The Cloud x ไทยประกันชีวิต
แรงบันดาลใจในการใช้ชีวิต จากพลังเล็กๆ สู่การสร้างคุณค่าที่ยิ่งใหญ่ให้โลกใบนี้
เป็นที่รู้กันดีว่า ‘ผู้พ้นโทษ’ คือผู้ที่ผ่านการฟื้นฟูและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในทัณฑสถาน ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของกรมราชทัณฑ์
เมื่อครั้งอยู่หลังกำแพง พวกเขาไม่มีแม้โอกาสเลือกว่า วันนี้จะตื่นกี่โมง อยากกินอะไร ไปเที่ยวที่ไหน หรือเข้านอนเมื่อไหร่ แต่เมื่อพ้นโทษออกมาแล้ว สิ่งแรกที่พวกเขาเลือกได้ คือโอกาสกลับใจเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ หรือโอกาสกลับไปยืนที่เดิม
ปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนผู้ต้องขังกว่า 370,000 ราย เมื่อพ้นโทษและได้รับการปล่อยตัว มีอัตราการกระทำผิดซ้ำกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ ส่วนหนึ่งของปัญหาดังกล่าวเกิดจากขาดทักษะการปรับตัวเข้ากับสังคม และหาเลี้ยงตัวเองในวิถีสุจริตไม่ได้

เพราะเชื่อว่าทุกคนเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีได้ หากได้รับโอกาสและการพัฒนาศักยภาพภายในตนเอง หมี-สมิหรา ทันต์เจริญกิจ และ หญิง-ปทุมรัตน์ อินทรพงษ์ จึงสร้าง ‘โอกาส’ ให้กลายเป็นพื้นที่จัดหางานให้ผู้พ้นโทษได้ประกอบอาชีพสุจริต เลี้ยงตัวเองได้อย่างยั่งยืน ลดการทำผิดซ้ำ ซึ่งนำไปสู่สังคมที่ปลอดภัยมากขึ้น
‘โอกาส’ อาสาเป็นสื่อกลางระหว่างผู้พ้นโทษและสังคม ด้วยการเปิดรับสมัครผู้พ้นโทษที่สนใจเข้าร่วมโครงการ เพื่อเข้าอบรมฟื้นฟูศักยภาพภายใน ปรับมุมมอง เปลี่ยนทัศนคติ เสริมบุคลิกภาพ ให้พร้อมสำหรับการทำงาน ผ่านความร่วมมือเบื้องต้นจากศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ด้วยกระบวนการง่ายๆ ที่ทุกคนทำร่วมกันได้ เช่น โยคะหัวเราะ และศิลปะบำบัด
ขณะเดียวกันก็ชักชวนและเปิดรับผู้คน สถานประกอบการ และองค์กร ที่สนใจให้โอกาสการทำงานแก่อดีตผู้อยู่หลังกำแพงได้เริ่มต้นใหม่ ตามปณิธานตั้งต้นที่เกิดจากความตั้งใจจริงที่ว่า
“ขอให้ทุกโอกาสที่เกิดขึ้นที่นี่ เป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างโอกาสดีๆ ในชีวิตของทุกคนต่อไป ไม่ว่าจะเป็นผู้รับ หรือผู้ให้ก็ตาม”
01
พลิกวิกฤต เพื่อเปิดโอกาส
“คงเป็นความอิ่มตัวและความอินมั้งคะ” สองสาวผู้สร้างโอกาสกล่าวด้วยรอยยิ้มและท่าทีสบายๆ เมื่อเราเอ่ยถามถึงจุดเริ่มต้นของโครงการนี้
หมีเล่าย้อนต่อไปว่า ก่อนจะหันมาสนใจเรื่องกิจการเพื่อสังคม เธอโลดแล่นอยู่ในวงการ Advertising Agency มาตลอด แต่เมื่อชีวิตการทำงานในแวดวงโฆษณาดำเนินมาถึงจุดหนึ่ง ซึ่งหมีให้นิยามจุดนั้นว่าจุดอิ่มตัว เธอจึงมองหาสิ่งใหม่ๆ ที่ทำควบคู่ไปกับอาชีพปัจจุบันได้ ทำด้วยความรู้สึกชอบ ที่สำคัญคือ สร้างประโยชน์ให้กับสังคม

หมีค้นพบว่าสิ่งที่ตัวเองชอบคือการทำงานร่วมกับผู้คน เพราะมองว่ามนุษย์มีความหลากหลาย แต่ละคนมีเอกลักษณ์ของตัวเอง มีเหตุผลและที่มาที่ไปในชีวิตที่แตกต่างกัน เธอจึงเดินหน้าทำกิจกรรมในเครือข่ายเพื่อสังคม ซึ่งเป็นงานที่ได้พบปะผู้คนมากขึ้น จนได้มาพบกับหญิง ที่เคยมีประสบการณ์ทำงานร่วมกับผู้ต้องขังในเรือนจำ ในฐานะครูสอนโยคะหัวเราะมาก่อน
“โยคะหัวเราะช่วยเชื่อมต่อหัวใจคน ระหว่างที่ฝึกโยคะ ทุกคนจะได้แบ่งปันเรื่องราวในชีวิตของกันและกัน ผ่านคำบอกเล่าและเสียงหัวเราะ โดยไม่มีกำแพงอะไรมากั้นตรงกลาง” หญิงเล่าถึงเหตุผลที่เธอเลือกสอนโยคะหัวเราะให้กับผู้ต้องขัง
ทุกครั้งหลังจบคลาสโยะคะ หญิงจะได้รับฟีดแบ็กดีๆ จากเพื่อนร่วมกิจกรรมในเรือนจำ ยิ่งเน้นย้ำให้หญิงรู้สึกรักในสิ่งที่เธอทำอยู่ เพราะรู้ว่าสิ่งนี้ช่วยเยียวยาผู้อยู่หลังกำแพงได้
ทว่านั่นไม่ใช่ตอนจบแบบ Happy Ending อย่างที่หมีและหญิงหวังไว้

แม้จะผ่านการฟื้นฟูและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อเป็นคนที่ดีขึ้น แต่ด้วยสถานะผู้พ้นโทษที่ติดตัวมา บวกกับความไม่คุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมและสังคมที่เปลี่ยนไป การเริ่มต้นชีวิตใหม่จึงไม่ใช่เรื่องง่ายนักสำหรับคนที่เคยชินกับการใช้ชีวิตหลังกำแพง
“ถ้ามองเข้าไปลึกๆ เราจะเห็นเลยว่าผู้พ้นโทษเป็นกลุ่มคนที่ได้รับโอกาสน้อยที่สุด มันไม่ค่อยมีอะไรมารองรับเขา ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายหรือว่าผู้คนในสังคม
“ผู้ด้อยโอกาสด้านอื่นๆ อย่างผู้พิการ เด็ก หรือคนยากจน เรายังพอเห็นภาพว่ามีองค์กรอะไรที่สนับสนุนเขาอยู่บ้าง แต่สำหรับผู้พ้นโทษเราแทบนึกไม่ออก เราจะรู้สึกสงสัยว่า เอ๊ะ ใครช่วยเขาอยู่นะ
“จากข่าวที่เราเห็นกันในสื่อต่างๆ ปัญหานักโทษที่ล้นเรือนจำ ส่วนหนึ่งก็มาจากการที่ผู้พ้นโทษขาดโอกาสจากสังคม ไม่มีอาชีพเลี้ยงตัวเอง สุดท้ายก็ต้องหวนกลับไปเดินเส้นทางเดิม ถ้าปล่อยไว้ ก็อาจส่งผลต่อความปลอดภัยของสังคมอีกด้วย เราเลยคิดว่าเราน่าจะเข้าไปช่วยในจุดนี้ได้” หมีเล่าถึงการตัดสินใจก่อตั้งโครงการโอกาสของเธอและหญิง
02
ฟื้นฟูศักยภาพภายใน เพื่อสร้างโอกาสภายนอก
หมีและหญิงเริ่มต้นโครงการโอกาสด้วยการจัดอบรมฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพภายในให้ผู้พ้นโทษ เพราะทราบดีว่าสาเหตุหลักที่ทำให้พวกเขาหวนกลับไปกระทำผิดซ้ำ เพราะปรับตัวให้เข้าสภาพแวดล้อมและสังคมที่เปลี่ยนไปไม่ได้ อาจเป็นเพราะเคยชินกับการใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำเป็นเวลานาน
วิธีแก้ปัญหาที่ตรงจุดจึงควรเริ่มต้นที่ตัวผู้พ้นโทษ และควรเริ่มจากภายใน
แรกเริ่ม โครงการโอกาสได้รับความช่วยเหลือจากศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ในการฝึกอบรมและพัฒนาศักยภาพทางใจ ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญในการฟื้นฟูผู้พ้นโทษ

ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล คือองค์กรการศึกษาที่ดำเนินการจัดการเรียนการสอนและการวิจัยเกี่ยวกับการปฏิบัติด้านจิตตปัญญาและการพัฒนาคุณภาพมนุษย์ ในมิติและบริบทที่หลากหลาย อาทิ การเจริญสติในรูปแบบต่างๆ สุนทรียสนทนา การเคลื่อนไหวร่างกาย การทำงานศิลปะและกระบวนการสร้างสรรค์
“ช่วงเวลาห้าวันสี่คืนของการฝึกอบรม ผู้พ้นโทษได้เรียนรู้ตนเอง ฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพทางใจ โดยเริ่มจากการฝึกโยคะหัวเราะ ซึ่งเป็นการออกกำลังกายที่ผสมผสานการหัวเราะอย่างไม่มีเงื่อนไข ร่วมกับการหายใจแบบโยคะ โดยทุกคนหัวเราะได้โดยไม่มีเหตุผล ไม่ต้องอาศัยอารมณ์ขัน หรือเรื่องตลกใดๆ ทั้งสิ้น
“ผลจากการหัวเราะ จะทำให้สมองปล่อยสารเคมีที่เรียกว่า เอ็นโดรฟิน เกิดความสมดุลทางอารมณ์ ลดความตึงเครียด และเพิ่มโอกาสในการเปิดใจ เพื่อแบ่งปันเรื่องราวเส้นทางชีวิตที่ผ่านมา
“นอกจากนี้ ผู้พ้นโทษยังได้รับการฝึกสมาธิภาวนาและศิลปะบำบัด เพื่อเรียนรู้ถึงสิ่งที่เคยทำพลาดไปในอดีต ทำความเข้าใจสภาพแวดล้อมทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป การใช้ชีวิตร่วมกันบนพื้นฐานของความแตกต่าง และกำหนดเป้าหมายใหม่ให้กับชีวิต” หญิงอธิบายถึงกระบวนการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพภายในของผู้พ้นโทษให้เราฟัง

03
กระจาย โ อ ก า ส
“เคารพและอภัยให้ตัวเอง เข้าใจเหตุผลกับปัจจัยที่อยู่รอบตัว เริ่มใช้ชีวิตด้วยทัศนคติเชิงบวกและมุมมองที่กว้างขึ้น”
คือผลลัพธ์เบื้องต้นที่สองผู้สร้างโอกาสรับรู้ได้จากผู้พ้นโทษที่ผ่านกระบวนฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพภายใน ผ่านการติดต่อและพูดคุยกันอย่างสม่ำเสมอ
เมื่อเริ่มเห็นแสงของความสำเร็จ หมีและหญิงจึงเริ่มดำเนินโครงการในขั้นที่ท้าทายขึ้น นั่นคือการสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพสุจริตให้ผู้พ้นโทษ ผ่านช่องทางที่ง่ายต่อการเข้าถึงข้อมูลและโอกาสอย่างเฟซบุ๊กเพจ โอกาส
“เมื่อก่อนเราเปิดรับสมัครทั้งผู้พ้นโทษที่ต้องการโอกาส และสถานประกอบการที่สนใจให้โอกาส ด้วยการเข้าไปแนะนำ ไปพูดคุย ไม่ว่าจะเป็นตามทัณฑสถาน หรือบริษัทต่างๆ
“พอเริ่มมีคนรู้จักเรามากขึ้น เราจึงกระจายโอกาสออกไปบนเครือข่ายสังคมออนไลน์ ซึ่งเราคิดว่าเป็นช่องทางที่ทุกคนเข้าถึงโอกาสได้ง่ายที่สุด” หมีเล่าถึงการสร้างโอกาสในการเป็นผู้ให้และผู้รับของผู้เข้าร่วมโครงการ

สำหรับผู้ที่สนใจมอบโอกาสในการทำงานให้กับผู้พ้นโทษ แจ้งรายละเอียดขององค์กรและตำแหน่งที่เปิดรับได้ในแบบฟอร์มออนไลน์ผ่านเฟซบุ๊กเพจโอกาส
เช่นเดียวกับผู้พ้นโทษที่ต้องการโอกาสเริ่มต้นชีวิตใหม่ด้วยการประกอบอาชีพที่สุจริต ก็สามารถศึกษารายละเอียดของสถานประกอบการและตำแหน่งงานผ่านเพจเดียวกัน หากตำแหน่งงานที่สนใจยังไม่อยู่ในช่วงเปิดรับสมัคร พวกเขาก็เปิดให้ส่งข้อความเข้ามาสอบถามกันหลังไมค์ได้
เมื่อได้รับข้อมูลจากผู้สมัคร โครงการจะดำเนินการติดต่อกลับไปเพื่อขอสัมภาษณ์เบื้องต้น รวมถึงให้คำแนะนำด้านการเสริมบุคลิกภาพเพื่อทำงานในตำแหน่งนั้น ก่อนเข้ารับการสัมภาษณ์โดยตรงจากสถานประกอบการ
“อีกสิ่งหนึ่งที่เราให้ความสำคัญมาก คือความเป็นส่วนตัวของผู้สมัคร ทุกครั้งหลังสัมภาษณ์เสร็จ เราจะขออนุญาตนำข้อมูลนี้ไปให้กับผู้ประกอบการ เพื่อเป็นเกณฑ์ในการคัดเลือกขององค์กรหรือสถานประกอบการ และทราบถึงที่มาของข้อมูล
“หากผู้สมัครฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่สะดวกเปิดเผยข้อมูล เราก็จะให้ข้อมูลแค่เบื้องต้น เช่น ระดับการศึกษา หรือสถานะ ส่วนข้อมูลที่ลึกกว่านั้น ทั้งสองฝ่ายสามารถพูดคุยกันในกระบวนการสัมภาษณ์” หมีเน้นย้ำกับเราถึงเรื่องการเปิดเผยและเก็บรักษาข้อมูลของผู้เข้าร่วมโครงการ

04
อย่าปล่อยให้โอกาส กลายเป็นแค่อากาศ
ตอนนี้ ‘โอกาส’ กลายเป็นพื้นที่จัดหางานให้ผู้พ้นโทษที่พร้อมพัฒนาตนเอง เพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ด้วยการทำอาชีพที่สุจริตอย่างเต็มกำลัง
จำนวนตำแหน่งงานที่เพิ่มขึ้นและลักษณะงานที่มีความหลากหลาย เป็นสัญญาณอันดีที่บ่งบอกให้หมีกับหญิงรู้ว่า สังคมเริ่มเปิดใจยอมรับและให้โอกาสกับผู้พ้นโทษมากขึ้น
ประเภทของงานที่เปิดรับสมัครผู้พ้นโทษผ่านโครงการโอกาสค่อยๆ ขยายขอบเขตออกไป เริ่มตั้งแต่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย พนักงานนวดแผนโบราณ ช่างเฉพาะทาง พนักงานลูกค้าสัมพันธ์ทางออนไลน์ พนักงานขายอสังหาริมทรัพย์ วิทยากร พาสทรีเชฟ ไปจนถึงบาริสต้า

เป๊ปซี่-ศุภกร ตั้งตราสิทธิ์ อดีตเด็กเกเรในคดียาเสพติด ปัจจุบันเขาคือบาริสต้า ที่รั้งตำแหน่งบาร์เทนเดอร์ บอกกับเราว่า เขาภูมิใจมากที่ได้เป็นหนึ่งในเมล็ดพันธุ์จากโครงการโอกาส
เป๊ปซี่เล่าถึงที่มาของความภูมิใจให้เราฟังว่า เขารู้จักกับโครงการโอกาสตั้งแต่เมื่อครั้งยังใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำ แต่ ณ ช่วงเวลานั้น ตัวเองยังไม่คิดวางแผนอะไรให้ชีวิตในอนาคต จึงปล่อยให้โอกาสนั้นผ่านไป
จนกระทั่งผิดหวังจากงานแรกในชีวิตหลังได้รับอิสระภาพ เนื่องจากสภาพแวดล้อมทางสังคมที่ไม่ค่อยเอื้อต่อผู้พ้นโทษ เขาจึงต่อสายตรงไปหาหมี เพื่อขอโอกาสนั้นอีกครั้ง
โอกาสที่เป๊ปซี่ได้รับคือการทำงานเป็นบาริสต้า ซึ่งนับว่าห่างไกลจากทักษะและพื้นฐานที่เขามีอยู่มาก
ทำไมถึงเลือกให้โอกาสนี้กับผู้ที่มีพื้นฐานเรื่องกาแฟเป็นศูนย์ เราถามหมีด้วยความสงสัย

“เวลาที่เราสัมภาษณ์คนหนึ่งคน เราจะถามเขาเลยว่าเขาชอบงานแบบไหน ทำไมถึงชอบ มีศักยภาพเพียงพอที่จะไปทำไหม บุคลิกและท่าทางของเขาเหมาะที่จะไปทำอะไรได้บ้าง
“หากเขามีแพสชัน แต่ยังขาดศักยภาพ เราจะคุยกับสถานประกอบให้ว่า ช่วยฝึกทักษะที่จำเป็นให้พวกเขาก่อนได้ไหม แล้วค่อยเริ่มงาน ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ประกอบการเขาก็ยินดีเทรนให้อยู่แล้ว”
“ตอนนี้ผมภูมิใจกับโอกาสที่ได้รับมาก มันไม่ใช่แค่ทำให้ผมมีงานทำ มีเงินใช้ แต่เปลี่ยนมุมมองและเส้นทางชีวิตไปเลย
“เมื่อก่อนผมไม่เคยเห็นคุณค่าของคำว่าโอกาส หลายครั้งที่คนรอบข้างให้โอกาสผม แต่ผมมองมันเป็นแค่อากาศที่ลอยผ่านไป จนมาเจอพี่ๆ กลุ่มนี้ เขาทำให้ผมคิดได้ว่า โอกาสไม่ได้เกิดจากการนอนรอให้มันเข้ามา แต่มันมาพร้อมกับการให้อภัยตัวเอง การทำงาน การรักษาเกียรติของตัวเอง” เป๊ปซี่กล่าวด้วยรอยยิ้มพร้อมแววตาขอบคุณที่มองไปยังสองผู้สร้างโอกาส

05
From Chance to Change
ปัจจุบัน ‘โอกาส’ ออกเดินทางสร้างโอกาสและทำหน้าที่เป็นสื่อกลางเชื่อมระหว่างผู้พ้นโทษกับคนในสังคมมาแล้วเกือบ 2 ปี การดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทำให้รากฐานของโครงการนี้ค่อยๆ เติบโตอย่างมั่นคง จนมีผู้สนใจเข้าร่วมโครงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากหลักหน่วยไปจนถึงหลักร้อย และทยอยเห็นผลไปกว่า 10 เปอร์เซ็นต์แล้ว
“โอกาส เป็นโครงการเล็กๆ ที่เริ่มต้นจากศูนย์ ถ้าเทียบกับคน ก็คงเท่ากับอายุของเด็กขวบกว่าๆ ดังนั้น การสร้างอิมแพ็คต่อสังคมทางใดทางหนึ่ง ยังดูเป็นเป้าหมายที่ต้องใช้เวลาอีกสักระยะเพื่อไปให้ถึง
“แต่สิ่งหนึ่งที่เราภูมิใจทุกครั้งเมื่อพบปะกับเพื่อนผู้ร่วมโครงการ คือการได้เห็นว่าโอกาสที่เรามอบให้นั้นเปลี่ยนแปลงชีวิตพวกเขาไปในทางที่ดีขึ้น ไม่ว่าเขาจะมาในฐานะของผู้ให้หรือผู้รับก็ตาม” สองผู้สร้างโอกาสกล่าวทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้ม

