ครั้งหนึ่ง บอย โกสิยพงษ์ เคยเขียนข้อความในอัลบัม Bakery Love Is Forever ว่า เขาได้รับการถ่ายทอดวิธีคิดและการแต่งเพลงรักมาจาก สมเกียรติ อริยะชัยพาณิชย์ ผู้เป็นทั้งหุ้นส่วน เพื่อนร่วมงาน และอาจารย์ของชีวิตนักแต่งเพลง

สมเกียรติมักจะบอกกับบอยเสมอว่า “รักบวกครับ อะไรก็ได้ ขอให้รักบวก” ทำให้เพลงของ Bakery Music เป็นเพลงรักที่มองโลกในแง่ดีและสดใส ถึงจะอกหักแต่ก็ไม่ฟูมฟายต่อว่าความรักที่ผิดหวังอย่างไม่ลืมหูลืมตา และนี่เองที่อาจเป็นสาเหตุให้บทเพลงจากค่ายขนมปังยังคงอบอวลอยู่ในใจของแฟนเพลง หลายบทเพลงยังคงโด่งดัง ข้ามกาลเวลาจนถึงปัจจุบัน

แต่แน่นอน ทั้งหมดนี้จะไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลย หากปราศจากอัลบัมที่ชื่อ ‘Z-MYX Volume 10’ ผลงานหมายเลข 2 ของพ่อมดดนตรีผู้นี้ซึ่งเป็น ‘จุดเริ่มต้น’ ของการรวมตัวศิลปินมากมาย ก่อนที่พวกเขาจะมาร่วมกันก่อตั้งค่ายเพลงที่ถือเป็นหลักไมล์ของวงการดนตรีเมืองไทย ที่สำคัญยังเป็นอัลบัมที่อุดมไปด้วยเพลงรักสุดคลาสสิก ทั้ง ดึกแล้ว รู้สึกไหม เก็บวันดี ๆ มหัศจรรย์แห่งรัก และ ลมหายใจ ที่แม้จะหยิบมาฟังเมื่อไหร่ก็ยังคงความร่วมสมัยไม่เปลี่ยนแปลง 

เนื่องในโอกาสที่อัลบัมในตำนานชุดนี้เดินทางมาครบ 3 ทศวรรษ ยอดมนุษย์..คนธรรมดา จึงชักชวน Mr.Z มาร่วมย้อนความทรงจำถึงจุดเริ่มต้น บทเพลง ความสุข และมิตรภาพอันยาวนาน

สมเกียรติผูกพันกับดนตรีมาตั้งแต่เกิด

ครั้งหนึ่งแม่ของเขาเคยเล่าว่า ตอนเด็ก ๆ สมเกียรติเป็นเด็กที่เลี้ยงง่ายมาก เพราะพอดูแผ่นเสียงวน ๆ หมุน ๆ สมาธิก็จะจดจ่อกับสิ่งนั้น จนแทบไม่ร้องไห้เลย

“ตอนที่แม่เล่าก็เฉย ๆ นะ ไม่ค่อยเข้าใจหรอก แต่เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว ผมเคยหลับไปแล้วมีภาพหนึ่งปรากฏขึ้น เหมือนผมโดนอุ้มมาจากเตียง แล้วมีเพลงหนึ่งดังขึ้น ทำให้รู้เลยว่านี่เป็นเพลงแรกที่ได้ฟัง เป็นเพลงจีน เรานึกถึงความรู้สึกตอนอยู่บนคอแม่ เป็นภาพที่ชัดมาก ซึ่งน่าแปลกว่าทำไมสมองถึงจำภาพตรงนั้นได้ คงเพราะเราเป็นแบบนี้อยู่แล้ว เกิดมาก็ชอบเสียงดนตรีเลย”

แต่ถึงแม่จะชอบฟังเพลงจีน มีเสียงเพลงจีนดังคลอในบ้านอยู่ตลอด หากพี่สาวทั้ง 2 คนกลับชอบฟังเพลงสากล ทำให้เขาชื่นชอบดนตรีจากโลกตะวันตกไปด้วย โดยเฉพาะเพลงยุค 70 บวกกับช่วงหลังมีรายการวิทยุของ Nite Spot ซึ่งเปิดเพลงสากลอย่างจริงจัง ความหลงใหลก็ยิ่งมากขึ้น 

โดยมีพี่ชายอีกคนเหมือนเป็นคู่คิดที่คอยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องเพลง ทั้งคู่สนิทกันมากและชักชวนไปซื้อแผ่นเสียงอยู่เสมอ กระทั่งเมื่อขึ้นชั้นมัธยมต้น พี่ชายเสียชีวิตไป ทำให้สมเกียรติเคว้งคว้างอย่างหนักและกลายเป็นคนเก็บตัว แต่ก็ยังดีที่เขายังมีเสียงดนตรีเป็นที่พึ่งทางใจ ช่วยให้ผ่านช่วงเวลาอันยากลำบากมาได้

หากแต่จุดพลิกผันที่ทำให้เด็กหนุ่มเปลี่ยนจากคนฟังมาสู่ผู้สร้างสรรค์เสียงเพลง แม้จะเล่นเครื่องดนตรีไม่เป็นเลยก็ตาม เกิดขึ้นในวันที่เขาสังเกตว่าเพลงสากลหลาย ๆ เพลงที่เปิดในรายการวิทยุนั้นแตกต่างจากแผ่นเสียงที่เคยฟัง บางเพลงยาวกว่า บางเพลงใส่จังหวะใส่เสียงที่ไม่คุ้นเคยลงไป จนมาทราบว่าในเมืองนอกมีกระบวนการที่เรียกว่า ‘การรีมิกซ์เพลง’ จึงสนใจอยากทดลองทำเองบ้าง

พอดีในบ้านของเขามีเครื่องเล่นแผ่นเสียงธรรมดา ๆ อยู่เครื่องหนึ่ง สมเกียรติจึงหาวิธีประยุกต์ โดยครั้งแรกเขานำเพลงจากแผ่นเสียงมาเชื่อมกันแบบคัตชนคัต คือแทนที่จะปล่อยให้เพลงเพลงหนึ่งจบไป ก็ทำให้เพลงถัดมาเชื่อมกันแบบไร้รอยต่อ ส่งผลให้อารมณ์ในการฟังเพลงต่อเนื่องและสนุกยิ่งขึ้น

พอใช้เครื่องมือคล่องตัว เขาก็เริ่มเก็บเงินเพื่อหาซื้อเครื่องเล่นที่มีลูกเล่นมากขึ้น ปรับเร่งความเร็วของเพลงได้ตามใจ รวมทั้งทดลองนำเสียงกลองมาซ้อนจนได้จังหวะที่แตกต่าง

ต่อมาพ่อของเขาก็ได้ซื้อเครื่อง Sampling เล็ก ๆ จากต่างประเทศมาฝาก โดยข้อดีของเครื่องนี้คือนำทำนอง เสียงร้อง หรือเสียงเครื่องดนตรีจากเพลงหนึ่งไปใส่ในอีกเพลงได้ รวมทั้งยังปรับจังหวะ ปรับคีย์ หรือทำให้เสียงวนซ้ำไปซ้ำมา สมเกียรติจึงไม่รอช้า ทดลองนำเพลงสากลที่ชื่นชอบมาสร้างเป็นเวอร์ชันใหม่ ๆ เช่น เพลง Wake Me Up Before You Go-Go ของ Wham! ซึ่งในแผ่นซิงเกิลจะมีเฉพาะ Original Version กับเวอร์ชันบรรเลง เขาจึงนำทั้ง 2 เวอร์ชันมาตัดต่อ เรียงลำดับของเสียงใหม่ จนได้เวอร์ชันที่ยาวขึ้น หรือ Extended Version ซึ่งให้อารมณ์และความไพเราะไปอีกแบบ

ระหว่างนั้นสมเกียรติก็มักนำเพลงที่รีมิกซ์ได้อัดใส่เทปแคสเซ็ตไปแบ่งปันให้เพื่อนสนิทในกลุ่มที่โรงเรียนอัสสัมชัญฟัง ซึ่งทุกคนต่างชื่นชมพร้อมกับเสนอว่า ทำไมเขาไม่ลองนำเพลงไทยมาดัดแปลงบ้าง ก่อนจะแนะนำเพลง ปากคน ของ เต๋อ-เรวัต พุทธินันทน์ ให้เขารู้จัก

“ความจริงไม่เคยสนใจเพลงไทยเลย เพลงเต๋อนี่ก็ไม่เคยฟัง แต่พอเพื่อนบอกให้ลอง เพราะเขามีแผ่น เราก็ลองทำดู ซึ่งพอได้มาฟังก็รู้สึกงานของเขามีความเป็นกวี มีสไตล์หลาย ๆ แบบ อย่าง ปากคน ก็มีความเป็นฟังก์ มีความเป็นอิเล็กทรอนิกส์ ตอนนั้นเพลงมัน 4 นาทีเศษ เราก็ทำเป็น 10 นาที ทำเสร็จก็ดีใจ ฟังเพลินดี แล้วก็ทำเรื่อยมาอีกประมาณ 10 กว่าเพลง เดือนละ 2 – 3 เพลง”

เด็กหนุ่มทำแบบนี้เรื่อยมาจนเข้ามหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ จึงมีโอกาสเข้าไปพัวพันกับวงการวิทยุเต็มตัว เมื่อ พ.ศ. 2532 

ครั้งนั้นสมเกียรติสนใจอยากร่วมงานกับ Media Plus เพราะเห็นว่าที่นี่เป็นบริษัทที่ทันสมัย ตั้งแต่เป็นเจ้าของคลื่นวิทยุที่โดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์ อย่าง Smile Radio ซึ่งดีเจแต่ละคนต่างมีความรู้และความเชี่ยวชาญเรื่องดนตรีทั้งฝั่งสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ ตลอดจนนำศิลปินฝรั่งมาเปิดคอนเสิร์ตในเมืองไทย

หนึ่งในนั้นคือวง Bananarama ซึ่งมีเพื่อน ๆ หลายคนไปสมัครเป็นสตาฟช่วยงาน สมเกียรติเองก็อยากไปด้วยเหมือนกัน แต่ทางพี่สาวซึ่งเป็นเพื่อนกับ เอื้อง-สาลินี ปันยารชุน เห็นว่าแทนที่จะไปทำงานอยู่หลังเวที เขาควรนำเพลงที่ทำเก็บไว้ไปเสนอมากกว่า นักศึกษาหนุ่มจึงฝากผลงานทั้งหมดผ่านทางเอื้องไปให้ผู้บริหารของ Media Plus พอทุกคนได้ฟังต่างก็สนใจ เพราะถือเป็นมิติใหม่ของวงการเพลงไทย จนนำไปสู่การเปิดพื้นที่ให้สมเกียรติทดลองนำเพลงไทยมารีมิกซ์ ออกอากาศทาง Smile Radio

สมเกียรติมักแวะเวียนมาที่ออฟฟิศเป็นประจำ เพื่อพูดคุยเรื่องดนตรีกับเหล่ากูรู ตลอดจนคอยติดตามความเคลื่อนไหวของวงการเพลงทั่วโลกผ่านนิตยสารที่นำเข้าจากต่างประเทศ 

“เราขอเข้าไปนั่งเฉย ๆ ซึ่งเขาก็ให้นั่งนะ ถามว่าเอาน้ำไหม เอาขนมไหม แปลกดี แต่สิ่งสำคัญคือ มันเปลี่ยนตัวเราเองจากเดิมที่เคยอยู่แต่ในบ้าน ได้มาเจอกับผู้คนที่คุยในสิ่งสนใจเหมือนกัน ศิลปินไหนที่ชอบบ้าง เช่น Kylie Minogue, Rick Astley หรือ Jason Donovan แล้วที่นั่นเหมือนเป็นแหล่งข้อมูลของดนตรีทั้งหมด มีหนังสือ มี Billboard วาง เราก็นั่งอ่านข่าวสาร หรือเวลาแผ่นเสียงอะไรจะออก เราก็จะรู้แล้วว่าเดือนหน้าต้องเก็บตังค์ แล้วก็มีแลกแผ่นกันฟัง คือมันเป็นคอมมูนิตี้ เหมือนเป็นครอบครัวที่ 2 ของเราเลย”

สำหรับบทเพลงที่สมเกียรติเลือกนำมารีมิกซ์ ส่วนใหญ่เน้นเพลงที่มีเมโลดีไพเราะ คำร้องเป็นเรื่องบวก ภาษาสวย เช่นเพลงของ ปั่น-ไพบูลย์เกียรติ เขียวแก้ว ซึ่งแทบไม่มีเพลงสไตล์อกหักแบบล้างแค้นเลย นอกจากนี้เขายังได้กุนซือดี อย่าง วินิจ เลิศรัตนชัย Program Director ประจำคลื่น คอยช่วยแนะนำและเปิดโลกเพลงไทยให้กว้างขวางขึ้น จนกระทั่งคำว่า ‘Remix by สมเกียรติ’ กลายเป็นคำติดหูแฟน ๆ ‘คลื่นสุดท้ายทางซ้ายสุด’ โดยปริยาย

หากแต่ผลงานของเขาไม่ได้มีเพียงแค่การนำเพลงเดิมมาใส่เทคนิค แต่ยังมีการเชิญศิลปินตัวจริงเสียงจริง ทั้ง หงา-สุรชัย จันทิมาธร, หมู-พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ, ปู-พงษ์สิทธิ์ คำภีร์ และ เอ็ม-สุรศักดิ์ วงษ์ไทย มาร้องเพลงของตัวเองในเวอร์ชันใหม่ที่สมเกียรติสร้างสรรค์ขึ้น

“เป็นช่วงที่ได้รู้จักพี่ ๆ ศิลปินเพื่อชีวิตหลายคน ซึ่งตอนนั้นทุกคนก็กำลังพีกด้วย ถือเป็นเกียรติที่ได้ทำ และช่วยให้ได้รู้ว่าการแต่งเพลงเป็นอย่างไร มันมีสเตปของมัน ไม่ใช่อยู่ดี ๆ แล้วนึกขึ้นมาได้ ตอนนั้นเราคอยสังเกตว่าพี่หงาเขียนเพลงแบบนี้นะ เขาร้องแบบนี้ เพราะทางผู้ใหญ่เขาให้เราเป็นคนคุมเอง ทั้งที่ทำไม่เป็นหรอก แต่เรายังไงก็ได้ ซึ่งความประทับใจคือเราได้เห็นความเป็นศิลปินของแต่ละคนชัดเจน ได้เห็นว่ากว่าผลงานแต่ละชิ้นจะมาถึงผู้ฟังได้นั้นต้องผ่านกระบวนการอะไรบ้าง”

ทั้งหมดนี้กลายเป็นต้นทุนทางความคิด รวมทั้งแรงบันดาลใจที่ทำให้สมเกียรติอยากผลิตผลงานเพลงที่ดีและมีคุณภาพสู่ผู้ฟัง ซึ่งหลังจากนั้นไม่นานโอกาสครั้งใหญ่ก็วิ่งเข้าหาชายหนุ่มวัย 22 ปี จนนำไปสู่การก้าวสู่บทบาทโปรดิวเซอร์แถวหน้าของเมืองไทย

จุดเปลี่ยนสำคัญของสมเกียรติ เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2535 เมื่ออายุสัมปทานของ Smile Radio สิ้นสุดลง และไม่มีใครทราบว่าอนาคตของคลื่นวิทยุรอยยิ้มแห่งนี้จะเป็นอย่างไร

เวลานั้นสมเกียรติรู้สึกเคว้งไปพอสมควร

แต่คงเหมือนชะตาลิขิตไว้แล้วให้เขาต้องโลดแล่นในวงการดนตรีต่อ จึงเป็นจังหวะพอดีที่ดีเจเอื้องแนะนำให้ได้รู้จักกับ พี่จิก-ประภาส ชลศรานนท์

พี่จิกถือเป็นนักแต่งเพลงมือทองที่ปั้นศิลปินให้โด่งดังมาแล้วนับไม่ถ้วน โดยเวลานั้นเขาเพิ่งถอนตัวจากค่าย KITA Records เพื่อมาเปิดสังกัดของตัวเองอย่าง MUSER Music & Service พร้อมกับกำลังค้นหาศิลปินหน้าใหม่ เอื้องจึงพาสมเกียรติไปแนะนำตัว และทำให้เขาได้ออกอัลบัมแรกที่นี่

“พี่จิกได้ยินชื่อเรามาจาก Smile Radio แล้วก็รู้สึกว่าแปลกดี ที่สำคัญพี่เขาเป็นคนเปิดกว้างมาก ทั้งที่โอกาสเจ๊งเห็น ๆ แต่ก็ยังยอมเสี่ยง เพราะอัลบัมนี้ถือเป็นโปรเจกต์แรก ๆ ที่ไม่ได้เน้นตัวนักร้อง เวลานั้นมี Reference แค่ Alan Parsons Project คนเดียวเลยมั้ง”

สำหรับรูปแบบการทำงาน พี่จิกปล่อยอิสระเต็มที่ เพียงแต่มอบหมายให้ พี่อี๊ด-ธานินทร์ เคนโพธิ์ มาทำหน้าที่เป็นผู้ร่วมดูแลการผลิต เพื่อช่วยให้การทำงานคล่องตัวมากขึ้น เช่น เรื่องเนื้อเพลง หรือนักร้องที่จะมาบันทึกเสียง ซึ่งสมเกียรติวางโจทย์ว่าอยากได้คนหน้าใหม่ที่ไม่เคยมีผลงานมาก่อน พี่อี๊ดจึงแนะนำนักร้องมาให้ 2 คน คือ โอม-วรรัตน์ หงสกุล และ ต๊งเหน่ง-รัดเกล้า อามระดิษ ซึ่งเคยมาช่วยงานตั้งแต่ยังอยู่ที่ KITA Records

ขณะที่ตัวเพลงที่เลือกมาใส่อัลบัมนั้น สมเกียรติตั้งใจยึดสไตล์ดั้งเดิมแบบที่เคยทำใน Smile Radio ส่งผลให้งานชุดนี้อัดแน่นไปด้วยเพลงเก่า ทั้ง ฉันมันเลว ของ กษาปณ์ จำปาดิบ, ควายเท่านั้น ของ Mama Blues ซึ่ง 2 คนนี้เป็นศิลปินในสังกัด MUSER แล้วยังมี ฝากรัก ของ The Innocent, หนึ่งในหลาย กับ จะให้เหมือนใคร ของ อังศณา ช้างเศวต และ ใจต่างใจ ของ มาลีวัลย์ เจมีน่า

เมื่อทุกอย่างพร้อมแล้ว สมเกียรติจึงเริ่มฟอร์มทีมงานขึ้นมา โดยในฐานะโปรดิวเซอร์ เขารับดูแลเรื่องกลองกับเบสเป็นหลัก เพราะถือเป็นหัวใจสำคัญของเพลงเต้นรำ จากนั้นจึงเริ่มดึงสมาชิกคนอื่น ๆ เข้ามา เริ่มจาก เต๋อ-เรวัตร ปฏิมาทรัพย์ เพื่อนสนิทตั้งแต่สมัยมัธยมและมหาวิทยาลัย เชี่ยวชาญเรื่องเทคโนโลยีและการทำ Sequencer หรือการจัดลำดับดนตรี และ เต๊าะ-จามร วัฑฒกานนท์ มือคีย์บอร์ด ซึ่งสมเกียรติรู้จักผ่านการแนะนำของ ม.ร.ว.รุจยาภา อาภากร อดีตผู้บริหารของ Smile Radio 

“ตอนนั้นอยู่ ๆ พี่รุจยาภาก็โทรศัพท์มาบอกว่ามีน้องคนหนึ่งเป็นมือคีย์บอร์ด อยากแนะนำให้รู้จัก คือลอยมาเลย แล้วก็นัดคุยกัน จากนั้นพี่เต๊าะก็กลายเป็นเพื่อนเป็นพี่ชายที่สนิทตั้งแต่วันนั้นเรื่อยมา”

และแม้อัลบัมนี้จะเน้นที่เพลงเก่าเป็นหลัก แต่สมเกียรติก็อยากได้นักแต่งเพลงเผื่อไว้สักคนหนึ่ง พอดีเขาเคยเห็นรุ่นพี่ในมหาวิทยาลัยคนหนึ่งชื่อ บอย-ชีวิน โกสิยพงษ์ ชอบดีดกีตาร์ร้องเพลงของตัวเองเป็นประจำ เพื่อนจึงแนะนำให้รู้จักกัน โดยนอกจากแต่งเพลงได้แล้ว บอยยังแรปเป็นอีกต่างหาก 

ส่วนคนสุดท้ายคือ สุกี้-กมล สุโกศล แคลปป์ เนื่องจากสมเกียรติเห็นว่าซาวนด์เอนจิเนียร์ส่วนใหญ่ในเมืองไทยมักถนัดแต่เพลงร็อก เอื้องจึงแนะนำให้รู้จักกับสุกี้ที่เพิ่งกลับมาจากต่างประเทศ และกำลังมีแผนอยากจะทำวงแรปในฝันของตัวเอง ซึ่งพอได้พูดคุยกันก็ถูกคอทันที จนนำมาสู่การทำงานร่วมงาน โดยใช้ห้องอัดกมลสุโกศลที่สยามสแควร์เป็นศูนย์บัญชาการ

ความท้าทายคือแต่ละคนล้วนมีความสนใจที่แตกต่าง จึงเป็นหน้าที่ของโปรดิวเซอร์ที่จะต้องหลอมรวมทุกคนเข้าไว้ด้วยกันให้ได้ โดยครั้งหนึ่งสุกี้เคยเล่าในหนังสือ BAKERY & I ว่าสมเกียรติพยายามนำเพลงแดนซ์มาให้ฟังเป็นตั้ง ๆ เพื่อปรับมุมมองและสร้างแรงบันดาลใจที่ตรงกัน เนื่องจากส่วนตัวเขาไม่ค่อยฟังเพลงแนวนี้สักเท่าไหร่ แต่ถึงจะมีความต่าง สิ่งหนึ่งที่ทุกคนมีร่วมกัน คือไฟที่อยากสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ โดยไม่เคยคิดถึงข้อจำกัดใด ๆ ทางธุรกิจ

“ทุกอย่างคือความออร์แกนิก มันกำเนิดด้วยตัวเอง ไม่เคยคิดว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ พวกเรานำรสนิยมต่าง ๆ มาแชร์กัน ทดลองกัน เพราะแต่ละคนไม่มีใครเหมือนกันเลย อย่างพี่เต๊าะนี่มีความเป็นโปรเกรสซีฟ ของสุกี้ก็เหมือนกัน แล้วก็ยังมีความเป็นฮิปฮอป เป็นร็อก เป็นกรันซ์ด้วย ส่วนพี่บอยเป็นอาร์แอนด์บี ขณะที่ผมเป็นแดนซ์ เป็นอิเล็กทรอนิกส์ แต่เราคุยกันรู้เรื่อง ไม่ขัดกันเลย ยิ่งทำยิ่งสนุก ทำไปหัวเราะไป ทั้งที่ไม่รู้ว่าจะขายได้หรือเปล่า ถือเป็นช่วงที่มีความสุขมาก

“อีกอย่างหนึ่งคือเราเห็นว่าเมืองไทยนี่แปลก คนที่ฟังเพลงสากลเขาไม่คิดจะมาฟังเพลงไทย ส่วนคนที่เป็นนักดนตรีไทย เขาก็ยุ่งอยู่กับเพลงที่เขาทำในยุคนั้น ไม่ได้มีการพัฒนาร่วมกัน เราเลยคิดว่าทำไมถึงไม่ทำเพลงไทยให้เหมือนเมืองนอกไปเลย”

Z-MYX : Z-Zomkiat วางแผงเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2536 ถือเป็นผลงานที่เต็มไปด้วยการทดลองและส่วนผสมที่หลากหลาย ทั้งการนำซาวนด์เอฟเฟกต์แปลก ๆ อย่างเสียงกุกกักเหมือนเสียงของแผ่นไวนิลเก่ามาผสมในเพลง ฝากรัก หรือเพลง ควายเท่านั้น สมเกียรติก็นำมาปรับเป็น Tecno Pop ซึ่งเป็นแนวเพลงเต้นรำที่ได้รับความนิยมในฝั่งยุโรป ได้แรงบันดาลใจจากวง 2 Unlimited 

อีกเพลงที่ถือเป็นงานเปิดตัวอัลบัม คือ ใจต่างใจ ซึ่งทำออกมาในรูปแบบ Hi-NRG สไตล์เพลงเต้นรำแบบอเมริกันที่ได้รับความนิยมมากในยุค 1970 ซึ่งไม่เคยมีศิลปินไทยคนใดเคยทำมาก่อน ที่สำคัญยังทำให้คนฟังได้รู้จักกับนักร้องเสียงมหัศจรรย์อย่างต๊งเหน่งเป็นครั้งแรก นอกจากนี้ยังมีเพลงใหม่ อย่าง ใจรู้อยู่ ฆาตกรรม และเพลง เหงา ซึ่งเป็นเพลงแรกที่บอยเขียนทำนองให้กับสมเกียรติอีกด้วย

ทว่าด้วยความที่สมเกียรติไม่ชอบปรากฏตัวผ่านสื่อ แถมไม่ได้นำเพลงไปแสดงคอนเสิร์ตที่ไหนเลย แม้แต่ภาพปกก็ยังเลือกใช้ภาพเบลอ ๆ การโปรโมตเน้นผ่านทางรายการวิทยุเป็นหลัก ส่งผลให้อัลบัมนี้ไม่ได้เป็นที่รู้จักในวงกว้างเท่าใดนัก โดยคนฟังส่วนมากคือกลุ่มนักศึกษาซึ่งสนใจแนวเพลงใหม่ ๆ นั่นเอง

แต่สิ่งที่สำคัญมากกว่ารายได้ คือการที่เขาได้พบเจอกับทีมงานที่มีหัวใจเดียวกัน จนนำไปสู่ความฝันที่อยากจะรังสรรค์ผลงานที่ช่วยเปิดหน้าต่างบานใหม่ให้กับวงการเพลงไทย ซึ่งทั้งหมดนี้ปรากฏชัดเจน ใน Z-MYX Volume 10 อัลบัมชุดถัดมา

นาทีนี้คงไม่มีใครไม่รู้จักเพลง ลมหายใจ เพลงที่ดังที่สุดของอัลบัม Z-MYX Volume 10 และยังเป็นผลงานเปิดตัว ป๊อด-ธนชัย อุชชิน แต่รู้หรือไม่ว่าตอนแรกเพลงนี้เกือบไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของอัลบัมนี้

หลังเสร็จสิ้นจาก Z-MYX : Z-Zomkiat สมเกียรติและทีมยังคงเดินหน้าสร้างผลงานใหม่ร่วมกันต่อไป แต่สิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนไป คือแนวทางการทำอัลบัมที่ไม่จำกัดว่าต้องนำเพลงเดิมมารีมิกซ์เท่านั้น

“พอเราฟังไปเรื่อย ๆ ก็รู้สึกว่าเพลงไทยที่นำมารีมิกซ์ทำบางแนวไม่ได้ เพราะเพลงฝรั่งในยุค 1990 แนวเพลงมันเปลี่ยนแบบเดือนต่อเดือนเลย เหมือนคนนี้สร้างผลงานศิลปะด้วยการพ่นสี อีกคนใช้กรรไกร บางคนใช้ไฟ ซึ่งพอเราได้ยินก็จะรู้สึกได้แรงบันดาลใจทุกครั้ง แล้วก็แค้นว่าทำไมถึงทำเหมือนเขาไม่ได้ สุดท้ายเราก็ต้องทำเพลงของเราขึ้นมาเอง มันทำให้เริ่มกลับมาคิดและวางแผนว่าต้องมีเพลงใหม่ที่เป็นเพลงของตัวเราเองจริง ๆ”

การทำงานในชุดนี้ไม่ได้ต่างจากชุดแรกเท่าใดนัก โดยพี่อี๊ด ธานินทร์ ยังรับหน้าที่โคโปรดิวเซอร์ คอยสนับสนุนการทำงานของสมเกียรติเช่นเดิม ตั้งแต่การหานักร้องที่จะมาถ่ายทอดบทเพลงต่าง ๆ ซึ่งคนร้องหลักก็ยังเป็นต๊งเหน่ง ซึ่งสมเกียรติยกให้เป็นคนที่เข้าใจแนวเพลงและถ่ายทอดเสียงได้สมบูรณ์ที่สุด

ส่วนนักร้องอีกคนที่เข้ามาช่วย คือ ต้น-ชาญณัฏฐ์ พัฒนกุล บุตรชายของ อนุสรณ์ พัฒนกุล มือกลองแห่งวง The Impossible ซึ่งเพิ่งเซ็นสัญญากับ MUSER โดยต้นมาช่วยร้องเพลงใหม่ ๆ อย่างดึกแล้ว รู้สึกไหม และ มหัศจรรย์แห่งรัก

สำหรับเรื่องเนื้อเพลงนั้น นอกจากจะเขียนเพลง ดึกแล้ว พี่อี๊ดยังรวบรวมทีมงานในค่ายมาช่วยเต็มที่ ทั้ง เจี๊ยบ-วรรธนา วีรยวรรธน ซึ่งเขียนเพลง เก็บวันดี ๆ และ แก้ว-ชวิณี เกษบุญชู เขียนเพลง รู้สึกไหม กับ มหัศจรรย์แห่งรัก โดยโจทย์ที่สมเกียรติวางไว้ คืออยากได้เพลงรักที่มีเนื้อหาเชิงบวก

“เพลง รู้สึกไหม อยากให้เป็นเพลงที่มีความชิลล์ เพราะเราตั้งใจให้อัลบัมนี้ออกช่วงหน้าหนาว ตอนนั้นผมเขียนคอร์ดไว้ประมาณหนึ่ง แล้วพี่อี๊ดมาช่วยแต่งเพิ่ม ส่วนตัวเนื้อเพลง พี่เขาแนะนำน้องคนหนึ่งมาช่วยเขียน จำได้ว่าตอนเจอแก้วครั้งแรก เขาติสต์มากเลย พอเขียนเสร็จ เราก็ต้องเลือกว่าชอบหรือเปล่า ซึ่งเอาจริง ๆ ไม่รู้หรอกว่าแบบไหนดีหรือไม่ดี แต่พอฟังแล้วรู้สึกแปลกไม่เหมือนใคร หรืออย่าง มหัศจรรย์แห่งรัก ก็เป็นเพลงรักที่ค่อนข้างเป็นนามธรรม เนื้อหาเซอร์เรียลมาก แต่มีความสวยงาม ซึ่งสมัยก่อนไม่ค่อยมีใครเขียนแบบนี้”

นอกจากนี้ยังมีเพลงบรรเลงอีก 2 เพลง คือ เพลง เหงา…เหงา กับ Z-MOS โดยในเพลงหลังนั้นเต๋อเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด ด้วยความตั้งใจจะนำซาวนด์ของเพลงเทคโนที่กำลังโด่งดังในต่างประเทศมาเสนอให้ผู้ฟังชาวไทย อัลบัมชุดนี้จึงเปรียบเสมือนตัวแทนของยุคสมัยทศวรรษ 1990 อย่างแท้จริง

แต่ถึงจะเน้นเพลงใหม่เป็นหลัก แต่ลายเซ็นดั้งเดิมที่อยู่กับ Z-MYX ก็ยังเป็นสิ่งที่สมเกียรติเห็นว่าขาดไม่ได้ โดยชุดนี้เขาได้เลือกเพลง บทเรียน เพลงเก่าของมาลีวัลย์ เจมีน่า กับ เพราะเราเข้าใจ เพลงดังของ รวิวรรณ จินดา มานำเสนอในรูปแบบของตัวเอง รวมทั้งนำเพลง ตาอินกะตานา ผลงานคลาสสิกของสุนทราภรณ์ มาเป็นตัวเปิดอัลบัม โดยเพลงนี้ถือเป็นการร่วมงานครั้งแรกกับ อภิสิทธิ์ โอภาสเอี่ยมลิขิต หรือ โจอี้ บอย

ตาอินกับตานา ได้แรงบันดาลใจมาจากงานของ Ace of Base เช่นเพลง All That She Wants หรือ The Sign เขาเรียกว่าเป็นเร็กเก้ยุคใหม่ในช่วงปี 1990 เลยคิดว่าควรหยิบเพลงเก่า ๆ มาทำสักเพลง ซึ่งเรื่องการร้อง เราตั้งใจทำให้เป็นแรป เพราะสมัยนั้นแรป-ร็อกได้รับความนิยมมาก คือคอรัสร้องหวาน ๆ อยู่ แล้วก็แทรกด้วยแรปมาเล่าเรื่องราว โดยคอรัสก็คือต๊งเหน่ง ส่วนแรปคือพี่บอยกับโจอี้ บอย

“โจอี้นี่โผล่มาในช่วงที่พี่สุกี้เขาทำวง TKO แล้วก็มีสมาชิกคนหนึ่งชื่อ โยฮัน (Johann Helf) เขาไปเที่ยวสีลม ซอย 4 แล้วเจอฮิปฮอปคนหนึ่ง น่าสนใจมาก เลยเรียกมาร้อง เจอหน้าครั้งแรกที่ห้องอัดเลย ซึ่งวิธีร้องของโจอี้เรียกว่า Raggamuffin ซึ่งสมัยนี้ทำกันได้เยอะ แต่ว่าโจอี้ทำได้ก่อน เวลาเขาอ่านแล้วพูดออกมาเป็นแบบนั้นเลย

“ขณะที่ท่อนแรป เราก็ไกด์พี่บอยว่าอยากให้เขียนเกี่ยวกับเร็กเก้ด้วย ซึ่งเร็กเก้อยู่อเมริกาใต้ แต่ตอนนั้นนึกว่าอยู่แอฟริกา เลยไปเขียนตาอินกับตานาไปแอฟริกา มัวแต่ทะเลาะกัน ตลกดี จำได้ว่าเป็นเพลงที่มี Dynamic และมีอะไรที่สนุกเต็มไปหมด เพราะความตั้งใจของเราคืออยากทำเพลงให้เป็นสากล เพราะแต่ก่อนเรื่องพวกนี้ไม่ได้มีการสอนหรือแบบแผนการศึกษาที่ชัดเจน ถ้าเราไม่หยิบ ตาอินกับตานา มาทำ ก็ไม่มีใครทำเลย จึงอยากให้เพลงนี้เป็นเสมือนการบันทึกยุคสมัย ให้เห็นว่ามีจุดเริ่มต้นจากอะไร มีแรงบันดาลใจจากไหน”

ส่วนเพลงสุดท้ายที่ถูกหยิบมาใส่อัลบัมคือ ลมหายใจ เพราะเดิมทีสมเกียรติทำเพลง ง่าย ๆ ของ เฉลียง เสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่เมื่อมาลองฟังทั้งอัลบัมอีกครั้งกลับรู้สึกไม่ลงตัวเท่าใดนัก จึงตัดสินใจดึงออก และพอดีช่วงนั้นบอยเขียนเพลงนี้เพื่อจีบแฟนสาว ซึ่งเขาฟังแล้วรู้สึกเพราะดี จึงถือโอกาสหยิบมาเรียบเรียงใหม่ โดยได้ ป๊อด แห่งวง Moderndog ผู้ชนะการประกวด Coke Music Award ครั้งที่ 1 ซึ่งสนใจอยากให้สุกี้มาช่วยโปรดิวซ์อัลบัมชุดแรกรับหน้าที่ถ่ายทอด

“จริง ๆ พี่บอยยังไม่อนุญาตนะ แต่พอดีอัลบัมหนึ่งต้องมี 10 เพลง แล้วทางค่ายก็เร่งมาด้วย ซึ่งตอนที่ได้ยินเพลงนี้ก็รู้สึกว่ามันบวกสุด ๆ ดูลอย ๆ เป็นอารมณ์แบบ เธอคือลมหายใจ ก็เลยขอมาทำ พี่บอยเขาก็เออ ๆ ออ ๆ ลองดูก็ได้ ก็เลยเอามาเลย ตอนแรกเขาดีดกีตาร์เป็นเพลงช้า แต่เพลงช้ามันไม่ใช่แนวไงเลยเปลี่ยนเป็นเพลงเร็ว และทดลองใส่กลองแบบที่ชอบเข้าไป จนกลายเป็นเวอร์ชันที่ทุกคนได้ยิน”

Z-MYX Volume 10 วางแผงในวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2536 โดยชื่ออัลบัมนี้เป็นไอเดียของ แหม่ม-สุรัสวดี เชื้อชาติ หรือ Mama Blues ที่เปรียบงานเพลงของสมเกียรติว่าต้องเร่งเสียงลำโพงให้ดังที่สุด ขณะที่โลโก้บนปกก็นำมาจากสัญลักษณ์ Volume ในเครื่องแมคอินทอชรุ่นแรกนั่นเอง

นอกจากผลงานเพลงที่โด่งดังติดหูและถูกใจคนฟัง โดยเฉพาะเพลง ดึกแล้ว ที่ไต่อันดับของชาร์ตวิทยุแทบทุกแห่ง และเพลง มหัศจรรย์แห่งรัก ซึ่งถูกนำไปประกอบละครจักร ๆ วงศ์ ๆ เรื่อง มิติมหัศจรรย์ ทางช่อง 7 สี อัลบัมชุดนี้ยังถือเป็นผลงานที่ทำให้สมเกียรติเป็นที่รู้จักในวงกว้าง เพราะเป็นครั้งแรกที่เขาปรากฏตัวผ่านสื่อจริงจัง ด้วยการแสดงมิวสิกวิดีโอร่วมกับต้น ผู้ร้องเพลง

ที่สำคัญ ผลงานชุดนี้ยังได้รับเสียงชื่นชมในหมู่นักวิจารณ์อย่างล้นหลาม เช่น ครั้งหนึ่ง วิภว์ บูรพาเดชะ บรรณาธิการ happening และ พีรภัทร โพธิสารัตนะ อดีตบรรณาธิการบริหารนิตยสาร DDT เคยเขียนยกย่องให้อัลบัมชุดนี้เป็น 1 ใน 50 อัลบัมอินดี้ไทยยอดเยี่ยมตลอดกาล

…เป็นงานบุกเบิกดนตรีเต้นรำแนวใหม่ในบ้านเราอย่างแท้จริง แม้ตัวงานยุคหลัง ๆ ของสมเกียรติจะเยี่ยมขึ้นเรื่อย ๆ แต่ผู้ชายชื่อ Z คงไม่เป็นตำนานในวันนี้ ถ้าเขาไม่เคยทำอัลบัมเต้นรำป๊อป ๆ ที่ชื่อ Volume 10 มาก่อน…

หากแต่สิ่งที่อยู่เหนือกว่าชื่อเสียงและเงินทอง คือความสัมพันธ์ที่ได้ทำงานร่วมกับคนคอเดียวกัน จนกลายเป็นแรงบันดาลใจให้พวกเขาอยากยกระดับจากกลุ่มเฉพาะกิจที่มาช่วยกันทำโปรเจกต์หนึ่ง มาสู่การตั้งบริษัทผลิตเพลงโฆษณาร่วมกัน และพัฒนาไปสู่ค่ายเพลง Bakery Music ในที่สุด

“Z-MYX Volume 10 เป็นอัลบัมสำคัญที่สุดในชีวิตของผม เนื่องจากชุดแรกนั้นเหมือนเป็นการทำให้คนได้รู้จักตำแหน่งหน้าที่ของเราว่าคืออะไร เพราะก่อนหน้านั้นคนยังไม่รู้จักว่า Dance Music หรือเพลง Remix เป็นอย่างไร แต่พอมาถึงชุดนี้ คนเริ่มรู้จัก เริ่มมีชื่อเสียง และทำให้ได้ทำในสิ่งที่รักต่อไป ไม่ใช่แค่งานอดิเรก ที่สำคัญคือเราอยากให้อัลบัมนี้เป็นเหมือนกับเป็นเพลงที่เราไว้ฟังเอง เป็นเพลย์ลิสต์ของเรา ซึ่งผลที่ตามมา คือทุกคนที่มาช่วยก็มีความสุข สนุก จนกลายเป็นความทรงจำที่สวยงามที่มีร่วมกัน”

… เธอคือลมหายใจ เธอคือทุกอย่าง จะรักเธอไม่มีวันจางไปจากใจ ก็เพราะเธอคือลมหายใจ…

เสียงร้องตามจากแฟนเพลงในคอนเสิร์ต พี่ป๊อด with Balloon Boy เมื่อวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2565 ดังกึกก้องไปทั่ว หลังจากสมเกียรติปรากฏตัวพร้อมกับเพลง ลมหายใจ ในรูปแบบ Original Version

ไม่น่าเชื่อว่าเพลงที่ไม่เคยถูกโปรโมต ไม่มีมิวสิกวิดีโอ แสดงสดแทบนับครั้งได้ จะกลายเป็นบทเพลงสำคัญที่ทำให้อัลบัมหนึ่งข้ามกาลเวลา ยังคงถูกร้อง เล่น และบรรเลงเรื่อยมา

“คงเพราะการร้องหรือแนวดนตรี รวมถึงเนื้อหาที่แตกต่าง ตั้งแต่สมัยนั้น ซึ่งสำหรับผมถือว่าเนื้อหาเป็นตัวเปิด แต่ถึงอย่างนั้นเราก็ไม่ได้ตั้งเป้าว่าต้องทำให้ไม่เหมือนใครนะ ซึ่งเราก็ทำอย่างนี้ต่อเนื่องมาจนถึงยุค Bakery Music” 

ด้วยความรักและความทรงจำที่มีต่ออัลบัมนี้ หลังไตร่ตรองอยู่พักใหญ่ สมเกียรติตัดสินใจนำ Z-MYX Volume 10 กลับมาทำในรูปแบบแผ่นเสียงอีกครั้ง เพื่อเป็นการขอบคุณผู้ฟังที่ติดตามมาตลอด 3 ทศวรรษ พร้อมทั้งยังนำเพลงทั้งหมดมารีมาสเตอร์และปรับแต่งให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น เพื่อให้เหมาะสมสำหรับการฟังบนแผ่นเสียงมากที่สุด โดยยังคงอารมณ์ดั้งเดิมครบถ้วนเหมือนเมื่อครั้นที่วางแผงครั้งแรก

“ความจริงน่าจะทำชุดแรกนะ แต่สำหรับผม อัลบัมนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นทุกอย่าง แล้วหลาย ๆ อย่างถ้าให้กลับมาทำอีกก็คงทำไม่ได้แล้ว มันเป็นอะไรที่ลงตัว มีความแปลก และเกี่ยวข้องกับยุคสมัย ทั้งซาวนด์และเทคโนโลยีด้วย มีความเป็น Nostalgia ที่มีความสมบูรณ์อยู่ในตัวเอง อีกอย่างคือทุกวันนี้ยุคสมัยของแผ่นเสียงนั้นกลับมาใหม่ หลายคนไม่มี เก็บแต่แผ่นตัด เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีก็ต้องสร้างขึ้นมา และพอทำแล้วก็ต้องให้ดีที่สุด”

โดยในงานรับแผ่นเสียงที่ Slowcombo มีแฟนเพลงตัวจริงเสียงจริงหลายร้อยชีวิตเดินทางมาร่วมงาน บางคนนำของที่ระลึกมามอบให้ บางคนหอบหิ้วเทปแคสเซ็ต ซีดี และแผ่นเสียงชุดอื่น ๆ มาให้สมเกียรติเซ็นชื่อ นับเป็นเครื่องยืนยันถึงความผูกพันที่มาอย่างยาวนาน

และทั้งหมดนี้คือกำลังใจสำคัญที่ทำให้พ่อมดดนตรีผู้นี้ยังคงอยากจะหยัดยืนและเดินหน้าสร้างผลงานที่แปลกใหม่เพื่อเป็นของขวัญให้กับทุกคนต่อไป

ข้อมูลประกอบการเรียบเรียง
  • บทสัมภาษณ์คุณสมเกียรติ อริยะชัยพาณิชย์ วันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566
  • นิตยสารแพรวสุดสัปดาห์ ปีที่ 11 ฉบับที่ 244 ปักษ์แรก เดือนเมษายน พ.ศ. 2536
  • นิตยสาร a day ปีที่ 1 ฉบับที่ 6 เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544
  • นิตยสาร disc@zine ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 เดือนพฤษภาคม-มิถุนายน พ.ศ. 2544
  • นิตยสาร mars ปีที่ 2 ฉบับที่ 16 เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2547
  • หนังสือ BAKERY & I ชีวิต ดนตรี และเบเกอรี่ ผ่านสายตาของสุกี้ โดย กมล สุโกศล แคลปป์
  • ปกอัลบัม Z-MYX : Z-Zomkiat
  • ปกอัลบัม Bakery Love Is Forever

Writer

Avatar

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา

เพจเล่าเรื่องที่เชื่อว่าคนธรรมดาทุกคนต่างมีความเป็นยอดมนุษย์อยู่ในตัว

Photographer

Avatar

ผลาณุสนธิ์ ผดุงทศ

ช่างภาพที่โตมาจากเมืองทอง รักแมว ชอบฤดูฝน และฝันอยากไปดูบอลที่แมนเชสเตอร์