01
มนุษย์ส่งจรวดไปถึงดวงจันทร์ได้แล้ว ยังต้องการอะไรอีก
หลายคนพูดถึงโลกใหม่หลังโรค COVID-19 ว่า เด็กๆ ของพวกเราจะเติบโตอย่างไรต่อไปจากนี้
ถ้าโลกยังต้องการระยะห่างทางสังคมและการเรียนทางไกล หลายคนว่าต้องสร้างทักษะใหม่
แล้วทักษะใหม่ที่ว่านั้น เน้นไปทางการใช้เทคโนโลยีอยู่ร่วมกันมากขึ้น
แต่สำหรับเรากลับคิดว่า นั่นอาจเป็นเพียงคำตอบด้านเดียวที่ยังห่างไกลจากชีวิตที่ควรจะเป็น
ทักษะใหม่ที่เด็กๆ ของเราต้องการ คืออยู่กับธรรมชาติให้มากขึ้น และมากขึ้น
ยิ่งมนุษย์สามารถผลิตเทคโนโลยีได้ล้ำลึกและไกลมากเท่าไหร่ แม้จะส่งจรวดไปถึงดวงจันทร์ได้แล้วก็ตาม แต่มนุษย์ก็ยังต้องการการเชื่อมโยงกับธรรมชาติมากขึ้นทบทวีคูณ
พิสูจน์ได้ง่ายๆ เลยว่า ในความทรงจำของมนุษย์ที่มีความสุขละเอียด คือการได้อยู่กับธรรมชาติ ไม่ใช่อยู่กับเทคโนโลยี
02
กว่าจะถึงอนุบาลก็สายเสียแล้ว
‘Nature Kinder’ โรงเรียนอนุบาลในป่าที่ ครูอูบุก (David Ubuk Kisling) ตั้งขึ้นในเมืองกลาส ประเทศออสเตรีย ทวีปยุโรป มาจากประสบการณ์ที่เขาเคยทำงานด้านแก้ปัญหาสังคมกับผู้ใหญ่ แล้วพบว่าปัญหาติดยา ก่ออาชญากรรม วางแผนชีวิตไม่เป็น ไม่มีความคิดสร้างสรรค์ ไม่มีวินัยในตัวเอง ล้วนมาจากผู้ใหญ่ที่เติบโตอย่างไม่ได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขที่แท้จริง
ครูอูบุกจึงตัดสินใจกลับมาป้องกันที่ต้นเหตุ ทำงานกับเด็กเล็กเพื่อให้เขาเติบโตอย่างมีความสุข
ครูอูบุกบอกกับเราว่า ชาวเมืองกลาสรอโรงเรียนอนุบาลในป่าแบบนี้มานานแล้ว โรงเรียนแบบนี้เป็นที่แพร่หลายในทวีปยุโรปและทวีปอเมริกาในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ทางเทศบาลเมืองก็ช่วยอุดหนุนงบประมาณเป็นอย่างดี และตั้งกฎเพียงข้อเดียวว่า เด็กๆ ต้องอยู่ในอาคารเรียนอย่างน้อย 1 วันต่อสัปดาห์

ใช่! โรงเรียนเล็กในป่าใหญ่แห่งนี้ เด็กๆ จะได้อยู่ในป่าตลอดทั้งวัน ทั้งปี ไม่ว่าอากาศจะหนาว ร้อน ฝน หิมะตก
และได้เล่นอย่างที่เขาอยากจะเล่นโดยไม่มีคำว่ามากไป เพราะหน้าที่ของเด็กคือการเล่น

03
ดูแลตัวเองได้ก็จะดูแลคนอื่นเป็น
เช้าแรกของเราที่โรงเรียนในป่าเริ่มที่อาคารเรียน เพราะวันนั้นเป็นวันศุกร์ เพียงวันเดียวเท่านั้นที่เด็กๆ ต้องเริ่มเรียนในอาคารตามที่รัฐขอมา
และแค่เป็นการให้เด็กๆ ได้โฮมรูม เพื่อเช็กอินว่าแต่ละคนรู้สึกอย่างไรบ้างในวันนั้น แล้วก็จัดแจงเตรียมตัวออกไปในป่า การเตรียมตัวดูเหมือนเป็นเรื่องจะเล็กก็ไม่ใช่จะใหญ่ก็ไม่เชิง เด็กๆ ใช้เวลาสักครึ่งชั่วโมงจัดของลงกระเป๋า ใส่เสื้อกันหนาว กลัดกระดุม รูดซิปเสื้อ สวมรองเท้า สะพายกระเป๋า แต่ครูก็ไม่ได้เข้าไปจัดการใดๆ ปล่อยให้เด็กๆ ได้ทำกันเอง
การเดินทางไปในป่าต้องเดินเป็นคู่เพื่อช่วยดูแลกัน ฟิลิกส์ (Felix Servatius) วัย 6 ขวบ ลูกชายของน้องสาวเพื่อนเรา มากระซิบบอกเราว่า เขาจะเป็นบัดดี้ให้เรา ดูแลเราไปจนถึงป่าเอง เขาจับมือเราแน่นและบอกว่าเราต้องข้ามถนนถึง 2 เส้น เวลาจะข้ามถนนต้องมองซ้ายมองขวา เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีรถแล้ว ค่อยมองไปที่ครูและบอกว่าข้ามได้แล้ว จึงจะข้ามได้จริงๆ

ระยะทางจากอาคารเรียนไปป่าไม่น่าจะเกิน 3 กิโลเมตร เด็กๆ ก็เลี้ยวไปเลี้ยวมา แวะนั่นแวะนี่ เข้าใจแล้วว่าทำไมต้องมีบัดดี้คอยดึงกันไว้
ระหว่างทาง เด็กๆ ทุกคนตะลึงกับสิ่งที่พวกเขาเห็นเมื่อปีนข้ามเนินเขาขึ้นไป รถแทร็กเตอร์กำลังขนท่อนไม้ที่ถูกตัดเป็นกองๆ

ฟิลิกส์ถึงกับน้ำตาซึมและก็โมโหในทีเดียวกัน เด็กน้อยชี้ให้เราดูว่า ตอไม้ตรงนั้นเคยมีชิงช้าแขวนไว้ และเด็กๆ จะได้เล่นชิงช้านี้ก่อนเดินไปถึงประตูป่าของพวกเขา
เขาเดินวน ข้ามไปข้ามมาบนตอไม้นั้น ราวกับจะกล่าวคำอาลัย และไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรดี
เรารอดูว่าครูจะคุยกับเด็กๆ อย่างไรในสถานการณ์สดร้อนขนาดนี้
ครูอูบุกบอกเด็กว่า “เราต้องเข้าใจชีวิตของชาวบ้านแถวนี้ อาชีพเขาคือปลูกต้นไม้เพื่อตัดขาย ใช้ทำบ้านเลี้ยงครอบครัวของเขา ที่ผ่านมาเราได้อาศัยร่มเงาและกิ่งก้านเล่นชิงช้าจากป่าปลูกของลุงคนนี้ เราต้องขอบคุณคุณลุงด้วยซ้ำไป”

04
เปิดประตูโรงเรียนในป่า
ถึงแล้ว! หน้าตาของโรงเรียนเล็กในป่าใหญ่ของฟิลิกส์เป็นแบบนี้นี่เอง ฟิลิกส์ปล่อยมือเราแล้วบอกว่า ยินดีต้อนรับสู่โรงเรียนของเขา ต่อนี้ไปเราอยู่ในเขตปลอดภัยแล้ว ไม่มีประตู ไม่มีกำแพง เราเห็นเนินเขาที่มีแต่ต้นไม้ขึ้นสูงเต็มไปหมด เห็นเพิงหมาแหงนอยู่กลางเนินเขา มีปล่องควันลอยอุ่นๆ ขึ้นมา เด็กๆ เดินไปในเพิงนั้นแล้วก็วางกระเป๋าของตัวเอง แล้วจัดแจงไปมุมต่างๆ ของเนินเขานั้นด้วยตัวเอง

บางคนตรงไปที่ผนังอุปกรณ์ช่าง จอบ เสียม เลื่อย มีด ค้อน ครบ เด็กคนหนึ่งหยิบเลื่อยเล็กๆ ออกมา แล้วไปเลื่อยกิ่งไม้ที่สุมไว้ มาทำเป็นบ้านของเขา บางคนตรงไปที่รถเข็นสองล้อ เข็นขึ้นลงเนินเขา เก็บเศษไม้ เก็บก้อนหินไปสร้างอะไรของเขาก็ไม่รู้
บางคนก็ปีนต้นไม้ เล่นชิงช้าซึ่งทำจากเชือกที่ยืดหยุ่นกับต้นไม้ บางคนก็เอากระดานเซิร์ฟบอร์ดมาไถลเล่นลงเนินเขา

บางคนก็เข็นขอนไม้ใหญ่มากๆ ขึ้นเขา บางคนเดินเก็บเปลือกหอย เก็บลูกไม้ไปใส่ไว้ในพิพิธภัณฑ์ของโรงเรียน
บอกได้เลยว่าเป็นภาพที่ตื่นตาไปหมดสำหรับเรา เด็กๆ รับผิดชอบความบันเทิงของตัวเองได้อย่างดีเยี่ยม
ครูแทบไม่ต้องกำกับอะไรเลย เด็กๆ รู้หน้าที่ของพวกเขา เล่นกันอย่างจริงจัง จินตนาการล้านแปดเกิดขึ้นในป่านั้น

ไม่มีเวลาทานอาหารกลางวัน ใครหิวก็เข้าไปหยิบกล่องอาหารกลางวันของตัวเองออกมากิน โดยไม่ต้องบอกใครไม่ต้องขออนุญาตครู
ใครหนาวก็เข้ามาในเพิง เอามือเอาหน้ามาอิงกับปล่องไฟ
ใครเหนื่อย อยากพัก ก็มานั่งห่มผ้าห่มหยิบหนังสือ กระดาษมาระบายสีในมุมอุ่นๆ ในเพิงเรียน

05
ล้มเร็วลุกเร็ว
สิ่งที่เราบอกให้ตากล้องคอยจับภาพไว้ นอกจากความสนุกสนาน ความบันเทิงที่เด็กๆ สร้างสรรค์กันเอง ก็คือตอนเด็กๆ ล้มลุกคลุกคลาน ร้องไห้ งอแง มันต้องมีแน่ๆ ฉากพวกนี้ไม่ให้พลาด และไม่ให้เข้าไปแทรกแซง ไม่ช่วยเด็ก ถ้าไม่ถึงกับเลือดตกยางออก เด็กคนหนึ่งเล่นชิงช้าหน้ากล้อง แล้วชิงช้าก็พันตัวเองจนล้ม เขามองมาที่เรา เราไม่ทำอะไร ยังจ่อกล้องเอาไว้ เด็กก็ลุกขึ้นมาเอง แกะผ้าชิงช้าออกแล้วเล่นต่อไป หล่นจากชิงช้าอีกครั้งก็ลุกขึ้นปัดกางเกงแล้วก็เล่นต่อ

กลุ่มเด็กผู้ชาย 3 คนเริ่มมีปัญหาเสียงดัง แย่งกันเล่นชิงช้า ครูอูบุกไม่รอช้า ควักนาฬิกาทรายออกมา แล้วก็บอกเด็กๆ ว่า นาฬิทรายมีไว้เพื่อให้เวลาคนเราเท่าๆ กัน เหมือนที่ทุกคนมีสิทธิ์ได้เล่นชิงช้าเท่าเทียมกันทุกคน แต่ต้องมีกติกากำกับ เมื่อนาฬิกาถูกพลิกเพราะทรายไหลลงหมดแล้ว หมายความว่าเด็กคนนั้นได้ใช้สิทธิ์และเวลาเล่นชิงช้าของตัวเองหมดแล้ว เขาต้องมาทำหน้าที่เป็นผู้พลิกนาฬิกาทรายคนต่อไป เพียงเท่านี้ปัญหาก็หมดไป เด็กได้เรียนรู้และสนุก
บ่อยครั้งมากเลยที่ครูไทยพาเด็กมาเรียนที่บ้านสวนศิลป์บินสิของเรา แล้วเด็กมีปัญหาแย่งกันเล่นชิงช้า วิธีแก้ปัญหาง่ายๆ ที่ครูมักจะทำก็คือ เก็บชิงช้าไปเลย ห้ามเล่น แทนที่จะใช้สถานการณ์นี้เป็นโอกาสเรียนรู้จัดการกับความขัดแย้งของเด็กๆ และสร้างกติกาการเล่นของพวกเขาขึ้นมาเอง

ใช่ว่าครูๆ จะสบาย ที่โรงเรียนนี้มีครูอยู่ 3 คน เด็กประมาณสิบกว่าคน ครูแต่ละคนหูตาเป็นสับปะรด
ขนาดเราจะขอสัมภาษณ์ ครูอูบุกยังบอกว่าขอเป็นเวลานอกโรงเรียนดีกว่า
ถามว่า ทำไมครูต้องจดจ้องกับเด็กๆ มากขนาดนั้น เหมือนจะไม่ระวังแต่ก็ระวัง แต่เราก็ไม่ได้รู้สึกว่าครูเขาระแวงหรือกลัวอะไรนะ
ครูอูบุกบอกกับเราว่า สิ่งที่เขาต้องดูเด็กๆ มี 2 เรื่อง

หนึ่ง Physical Pain บาดแผลทางกาย เป็นไปได้ว่าเด็กเล็กๆ จะเกิดอุบัติเหตุลื่นล้มตกต้นไม้ได้ แต่สิ่งที่พวกเขาต้องดูไม่ใช่เพื่อรีบเข้าไปประคบประหงม เยียวยา แต่เป็นการคอยสังเกตว่า การล้มของเด็กแต่ละครั้ง เขาลุกเองได้เร็วขึ้นหรือเปล่า มีพัฒนาการในการลุกไหม เมื่อเขาล้ม เขาลื่น เขาเจ็บ เขามองหาคนอื่นให้ช่วยดูแลหรือดูแลตัวเองก่อน

สอง Emotion Pain บาดแผลทางอารมณ์ เช่น เกิดความขัดแย้งกันระหว่างเด็กๆ ครูจะเข้าไปช่วยสร้างความเข้าใจในความขัดแย้งนั้นอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดอารมณ์ด้านลบพอกพูนกลับไปบูดเน่าถึงที่บ้าน บาดแผลทางอารมณ์นี้จะเป็นปมลึกฝังไว้ในตัวเด็กๆ จนเติบโต หากไม่ได้รับการคลี่คลายออกมาเนิ่นๆ ส่งผลให้เด็กกลายเป็นผู้ใหญ่ที่มีสภาวะอารมณ์ที่ไม่มั่นคง
06
ครอบครัวที่ส่งลูกไปเรียนโรงเรียนเล็กในป่า
ครอบครัวแบบไหนนะ ที่จะส่งลูกไปเรียนโรงเรียนอนุบาลในป่า แทนที่จะให้ลูกเรียนเขียนอ่าน เอบีซีดีพัฒนาความเป็นเลิศทางวิชาการตั้งแต่เล็กที่สุดเท่าที่จะเล็กได้
เป็นเรื่องบังเอิญที่เราได้ยินบทสนทนาของครูบ้านต้นไม้ของเราบอกว่า น้องสาวของเขาที่ออสเตรีย ส่งลูกไปเรียนโรงเรียนอนุบาลในป่าแล้วได้วิ่งเล่นทั้งวัน เราติดต่อไปหา เออร์ม่า (Urma Servatius) ที่เมืองกลาส ประเทศออสเตรียทันทีว่าขอให้เราไปถ่ายทำรายการ บินสิ! (ติดตามได้ทางช่องไทยพีบีเอส กลางกรกฎาคมนี้) ในครอบครัวของเธอและที่โรงเรียนได้หรือเปล่า เออร์ม่าขอคุยกับครูและนักเรียนอื่นๆ ก่อน ในเวลาเพียงหนึ่งสัปดาห์เราก็ได้รับคำตอบและบินไปถ่ายทำทันทีที่ได้รับวีซ่าเชงเก้น
7 โมงเช้าวันแรกที่บ้านของเออร์ม่า เธอขี่จักรยานไปเอารถของเพื่อนบ้าน และรับลูกสาวของเพื่อนบ้านมาด้วย 2 คน เออร์ม่ามีลูกชาย 3 คนที่ไปเรียนอนุบาลที่โรงเรียนในป่า 2 คนโตเรียนจบอนุบาลและเข้าเรียนโรงเรียนในเมืองแล้ว แต่คนเล็ก ฟิลิกส์ อายุ 6 ขวบ ยังเรียนอยู่ที่นั่น เพราะโรงเรียนอนุบาลในป่ารับเฉพาะเด็กวัย 3 – 6 ขวบเท่านั้น
เออร์ม่าพบว่าระบบการศึกษาระดับปฐมวัยในกระแสหลักไม่สอดคล้องกับพัฒนาการของเด็กเล็กอย่างลูกชายของเธอ 2 คนแรก เคยเรียนในโรงเรียนอนุบาลทั่วไป ต้องนั่งเรียนเขียนอ่านอยู่ในห้องเรียนทั้งวัน พอกลับบ้านมามักจะมีปัญหา มีพลังเหลือเฟือที่ยากจะจัดการ เมื่อเธอพบว่าโรงเรียนอนุบาลในป่าให้เด็กๆ อยู่ข้างนอกทั้งวันและเล่นทั้้งวัน นั่นเป็นสิ่งที่ทำให้เธอคิดว่าทำให้เด็กๆ ของเธอได้ปลดปล่อยจินตนาการ และได้รับแรงบันดาลใจจากธรรมชาติ

เออร์ม่ามีลูก 3 คน เธอไม่มีรถยนต์ แต่ส่งลูกไปโรงเรียนในป่าที่อยู่ไกลออกไปจากเมือง เพราะชุมชนที่เธออยู่นั้นมีระบบการช่วยเหลือกันและกัน ผลัดเวรกันไปส่งลูกไปโรงเรียน โดยไม่ต้องขับรถคนเดียว ถ้าเออร์ม่าไม่มีรถ เธอก็เป็นคนขับรถไปรับส่งเด็กๆ ในละแวกนั้นไปโรงเรียนด้วยกันได้ และเมืองนี้ก็เป็นเมืองที่มีระบบขนส่งสาธารณะที่เอื้อกับความเป็นอยู่ของผู้คนอย่างเป็นมิตรกับธรรมชาติ มีเลนจักรยานที่ใหญ่กว่าเลนขับรถยนต์
ภาพที่เรามักเห็นตอนที่พ่อแม่ไปส่งลูกๆ ไปเรียนโรงเรียนอนุบาลไทย คือเด็กๆ จะงอแงร้องไห้ตามพ่อแม่กลับบ้าน
แต่ที่นี่เออร์ม่า บอกว่าเราจะไม่ได้เห็นภาพนั้น ที่นี่ให้พ่อแม่ไปอยู่กับเด็กในช่วงแรกๆ ที่ไปเรียน ไปสังเกตอยู่ห่างๆ ในที่นั่งของพ่อแม่ รอวันที่ลูกๆ พร้อมจะบอกกับพ่อแม่ว่า กลับบ้านไปได้แล้วนะ พวกเขาอยู่ที่โรงเรียนเองได้
07
มนุษย์แปลกแยกกับธรรมชาติเอง
ครูอูบุกบอกว่า โรงเรียนอนุบาลในป่าแบบนี้ น่าจะเป็นโรงเรียนที่เก่าแก่ที่สุดในโลก เกิดขึ้นมาตั้งแต่โบราณ แต่เมื่อมนุษย์เริ่มสร้างสังคม ก็เริ่มสร้างห้องเรียนที่มีกำแพง มีหลังคา จับเด็กๆ ไปนั่งอยู่ในกล่องสี่เหลี่ยมนั้น แล้วก็ทำตัวเป็นปฏิปักษ์กับธรรมชาติ
การทำโรงเรียนนี้เป็นการกลับไปสู่การใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติ อยู่ที่โล่งแจ้ง ไม่ต้องมีอุปกรณ์การเรียนที่จัดหาหรือเตรียมการ เด็กๆ หาเศษไม้ กิ่งไม้ ลูกไม้ ก้อนหินมารังสรรค์เป็นของเล่นของพวกเขาเอง ทุกวันมีแต่เรื่องเล่น เรื่องสร้างสรรค์ใหม่ๆ ที่เด็กๆ ได้แรงบันดาลใจจากธรรมชาติรอบตัว

Exclusive Functions (EF) คือสมองส่วนหน้าของมนุษย์ที่จะพัฒนาในวัยเด็ก เมื่อเด็กๆ มีการเชื่อมโยงกับธรรมชาติผ่านการเล่น จินตนาการ ซึ่งจะทำให้พวกเขาเติบโตอย่างมีความคิดยืดหยุ่น ใส่ใจจดจ่อ ควบคุมอารมณ์ได้ วางแผนชีวิตเป็น ประเมินตัวเองเป็น และรู้จักการมีมนุษยสัมพันธ์กับผู้คนและสิ่งแวดล้อมรอบตัว ครูอูบุกบอกกับเราว่า แค่เราได้บ่มเพาะจิตวิญญาณอันเป็นอิสระให้กับเด็กในวัยนี้อย่างเต็มที่ เราก็ไม่ต้องกังวลเลยว่าเขาจะโตเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่รู้จักใช้ชีวิต
08
ฉันเห็นคุณ I SEE You
บ่อยครั้งไหมที่ตัวเราอยู่กับเด็ก แต่ใจเราไปคิดเรื่องอื่น ทำเหมือนหลอกเด็กไปว่าเราอยู่กับเขาตรงนั้น แต่จริงๆ ไม่ใช่ เด็กๆ รับรู้ได้
เขารู้ว่าผู้ใหญ่ฟังและเห็นเขาจริงๆ หรือเปล่า และถ้าไม่ หมายความว่า ตัวตนของเด็กๆ ไม่ได้รับการเคารพ หรือยืนยันความสำคัญ
ที่นี่เมื่อเด็กๆ เสกกิ่งไม้กิ่งหนึ่งขึ้นมาเป็นธนูของอัศวิน ครูก็จะเชื่อจริงๆ ว่านั่นคือธนูของอัศวินตัวน้อยนั้นอย่างจริงใจ และร่วมรบในสนามของเขาด้วย

พิพิธภัณฑ์ที่เด็กๆ สร้างขึ้นมา ผู้ใหญ่ที่จะเข้าไปต้องจ่ายค่าบัตร โดยการไปหาสิ่งของที่คิดว่ามีค่าในป่านั้น มาไว้ในพิพิธภัณฑ์ด้วย
เราต้องไปหาก้อนหิน ลูกสน ใบไม้ เปลือกหอยทาก ไปให้เด็กๆ ดู และอธิบายได้ว่าสิ่งเหล่านั้นมีความหมายอย่างไรกับเรา ถ้ามันก็เป็นแค่ก้อนหินธรรมดาๆ ไม่ได้มีเรื่องราวอะไร เราก็อาจจะไม่ได้รับอนุญาตเข้าไปในพิพิธภัณฑ์ของพวกเขา

โชคดีที่เราเก็บใบไม้แห้งสีม่วงได้ และเล่าเรื่องราวของใบไม้สีม่วงของเราให้เด็กๆ ฟัง พวกเด็กๆ เลยให้ผ่านด่านเข้าไปในพิพิธภัณฑ์อันศักดิ์สิทธิ์ของพวกเขาได้ ในนั้นมีสิ่งล้ำค่าของเด็กๆ อาทิเช่น ซากลอกคราบของงูที่พวกเขาเจอในป่า รากไม้ เปลือกไข่ลูกนก พร้อมเรื่องราวต่างๆ นานา
09
อย่ามองว่าเด็กเป็นลูกไก่ ในเมื่อเขามีจิตวิญญาณของลูกนก
ก่อนจากลากันประจำวัน ครูจะร้องเพลงส่งสัญญาณให้เด็กๆ เตรียมตัวให้พร้อมเก็บข้าวของ จบกิจกรรมที่ตัวเองกำลังทำอยู่ แล้วเข้ามาในเพิงเรียนด้วยกันเป็นวงกลม จากนั้นครูก็จะเดินใส่น้ำมันหอมระเหยที่ทำกันเองใส่มือเด็กๆ เพื่อให้เด็กๆ ทำความสะอาด และเปลี่ยนอารมณ์เด็กๆ ให้นิ่งขึ้น เหมือนเป็นการเตรียมพร้อมให้เด็กๆ พร้อมจอด จากนั้นครูก็จะเล่านิทานให้ฟัง วันนั้นเหมือนครูจะเตรียมนิทานเรื่องพิเศษที่เหมาะกับเรา ทีมรายการ บินสิ ที่ไปถ่ายทำจากเมืองไทย
“กาลครั้งหนึ่ง มีชาวนาคนหนึ่งเอาลูกเหยี่ยวมาเลี้ยงในกรงกับลูกไก่ แล้วก็ให้อาหารอย่างดี เพื่อที่จะเลี้ยงให้มันเชื่อง วันหนึ่งเพื่อนบ้านเดินมาบอกว่า นั่นลูกเหยี่ยวทำไมไม่ปล่อยให้เขาบิน ชาวนาบอกว่า เขาคงเลี้ยงให้เหยี่ยวนั้นเชื่องแล้ว ไม่บินไปไหนหรอก เพื่อนบ้านบอกว่า ทำไมไม่ลองปล่อยลูกเหยี่ยวบินดูล่ะ เมื่อชาวนาปล่อยลูกเหยี่ยวบินไปครั้งแรก ลูกเหยี่ยวก็บินกลับมา แต่ครั้งต่อๆ ไป เมื่อชาวนาปล่อยลูกเหยี่ยวไปสู่ท้องฟ้ากว้าง ลูกเหยี่ยวก็ไม่กลับมาที่กรงลูกไก่ของชาวนาอีกเลย”
เราที่เป็นผู้ใหญ่ก็คงต้องคิดกันเอาเองว่า อยากให้เด็กๆ ของเราเติบโตแบบลูกไก่ในกรง หรือลูกนกที่ได้บินอย่างอิสระในท้องฟ้ากว้าง
