25 มิถุนายน 2022
24 K

เมื่อปักหมุด Google Maps ไปที่ ‘ไร่กาแฟนายจันทร์ X Faffeine Cafe’

แผนที่บอกให้ขับรถจากตัวเมืองขอนแก่นตามเส้นทางไปอำเภอชุมแพ เมื่อเลี้ยวเข้ามาจากถนนหลัก เข้าสู่ทางเข้าหมู่บ้านเส้นเล็ก ๆ ก็ยังต้องขับต่อไปแบบไร้วี่แววว่าแถวนี้จะมีคาเฟ่หรือแม้แต่ไร่กาแฟตั้งอยู่ แต่ไม่นานก็ถึงหมุดหมายที่ปักไว้

ที่นี่คือไร่กาแฟนายจันทร์ ป่ายางที่มีแต่เสียงนก แมลง และใบไม้ลู่ลมตามธรรมชาติ มีคาเฟ่ดีไซน์เท่ดูโดดเด่น แต่ในขณะเดียวกันก็กลมกลืนกับสวนยางรอบ ๆ มองไปตามแนวต้นยาง เราจึงได้เห็นต้นกาแฟปลูกเป็นแนวสลับอยู่หลังคาเฟ่

เราไม่ค่อยได้ยินว่าอีสานเป็นแหล่งปลูกกาแฟ โดยเฉพาะจังหวัดขอนแก่น ไร่แห่งนี้ชื่อ ‘ไร่กาแฟนายจันทร์’ ตามชื่อเจ้าของเดิมคือผู้เป็นตา ที่ตอนนี้สละทางโลกไปบวชไม่สึก ส่วนต้นกาแฟ รวมถึงคาเฟ่เป็นของ ปอนด์-ณฐฎล มหาจันทร์ ผู้เป็นหลาน ที่รับช่วงต่อไร่นาสวนผสมหลายอย่าง รวมถึงคาเฟ่สวย ๆ กลางป่ายางที่ห่างไกลผู้คนแห่งนี้ด้วย

ไร่กาแฟนายจันทร์ X Faffeine Cafe คาเฟ่-ขอนแก่น ของสถาปนิกหนุ่มที่ปลูกกาแฟไว้ให้ตัวเองกลับบ้าน
ไร่กาแฟนายจันทร์ X Faffeine Cafe คาเฟ่-ขอนแก่น ของสถาปนิกหนุ่มที่ปลูกกาแฟไว้ให้ตัวเองกลับบ้าน

หนุ่มขอนแก่นผู้ไปทำงานเป็นสถาปนิกอยู่ที่เมืองกรุง เคยรู้จักกาแฟแค่เป็นสิ่งช่วยให้ตื่นยามต้องอดหลับอดนอนทำงาน ก้าวเข้าสู่โลกของกาแฟโดยไม่รู้ตัวหลังจากเบิกเนตรด้วยกาแฟสเปเชียลตี้ซึ่งมีรสชาติมากกว่ากาแฟที่เขารู้จัก ปอนด์วางแผนทำไร่กาแฟที่ขอนแก่นไว้ตั้งแต่เขากำลังจะเรียนจบและเริ่มฝึกงาน

คนส่วนใหญ่ที่กลับบ้านต่างจังหวัด มักจะเริ่มที่ทำคาเฟ่

แต่ปอนด์กลับเลือกเริ่มต้นตั้งแต่ทำฟาร์ม

หล่นไม่ไกลต้น

“คุณตาเป็นคนเก่งมาก สมัยก่อนเขาเลี้ยงวัวเยอะ ๆ ไว้ขาย อย่างที่เขาเรียก นายฮ้อย เรื่องการปลูกพืชหรือทำฟาร์มคุณตาก็เก่ง แถวของต้นยางที่เห็น คุณตาก็เป็นคนเอาเชือกมาวัด มาโยง วัดระยะการปลูกต้นยาง

“ผมอยู่กับคุณตามาตั้งแต่เด็ก ๆ ท่านพาไปปลูกต้นไม้ ซื้อต้นไม้มาปลูกเป็นไร่ ๆ เราก็เลยซึมซับเรื่องธรรมชาติมาจากคุณตา” ปอนด์เล่าเรื่องของนายจันทร์

“ทำงานครั้งแรกได้เงินเดือน เราก็เอาไปซื้อต้นไม้ ตอนแรกจะเอาไปซื้อกองทุน มันอาจจะได้กำไรแต่ได้เงินมาก็ใช้หมด ส่วนต้นไม้มันมีกำไรในแบบของมัน การเติบโตของมันเป็นกำไรมากกว่าที่เราวางแผนไว้ มันให้บรรยากาศด้วย การปลูกต้นไม้ให้ได้เยอะ ๆ มันยากนะ คาเฟ่หลายที่อาจมีร้านสวย ๆ แต่ไม่ได้มีต้นไม้รายล้อมจนกลายเป็นบรรยากาศแบบไร่ของเรา เว้นแต่จะมีเงินให้เขาล้อมมาหย่อน เราเชื่อเรื่องการปลูกมันขึ้นมา

“ถ้าเราล้อมต้นไม้ มันจะไม่แข็งแรงอย่างที่เห็นที่นี่ ต้องมีไม้มาคอยค้ำ คอยพยุง อีกอย่างคือเราไม่มีเงินจ้างให้เขาเอาต้นไม้มาหย่อน มาปลูก เลยคิดว่าควรปล่อยให้ต้นไม้มันโตเอง ก็เลยเลือกลงทุนโดยการปลูกต้นไม้ 

“ตอนนี้เราก็ดูว่าสิ่งที่ลงทุนไปจะให้อะไรกลับมา ก่อนที่เราจะกลับบ้านได้หรือเปล่า เพราะเราวางแผนเอาไว้ว่าจะกลับบ้านมาก่อนอายุ 30” หนุ่มวัย 29 เล่าถึงเป้าหมายที่ผลิดอกออกผล

ต้นกล้า

ก่อนจะเป็นคาเฟ่และสวนกาแฟแบบทุกวันนี้ ที่ตรงนี้เคยผ่านการปลูกพืชหลายชนิดด้วยฝีมือของตาจันทร์ผู้เป็นเหมือนเสาหลักของครอบครัว แต่เมื่อหมดห่วงเรื่องลูกหลาน ท่านก็ตัดสินใจเกษียณตัวเองไปบวช

“วันหนึ่งคุณตาก็ตัดสินใจขึ้นไปบวชบนเขา ก่อนไปบวช คุณตาบอกให้ลองนึกดูว่าที่นี่จะทำอะไรได้บ้าง”

“เมื่อก่อนลองปลูกยางกัน แต่ทุกคนไม่มีเวลาทำ พ่อก็ไปทำงานต่างประเทศ แม่ดูคนเดียวไม่ไหว ผมกับพี่สาวเรียนที่กรุงเทพฯ น้องสาวก็เรียนมหาวิทยาลัย กลายเป็นว่าไม่มีใครคอยดูแล ต้นยางเลยไม่ได้รับการดูแลที่ดี แต่ทุกครั้งที่กลับมาบ้าน เราจะมองที่นี่ว่ามันทำอะไรได้บ้าง

“ตอนเราทำงานที่กรุงเทพฯ มีช่วงที่จะลาออกอยู่แล้ว แต่ก็ขอเขาลาก่อน 1 เดือนเพื่อไปทบทวนตัวเอง เลยได้ไปเชียงใหม่ ไปอยู่กับคนทำร้านกาแฟ คนทำสวนกาแฟ ไปดูเขาทำ เลยได้รู้จักกับคนที่มีความรู้เรื่องกาแฟ จากก่อนหน้านี้ที่รู้จักแค่กินกาแฟเพื่อให้ตื่น กลายเป็นว่าซื้อเมล็ดมาลองดริปเอง

“ตอนแรกที่คิดว่าจะปลูกกาแฟเฉย ๆ ไม่คิดว่าจะปลูกกาแฟแล้วทำอะไรต่อ เราแค่อยากมีป่า แล้วให้เพื่อนมาแคมป์ปิ้ง ดริปกาแฟกันกลางไร่ บรรยากาศที่นี่มีส่วนทำให้ผมกลับมาด้วยนะ ผมเคยมานอนดูดาวในนี้ ไม่ต้องมีเต็นท์ เอาเปลมานอนกลางไร่ พอพระอาทิตย์ตกแล้วท้องฟ้าเป็นสีวานิลลา มีหิ่งห้อยเยอะมาก มีดาว พอเข้ามาแล้วมันกลายเป็นอีกโลกหนึ่งไปเลย รู้สึกสงบ ผมจึงตัดสินใจว่าต้องทำอะไรบางอย่างกับที่นี่”

ไร่กาแฟนายจันทร์ X Faffeine Cafe คาเฟ่ของสถาปนิกหนุ่มที่ปลูกกาแฟไว้ให้ตัวเองกลับบ้าน
ไร่กาแฟนายจันทร์ X Faffeine Cafe คาเฟ่ของสถาปนิกหนุ่มที่ปลูกกาแฟไว้ให้ตัวเองกลับบ้าน

“ก่อนปลูกเราเริ่มศึกษาว่ากาแฟมีกี่ชนิด กี่สายพันธุ์ แล้วพันธุ์ไหนที่จะเข้ากับพื้นที่ของเรา ตอนแรกคุณพ่อไปซื้อต้นกล้ากาแฟมาจากเมืองเลย เป็นอราบิก้ากับคาติมอร์ แต่ปลูกแล้วก็ตาย เลยปลูกใหม่ ซื้อเมล็ดมาเพาะ คุณยายเป็นคนช่วยเพาะให้ ตลอด 7 ปีที่ผ่านมาลองมาเยอะมาก ชาวบ้านเขาก็ว่าบ้า ญาติยังถามว่าเรียนมาแล้ว ทำไมไม่กลับไปทำงานดี ๆ

“ตอนแรกผ่านไป 3 ปีผมถอดใจแล้วนะ ซื้อคอนโดที่กรุงเทพฯ แล้ว กะว่าจะปล่อยไปเลย แต่ผมกับพ่อเป็นสายนักสู้ เลยบอกกันว่าลองอีกสักตั้ง

“เราถามผู้รู้ด้านกาแฟ เขียนอีเมลไปถาม เขาก็ให้คำแนะนำ หรือบางทีก็แนะนำให้ปรึกษาผู้รู้ต่อ ๆ กันมา เลยรู้ว่าช่วง 3 ปีแรกเป็นช่วงที่ยากมากสำหรับการทำกาแฟ มันจะไม่แข็งแรง ต้องรูดเมล็ดทิ้งทั้งหมด แล้วถึงจะเก็บได้ในปีที่ 4 พอได้ข้อมูลความรู้ก็เอามาปรับใช้กับกาแฟของเรา 3 ปีแรกเราคงต้นไว้ไม่เก็บเมล็ด กลายเป็นว่าตอนนี้มีต้นที่ขึ้นสมบูรณ์แล้ว พอยังไม่เก็บ เมล็ดก็ร่วงลงพื้น แล้วก็โตเองใต้ต้น พวกนี้น่าจะแข็งแรงแล้ว เพราะโตจากสภาพแวดล้อมของที่นี่เลย” ปอนด์เล่าอย่างมีความหวัง

ไร่กาแฟนายจันทร์ X Faffeine Cafe คาเฟ่ของสถาปนิกหนุ่มที่ปลูกกาแฟไว้ให้ตัวเองกลับบ้าน

ลึกถึงราก

“อีกความยากคือพืชพวกนี้ชอบความชื้นเหมือนกาแฟ แต่ขอนแก่นไม่ใช่อย่างนั้น ผมพยายามทำให้ชื้นโดยขังน้ำไว้ในบ่อข้างล่าง เพราะเห็นแล้วว่าที่ตรงนี้เป็นเนิน พอเป็นหน้าน้ำหลาก น้ำจะไหลมารวมกันอยู่บริเวณบ่อน้ำใหญ่ เวลาลมพัดเข้ามาจะทำให้เกิดความชื้น พอปะทะกับสวนยางและป่าด้านหลังก็จะเกิดการเก็บความชื้นที่เหมาะสม

“เราเรียนมาด้วย เลยเอาคอมพิวเตอร์มาช่วยเรื่องจัดการความชื้นในดิน เพราะช่วงหน้าหนาวไปจนถึงเมษายนอากาศแห้ง ความชื้นน้อย ต้นไม่โต พอไม่โตลูกมันก็จะไม่แข็งแรง เราต้องศึกษาเยอะ”

เราถามย้ำว่าปอนด์จบสายสถาปนิกมาแน่ใช่ไหม เพราะอธิบายหลักการราวกับอยู่ในวิชาชีพสายเกษตร แต่ปอนด์บอกว่าได้ความรู้ทุกอย่างมาจากคุณตา

“พ่อบอกว่าถ้าให้ดูกาแฟ 10 ไร่คนเดียวคงไม่ไหว ผมเลยบินกลับมาขอนแก่นทุกเดือน ไม่ได้ไปเที่ยวไหนเลย มาลงขอนแก่น กลับมาที่ไร่ มานอนเล่นในป่ากับพ่อ ไปซื้อพวกท่อมาฝังทำระบบน้ำดี ๆ ไปเลย แล้วก็กลับไปกรุงเทพฯ บางทีแม่ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่ากลับมา” ปอนด์เล่าพร้อมหัวเราะ

เขายอมรับว่าใจจริงก็ยังติดความเป็นคนเมืองอยู่ เลยเลือกไป ๆ มา ๆ ขอนแก่น-กรุงเทพฯ

ไร่กาแฟนายจันทร์ X Faffeine Cafe คาเฟ่ของสถาปนิกหนุ่มที่ปลูกกาแฟไว้ให้ตัวเองกลับบ้าน

“แต่กรุงเทพฯ มันไม่ใช่ความสุขของทุกคนหรอกนะ ตอนนั้นเราไปเพื่อเรียนรู้ แต่ก็รู้อยู่แล้วว่ามีทรัพยากรอยู่ที่บ้าน เราหาความรู้อยู่ว่าขอนแก่นไปทางไหนได้บ้าง นั่งทำงานอยู่กรุงเทพฯ ก็คุยกับตัวเองตลอดว่าอยากกลับบ้าน แต่ก็กังวลว่ามันจะได้ผลจริงไหม

“ถามตัวเองอยู่ 4 – 5 ปี คำตอบคือก็ยังอยากทำอยู่ กลับมาตั้งใจทำให้มันดี ให้ปุ๋ย เช็กความชื้นอยู่เรื่อย ๆ เพราะขอนแก่นมีระดับความสูงพื้นดินไม่มาก มีผลทำให้กาแฟสุกเร็ว ความหวานของเมล็ดไม่ค่อยเต็มที่ ส่งผลไปถึงรสชาติอีก เราเลยทำให้มันสุกช้าด้วยการให้ระบบน้ำ ให้มันเย็น หลักการเหมือนผลไม้อย่างมะม่วง ถ้าอากาศร้อนก็จะสุกเร็ว”

ถึงตรงนี้ หลายคนอย่างน้อยก็ผมคงสงสัย เลยถามปอนด์ว่าความสูงของพื้นดินขอนแก่นเหมาะสำหรับปลูกกาแฟหรือเปล่า

“ความสูงที่นี่อาจจะไม่สูงมาก แต่แพสชันมันสูง” เจ้าของไร่กาแฟระเบิดหัวเราะ

“ก็เลยบ้าทำต่อ”

ไร่กาแฟนายจันทร์ X Faffeine Cafe คาเฟ่-ขอนแก่น ของสถาปนิกหนุ่มที่ปลูกกาแฟไว้ให้ตัวเองกลับบ้าน
ไร่กาแฟนายจันทร์ X Faffeine Cafe คาเฟ่-ขอนแก่น ของสถาปนิกหนุ่มที่ปลูกกาแฟไว้ให้ตัวเองกลับบ้าน

ปลูกฝัง

ก่อนที่ปอนด์จะมาถึงร้าน ผมมาถึงไร่นายจันทร์ตั้งแต่ร้านยังจัดไม่เสร็จ พนักงานในร้านชวนคุย จึงได้รู้ว่าทุกคนในร้านเป็นญาติพี่น้องกันหมด ทุกคนช่วยกันจัดร้าน รับลูกค้า ทำขนม และชงเครื่องดื่ม 

“เราทำคาเฟ่กับญาติพี่น้อง ไม่ได้ศึกษาหรอกว่าคู่แข่งคือใคร คืออยากทำกันล้วน ๆ ครอบครัวช่วยกันดูแล น้าสาวเคยทำงานโรงแรมมาก่อน เลยมาคุยกันว่าเราอยากบริการลูกค้าแบบไหน อยากเสิร์ฟแบบไหน ลูกค้าที่เข้ามาเป็นใคร เขาอยากมาพักผ่อน อยากกินของดี อยากได้ประสบการณ์ที่ดี เราไม่ได้อยากทำแค่ร้านกาแฟ แต่อยากทำโลเคชันที่เป็นประสบการณ์ใหม่ คนอยากกินกาแฟแบบสเปเชียลตี้ก็มาได้ และกาแฟของที่นี่อาจจะเรียกว่าเป็น Single Origin ได้ในเร็ว ๆ นี้”

หลังจากที่ต้นอ่อนเพาะขึ้นจากสภาพแวดล้อมของพื้นที่ ครอบครัวของปอนด์ช่วยกันเก็บเมล็ดกาแฟเอง ช่วยกันทำโปรเซสกาแฟแบบ Washed กันเองด้วยการสอนให้คุณยายช่วยทำ ปอนด์คั่ว เบลนด์เมล็ด และชงขายในร้านแบบครบวงจร

“ที่จริงโรบัสต้าก็เหมาะกับพื้นที่แถวนี้เหมือนกัน เราปลูกที่นี่ด้วย ต้นสูงและแข็งแรง มันเข้มแต่ไม่หอม แล้วเอาเมล็ดมาเบลนด์กับอราบิก้าที่กลิ่นดีเป็นกาแฟในร้าน

“ที่นี่เหมาะกับครอบครัวและเด็ก เราเคยคิดว่าจะเพาะต้นไม้หรือกาแฟทิ้งไว้ สมมติลูกค้ามากินที่คาเฟ่ 1 บิล อาจจะให้ต้นไม้เขากลับไปปลูก อยากให้เด็กได้หัดปลูกต้นไม้ ที่ปลูกต้นไม้ของเขาอาจจะน้อยหรือไม่มีก็ให้เขาปลูกที่นี่ได้ ที่เราเยอะ ให้ปลูกทิ้งไว้ แล้วเราก็คอยอัปเดตต้นไม้ของเขาเรื่อย ๆ ก็คงน่ารักดี”

ไร่กาแฟนายจันทร์ X Faffeine Cafe คาเฟ่-ขอนแก่น ของสถาปนิกหนุ่มที่ปลูกกาแฟไว้ให้ตัวเองกลับบ้าน
คาเฟ่และไร่กาแฟในสวนยางของสถาปนิกหนุ่มกลับบ้านที่ขอนแก่น โดยลงมือปลูก คั่ว ชง และสร้างร้านกับครอบครัว

“จะมาถ่ายรูปก็มาได้นะ ต้องยอมรับว่าเทรนด์ถ่ายรูปมีผล เราเรียนออกแบบมาก็เอามาปรับใช้กับที่นี่ ของที่อยู่ในร้านทุกอย่างเป็นของในบ้านหมดเลย ตู้ที่คุณยายเคยขายของชำสมัยก่อน ท่อนไม้ที่มันล้ม ก็เลื่อยแช่น้ำทิ้งไว้

“ตอนที่กลับมา ก็คิดว่าจะเอาอะไรมาทำคาเฟ่ได้บ้างนะ ช่างก็หาไม่ได้ สุดท้ายก็เป็นเรา พ่อ และคุณอา มาช่วยกันทำเอง เราเป็นสถาปนิกก็จริง แต่ไม่เคยต้องลงมือทำเอง ที่นี่เราลงมือตั้งแต่แรก มานอนที่นี่ เทพื้น เอากล้องมาลองส่องดูว่าตรงนี้สวยหรือยัง คนถ่ายรูปได้ไหม เราคิดงานเป็นฉาก ๆ ไว้ มันมีรายละเอียดภายในร้าน แล้วช่างชาวบ้านเขาไม่เคยทำ ก็ต้องลองทำให้เขาดูก่อนว่ามันทำได้

“เราอยู่กรุงเทพฯ ก็คงติดความเป็นคนเมืองอยู่บ้าง แล้วเราบินไป-กลับกรุงเทพฯ บ่อยจนรู้ว่าจริตคนขอนแก่นบางกลุ่มคือความเป็นคนเมืองนี่แหละ เขายอมจ่ายในสิ่งที่เขาชอบและเข้าใจมัน ถ้าทำที่ดี ๆ มีบริการดี ๆ ให้เขาได้ ลูกค้าที่เข้ามาบางคนแทบไม่ถามอะไรเลย ไม่ใช่แค่ซื้อกาแฟแล้วจบ แต่เขาเข้าใจในสิ่งที่เราทำ เข้าใจการมีอยู่ของพื้นที่นี้”

แตกกิ่ง

ไร่กาแฟนายจันทร์ เข้ามาจากถนนหลักชื่อมลิวรรณ ถนนสายหลักจากขอนแก่นไปยังอำเภอชุมแพ ซึ่งมีหลายจุดที่กำลังเป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยว ทั้งภูผาม่าน สถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ทั้งมีกินฟาร์ม ผู้บุกเบิกแหล่งท่องเที่ยวเชิงอาหาร ฟาร์ม และโฮมสเตย์ในชุมชน ทำให้เส้นมลิวรรณกลายเป็นเส้นทางท่องเที่ยว 1 วันของขอนแก่นที่น่าท่องเที่ยวในขณะนี้

“มีหลายคนบอกให้เราทำอาหารด้วย ไหน ๆ ก็แยกตัวออกมาอยู่ไกลขนาดนี้แล้ว แต่ถ้าไม่พร้อมก็คิดว่ายังดีกว่า ตอนนี้เลยใช้วิธีบอกต่อร้านอาหารใกล้ ๆ ชุมชน ร้านนั้นร้านนี้ ก็ดีไปอีกแบบ เราว่าอยู่แบบนี้มันน่ารักต่อกันดี อีกอย่างเรารู้ด้วยว่ากลับมาทำแล้วเราไม่โดดเดี่ยว ถ้ากลับมาแล้วเริ่มทุกอย่างใหม่คนเดียวแบบ พี่ปู-จงรัก จารุพันธุ์งาม มีกินฟาร์ม เราอาจจะหนีไปกรุงเทพฯ แล้วก็ได้

คาเฟ่และไร่กาแฟในสวนยางของสถาปนิกหนุ่มกลับบ้านที่ขอนแก่น โดยลงมือปลูก คั่ว ชง และสร้างร้านกับครอบครัว
คาเฟ่และไร่กาแฟในสวนยางของสถาปนิกหนุ่มกลับบ้านที่ขอนแก่น โดยลงมือปลูก คั่ว ชง และสร้างร้านกับครอบครัว

“ที่นี่ยังไม่สมบูรณ์ เราออกแบบโรงแรมมาเลยรู้ว่าเทรนด์มันเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ต้องทำให้คนไม่รู้สึกเบื่อ แต่แก่นมันก็ยังต้องมีอยู่แหละ แล้วเราไม่ได้มีทุนที่จะทำทุกอย่างให้สมบูรณ์ในทีเดียวด้วย เราไม่ได้มีเงินมาก ค่อย ๆ เติมไปเรื่อย ๆ แล้วก็ไม่ต้องเหนื่อยด้วย ไม่ต้องกู้เงินมาทำ ถ้าวันหนึ่งมันเริ่มอยู่ได้ เราก็ดึงชุมชนมาช่วย”

เป็นต้น

“เรามีไร่ มีคาเฟ่ ได้ปลูกต้นไม้ เราต้องคิดแล้วว่าอยากทำอะไรต่ออีก เรายังชอบการทำงาน อยากช่วยคนอื่น เราไม่ได้รวยขนาดที่จะไปบริจาคเงินนะ ช่วยด้วยการให้เงินมันง่ายมาก แต่เราอยากให้อะไรในเชิงของความคิด แรงบันดาลใจ

“เราเห็นลูกค้าคาเฟ่เป็นกลุ่มครอบครัวที่มีคนวัยเกษียณมาด้วย เขาจะบอกว่าอยากกลับไปทำแบบนี้บ้างที่บ้าน อยากให้เขาได้แรงบันดาลใจและคิดต่อว่า ที่เราอยู่ลึกขนาดนี้ยังมีคนมานะ เรายังทำได้ แล้วของเขาทำอะไรได้บ้าง ให้เขาเห็นว่าไม่ใช่แค่การทำคาเฟ่ลึกลับ ถ่ายรูปสวยเท่านั้น

“เห็นน้องที่อยู่หมู่บ้านใกล้ ๆ กันจะมาสมัครงาน ก็ดีใจ เพราะถ้าเรากลับมาทำที่นี่แล้วทุกคนรอบตัวต้องอยู่ได้จริง ๆ ช่วยทุกคนได้จริง ๆ ไม่ใช่กลับมาเพื่อทำภาพให้มันดูดี หรือแค่เป็นตัวอย่างแล้วต้องรอเงินทุนสนับสนุนจากโครงการ CSR ถ้าเป็นแบบนั้น วันหนึ่งไม่มีเงินสนับสนุนมันก็จบ

“ผมคุยกับชุมชนอยู่ว่า ถ้าชุมชนเรามีผลิตภัณฑ์อะไรที่พอขายได้ ลองเอามาคุยกัน เอามาพัฒนาดูว่าเราพอจะทำอะไรได้บ้าง แล้วเอามาวางขายที่ร้านก็ได้นะ เพราะหมู่บ้านนี้เป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ วัยรุ่นก็เข้าไปเรียนในเมือง หมู่บ้านเลยมีแต่คนแก่

“ข้างในมันเป็นที่ของเราทั้งหมดด้วย ชาวบ้านเขาก็ไม่ได้เข้ามายุ่งอะไร แต่พอเขาเห็นรถแปลก ๆ หรู ๆ รถ Porsche หรือ Tesla ขับเข้ามา ชาวบ้านคุยกันว่าข้างในนี้ต้องมีสำนักฤาษีอะไรแน่ ๆ เราขำกันทั้งบ้าน ตอนแรกทางเข้ายังไม่ดีเหมือนตอนนี้ เราก็เอาหินมาปูมาเทให้สัญจรง่ายขึ้น ชาวบ้านก็ได้ประโยชน์ไปด้วย วันก่อนชุมชนประกาศให้ทำความสะอาดหมู่บ้าน น่าจะเพราะมีคนเข้ามาเยอะ

“มีคนขับรถมาจากจังหวัดไกล ๆ เพื่อมาดูกาแฟที่เราปลูกในขอนแก่นให้เห็นกับตา เพราะเขาอยากรู้ว่ามันปลูกได้ยังไง เราก็หิ้วจอบพาเขาเข้าสวนเลย ขุดต้นกล้าให้เขาเอากลับไป เรามองว่าได้ให้ความรู้คนอื่น ๆ ต่อด้วย ได้เป็นแรงบันดาลใจให้คนอื่น ๆ เราชอบการแบ่งปัน การให้ รู้สึกว่ามันมีความสุข ที่ผ่านมาผมทำเทรนนิ่งสอนคนอื่น คนอื่นมีความสุขที่ได้ความรู้ ส่วนผมได้เงินด้วย นั่นคือความสุขมากกว่าการตะบี้ตะบันทำงานแล้วเราได้เงิน”

ผมถามปอนด์ว่า จะถือว่าการกลับมาทำคาเฟ่และสวนกาแฟเป็นการกลับบ้านอย่างสมบูรณ์แบบไหม

“จริง ๆ เราก็ยังไป ๆ มา ๆ กรุงเทพฯ อยู่ แต่ในเชิงจิตใจ ถือว่าผมสมบูรณ์แล้ว”

คาเฟ่และไร่กาแฟในสวนยางของสถาปนิกหนุ่มกลับบ้านที่ขอนแก่น โดยลงมือปลูก คั่ว ชง และสร้างร้านกับครอบครัว

ไร่กาแฟนายจันทร์ X Faffeine Cafe

ที่ตั้ง : 14/1 หมู่ 5 ตำบลบ้านกง อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น 40240 (แผนที่)

เวลาทำการ : 09.00 – 18.00 น.

Facebook : ไร่กาแฟนายจันทร์ X Faffeine Cafe 

โทรศัพท์ : 06 5654 9785

Writer & Photographer

Avatar

จิรณรงค์ วงษ์สุนทร

Art Director และนักวาดภาพประกอบ สนใจเรียนรู้เรื่องราวเบื้องหน้าเบื้องหลังของอาหารกับกาแฟ รวบรวมทั้งร้านที่คิดว่าอร่อย และความรู้เรื่องอาหารไว้ที่เพจถนัดหมี และรวมร้านกาแฟที่ชอบไปไว้ใน IG : jiranarong2