26 พฤศจิกายน 2018
22 K

พูดก็พูด เชียงใหม่นี่เป็นเสมือนเมืองหลวงแห่งการย้อมผ้า

ผ้ามัดย้อม ผ้าคราม ผ้าม่อฮ่อม หรือวิธีการย้อมผ้าในหลากหลายรูปแบบสุดแล้วแต่จะสรรหามาได้ เป็นเหมือนสิ่งที่คนเชียงใหม่พิถีพิถัน และให้ความสำคัญไม่ต่างจากร้านชานมไข่มุกและเครื่องดื่มเย็นที่เปิดกันอย่างดาษดื่นในช่วงปีถึงสองปีที่ผ่านมา แต่ปัญหาอย่างหนึ่งที่ทำให้ผ้าย้อมเริ่มจางความนิยมลงไปคือ สินค้าเหล่านั้นยังไม่มีความพิเศษหรือโดดเด่นที่จะดึงดูดใจลูกค้าได้

แล้ววันหนึ่งฉันก็พบกับแบรนด์ผ้าย้อมที่แตกต่างออกไป เพราะย้อมด้วยเทคนิค Eco-printing หรือการย้อมผ้าโดยใช้สีธรรมชาติจากพรรณไม้นานาชนิด 

จากการลองผิด ลองถูก ทดลอง ปรับปรุง และพัฒนาวิธีการผลิต ร่วม 1 ปี บัดนี้ ‘Rissara’ คือแบรนด์เสื้อผ้าที่ใช้เทคนิคย้อมสีธรรมชาติด้วยการนึ่ง อีกทั้งยังได้รับความนิยมจนทั้งหน้าร้านออนไลน์ การออกบูทในงานกิจกรรมต่างๆ รวมถึงมีออเดอร์สั่งผลิตอีกจำนวนมาก

ก่อนหน้านี้ Rissara มีหน้าร้านที่โครงการลานเสี่ยว ซอยวัดอุโมงค์ แต่เนื่องจากการเติบโตอย่างรวดเร็ว ทั้ง ส้ม-นริศรา ธีระพันธ์ศิลปิน และ ตั้ม-พลกฤษณ์ อุทัยกรณ์ ผู้ก่อตั้งทั้งสอง จึงตัดสินใจขยับขยายหน้าร้านไปยังโครงการบ้านข้างวัดเมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา

ก่อนที่ทั้งสองจะเริ่มต้นการขนย้ายไปยังหน้าร้านใหม่ ฉันรบกวนเวลาส้มและตั้มชั่วครู่หลังจากการนึ่งผ้าชุดใหม่เสร็จสิ้น เพื่อทบทวนเรื่องราวของการเรียนรู้ศาสตร์ Eco-printing และประสบการณ์ตั้งแต่วันแรก จนถึงวันนี้

ที่ทั้งสองบอกฉันว่า การทำแบรนด์ Rissara ในวันนี้ยังมีเรื่องให้เรียนรู้ต่อไปเรื่อยๆ

Rissara Rissara

โลกใบใหม่แห่งการย้อมผ้า

ช่วง 2 – 3 ปีก่อนหน้านี้ ส้มทำงานอยู่ในแวดวงอุตสาหกรรมญี่ปุ่น โดยดูแลจัดกิจกรรมเจรจาธุรกิจให้กับผู้ประกอบการไทยและญี่ปุ่นในหลายๆ ด้าน รวมไปถึงงานผ้า ส่วนตั้มเป็นกราฟฟิคดีไซน์เนอร์อิสระ

จุดเริ่มต้นของ Rissara มาจากความฝันของส้มที่อยากเป็นเจ้าของธุรกิจ เมื่อผนวกกับความชอบส่วนตัวเรื่องงานผ้า เป็นแรงผลักดันให้ส้มเริ่มต้นศึกษาและทดลองศาสตร์การย้อมผ้าด้วยสีจากพืชธรรมชาติ หรือ Eco-printing ทั้งกว้านซื้อหนังสือเกี่ยวกับ Eco-printing และหาข้อมูลอย่างจริงจังและเข้มข้นจากอินเทอร์เน็ต

“ส้มเห็นภาพผ้าที่เกิดการย้อมแบบนี้จากอินเทอร์เน็ต โดยยังไม่รู้ว่าการย้อมลักษณะนี้เรียกว่าอะไร แต่ด้วยความสนใจมากๆ เราพยายามศึกษาลงไปลึกๆ จนรู้ว่าคำเรียกจริงๆ ของวิธีการนี้หลากหลายมาก บางคนจะเรียกว่า Leaf Print, Botanical Print หรือ Botanical Dying แต่เรารู้แน่ๆ ว่าสีที่ใช้คือสีธรรมชาติ และยิ่งข้อมูลในอินเทอร์เน็ตไม่เหมือนกันเลยสักแหล่ง วิธีการทำก็ไม่ได้มีสูตรหรือลำดับขั้นตอนก่อนหลังเป๊ะๆ สำคัญคือการทดลอง ซึ่งไม่ว่าใครทดลองแบบไหน หรือได้ผลลัพธ์อย่างไร เขาก็จะแบ่งปันวิธีกัน” ส้มเล่าถึงจุดเริ่มต้นความสนใจเรื่อง Eco-printing ก่อนจะตัดสินใจลงทุน ลงมือ และลงแรงในการทดลองโดยไม่รีรอ

ส้มบอกว่าสิ่งที่น่าสนใจใน Eco-printing คือเทคนิคที่จะพัฒนาและต่อยอดไปได้อีกเยอะ ซึ่งเธอพบว่ายังไม่ค่อยมีใครกล้าทำ Eco-printing อย่างจริงจัง เพราะยังไม่เป็นที่รู้จักของตลาด จึงเป็นเรื่องท้าทายที่เธออยากลองทำให้สำเร็จ

Rissara

ระหว่างที่ส้มและตั้มมาเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ช่วงสั้นๆ พวกเขาพบว่าสินค้าจากผ้าย้อมด้วยวิธีการต่างๆ นั้นไม่แตกต่างหรือโดดเด่นแปลกใหม่ในตลาด จุดประกายให้ทั้งคู่เริ่มต้นแบรนด์ผ้าย้อมด้วยเทคนิคพิเศษนี้ที่เชียงใหม่ ทั้งๆ ที่ทั้งคู่ไม่ใช่คนพื้นที่

“ช่วงที่มาเที่ยวเชียงใหม่ 5 วัน พวกเราก็ตัดสินใจว่าจะเช่าบ้านเพื่อทำ Eco-printing กันที่นี่เลย เพราะทั้งสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการทำงาน และเป็นพื้นที่ที่พร้อมไปวัตถุดิบธรรมชาติ” ตั้มเล่า

ลองผิดลองถูก

หลังจากเลือกลงหลักปักฐานแบรนด์ที่เชียงใหม่ ทั้งส้มและตั้มเริ่มตั้งต้นด้วยการหาวัตถุดิบ อุปกรณ์ และเริ่มทดลองทำ ซึ่งทั้งคู่ต่างบอกกันและกันว่าจะไม่ทำงานอยู่บนพื้นฐานความกดดันหรือความเครียดใดๆ เพราะนี่คือการทดลองใหม่ในทุกครั้ง ตั้งแต่เริ่มหยิบดอกไม้นานาชนิดจัดวางลงผ้า ต่อด้วยการนำผ้าไปนึ่งในอุณหภูมิและเวลาที่เหมาะสม จนได้ผลงานที่ไม่อาจคาดเดาได้ว่าจะออกมาในรูปแบบใด

Rissara

สิ่งที่ทำให้คนทั้งคู่หลงใหลในการย้อมผ้า Eco-printing นี้คือ ความสนุก

โดยตั้มเล่าว่า เขาสนุกที่ได้เห็นว่าใบไม้บางประเภทที่เราเห็นว่าเป็นสีเขียว ย้อมผ้าออกมาแล้วไม่เป็นสีเขียว และสนุกที่วิธีการนี้ทำให้เขาลุ้นเดาทุกครั้งว่าผลลัพธ์จะออกมาแบบไหน

“การย้อมผ้า Eco-printing ทำให้เราต้องลองใช้ดอกไม้ ใบไม้หลายๆ ประเภท จนกระทั่งทุกวันนี้เราก็ยังคงทดลองอยู่ แม้ว่าที่ผ่านมาเราจะอ่านหนังสือหรือหาข้อมูลจากแหล่งต่างๆ เยอะมาก แต่ทั้งหมดนี้ก็ไม่เท่าการทดลองทำจริงๆ เพียงครั้งเดียว” ส้มเล่าเสริมจากตั้ม

Rissara Rissara

ส้มบอกว่า ข้อมูลที่เธอค้นหาจากแหล่งข้อมูลของต่างประเทศมีสูตรในการผลิตและวิธีการทำที่ไม่เหมือนกัน ด้วยความแตกต่างทางภูมิศาสตร์จึงทำให้ขั้นตอน ลักษณะ หรือประสบการณ์ทดลองของแหล่งข้อมูลมีเทคนิคที่แตกต่างออกไป ซึ่งวิธีการที่ส้มใช้คือนำข้อมูลจากหลายแหล่งมาปรับให้เข้ากับสภาพภูมิศาสตร์ของไทย

“เราเคยทำตามสูตรที่เหมือนเราหาข้อมูลมาทุกอย่างเลย แต่พอทำแล้วมันไม่ได้ผลเหมือนเขาเลย (หัวเราะ) มันก็เลยลองผสมมั่วๆ เอา เราค่อยๆ หาจังหวะที่มันจะเกิดผล เราจะมีเซนส์นิดหนึ่งว่าแบบนี้แหละ อันนี้ที่มันใช่”

ผลิตภัณฑ์ทำมือ

ขั้นตอนในการผลิตผลงานของ Rissara หนึ่งชิ้นจะใช้เวลาราว 2 – 3 วัน โดยเริ่มต้นจากการทำความสะอาดผ้าให้สะอาดหมดจดพร้อมกับการเตรียมผ้า (mordant) เพื่อให้สีธรรมชาติปรากฏบนผ้าอย่างคงทนมากขึ้น ก่อนจะเข้าสู่การออกแบบลายผ้าโดยการวางใบไม้หรือดอกไม้เพื่อพิมพ์ลาย ส่วนใหญ่เป็นพืชและสมุนไพรที่นำมาย้อมสีธรรมชาติได้ เช่น ยูคาลิปตัส เพกา สะเดา เปลือกหัวหอม ใบละหุ่ง เป็นต้น

ขั้นตอนต่อไปคือการม้วนผ้า เพื่อให้ผ้ากับใบไม้แนบติดกัน จึงจะนำไปต้มหรือนึ่งตามกรรมวิธี โดยใช้เวลา 2 – 3 ชั่วโมง เวลาอาจคาดเคลื่อนได้ตามพรรณไม้ที่ใช้ ต่อมาคือการทิ้งผ้าให้เซ็ตตัวไว้ข้ามคืน ก่อนจะนำผ้ามาคลี่และซักออกในวันต่อมา จึงเป็นอันเสร็จพิธี

สีย้อมธรรมชาติผลิตภัณฑ์ของ Rissara อาจจางลงได้จากการใช้งานในชีวิตประจำวัน ส้มจึงแนะนำวิธีการดูแลรักษาว่า ควรซักด้วยมือและตากแห้งในที่ร่ม ซึ่งเป็นวิธีถนอมสีย้อมธรรมชาติให้อยู่บนผลิตภัณฑ์ได้นานที่สุด

อุปสรรคในการสร้างหรือผลิตผลงานของ Rissara มีอยู่ 2 ข้อสำคัญ

ข้อแรกคือ การควบคุมวัตถุดิบที่ควบคุมได้ยาก เนื่องจากวัสดุธรรมชาติทั้งหลายมีผลต่อสีที่ย้อมออกมา ทั้งความสด ความแก่ของพืชที่ใช้ ดินที่ปลูก เนื้อผ้า สภาพอากาศ หรือผ้าที่ใช้ในการย้อม ล้วนส่งผลต่อผลิตภัณฑ์ที่ออกมาทั้งหมด มีหลายครั้งที่ส้มพยายามแก้ปัญหาโดยการจดสูตรอย่างชัดเจน เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ตรงกันทุกครั้ง

ส้มบอกฉันอีกว่า ใบไม้แต่ละประเภทต้องการระยะเวลาคายสี จึงทำให้อุณหภูมิที่ใช้ในการนึ่งไม่เหมือนกัน หากใช้เวลามากเกินไปจะส่งผลให้เม็ดสีในใบไม้เปลี่ยนเป็นโทนที่ไม่ตรงกับความต้องการ หรือเกิดขอบน้ำมันจากใบ้ไม้ทิ้งลายเลอะบนผ้า ซึ่งเป็นสิ่งที่ควบคุมได้ยาก ส้มจึงตัดสินใจไม่จดสูตรเป็นลายลักษณ์อักษร เพราะเสน่ห์ของ Eco-printing คือเอกลักษณ์เฉพาะตัวของลายผ้าที่ได้และลวดลายที่ไม่อาจคาดเดา

Rissara

ข้อสอง การย้อมผ้าแบบ Eco-printing ทำให้ได้ผ้าที่มีชิ้นเดียวในโลก ตามธรรมชาติเลือกสรร จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะนำเสนอสินค้าตอบความต้องการของตลาดจำนวนมาก

“การขายมีความเสี่ยงเพราะว่าเป็นงานแฮนด์เมด แฮนด์คราฟต์ มีชิ้นเดียว อันเดียว บางคนอยากได้ลายนี้แต่ไซส์นี้ ก็จะมีปัญหาแล้วว่าเราทำงานมาแต่ละชิ้นมันคือไม่เหมือนกันเลย ลูกค้าไม่สามารถเลือกได้ว่าอยากได้อันนี้หรืออยากได้อันไหน” ส้มยิ้ม

Rissara

หากแต่อุปสรรคทั้งหมดกลับไม่ใช่สิ่งสำคัญเลย เมื่อส้มและตั้มเริ่มนำงานออกขายจริงในตลาดนัดตามพื้นที่ต่างๆ รอบเมืองเชียงใหม่ เช่นการนำสินค้าออกสู่สาธารณะครั้งแรก ในตลาดเช้าที่โครงการบ้างข้างวัด โดยมีสินค้าเพียง 10 ชิ้นเท่านั้น แต่ก็มีลูกค้าสนใจเข้ามาพูดคุยและถามถึงวิธีการผลิตผ้าอยู่บ้าง และเมื่อได้รับเสียงตอบรับที่ดี จึงเริ่มนำสินค้าปรากฏตัวตามงานอีเวนต์ต่างๆ มากขึ้น จนในที่สุดเริ่มมีรายการสั่งซื้อจากทั้งฮ่องกงและไต้หวันในเวลาต่อมา

สำหรับทั้งสองแล้ว ต่อให้ไม่มีใครซื้อสินค้าของเขา การได้มีโอกาสการทดลองทำและบอกเล่าถึงวิธีการแก่คนที่สนใจเหมือนๆ กัน ก็นับได้ว่าประสบความสำเร็จแล้ว

Rissara Rissara

นี่คือสิ่งสำคัญ

“ใครคือกลุ่มเป้าหมายของ Rissara” ฉันถาม

“คนที่เข้าใจและหลงรักในงานธรรมชาติ งานคราฟต์ สินค้า Eco ทั้งหลาย โดยไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นคนไทยหรือต่างประเทศ” ส้มตอบ

เนื่องจาก Rissara คือหน้าใหม่ในวงการงานคราฟต์ของไทย นอกจากคำแนะนำจากลูกค้าที่ส้มและตั้มนำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง ประสบการณ์จากการทำงานในมหานคร ทั้งการติดต่อสื่อสารหรือเจรจาข้อมูลธุรกิจ การทำบัญชี แม้กระทั่งรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ก็ถูกนำมาปรับใช้กับการทำแบรนด์ Rissara

ฉันถามทั้งสองต่อว่า อะไรคือบทเรียนที่ได้จากการทำแบรนด์นี้ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา

“ถ้าเอาดิบๆ เลย ก่อนหน้านี้ส้มไม่ได้มองอะไรนอกจากความสวยงาม หรือความน่าทึ่งของสีที่มาจากดอกไม้ ใบไม้ พอเราได้มาทำจริงๆ มีคนที่รู้จักที่อยู่เชียงใหม่อยู่แล้วมาพูดว่าจริงๆ ตัวเขาเองซึ่งเขาเป็นคนเชียงใหม่ เขายังไม่เคยคิดว่าทรัพยากรในบ้านเขามันให้คุณค่าหรือให้ประโยชน์ได้ขนาดนี้เลย” ส้มตอบคำถามของฉัน ซึ่งตั้มเสริมขึ้นมาว่า “การทำ Rissara ทำให้เราเห็นคุณค่าของสิ่งที่อยู่รอบตัว เพราะถ้าเราปล่อยใบทิ้งไว้กับต้น ใบไม้ก็จะแห้งแล้วร่วงหล่น”

Rissara

“สมัยที่ยังทำงานประจำ เราจะรู้สึกขี้เกียจอยู่นิดหนึ่ง แต่ตอนนี้ไม่ว่าจะทำอะไรเราจะคิดถึงเรื่องร้าน เป็นเรื่องแบรนด์ของเราอยู่ตลอดเวลา พรุ่งนี้เราจะทำอะไร ปีหน้าเราจะทำอะไร ตอนนี้ตลาดของเราโอเคมั้ย แล้วเราจะพัฒนายังไงต่อไปได้บ้าง เราหายใจเข้าหายใจออกมันเป็นเรื่องนี้ พี่ตั้มเองก็อยากจะมาทำงานอยู่ทุกวัน โดยเขาจะดูแลเรื่องหน้าบ้าน ติดต่อกับลูกค้าเป็นหลัก” ส้มตอบเมื่อฉันถามว่าแบรนด์ Rissara สำคัญหรือมีความหมายกับทั้งคู่อย่างไร

“Rissara จริงๆ มันเป็นชื่อส้ม เราทำกันสองคน มันก็คือชีวิตของเราทั้งคู่นั่นแหละ ถ้าจะพูดมันก็เหมือนลูกที่เราต้องเลี้ยง เลี้ยงให้โตไปด้วยกัน เลี้ยงให้ดี เลี้ยงให้เป็นคนดี มีประสิทธิภาพ” ตั้มตอบปิดท้าย

ก้าวต่อไปของ Rissara ในขวบปีที่ 2 คือการขยายไลน์สินค้าออกไปให้มีความหลากหลายมากขึ้น ซึ่งพร้อมเปิดตัวในปีหน้า พร้อมกับทดลองผลิตลวดลายใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง

บทพิสูจน์ของส้มและตั้มในวันนี้ถือว่าแจ่มชัดในด้านของการเป็นผู้ริเริ่มแนวทางการย้อมผ้ารูปแบบใหม่ ที่ไม่เพียงแต่ได้รับความนิยมและเป็นที่ถูกพูดถึงในความแปลกใหม่เท่านั้น หากแต่ยังเป็นการใช้สอยวัตถุดิบจากธรรมชาติอย่างชาญฉลาด ทั้งการนำพืชบางชนิดที่หลายคนอาจไม่เห็นค่ามาแปรรูปเป็นดาวเด่นของผลิตภัณฑ์และการเรียนรู้ รวมถึงทดลองใหม่ในทุกวัน

ที่ไม่มีใครอาจรู้ได้เลยว่า ผลการทดลองที่ธรรมชาติเป็นผู้ออกแบบนั้นจะสวยงามเพียงใด

Rissara

ภาพ: สโรชา อินอิ่ม

The Rule

 

  1. ทำงานออกมาให้ดีและมีประสิทธิภาพมากที่สุด
  2. รักงานที่ทำและเต็มที่กับมัน แล้วงานจะออกมาดี
  3. กฎของการทำงานคือ ไม่มีกฎ

 

 

 

Rissara – Design by Nature

087-5167768
[email protected]
facebook : Rissara

Writer & Photographer

Avatar

สุรพันธ์ แสงสุวรรณ์

เขียนหนังสือบนก้อนเมฆในวันหนึ่งตรงหางแถว และทำเว็บไซต์เล็กๆ ชื่อ ARTSvisual.co