“COVID-19 เราก็ต้องแก้กันไป แต่โรคอื่นก็ต้องเดินหน้าหาทางกันต่อ มันไม่ได้พักไปกับเราหรอก” เป็นประโยคที่ปลายสายตอบเรา
ก่อนที่คุณจะอ่านบทความอยู่นี้ เราเดาว่าคุณนั่งมองโทรศัพท์หรือจอคอมพิวเตอร์อยู่ที่บ้านมาหลายวันแล้ว เพื่อช่วยกันลดการแพร่ระบาดของ COVID-19 ด้วยการ ‘อยู่บ้าน หยุดเชื้อ ช่วยชาติ’
ในขณะที่พนักงานเรือนล้าน Work from home ตามมาตรการบริษัทและรัฐบาล ยังมีคนอีกมากมาย เช่นเจ้าของประโยคด้านบนที่ต้องทำงานเช่นเดิมแม้เสี่ยงต่อการติดเชื้อ
และในขณะที่รอรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อรายวัน เราอาจจะกำลังก่นด่าใครสักคนที่ไปกินค้างคาว งูเห่า หรือตัวนิ่ม จนติดเชื้อเป็นคนแรกและแพร่กระจายโรคนี้ไปทั่วโลก
แต่คุณอาจจะยังไม่รู้ว่าการใช้ชีวิตของเราและรูปแบบเมืองนี่แหละที่มีส่วนทำให้เราได้รับผลกระทบหนักเช่นตอนนี้
บทความนี้จึงมีขึ้น ไม่ใช่เพื่อสาวถึงต้นตอว่า COVID-19 มาจากค้างคาวหรือไม่ แต่เพื่อให้เราเข้าใจเชื้อโรคมากขึ้น และหาคำตอบว่าทำไมการใช้ชีวิตและเปลี่ยนแปลงของเมืองของมนุษย์จึงมีส่วนในโรคระบาด ซึ่งคนแรกที่เรานึกถึงและน่าจะเป็นคนที่ตอบคำถามนี้ได้ดีที่สุดจึงหนีไม่พ้น ‘นักระบาดวิทยาโรคสัตว์ป่า’ นายสัตวแพทย์ไพศิลป์ เล็กเจริญ ที่กว่าจะได้เริ่มเลกเชอร์ก็ตอนคุณหมอวางมือจากการทดลองวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าแบบกิน ซึ่งเป็นการทดลองใช้ครั้งแรกในภูมิภาคอาเซียน เราจึงอดแซวคุณหมอไม่ได้ว่า “โควิดระบาดขนาดนี้ คุณหมอยังไม่ Work from home อีกหรอ”
จากสัตว์สู่คน
นอกจากโรค COVID-19 แล้ว เราอาจจะคุ้นเคยกับชื่อโรคระบาดอีกหลายโรค ไม่ว่าจะเป็นไข้หวัดนก ไข้หวัดใหญ่ ซาร์ส อีโบลา หรือเมอร์ส แต่โรคเหล่านี้ต่างกันอย่างไร ทำไมเราถึงตื่นตระหนกนัก
“Pandemic Disease คือโรคระบาดที่เพิ่งพบและกระจายเป็นครั้งแรก หรือเรียกว่าโรคอุบัติใหม่ แต่พอเราควบคุมกระจายได้แล้ว คนเริ่มมีภูมิคุ้มกันแล้ว ก็ใช่ว่าโรคเหล่านี้จะหายไป มันก็จะยังหลงเหลืออยู่ในพื้นที่นั้นๆ แต่แพร่กระจายไม่มากเหมือนตอนแรก และกลายเป็นโรคประจำถิ่นหรือ Endemic Disease แทนไข้หวัดใหญ่ที่เราคุ้นเคยกัน อีกสิบยี่สิบปีคนรุ่นนั้นคงรู้จักว่า COVID-19 เป็นแค่ไวรัสธรรมดาตัวหนึ่ง” หมอศิลป์อธิบาย
ในช่วง 20 – 30 ปีที่ผ่านมา ทั่วโลกมีโรคระบาดใหญ่เกิดขึ้นกว่าร้อยโรค และ 60 เปอร์เซ็นต์ของโรคเหล่านี้เกิดจากการระบาดจากสัตว์สู่คน (Zoonotic Disease) ซึ่งส่วนมากมีต้นกำเนิดจากสัตว์ป่า ด้วยอัตราการเกิดกระโดดข้ามโฮสต์จากชนิดหนึ่งไปยังอีกชนิดหนึ่งถี่ขึ้น และการแพร่กระจายอย่างรวดเร็วในระยะเวลาสั้นๆ ซึ่งแน่นอนว่านี่ไม่ใช่เพียงเรื่องบังเอิญ
สร้างบ้านแป (ล) งเมือง
ก่อนที่เราจะทันได้ถามถึงความเชื่อมโยงระหว่างเมืองกับโรคระบาด หมอศิลป์ก็ชิงถามก่อนว่า “เราสร้างเมืองกันไปเพื่ออะไร”
“ความสะดวกสบาย การร่วมกลุ่ม” เราตอบ ไม่แน่ว่าคำตอบของคุณอาจจะแตกต่างจากนี้
“มนุษย์ต้องการปัจจัยในการดำรงชีวิต แต่ผมไม่แน่ใจว่าสิ่งมีชีวิตอื่นต้องการความสะดวกสบายหรือหรูหราแบบมนุษย์ไหม เราจะเห็นว่าความต้องการอาหารที่เพิ่มขึ้นของเราทำให้เราต้องใช้ทรัพยากรธรรมชาติเพิ่มขึ้น และเลี้ยงสัตว์หนาแน่นขึ้น ประชากรที่เพิ่มมากขึ้นก็เปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าให้กลายเป็นเมืองมากขึ้นด้วย
“มีการศึกษาหนึ่งชี้ให้เห็นว่าการลดลงของพื้นที่ป่าเพียงสี่เปอร์เซ็นต์ เพิ่มอัตราการเกิดโรคมาลาเรียในพื้นที่สูงถึงห้าสิบเปอร์เซ็นต์เลยนะ”
การเปลี่ยนแปลงของเมืองเพื่อตอบสนองต่อการขยายตัวของมนุษย์เพียงเลขหลักหน่วย สร้างผลกระทบขนาดเลขหลักสิบ …ประโยค ‘เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว’ คงไม่จริงไปกว่านี้อีกแล้ว
“ไม่ใช่แค่ที่อยู่อาศัยหรือของกินที่มาจากธรรมชาตินะ แต่รวมไปถึงรถยนต์ โทรศัพท์ สายไฟฟ้า และสิ่งของอื่นๆ เกือบทั้งหมดด้วย มันผ่านกระบวนการผลิตมาหลายขั้นตอนมาก กว่าเราจะคิดไปถึงสุดทางว่าจริงๆ แล้วแหล่งที่มาของทรัพยากรเหล่านี้ก็มาจากธรรมชาติ แร่ธาตุที่นำมาผลิตโทรศัพท์จากใต้โลก หรือต้องไปตัดป่าฆ่ากอริลลามาด้วย”
พอพื้นที่ป่าหายไป เราก็จะเห็นสิ่งมีชีวิตอื่นเข้ามาแทนที่ อย่างในเมืองเราจะคุ้นเคยกับหมา แมว หนู นกกระจอก พิราบ หรืออีกา เพราะการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ไปส่งเสริมสิ่งมีชีวิตกลุ่มหนึ่งที่ปรับตัวได้ดี เชื้อโรคที่อยู่กับสัตว์พวกนี้ก็จะเพิ่มจำนวนมากขึ้น และด้วยความใกล้ชิดกับคนก็สร้างโอกาสให้เชื้อโรคถ่ายทอดมาถึงเราได้ง่ายขึ้น
“ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด เช่นการจัดการขยะของเราโดยใช้การฝังกลบอย่างทุกวันนี้ เรามักใช้ที่สาธารณประโยชน์ ที่ป่าละเมาะ หรือขออนุญาตใช้ป่าสงวนแห่งชาติ เป็นที่ทิ้งขยะ ฉะนั้น มันก็อาจจะมีสัตว์บางชนิดได้ประโยชน์จากของเสียต่างๆ เศษอาหารที่ปะปนมากลายเป็นแหล่งอาหารของสัตว์หรือสิ่งมีชีวิตบางชนิด ถ้าที่ใกล้ป่าก็อาจจะมีหมูป่า เก้ง กวาง ออกจากป่ามาใช้พื้นที่ตรงนี้เป็นแหล่งอาหารของมันแทน และตัวมันก็แถมเชื้อโรคให้ด้วย”
ในขณะที่สัตว์ที่ปรับตัวเข้ากับเมืองได้มีจำนวนมากขึ้น สัตว์บางพวกก็กลับลดลงจนเกือบสูญพันธุ์
“ในอินเดียเขาพบว่าการหายไปของแร้งทำให้คนป่วยเป็นพิษสุนัขบ้าเพิ่มขึ้นด้วยนะ
“เห็นแร้งหน้าตาน่าเกลียดแบบนั้น มันเป็นตัวควบคุมโรคในธรรมชาติเลยนะ แต่การใช้ยาแก้อักเสบในวัวทำให้แร้งที่มากินซากวัวมีอัตราการตายสูงมาก จำนวนพวกมันลดลงถึงเก้าสิบเปอร์เซ็นต์ พอแร้งหายไปซากวัวก็เลยกลายเป็นแหล่งอาหารชั้นดีให้สุนัขจรจัด พอประชากรมันมากขึ้นก็ทำให้คนติดเชื้อพิษสุนัขบ้ามากขึ้นด้วย แม้เราจะมียามาดูแลปศุสัตว์อย่างดี แต่กลับส่งผลกระทบที่คาดไม่ถึง” หมอศิลป์เล่าถึงความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตที่แสนซับซ้อน
จูงวัวไปค้า ขี่ม้าไปขาย
อย่าง COVID-19 หรือไข้หวัดนกเองก็เกิดจากการกระโดดข้ามโฮสต์ของเชื้อโรค จากสัตว์ที่อาจจะไม่เจอกันเลยตามธรรมชาติ ก็มาอยู่ที่เดียวกันเพราะมนุษย์จับมา ตลาดค้าสัตว์ป่าจึงเป็นแหล่งการแพร่ระบาดของเชื้อโรคที่สำคัญ จนจีนสั่งปิดตลาดและห้ามลำเลียงสัตว์ป่าด้วยยานพาหนะที่ไม่ได้รับอนุญาต
หมอศิลป์เล่าถึงเคสไข้หวัดนกที่เคยระบาดในไทยเมื่อ พ.ศ. 2547 ว่า “เชื้อไข้หวัด H5N1 นี้มีวิวัฒนาการร่วมกับกลุ่มนกน้ำและเป็ดมานานมากแล้ว แต่การที่เราเอาสัตว์เลี้ยงไปใช้แหล่งน้ำหรือพื้นที่ธรรมชาติก็เป็นแรงผลักดันให้เชื้อกระโดดข้ามชนิดมากขึ้น หรือระบบการค้าอย่างตลาดในจีนที่เอาตัวโน้นตัวนี้มาขังไว้รวมกันอย่างไม่ถูกสุขลักษณะก็ทำให้แพร่เชื้อได้ง่าย แถมระบบการเลี้ยงสัตว์ของเราหนาแน่นมากๆ ทีนี้พอติดเชื้อมาก็ติดกันหมดเลย
“การเป็นอยู่ของเราก็เหมือนกัน พอเมืองขยายและอยู่กันหนาแน่นมากขึ้น ระบบขนส่งสาธารณะที่ขึ้นทีหนึ่งอัดกันเป็นปลากระป๋องยิ่งทำให้เชื้อแพร่ระบาดเกิดขึ้นได้ไวมาก ไม่เหมือนชนบทต่างจังหวัดที่แต่ละบ้านอยู่ห่างๆ กัน แบบนี้ก็จะทำให้แพร่เชื้อได้ช้าและกักโรคได้ง่ายกว่า”
แคปซูลปลอดเชื้อและเมืองในอนาคต
พอคุยมาถึงตรงนี้ เราก็เกิดคำถามแบบขวาจัดและซ้ายตกขอบว่า แบบนี้เราควรจะฆ่าสุนัข ยุง ค้างคาว สัตว์พาหะนำโรคให้หมดเลยไหม หรือเราควรจะอยู่ในบ้านแบบแคปซูลที่ปลอดเชื้ออยู่ตลอดเวลาไปเลย เพราะตอนนี้กักตัวอยู่บ้าน ต้องสั่งอาหารมากิน ก็ยิ่งรู้สึกใกล้เคียงเข้าไปทุกที
“ผมก็ไม่แน่ใจว่าเราจะอยู่กันยังไง เพราะเราต้องหายใจเอาอากาศเข้าไป ต้องเอาน้ำมากิน ต้องปลูกพืชที่ต้องใช้ดิน จะกินจะอยู่ อาหาร ยารักษาโรค ก็สุดแล้วแต่ต้องพึ่งพาธรรมชาติทั้งสิ้น มันเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะตัดตัวเองออกจากธรรมชาติ
“มีคนบอกว่าจะทำยังไงให้ไข้เลือดออกหมดไปจากโลกนี้ มีทางเดียวก็คือฆ่าคนให้หมดโลก (หัวเราะ)” หมอศิลป์เล่าติดตลกก่อนที่จะอธิบายต่อ
“ไม่เช่นนั้นเราต้องเปลี่ยนเป้าหมายใหม่ว่า ทำยังไงให้คนกับยุงอยู่ด้วยกันได้อย่างสมดุล เคยมีใครคิดจะอยู่แบบสงบสุขกับยุงบ้าง สัตว์พาหะและเชื้อโรคต่างๆ พวกนี้ก็ไม่ได้มองว่ามันจะมากำจัดคนให้หายไปจากโลก แต่เขาต้องการโอกาสให้ตัวเองดำรงชีวิตอยู่ได้ พวกมันไม่เคยมองคนเป็นศัตรูเลย มีแต่คนนี่แหละที่ตั้งใจจะกำจัดมันอยู่ตลอดเวลา
“ต่อให้คนเราอยู่ด้วยกันเองไม่มีตัวอื่นเลย เราก็มีเชื้อโรคของเรา ไม่ใช่ว่าต้องมาจากสัตว์เท่านั้น คนยังแพร่เชื้อให้กันเอง แล้วเราจะหลบไปไหนหรอ เราต้องทำความเข้าใจว่าหลายคนและระบบสาธารณสุขเองต้องการสู้และป้องกันโรค ซึ่งเราอาจจะคิดไปถึงการทำให้เชื้อโรคมันหายไปหรือพาหะหมดโลกไปเลย ซึ่งมันอาจจะส่งผลต่อระบบนิเวศมหาศาล เราควรมองในความเป็นจริงตามธรรมชาติของเชื้อโรคว่า มันถูกสร้างขึ้นมาเพื่ออะไรและเราก็ควรจะเผื่อใจไว้บ้าง ปล่อยให้ธรรมชาติได้ทำงานและเคารพบทบาทของเชื้อโรคและสัตว์ ให้มันได้ทำหน้าที่ของมันบ้าง”
จากคนสู่สัตว์
อย่าว่าแต่สัตว์นำโรคมาสู่คนอย่างเดียว ในความเป็นจริงแล้วเราก็มีเชื้อโรคที่แพร่กระจายไปสู่สัตว์อื่นไม่น้อย แต่กลับไม่ค่อยถูกพูดถึงมากนัก
“ไม่มีทางเลยครับที่คนจะรับเชื้อมาจากสัตว์ป่าอย่างเดียวโดยไม่แพร่เชื้อด้วย ตัวอย่างที่เห็นชัดในประเทศไทยคือวัณโรคคนที่ไปติดในช้าง วัณโรคเป็นโรคที่สนิทชิดเชื้อกับคนและมีวิวัฒนาการร่วมกันมานานแล้ว ต่อมาด้วยความสัมพันธ์ระหว่างคนกับช้างเลี้ยง ทำให้ช้างติดวัณโรค ป่วย และตายด้วย เมื่อปลายปีก่อนมีช้างเลี้ยงตายเพราะติดวัณโรคถึงห้าเชือก
“โรคไข้หวัดใหญ่กับไข้หัดก็เหมือนกัน มันจะติดในชนิดที่คล้ายคลึงกับคนในกลุ่มของไพรเมต พวกชิมแปนซีหรือกอริลล่า การท่องเที่ยวเชิงนิเวศในแอฟริกาก็ทำให้เกิดการแพร่เชื้อไข้หวัดใหญ่และไข้หัดจากนักท่องเที่ยวไปถึงกอริลล่าภูเขาด้วย ทำให้กอริลล่าป่วยแล้วก็ตายได้เหมือนกัน นอกจากนี้ ยังเจอแบคทีเรียดื้อยาในสัตว์อีก ซึ่งเกิดจากการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างบ้าระห่ำ และเชื้อมันเกิดเองไม่ได้ ช้าง ลิง หรือเสือ ที่ป่วยซื้อยามากินเองไม่ได้ แต่เป็นเชื้อจากคนนี่แหละที่ปนเปื้อนในธรรมชาติ”
ยังไม่รวมถึงโรคระบาดทางอ้อมจากการปศุสัตว์ของมนุษย์ที่ทำให้นากในทะเลสมองอักเสบได้ ซึ่งหมอศิลป์เล่าความเชื่อมโยงให้ฟังว่า เกิดจากการทำปศุสัตว์จำนวนมากของเราซึ่งปล่อยน้ำปนเปื้อนขี้วัวลงไปในแหล่งน้ำธรรมชาติ เชื้อโรคท็อกโซพลาสโมซิสก็ปนไปกับแหล่งน้ำ ไหลลงสู่ทะเล แล้วก็ไปเกาะอยู่กับหอยสองฝา พอนากกินหอยสองฝาพวกนี้ก็ทำให้เป็นไข้ สมองอักเสบ และตาย
รับรู้ เข้าใจ สมดุล
จริงๆ แล้ว เครื่องมือป้องกันพาหะนำโรค หน้ากากอนามัย หรือยาฆ่าเชื้อ ไม่ต้องไปหาที่ไหนไกลเลย เพราะมันซ่อนอยู่ในธรรมชาติ เราได้ฟังบทบาทหน้าที่ของสิ่งมีชีวิตหลายตัวเกี่ยวกับโรคระบาดต่างๆ แต่พระเอกที่เราประทับใจที่สุดคือเจ้าพอสซัม ที่ช่วยป้องกันเราจากโรคไลม์ (Lyme’s Disease)
โรคนี้เกิดจากแบคทีเรียที่มีเห็บเป็นพาหะ เจ้าเห็บนี้พอโตได้ระยะหนึ่งก็ต้องลอกคราบและกระโดดไปหาบ้านใหม่ ซึ่งจะเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมต่างๆ ตั้งแต่หนู (White-footed Mice) กวาง (White-tailed Deer) พอสซัม (Opossum) รวมถึงคนด้วย แต่ละผู้เล่นก็มีคุณสมบัติแตกต่างกัน ราวกับเรากำลังเล่นเกมคุมโรคระบาดนี้อยู่เลย
หนูเป็นตัวที่ส่งต่อเชื้อให้กับเห็บได้เป็นอย่างดีมีพลังทำลายล้างสูง ยิ่งระบบนิเวศมีหนูมากก็ยิ่งทำให้เชื้อกระจายได้มาก แต่ถ้าเห็บไปกัดกวางจะกระจายเชื้อได้ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ เพราะเชื้อมันเกาะกับร่างกายกวางไม่ค่อยดี ถ้าไปกัดพอสซัมละก็เสร็จแน่ๆ เพราะนอกจากมันจะไม่ค่อยส่งต่อเชื้อแล้ว มันยังมีพฤติกรรมชอบทำความสะอาดขนตัวเองและกินเห็บเป็นอาหารด้วย
พอสซัมเป็นสัตว์ที่สะอาดมาก เพราะกำจัดเห็บบนตัวมันได้ถึง 90 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว นั่นหมายความว่าถ้าในระบบนิเวศมีแต่หนูเต็มไปหมด เราก็คงจะแพ้แก่โรคระบาดในเกมนี้ แต่ถ้าในระบบนิเวศมีพอสซัมและกวางมากินส่วนแบ่งพื้นที่นี้ไป แปลว่าคนเราก็มีโอกาสได้รับเชื้อโรคนี้น้อยลงด้วย
“สัตว์พวกพอสซัมหรือแร้ง เราเลยเรียกว่ามันเล่นบท Protective Role คือมีบทบาทปกป้องให้คนติดเชื้อโรคนั้นๆ น้อยลง แปลว่ามันอาจจะมีโรคอื่นที่เราไม่รู้ก็ได้นะ ระบบนิเวศเลยต้องมีความหลากหลายที่คอยมาควบคุมกัน แต่ทุกวันนี้เราทำลายความหลากหลายทางชีวภาพไปมากแล้ว” หมอศิลป์อธิบาย
บ้านของเราคือโลกใบเดียวกัน
“ระบบนิเวศที่สุขภาพดีเป็นยังไง คือหัวใจของสิ่งที่ผมเรียน”
หมอศิลป์หลงรักธรรมชาติและเริ่มต้นเส้นทางสายนี้ด้วยการเป็นสัตวแพทย์ แต่การได้อยู่ใกล้ชิดธรรมชาติและการรักษาสัตว์ป่ายังไม่ตอบโจทย์เป้าหมายในชีวิตของเขา จนกระทั่งได้มาเรียนเวชศาสตร์เชิงอนุรักษ์ (Conservation Medicine) สาขาวิชาชื่อแปลกที่เราเองก็ไม่เคยได้ยิน และไม่แปลกใจเลยที่คุณหมอจะบอกว่าเมืองไทยก็ยังไม่มีการเรียนการสอนเรื่องนี้ด้วยซ้ำ
“แพทย์หรือสัตวแพทย์ เราเรียนรู้ว่าความเจ็บป่วยเป็นอย่างไร หาสาเหตุ และป้องกันความเจ็บป่วยเหล่านั้นที่เกิดขึ้นกับคนหรือสัตว์ ในขณะที่เวชศาสตร์เชิงอนุรักษ์เราใช้หลักการเดียวกัน แต่เรียนรู้ในสิ่งที่กว้างออกไปมากกว่าคนหนึ่งคน หรือสัตว์หนึ่งตัว เราพยายามผนวกความรู้ทางการแพทย์และการอนุรักษ์ธรรมชาติเข้าด้วยกัน
“เรามองว่าอะไรคือเชื้อโรคหรือปัญหาสุขภาพของระบบนิเวศ เช่น โรคสภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง โรคการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ โรคพื้นที่ป่าหายไป เราก็มาคิดต่อว่ามันเกิดขึ้นจากอะไร และเราจะป้องกันหรือควบคุมโรคนี้ได้ยังไงบ้าง ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นแรงขับเคลื่อนที่เกิดมาจากคนทั้งสิ้น คนจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้สุขภาพของระบบนิเวศแย่ลง”
แม้เราจะคุยกันทางโทรศัพท์ แต่เราก็อดลุกจากเก้าอี้เดินวนแล้วคิดตามไม่ได้ เพราะเพียงแค่ถอยออกมามองจากการมี ‘มนุษย์’ เป็นศูนย์กลาง พอเปลี่ยนเป็น ‘โลก’ เป็นศูนย์กลางของเรื่องราวทั้งหมด เราก็เห็นทุกอย่างแตกต่างออกไป บางทีไวรัสที่แพร่ระบาดอาจเป็นมนุษย์อย่างเราๆ ก็ได้ และ COVID-19 อาจเป็นเพียงภูมิคุ้มกันของโลกหรือวัคซีนที่เราได้รับอยู่
“พอพูดแบบนี้แล้วบางคนก็มองว่าเราจะไปรักษาโรคหรือรักษาสัตว์มันทำไม ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติเลยสิ แต่เป้าหมายของเราไม่ใช่การควบคุมทั้งหมด แต่เราเข้าไปรับรู้ เข้าใจวงจรของเชื้อโรคที่มีบทบาทตามธรรมชาติ บทบาทที่มันถูกกระทำจากอิทธิพลของมนุษย์ หรือสุดท้ายมันกระโดดข้ามมาหาเราได้อย่างไร
“เราอยู่แบบที่พยายามจะเข้าใจและเคารพให้ธรรมชาติได้ทำหน้าที่ของมัน แต่แน่นอนว่าสมการนี้ตัดคนออกไปไม่ได้ ยังไงเสียคนก็จะทำให้เกิดผลกระทบต่อธรรมชาติ แต่เราควรรู้ว่าผลกระทบจะเกิดขึ้นในทิศทางไหน และทำยังไงไม่ให้ผลกระทบที่เกิดขึ้นมันรุนแรงเกินไป เกิดโรคในระดับที่เรารับได้ ดูแลผู้ป่วยได้ และไม่แพร่กระจายแบบยั้งไม่อยู่อีก”
หลังจากจบบทสนทนา เรากลับมาเช็กจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันอีกครั้งและเลิกก่นด่าคนจีนที่ชอบเปิบพิสดาร เพราะในวิกฤตแบบนี้เราจึงมีโอกาสได้เห็นบ้านเมืองที่สงบ ฝุ่นควันที่ลดลง คลองในเวนิส อิตาลี ที่ใสแจ๋วจนเห็นปลาแหวกว่าย ช้างและสัตว์ป่าออกมานอนเล่นกลางถนน ข่าวโอโซนโลกที่กำลังดีขึ้น เราจึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า เราทุกคนล้วนมีส่วนไม่มากก็น้อยในการทำลายโลกใบนี้
โรคระบาดครั้งหน้าจะเกิดขึ้นอีกเมื่อไหร่ หรือจะรุนแรงแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับการใช้ชีวิตของเรานับจากนี้
ภาพ : นายสัตวแพทย์ไพศิลป์ เล็กเจริญ