู่นาน แต่มาสรุปกันได้ว่า CARNIVAL อยากทําเทียน ซึ่งเราแข็งแรงเรื่องเทียน เลยมาตีความว่าลูกค้า CARNIVAL ชอบกลิ่นประมาณไหน แพ็กเกจจิงต้องเป็นยังไง เราอยากใส่งานฝีมือเข้าไปด้วย แต่จะทำให้ดูเป็น CARNIVAL ได้ยังไง” คุณปุ๋ยเล่าถึงโจทย์มากมายที่ต้องแก้

“สุดท้ายจึงทําแก้วเทียนโดยเอาลาย Paisley ที่ CARNIVAL เป็นคนออกแบบมาไว้บนแก้ว ซึ่งกว่าจะทําได้ก็ยากมาก เพราะรายละเอียดของลาย”

สรุปบทเรียนสำคัญจากหลากหลายคอลเลกชันที่ทำให้ PAÑPURI กลายเป็นนักคอลแล็บมือหนึ่งในวงการ
สรุปบทเรียนสำคัญจากหลากหลายคอลเลกชันที่ทำให้ PAÑPURI กลายเป็นนักคอลแล็บมือหนึ่งในวงการ

ส่วนเรื่องเทียนและกลิ่น แน่นอนว่า PAÑPURI เป็นเจ้าภาพ “เราเป็นคนผลิตเทียนและคิดกลิ่น ซึ่งเป็นกลิ่นใหม่โดยดีไซน์จากสิ่งที่คิดว่าลูกค้า CARNIVAL น่าจะชอบ เพราะลูกค้าส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย จึงได้ออกมาเป็นกลิ่นที่มีความเป็นผู้ชายปนกับความขี้เล่น เป็นกลิ่นวานิลลาที่ไม่ได้หวานมาก เพราะผสมเบอร์กาม็อต ซึ่งคิดว่าคนเข้าใจง่าย แต่ก็ดูมีอะไรเช่นกัน”

เรื่องราคาก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ และแม้ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการคอลแล็บทั้งกับ DROP BY DOUGH และ CARNIVAL จะมีราคาสูงกว่าปกติประมาณ 15 – 20% แต่กลับไม่ได้รับแรงต้านจากผู้บริโภคแต่อย่างใด ส่วนหนึ่งเพราะผลิตภัณฑ์พรีเมียมกว่าปกติ แพ็กเกจจิงก็สร้างขึ้นมาเป็นพิเศษ อีกส่วนเพราะว่าเป็นสินค้าใหม่ กลิ่นใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน และยังมีจำนวนจำกัด จึงขายหมดเกลี้ยงอย่างรวดเร็ว

“ผมว่าการคอลแล็บที่ประสบความสำเร็จต้องไม่ใช่แค่เอาไอเดีย ดีไซน์ หรือความเก่งของแต่ละคนมาผสมกัน การทํามาร์เก็ตติงต้องคุยกันก่อน เช่น เราทำ Packshot ด้วยกัน วางแผนว่าจะโปรโมตวันไหน ยังไง ใครขายก่อน ใครขายหลัง Drop แรกที่ไหน Drop สองที่ไหน ต้องมียุทธศาสตร์พวกนี้เกิดขึ้น ไม่ใช่ว่าต่างคนต่างไปทํา ต้องคอลแล็บกันตั้งแต่ต้น ๆ คิดตั้งแต่ดีไซน์ยันมาร์เก็ตติงและเซลส์ มันถึงจะจบครบลูปได้ ซึ่งทั้ง DROP BY DOUGH และ CARNIVAL เราใช้วิธีการทำงานแบบนี้ แล้วก็ประสบความสำเร็จดี”

สรุปบทเรียนสำคัญจากหลากหลายคอลเลกชันที่ทำให้ PAÑPURI กลายเป็นนักคอลแล็บมือหนึ่งในวงการ

PAÑPURI x JIM THOMPSON

When King of Silk Meets Queen of Scent

“ถ้าจะคอลแล็บให้ออกมาดี ผมว่าต้องใช้เวลาเกือบ 1 ปี มันเหมือนการเปิดตัวสินค้าใหม่เลยครับ เราจึงอยากจะทำไม่เกินปีละครั้ง เพื่อสร้างสีสันให้แบรนด์ สร้างความตื่นเต้นให้กับผู้บริโภค และอยู่ในสายตาของเขาตลอดเวลา เพราะสินค้าอย่างเราอยู่ไปได้ตลอด การคอลแล็บจึงเป็นวิธีเอาความใหม่เข้ามาโดยให้ความตื่นตัวในระยะสั้นกับผู้บริโภค และไม่ต้องผูกพันกับสินค้านั้นไปยาวนาน” 

เมื่อตัดสินใจจะทำแค่ปีละครั้ง การเลือกแบรนด์มาคอลแล็บในคอลเลกชันล่าสุดจึงต้องทำอย่างพิถีพิถัน แต่เมื่อคุณปุ๋ยเห็นภาพแล้วว่า JIM THOMPSON เป็นราชาทางด้านผ้าไหม และ PAÑPURI เป็นราชินีทางด้านกลิ่น การตัดสินใจร่วมงานกันจึงไม่ใช่เรื่องยาก 

“กลุ่มลูกค้าน่าจะไปด้วยกันได้ น่าจะชอบของอะไรเหมือน ๆ กัน ทำให้ส่วนแบ่งเดิมในตลาดของเราแข็งแรงยิ่งขึ้น เหมือนกับเอากลุ่มผู้บริโภคมาแชร์กัน และลูกค้าเดิมของแต่ละคนก็จะกลับมาหาแบรนด์ เพราะว่ามีของใหม่ ๆ เกิดขึ้น”

แต่โจทย์ที่ตามมาจากการตัดสินใจร่วมงานกับแบรนด์ที่มีลายเซ็นเป็นที่รู้จัก คือการหาวิธีให้เกิดเป็นคอลเลกชันที่แปลกตาและแปลกใหม่ “เราใช้เวลาประมาณ 1 ปีกว่าจะคิดจนเสร็จ ซึ่งก็ถือว่านานเหมือนกัน เราจ้างดีไซเนอร์ 1 คนมาเป็นที่ปรึกษาโดยเฉพาะ เป็นคนที่เคยทํางานอยู่ที่ JIM THOMPSON ซึ่งรู้จักผ้าและประวัติของที่นั่นดีมาก ๆ”

การทำงานอย่างใกล้ชิดของทั้ง 2 แบรนด์ร่วมกับดีไซเนอร์ผู้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะ ทำให้เกิดเป็นโฮมคอลเลกชัน ประกอบไปด้วยเทียน เครื่องพ่นกลิ่น และถุงหอม “เราทำกลิ่นใหม่เป็นกลิ่นออกไม้ ๆ มีแรงบันดาลใจมาจากบ้านของ JIM THOMPSON และอีกกลิ่นมีแรงบันดาลใจมาจากสวนในบ้านของ JIM THOMPSON”

สรุปบทเรียนสำคัญจากหลากหลายคอลเลกชันที่ทำให้ PAÑPURI กลายเป็นนักคอลแล็บมือหนึ่งในวงการ
สรุปบทเรียนสำคัญจากหลากหลายคอลเลกชันที่ทำให้ PAÑPURI กลายเป็นนักคอลแล็บมือหนึ่งในวงการ

และเพราะทุกคนจํา JIM THOMPSON ได้จากผ้าไหม ผ้าไหมจึงมาอยู่บนแพ็กเกจจิงของโฮมคอลเลกชันนี้ “ถ้าแพ็คเกจจิงธรรมดามันก็ไม่น่าสนใจ เราเลยคุยกันว่าเวลาขายผ้ามักต้องเหลือผ้าตกเศษที่ติดม้วน รวม ๆ แล้วมีปริมาณมหาศาล และเป็นผ้าสวย ๆ ที่ดีไซเนอร์คนนู้นคนนี้ออกแบบมาตั้งแต่อดีตยันปัจจุบัน ดูกันดี ๆ เอามาทำเป็นพิพิธภัณฑ์เล็ก ๆ ได้เลยทีเดียว แต่ผ้าพวกนี้กลับถูกกองอยู่ในห้องเฉย ๆ เราเลยคิดเอาผ้าพวกนี้มาใช้ แล้วเอาสตอรีมาเล่า จะได้เป็นการใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีคุณค่าจากเดิมในอดีต เหมือนมองย้อนกลับไปในอดีตเพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ให้อนาคต” คุณปุ๋ยเน้นย้ำถึงความสำคัญของความยั่งยืนที่สอดแทรกอยู่ในการออกแบบคอลเลกชันนี้

แต่ธงในการเอาผ้าเก่ามาใช้ใหม่นั้น มาพร้อมความยากในกระบวนการทำงาน “เนื่องจากผ้าเหลือในจํานวนไม่เท่ากัน จึงก็จะได้อะไรที่ไม่เหมือนกัน คือต้องอธิบายก่อนว่ากล่องที่เราใช้มีชิ้นบนกับชิ้นล่างประกบกัน แต่ผ้าจะไม่เหมือนกันสักกล่อง เพราะผ้าลายนี้อาจทำกล่องบนได้ 5 ชิ้น อีกลายหนึ่งทํากล่องล่างได้ 10 ชิ้น ต้องไปจับแมตช์กัน สีก็ต้องไปด้วยกัน ลายก็ต้องไปด้วยกัน ทุกขั้นตอนทํามือขึ้นมาจริง ๆ และมีความละเอียดมาก เลยเป็นงานศิลปะแบบชิ้นต่อชิ้นจริง ๆ จึงจะมีความสนุกและความยากตรงนั้น แต่สุดท้ายก็ออกมาสวยมาก มีความเป็น JIM THOMPSON สูงมาก ได้ผลลัพธ์ที่ภูมิใจและประสบความสําเร็จมากด้วยเช่นกัน บางกลิ่นขายหมดตั้งแต่ 5 วันแรก ทั้ง ๆ ที่ราคาสูงกว่าปกติเกือบเท่าหนึ่งเลยครับ ผมว่านี่เป็นการคอลแล็บที่สมบูรณ์แบบ”

สรุปบทเรียนสำคัญจากหลากหลายคอลเลกชันที่ทำให้ PAÑPURI กลายเป็นนักคอลแล็บมือหนึ่งในวงการ
สรุปบทเรียนสำคัญจากหลากหลายคอลเลกชันที่ทำให้ PAÑPURI กลายเป็นนักคอลแล็บมือหนึ่งในวงการ

PAÑPURI x TAAKK

คอลแล็บลับสำหรับสายแฟชั่นสุด Niche

ใช่ว่าการคอลแล็บของ PAÑPURI จะต้องใหญ่โตเสมอไป เพราะการทำงานเล็ก ๆ ก็สร้างความน่าประทับใจได้เช่นกัน อย่างครั้งที่ร่วมงานกับ ทากุยะ โมริกาวา ดีไซเนอร์ชื่อดังจากญี่ปุ่น เป็นหนึ่งตัวอย่างที่คุณปุ๋ยนึกถึง 

“เขาจะเปิดร้านใหม่ที่ชื่อ HypeDrop และอยากทำคอลเลกชันพิเศษกับ PAÑPURI ด้านกลิ่น เพราะเขาชอบกลิ่น One Night in Bangkok ของเรา เขาออกแบบแพ็กเกจจิงสำหรับ Perfume Oil กลิ่นนี้ออกมา” คุณปุ๋ยโชว์รูปแพ็กเกจจิง พร้อมเชิญชวนให้ทายว่า 1 ค่ำคืนของ ทากุยะ โมริกาวา ในกรุงเทพฯ นั้นมีที่มาอย่างไร ก่อนจะเฉลยว่าเป็นรอยของแก้วไวน์และการเผาไหม้จากบุหรี่บนกระดาษทิชชูสีขาว

“เขาอาจไม่ได้รู้จักแบรนด์เราเท่าแบรนด์ไทยด้วยกันเอง การตีความก็จะมีอะไรที่น่าสนใจและเราเองอาจคาดไม่ถึง เป็นความสนุกอีกแบบหนึ่ง” คุณปุ๋ยชี้ให้เห็นถึงข้อดีของการทำงานกับต่างชาติที่ให้มุมมองความแปลกใหม่เกินคาดเดา โดยผลิตภัณฑ์นี้จะมีขายที่ญี่ปุ่นในร้าน HypeDrop ร้านเดียวเท่านั้น ถือว่าเป็นคอลเลกชันสุด Niche เลยทีเดียว

สรุปบทเรียนสำคัญจากหลากหลายคอลเลกชันที่ทำให้ PAÑPURI กลายเป็นนักคอลแล็บมือหนึ่งในวงการ

PAÑPURI x Thai Floral Artist

คอลแล็บสนอง Need เพื่อศิลปินไทย

การคอลแล็บในพจนานุกรมของคุณปุ๋ยนั้น ไม่ได้หมายถึงการทำของขายเพียงอย่างเดียว “ส่วนตัวแบรนด์และผมเองชอบดอกไม้มาก เพราะดอกไม้ก็ถือเป็นมรดกของไทยด้วย ถ้าสังเกตดี ๆ จะเห็นว่าในร้าน PAÑPURI จะมี Floral Art อยู่ ในแต่ละร้านจะเลือก Floral Artist ประจำร้าน แล้วทุกเดือนเขาก็จะผลิตผลงานที่สอดคล้องไปกับธีมของเราในเดือนนั้น ๆ” 

สำหรับคุณปุ๋ย เขามองว่านี่เป็นการทำงานอย่างหนึ่งเช่นกัน “อาจไม่ได้เป็นของขาย แต่เป็นการสร้างศิลปะ ผมรู้สึกว่าบ้านเรามีศิลปินเก่ง ๆ เยอะ โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ ๆ และเราเป็นแบรนด์ไทย เรายิ่งต้องช่วยสนับสนุนกันเอง เลยทําให้มันเป็นส่วนหนึ่งที่อยู่ในชีวิตประจําวันของแบรนด์ ผมหวังว่าจะให้อะไรกับคนที่มาดู เป็นประสบการณ์ใหม่ในการมาร้านเรา” 

สรุปบทเรียนสำคัญจากหลากหลายคอลเลกชันที่ทำให้ PAÑPURI กลายเป็นนักคอลแล็บมือหนึ่งในวงการ
สรุปบทเรียนสำคัญจากหลากหลายคอลเลกชันที่ทำให้ PAÑPURI กลายเป็นนักคอลแล็บมือหนึ่งในวงการ

แต่ไม่ว่าจะคอลแล็บเล็ก คอลแล็บใหญ่ หรือคอลแล็บสนอง Need ของใคร ก็มีข้อควรระวัง เพราะในบางครั้งอาจมียอดขายก้าวกระโดดมาล่อตาล่อใจ แต่ก็ต้องแลกด้วยการเจือจางแบรนด์จนเสียภาพลักษณ์ จนกลายเป็นผลเสียมากกว่าผลดี 

“ต้องหาตัวเองให้เจอ อย่างของเรา ถ้าจะทำงานร่วมกับใคร อย่างแรก คือความเป็น PAÑPURI ต้องออกมาทางใดทางหนึ่งจนรู้ทันทีว่าคือเรา สอง เรื่องความคิดสร้างสรรค์กับงานฝีมือก็ต้องมา เพราะมันคือ Value ของเรา และสาม เราคงไม่คอลแล็บกับใครแล้วให้คนอื่นทํากลิ่น เพราะเรื่องกลิ่นคือจุดเด่นที่ผู้บริโภคคาดหวังจากเรา”

เพราะยุคนี้ ใคร ๆ เขาคอลแล็บกัน คุณปุ๋ยจึงอยากฝากข้อคิดสุดท้ายไว้สั้น ๆ ให้คิดก่อนด่วนตกลงปลงใจกับใคร 

“ไม่ใช่ว่าเพราะเป็นเทรนด์ของการคอลแล็บ แต่ผมว่ามันต้องมีที่มาที่ไป ต้องให้คุณค่าที่ยังน่าสนใจอยู่ และคงภาพลักษณ์ของแบรนด์อย่างที่เราตั้งใจไว้ให้ได้”

สรุปบทเรียนสำคัญจากหลากหลายคอลเลกชันที่ทำให้ PAÑPURI กลายเป็นนักคอลแล็บมือหนึ่งในวงการ

Writer

ลิตา ศรีพัฒนาสกุล

ลิตา ศรีพัฒนาสกุล

ชอบอ่านหนังสือก่อนนอน ออกกำลังกาย และกำลังตามหางานอดิเรกใหม่ ๆ

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล