หากคุณสุ่มเปิดโทรทัศน์ขึ้นมาในช่วงไพร์มไทม์แล้วเปิดไล่ช่องไปเรื่อย ๆ มีโอกาสสูงมากที่จะได้พบกับใบหน้าของ มนตรี เจนอักษร หรือ พี่ปุ๊ ที่กำลังสวมบทบาทเป็นตัวละครสักตัวหนึ่งในละครหรือภาพยนตร์ที่นำมาฉายซ้ำ

ผลลัพธ์เช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่เพียงช่วงเวลาปัจจุบัน แต่หากย้อนกลับไปหลายสิบปีก่อน คุณก็อาจได้ผลลัพธ์เช่นเดียวกัน เพราะ ปุ๊-มนตรี เจนอักษร เป็นนักแสดงชายที่ทำงานในแวดวงบันเทิงมากว่า 40 ปี มีผลงานทั้งละครเวที ละครโทรทัศน์ ภาพยนตร์ รวมถึงเสียงพากย์ที่เราอาจไม่ได้เห็นใบหน้าของเขา

มนตรีเล่าให้เราฟังว่า หากนับรวมกับการพากย์ด้วยแล้ว เขาน่าจะทำการแสดงมาแล้วไม่ต่ำกว่า 1,000 เรื่อง เราจึงถือวิสาสะสรุปเอาเองว่า เขาน่าจะเป็นนักแสดงผู้ได้ทำงานกับบทที่หลากหลายมากที่สุดคนหนึ่งของประเทศไทย และตัวเลขนี้ก็คงจะเพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ อย่างที่เขาบอกว่า “ถ้าชาติหน้ามีอาชีพนักแสดงอีก คนก็คงจะได้ดูละครที่ผมเล่น”

เราอาจเห็นมนตรีในบทบาทมากมาย แต่วันนี้เราไม่ได้มาคุยกับเขาถึงบทบาทการแสดงเรื่องใดเป็นพิเศษ นอกไปจากบทชีวิตและแบกกราวนด์ของตัวละครที่ชื่อ มนตรี เจนอักษร ที่เขาน่าจะเจนจัดมากที่สุด เราขอชวนคุณอ่านเรื่องราวชีวิตของนักแสดงคนหนึ่งที่น้อยคนจะได้รับชม

'มนตรี เจนอักษร' กับความฝันของคนขี้อาย สู่นักแสดงที่สวมบทบาทมากว่า 1,000 เรื่อง

หลายคนรู้จักคุณก็เมื่อเป็นนักแสดงแล้ว อยากให้คุณเล่าช่วงเวลาก่อนที่เราจะรู้จักกันให้ฟัง

อันนี้อาจจะยังไม่เคยบอกใคร ตั้งแต่เด็กเราอยากเป็นอยู่ 2 อย่างเท่านั้น คือ นักพากย์ กับ นักแสดง อาจจะเพราะตอนเด็ก ๆ ชอบดูหนัง ซึ่งตอนนั้นกว่าจะได้ดูหนังยากมาก เพราะคุณพ่อตั้งกฎไว้ว่าต้องสอบได้ที่ 1 ถ้าไม่ได้ที่ 1 ก็อดดูหนัง ตอนเด็ก ๆ เราเลยสอบได้ที่ 1 ตลอดเพราะอยากดูหนัง ซึ่งเวลาดูก็จะชอบดูคนพากย์ไปด้วย ว่าเขาพากย์ยังไง ใช้เสียงยังไง เพราะโรงในยุคก่อนเขาจะพากย์ในโรงเลย

จากนั้นเราก็จำมาลองทำเองบ้าง เวลาอ่านหนังสือการ์ตูนเราก็จะพากย์เสียงเป็นตัวละครในหนังสือ แล้วอัดเสียงใส่เทปไปเปิดให้เพื่อนฟัง เพื่อนก็จะงงว่าเสียงใคร บางครั้งถ้าในเรื่องนี้ฝนตก เราก็จะทำเอฟเฟกต์ฝนใส่เข้าไปด้วย

อีกอย่างเวลาดูหนังหรือละคร เราจะวิเคราะห์หรือบอกได้ว่านักแสดงคนนี้เก่งจังเลย นักแสดงคนนี้ไม่เก่งเท่าไหร่ แล้วจะจำวิธีการเล่น วิธีพากย์ต่าง ๆ เหล่านี้มาตลอดเวลา ทั้ง ๆ ที่คุณพ่ออยากให้เป็นทนาย

ความฝันนี้ของคุณมีอุปสรรคบ้างไหม

สิ่งหนึ่งที่แย่มาก ๆ สำหรับตัวเอง คือเป็นคนขี้อายมาก ถ้าให้ทำลับหลัง เช่น อ่านการ์ตูนแล้วอัดเสียงมาให้เพื่อนฟังแบบนั้นทำได้ แต่เมื่อไรก็ตามที่ต้องมาอยู่ต่อหน้าฝูงชนจะทำอะไรไม่ได้เลย 

ตอนเรียนชั้นมัธยมที่โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย เวลาอาจารย์ให้ออกไปพูดหน้าชั้น เราจะรู้สึกเกร็ง เขิน กลัวเพื่อนจะมองเราว่าเป็นแบบนั้นแบบนี้ ทั้งที่ตอนซ้อมพูดที่บ้านเราทำได้ดีมาก แต่พอไปพูดหน้าชั้นเรียนแค่เดินออกไปก็ไม่กล้าแล้ว เราประหม่าจนปากสั่นและพูดต่อไม่ได้ คือต้องกลับเข้าไปนั่งทั้งที่เริ่มพูดไปได้แค่นิดเดียว ความรู้สึกตอนนั้นคืออึดอัดมาก ๆ

อะไรคือจุดเปลี่ยนที่ทำให้คุณเริ่มกล้าแสดงออก

สิ่งที่ช่วยเราคือวิชาศิลปะการละคร ตอนนั้นเราสอบติดคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ในวันปฐมนิเทศจะมีอาจารย์จากสาขาวิชาต่าง ๆ มาพูดให้นักศึกษาใหม่ฟัง หนึ่งในนั้นมีอาจารย์จากสาขาวิชาการแสดง สิ่งที่อาจารย์พูดในวันนั้นเรายังจำได้เลย เขาพูดว่า 

“ใครที่ไม่มีความมั่นใจในตัวเอง ใครที่เวลาไปยืนพูดหน้าชั้นแล้วปากสั่นเพราะความกลัว หรือมีความไม่กล้าต่าง ๆ มาเรียนวิชานี้กับครู” 

คุณสมบัติทั้งหมดที่พูดมาตรงกับเราเป๊ะเลย เราเลยเลือกวิชาศิลปะการละครเป็นวิชาโท ซึ่งการที่เราได้เรียนและฝึกฝนในศาสตร์นี้ มันทำให้เราสะกดจิตตัวเองว่า เราเป็นตัวละครที่เล่นอยู่ และแสดงอารมณ์หรือสิ่งที่ตัวละครเป็นออกมาได้ แต่ถ้าต้องกลับเป็นตัวเองเมื่อไร เราก็ยังทำไม่ได้เหมือนเดิม เช่น ถ้าให้เราออกไปร้องเพลงหน้าชั้นเรียนโดยที่เป็นตัวเอง เราจะร้องเพลงไม่ได้ แต่ถ้าคิดว่าเราเป็นตัวละครหนึ่งที่กำลังจะร้องเพลง อันนี้ทำได้ เราใช้วิธีนี้เรื่อยมาจนกระทั่งมันผสมกลมกลืนไปกับตัวเรา และความขี้เขินขี้อายมันก็หายไป

 จากเด็กที่ฝันอยากเป็นนักพากย์ นักแสดง แต่ไม่กล้าแม้แต่จะออกไปพูดหน้าชั้นเรียนเพราะเขินอาย พอเข้ามหาวิทยาลัยทุกอย่างมันหลอมรวมเราจนจัดการปัญหานั้นไปได้เกือบจะหมด

'มนตรี เจนอักษร' กับความฝันของคนขี้อาย สู่นักแสดงที่สวมบทบาทมากว่า 1,000 เรื่อง

บทเรียนไหนจากวิชาศิลปะการละคร ที่คุณยังจดจำและหยิบมาใช้อยู่จนทุกวันนี้

เรื่องวินัย จำได้ว่าตอนเรียนอาจารย์เคยยกตัวอย่างการแสดงละครในประเทศอังกฤษว่า เขาจะเล่นตรงเวลามาก ไม่เคยสายแม้แต่นาทีเดียว แต่มีละครอยู่เรื่องหนึ่งเล่นช้าไป 6 นาที เพราะเด็กไทยคนหนึ่งมาสาย สิ่งนี้มันกระแทกใจเรามาก เพราะการแสดงละครต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกคน ทั้งผู้กำกับ คนเขียนบท ทีมงาน นักแสดง ฯลฯ ทุกคนต้องมีวินัย และรับผิดชอบหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุดงานถึงจะสำเร็จลุล่วง แต่ถ้าใครคนใดคนหนึ่งขาดวินัยมันก็จะล่มทั้งกอง ดังนั้น เรื่องวินัยจึงเป็นสิ่งที่เราจดจำและปฏิบัติอยู่จนถึงทุกวันนี้

หลังจากที่เรียนจบ คุณได้คิดไว้ไหมว่าอยากจะไปทำอะไรต่อ

ช่วงที่จบใหม่ไฟแรงมาก ตอนนั้นไปทำหลายอย่าง เคยทำหนังเองด้วย ทั้งเขียนบทเอง กำกับเอง แล้วก็ชวนเพื่อน ๆ มาเล่น ซึ่งคนหนึ่งที่มาช่วยงานก็คือ คุณธเนศ วรากุลนุเคราะห์ เพราะเคยเล่นละครเวทีด้วยกันที่ AUA Thai Players แต่สุดท้ายก็พับโปรเจกต์ไป

ขณะเดียวกันก็เป็นอาจารย์สอนวิชาภาษาอังกฤษและวิชาละครสมัยใหม่ (Modern Drama) อยู่หลายที่มาก เป็นอาจารย์พิเศษที่ ม.ราชภัฏสวนสุนันทา ที่วิทยาลัยนาฏศิลป และที่ ม.ศิลปากร แต่ช่วงที่กำลังรอบรรจุเพื่อเป็นอาจารย์ มันคาบเกี่ยวกับช่วงที่เราได้เล่นละครเวที และ อาจารย์คณิต คุณาวุฒิ ซึ่งขณะนั้นเป็นอาจารย์ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ เขามาทำฉากตอนที่เราเล่นด้วย เขาเลยแนะนำเราให้กับ คุณลุงวิจิตร คุณาวุฒิ ซึ่งเป็นคุณพ่อของเขาว่า มีนักแสดงคนหนึ่งแสดงโอเคเลย น่าจะชวนไปเล่นหนังเรื่อง คนภูเขา ด้วย ทำให้เราต้องตัดสินใจหนักว่าจะเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยต่อ หรือจะไปเป็นนักแสดง

ในช่วงตัดสินใจ คนที่ให้คำปรึกษาเราได้ดีมาก ๆ คือ อาจารย์เด่นดวง พุ่มศิริ ซึ่งเป็นอาจารย์ประจำภาคที่สอนเรามา สิ่งที่เราจำได้ดีคือท่านพูดว่า “มนตรี ถ้าเธอไปเป็นนักแสดงอาชีพแล้วประสบความสำเร็จ นั่นหมายความว่าการสอนของครูประสบความสำเร็จด้วย” เพราะตอนนั้นคนที่เรียนด้านการแสดงมายังไม่มีใครที่นำไปประกอบอาชีพจริงจัง คำพูดนั้นเลยทำให้เราตัดสินใจลาออก และตั้งใจจะเป็นนักแสดงอาชีพจริง ๆ

การเล่นภาพยนตร์เรื่องแรกมีความท้าทาย หรือต่างจากการแสดงละครเวทีไหม

เรามีพื้นฐานจากการเล่นละครเวทีมาแล้ว เรารู้ว่าควรจะเข้าถึงตัวละครยังไง แค่เปลี่ยนจากการถ่ายทอดให้ผู้ชมเห็นแบบสด ๆ เป็นการถ่ายทอดผ่านทางกล้อง แต่ก็มีความแตกต่างที่เราต้องปรับตัวเล็กน้อย เช่น ตอนเล่นละครเวทีต้องพูดเสียงดังเพื่อให้ผู้ชมได้ยิน แต่ตอนเล่นหนังเราไม่ต้องพูดดังขนาดนั้น แค่พูดดังพอให้กล้องได้ยิน

อีกอย่างที่ต่างคือสมัยก่อนเวลาเล่นหนังจะมีคนตะโกนบอกบทให้นักแสดงพูดตาม ซึ่งตอนแรกก็งง เพราะเราเคยแสดงละครเวทีที่ต้องจำบททั้งหมดกว่า 3 ชั่วโมงเอง ตอนหลังถึงรู้สึกว่าง่ายยิ่งกว่าตอนแสดงละครเวทีเสียอีก แต่จริง ๆ เราก็จำได้ทั้งหมดนะว่าบทของเราเป็นยังไง

เล่นหนังเรื่องแรกก็ได้รางวัล จากบท ‘อาโยะ’ เลยทันที ความรู้สึกตอนนั้นเป็นอย่างไร

ต้องบอกว่าสมัยก่อนคุณลุงวิจิตรเรียกได้ว่าเป็น ‘เศรษฐีตุ๊กตาทองเมืองไทย’ คือได้รางวัลตุ๊กตาทองเยอะมาก ๆ อยู่แล้ว แถมยังขึ้นชื่อว่าเป็นผู้กำกับที่ดุมาก ตอนที่ถ่ายหนังเสร็จผู้ช่วยผู้กำกับบอกกับเราว่า ถ้าถ่ายหนังเสร็จแล้วให้รีบไปรดน้ำมนต์เลย เพราะเราเป็นคนเดียวที่ไม่เคยโดนดุโดนว่าแม้แต่คำเดียว ตอนที่เราแสดงมีบางฉากที่คุณลุงท่านตามภรรยามาดูด้วย ทำให้รู้สึกว่าพื้นฐานเราพอใช้ได้ น่าจะไปได้ดีในทางนี้

'มนตรี เจนอักษร' กับความฝันของคนขี้อาย สู่นักแสดงที่สวมบทบาทมากว่า 1,000 เรื่อง

รางวัลมาพร้อมชื่อเสียงด้วย

มาพร้อมกันเลย ตอนนั้นเสียงชื่นชมเยอะมาก ซึ่งการรับมือกับมันก็ยากมาก เพราะอย่างที่บอกว่าพื้นฐานเราเป็นคนขี้อาย เป็นคนรักสงบ เพราะฉะนั้นพอเริ่มเป็นคนมีชื่อเสียง เวลาไปไหนก็จะมีคนมอง มีคนทักทายตลอดเวลา คือถ้าเป็นเรื่องการแสดงเราไม่มีปัญหาเลย แต่เราว่าการรับมือกับวิถีชีวิตของคนที่เป็นนักแสดงมันยากมาก

จนมีช่วงหนึ่งเราหนีไปเที่ยวต่างประเทศเลย แต่ขณะที่เดินอยู่บนถนนในประเทศนั้นก็ได้ยินเสียงคนตะโกนเรียก ‘มนตรี’ พอหันไปพบว่าเป็นคนไทยทักทายมาหาเรา หลังจากนั้นเลยคิดได้ว่า จะหนีไปไหนคุณก็ต้องเจอคนที่รู้จัก ถ้าจะมีอาชีพนี้คุณก็ต้องอยู่กับมันให้ได้ เพราะวิถีตรงนี้เป็นส่วนหนึ่งของอาชีพคุณ ถ้าตัดตรงนี้ออกไปคุณก็จะมีอาชีพนี้ไม่ได้ หลังจากที่กลับมาไทยเราก็เข้าใจสิ่งนี้มากขึ้น เวลาเจอคนเข้ามาทักทายเราก็ยิ้มแย้ม กล้าที่จะทักทายเขากลับ คือต้องสลัดความอายและความรักสันโดษของตัวเองทิ้งไป

แสดงว่าตอนที่ฝันว่าอยากเป็นนักแสดง ไม่ได้ฝันว่าอยากมีชื่อเสียง

ไม่เคยฝันว่าอยากจะมีชื่อเสียงเลย คิดแค่ว่าอยากทำในสิ่งที่ตัวเองรัก จะมีหรือไม่มีชื่อเสียงก็ไม่เป็นไร เพราะว่าทั้งการเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย หรือการเป็นนักแสดงละครเวที พอหน้าที่จบ กลับเข้าไปหลังเวทีคนดูก็ลืม เราแค่อยากทำในสิ่งที่รักจริง ๆ ไม่ได้ต้องการชื่อเสียง

ตั้งแต่เรื่อง คนภูเขา จนถึงปัจจุบัน คุณรับบทเป็นตัวละครมากี่เรื่องแล้ว 

ถ้าละครกับหนังก็อาจจะเกินร้อย แต่เราก็มีพากย์หนังที่คนอื่นเล่นด้วย หนังไทย หนังฝรั่ง หนังจีน อินเดีย ฯลฯ ถ้านับหนังที่เราได้พากย์ก็อาจจะเป็นพันเรื่องแล้วมั้ง เพราะเมื่อก่อนหนังไทยมีเยอะมาก แล้วหนังไทยทุกเรื่องที่ออกฉายจะต้องมีเสียงเราอยู่ แต่ก็ไม่แน่ใจเรื่องจำนวนจริง ๆ เพราะไม่เคยได้จดบันทึกไว้ 

เป็นปกติที่นักแสดงต้องรับบทละครหรือภาพยนตร์หลายเรื่องพร้อมกัน การทำงานกับตัวละครที่แตกต่างกันในเวลาเดียวกันเป็นอุปสรรคไหม

ไม่เลยครับ เพราะอย่างเวลาเราพากย์หนังเรื่องหนึ่ง เราได้พากย์ทั้งบทพระเอก ผู้ร้าย ตัวตลก และตัวอื่น ๆ ในเวลาเดียวกันอยู่แล้ว บางครั้งต้องพากย์ให้ทะเลาะกันไปมาก็มี เลยไม่ได้รู้สึกว่ามันยากกับการต้องไปสวมบทบาทเรื่องหนึ่งเป็นคนดี และอีกเรื่องหนึ่งเป็นคนเลว

ทักษะของการพากย์หนัง ช่วยส่งเสริมทักษะการแสดงของคุณได้

ใช่ จริง ๆ เพราะเวลาพากย์หนังเราจะได้เล่นบทซึ่งไม่มีในละครไทยหรือหนังไทย เราได้เล่นบทที่นักแสดงหลายคนใฝ่ฝันที่จะเล่นนะ เช่น ได้รับบทเดียวกับ แบรด พิตต์ ได้เล่นบทเดียวกับเฉินหลง และนักแสดงอีกหลาย ๆ คน ทั้งฮอลลีวูด เกาหลี จีน อินเดีย แอฟริกาใต้ ฯลฯ แล้วเวลาทำงานเราจะเล่นบทนั้นจริง ๆ ไม่ใช่แค่พากย์ บางเรื่องต้องมีร้องไห้ เราก็จะทั้งเล่นทั้งพากย์พร้อมกัน ซึ่งก็ทำให้ได้เรียนรู้จังหวะการแสดงของนักแสดงประเทศต่าง ๆ เราก็เก็บสิ่งเหล่านี้ไว้เป็นข้อมูล สังเกต จดจำ และนำมาปรับใช้กับการแสดงของเรา

'มนตรี เจนอักษร' กับความฝันของคนขี้อาย สู่นักแสดงที่สวมบทบาทมากว่า 1,000 เรื่อง

ที่ผ่านมาคุณได้รับบทเป็นตัวละครประเภทไหนมากที่สุด

ไม่แน่ใจเหมือนกัน เพราะสำหรับเราแต่ละบทมันไม่เหมือนกันเลย ถึงแม้ว่าเราจะเล่นเป็นกำนันสัก 10 เรื่อง แต่กำนัน 10 คนนั้นไม่เหมือนกัน อาจจะอยู่ต่างภูมิประเทศ อยู่คนละจังหวัด คนที่รายล้อมอยู่ก็ไม่เหมือนกัน เหตุการณ์ก็ต่างกัน นิสัยต่างกัน เพราะฉะนั้น ทุกเรื่องเป็นเรื่องใหม่สำหรับเราทั้งหมด ก็เลยตอบไม่ได้ว่าเขาให้เราเล่นบทประมาณไหนมากที่สุด เพราะเวลาที่แสดงเราก็ไม่ได้แสดงออกมาให้เป็นตัวละครตัวเดียวกัน

เบื้องหลังการทำงานกับบทของคุณเป็นอย่างไร

ทำการบ้านเยอะมาก สมมติเขาเขียนคาแรกเตอร์มาอย่างหนึ่ง เราจะกลับไปทดลองที่บ้านเป็นสิบ ๆ รูปแบบ ท่าทางการขยับ น้ำเสียง วิธีการพูด หรืออารมณ์ว่าเป็นแบบนั้นแบบนี้ได้ไหม หรือบางบทที่ดูจะเป็นแพตเทิร์นจนเกินไป เราจะเล่นยังไงให้มันดูไม่เหมือนเดิม ไม่จำเจ เช่น บทพูดที่พอพูดไปแล้วคนดูจะเดาได้ว่าเราต้องพูดคำนี้ต่อแน่ ๆ วิธีการที่เราจะเล่นคือ ทำยังไงให้คนดูไม่รู้ว่าเราจะพูดคำนั้น เราต้องใช้จังหวะยังไงให้แตกต่างจากที่คนอื่นเขาเคยเล่นมา 

ยิ่งถ้าเป็นตัวละครที่มีอาชีพหรือลักษณะคล้าย ๆ กันกับที่เคยเล่นก็จะยิ่งยากขึ้นไปอีก เพราะต้องคิดว่าจะเล่นยังไงให้คนดูรับรู้ได้ว่า ตัวละครตัวนี้แตกต่างจากตัวละครตัวก่อนที่เราเคยแสดง นอกจากนั้นเราก็ต้องไปดูหน้างานด้วยว่าถ่ายกับนักแสดงคนไหน ถ้าเป็นนักแสดงที่เราไม่รู้ว่าเขาจะเล่นจังหวะยังไง แบบไหน ก็ต้องมาร่วมมือกันเพื่อที่จะเข้าถึงบทและถ่ายทอดตัวละครนั้นออกไปให้ดีที่สุด

มีตัวละครไหนที่อยู่ในดวงใจไหม

มีหลายตัวเลย เอาที่ใกล้ ๆ ตัวก่อนก็ได้ เป็นตัวละครที่กำลังโดนด่าอยู่ คือเรื่อง ซ่านเสน่หา ผมชอบความคิดของตัวละครตัวนี้ เพราะเขาถูกสั่งสอนมาแบบนี้ ได้รับการอบรมมาแบบนี้ เขาเชื่อมั่นในตัวเองมากว่าเขาเป็นผู้ชายที่ดูแลทุกอย่างในครอบครัวได้ ทุกคนต้องพึ่งเขา เขาสั่งอะไรก็ต้องทำตาม เป็นตัวละครที่เชื่อมั่นในตัวเองมาก ๆ ซึ่งเราเคยตั้งคำถามว่ามีด้วยเหรอคนแบบนี้ แต่ก็นึกขึ้นมาได้ว่าต้องมีสิ เพียงแต่เราไม่เคยเจอคนในแวดวงของเราเป็นแบบนี้เท่านั้นเอง แล้วมันมีสิ่งที่ตอบคำถามของเราได้จริง ๆ เพราะตอนที่แสดงออกไปแล้วมีคนมาคอมเมนต์ว่า เหมือนพ่อหนูเลย เราเลยได้ค้นพบว่ามีคนแบบนี้อยู่จริง ๆ แต่เราไม่เคยเจอ

คุณดูจะเป็นคนที่เข้าใจตัวละครและไม่ตัดสิน แม้ว่าบางครั้งเขาจะไม่ใช่คนที่ดีนัก

ใช่ เราจะไม่ตัดสิน แต่ต้องหาทางที่จะเข้าใจเหตุผลที่เขาเป็นแบบนี้ให้ได้ เราต้องหาเหตุผลให้ได้ว่าทำไมเขาถึงคิดแบบนั้น ทำไมถึงทำแบบนั้น  ถ้าหาไม่ได้เราก็จะเล่นไม่ได้ ซึ่งเราก็พบว่าคนเขาจำบทร้าย ๆ ของเราได้หมดเลยนะ ท่านพินิจใน คุณชายพุฒิภัทร นาคี กลิ่นกาสะลอง ซ่านเสน่หา หรือรุ่นเก่า ๆ อย่างบทพ่อตี๋ใหญ่ บทแบบนี้พอเล่นแล้วคนเขาจะจำได้ จำได้ปุ๊บก็ไปขุดเรื่องที่เราเล่นบทร้ายมาตั้งแต่สมัยไหนไม่รู้ ส่วนบทที่เราเล่นหัวเราะ เฮฮา ใจดี คนไม่ค่อยจำ 

ความฝันของคนขี้อายที่ปากสั่นยามพูดหน้าห้อง สู่การเป็นนักแสดงระดับชาติที่เคยสวมบทบาทมามากกว่า 1,000 เรื่องของ มนตรี เจนอักษร

หลายคนจำคุณได้ในบทร้าย ๆ ในชีวิตจริงคุณดุไหม

ไม่มีเด็กคนไหนเคยกลัวเลย (หัวเราะ) ถ้าคนที่รู้จักกันเห็นเราเล่นก็อาจจะขำ อย่างเวลาเราดูละครที่ตัวเองเล่นพร้อมกับแฟน เขาก็จะหันมาตีแล้วถาม ‘ทำไมดุอย่างนี้’

ในชีวิตการแสดง บทบาทไหนที่คุณรู้สึกท้าทายที่สุด

ทุกบทมีความท้าทายแตกต่างกัน โดยเฉพาะบทที่เราคิดว่าไม่มีอะไร ก็จะยิ่งท้าทายมาก ๆ เพราะเราต้องเล่นให้มันน่าสนใจให้ได้ จริง ๆ ต้องบอกว่าเราสนุกกับการค้นหา สนุกกับการสร้างแบ็กกราวนด์ รวมถึงองค์ประกอบอื่น ๆ เพื่อที่จะสร้างเรื่องราวของตัวละครให้ดูมีชีวิตและดูน่าสนใจ เพราะฉะนั้นเลยมีความรู้สึกว่า ถ้าได้รับบทอะไรก็แล้วแต่ เราต้องศึกษาให้เยอะที่สุด เพราะมันแปลกใหม่สำหรับเราเสมอ

แต่ถ้าจะพูดให้ติดตลกก็คือ บทที่ไม่ดีคือสิ่งที่ท้าทายที่สุดเลย หนังบางเรื่องที่รับเล่นไปแล้วแต่บทที่ได้มามันไม่โอเค เป็นบทที่เรารู้สึกว่าไม่อยากพูดเลย แต่ก็ต้องหาวิธีผลักดันตัวเอง หาแรงจูงใจ หาเรื่องราว แบ็กกราวนด์ต่าง ๆ จนกระทั่งผ่านบทนั้นไปได้ แต่หลายเรื่องก็มีความรู้สึกว่าผ่านได้ไม่ดีนัก

คุณพูดในบทสัมภาษณ์อยู่บ่อยครั้งว่าคุณรักการแสดง อะไรที่ทำให้คุณรักสิ่งนี้มาได้ยาวนาน

ถ้าให้ตอบตรง ๆ คือ เราเป็นคนที่ไม่มีความคิดหลากหลาย รักอะไรแล้วรักเลย สมมติว่ามีแฟนก็มีคนเดียวไปเลย เพราะรักก็คือรัก รักแล้วก็คือจบเลย จะถามยังไงก็ยังรักอยู่เหมือนเดิม แล้วมันจะโชคดีขนาดไหนถ้าคุณได้ทำสิ่งที่คุณรักเป็นอาชีพ 

เลยรู้สึกว่าตัวเองโชคดีมากที่ได้ทำอาชีพที่เรารัก สมมติย้อนเวลากลับไป ถ้าเราไม่ได้เป็นนักแสดง ก็คงจะทำอาชีพที่เกี่ยวกับการแสดงหรือการพากย์ อาจจะไปเป็นครูสอนก็ได้เพราะตอนนั้นเป็นครูอยู่แล้ว และเมื่อไรก็ตามที่เราทำสิ่งที่ตัวเองรัก มันไม่มีทางที่จะเป็นอย่างอื่นไปได้ มันเปลี่ยนไม่ได้จริง ๆ

แล้วพอได้ทำในสิ่งที่รัก พอเปิดกล้องใหม่ ได้เจอทีมงาน เจอนักแสดงใหม่ ๆ ได้เล่นบทใหม่ ๆ เราก็จะมีความสุขสนุกสนานทุกครั้ง และเวลาได้เจอกับนักแสดงรุ่นใหม่ ๆ ซึ่งทุกวันนี้แต่ละคนก็มีความสามารถมาก เรารู้สึกยินดีที่ได้ทำงานร่วมกัน และถ่ายทอดเรื่องราวต่าง ๆ ให้ทุกคนได้ชม เพราะฉะนั้นมันจึงไม่มีคำว่าเบื่อ เคยมีนักแสดงมาถามผมว่าพี่ถ่ายละครมาเป็นระยะเวลาหลายสิบปีขนาดนี้ ไม่เบื่อบ้างเหรอ ผมก็ตอบเขาไปว่าไม่เบื่อเลย ทุกครั้งที่ออกจากบ้านก็มีความสุขมากที่จะได้มาอยู่กับกองถ่าย มาอยู่กับเรื่องราวใหม่ ๆ เพราะทุกสิ่งคือสิ่งใหม่สำหรับเราหมด เพราะฉะนั้นเราไม่เคยเบื่อเลยแม้แต่ครั้งเดียว และไม่เคยสายเลยแม้แต่ครั้งเดียวด้วย

เคยคิดไหมว่าจะเป็นนักแสดงไปจนถึงอายุเท่าไหร่

ถ้าชาติหน้ามีอาชีพนักแสดงอีก คนก็คงจะได้ดูละครที่ผมเล่น (หัวเราะ) แต่ท้ายที่สุดแล้วเราก็ไม่รู้ว่าคนจะเลิกดูเราเมื่อไร เราจะรู้ได้ยังไงว่าคนรุ่นใหม่ ๆ เขาจะดูละครที่เราเล่น ถ้าเขายังดูอยู่เราก็จะยังเล่น แต่ถ้าเขาเลิกดูอันนั้นก็ตัวใครตัวมัน ก็เหมือนกับสื่อสิ่งพิมพ์ที่ถ้ายังมีคนอ่าน ยังไงมันก็ยังอยู่ แต่ถ้าเขาไม่อ่านแล้วเราก็ต้องยอมรับ

คุณใช้ชีวิตอยู่ในวงการมานานและไม่เคยมีข่าวไม่ดีสักครั้ง อะไรคือความลับของการยืนระยะ

เราเคยถามคำถามนี้กับตัวเองและพบว่าน่าจะเป็นเพราะเรามีความสุขง่าย และไม่ได้รู้สึกว่าจะต้องแสวงหาอะไรที่มีความสุขไปมากกว่านี้แล้ว ซึ่งจริง ๆ แต่ละคนก็มีวิธีของตัวเอง เราไม่ค่อยอยากบอกใครว่าต้องทำยังไง แต่สำหรับเราคือแค่ได้มากองถ่ายก็มีความสุขแล้ว ไม่จำเป็นต้องไปแสวงหาอะไรที่มันสุขมากจนเกินขอบเขต เพราะฉะนั้นก็เลยมองว่าไม่จำเป็นต้องไปหาเรื่องที่มันไม่ดีนี่นา เพราะชีวิตคนเราไม่ได้ยาวขนาดนั้น ทำสิ่งที่ดีสิ่งที่มีความสุขกับตัวเองดีกว่า

ความฝันของคนขี้อายที่ปากสั่นยามพูดหน้าห้อง สู่การเป็นนักแสดงระดับชาติที่เคยสวมบทบาทมามากกว่า 1,000 เรื่องของ มนตรี เจนอักษร

Writer

Avatar

คณพล วงศ์วิเศษไพบูลย์

นักเขียนอิสระ ที่กำลังลองทำงานหลายๆ แบบ ชอบลี้คิมฮวง ต้นไม้ เพลงแก่ๆ มีความฝันอยากทำฟาร์มออร์แกนิก และล่าสุดเขียนจดหมายสะสมลงในเพจ In the Letter

Photographer

Avatar

A.W.Y

ช่างภาพจากเชียงใหม่ที่ชอบของโบราณ ยุค 1900 - 1990