ผ้าขาวม้านับเป็นผ้าอเนกประสงค์ อยู่กับทุกเพศ ทุกวัย ทุกยุค และทุกสมัย ตั้งแต่เกิดไกวเปลจนดับขัยสังขาร ประโยชน์เยอะแต่คนยังเหลียวมองไม่แยะ ด้วยสีสดไม่ร่วมสมัย ลวดลายแสนเชย เนื้อผ้าแข็งทื่อ

แต่ต้องเปลี่ยนความคิดเมื่อเห็นภาพใบปิดจากงาน ‘ผ้าขาวม้าทอใจ’ ของบริษัทประชารัฐรักสามัคคี วิสาหกิจเพื่อสังคม (ประเทศไทย) จำกัด ฉลองครบรอบ 2 ปี โครงการผ้าขาวม้าท้องถิ่น หัตถศิลป์ไทย ที่ชักชวนทายาทผ้าขาวม้ารุ่นใหม่มาร่วมสร้างสรรค์ผลงาน เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผ้าขาวม้าทอมือ ด้วยแนวคิด ‘ทอมือ ทอใจ ช่วยชุมชน’ จากทายาทผ้าขาวม้าที่ชนะการประกวด 15 คน เราขอแนะนำให้รู้จัก แยม-สุพัตรา แสงกองมี ทายาทรุ่นสองวัยเพียง 23 ปีของกลุ่มทอผ้าพื้นเมืองบ้านสะง้อ (ผ้าขาวม้าดารานาคี) จังหวัดบึงกาฬ

ผ้าขาวม้า

เธอเข้ามาเปลี่ยนแปลงการย้อมผ้าขาวม้าจากสีเคมีของชุมชนด้วยการย้อมผ้าด้วยสีธรรมชาติและหมักโคลนพันปีจากแม่น้ำโขง จนกระจายรายได้สู่ครอบครัวและชุมชนอย่างยั่งยืนกว่า 4 อำเภอ

แยมเชื่อมสัมพันธ์กลุ่มทอผ้าพื้นเมืองบ้านสะง้อกับเครือข่ายด้วยคำว่า ‘ดารานาคี’

“ดาราเป็นการเปรียบผ้าขาวม้าเหมือนดวงดาว ถ้าอยู่บ้าน (บึงกาฬ) เราจะมองเห็นดวงดาวทุกวัน แต่พอเข้ามาอยู่กรุงเทพฯ อาจไม่มีโอกาสได้มองเห็น เราเลยอยากทำให้ทุกคนได้เห็นว่าผ้าขาวม้ายังมีคุณค่า เอามารวมกับคำว่า นาคี เป็นความเชื่อของชาวบึงกาฬเกี่ยวกับพญานาค โคลนที่ใช้ในการย้อมผ้าก็มาจากแม่น้ำโขง เราเลยเอา 2 คำมาเชื่อมกันเป็นดารานาคี”

ผ้าขาวม้า

ธุรกิจ กลุ่มทอผ้าพื้นเมืองบ้านสะง้อ (ผ้าขาวม้าดารานาคี) จังหวัดบึงกาฬ (พ.ศ. 2528)
ประเภทธุรกิจ ผลิตและแปรรูปผ้าขาวม้าทอมือ ย้อมสีธรรมชาติ หมักโคลนนาคี
อายุ 33 ปี
เจ้าของและผู้ก่อตั้ง คุณยายแว่น คำพุทธา และ คุณตาไล คำพุทธา
ทายาทรุ่นที่สอง สุพัตรา แสงกองมี

สั่งเสีย

กลุ่มทอผ้าพื้นเมืองบ้านสะง้อ เป็นกลุ่มทอผ้าขาวม้าดั้งเดิมของชุมชน จะทอผ้าขาวม้าด้วยลายตารางสี่เหลี่ยมจัตุรัสเท่ากันทั้งผืน จนกระทั่งเกิดปัญหาผ้าขาวม้าไม่เป็นที่ต้องการของตลาด สมาชิกเลยเลิกทอผ้าแล้วหันไปทำการเกษตรแทน ประจวบเหมาะกับคำสั่งเสียสุดท้ายของ คุณตาไล คำพุทธา ผู้ก่อตั้งกลุ่ม ท่านบอกกับภรรยาและลูกว่า “ถ้าครอบครัวของท่านไม่สานต่อก็ขอให้ครอบครัวของแยมเป็นคนดูแลแทน”

“เรารับช่วงต่อปี 58 มาทำผ้าขาวม้าหมักโคลนปี 59 ช่วง 1 ปีเป็นช่วงที่เราเรียนรู้คำว่าขาดทุน เราเป็นหนี้สินจากการต้องแบกรับกลุ่มเอาไว้ จนพี่สาวบอกว่าเลิกทำเถอะ แต่ตอนที่เราไปรับผ้าทอกับคุณแม่ นอกจากกลุ่มยังมีเครือข่ายที่รุ่นแรกเขาสร้างเอาไว้กับหลายชุมชน

“พอเราไปเห็นผ้าที่เขาทอ มันเป็นผ้าขาวม้าที่ไม่ได้มาตรฐาน เราเลยจะไม่รับมาขายให้ เขาบอกว่าถ้าเราไม่รับ เขาก็ไม่มีเงินให้ลูกหลานไปโรงเรียน มันเป็นจุดเริ่มต้น เราเริ่มรู้ตัวว่าเราต้องเปลี่ยน มันไม่ได้มีแค่ครอบครัวเรา แต่มีครอบครัวของคนอีกหลายสิบชีวิตที่อยู่ในนั้น”

นอกจากผ้าขาวม้าไม่ได้มาตรฐาน จำนวนคนทอลดน้อยลงจนเหลือเพียงคุณยายช่างทอ 4 คน คุณยายช่างทอบอกกับแยมและคุณแม่ว่า “แม่จะทอเป็นหูกสุดท้ายแล้วนะ”

ส่องแสง

สองคนแม่ลูกท้อถอยและหมดกำลังใจ แต่แสงสว่างส่องประกายเมื่อไปนั่งปรับทุกข์กับคุณยายพุดบ้านข้างเคียง แถมบอกคุณยายไปว่า ไม่อยากทำแล้ว คุณยายพุดรำพึงรำพันคิดถึงสมัยวัยสาวขึ้นมาว่า

“เมื่อก่อนกว่าจะได้เสื้อผ้าไปโรงเรียน ต้องต้มน้ำเปลือกไม้ไปใส่ในโอ่งใหญ่ เอาผ้าไปแช่ก่อน 7 คืน หลังจากนั้นเอาออกมาแล้วไปหมักด้วยโคลนในนาอีก 1 คืน ถึงจะได้เสื้อผ้าใส่ไปโรงเรียน”

ด้วยความสงสัย แยมถามคุณยายต่อว่า “แล้วคนอื่นทำกันมั้ยคะคุณยาย”

คุณยายบอกเธอว่าทำทุกคน มากไปกว่านั้นคุณยายไล่ชื่อเสียงเรียงนามของเพื่อนให้ฟัง แล้วชื่อเพื่อนทั้งหมดตรงกันกับช่างทอผ้าในกลุ่มที่เลิกทอกันไปแล้วจากวิกฤตผ้าขาวม้าของชุมชน

แยมไล่ถามคุณย่าคุณยายตามรายชื่อจากคุณยายพุดว่ารู้จักสีธรรมชาติหรือเปล่า แต่คำตอบคือ ไม่มีใครรู้จัก แยมเลยเปลี่ยนคำถามใหม่ว่า ตอนเด็กเวลาไปโรงเรียน แม่ๆ ทำเสื้อผ้ากันยังไง คำตอบของคุณย่าคุณยายเหมือนการกดคัดลอกและกดวางคำตอบของคุณยายพุด “ก็เอาไปต้ม แล้วย้อมเปลือกไม้ก่อนค่อยหมักโคลน” เราพูดออกมาพร้อมกันกับแยมว่า “มันคือสีธรรมชาตินั่นแหละ”

เหมือนแปลงร่างเป็นโคนัน แยมไขปริศนาปัญหาผ้าขาวม้าได้อีก 1 ข้อ

  “พอเรารู้แล้วว่าเมื่อก่อนชาวบ้านเขาทำอะไรกัน ก็ตัดสินใจในครอบครัวว่าเราจะย้อมสีธรรมชาติ”

ผ้าขาวม้า

ผ้าขาวม้า

สีสรรค์

หลังจากแยมมีแรงฮึดขึ้นมาอีกครั้ง เธอตั้งโจทย์กับตัวเองว่า ผ้าขาวม้าจากกลุ่มทอผ้าพื้นเมืองบ้านสะง้อจะต้อง ‘นุ่ม ย้อมด้วยสีธรรมชาติ และลวดลายแตกต่างจากผ้าขาวม้าดั้งเดิม’ จนเกิดเป็นคำขวัญคล้องจองสร้างการจดจำให้กับแบรนด์ว่า ‘ผลไม้พันปี นารีสีสวย รวยได้รวยดี นาคีหมักโคลน’

(ผลไม้พันปี-หมากค้อเขียว นารีสีสวย-ชมพู่ป่า รวยได้รวยดี-ต้นคูน นาคีหมักโคลน-โคลนพันปีริมโขง)

ผ้าขาวม้าจะต้องนุ่ม เพราะชาวบ้านเคยนำผ้าขาวม้ามาแปลงเป็นเสื้อผ้าทันสมัยแต่ยังไม่ได้รับความนิยม ปัญหามาจากสีเคมีทำให้เนื้อผ้าแข็งกระด้าง ใส่แล้วไม่สบายตัว

ซึ่งการหมักโคลนแก้ปัญหาผ้าแข็งกระด้างได้ ส่วนแหล่งโคลนเธอรู้มาจากคุณยายพุด จุดเกิดโคลนเป็นทางเชื่อมระหว่างแม่น้ำโขงไปยังแหล่งน้ำในชุมชน ชาวบ้านเรียกว่าทางเทียวสัตว์ ปัจจุบันเป็นป่าและแหล่งน้ำของชุมชน แยมลงพื้นที่ทันที โชคดีมาก เพราะโคลนบางส่วนพาดอยู่ในพื้นที่ของเธอพอดี โคลนมีความอุดมสมบูรณ์ดี ไม่มีการก่อสร้างทับหน้าดินตั้งแต่สมัยคุณยายพุด

ส่วนการย้อมด้วยสีธรรมชาติแยมได้รับคำแนะนำจากการเรียนคอร์สระยะสั้นและการอบรมจากภาครัฐ อันดับแรกต้องสังเกตวัตถุดิบในชุมชน เธอเริ่มจากหมากค้อเขียว เพราะมีมากในชุมชน อายุยืนยาวและเป็นผลไม้ขวัญใจชาวอีสาน เวลาเอาผลไปต้มน้ำจะให้สีคล้ำค่อนไปทางสีดำ และเธอยังเลือกใช้เปลือกของต้นชมพู่ป่าและเปลือกต้นคูน กระบวนการทำเธอจะต้มเปลือกไม้ทั้งสามชนิดรวมกัน 12 ชั่วโมง ทิ้งให้เย็นแล้วนำเส้นฝ้ายหมักโคลนทันที เพราะทดลองมาแล้วว่าไม้ทั้งสามชนิดจะทำให้ผ้านุ่ม สีสวย เงางาม และโคลนเกาะตัวกับเนื้อผ้าได้เป็นอย่างดี

“ผ้าย้อมสีเปลือกไม้และหมักโคลนจะได้สีเทา แต่บังเอิญตอนคุณยายทอผ้า เราเห็นว่าบนเนื้อผ้ามีบางจุดเป็นสีน้ำตาล เราเลยนั่งสังเกตคุณยาย เขาจะชอบเคี้ยวหมาก แล้วน้ำหมากกระเด็นไปติดเส้นฝ้ายแล้วเปลี่ยนสี เราเกิดไอเดียเอาสีเทามาแกมกับสีน้ำตาล ทำลวดลายขึ้นมาใหม่ชื่อว่า ลายสองฝั่งโขง”

นอกจากลายสองฝั่งโขงยังมีลายตากับยาย เป็นผ้าขาวม้าที่เพิ่มลายน้ำไหลเข้าไปด้วย แยมให้ความหมายว่า ในวิถีชีวิตของชาวอีสาน ผ้าขาวม้าแทนสัญลักษณ์ของผู้ชาย ลายน้ำไหลอยู่ในผ้ามัดหมี่แทนสัญลักษณ์ของผู้หญิง หรือลายปทุมทิพย์ มาจากคุณยายทุมอยากออกแบบลวดลายผ้าเป็นของตนเอง ตั้งชื่อรวมกับชื่อของพี่สาวคุณยายทิพย์ และยังมีอีกหลายลวดลายที่แยมและคนในชุมชนช่วยกันคิดขึ้นมา

ผ้าขาวม้า

ส่งเสริม

เมื่อเปลี่ยนจากสีเคมีเป็นสีธรรมชาติสำเร็จ เธอกลับไปขอความช่วยเหลือจากช่างทอที่เหลืออยู่เพียงคนเดียวกับกี่หลังสุดท้าย แยมให้คุณยายทอผ้าให้เพียง 2 เมตรแล้วตัดทันที

ผ้าขาวม้าทอมือ 2 เมตร ตัดเสื้อผ้าได้ 1 ตัว เธอเอาผ้าผืนนั้นไปมอบให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ ท่านผู้ว่าใจดีเอาผ้าขาวม้าไปตัดเป็นเสื้อเพื่อใส่ประชาสัมพันธ์ให้กับกลุ่มทอผ้าพื้นเมืองบ้านสะง้อ จนผ้าขาวม้าเป็นที่รู้จักขึ้นมาอีกครั้ง เธอเลยตั้งชื่อลายผ้าผืนนั้นว่า ‘ลายผู้ว่า’

“การมารับช่วงต่อยากตรงคำว่าเปลี่ยน เปลี่ยนทัศนคติคนอื่นต้องอาศัยเวลา เราเริ่มทำจากครอบครัวเราก่อน เราเรียกพลังด้วยวิธีการทอ 2 เมตร แล้วตัดไปลองจำหน่าย มันเป็นเรื่องผิดปกติเพราะเขาจะต้องทอเป็นม้วน แล้วค่อยเอาไปจำหน่าย ต้องใช้ระยะเวลาเป็นเดือน แต่พอเราตัดทุก 2 เมตร ชาวบ้านจะมีรายได้ต่อวันทันที เขาเริ่มตื่นตัว ราคาผ้าขาวม้าจากผืนละ 100 เราขายผืนละ 500 เขาก็กลับมาทอ เหมือนมีแรงใจ และเป็นความสุขที่เขาไม่ได้ทิ้งในสิ่งที่เขาสืบทอดต่อกันมา

“แล้วยังเป็นการแก้ปัญหาการบริการจัดการของคนรุ่นแรก เมื่อก่อนเขาจะทำร่วมกันแล้วปันผล คนทำก็ได้เงิน คนไม่ทำก็ได้เงิน ก็ไม่ทำดีกว่า เป็นสาเหตุหนึ่งทำให้กลุ่มแตก เราตัดสินใจว่ารายได้จะเท่ากับงาน เขาทำเท่าไหร่ก็ได้เงินเท่านั้น เราจะแบ่งงานชัดเจนว่าใครย้อม ใครทอ ใครปั่นหลอด ใครค้นหูก เขาเลือกทำในสิ่งที่เขาชอบที่สุด แล้วเขาจะทุ่มเทกับงานได้มากที่สุด งานออกมาจะมีคุณภาพกว่าเดิม”

แยมยกตัวอย่างคุณยายฉวี นักค้นหูกรุ่นบุกเบิกของกลุ่ม การค้นหูกเป็นการกำหนดลายผ้า คุณยายฉวีจะต้องค้นฝ้ายในรางเหล็กให้เป็นเส้นยืน แล้วลากเส้นฝ้ายลากไปแล้วก็ลากกลับเพื่อเอามาคล้อง คุณยายเปรียบเปรยระยะทางการเดินค้นหูกของตนเองต่อวันว่า “วันนี้ยายเดินจากบ้านเรา (บึงกาฬ) ไปถึงหนองคายเลยนะ” จากชีวิตความเป็นอยู่ที่ไม่ดีนักของชาวบ้านในจังหวัดชายขอบของประเทศ กลายเป็นมีความเป็นอยู่ดีขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก

“การทำงานของเรากระจายไปยังเครือข่ายด้วย ตอนเรากลับมาทอผ้า เราเริ่มจากชุมชนเราก่อน พอผ้าขาวม้าไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด เราก็ขยายให้กับเครือข่ายเดิมที่เขาเลิกทอไป เครือข่ายจะทออย่างเดียว ชุมชนเราย้อมเอง กำหนดลายเอง ตัดเย็บเอง เพราะคุณแม่มีพื้นฐานด้านการตัดเย็บ แล้วก็เอาความรู้จากการเรียนและอบรมมาปรับใช้ คุณแม่จะสอนงานให้กับสาวโรงงานที่เขากลับมาทำงานที่บ้าน จากการชักชวนกันมาของช่างทอในชุมชน”

ผ้าขาวม้า ผ้าขาวม้า

สู้สู้

ปัจจุบันสมาชิกของกลุ่มทอผ้าพื้นเมืองบ้านสะง้อและเครือข่าย จากช่างทอคนเดียวกับกี่หลังสุดท้าย เพิ่มเป็น 4 อำเภอกับกี่จำนวน 70 หลัง ภายในระยะเวลา 2 ปี ไม่นับรวมลูกเล็กเด็กแดงที่ร่วมด้วยช่วยกันทำหน้าที่ของตนเองอย่างสุดความสามารถ

“ครอบครัวของเราใหญ่ขึ้นแล้ว สมาชิกสอนให้เราต้องเข้มแข็ง เราต้องเชื่อมั่นในสิ่งที่เราทำ เราเห็นความใส่ใจของเขา เขาทุ่มทั้งชีวิตให้ผ้าผืนเดียว ตอนนั้นเขามองว่าสิ่งที่พวกเขาทำไม่มีคุณค่าในสายตาคนอื่น เขาเข้าใจปัญหาของผ้าขาวม้าว่าไม่เหมาะกับปัจจุบัน แต่เขาก็ทำตามกันมา เขาอยากจะรักษาไว้ตามคำสอนของคนรุ่นพ่อแม่ คนอื่นมองไม่เห็นคุณค่าไม่เป็นไร แต่เราต้องมองเห็นคุณค่าเราก่อน เขาสอนเรามา

“ถ้าคิดย้อนกลับไปวันที่มีคนบอกเราว่า ‘เด็กคนนี้ทำบ้าอะไร’ ตอนนั้นเราเสียใจ ร้องไห้เลยนะ เขาตัดสินเราแล้วทั้งที่เรายังไม่ได้ลงมือทำเลย วันนี้เราผ่านมาแล้ว เรารู้สึกขอบคุณเขา ขอบคุณที่พูดคำนั้นกับเรา ทุกวันนี้เขาพาสมาชิกชุมชนของเขามาขอดูงานของเรา เราเป็นตัวอย่างให้กับหลายชุมชน เราภูมิใจนะ”

ผ้าขาวม้า

สำเร็จ

การเปลี่ยนของแยมทำให้เธอเข้าใจแล้วว่าผ้าขาวม้ายังคงอยู่คู่คนไทยเหมือนเดิม เพียงแต่เปลี่ยนรูปลักษณ์ภายนอก เปลี่ยนเทคนิคกระบวนการ ความจริงเป็นการเปลี่ยนจากการฝืนธรรมชาติกลับไปหาต้นกำเนิดเดิมคือ ‘ธรรมชาติ’ เสียด้วยซ้ำ และบ้านสะง้อเองก็เป็นชุมชนท่องเที่ยวของจังหวัดบึงกาฬ จึงไม่แปลกใจถ้าเธอจะบอกว่ากลุ่มเป้าหมายหลักเป็นนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติ

เราอยากให้ชาวบ้านเขาอยู่ ชุมชนก็ยังมีรายได้ ตลาดออนไลน์เรายังไม่ค่อยเปิด แต่ในอนาคตต้องปรับตัว เพราะว่าการเปลี่ยนวิถีของชุมชนต้องใช้เวลาและใจเย็น และเราเชื่อว่าผ้าขาวม้าของเรา Represent คนทำ เรามีความภูมิใจที่เราเป็นคนบึงกาฬ เป็นคนริมโขง เราอยากจะบอกกับทุกคนว่าเรายังทำผ้าขาวม้าอยู่นะ แต่ผ้าขาวม้าของเราขอนำเสนอในแบบของคนบึงกาฬ หลายชุมชนพอเห็นเราเป็นตัวอย่างก็เริ่มกลับมาย้อมสีธรรมชาติ เราอยากให้สีธรรมชาติมาจากตัวตนของเขา มาจากชุมชนของเขา

“สุดท้ายเราพิสูจน์แล้วว่าทายาทไม่ได้หมายถึงคนที่คอยรับผลประโยชน์ แต่หมายถึงคนที่พร้อมอุทิศตนเพื่อคนอื่น ไม่ว่าจะเจออุปสรรคอะไรอย่าเพิ่งท้อ มันจะต้องเจออยู่แล้ว ให้คิดเสมอว่าพอผ่านตรงนั้นไปคุณจะลืมมันหมดเลย เหมือนเรากลัวผี ถ้าเราเดินไปเปิดไฟได้ เราจะเห็นโลกได้ชัดเจนมากขึ้น มันต้องข้ามจุดจุดหนึ่ง พอข้ามก็สบายแล้ว เราว่ากาลเวลาจะพิสูจน์ทุกอย่าง”

ผ้าขาวม้า

นอกจากทายาทจากบึงกาฬ การประกวดทายาทผ้าขาวม้าไทยยังได้ค้นพบดีไซเนอร์รุ่นใหม่ทั่วประเทศที่ต่อยอดผ้าขาวม้าบ้านเกิดให้ร่วมสมัย

โครงการผ้าขาวม้าท้องถิ่น หัตถศิลป์ไทย โดยบริษัท ประชารัฐรักสามัคคี วิสาหกิจเพื่อสังคม (ประเทศไทย) จำกัด ยังจัดการประกวดออกแบบผ้าขาวม้าท้องถิ่นหัตถศิลป์ไทย สำหรับนิสิตนักศึกษาหรือประชาชนรุ่นใหม่ และประกวดภาพถ่ายผ้าขาวม้าทอใจใน Instagram ด้วย ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่  

Writer

สุทธิดา อุ่นจิต

สุทธิดา อุ่นจิต

กรุงเทพฯ - เชียงใหม่ สู่ ลาดพร้าว - สุขุมวิท , พูดภาษาพม่าได้นิดหน่อย เป็นนักสะสมกระเป๋าผ้า ชอบหวานน้อยแต่มักได้หวานมาก

Photographer

Avatar

ณัฎฐาจิตรา ชินารมย์รัตน์

ช่างภาพที่ชอบการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลงและหลงรักในความทรงจำ