บนพื้นที่เล็กๆ ขนาดไม่กี่ตารางเมตรของร้านแห่งนี้ เหมือนเป็นเวทีบันทึกเรื่องราววงการเพลงไทย

ยุคหนึ่งศิลปินน้องใหม่ที่อยาก ‘แจ้งเกิด’ ต้องมาแนะนำตัวที่นี่ ใครมองหาบัตรคอนเสิร์ต บัตรละครเวที หรือใบสมัคร Hotwave Music Awards ก็ต้องแวะมา 

นอกจากเทป ซีดี แผ่นเสียงที่อัดแน่นบนชั้นวาง ที่นี่ยังเต็มไปด้วยกิจกรรมต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นมินิคอนเสิร์ต งานแจกลายเซ็น ที่จัดต่อเนื่องเป็นประจำแทบทุกสัปดาห์นับ 10 ปี

ใครอยากคุยเรื่องดนตรีก็มาแลกเปลี่ยนความเห็นกับเจ้าของร้านได้อย่างถึงรส 

“เราเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมทางดนตรี มากกว่าร้านขายเทปหรือแผ่นซีดี”

 พี่นก-อนุชา นาคน้อย

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา อยากชักชวนทุกคนมาพูดคุยกับ พี่นก-อนุชา นาคน้อย หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งร้าน ‘น้องท่าพระจันทร์’ ถึงเรื่องราวในวันวาน วันนี้ และวันข้างหน้า ในวันที่ร้านแห่งนี้กำลังจะมีอายุครบ 40 ขวบพอดี

น้องท่าพระจันทร์ ตำนานร้านเทปยุคแรกแห่งท่าพระจันทร์ที่อยู่คู่วงการเพลงไทยมากว่า 40 ปี

1

นาคน้อย The Family

น้องท่าพระจันทร์เกิดจากความหลงใหลในเสียงเพลงของ พี่หน่อย กุลพงศ์, พี่น้อง อนงค์นาถ, พี่หนุ่ม ภาสกรณ์ และ พี่นก อนุชา สี่พี่น้องตระกูลนาคน้อย

 พี่นก-อนุชา นาคน้อย

“พวกเราเติบโตมาพร้อมเสียงเพลง เช้าๆ คุณพ่อจะเปิดวิทยุเพื่อปลุกลูกๆ เราจะได้ฟังเพลงอย่าง สยามมานุสสติ หรือสุนทราภรณ์ตลอด แล้วคุณพ่อยังสอนให้ใช้เครื่องเล่นแผ่นเสียง พอกลับมาจากที่ทำงานก็จะให้เราเปิดเพลง หรือช่วงวันหยุดก็จะเอาเครื่องเล่นมาตั้งแล้วจัดปาร์ตี้ เราจะมานั่งฟังเพลงด้วยกัน” พี่นกเปิดฉากเล่าถึงจุดเริ่มต้นที่มาจากครอบครัว 

ปี 2522 ความรักในเสียงเพลงก็เติบโตเป็นธุรกิจ หลังทั้งสี่พี่น้องแวะเวียนไปยังร้านขายเทปแถวบ้านเพื่อเลือกซื้ออัลบั้มเพลงเป็นของขวัญวันเกิดให้คุณพ่อ แต่อาจเพราะความเป็นเด็กบวกกับเลือกซื้อนานหน่อย คนดูแลร้านจึงไม่สนใจเท่าที่ควร

หลังเลือกซื้อเทปของ หม่อมราชวงศ์ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ เรียบร้อย พี่หน่อยกับพี่น้องจึงเกิดไอเดียว่าหากเปิดร้านเทปกันเองก็คงดี เพราะอยากฟังเพลงอะไรก็ได้ฟัง ไม่ต้องรอสถานีวิทยุเปิดหรือมาซื้อตามร้าน ที่สำคัญคือ การทำงานอยู่กับเสียงเพลงทั้งวันคงมีความสุข

แต่การจะเปิดร้านสักแห่ง สิ่งสำคัญคือทำเล หลังพยายามตามหาสถานที่อยู่พักใหญ่ ในที่สุดพี่หน่อยก็มาได้พื้นที่เล็กๆ ใกล้ท่าเรือข้ามฟากฝั่งท่าพระจันทร์ ไม่ไกลจากสนามหลวงที่สมัยนั้นเป็นศูนย์กลางการสัญจรและมีตลาดนัดขายสินค้านานาชนิดทุกวันเสาร์-อาทิตย์

ตอนแรกพวกเขาต้องแบ่งพื้นที่เช่ากับร้านขายรองเท้า มีเงินทุนก้อนแรกมาจากพี่ชายคนโตที่เพิ่งเรียนจบ บวกกับเงินสะสมของคุณแม่ ขณะที่คุณพ่อเป็นที่ปรึกษา ช่วยเลือกชุดเครื่องเสียงเครื่องแรกให้ร้าน เป็นเครื่องเล่นเทปยี่ห้อ AKAI พร้อมให้แอมป์กับลำโพงมาใช้

“เราเปิดร้านวันอาทิตย์ที่ 2 ธันวาคม 2522 จำได้ว่าเป็นวันที่วุ่นวายทีเดียว เนื่องจากสนามหลวงกำลังเตรียมจัดงานเฉลิมฯ วันที่ 5 ธันวาคม บรรยากาศย่านนั้นน่าตื่นตาตื่นใจมาก ตอนนั้นพวกเราแบกเทปลังหนึ่งมาขายประมาณร้อยม้วน ส่วนใหญ่เลือกจากเพลงที่เรารู้จักเป็นหลัก

น้องท่าพระจันทร์ ตำนานร้านเทปยุคแรกแห่งท่าพระจันทร์ที่อยู่คู่วงการเพลงไทยมากว่า 40 ปี
น้องท่าพระจันทร์ ตำนานร้านเทปยุคแรกแห่งท่าพระจันทร์ที่อยู่คู่วงการเพลงไทยมากว่า 40 ปี

“เทปยุคแรกที่ขาย คละทั้งเพลงไทยและเทศ อย่างเพลงสากลหลักๆ ก็จะเป็นพวก Bee Gees, Boney M. หรือ Humoresque ส่วนใหญ่เป็นเทปแบบ Peacock และ 4 Track ที่ผลิตโดยคนไทย อัดเองขายเอง ราคาขายม้วนหนึ่งตกอยู่ที่สี่สิบถึงห้าสิบบาท 

“ส่วนเพลงไทยที่เด่นๆ ในยุคนั้นก็มีวงชาตรี อัลบั้ม รัก 10 เเบบ กับวงเเกรนด์เอ็กซ์ ชุดแรก ลูกทุ่งดิสโก้ และยังมีเพลงลูกกรุง สุนทราภรณ์ รวมถึงเพลงลูกทุ่งยอดนิยมด้วย”

ช่วงเปิดร้านแรกๆ พี่หน่อยตั้งชื่อร้านไว้ว่า ‘am sound’ แปลว่า เสียงเพลงอันเป็นที่รัก

แต่พอขายไปเรื่อยๆ ลูกค้าส่วนใหญ่ซึ่งเป็นเด็กมหาวิทยาลัยหรือคนวัยทำงานมักเอ่ยกับคนขายว่า

 “น้อง พี่รับม้วนนั้น”

 “น้อง หยิบม้วนนั้นให้หน่อย”

“น้องครับ มีม้วนนั้นหรือเปล่า”

คุณแม่เห็นว่าคำว่า น้อง จำง่ายดี บวกกับคนที่เฝ้าร้านบ่อยสุดคือพี่น้อง ลูกสาวคนเดียวของบ้าน จึงนำคำนี้มาผสมกับสถานที่ตั้งกลายเป็น ร้านน้องท่าพระจันทร์

จุดเด่นสำคัญของร้านน้องฯ คือความร่วมไม้ร่วมมือของทุกคนในครอบครัว พี่หน่อยและพี่น้องรับหน้าที่ขับเคลื่อนร้าน เช็กสต๊อก สั่งสินค้า ขณะที่พี่หนุ่มรับหน้าที่ออกแบบและตกแต่งร้าน ส่วนพี่นกคอยเป็นผู้ช่วยของพี่ๆ ทำงานจิปาถะต่างๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย

“ช่วงนั้นพี่น้องเพิ่งเข้าปีหนึ่งที่รามคำแหง พอเรียนเสร็จก็กลับมาเปิดร้าน ส่วนพี่หน่อยมาตอนเย็น เพราะทำงานประจำควบคู่ไปด้วย แล้วยังมีเพื่อนพี่หน่อยกับพนักงานเสริมอีกสองคน พูดง่ายๆ คือแผงเล็กนิดเดียว แต่ใช้บุคลากรเยอะมาก ส่วนพี่ตอนนั้นอายุสิบสี่ อยู่ มศ.2 ก็มาอยู่ที่นี่ทุกวันหลังเลิกเรียน ซึ่งสมัยก่อนกว่าจะเช็กยอดเสร็จ ท่าเรือก็ปิดแล้ว ถึงบ้านก็ดึกมาก สุดท้ายเลยไปหลับในห้องเรียน ถูกเชิญผู้ปกครอง ตอนหลังพี่หน่อยเลยให้กลับบ้านไปก่อน

น้องท่าพระจันทร์ ตำนานร้านเทปยุคแรกแห่งท่าพระจันทร์ที่อยู่คู่วงการเพลงไทยมากว่า 40 ปี

“ถึงจะเหนื่อยแต่เราก็สนุกมาก เพราะได้เจอผู้คนที่โตกว่า โดยเฉพาะลูกค้าที่เป็นนักฟังเพลงตัวจริง เพลงหลายๆ แนวก็ได้คำแนะนำจากลูกค้า เราเองอาจจะถูกปลูกฝังมาด้วยสุนทราภรณ์บ้าง ลูกทุ่งบ้าง แล้วก็เพลงสากลจากคลื่นวิทยุ แต่พอได้เจอกลุ่มคนเหล่านี้ ทำให้เรามีโอกาสพัฒนาตัวเอง กลายเป็นคนที่พร้อมฟังเพลงที่หลากหลายมากขึ้น”

แม้เป็นธุรกิจเกิดใหม่ เพราะเมืองไทยเพิ่งผ่านยุคแผ่นเสียงได้ไม่นาน แต่เนื่องจากเครื่องเล่นเทปเป็นเหมือนอุปกรณ์สามัญประจำบ้าน บวกกับท่าพระจันทร์เองเป็นแหล่งรวมวัยรุ่น เพราะอยู่ใกล้มหาวิทยาลัยถึง 3 แห่ง และยังเป็นจุดสัญจรเชื่อมฝั่งพระนครกับธนบุรี ส่งผลให้ความนิยมแผงเทปเล็กๆ แห่งนี้พุ่งสูงขึ้น แต่ละวันมีผู้คนนับร้อยแวะเวียนมาอุดหนุน

พวกเขาจึงพยายามเพิ่มพื้นที่ขาย ด้วยการออกแบบแผงให้ใส่เทปได้มากขึ้น จากเดิมที่บอร์ดหนึ่งใส่ได้เพียง 136 ตลับ คุณพ่อและพี่หนุ่มก็มาช่วยคิดค้นวิธีให้สามารถใส่เทปซ้อนกันได้ถึง 3 ม้วน

“เราอยากให้พื้นที่โชว์เป็นพื้นที่สต๊อกด้วย สมมติเบอร์นี้ขายดีก็จะแหว่งไป ทำให้เราขายเร็วขึ้น และเช็กสต๊อกง่ายขึ้นด้วย นอกจากนี้ เรายังนำล็อกเกอร์เหล็กอีกสองตู้มาแยกสินค้า ตู้หนึ่งใส่เพลงสากล อีกตู้หนึ่งใส่เพลงไทย แต่ละชั้นใส่เทปได้ห้าสิบเจ็ดม้วน ส่วนวิธีจัดเรียง หากเป็นเพลงสากล เราก็ไล่ชื่อศิลปินตั้งแต่ A-Z ถ้าเบอร์ไหนขาดเราก็หยิบมาเติมแผงได้ทันที แต่ถ้าเป็นเพลงไทย เราใช้วิธีเรียงตามค่ายหมุนเวียนกันไป”

ความรุ่งเรืองของร้านน้องฯ ส่งผลให้เกิดร้านขายเทปหน้าใหม่ๆ อีกหลายร้านในละแวกใกล้เคียง และยังพาให้ธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้องกับเสียงเพลงรุ่งเรืองไปด้วย อย่างครั้งหนึ่งพี่หนุ่มกับพี่นกไปรับโปสเตอร์ศิลปินดังๆ จาก I.S. Song Hits มาขายอยู่ข้างร้านเพื่อหารายได้ช่วงปิดเทอม ปรากฏว่ากำไรงามถึงขั้นซื้อกล้องถ่ายรูปตัวละเป็นหมื่นได้ทีเดียว

หากถามว่าปัจจัยอะไรที่ดึงดูดผู้คนที่ซื้อแล้วให้กลับมาที่นี่ไม่ขาดสาย หลักๆ คงมาจากความใส่ใจที่มีต่อลูกค้า ความเป็นกันเอง ไม่พยายามยัดเยียดขายของ แต่เลือกแนะนำสินค้าที่เหมาะกับรสนิยมของแต่ละคน เปิดให้ทดลองฟังก่อนซื้อ รวมทั้งยังมีระบบรับประกันกรณีสินค้าชำรุดหรือเสียหาย

“ทุกคนที่ซื้อของร้านเราจะต้องแกะพลาสติกออก แล้วประทับตราร้านน้องฯ สมัยก่อนเทป Peacock จะมีพื้นที่ขาวๆ อยู่ด้านใน เราก็ประทับตรงนั้น ถ้าซื้อแล้วมีปัญหาคุณจะได้ม้วนใหม่กลับไป เราปั๊มอยู่นานเป็นสิบปีเลย จนตอนหลังปกด้านในเริ่มพิมพ์สปอนเซอร์ มีดีไซน์มากขึ้น ลูกค้าบอกว่ารอยประทับทำให้ปกเลอะ เลยเลิกไป”

ต่อมาเมื่อร้านรองเท้าที่อยู่ติดกันตัดสินใจย้ายออก ทำให้พื้นที่ในร้านเหลือ พี่หน่อยจึงต่อยอดธุรกิจโดยนำสินค้ากิฟต์ช็อปและสินค้าจากต่างประเทศมาวางขาย ซึ่งได้รับความนิยมไม่แพ้เทปเพลงเลย

ขณะที่คุณแม่มีไอเดียอยากทำเสื้อผ้าของตัวเอง พี่หน่อยกับพี่หนุ่มจึงช่วยกันออกแบบ หาวัสดุต่างๆ จากนั้นก็ส่งไปให้ช่างเย็บตัดเป็นเสื้อสำเร็จรูป

“ตอนนั้นใช้ชื่อแบรนด์ว่า ‘น้อง’ เหมือนกัน สินค้าของเราอยากให้เป็นแนวค่อนข้างล้ำสมัย เราเคยทำกางเกงลูกฟูกที่เดินไปตรงไหนก็เห็นคนนิยมใส่ เคยลองนำผ้าแปลกๆ มาทำกางเกง ซึ่งฮิตมากในละแวกนี้ พวกนักศึกษา อาจารย์ ก็ใส่ จากนั้นก็ค่อยๆ ขยับไปทำเสื้อเชิ้ตที่ปักเล็กๆ ตรงขอบปก ขอบกระเป๋า ใช้ผ้าสวยๆ เป็นเหมือนแฟชั่นโฮมเมด มีที่เราที่เดียว เราขายดีมากถึงขั้นเปิดร้านที่จตุจักรได้สี่ล็อก”

เพราะฉะนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่าช่วง 15 ปีแรก ร้านน้องฯ มีบทบาทไม่ต่างจากผู้จุดกระแสวัฒนธรรม ทั้งดนตรีและแฟชั่น ให้เกิดขึ้นในย่านท่าพระจันทร์

2

ร้านเทปที่เป็นมากกว่าร้านเทป

หากร้านน้องฯ เป็นเพียงร้านขายเทปเพลงธรรมดาๆ ที่ขายสินค้าเหมือนที่อื่น ก็คงยากที่จะยืนหยัดมาจนถึงวันนี้

กว่า 40 ปี ที่ที่นี่คือแหล่งรวมศิลปินทั้งในและนอกกระแส ศิลปินเพื่อชีวิตระดับตำนานหลายคน เช่น อารักษ์ อาภากาศ ศิลปินเดี่ยวมาลีฮวนน่า วงแมลงสาบ วงสิชล หรือวง Carry On ต่างเคยนำผลงานมาฝากให้พี่น้องตระกูลนาคน้อยเพื่อส่งต่อให้ผู้ฟังมาแล้วทั้งสิ้น

“อินดี้ยุคแรกๆ ส่วนใหญ่เป็นพวกเปิดหมวก เล่นที่สนามหลวงหรือลานท่าพระจันทร์ พอร้องแล้วก็อัดเทป นำผลงานมาวางขาย เพลงอาจไม่ได้หลากหลายแบบทุกวันนี้ เพราะสมัยก่อนคนที่ทำเป็นอินดี้ ก็คือเพื่อชีวิตจริงๆ เป็นแนวโฟล์กที่ฟังง่ายๆ เนื้อหาโดนใจคนฟัง”

บอย โกสิยพงษ์

เพราะพวกเขาเชื่อเรื่องโอกาส ศิลปินดีๆ หลายคนมีฝีมือ มีความสามารถ แต่ปราศจากพื้นที่เผยแผ่ผลงาน ร้านน้องฯ จึงอยากเป็นสื่อกลางสนับสนุนให้เขาเหล่านั้นได้ทำตามฝัน

ทุกวันนี้หลายคนก็ประสบความสำเร็จมีชื่อเสียง อย่าง Paradox ก็เคยนำผลงานใต้ดินมาฝากขาย เช่นเดียวกับ Moderndog ก็เคยส่งอัลบั้ม ก่อน 5 เวอร์ชั่น ให้ร้านน้องฯ ช่วยจำหน่าย หรือแม้แต่ DAJIM แร็ปเปอร์หนุ่มที่เคยโด่งดังจากเพลงเสียดสีสังคม ก็มีร้านน้องฯ เป็นหนึ่งในแหล่งกระจายสินค้า

ภายในร้านน้องฯ จึงอัดแน่นไปด้วยอัลบั้มเพลงไทยหลากหลายแนว ทั้งเพลงป๊อป เพลงไทยเดิม เพลงใต้ดิน เพลงอินดี้ รวมถึงอัลบั้มพิเศษที่มีเฉพาะที่นี่ อย่าง Top Selection โดย เทวี แย้มสรวล ดีเจชื่อดัง ซึ่งคัดเลือกเพลงบรรเลงดีๆ ระดับโลกมาทำเป็นอัลบั้มจำนวน 10 ชุด จำหน่ายม้วนละ 50 บาท

หรือช่วงที่กระแสอินดี้รุ่งเรือง เกิดผลงานแนว Bedroom Studio มากมาย ร้านน้องฯ ยังรับหน้าที่เป็นสื่อกลางนำเพลงต่างๆ ไปสู่ผู้ฟัง โดยพี่หน่อยเปิดแผนกขายส่ง กระจายผลงานเพลงหลายแนวไปสู่ร้านค้าต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เช่น B2S หรือ Tower Records ซึ่งเวลานั้นเพิ่งเปิดตลาดเทปและซีดี

Moderndog

“ศิลปินใหม่ๆ หลายคนเดินเข้ามาขอคำแนะนำเพื่อวางผลงาน เราก็ยินดีถ้าไม่ผิดกฎหมาย เนื้อหาไม่หยาบคายเกินไป มีหลายผลงานที่เรามองเห็นพัฒนาการของเขา อัลบั้มแรกเสียงร้องอาจจะไม่โดดเด่น แต่ภาคดนตรีเขาทำดีมาก ชุดแรกอาจจะไม่เปรี้ยงปร้าง ก็วางขายให้ แนะนำลูกค้าผู้ฟัง แต่ความชอบหรือไม่ชอบนั้น ท้ายสุดคนฟังเป็นคนตัดสิน

“อย่างทุกวันนี้ร้านน้องฯ ก็ขยายช่องทางไปสู่คนฟังเพลงมากขึ้น เราทำรายการ ‘คนทำเพลงพบคนฟังเพลง’ ในแชนแนล Nong Taprachan บนยูทูบ เพื่อเป็นช่องทางสำหรับคนทำเพลงและคนฟังเพลง สมมติคุณร้องเพลงแล้วอยากเจอคนฟัง เราก็จัดกิจกรรมเพิ่มให้ เวลานี้มีหลายวงที่พีกมาก เป็นที่รู้จักมากขึ้น ซึ่งเคยมาเปิดอัลบั้มกับเราเป็นแห่งแรกๆ”

ความสัมพันธ์อันดีระหว่างร้านกับศิลปินเช่นนี้เองที่ต่อยอดให้ร้านน้องฯ มีโอกาสได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมต่างๆ มากมาย

อย่างเมื่อปี 2529 จรัล มโนเพ็ชร เคยทำเทปชุดพิเศษ จากเสียงซึงสู่พิณเปี๊ยะ มาฝากขาย เพื่อหารายได้ช่วยเหลือลุงคำแปง ศิลปินพื้นบ้านอาวุโส ซึ่งครั้งนั้นจรัลมานั่งเล่นซึงเปิดหมวกที่ทางเดินหน้าร้านด้วย

มานิด อัชวงศ์ ผู้จัดการส่วนตัวของศิลปินดังเคยบันทึกเรื่องราวผ่านหนังสือ ซึงสุดท้าย ว่า 

“ผู้คนแตกตื่นมารุมล้อมชมการแสดง… จรัล มโนเพ็ชร ไม่พูดสักคำ เล่นเพลงต่อเพลงนานนับชั่วโมง เทปยังไม่ขายสักม้วน เนื่องจากไม่รู้วัตถุประสงค์ ผมต้องแก้สถานการณ์ด้วยการประกาศเจตนารมณ์ของการทำงานชิ้นนี้ ผู้คนละทิ้งจรัล มโนเพ็ชร หันหลังไปซื้อเทปจากเสียงซึงสู่พิณเปี๊ยะ นักข่าวมาถ่ายรูปมากมาย กล้องทีวีมาบันทึกภาพ ตกเย็นในช่วงข่าวภาคค่ำของช่อง 9 อ.สมเกียรติ อ่อนวิมล นั่งอมยิ้มประกาศนำเข้าข่าวพิเศษ จรัล มโนเพ็ชร เป็นวณิพก เล่นดนตรีช่วยพิณเปี๊ยะที่ท่าพระจันทร์… นี่คือต้นแบบของข่าวศิลปวัฒนธรรม เป็นส่วนหนึ่งของรายการโทรทัศน์” 

CLASH

นอกจากนี้ ที่นี่ยังเป็นร้านแรกๆ ที่รับขายบัตรคอนเสิร์ต สมัยนั้นมีร้านที่รับฝากบัตรหลักๆ 3 ร้าน คือร้านหนังสือดวงกมล สยามสแควร์ ร้านหนังสือดอกหญ้า สาขาท่าพระจันทร์ และร้านน้องท่าพระจันทร์

คอนเสิร์ตที่มาฝากขายมีตั้งแต่ศิลปินต่างประเทศที่ Nite Spot Production นำเข้ามา จนถึงศิลปินไทยที่โด่งดังอย่างเฉลียง อัสนี – วสันต์ และหลายคอนเสิร์ตที่มีผู้ชมมาเฝ้ารอซื้อบัตรกันคึกคักมากมาย เช่นคอนเสิร์ตของ เบิร์ด-ธงไชย แมคอินไตย์ มีคนเข้าคิวรอกันนานมากตั้งแต่ก่อนร้านเปิด หรือ น้าหมู-พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ ที่แฟนเพลงต่อคิวยาวจากหน้าร้านจนถึงหน้าประตูมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กระทั่งบัตร 2,500 ใบ หมดเกลี้ยงภายใน 1 ชั่วโมง

ไม่เพียงแค่นั้น ร้านน้องฯ ยังมีโอกาสทำงานร่วมกับคลื่นวิทยุต่างๆ เช่นคลื่น Hot Wave รายงานอัลบั้มขายดีประจำสัปดาห์ ทุกวันพฤหัสบดี เวลาบ่าย 2 โมง พี่นกจะต้องเตรียมสายโทรศัพท์ให้ว่างสำหรับเข้ารายการสด พูดคุยกับ 2 ดีเจ คือ โจ้-อัครพล ธนะวิทวิลาศ และ จุ๋ม-นพพร อุดมศักดิ์ และเมื่อ Hot Wave จัดกิจกรรมอย่าง Hotwave Music Awards ร้านน้องฯ ก็ยังเป็นสถานที่แรกๆ ที่วงนักเรียนมารับใบสมัครเป็นประจำทุกปี

เช่นเดียวกับ Fat Radio ที่ร้านน้องฯ เคยช่วยเป็นช่องทางแจกบัตรงาน Fat Festival อยู่หลายหน พี่นกจำได้ดีว่าสมัยนั้นคนหนึ่งรับบัตรได้แค่ 4 ใบ แต่มีบางคนอยากได้มากกว่านั้น เลยโดนน้องๆ ในร้านแกล้งให้ผู้มารับบัตรเกินต้องร้องเพลงของศิลปินที่อยากไปชมคอนเสิร์ต ไม่อย่างนั้นไม่ให้บัตร

ทว่าสิ่งที่เหล่าพี่น้องนาคน้อยภูมิใจสุด คือการที่ร้านน้องฯ มีส่วนได้สนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ของนักศึกษา เช่นละครเวที ทั้งช่วยประชาสัมพันธ์ เปิดพื้นที่จำหน่ายบัตร เทปหรือซีดีเพลงประกอบ รวมถึงของที่ระลึก หลายๆ ครั้งโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

“เราไม่ได้มองว่าสิ่งที่ทำเป็นธุรกิจ แต่มองว่าเป็นการเจอคนที่ชอบเหมือนเรามากกว่า เวลาเจอกันก็เหมือนรุ่นพี่รุ่นน้องคุยกัน ปรึกษาอะไรได้ เราแลกเปลี่ยนกัน บางครั้งไม่จำเป็นต้องได้เงินกลับมา เราช่วยเขา เขาก็ช่วยเรา”

อย่างไรก็ตาม กิจกรรมที่ถือเป็นหัวใจของร้านเรื่อยมาถึงปัจจุบัน คงหนีไม่พ้นการแจกลายเซ็น ถ่ายรูป มอบโปสเตอร์ และเปิดมินิคอนเสิร์ต

น้องท่าพระจันทร์ ตำนานร้านเทปยุคแรกแห่งท่าพระจันทร์ที่อยู่คู่วงการเพลงไทยมากว่า 40 ปี

จุดเริ่มต้นเกิดขึ้นช่วงที่ร้านน้องฯ ต้องย้ายข้ามฟากไปอยู่วังหลัง เนื่องจากกรมเจ้าท่าประกาศปิดท่าเรือเพื่อปรับปรุง หลังเกิดโศกนาฏกรรมโป๊ะล่มที่ท่าน้ำพรานนก เมื่อเดือนมิถุนายน 2538

การย้ายร้านครั้งนั้นส่งผลให้คนฟังเพลงกับร้านน้องฯ มีระยะห่างกันไปพอสมควร โดยเฉพาะนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และมหาวิทยาลัยศิลปากร ที่ข้ามฝั่งตามมาด้วยไม่ได้ พวกเขาจึงคิดว่าควรจัดกิจกรรมอะไรสักอย่างเพื่อดึงดูดความสนใจของคนฟังเพลง รวมทั้งเป็นช่องทางโปรโมตศิลปินอีกทาง

วงแรกๆ ที่มาร่วมคือ Nose Candy ศิลปินอินดี้สังกัดรถไฟดนตรี ซึ่งมี ไก่-ธนาวัฒน์ ส่งวัฒนา ผู้ก่อตั้งวง 2 Days Ago Kids เป็นแกนหลัก จากนั้นก็มี ROSEMARIE เจ้าของเพลงฮิต ให้ฉันทำอย่างไร และ ป้าง-นครินทร์ กิ่งศักดิ์ รวมถึงศิลปินจากค่ายกระแสรองยุคนั้น

“ตอนนั้น Sony Music ให้พี่ป้างมาแจกลายเซ็นที่ร้าน จำได้ว่าวันนั้นรถติดมาก ด้วยความเป็นคนรับผิดชอบเรื่องเวลามาก พี่ป้างเลยนั่งมอเตอร์ไซค์มาเเล้วข้ามเรือ ให้ทันเวลาสี่โมงเย็นที่นัดกันไว้ สุดยอดมาก เราก็เลยรู้สึกว่าควรจัดกิจกรรมแบบนี้บ่อยๆ ขณะเดียวกัน หลาย ๆ ค่ายก็มองเห็นตรงนี้เหมือนกับเรา

“อย่าง Bakery Music ก็เริ่มสนใจทำเหมือนกัน เขาได้ใกล้ชิดคนฟังเพลงด้วย ก็เลยไปต่อได้เรื่อยๆ ส่วนใหญ่ศิลปินที่ทำกิจกรรมแบบนี้เป็นวงอินดี้ เริ่มต้นจากเล็กๆ กันก่อน”

กิจกรรมนี้ยังจัดต่อเนื่องมาถึงยุคที่ร้านน้องฯ ย้ายร้านกลับมาอยู่ฝั่งพระนคร โดยพี่หน่อยได้พื้นที่ตึกแถวริมถนนฝั่งท่ามหาราช ตรงข้ามวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร และเมื่อท่าเรือถูกซ่อมแซมเสร็จเรียบร้อย พวกเขาก็กลับมาเปิดร้านที่เดิมอีกครั้ง จึงเท่ากับว่าร้านน้องฯ มี 2 สาขา คือสาขาท่ามหาราชและสาขาท่าพระจันทร์

“ตอนที่ขยายเป็นสองร้าน เราตัดสินใจเลิกทำเสื้อผ้า เพราะอยากให้คุณแม่ได้พักผ่อน เนื่องจากตอนนั้นเราไปเปิดร้านขายส่งที่ใบหยกแล้วเหนื่อยมาก พี่เองก็ต้องวิ่งไปมาระหว่างร้านเทปกับร้านเสื้อผ้า ส่วนพี่สาวก็เริ่มมีครอบครัว ต้องมีเวลาพักผ่อนบ้าง ที่สำคัญคือ พอปรับปรุงร้านเสร็จ พื้นที่ไม่พอ เพราะเริ่มเป็นยุคของแผ่นซีดีแล้ว ต้องใช้พื้นที่โชว์มากกว่า แล้วตอนนั้นธุรกิจก็บูมมาก คนหันมาฟังเพลงกันเยอะ ศิลปินก็ผลิตผลงานมากขึ้น ใครทำเพลงอะไรออกมา เราก็ช่วยขาย

น้องท่าพระจันทร์ ตำนานร้านเทปยุคแรกแห่งท่าพระจันทร์ที่อยู่คู่วงการเพลงไทยมากว่า 40 ปี

“จำได้ว่าช่วงที่เรากลับมาเปิดร้านฝั่งนี้ใหม่ๆ มีศิลปินมาแสดงความยินดี มาอวยพรเยอะมาก อย่างวง Soul After Six มาทั้งวง ตอนนั้นเขาอาจคิดว่าเราเปิดร้านใหม่คงมีพื้นที่เยอะ เลยใส่ชุดหล่อมา แต่เราก็ยังเป็นร้านเล็กๆ อยู่แบบอบอุ่น แล้วก็มี Audy ที่คนมาเยอะมาก ถึงขั้นเดินเข้าร้านตัวเองไม่ได้ มาตอนหลังจึงเริ่มมีศิลปิน Grammy เข้ามาบ้าง เช่น สุเมธแอนด์เดอะปั๋ง Bodyslam หรือ CLASH”

แต่เหตุการณ์ที่ถือเป็นปรากฏการณ์คือ ตอนที่วง H ออกอัลบั้ม Project H ทีมงานนำรถตู้มา แล้วใช้พื้นที่ลานด้านหน้าธรรมศาสตร์เป็นลานคนดู โดยสามสาวร้องเพลงอยู่บนหลังคารถ การแสดงครั้งนั้นกลายเป็นกระแสโด่งดังไปทั่ว หรือตอนที่ Buddha Bless มาเล่นเปิดอัลบั้ม ก็ร้องและเต้นจัดเต็มจนได้แฟนเพลงใหม่ๆ ไปเพียบ 

หากแต่การใช้พื้นที่ลานด้านหน้าไม่สะดวกนัก เพราะต้องประสานงานหลายฝ่ายเพื่อขอใช้เสียง บางครั้งก็มีผู้ชมจำนวนมากจนส่งผลกระทบกับพ่อค้าแม่ค้าบริเวณนั้น ภายหลังทางร้านตัดสินใจจัดกิจกรรมในร้านแทน ส่วนใหญ่จะไปจัดที่สาขาท่ามหาราช แล้วแวะมาแจกลายเซ็นที่สาขาท่าพระจันทร์ เพื่อให้ลูกค้ารู้ว่า 2 สาขาอยู่ใกล้กัน

แม้ทุกวันนี้สาขาท่ามหาราชจะไม่มีแล้ว แต่กิจกรรมต่างๆ ไม่เคยหายไปไหน พี่นกบอกว่า ถ้ามีโอกาสก็อยากจัดงานให้ถี่ขึ้น เพราะทุกวันนี้มีเด็กรุ่นใหม่ฝีมือทำเพลงดีๆ เกิดขึ้นเต็มไปหมด และทุกคนก็คงอยากเผยแพร่ผลงานไปสู่วงกว้าง ซึ่งร้านน้องฯ ยินดีเป็นสะพานให้ แต่มีข้อแม้อย่างเดียวคือ ต้องผลิตผลงานเป็นเทป แผ่นซีดี หรือแผ่นเสียง ออกมา

“เราคิดว่าคนที่มาชมควรได้ของที่ระลึกกลับไป คิดเล่นๆ เขาทำเพลงใส่ทัมไดรฟ์หรือลงยูทูบอย่างเดียว พอมาเจอหน้ากันจะให้เซ็นชื่อในยูทูบเหรอ มันควรเป็นสิ่งที่จับต้องได้ เพราะคุณมาดูเขาแล้ว ได้ชื่นชมเขาแล้ว ควรได้อะไรกลับไปด้วย คุณต้องกล้าพอที่จะผลิตผลงานให้คนฟังเขาเสพได้” พี่นกย้ำความเชื่อของตัวเอง

น้องท่าพระจันทร์ ตำนานร้านเทปยุคแรกแห่งท่าพระจันทร์ที่อยู่คู่วงการเพลงไทยมากว่า 40 ปี
น้องท่าพระจันทร์ ตำนานร้านเทปยุคแรกแห่งท่าพระจันทร์ที่อยู่คู่วงการเพลงไทยมากว่า 40 ปี

3

40 ปีที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง

ช่วงสิบปีกว่ามานี้ต้องยอมรับว่าวงการเพลงบ้านเราเปลี่ยนไปพอสมควร ทั้งอุตสาหกรรมการผลิต รูปแบบการฟังเพลง หรือแม้แต่จำนวนร้านขายซีดี แผ่นเสียง ที่นับวันจะยิ่งน้อยลงเรื่อยๆ แม้แต่ร้านน้องฯ เองยังต้องเผชิญปัญหาไม่แพ้กัน แต่พวกเขาก็ยังหยัดยืน และรับมือกับอุปสรรคที่เข้ามาอย่างต่อเนื่อง 

พี่นกมองว่าเหตุผลหนึ่งคงมาจากฐานความคิดตั้งแต่เปิดร้าน เพราะสินค้าที่สั่งเข้ามา ล้วนแต่เป็นสิ่งที่เขาชอบ ฉะนั้น ต่อให้ไม่มีคนซื้อก็ไม่เป็นไร อย่างน้อยๆ เก็บไว้ฟังเองก็ได้

น้องท่าพระจันทร์ ตำนานร้านเทปยุคแรกแห่งท่าพระจันทร์ที่อยู่คู่วงการเพลงไทยมากว่า 40 ปี
น้องท่าพระจันทร์ ตำนานร้านเทปยุคแรกแห่งท่าพระจันทร์ที่อยู่คู่วงการเพลงไทยมากว่า 40 ปี

แต่มีบางครั้งที่ต้องกลับมาถามตัวเองว่า สิ่งที่ทำอยู่นั้นทำไปเพื่ออะไร เช่นเมื่อปี 2551 พี่นกเปิดสาขาใหม่ที่เซ็นทรัลเวิลด์ตามคำชักชวนของรุ่นน้องที่สนิทกัน เวลานั้นเขาตั้งใจให้ที่นี่เป็นร้านต้นแบบเพื่อขยายแฟรนไชส์ จึงทุ่มเทพลัง ทั้งการวางระบบ การออกแบบร้าน รวมทั้งตามพี่ๆ ให้มาช่วยดูแลร้านด้วย

แต่ร้านนี้อยู่ได้ไม่นานนัก หลังเกิดเหตุวุ่นวายทางการเมืองห้างต้องปิดให้บริการ พี่นกจึงกลับมาตกผลึกว่าบางทีการขยายร้านมากๆ อาจไม่ใช่อนาคตที่อยากเห็น เมื่อเทียบกับการรักษามาตรฐานของร้าน

“เราคิดแบบโง่ๆ ว่าถ้ามีหลายๆ ร้าน ก็น่าจะได้กำไรเยอะขึ้น แต่ลืมคิดว่าพอมีหลายๆ ร้านก็ต้องมีสินค้ามากขึ้นเหมือนกัน แล้วจริงๆ เราเองก็ไม่ใช่คนกินเยอะ แถมช่วงนั้นต้องบอกเลยว่าเหนื่อยมาก ทั้งหาสินค้าเข้าร้าน หรือตามดูทีมงานที่ส่งเข้าไปช่วยพี่หน่อยหรือพี่น้องว่าคุณภาพเหมือนที่ท่าพระจันทร์หรือเปล่า เพราะพี่สองคนใจดี อาจไม่ดุแบบเรา พอห้างกลับมาเปิดเราก็เลยมาคิดว่าไม่เห็นจำเป็นต้องมีหลายสาขาเลย ทำแค่นี้ให้ดีที่สุดก็พอแล้ว”

อีกครั้งหนึ่งเกิดขึ้นเมื่อร้านประสบภัยน้ำท่วม จนนำไปสู่การประกาศปิดท่าเรือเพื่อปรับปรุง พี่นกเล่าว่า ถึงจะได้หยุดพักเต็มที่ แต่กลับไม่มีความสุขเลย เพราะรู้สึกไม่ต่างจากคนที่ใกล้หมดสภาพ วันๆ ไม่ทำอะไร กระทั่งคุณแม่ต้องบอกให้กลับไปทำงาน เขาจึงลองหาสถานที่ตั้งร้านชั่วคราวจนได้เจอกับ The Crystal Park ห้างเปิดใหม่ที่อยู่ใกล้บ้าน แล้วเป็นห้างแรกๆ ที่นำสุนัขมาเดินเล่นได้ด้วย

น้องท่าพระจันทร์ ตำนานร้านเทปยุคแรกแห่งท่าพระจันทร์ที่อยู่คู่วงการเพลงไทยมากว่า 40 ปี

แม้ยอดขายที่ร้านใหม่จะดีไม่แพ้ร้านเก่า แต่สิ่งหนึ่งที่ขาดหายไปคือ ชีวิตชีวา เนื่องจากลูกค้าส่วนใหญ่เป็นผู้ใหญ่และคนในหมู่บ้านที่มีกำลังซื้อมาก ไม่ใช่เด็กวัยรุ่นหรือนักศึกษา ทำให้ไม่มีโอกาสพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นเรื่องเพลงสักเท่าใด ระหว่างนั้นพี่นกก็มาได้พื้นที่ตรงตลาดนัดรถไฟ จตุจักร เพิ่มเติม เปิดทุกวันศุกร์-อาทิตย์ จึงกลับมาจัดกิจกรรมสนุกๆ อย่างมินิคอนเสิร์ตอีกครั้ง

หลังเปิดร้านได้ 2 ปีกว่า ทางท่าเรือท่าพระจันทร์แจ้งกลับว่า พื้นที่พร้อมใช้งานแล้ว เป็นจังหวะเดียวกับที่สัญญาของ The Crystal Park ใกล้หมด และตลาดนัดมีเรื่องให้ต้องหยุดขายทั้งตลาด เขาเลยโยกย้ายทีมงานกลับมาที่เดิม

หากแต่ไม่มีโจทย์ไหนที่ท้าทายเท่ากับอุตสาหกรรมการผลิตเพลงไทยที่เปลี่ยนไป จากที่เคยมีสินค้าใหม่เข้าร้านทุกวันอังคารและพฤหัสบดี กลับเหลือเพียง 1 – 2 เดือนต่อชุด

แต่พี่นกไม่เคยท้อ ด้วยเชื่อว่าลูกค้าตัวจริงที่เสพงานจากสื่อที่จับต้องได้ยังมีอยู่ ขณะเดียวกันก็ปรับเปลี่ยนธุรกิจให้สอดคล้องกับตลาดมากขึ้น ทั้งการเปิดตลาดแผ่นเสียงและนำเครื่องเล่นแผ่นเสียงเข้ามาจำหน่ายในร้าน รวมถึงนำเข้าผลงานดีๆ จากต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งนับว่าเป็นความโชคดี เพราะหลังจากพี่น้องตัดสินใจวางมือไปเมื่อสิบกว่าปีก่อน พี่นกก็ได้เพื่อนสนิทอย่าง พี่ก้อย-ณัฏฐ์ชัญญา บวรพิบูลชัย ซึ่งชำนาญเรื่องภาษามาช่วยดูแลงาน ตลอดจนคอยประสานและเลือกสินค้าจากต่างประเทศเข้าร้าน

น้องท่าพระจันทร์ ตำนานร้านเทปยุคแรกแห่งท่าพระจันทร์ที่อยู่คู่วงการเพลงไทยมากว่า 40 ปี

“ทุกวันนี้เราต้องทำการบ้านเยอะขึ้น เพราะเราอาศัยเพลงไทยจากค่ายหลักๆ ไม่ได้แล้ว จึงต้องสั่งแผ่นอิมพอร์ตเข้ามามากขึ้น มีทั้งแผ่นจากยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น ขึ้นอยู่กับลูกค้าว่าอยากได้แบบไหน แต่เราก็พยายามสั่งสินค้าที่ลูกค้าเราจับต้องได้ง่ายขึ้น เช่นแผ่นจากอเมริกาอาจมีให้เลือกเยอะกว่า เราก็เลือกแผ่นอเมริกา หรือในญี่ปุ่นมีวงที่ในอเมริกาไม่มี”

แต่ถึงจะมีสินค้าจากต่างประเทศมากขึ้น ร้านน้องฯ ก็ไม่เคยทิ้งวงการเพลงไทย ยืนยันได้จากการเปิดสาขาที่ช่างชุ่ย เพราะหวังให้เด็กรุ่นใหม่มีพื้นที่แสดงทักษะทางดนตรีเพิ่มขึ้น

“เรายังรู้สึกสนุก สนุกที่ได้เจอเด็กใหม่ๆ ที่เก่งมากๆ ส่วนตัวเชื่อว่าวงการนี้ยังไปต่อได้ แต่สิ่งสำคัญคือวิธีคิด เพราะสมัยก่อนมีนายทุนผลิตแผ่นขึ้นมาขาย แต่ทุกวันนี้เด็กๆ ทำแผ่นเองได้ มันยังมีช่องทางที่เขาจะสานฝันของตัวเองได้อยู่ หากเขาทุ่มเทและตั้งใจจริง”

น้องท่าพระจันทร์ ตำนานร้านเทปยุคแรกแห่งท่าพระจันทร์ที่อยู่คู่วงการเพลงไทยมากว่า 40 ปี

4

“…จนกว่าจะหมดแรง”

“เราคงทำต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าจะขับรถไม่ไหว หรือทุกคนเรียกปู่นก เพราะต้องยอมรับว่าเพลงเป็นแฟชั่น บางทีเราอาจอัพเดตไม่ทัน แล้วลูกค้าที่เป็นวัยรุ่นจะยังเชื่อรสนิยมในการฟังเพลงของเราอยู่หรือเปล่า” พี่นกกล่าวพร้อมเสียงหัวเราะ เมื่อถามถึงก้าวต่อไปของเขากับร้านน้องฯ

แต่อนาคตเป็นสิ่งที่ไม่มีใครหยั่งรู้ได้ สำหรับชายผู้นี้แล้ว การทำทุกวันให้มีความสุขจึงสำคัญกว่า 

ปัจจุบัน พี่นกยังเดินทางออกจากบ้านเพื่อมาอยู่ที่ร้านตั้งแต่เปิดจนปิด โดยไม่เคยรู้สึกเบื่อหน่ายหรือเหน็ดเหนื่อยเลย 

“ลูกค้าหลายคนติดเรา เรามีลูกค้าหลายคนมาตั้งแต่สมัยเรียน จนทำงานแล้วก็ยังแวะเวียนมาหา บางคนมาหาทุกอาทิตย์ บางทีอาจไม่ซื้ออะไรกลับไปเลย แค่คุยกัน ดูหนังฟังเพลง คุยเรื่องสัพเพเหระ การมาอยู่ตรงนี้ก็เหมือนเรามีเพื่อน มีคนพูดคุยด้วย ยิ่งตอนนี้เรามีเฟซบุ๊ก ก็อัพเดตความเคลื่อนไหวของเพื่อนพี่น้องหลายๆ คน อย่างบางคนอาจหายไปนาน แต่เขาก็ยังฟังเพลงอยู่ เราก็มีโอกาสแลกเปลี่ยนทัศนคติการฟังกันได้”

หากแต่สิ่งที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันคือ การส่งต่อโลกของดนตรีที่หลากหลายสู่คนรุ่นถัดไป

ทุกวันนี้ร้านน้องฯ มีเด็กวัยรุ่นสับเปลี่ยนเข้ามาเป็นพนักงาน แม้แต่ละคนจะมีพื้นฐานต่างกัน บางคนเป็นนักศึกษาวิศวะ บางคนเรียนเอกภาษา และอีกไม่น้อยที่จบสายดนตรีมาโดยตรง แต่สิ่งหนึ่งที่พวกเขามีร่วมกันคือ ความรักในเสียงเพลง และอยากส่งต่อสิ่งดีๆ ไปสู่กลุ่มผู้ฟังอีกมากมาย

น้องท่าพระจันทร์ ตำนานร้านเทปยุคแรกแห่งท่าพระจันทร์ที่อยู่คู่วงการเพลงไทยมากว่า 40 ปี

“เวลารับพนักงาน เรามีการทดสอบก่อน เพื่อเช็กว่าเขารู้เรื่องเพลงมากน้อยแค่ไหน จากนั้นก็ให้ทดลองงาน 3 – 5 วัน เพื่อดูหน่วยก้าน ซึ่งคนเก่งมากๆ อาจขายของไม่ได้เลย เราก็ไม่เอา เราต้องการคนที่มีมนุษยสัมพันธ์ดี และใจเปิดกว้างรับสิ่งใหม่ๆ ถ้าฟังแต่เดธเมทัล แต่ไม่ฟังป๊อปเลย ก็ไม่ใช่ ทุกคนต้องฟังได้ทุกอย่าง ส่วนจะชอบมากชอบน้อยอีกเรื่องหนึ่ง

“ที่ผ่านมา น้องๆ เหล่านี้ช่วยเราได้มาก อย่างล่าสุดก็มีน้องคนหนึ่งมาบอกว่า เขาดูหนังเรื่องหนึ่งมา มีศิลปินเกาหลีที่ร้องเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งดีมากเลย เราควรหาอัลบั้มนี้มาขาย ซึ่งเรื่องแบบนี้แหละที่จะช่วยให้เรายังอยู่ได้ต่อไป”

และทั้งหมดนี้คือตำนานบทเล็กๆ ของร้านเพลงแห่งท่าพระจันทร์ หนึ่งในฟันเฟืองสำคัญที่อยู่คู่กระแสวัยรุ่นและวัฒนธรรมดนตรีไทยมานาน 40 ปี

น้องท่าพระจันทร์ ตำนานร้านเทปยุคแรกแห่งท่าพระจันทร์ที่อยู่คู่วงการเพลงไทยมากว่า 40 ปี

ข้อมูลประกอบการเขียน

  • สัมภาษณ์คุณอนุชา นาคน้อย วันที่ 19 กันยายน 2562
  • Facebook : Nong Taprachan
  • รายการคนค้นแมว Cat Radio วันที่ 23 กรกฎาคม 2557
  • นิตยสาร Make Money ปีที่ 6 ฉบับที่ 64 เดือนมกราคม 2548
  • หนังสือ ซึงสุดท้าย โดย จรัล มโนเพ็ชร

Writer & Photographer

Avatar

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา

เพจเล่าเรื่องที่เชื่อว่าคนธรรมดาทุกคนต่างมีความเป็นยอดมนุษย์อยู่ในตัว