The Cloud x ไทยประกันชีวิต
แรงบันดาลใจในการใช้ชีวิต จากพลังเล็กๆ สู่การสร้างคุณค่าที่ยิ่งใหญ่ให้โลกใบนี้

ช่วงสายๆ วันอังคาร ชุมชนตลาดหัวรอ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จอแจไปด้วยรถยนต์และผู้คนที่กำลังสัญจรไปทำหน้าที่ของตัวเอง

ท่ามกลางวิถีชีวิตที่ดำเนินไปในชุมชนแห่งนั้น มีกำแพงของอาคารสีขาวทอดยาวแฝงอยู่กับชุมชนอย่างถ่อมตน ไม่ปรากฏป้ายสีสันโดดเด่นใดๆ มีเพียงสองประตูกระจก 2 บาน ใต้ป้ายไม้ขนาดใหญ่ที่มีตัวอักษรเรียงรายได้ความว่า 

‘เรือนจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา’

วังจันทร์ Cook & Coff ร้านกาแฟในเรือนจำเก่าอายุกว่า 100 ปี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กับการสร้างโอกาสที่สองให้เหล่าผู้ต้องขังหลังกำแพงสูง

ถัดลงมาคือป้ายไม้ขนาดไม่ใหญ่ประกาศตนอย่างเรียบง่ายว่า

‘วังจันทร์ Cook & Coff’ ร้านกาแฟที่ประกาศความตั้งใจว่าจะเป็นส่งมอบเครื่องดื่มที่ทั้ง ‘อร่อย สะอาด สร้างโอกาสให้คนหลังกำแพง’

เพราะทุกตารางนิ้วในอาคารสี่เหลี่ยมผืนผ้าเป็นเหมือนกับแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ให้กับชีวิตที่เปรียบว่าตัวเองมาจากความมืดมิด ให้ขับเคลื่อนและผลักดันตัวเองด้วยความหวังและกำลังใจ

01

ประกอบสร้างขึ้นจากความหวัง

เมื่อเปิดประตูกระจกก้าวเข้ามาในตัวร้าน เสียงพนักงานขานต้อนรับอย่างแข็งขัน มีกลิ่นกาแฟหอมอบอวล อากาศเย็นฉ่ำด้วยเครื่องปรับอากาศ เหมือนกับบรรยากาศร้านกาแฟน่านั่งทั่วไป

แต่ที่ดูแปลกตาคือ การประดับประดาร้านด้วยลูกกรงเหล็กสีดำโดดเด่น มีโซ่ตรวนและกุญแจมือวางอยู่มุมหนึ่ง ใกล้กันนั้นเป็นห้องกรงขังสี่เหลี่ยมจตุรัสขนาดเท่าตัว สักพักก็มีเสียงร้องเพลงเล่นดนตรีสดแว่วมา

วังจันทร์ Cook & Coff ร้านกาแฟในเรือนจำเก่าอายุกว่า 100 ปี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กับการสร้างโอกาสที่สองให้เหล่าผู้ต้องขังหลังกำแพงสูง

“ตรงที่เรานั่งอยู่นี้คือหน้ามุกของอาคารเรือนจำเก่า” คุณยุทธนา นาคเรืองศรี ผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยาผู้ริเริ่มความคิดและบุกเบิกร้านกาแฟแห่งนี้เอ่ยเล่าถึงสถานที่ในอดีต

ยุทธนา นาคเรืองศรี ผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

เดิมนั้นพื้นที่ของร้านกาแฟแห่งนี้เป็นพื้นที่ของเรือนจำเก่าของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาที่ก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2452 ต่อมาเรือนจำประสบปัญหาจำนวนผู้ต้องขังล้น เนื่องจากรองรับผู้ต้องขังได้เพียงพันกว่าคน ในขณะที่มีจำนวนผู้ต้องขังเพิ่มเป็น 3 – 4 เท่าตัว ทางการจึงย้ายเรือนจำกลางไปอยู่ที่ตำบลหันตรา พื้นที่เรือนจำเดิมจึงถูกทิ้งร้าง มีเพียงอาคารส่วนหน้าที่เคยปรับปรุงเป็นพื้นที่แสดงสินค้า แต่ต่อมาปิดตัวไปเพราะไม่ได้รับการสนับสนุนต่อเนื่อง

“เมื่อต่อมามีโครงการพัฒนาพื้นที่ทิ้งร้างตรงนี้จากหน่วยงานในพื้นที่และภาคเอกชน เราในฐานะเจ้าของพื้นที่เรือนจำจึงเกิดความคิดว่าอยากพัฒนาอาคารส่วนหน้านี้ให้เป็นประโยชน์ต่อผู้ต้องขังที่เราดูแล ซึ่งในอนาคตเขาก็เป็นคนหนึ่งที่ต้องออกไปอยู่ร่วมกับสังคมเช่นกัน เราจึงตั้งใจสร้างเป็นร้านกาแฟแห่งโอกาสให้แก่ผู้ต้องขังของเรา”

ด้วยความมุ่งมั่นของผู้บัญชาการ จึงก่อกำเนิดเป็นร้านกาแฟ ‘วังจันทร์ Cook & Coff’ เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ส่วนหนึ่งของวังจันทร์เกษม ส่วน Cook มาจากการที่ผู้ต้องขังมีความสามารถในการทำอาหาร และ Coff สื่อถึงความเป็นร้านกาแฟ

วังจันทร์ Cook & Coff ร้านกาแฟในเรือนจำเก่าอายุกว่า 100 ปี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กับการสร้างโอกาสที่สองให้เหล่าผู้ต้องขังหลังกำแพงสูง

ทุกตารางนิ้วที่ประกอบสร้างขึ้นมาเป็นร้านแห่งนี้เปี่ยมไปด้วยความหวัง ความตั้งใจ และเป็นฝีมือของผู้ต้องขังเรือนจำพระนครศรีอยุธยาทั้งสิ้น

“เราใช้ผู้ต้องขัง 5 คนในการเข้ามาปรับปรุงและตกแต่งสถานที่ ผู้ต้องขังปูกระเบื้องกันเองทีละแผ่น เดินไฟฟ้าเอง ทำกันเองทุกอย่าง โดยใช้เวลาอยู่ประมาณ 5 เดือน เพราะเรามีแรงงานกันอยู่เท่านี้ ก็ค่อยๆ ทำกันไปเรื่อยๆ เรามีรูปที่ถ่ายไว้ตอนเริ่มทำติดอยู่ตรงนี้ด้วย”

คุณยุทธนาเล่าพลางชี้ให้เราดูรูปถ่ายหลายใบในขณะปรับปรุงร้านที่ติดประดับไว้อยู่ข้างลูกกรงสีดำ “นี่คือภาพตอนเราก่อสร้างที่นี่ ติดไว้ที่ร้านให้เป็นเหมือนกับประวัติร้านของเรา

วังจันทร์ Cook & Coff ร้านกาแฟในเรือนจำเก่าอายุกว่า 100 ปี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กับการสร้างโอกาสที่สองให้เหล่าผู้ต้องขังหลังกำแพงสูง
วังจันทร์ Cook & Coff ร้านกาแฟในเรือนจำเก่าอายุกว่า 100 ปี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กับการสร้างโอกาสที่สองให้เหล่าผู้ต้องขังหลังกำแพงสูง

“บางส่วนเราใช้ของเก่า ตัวลูกกรงพวกนี้เป็นของจริง อาจจะดูจริงมากไป เราเลยเอาตุ๊กตาหมีไปใส่ให้ดูน่ามองขึ้น ใจจริงผมอยากเอาบานประตูเหล็กของห้องขังเดี่ยวสมัยก่อนซึ่งเป็นบานประตูหนามากแล้วมีเจาะช่องไว้สำหรับเปิดพูดคุยมาติดไว้ตรงห้องนั้น ให้เป็นห้องพิเศษ ใครอยากลองเข้าก็เปิดเข้าไปเลย แต่กลัวว่าติดแล้วจะไม่มีคนกล้าเข้ามากกว่า” ท่านผู้บัญชาการพูดติดตลกสร้างบรรยากาศให้การเริ่มพูดคุยอย่างเป็นกันเอง

02

ร้านกาแฟสร้างโอกาส

ปัจจุบันเรือนจำพระนครศรีอยุธยามีผู้ต้องขังประมาณ 4,200 คน แบ่งเป็นผู้ต้องขังหญิงประมาณ 500 กว่าคน และผู้ต้องขังชายเกือบ 4,000 คน ทัณฑสถานแห่งนี้ทำหน้าที่คุมขังทั้งผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดีและผู้ต้องขังที่มีโทษไม่เกิน 3 ปี ไปจนถึงผู้ต้องขังโทษ 25 ปี เรียกว่ามีความแตกต่างหลากหลาย 

หากแต่ในแต่ละวันจะมีผู้ต้องขังเพียง 8 รายที่ได้รับโอกาสออกมาทำงานในร้านกาแฟแห่งนี้ โดยแบ่งเป็นผู้ต้องขังหญิงทำหน้าที่เป็นบาริสต้าและพนักงานดูแลลูกค้า 5 คน ส่วนผู้ต้องขังชายทำหน้าที่ร้องเพลงและเล่นดนตรีในร้าน 3 คน เดินทางมาพร้อมกับผู้คุม 2 คนในตอนเช้า และกลับเข้าเรือนจำในตอนเย็น

ผู้ต้องขังที่สามารถออกมาทำงานนอกทัณฑสถานต้องเป็นผู้ต้องขังชั้นดีขึ้นไป และมีโทษจำคุกมาแล้วอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 1 ใน 3 นั่นหมายความว่าพวกเขาต้องใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำมาแล้วระยะหนึ่ง การออกมาทำงานนอกกำแพงนับเป็นการเตรียมพร้อมสู่การกลับไปใช้ชีวิตในสังคมหลังจากที่จะพ้นโทษในอีกไม่ช้า

วังจันทร์ Cook & Coff ร้านกาแฟในเรือนจำเก่าอายุกว่า 100 ปี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กับการสร้างโอกาสที่สองให้เหล่าผู้ต้องขังหลังกำแพงสูง
วังจันทร์ Cook & Coff ร้านกาแฟในเรือนจำเก่าอายุกว่า 100 ปี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กับการสร้างโอกาสที่สองให้เหล่าผู้ต้องขังหลังกำแพงสูง

 “ในเรือนจำก็มีความหลากหลายเหมือนกับเป็นสังคมหนึ่ง หลายคนที่เข้ามาอยู่ในนี้อาจไม่ได้ทำผิดร้ายแรง บางเรื่องอาจเป็นเรื่องทางเทคนิค บางครั้งเราเหมารวมไม่ได้ เราต้องใช้การจำแนกโดยดูตั้งแต่ประวัติ ภูมิหลัง เพศ ลักษณะการกระทำความผิด หากเป็นผู้ต้องขังที่ทำความผิดโดยชัดแจ้ง เราจะดูแลปฏิบัติอีกอย่างหนึ่ง ไม่ได้ส่งออกมาทำงานข้างนอกได้”

หากเป็นเมื่อก่อนคงเห็นภาพการทำงานนอกกำแพงของเหล่าผู้ต้องขังเช่นนี้ได้ไม่ง่าย หากเมื่อทำความเข้าใจตามคำอธิบายของผู้บัญชาการเรือนจำ คงเห็นภาพตามได้ไม่ยาก

“ผมสะท้อนใจมาก วันแรกที่เปิดร้านไม่มีคนเข้าร้านเราเลย ผู้ต้องขังที่มาขายกาแฟและเป็นนักร้องในร้านทำอย่างไรรู้ไหมครับ เขามองผ่านกระจก ดูรถที่มันวิ่งผ่าน เพราะเขาไม่เคยเห็นรถมา 3 ปี 5 ปีแล้ว ผมเลยรู้สึกว่าตกลงคุกเอาไว้ทำอะไร เอาไว้ขังพฤติกรรม หรือไว้ขังคนทั้งคน ถ้าเราขังพฤติกรรม ความเป็นมนุษย์ของเขายังอยู่ เขาก็ควรได้รับการปฏิบัติตามที่เขาเป็นมนุษย์คนหนึ่ง

วังจันทร์ Cook & Coff ร้านกาแฟในเรือนจำเก่าอายุกว่า 100 ปี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กับการสร้างโอกาสที่สองให้เหล่าผู้ต้องขังหลังกำแพงสูง

 “เมื่อเราทำหน้าที่เสมือนตราชั่ง เราต้องดูความเสียหายที่เกิดขึ้นกับสังคม ในขณะเดียวกันก็ต้องดูความเป็นมนุษย์ด้วย หากเป็นคดีอุกฉกรรจ์ สังคมอยากให้เกิดการลงโทษชนิดแก้แค้นทดแทน อยากให้ลงโทษผู้ต้องขังอย่างสาสม โดยทุกอย่างจบลงในคุก เราก็ไม่ต้องสนใจ ขังเขาไว้

“แต่ในอีกมุมหนึ่งที่ลืมไม่ได้คือ การแก้ไขฟื้นฟู เพราะมีผู้ต้องขังอีกส่วนหนึ่งไม่ได้อยู่กับเราไปจนตาย ถ้าเราไม่แก้ไข เขาอาจออกไปก่อเหตุร้ายได้อีก เมื่อเขาต้องออกมาอยู่กับสังคม เราต้องมีกระบวนการเตรียมและพัฒนาเขา ให้เขาได้กลับตัว หรืออย่างน้อยที่สุดเขาต้องก่อความเสียหายให้แก่สังคมน้อยที่สุด 

“การที่เขามีความสามารถ มีอาชีพอิสระที่อยู่ได้ด้วยฝีมือของตัวเอง มีรายได้เพื่อติดตัวเป็นเงินไปเริ่มชีวิตใหม่ ก็มีแนวโน้มที่จะลดการกระทำความผิดซ้ำได้” คุณยุทธนาอธิบายถึงความเป็นเหตุเป็นผลของการส่งเสริมงานอาชีพของผู้ต้องขังในร้านกาแฟที่สร้างเพื่อมอบโอกาสให้แก่ผู้ต้องขังแห่งนี้

03

บทพิสูจน์ตัวเอง

นอกจากเป็นร้านกาแฟที่ประกอบร่างจากความหวัง ชุบชีวิตเรือนจำเก่าเพื่อสร้างโอกาสให้แก่ผู้ต้องขังแล้ว ร้านกาแฟสีขาวแห่งนี้ยังเป็นพื้นที่พิสูจน์ตัวเองของเหล่าผู้ถูกจองจำด้วย

“เราก็เสี่ยงเหมือนกันนะ เพราะว่าเดินเลยไปร้อยเมตรก็มีร้านกาแฟ Amazon ถัดไปก็มีร้านกาแฟเจ้าเก่าอยู่ เราจะรอดไหม” คุณยุทธนาเล่าถึงความกังวลที่มีเมื่อคิดจะทำร้านกาแฟ แต่ก็ขอจับมือสู้ไปพร้อมกับผู้ต้องขังทุกคน

เริ่มแรกนั้นผู้ต้องขังหญิงต้องฝึกชงกาแฟให้ได้รสชาติมาตรฐานเหมือนกับร้านกาแฟดีๆ ร้านหนึ่งที่พิสูจน์ตัวเองด้วยรสชาติ สามารถลงแข่งขันกับร้านกาแฟที่อยู่ละแวกเดียวกันให้ได้ ทั้งยังมีการฝึกอบรมอยู่สม่ำเสมอเพื่อสับเปลี่ยนพนักงานในรุ่นต่อไปให้ชงได้รสชาติที่เป็นมาตรฐานเดิมไม่เปลี่ยนแปลง

 “เรามีผู้ต้องขังเคยเป็นพนักงานที่บ้านใร่กาแฟมาสอนเทคนิคการชงเครื่องดื่มต่างๆ ส่วนผมเองก็มีเพื่อนที่เรียนด้านนี้และเปิดร้านกาแฟเช่นกัน ก็วานให้เขามาช่วย นอกจากนี้ก็อาศัยการสังเกต ศึกษาจากหนังสือ ค่อยๆ เรียนรู้กันไป ผมเชื่อว่าการที่เราพยายามทำอะไร หากมีข้อผิดพลาด คนยังยกโทษให้ แต่คนจะไม่ยกโทษหากเรารู้เรื่องนั้นดีแล้ว”

latte art

นอกเหนือจากการตกแต่งร้านที่เป็นเอกลักษณ์ การบริการที่ดีและจริงใจ รสชาติกาแฟและเครื่องดื่มกลมกล่อม ไม่แพ้คาเฟ่ใดๆ ที่นี่ยังสร้างความแตกต่างโดดเด่นไม่เหมือนใครด้วยเมนูกาแฟที่มีลักษณะเฉพาะตัว หาดื่มหาชมได้ที่นี่ที่เดียวเท่านั้น 

ดังนั้น ไม่ต้องแปลกใจหากคุณสั่งลาเต้ร้อน แล้วจะไม่เห็นลาเต้อาร์ตลายดอกไม้ที่เคยเห็นจนชินตา

“ผมบอกผู้ต้องขังที่ออกมาทำงานว่าเราจะได้สตางค์ต่อเมื่อหักต้นทุนแล้วได้กำไร เพราะฉะนั้น คุณต้องทำอะไรก็ได้ที่แตกต่าง ดึงดูดให้ลูกค้ากลับมาให้ได้ ลาเต้อาร์ตของคุณวาดแบบไม่เหมือนคนอื่นได้ไหม ลองวาดอะไรที่ต่างไปได้ไหม เขาก็สร้างสรรค์เป็นรูปตรวน หรือผู้ต้องขังนั่งในกรงตารางแทน”

latte art

ระหว่างละเลียดกาแฟเคล้ากับลิ้มรสชาติขนม ลูกค้าจะได้รับฟังเพลงเพราะหลายยุคจากวงดนตรีที่มีสมาชิก 3 คนกำลังขับกล่อมเพลงกันแบบสดๆ หากลูกค้าอยากขอเพลงก็ได้เช่นกัน พวกเขายินดีและเต็มใจเป็นอย่างยิ่ง

“ผมคิดว่าร้านกาแฟที่มีนักร้องมาร้องเพลงเพราะ คนก็อยากเข้า ที่สำคัญคือ พวกเขาร้องเพลงเพราะมาก ทำไมต้องอยู่แต่ในคุกล่ะ มาร้องเปิดหมวกได้ หากมีคนชอบใจ ชื่นชมในศักยภาพของคุณ เขาก็ทิปให้ คุณก็เก็บตรงนั้นไปเป็นรายได้ พอเป็นอย่างนี้นักดนตรีที่อยู่ในเรือนจำเขาก็กระตือรือร้นกัน

“ผมบอกน้องๆ ทุกคนในร้านว่าให้บริการลูกค้าให้ดี ทำให้เต็มที่ แล้วสิ่งเหล่านี้จะติดตัวคุณไป”

04

การกระจายรายได้สู่คนในเรือนจำ

นอกเหนือจากการสร้างอาชีพให้แก่ผู้ต้องขังทั้ง 8 คนที่ได้รับโอกาสออกมาทำงานนอกรั้วกำแพงแล้ว ร้านกาแฟแห่งนี้ยังเป็นเสมือนแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ของผู้ต้องขังที่อยู่ได้เพียงหลังกำแพงด้วย

เมื่อร้านกาแฟขนาดใหญ่มีมุมขายขนมที่ดึงดูดลูกค้าได้ วังจันทร์ Cook & Coff ก็ขายเบเกอรี่และขนมไทยที่อร่อยไม่แพ้กัน

ทุกวันจะมีขนมหวานแบรนด์ ‘วังจันทร์’ วางเรียงรายในตู้แช่เย็น ไม่ว่าจะเป็นเค้กชาไทย เค้กส้ม แยมโรล รวมไปถึงเค้กรูปหน้าตุ๊กตาน่ารักต่างๆ และด้วยแนวคิดไม่เหมือนใครของท่านผู้บัญชาการ ที่เห็นว่าขนมไทยก็กินคู่กับกาแฟได้อร่อย หน้าเคาน์เตอร์จึงมีขนมไทยน่ากินหลากหลายชนิด วางเรียงรายให้ลูกค้าได้ลองลิ้มชิมรสกันทุกวัน ทั้งลูกชุบ ขนมต้ม ขนมหม้อแกง ขนมทุกชิ้นล้วนผลิตสดใหม่วันต่อวันจากโรงครัวเรือนจำ

เบเกอรี่

“เบเกอรี่และขนมไทย ถ้าเราขายอยู่แค่ในเรือนจำก็ไม่มีวันได้เติบโต เพราะผู้ต้องขังที่จะซื้อกินเขาต้องรอเงินจากญาติ แต่พอมีพื้นที่ร้านก็สามารถกระจายสินค้าได้ เพราะเบเกอรี่ต้องคู่กับกาแฟ ขนมไทยก็กินกับกาแฟได้เหมือนกัน เราสอนผู้ต้องขังทำขนมไทยและเบเกอรี่ที่ทำได้เอง เวลาที่เขาพ้นโทษไปแล้วเขาสามารถทำขายหน้าบ้านได้ และตอนนี้ก็พยายามสร้างขนมแบรนด์วังจันทร์ให้คนรู้จัก อยากทำเป็นแฟรนไชส์ด้วย เผื่อผู้ต้องขังส่วนหนึ่งจะรับไปขายโดยใช้ทุนไม่มาก กำไรก็ใช้เลี้ยงชีวิตต่อไป”

นอกจากนี้ ยังมีมุมขายของที่ระลึกนำเสนอสินค้างานฝีมือหลากหลายชนิด ทั้งงานเครื่องหนัง งานไม้ ผ้าพันคอถักผืนใหญ่ เสื้อสกรีนลาย หมอนลายผ้าขาวม้า ไปจนรองเท้าแตะแกะสลักลาย สินค้าเหล่านี้ที่จะแปลงเป็นรายได้ให้กับผู้ต้องขังที่สร้างสรรค์งานที่ตัวเองเชี่ยวชาญได้

วังจันทร์ Cook & Coff ร้านกาแฟในเรือนจำเก่าอายุกว่า 100 ปี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กับการสร้างโอกาสที่สองให้เหล่าผู้ต้องขังหลังกำแพงสูง

“ร้านกาแฟดังๆ จะมีมุมขายของที่ระลึกของเขา ร้านเราก็มีเหมือนกัน ชื่อว่ามุม ‘ผลิตผลคนดี’ ขายงานฝีมือของผู้ต้องขัง เขาถนัดอะไรก็ทำมาขาย อย่างปลาตะเพียนที่ติดตรงนี้ก็เป็นฝีมือของเขา แต่คนไม่รู้ คิดว่าผมซื้อมาติด” เขาเล่าพลางชี้ไปที่พวงปลาตะเพียนสวยที่ห้อยจากเพดานร้าน

“ช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมาเราไม่อยากให้ผู้ต้องขังอยู่ว่าง ก็ให้เขาประดิษฐ์ว่าวมาตกแต่งร้าน มีลูกค้าเห็นแล้วชอบ สั่งว่าวตัวเล็กไปพันตัว ขายตัวละ 40 บาท ได้เงินมา 40,000 บาทไปปันผลให้ผู้ต้องขัง เขาทำกันกี่คนก็หารกันไป น่าจะได้คนละไม่น้อยเลย” เขาเล่าอย่างภาคภูมิใจ

05

แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์

 ร้านวังจันทร์ Cook & Coff เปิดให้บริการมากว่า 7 เดือนแล้ว นับว่าประสบความสำเร็จเนื่องจากมีรายได้เลี้ยงตัวเองอยู่ได้ และมีปันผลแบ่งให้ผู้ต้องขังได้เฉลี่ยสูงถึง 15,000 บาทต่อเดือนที่เข้าบัญชีธนาคารของตัวเอง เงินก้อนนี้สามารถเก็บเป็นทุนชีวิตต่อไปได้

“น้องที่มาทำงานที่ร้านนี้แต่ละคนจะมีเวลาทำงานประมาณ 3 เดือนขึ้นไป เพราะอยากให้เขาได้มีเงินเก็บสักก้อนก่อนพ้นโทษ เงินจำนวนนี้มีคุณค่าต่อเขามาก เพราะเป็นเงินจากการทำงาน เขาจะรักษาไว้อย่างดี เพื่อนำไปลงทุนต่อไปได้ หรืออย่างน้อยก็ใช้ชีวิตได้ไม่ต่ำกว่า 6 เดือน เงินที่เขาได้ไปเราอยากให้เขาไปลงทุนทำอาชีพอะไรก็ได้ที่ห่างไกลคุกให้มากที่สุด นั่นถือว่าเขาจบปริญญาจากที่นี่แล้ว 

“แต่ถ้าเขาคิดว่าจะเอาเงินไปซื้อยามาขายอีกก็คงติดคุกทั้งชีวิต เพราะ 40,000 บาทซื้อยาได้สัก 4,000 เม็ด โดนจับก็ถูกตัดสินประหารชีวิต ไม่ต้องไปไหนอีกแล้ว เราบอกเสมอว่าถ้าจนตรอกให้กลับมาคุยกันก่อน อย่าเพิ่งทำผิดอะไร” 

‘เมย์’ พนักงานเสิร์ฟสาวที่พ่วงตำแหน่งบาริสต้า เพิ่งมาเริ่มงานได้เพียง 2 สัปดาห์ โดยเข้ามาทำงานแทนผู้ต้องขังเดิมที่กำลังจะพ้นโทษในไม่ช้า เล่าให้เราฟังด้วยรอยยิ้มว่า เธอมีเงินเก็บและมีแผนชีวิตที่วางไว้หลังพ้นโทษในอีกไม่กี่เดือนแล้ว

“ก่อนมาทำงานที่นี่เคยอยู่กองงานขนมไทยมาก่อนค่ะ เลยมีทักษะทั้ง 2 อาชีพเลย วางแผนไว้แล้วว่าเมื่อพ้นโทษไปจะนำเงินปันผลที่ได้จากการทำก้อนนี้เป็นเงินก้นถุงสร้างชีวิตที่ดีต่อไป วางแผนกับแฟนไว้แล้วว่าจะเปิดร้านกาแฟเล็กๆ และเปิดทำขนมไทยสดๆ ให้ลูกได้เห็น และถ้าใครอยากเรียนเราก็ยินดีสอนวิชาความรู้ให้เขา”

เมย์เล่าว่า ก่อนออกมาทำงานที่นี่เธอรู้สึกอายและกังวลว่าคนในสังคมจะรังเกียจหรือไม่ แต่วันนี้กลับมีแต่ความภาคภูมิใจที่มีอาชีพที่สุจริต และได้รับกำลังใจจากลูกค้าที่เข้ามาอุดหนุน

“อยู่ในเรือนจำ 3 ปี ไม่เคยออกมาเลย ตอนแรกกลัวว่าคนจะรังเกียจเราไหม เวลาไปเสิร์ฟกาแฟเขาจะรู้สึกยังไงที่เราจับแก้วของเขา แต่เมื่อออกมาทำงานจริงกลับได้กำลังใจเยอะมาก มีคนถามเหมือนกันนะคะว่าไม่คิดหนีเหรอ แต่เราจะคิดสั้นๆ อย่างนั้นทำไม โอกาสที่ได้รับมานี้เราทำให้ดีที่สุดดีกว่า แล้วรอวันข้างหน้าที่เป็นของเราจริงๆ 

“เมื่อก่อนเรารู้แค่ว่าตัวเองเป็นนักโทษในพื้นที่สี่เหลี่ยมเท่านั้น มันมืดแปดด้านไปหมด เราไม่รู้ว่าจะเดินต่อไปยังไง จะใช้ชีวิตแบบไหน แต่ท่าน ผบ. เป็นคนชี้ทางให้เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ พอเราเดินตามท่านไปก็มีแสงสว่างนั้นจริงๆ และต่อไปในก้าวเดินของเรา แต่ละก้าวต้องคิดให้รอบคอบและดีกว่าเดิม จะไม่ทำให้ตัวเอง คนอื่นและสังคม เดือดร้อนอีก เรามีอาชีพที่สร้างคุณค่าให้กับเราได้แล้ว” เธออธิบายด้วยใบหน้าเปื้อนรอยยิ้ม

3 หนุ่มสมาชิกวงดนตรีประจำร้าน ‘ปอ’ ‘ซุป’ และ ‘เบิร์ด’ ต่างได้รับกำลังใจและแรงบันดาลใจดีๆ จากการมาทำงานที่นี่เช่นกัน พวกเขาดีใจที่ลูกค้าเข้ามาพูดคุยทักทาย เพราะนั่นคือโอกาสที่สังคมหยิบยื่นการยอมรับมาให้

“อยู่ในคุกมันมืดมาก มองไปที่ไหนก็มีแต่กำแพง แต่เมื่อได้ออกมาทำงานตรงนี้ เราได้เจอคนมากมาย บางคนให้กำลังใจและเดินมากอด ซึ่งผมไม่คิดว่าจะได้รับกำลังใจขนาดนี้ การที่สังคมภายนอกสนใจและให้โอกาส คือแรงบันดาลใจให้พวกเราว่า เมื่อพ้นโทษออกมาเราจะดำเนินชีวิตต่อไปให้ดี” ซุปบอกกับเราด้วยสายตาแห่งความยินดี

คุณยุทธนาชี้ชวนให้เราดูบอร์ดขนาดใหญ่ที่แปะเต็มไปด้วยกระดาษสีสันสดใสที่เขียนข้อความให้กำลังใจมากมายจากลูกค้า กำลังใจที่ผู้ต้องขังรู้สึกว่าสังคมไม่ทอดทิ้งพวกเขา ซึ่งทางร้านจะเก็บข้อความเหล่านี้กลับไปให้ผู้ต้องขังในเรือนจำได้อ่านเช่นกัน

ที่สำคัญคือ คุณยุทธนาได้บอกเล่าถึงผลที่น่าชื่นใจของการเปิดร้านว่า ช่วง 7 เดือนที่ผ่านมามีผู้ต้องขังที่ผ่านการงานจากร้านนี้พ้นโทษออกไป 5 – 6 คน ซึ่งคนในกลุ่มนี้ยังไม่มีใครกระทำความผิดซ้ำกลับเข้ามาในเรือนจำอีกเลย

“บางคนเขากลับมานั่งซึมซับบรรยากาศ เขารู้สึกผูกพันและรู้สึกว่าเป็นเจ้าของร่วมกัน”

06

โรงเรียนฝึกอาชีพ

ในวันเดียวกันนี้เรามีโอกาสได้เข้าไปเยี่ยมเยียนศูนย์ฝึกอาชีพในแดนหญิง อันเป็นเบื้องหลังของร้านวังจันทร์ Cook & Coff 

ป้าย ‘บ้านเปลี่ยนชีวิต’ ติดอยู่บนประตูเหล็กหนาที่กั้นอิสรภาพของแดนหญิง เมื่อก้าวสู่ภายในพื้นที่คุมขังมีเสียงดนตรีไทยแว่วมาจากโถงของชมรมดนตรี ผ่านเข้ามามีแปลงปลูกผักตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงที่บ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ให้เติบโตบนผืนดินไป พร้อมกับการบ่มเพาะความหวังในหัวใจ

เมื่อเดินลัดเลาะไปด้านใน เราเห็นโรงครัวที่ดูสะอาดสะอ้าน และมีผู้ต้องขังหลายสิบคนกำลังทำงานของตัวเอง 

“เรากำลังทำขนมกันอยู่ เพราะมีออร์เดอร์เข้ามา 700 ชุด สำหรับส่งไปเป็นเบรกที่งานของสภาพัฒน์ที่หอศิลปกรุงเทพฯ ส่วนวันนี้เครื่องชงกาแฟไม่อยู่ เพราะเขาไปออกงานที่กรุงเทพฯ เหมือนกัน” เจ้าหน้าที่ในแดนหญิงบอกเรา 

ผู้ต้องขังหญิงกลุ่มหนึ่งกำลังสาละวนกับการเตรียมหน้ากุ้งสำหรับโรยหน้าข้าวเหนียวมูน อีกกลุ่มหนึ่งกำลังตีไข่สำหรับทำขนมทองหยอด ส่วนอีกกลุ่มกำลังทำขนมต้ม ข้างกันนั้นมีอีก 3 คนกำลังนั่งพับกล่อง 

ถัดเข้าไปด้านในคือห้องกระจกโปร่งแสง ติดแอร์ มีเตาอบตัวใหญ่ของกองงานผลิตเบเกอรี่

เบเกอรี่ เค้ก

ขนมคุกกี้ คอนเฟลกซ์ แยมโรล เปาะเปี๊ยะ เค้กกล้วยหอม เค้กช็อกโกแลต ที่เพิ่งอบสดใหม่วางเรียงรายอยู่บนโต๊ะสแตนเลสสะอาดสะอ้าน ผู้ต้องขังทุกคนในห้องนี้กำลังวุ่นกับการทำหน้าที่ของตัวเอง 

“เมื่อก่อนเราไม่ได้มีการฝึกอาชีพหลากหลายขนาดนี้” คุณยุทธนาเริ่มเล่าถึงความเป็นมาของสิ่งที่เราเห็น

“แต่โชคดีที่เราคุยกับผู้ต้องขังและรู้ว่าก่อนเข้ามาเขามีอาชีพเดิมกันมาก่อน สิ่งหนึ่งที่คิดคือ ทำอย่างไรจึงจะรักษาอาชีพไว้ให้เขาได้ และส่งต่อความรู้ให้คนที่สนใจหากเขายินดี 

“ยกตัวอย่างว่ามีผู้ต้องขังคนหนึ่งเคยขายโจ๊กที่ตลาดมา 20 ปี ผมถามเขาว่าพอจะสอนคนที่สนใจฝึกอาชีพทำโจ๊กได้ไหม หวงสูตรไหม ถ้าไม่หวงผมจะขอเงินลงทุนจากฝ่ายวิชาชีพให้ 2,000 บาท เมื่อเขาตกลง ก็ให้เพื่อนอีก 4 คนมาฝึกและช่วยกันทำขายในเรือนจำ ถุงละ 35 บาท ขายได้วันละ 120 ถุง เขาได้เงินวันละประมาณ 6,000 บาท หักต้นทุนแล้ว ได้กำไรเฉลี่ยคนละ 300 บาท เดือนหนึ่งได้เงินคนละ 9,000 บาท ซึ่งเก็บไว้ในบัญชีธนาคารของเขา

“ผู้ต้องขังที่รู้จักเก็บ รู้จักออม เขาส่งเงินไปให้ลูกเรียน ไปให้ญาติได้ ตรงนี้เป็นปรากฏการณ์หนึ่งที่ผมภูมิใจและมีความสุขมาก ผมสบายใจว่าอย่างน้อยสี่ห้าคนนี้ออกไปเขาจะมีอาชีพของตัวเอง”

ระหว่างที่ผู้บัญชาการเดินทักทายและดูงานอาชีพที่ส่งเสริมให้ผู้ต้องขังร่วมแรงร่วมใจกันทำนั้น สายตาและรอยยิ้มของแต่ละคนในกองงานปรากฏขึ้น

“เดือนนี้ได้ปันผลกันคนละเท่าไหร่” ผู้บัญชาการถามไถ่ผู้ต้องขัง

คำตอบที่ได้มีหลากหลายจำนวนกันไปตามการแบ่งสันปันส่วน แต่จับใจความได้ว่าแต่ละคนมีรายได้แต่ละเดือนเป็นหลักพัน สูงไปถึง 10,000 บาทขึ้นไป และขณะนี้มีผู้ต้องขังเก็บเงินได้ 60,000 บาทแล้ว

ระหว่างนั้นคุณยุทธนาชี้ชวนให้อ่านข้อความบนผนังห้องเบเกอรี่ ที่เขาคิดและเขียนเพื่อเตือนใจและให้กำลังใจผู้ต้องขังที่มุ่งมั่นสร้างโอกาสให้ตัวเองทุกคน

‘การถูกจองจำ’ ไม่ได้ทำให้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ลดลง

‘การถูกจองจำ’ ไม่ได้จำกัดอิสรภาพในการใช้ชีวิตในอนาคต

‘การถูกจองจำ’ ไม่ได้ทำให้ชีวิตที่เหลืออยู่ล้มเหลวตลอดไป

‘การถูกจองจำ’ จะเป็นโอกาสทำให้ประสบความสำเร็จ ถ้านำมาเป็นบทเรียนในการสร้างหนทางในอนาคต

ทำขนม
ทำขนม

นอกเหนือจากการฝึกอาชีพด้านกาแฟและขนมหวาน ในแดนหญิงยังมีการฝึกอาชีพทำอาหารคาว ทั้งก๋วยเตี๋ยว โจ๊ก ต้มเลือดหมู ส้มตำถาด ข้าวตามสั่งหลายเมนู ซึ่งอีกไม่นานผู้ต้องขังเหล่านี้จะได้รับโอกาสโชว์ความสามารถที่ร้านอาหารอีกแห่งหนึ่งที่ท่านผู้บัญชาการมีโครงการที่จะเปิดขึ้นในไม่ช้า

“เรากำลังปรับปรุงบ้านผู้บัญชาการซึ่งเป็นเรือนเก่าในซอยฝั่งตรงข้ามร้านกาแฟให้เป็นร้านอาหาร ตอนนี้มีบริษัททัวร์ 9 แห่งติดต่อนำนักท่องเที่ยวต่างชาติมาแล้ว ผมจึงเตรียมว่าจะทำอาหารไทยสัก 10 อย่างที่ผู้ต้องขังฝึกทำจนอร่อยไปเสิร์ฟ แล้วจะพาผู้ต้องขังที่ทำข้าวเกรียบปากหม้อไปนั่งทำสดๆ ให้เขาได้ชม หรือเรียนทำไปด้วย ตอนนี้พยายามนึกว่าจะใช้ผู้ต้องขังสักกี่คน อยากใช้ให้ได้มากที่สุด ให้พวกเขาได้มีโอกาสออกไปทำงานข้างนอกบ้าง”

วังจันทร์ Cook & Coff ร้านกาแฟในเรือนจำเก่าอายุกว่า 100 ปี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กับการสร้างโอกาสที่สองให้เหล่าผู้ต้องขังหลังกำแพงสูง

การส่งเสริมการฝึกอาชีพของเรือนจำกลางพระนครศรีอยุธยาไม่ได้จำกัดอยู่เพียงด้านอาหารคาวหวานเท่านั้น เพราะมีการฝึกอาชีพอื่นๆ มากมาย หากในแดนหญิงก็จะมีการเล่นดนตรีไทย งานฝีมือ ไปจนถึงงานเสริมสวย ส่วนในแดนชายมีการเรียนการสอนซ่อมจักรยานยนต์ ที่ก้าวหน้าไปจนถึงเปิดเป็นร้านรับซ่อมหน้าเรือนจำด้วยเช่นกัน เรียกได้ว่าอาชีพใดเป็นอาชีพอิสระที่เลี้ยงตัวผู้ต้องขังได้ในภายหน้า ท่านผู้บัญชาการเรือนจำก็ส่งเสริมให้ได้มากที่สุด

ผลที่ได้มากกว่าการสร้างอาชีพ

“หากคนที่มีญาติมาเยี่ยมเสมอ เรามั่นใจได้ว่าระบบครอบครัวจะสนับสนุนดูแลเขาได้ แต่คนที่ไม่มีคนมาเยี่ยมเลย เห็นคนอื่นกินแต่ตัวเองไม่ได้กิน ย่อมเกิดความน้อยเนื้อต่ำใจ เกิดความรู้สึกว่าทำไมโชคชะตาช่างโหดร้าย เราต้องตัดตรงนี้ออกไปให้ได้ เราต้องสนับสนุนให้เขาสร้างโอกาสให้ตัวเอง หากเขามาฝึกอาชีพ เขามีสตางค์ ได้วันละ 300 อยากกินเปรี้ยว กินหวาน มีเงินซื้อได้ เขาไม่มีความจำเป็นต้องไปทำอะไรตามที่ใครบงการ 

“เราได้รักษาศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเขาไว้ แต่ถ้าปล่อยให้เขาจน ไม่สนใจเขา เขาก็ทำผิดตลอดเวลา การหักวงจรตรงนี้คือให้เขารู้ตั้งแต่ตอนนี้ว่า พื้นที่นี้ถ้าคุณมีความสามารถ หากคุณฝึกฝนตนเองอย่างดี คุณมีที่ยืนอยู่ได้” คุณยุทธนาอธิบายถึงเหตุผลที่ให้ความสำคัญกับการสร้างอาชีพให้ผู้ต้องขังที่ต้องออกไปใช้ชีวิตหลังพ้นโทษ

คุณยุทธนาให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า จากสถิติแล้วมีการกระทำผิดซ้ำของผู้ต้องขังที่พ้นโทษและออกไปใช้ชีวิตในสังคมประมาณ 15% ในปีแรก 24% ในปีที่ 2 และเพิ่มขึ้นถึง 33% ในปีที่ 3 หน้าที่ของผู้บัญชาการเรือนจำคือลดจำนวนเหล่านี้ให้ได้

“วิธีการลดคือ เราต้องกลับไปถามเขาว่าการกระทำผิดซ้ำเกิดจากสาเหตุอะไร ถ้าเกิดเพราะไปเจอเพื่อนเก่า เราควบคุมไม่ได้ แต่ถ้าเกิดเพราะไม่มีสตางค์ เราช่วยเขาได้ด้วยการให้งานทำสร้างรายได้ ทุกคนมีปมที่ต้องสะสาง เราไม่สามารถแก้ปัญหาแบบเดียวที่ใช้กับทุกคนได้ เราต้องพยายามหาปม หาสาเหตุ และช่วยเขา หรือก่อนออกพ้นโทษเราจะเชิญครอบครัวมาคุยมาวางแผนด้วยเช่นกัน เราทำทั้งหมดนี้แม้จะลดผู้กระทำผิดซ้ำได้ส่วนหนึ่ง เราก็มีความสุขมากแล้ว ดีกว่าเราไม่ได้ลงมือทำอะไรเลย”

หลังจากที่มีการฝึกอาชีพและเตรียมความพร้อมก่อนการพ้นโทษในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาก็เห็นผลที่น่าชื่นใจ ซึ่งไม่ได้อยู่แค่ตัวเลขทางสถิติเท่านั้น แต่ผลที่ยิ่งใหญ่คือการที่ลดการเกิดอาชญากรรมในสังคมได้ทวีคูณ

“เราลดอัตราการทำผิดซ้ำได้ประมาณเกือบ 100 คน แต่ผมไม่ได้สนใจตัวเลขตรงนี้ ผมสนใจว่าถ้าไม่มีคนกระทำผิดร้อยคน เหยื่อลดลงไปตั้งเยอะ ถ้าเขาขายยาเสพติด 10 เม็ด เท่ากับว่ามีคนเสพ 10 คน หรือคนเสพ 10 ครั้ง หรืออาจมีครั้งใดครั้งหนึ่งที่คนเสพก่ออาชญากรรม ดังนั้น ถ้าเราลดจำนวนผู้กระทำความผิดซ้ำ เท่ากับเราลดอาชญากรรม ลดผู้เสียหาย นี่คือความสุขที่เราอยากให้เกิดขึ้นในสังคม

“เราไม่ได้หวังให้เขาออกไปเป็นเจ้าของกิจการ ไม่จำเป็น แค่ออกไปเป็นคนดี มีอาชีพสุจริตก็พอใจแล้ว เราบอกผู้ต้องขังทุกคนว่า ออกไปแล้วเขียนจดหมายมาบอกทีนะว่าคุณทำอะไร แล้วเราก็นำไปติดที่บอร์ดของเรือนจำ เหมือนกับโรงเรียนที่ขึ้นป้ายว่านักเรียนสอบติดที่ไหนบ้าง แต่ของเราจะเป็นอาชีพต่างๆ ให้เป็นแรงบันดาลกับผู้ต้องขังข้างในต่อไป ให้เขาไม่ทำผิดซ้ำเมื่อออกไป เมื่อลดจำนวนนักโทษได้ ประเทศก็พัฒนาด้านอื่นได้มากขึ้น ดังนั้น ถ้าเรามองเป็นลูปเราจะเห็นว่าสิ่งเล็กๆ ที่ทำส่งผลถึงส่วนรวมที่ใหญ่ขึ้นได้”

07

สุดท้าย ทุกโอกาสต้องสร้างด้วยตัวเอง

แต่สุดท้าย ใช่ว่าทุกคนจะให้โอกาสที่ 2 แก่ผู้ต้องขัง นี่คือเรื่องจริงที่ผู้บัญชาการเรือนจำพระนครศรีอยุธยายอมรับ

“เป็นเรื่องธรรมดาที่ต้องมีคนที่คิดว่าผู้ต้องขังเป็นคนที่ไม่ควรเสวนาด้วย เขาก็ไม่เข้าร้านเรา เขาไม่มั่นใจว่าการที่ผู้ต้องขังออกมาจะดีไหม จะร้ายไหม จะหนีไหม จะก่อเหตุอะไรไหม มีหลายปัจจัย เราก็ต้องอดทน

“ผมบอกผู้ต้องขังทุกคนว่า คุณต้องคิดว่าคุณคือซอมบี้ ตอนนี้คุณอยู่ในหลุม ดังนั้น คุณต้องตื่นก่อน แล้วใช้พละกำลังปีนขึ้นมาจากหลุม แต่ความเป็นซอมบี้ของคุณทำให้คุณเดินช้ากว่าคนอื่นเขา คนในสังคมเดินกันอยู่ แต่คุณต้องวิ่งให้ได้ คุณต้องรวบรวมกำลังและความสามารถทั้งหมดที่มีเพื่อที่จะแข่งกับคนอื่น คุณต้องใช้ความพยายามมากกว่าเขา ไม่ใช่ว่าออกมาคุณจะวิ่งได้เลย คุณต้องรีดความสามารถทุกอย่างออกมา แปลงตัวเป็นซูเปอร์ไซย่าให้ได้ ไม่อย่างนั้นคุณไม่มีทางได้รับโอกาสนั้นเลย”

แม้ ‘โอกาส’ และ ‘การยอมรับ’ คือสิ่งที่ผู้ต้องขังส่วนใหญ่อยากได้จากสังคม แต่ผู้บัญชาการย้ำว่า สิ่งที่พวกเขาเพรียกหาเกิดจากการลงมือทำ

“อย่าไปคาดหวังคนอื่น ต้องทำด้วยตัวเอง ยากแค่ไหนก็ต้องทำ ให้คนอื่นยอมรับให้ได้ อย่าลืมว่าคุณทำผิดมา สิ่งนี้ต้องชดเชย อาจจะต้องชดเชยทั้งชีวิตหรืออะไรก็ช่าง แต่ต้องทำ แล้วบอกต่อคนอื่นไปว่า อย่าทำผิดนะ จนกระทั่งไม่มีอัตราการกระทำผิดซ้ำหรือมีน้อยลง วันนั้นสังคมจะยอมรับคุณเอง 

“ผมย้ำผู้ต้องขังเสมอว่า จงลงมือทำและสร้างขึ้นมา อย่าไปขอ ห้ามเด็ดขาด ทุกโอกาสต้องพิสูจน์และสร้างขึ้นมาด้วยตัวคุณเอง” ผู้บัญชาการเรือนจำทิ้งท้ายด้วยน้ำเสียงอันหนักแน่น อันเป็นการสรุปเป้าหมายหลักที่เขามุ่งผลักดันเสมอมาได้เป็นอย่างดี

Writer

Avatar

เชิญพร คงมา

อดีตเด็กยอดนักอ่านประจำโรงเรียน ชอบอ่านพอๆ กับชอบเขียน สนุกกับการเล่าเรื่องราวรักการเที่ยวเล่น ติดชิมของอร่อย และสนใจธรรมะ

Photographer

Avatar

ปวรุตม์ งามเอกอุดมพงศ์

นักศึกษาถ่ายภาพที่กำลังตามหาแนวทางของตัวเอง ผ่านมุมมอง ผ่านการคิด และ ดู