บ่ายวันนี้ เรานัดคุยกับเพื่อนบ้านชาวเหนือที่เต็มไปด้วยความเฮฮา เป็นกันเอง และมีน้ำเสียงกระฉับกระเฉงโดดเด่น ท่ามกลางเสียงไก่ขันสมทบอยู่เป็นระยะ ชวนให้หวนนึกถึงบรรยากาศที่แสนสบายของป่าเขา
“วันนี้เราอู้กั๋นจอย ๆ เนาะ” (วันนี้เรามาคุยกันแบบสบาย ๆ เนาะ)
อุ๋ย-นิโลบล ประมาณ ผู้ก่อตั้งแบรนด์เพื่อชุมชน ‘ม่วนจอย’ ชวนคุยทีเล่นทีจริง ก่อนที่เราจะได้ฟังเรื่องราวที่เต็มไปด้วยความอยากเห็นคนในชุมชนบ้านเกิดของอุ๋ยนั้นมีแต่ความ ‘จอย’
ม่วนจอย คือพื้นที่ทดลอง เวที และโอกาสให้ผู้คนได้พัฒนาความสามารถ และดึงศักยภาพของตัวเองออกมา เริ่มจากการเห็นคุณค่าในตัวเองและสิ่งที่มีอยู่รอบ ๆ ตัว ไม่ว่าจะเป็นสิ่งแวดล้อมหรือภูมิปัญญาในแต่ละพื้นที่
ส่วนคำว่า ม่วนจอย มาจากคำว่า ‘ม่วน’ และ ‘Joy’ คำว่า ม่วน เป็นภาษาเหนือ แปลว่า สนุก ตรงกับธรรมชาติของคนแพร่ที่มีความบันเทิง เฮฮา เป็นกันเอง คล้ายกับความหมายของ Joy ที่หมายถึงความสนุกแบบสบาย ๆ ชิลล์ ๆ แต่อีกนัยหนึ่ง คำว่า ‘จอย’ ในภาษาเหนือ คือการชักชวนให้มาทำอะไรร่วมกันหรือไปด้วยกัน พอมาเป็นคำว่า ม่วนจอย เลยกลายเป็นการเชิญชวนให้ทุกคนมาสนุกสนาน เฮฮาไปด้วยกันนั่นเอง
แต่ก่อนจะเกิดเป็นโมเดลนี้ อุ๋ยได้ประกอบร่างประสบการณ์มากมายของตัวเองทีละนิด ตามหาความต้องการของตัวเอง และลองผิดลองถูกมานับครั้งไม่ถ้วน
01
จากบ้านสู่เมืองกรุง
ตั้งแต่เด็กจนโต จังหวัดแพร่คือที่ที่แสนสบายใจของอุ๋ย เธอจบการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนนารีรัตน์จังหวัดแพร่ ชอบวาดรูปและออกแบบมาตั้งแต่เด็ก แต่ด้วยการแนะแนวการศึกษาที่ไม่แข็งแรง ทำให้อุ๋ยเลือกเข้ากรุงเทพฯ เหมือนคนอื่น ๆ จับพลัดจับผลูได้เรียนในสาขาวิชาเทคโนโลยีกระบวนการเคมีและฟิสิกส์ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ระหว่างเรียนมหาวิทยาลัย ในขณะที่เพื่อนคนอื่นเข้าไปฝึกงานตามโรงงานใหญ่ ๆ แต่อุ๋ยกับเพื่อนอยากไปสัมผัสบรรยากาศของทะเล เลยพากันเลือกไปฝึกงานที่จังหวัดตรัง สุดท้ายพวกเธอก็ไม่ได้ไปเอาเท้าจุ่มน้ำทะเลตามที่ใจหวัง เพราะสถานที่เธอเข้าไปเรียนรู้ประสบการณ์คือบริษัทรับซื้อน้ำยางข้น เป็นการทำงานอยู่ในสวนที่รายล้อมไปด้วยป่ายาง ซึ่งทำให้อุ๋ยได้ใกล้ชิดเกษตรกรตัวจริงเป็นครั้งแรก และได้เห็นผลผลิตที่มาจากผู้ขายรายย่อยอย่างแท้จริง
เธอเห็นราคาผลผลิตทางการเกษตรที่ผันผวนตลอดเวลา จากการรับซื้อน้ำยาง ก็ได้เห็นความเป็นไปของกระบวนการทั้งหมด ตั้งแต่รับซื้อ แปรรูป และออกขายสู่ตลาดเพื่อส่งออกต่อไป ประสบการณ์นี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เธอสนใจ อยากช่วยเหลือและพัฒนาของดีในท้องถิ่นให้ดูดีสมราคา ด้วยการสร้างโรงงานเล็ก ๆ แต่มีคุณภาพ

02
ตามหาสิ่งที่หายไป
หลังจากเรียนจบปริญญาตรี ถึงแม้ว่าอุ๋ยจะไม่ได้เรียนในสิ่งที่สนใจตั้งแต่แรก แต่รู้ตัวอีกที เลือดของนักวิจัยและพัฒนา (R&D) ก็หลอมรวมกลายเป็นตัวตนติดตัวเธอมาตั้งแต่เรียนที่คณะอุตสาหกรรมการเกษตร
อุ๋ยจึงลองหางานที่ผนวกรวมสิ่งที่เรียนมากับความชอบ นั่นก็คือการทำงานเป็น R&D บริษัทรับผลิตเครื่องสำอางให้แบรนด์ใหญ่ การทำงานนี้ทำให้อุ๋ยเข้าใจตัวเองมากขึ้น
“เรารู้สึกขอบคุณสิ่งที่เราเรียน เพราะนำมาใช้ประโยชน์ได้ แล้วผนวกรวมเข้ากับความชอบและความถนัดที่เราทำโดยไม่รู้ตัวมาตลอด เอามารวมกันแล้วเกิดเป็นสิ่งใหม่ที่มันไม่เหมือนใครเลย”
เมื่อทำงานไปได้สักพัก อุ๋ยไม่เห็นตัวเองในอนาคตกับการทำงานแบบมนุษย์เงินเดือนในเมืองใหญ่ การเดินทางจากเกษตรฯ ไปช่องนนทรีในแต่ละวันเริ่มบั่นทอนเรี่ยวแรงของเธอ จนทำให้เธอนึกย้อนไปถึงความสนุกสนานในช่วงชีวิตการเป็นนักศึกษา รวมถึงความสบายกายสบายใจ เมื่อครั้งใช้ชีวิตในเมืองบ้านเกิด แต่ในเวลาเดียวกัน อุ๋ยก็สังเกตเห็นชีวิตของผู้คนที่หลากหลาย และเริ่มตั้งคำถามถึงชีวิตความเป็นอยู่ที่เธอกำลังพบเจออยู่ในทุก ๆ วัน
“ทำไมเราถึงทำงานอยู่ที่แพร่ไม่ได้ ทำไมทุกคนต้องเข้ามาในเมืองนี้” เป็นคำถามใหญ่ที่อุ๋ยเริ่มสงสัยเมื่อเห็นผู้คนเดินทางแต่ละวัน อุ๋ยจึงตัดสินใจไปเรียนต่อที่ลอนดอน เพื่อตอบคำถามที่ตัวเองตั้งไว้ และตามหาตัวตนของตัวเอง

03
ออกเดินทางไปไกลบ้าน
ในตอนแรกอุ๋ยเลือกไปเรียนต่อด้านภาษาที่ประเทศอังกฤษ ทำให้เธอได้พบปะกับเพื่อนหลากหลายเชื้อชาติ ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น โคลอมเบีย มองโกเลีย สเปน
“ตอนนั้นสนุกมาก และมันทำให้เราเห็นว่า เอ้า ทุกคนก็คือคนธรรมดา” อุ๋ยหัวเราะ “มันค่อย ๆ คลายปมในใจที่เราเคยคิดว่า ประเทศนั้น ประเทศนี้ เก่งกว่าเรา แต่เปล่าเลย พอไปเรียนอยู่ในห้องเดียวกัน เราก็เริ่มรู้สึกว่า เราก็สู้คนอื่น ๆ ได้เหมือนกัน”
พอเริ่มรู้จักตัวเองมากขึ้น อุ๋ยจึงเลือกเรียนต่อปริญญาโทสาขาความยากจน ความไม่เท่าเทียม และการพัฒนา (Poverty, Inequality and Development) คณะการพัฒนาระหว่างประเทศ (International Development) มหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม เพราะอยากทำความเข้าใจความแตกต่างว่า ทำไมบางประเทศจึงเป็นประเทศพัฒนา แต่บางประเทศก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้น
“การเรียนที่อังกฤษหนึ่งปีทำให้เราเติบโตนะ จากคนที่เรียนแค่วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์มาตลอด แต่การเรียนตรงนี้ทำให้เราเข้าใจความเป็นสังคมศาสตร์มากขึ้น เราคิดว่าสองสิ่งนี้คือสิ่งเดียวกัน เพราะต้องใช้ความเข้าใจเหมือนกัน”
พอเรียนจบ หลังจากที่อุ๋ยได้ทำความเข้าใจเรื่องความแตกต่างในระดับหนึ่งแล้ว เธอจึงเลือกกลับบ้านเพื่อทำความเข้าใจความแตกต่างในสังคมไทยต่อไป

04
กลับสู่มหานคร Phraeris สานฝันคนในชุมชน
เมื่ออุ๋ยกลับบ้านไปเดินเล่นที่ตลาด เธอเห็นข้าวออร์แกนิกราคาเพียง 60 บาท ด้วยเลือดนักพัฒนา R&D ที่ติดตัวมาตั้งแต่ตอนเรียนสาขาวิชาเทคโนโลยีกระบวนการเคมีและฟิสิกส์ เธอจึงร่วมมือกับคุณป้าข้างบ้านเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตการเกษตร และในช่วงเวลาเดียวกัน อุ๋ยได้ไปทำงานเป็นที่ปรึกษาการฝึกอบรม (Consultant Training Workshop) ที่สหประชาชาติในประเทศไทย (United Nations Thailand) เธอจึงได้รับคำปรึกษาจากคนที่ทำงาน และนำข้าวจากบ้านเกิดมาเผยแพร่จนคนที่ทำงานติดใจ และเรียกเธอว่า ‘Brown Rice Girl’
“ตอนนั้นเจ้านายสั่งข้าวเรากลับบ้านที่ฝรั่งเศสช่วงคริสต์มาส คนญี่ปุ่นก็สั่ง คนไนจีเรียก็สั่ง พากันกินข้าวของเราหมดเลย เพราะเราบอกว่ามันเป็นข้าวกล้องงอกออร์แกนิกเจ็ดสายพันธุ์ที่มาจากเกษตรกร เราก็เริ่มคิดว่าทำไมเขาถึงซื้อกัน ทั้งที่ราคาแพงกว่าที่เคยขาย อันนี้เลยเป็นจุดเริ่มต้นที่เราเห็นว่า ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นมันขายได้ และเราเข้าใจว่าลูกค้ากลุ่มนี้ต้องการของที่มีคุณภาพ ไม่ได้เกี่ยงราคา และการทำเพื่อสังคมก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เขาอยากซื้อ”
การเข้าไปทำงานกับสหประชาชาติ ทำให้อุ๋ยได้แนวคิดและแรงบันดาลใจอยากทำงานเกี่ยวกับประเด็นสังคม แต่ไม่ได้อยากทำงานอยู่ภายใต้องค์กรใด อุ๋ยจึงงดรับงานที่กรุงเทพฯ แล้วกลับบ้านเพื่อเริ่มต้นเส้นทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนผ่านข้าวของคุณป้าข้างบ้าน ซึ่งเป็นข้าวที่มาจากการพัฒนากับอาจารย์จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ และสร้างโปรเจกต์ ‘Happy Field Happy Farm’ ขึ้นมาทันที


อุ๋ยลองผิดลองถูกจากประสบการณ์ที่เธอมี จนชนะการประกวดโครงการ Banpu Champions for Change ปีที่ 5 เมื่อเธอได้ทดลองทำตามสิ่งที่ตัวเองอยากลองแล้ว ก็ถามกลับไปยังคุณป้าเจ้าของข้าวว่า มีสิ่งที่อยากทำหรือเปล่า
“ความฝันคือป้าอยากได้ OTOP อยากเอาข้าวของตัวเองไปขายที่เมืองทองธานี อันนั้นคือฝันสูงสุดของป้าเลย”
พออุ๋ยได้ยินความฝันของคุณป้า เธอจึงช่วยสานต่อความฝันนั้นทันที ภายใน 1 ปี อุ๋ยก็พาคุณป้าไปถึงฝัน ด้วยการคว้ารางวัล OTOP ระดับ 4 ดาว และได้ไปจัดแสดงงานที่เมืองทองธานีสมใจ และกลายเป็นแรงบันดาลใจให้หลาย ๆ องค์กร ไม่ว่าจะเป็นวิทยาลัยชุมชนแพร่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ต่างสนใจอยากมาเรียนรู้สิ่งที่อุ๋ยทำ เพื่อนำไปพัฒนาวิธีการสร้างอาชีพต่อไป
นับตั้งแต่นั้น อุ๋ยจึงอยากพัฒนาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น รวมไปถึงคุณภาพชีวิตของชุมชนคนแพร่ให้ดีขึ้นกว่าเดิม

05
ชวนมาม่วนมาจอย
จากการช่วยป้าข้างบ้านขายข้าว อุ๋ยเริ่มขยายกลุ่มออกไปให้กว้างกว่าเดิม เพราะเห็นว่าต้นทุนที่จังหวัดแพร่มีนั้นมีหลากหลาย และมีมูลค่ามากจนตีออกมาเป็นตัวเงินไม่ได้
หลังจากชนะเลิศโครงการ Banpu Champions for Change ปีที่ 5 อุ๋ยได้เจอกับ บี๋-ปรารถนา จริยวิลาศกุล จากการเข้าคอร์สกับ School of Changemakers และได้ตั้งคำถามกับความต้องการกับตัวเองอีกครั้ง จากคำถามของบี๋ที่ว่า “อุ๋ยต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน ไม่ว่าผลิตภัณฑ์นั้นจะเป็นอะไรให้มีคุณภาพใช่ไหม” ทำให้เธอเห็นความต้องการของตัวเองชัดเจนขึ้น และเปลี่ยนชื่อจากแบรนด์ Happy Field Happy Farm สู่ ‘ม่วนจอย’ แบรนด์ที่จะทำให้ทุกคนหลงรักเสน่ห์และบรรยากาศของจังหวัดแพร่ในแบบที่อุ๋ยรัก


06
การทำงานกับคนแต๊ (คนจริง)
เมื่อได้เริ่มต้นแบรนด์ท้องถิ่น อุ๋ยมีความตั้งใจอย่างหนึ่ง คืออยากลบภาพจำของคนอื่น ๆ ที่มีต่อเกษตรกรว่าน่าสงสาร เพราะพวกเขาเป็นคนที่ทำงานด้วยหัวใจและจริงจังกับอาชีพของตัวเอง เพื่อให้เกิดคุณค่าทั้งการใช้งานและทางจิตใจในระดับสากล
ด้วยความที่จังหวัดแพร่มีต้นทุนทางวัฒนธรรมที่ดีงาม อุ๋ยจึงมีวัตถุดิบมากมายให้เลือกสรรมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณค่ายิ่งขึ้น ผลิตภัณฑ์แรกที่อุ๋ยเลือกทำเป็นของขึ้นชื่อของแพร่อย่าง ‘ม่อฮ่อม’ ภูมิปัญญาดั้งเดิมที่เริ่มเลือนหาย เธอจึงไปหาคนที่เป็นปราชญ์ในเรื่องเหล่านี้ แล้วนำองค์ความรู้มาพัฒนาต่อให้เกิดคุณภาพอย่างแท้จริง
ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ของม่วนจอยเน้นสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น หมวก กระเป๋า พวงกุญแจ ผ้าปักมือ ผลไม้ น้ำผึ้ง แยม เทียนหอม ผลิตโดยผู้เชี่ยวชาญวัตถุดิบแต่ละชนิด เพื่อสนับสนุนอาชีพของคนในท้องถิ่นให้ยังคงรักษาภูมิปัญญาเดิมไว้ และช่วยพัฒนาต่อไปให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า


07
เข้าใจทั้งคนทำและคนซื้อ
ม่วนจอยเป็นพื้นที่ตรงกลางที่ช่วยทำความเข้าใจระหว่างคนซื้อกับคนขาย ฟังความต้องการของลูกค้าแล้วไปคุยกับคนทำ การทำสินค้าแต่ละชิ้นเป็นงานฝีมือที่มีความละเอียดและปรับแต่งตามความต้องการของลูกค้า แต่ในขณะเดียวกัน ม่วนจอยก็อธิบายจุดยืนของตัวเองให้ลูกค้าฟังอย่างชัดเจน เช่น การรอสินค้าที่ช่างต้องใช้เวลาในการทำ การซื้อ-ขายจึงเป็นการทำความเข้าใจกันและกันอย่างแท้จริง
ส่วนช่างที่ทำงานฝีมือ เป็นการทำงานแบบทำความเข้าใจธรรมชาติของแต่ละคนและแต่ละท้องถิ่น สื่อสารด้วยคำง่าย ๆ ไม่ซับซ้อน
“เราไม่เคยต่อราคาที่ช่างคิดมาเลย บางทีเขาให้ราคาถูกไป เราก็เพิ่มให้ แต่เราก็บอกความต้องการของตัวเองไปว่า ที่เพิ่มให้เพราะต้องการงานละเอียด และใช้ของที่มีคุณภาพจริง ๆ กว่าช่างจะเข้าใจก็ใช้เวลา เพราะเขาคิดอยู่เสมอว่าเราต้องการให้ต้นทุนถูกที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่เราไม่ได้ต้องการแบบนั้น ช่วงแรกจึงไม่ได้สินค้าตามที่ต้องการ เราก็อธิบายไปว่า ถ้าสินค้าออกมาไม่ดี มันจะกระทบต่อเราและต่อตัวช่างเองด้วย จากนั้นก็ลองผิดลองถูกกันไป จนสุดท้ายก็กลายมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่ดี มีคุณภาพตามที่ตั้งใจ”

08
ความยิ่งใหญ่ของคนตัวเล็ก
อุ๋ยเล่าให้เราฟังว่า ม่วนจอยเน้นการสร้างแบรนด์ที่เข้มแข็ง การมีจุดยืนชัดเจน ทำให้คนที่จะเข้ามาร่วมงานด้วยเข้าใจในสิ่งที่ม่วนจอยกำลังจะสร้างสรรค์
…ดึงความยิ่งใหญ่ในคนตัวเล็ก ๆ ออกมา ทุกคนมีศักยภาพที่ยิ่งใหญ่ซ่อนอยู่ จงเอามันออกมา... ข้อนี้เป็นหนึ่งในองค์ประกอบของม่วนจอยที่เราชื่นชอบเป็นพิเศษ รวมถึงอุ๋ยด้วยเช่นกัน
“ข้อความนี้เป็นปมของอุ๋ยที่เคยรู้สึกว่าตัวเองเป็นแค่คนตัวเล็ก ๆ เป็นเด็กบ้านนอกคนหนึ่ง เรามีดีน้อยกว่าคนกรุงเทพฯ”
แต่หลังจากที่อุ๋ยได้ออกไปสำรวจโลกที่กว้างขึ้นทั้งในกรุงเทพฯ และประเทศอังกฤษ เธอก็ได้เรียนรู้ว่า แต่ละคนนั้นมีคุณค่าในตัวเองมากขนาดไหน และมีความภาคภูมิใจในตัวเองเพิ่มมากขึ้น จึงกลายเป็นที่มาที่เธออยากดึงศักยภาพของทุกคนที่ทำงานกับม่วนจอยให้ออกมาได้มากที่สุด

09
ส่งต่อโมเดลบ้านเกิด สู่แบรนด์ท้องถิ่นทั้งไทยและเทศ
หลังจากม่วนจอยประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งแล้ว ก้าวต่อไปของอุ๋ยคือการส่งต่อรูปแบบที่ทดลองทำในม่วนจอยไปสู่โมเดลที่เป็นรูปเป็นร่าง จึงเกิดเป็น ‘FlowFolk‘ บริษัทให้คำปรึกษา พัฒนาแบรนด์และสินค้าชุมชน โดยดำเนินงานบนฐานความเชื่อว่า ถ้าภูมิปัญญาท้องถิ่นและงานฝีมือได้รับการชุบชีวิต ชุมชนก็จะอยู่ได้อย่างยั่งยืน
“คือเราจะสร้างบ้านให้คนท้องถิ่นให้เป็นบ้านที่น่าอยู่ มันเลยกลับไปตอบคำถามที่เรามีในตอนแรกว่า แล้วทำไมคนต่างจังหวัดถึงต้องเข้ากรุงเทพฯ เพราะที่บ้านไม่มีอะไรทำและไม่น่าอยู่ เพราะจริง ๆ หลายคนอยากอยู่ที่บ้าน แต่พวกเขาไม่มีโอกาสอยู่ตรงนั้น เราก็เลยทดลองด้วยการทำม่วนจอยออกมา”
เพื่อพัฒนาทักษะผู้คนและพัฒนาสินค้าให้มีคุณค่าและคุณภาพไปพร้อม ๆ กัน เพื่อเติบโตในระดับสากล

ก่อนจะร่ำลากัน อุ๋ยอวดโฉมผลิตภัณฑ์ที่กำลังเตรียมส่งตามออเดอร์ลูกค้า และเล่าที่มาที่ไปของการพัฒนาสินค้าแต่ละชิ้นอย่างเข้มข้น ทำให้เรายิ่งสนใจและเฝ้ารอดูการเติบโตของม่วนจอยและ FlowFolk ต่อไป

ภาพ : Facebook Muanjoy