รถไฟฟ้าพาเราข้ามจากแม่น้ำเจ้าพระยาสู่ฝั่งธนบุรี เพียงไม่กี่สิบนาทีก็ถึงบ้านที่นัดหมาย

ความรู้สึกของเรา ฝั่งธนบุรียังคงมีพื้นที่ทำสวน ปลูกผัก ปลูกไม้ผล ให้พอได้เห็นอยู่บ้าง แม่น้ำลำคลองทางแถบชานเมืองนี้เลยพลอยดูมีชีวิตชีวาตามวิถีที่เป็นมา ภาพพระพายเรือบิณฑบาต ภาพเรือพายขายของ ภาพเรือนักท่องเที่ยวก็ยังคงมีอยู่ แม้สัดส่วนจะมากน้อยต่างไปจากเดิมก็ตาม

“เมื่อเช้าแดดสวยมาก” คำทักทายสั้น ๆ เมื่อแรกเจอกันกับเจ้าของบ้านหลังนี้ ชวนให้เราหยุดแล้วมองบรรยากาศรอบตัว จากนั้นเขาก็พาไปนั่งดื่มด่ำธรรมชาติที่ศาลาริมน้ำเป็นการเรียกน้ำย่อยก่อนเข้าชมตัวบ้านในเบื้องต้น

ตอนนี้พี่เป็นเจ้าของบริษัทโฆษณาชื่อ บริษัท มันเดย์ จำกัด ร่วมหุ้นกับเพื่อน เล็ก-พรรษพล ลิมปิศิริสันต์ และทำ ‘อำแดง แบงค็อก ริเวอร์ไซด์ โฮเต็ล’ ร่วมกับเล็ก รวมถึงมีซื้อบ้านมารีโนเวตบ้าง” หมิ่น-วิบูลย์ ลีภักดิ์ปรีดา เล่าถึงตัวเองสั้น ๆ ตามที่เราร้องขอให้ช่วยแนะนำตัว

ความจริงแล้ว หากเจาะลึกเนื้อหาแต่ละอย่างที่หมิ่นทำ งานโฆษณาที่ออกมาสู่สายตาพวกเรานั้นกวาดรางวัลมามากมายหลากหลายตัวทั้งในและนอกประเทศ ส่วนโรงแรมอำแดง นับเป็นบูทีกโฮเต็ลที่ตั้งอยู่ตรงโค้งน้ำเจ้าพระยาย่านคลองสาน ก็แสนสวยเก๋อุดมไปด้วยคอนเซปต์ และเป็นจุดหมายในการเดินทางพักผ่อนของใครต่อใคร
นี่สินะคนจริง เขาไม่พูดเยอะ – ฉันรำพึงในใจ

“ตรงนี้ก็สบาย ๆ เช้า ๆ จะมีพระพายเรือมารับบาตร ท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดนวลนรดิศ เราเลยได้ใส่บาตรกับครอบครัวเกือบทุกเช้า ลูก ๆ ก็ได้มาใส่บาตรด้วย เป็นชีวิตที่เรารู้สึกดี”

“บรรยากาศตอนเช้าริมคลองที่นี่จะไม่มีเรือวิ่ง เรือจะวิ่งเยอะช่วงบ่ายเป็นต้นไป นอกจากมีพระบิณฑบาต ยังมีเรือเก็บขยะ เรือขายอาหาร ภาพอย่างนี้เหมือนกับนาฬิกาตามธรรมชาติ แต่ละคนออกมาประกอบกิจวัตรทุก ๆ วันไม่ได้ขาด โดยเฉพาะพระที่พายเรือมารับบาตรนี่มาตรงเวลาทั้งไปและกลับ”

หมิ่น เจ้าของบ้าน ณ ริมคลองบางหลวง เริ่มพูดคุยขณะที่พวกเรากำลังตื่นเต้นกับศาลาท่าน้ำที่ดูทันสมัย ก่อนที่เราจะไหลเรื่องนั้นเรื่องนี้ไปเหมือนสายน้ำตรงหน้า เราขอให้หมิ่นช่วยเล่าถึงบ้านรูปทรงกล่องสีเทาตรงหน้าหลังนี้ ให้เหมือนเราได้เข้าไปอยู่ตอนรีโนเวตบ้านกันเลยดีกว่า

อยู่ในที่ที่มีอากาศปลอดโปร่ง

หากเคยอ่านหรือเคยได้ยินทฤษฎีความสุขในทัศนะของนักเขียนรางวัลโนเบล อัลแบร์ การ์มูส์ แล้วล่ะก็ การอยู่ในที่อากาศปลอดโปร่งคือ 1 ใน 4 ข้อที่เขาได้เคยนิยามไว้ และแน่นอน คุณหมิ่นเจ้าของบ้านออกแบบบ้านได้สอดคล้องพอดิบพอดีกับทฤษฎีดังกล่าวอย่างที่เจ้าตัวตั้งใจ

“เดิมที่ดินผืนนี้เป็นโรงงานและเป็นบ้านพักอาศัยด้วย แต่พี่เปลี่ยนหมดเลย เจ้าของเดิมสร้างตัวอาคารเต็มพื้นที่จนแทบไม่เห็นคลองเลย โจทย์คือทำอย่างไรก็ได้ให้พี่ได้เห็นสิ่งที่อยากเห็น เลยทุบ ๆๆๆ ให้เหลือแต่โครงแล้ววาดแบบวางแปลน อันนี้คือโครงสร้างเดิมที่สุด” หลังจบประโยค เจ้าของบ้านชี้ให้เห็นบ้านที่อยู่อีกฟากของฝั่งคลอง

“นั่น Arpo Pool Villa Riverside ของ พี่เล็ก พรรษพล พาร์ตเนอร์ของพี่”

ปัจจุบัน แม้เจ้าของยังไม่ได้ทำเป็นบ้านพักส่วนตัว แต่เปิดเป็นที่พักให้เช่าแบบไพรเวตกรุ๊ป เรานึกในใจว่าคงวางแผนไว้แล้วแน่ ๆ ว่าในอนาคตจะสร้างบ้านใกล้กับเพื่อน แต่ความจริงไม่ใช่อย่างนั้น

หมิ่นเล่าว่าตนซื้อที่ดินตรงนี้ก่อน แต่ในระหว่างก่อสร้างปรับปรุง เล็กมาบอกว่าตนซื้อที่ดินผืนหนึ่งไว้ ซึ่งแม้จะไม่ไกลจากซอยที่ตั้งของบ้านหมิ่น แต่ก็ไม่นึกว่าจะมีเพียงน้ำคลองคั่น จึงนับเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจและน่ายินดีที่มีเพื่อนบ้านเป็นเพื่อนสนิทด้วยโดยบังเอิญ

เรานั่งคุยกันสักพักแข่งกับเสียงเรือที่พานักท่องเที่ยวผ่านมาเป็นระยะ ๆ พอให้ได้รับรู้วิถีบ้านริมคลอง จึงย้ายเข้าไปขอชมในตัวบ้านต่อ

นักโฆษณาที่ออกแบบ-ตกแต่งบ้านได้นิดหน่อย

“เราทำโฆษณามาตั้งแต่แรก แต่ใจลึก ๆ ที่ควบคู่กันมาคืออยากเป็นสถาปนิกด้วย มีความคิดตลอดมาว่าอยากทำบ้านให้ตัวเอง อยากทำบ้านให้คนอื่น อยากจัดบ้าน วัน ๆ เราก็ซื้อแต่หนังสือบ้านมาเต็มไปหมด ที่แรกที่มีโอกาสได้ทำคือบ้านเดิมแถวพระราม 3 ซึ่งเป็นบ้านเก่าของพ่อ มีหนังสือมาถ่ายเยอะเหมือนกัน

“พอวันหนึ่งเราเริ่มคิดถึงวัยเกษียณ คนส่วนใหญ่จะนึกถึงบ้านที่อยู่ต่างจังหวัด เพราะคิดว่าคงให้ความรู้สึกโล่ง โปร่ง และอากาศดี แต่สำหรับพี่ ด้วยความที่มีลูกเล็กอย่าง น้องนิปุณ อายุ 12 ปี น้องณปรร อายุ 8 ปี ก็คิดว่าเราไม่น่าเหมาะกับการอยู่ต่างจังหวัด เพราะเราอยู่ในเมืองมาตลอดชีวิต

“และด้วยความที่อยากแต่งบ้าน ชอบบรรยากาศต่างจังหวัด ชอบศิลปะ และด้วยความอะไรหลาย ๆ อย่างที่รวมกันในตัวเรา เลยคิดว่า เอ้ย หรือว่าพยายามรวม ๆ กันดี

“แรกเริ่มเลยคือไปซื้อที่ดินร่วมกับคุณเล็กเพื่อทำธุรกิจโรงแรม แล้วก็มาคิดต่อว่า ถ้าเราเป็นเจ้าของเองเลยล่ะ ถ้าได้ทำบ้านตัวเองเลยคงจะดีน่าดู พอดีแฟนพี่ (นุ้ย-ทัศนีย์ อรรถรัฐเสถียร) เป็นคนชอบมองหาที่ดิน เราเลยมาได้ที่ตรงริมคลองบางหลวงที่ค่อนข้างสงบนี้

“ตอนบ่ายจะมีเรือโดยสารบ้างนะ แต่พี่ไม่รู้สึกว่าเป็นปัญหา เพราะเข้าใจว่ามันเป็นธรรมชาติ มีความเป็นไปได้ทั้งหมดกับพื้นที่ตรงนี้

“สมมติถ้าไปอยู่ต่างจังหวัด เราก็ไปได้เฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ วันธรรมดาต้องกลับมา เพราะลูกยังเล็ก ต้องไปส่งลูกเรียน ชีวิตเราก็ต้องไป ๆ มา ๆ แบบนี้ และสุดท้ายก็จะไม่ไปหรือไปนาน ๆ ที พี่เชื่ออย่างนั้น บางคนบอกว่าบังคับตัวเองให้เลี้ยงหมาไว้ที่นั่นสิ เราก็ถามตัวเองว่า แล้วทำไมฉันต้องบังคับตัวเองด้วย” หมิ่นเล่าพลางหัวเราะ

ออกแบบให้เป็นบ้านวัยเกษียณ

แม้บ้านหลังนี้จะเป็นบ้านหลังที่ 2 ที่หมิ่นมีโอกาสออกแบบตกแต่งในการอยู่อาศัย แต่ความพิเศษอยู่ที่เจ้าของบ้านวางแผนไว้ว่าจะเป็นบ้านสำหรับวัยเกษียณของตนเอง จึงเลือกอยู่ในที่อากาศดี ๆ ใกล้ชิดธรรมชาติ

หากถามถึงความแตกต่างของบ้านทั้งสอง หมิ่นขยายความให้ฟังว่า

“อารมณ์ต่างกัน แต่ความต้องการไม่ค่อยต่าง บ้านเดิมจะคล้าย ๆ แบบนี้ แต่เราคิดเยอะขึ้น

“เอาจริง ๆ เราแพลนพื้นที่ไว้สำหรับลูก ๆ ด้วย แต่ท้ายที่สุด พอถึงเวลาก็ไม่รู้ว่าเขาจะอยู่กับเราไหมเนอะ เรามีห้องไว้ให้ทั้ง 2 คน ส่วนในอนาคต ถ้าเขาอยากอยู่ด้วยในที่ดินเดียวกัน เราก็มีที่เพียงพอสำหรับให้เขาสร้างบ้านที่ 2 ที่ 3 ได้อีก”
จบประโยค หมิ่นก็เอามือถือเปิดให้ดูภาพบ้านหลังแรก เป็นบ้านไม้ 2 ชั้น ถ้าถามถึงอารมณ์ ความรู้สึกที่เราสัมผัสได้ มันแทบไม่ต่างจากเดิม รับรู้ได้ถึงบรรยากาศบ้านที่อบอุ่นผ่านภาพถ่ายสมาชิกในครอบครัวทั้ง 4 คน จากวันนั้นถึงวันนี้ 2 ปีกว่า ๆ ผ่านไป เด็ก ๆ โตขึ้นตามวัย และบ้านหลังใหม่ก็ยังอวลไปด้วยบรรยากาศสบาย ๆ เป็นกันเองของสมาชิกในครอบครัวที่มีต่อผู้มาเยือนอย่างเรา

“เราเอาเก้าอี้เดิมมาด้วย แต่ตอนนั้นหลังเล็ก ๆ แค่ 60 ตารางวาเอง เดิมทีบ้านคุณพ่อแถวพระราม 3 บ้านทั้ง 2 หลังให้ความรู้สึกโปร่ง สบาย พี่ชอบความรู้สึกอบอุ่น ความเป็นชีวิต

“สิ่งของต่าง ๆ ที่เห็นในบ้านนี้ไม่ใช่ของตั้งโชว์ แต่เป็นของที่มองแล้วเราเห็นเรื่องราว อย่างชุดเหมาเจ๋อตุง ซื้อมาตอนไปจีน ตุ๊กตากลม ๆ นี่ก็ไปซื้อที่ดาลัด เวียดนาม ไม่ว่าไปไหนก็จะไปดูของเก่าเพราะชอบ เราว่าของเก่าที่ผ่านการใช้งานมันเป็นมนุษย์”

วันนี้ใส่หมวกสถาปนิก

“ก่อนที่พี่จะเริ่มออกแบบ มาถึงก็ทุบก่อนเลย จริง ๆ คือถ้าจะสร้างใหม่ต้องร่นเข้ามาเยอะเหมือนกัน เลยเป็นโจทย์กลาย ๆ ว่าจะทำแค่รีโนเวต ซึ่งเราก็ออกแบบโดยไม่ได้จ้างสถาปนิกเลย จ้างแค่ช่างแล้วดูแลเอง ใช้โครงเดิมและเสาเดิมทั้งหมด ไม่มีความเสี่ยงในเรื่องความปลอดภัย

“ส่วนตัวพี่ว่าโครงรับน้ำหนักเบากว่าเดิมด้วยซ้ำไป เพราะเป็นแค่กระจกและพื้นไม้ ส่วนห้องนั่งเล่นคือของเดิมทั้งหมด แต่ส่วนในห้องดูทีวีและห้องครัว เดิมทีโล่งโปร่ง จึงใช้เสาเดิมแล้วเพิ่มชั้น 2 เป็นพื้นไม้เข้าไป กลายเป็นการรวม 2 ส่วนเข้าด้วยกัน

“ทีแรกพี่แพลนไว้ว่าห้องเก็บของต้องใหญ่ยักษ์ มีห้องแม่บ้าน ห้องครัว แต่สุดท้ายก็ออกแบบให้แม่บ้านมาแล้วก็กลับบ้าน

“ส่วนต้นไม้ทั้งหมดคือล้อมมาปลูกเอง ถึงไม่มีต้นไม้ของเดิมเลยแต่ก็ใหญ่เร็วมาก พี่ต้องจัดการกับมันให้เร็วที่สุดเพราะกลัวล้มลงมา เรื่องสีของบ้าน พยายามเลือกสีที่กลมกลืนกัน ทีแรกว่าจะทำสีขาว แต่คิดว่าน่าจะลอยเด่นออกมาจากพื้นที่รอบ ๆ ส่วนตัวชอบความกลมกลืนกับธรรมชาติและชอบสีเขียว ยิ่งตอนหน้าร้อน ต้นหางนกยูงนี่สีส้มทั้งต้น สวยงามเลย

“แล้วก็มีสระว่ายน้ำขนาดย่อม ๆ ให้เด็กได้ว่ายเล่นทุกวัน คุ้มนะ ตอนนี้เขาเป็นนักว่ายน้ำไปแล้ว เราไม่รู้หรอกว่าเขาไปได้ไกลขนาดไหน แค่ให้เขาได้ลองทำและสนุกกับมันก็ว่าคุ้มแล้ว

“ส่วนในบ้านแบ่งฟังก์ชันเองใหม่หมดเลย ตอนทำเราก็รู้สึกว่าใหญ่ บ้านใหญ่นี่จัดยากเนอะ ตอนแรกนึกภาพไม่ออก เลยคิดว่าต้องแบ่งพื้นที่ก่อน ไม่อย่างงั้นมันจะโล่งหมดเลย”

จากประตูเข้าตัวบ้านจะเจอห้องโถงกลาง มุมมองแรกที่เห็นคือภาพวาดสมาชิกในครอบครัวที่หมิ่นวาด ประกอบด้วยหมิ่นและนุ้ย ส่วนภาพลูก ๆ น้องนิปุณและน้องณปรร ทั้ง 2 คนวาดด้วยตัวเอง

จากโถงหลักนี้แยกซ้ายไปนั่งเล่น โปร่งด้วยกระจกใสบานใหญ่ มองเห็นพื้นที่สวนและศาลาริมน้ำ มีบ่อปลาคาร์ปขนานไปกับตัวบ้าน แยกขวาเป็นพื้นที่ดูทีวี มีสระว่ายน้ำขนาดกำลังดีที่พื้นที่ด้านนอก ถัดเข้ามาเป็นห้องครัว มีบันไดเชื่อมไปยังชั้น 2 ซึ่งจัดเป็นพื้นที่ส่วนตัวสำหรับครอบครัว ประกอบไปด้วยห้องนอน ห้องทำงาน ห้องนั่งเล่น และชั้นดาดฟ้า บริเวณห้องนั่งเล่นนี้เองที่หมิ่นออกแบบห้องลับ ๆ ให้เด็ก ๆ ได้มีพื้นที่ส่วนตัวเพิ่มเข้าไปอีกด้วย

แต่งบ้านด้วยของเก่า (ทั้งของเราและของคนอื่น)

“เหมือนเป็นขยะนะ แต่มันไม่ใช่ขยะ” หมิ่นว่า “มันคือขยะของคนอื่น เขาอาจทิ้งหรือเอามาขายในตลาดสินค้ามือสอง ซึ่งพี่ชอบบ้านที่แต่งด้วยของแบบนั้นแหละ ของที่พี่สะสมนี่ไม่ได้แพงเลยนะ แต่รวม ๆ ก็คงหลายตังค์อยู่ เราไปจังหวัดไหน ประเทศไหน มีโอกาสก็จะไปเดินดูของพวกนี้กับแฟนที่ชอบเหมือนกัน

“เฟอร์นิเจอร์ที่ใช้ในบ้านมีทั้งเก่าและทั้งใหม่ พี่แทบไม่ได้ทิ้งเฟอร์นิเจอร์ที่เคยใช้เลย อย่างเก้าอี้ใกล้เปียโน 2 ตัวตรงนั้น พี่เอามาจากบ้านเก่า ที่เรานั่งอยู่ในห้องลิฟวิ่งนี่ก็เอามาจากบ้านเก่า เก้าอี้ลายดอกนั้นเก่าตั้งแต่รุ่นพ่อ รวมถึงตุ๊กตา ฮก ลก ซิ่ว เราเห็นตั้งแต่เด็ก ๆ พ่อซื้อมาจากไหนไม่รู้ ถ้าถามอารมณ์ตอนนั้น คือรู้สึกว่าดูจีน ๆ ดูเชย แต่พอในช่วงวัยนี้กลับมองว่าสวย มองทีไรก็นึกถึงพ่อ พอมาตั้งไว้ก็โอเคนะ

“แท่งดินสอที่เห็นนี่คือถ้วยรางวัลที่ได้จากงานโฆษณานะ” คนโฆษณากล่าว “และทุกมุมในบ้านต้องมีต้นไม้ให้สบายตา เราชอบเลี้ยง แต่เลี้ยงไม่รอดไปหลายชุด ชุดนี้ดีขึ้น เพราะรู้แล้วว่าตรงไหนต้องดูแลยังไง” 

แกลเลอรีของนิปุณและณปรร

“พี่ชอบให้บ้านหรือสถานที่ที่เข้าไปใช้ชีวิตเป็นเหมือนเป็นเฟรมภาพ เราไม่ชอบสีเยอะ อย่างอำแดงก็แดง ออฟฟิศก็ดำ และตัวบ้านนี้ก็สีเทาออกขาว เรามองว่าตึกเหมือนเฟรมภาพ ส่วนของตกแต่งคือสีและภาพที่เราเลือกจัดวางลงไปในเฟรมนั้น

“มันเป็นมาตรฐานหนึ่งที่ทำให้บ้านสวยนะ ถ้าคนมาคิดว่าบ้านจืดไป ลงสีนี้ส่วนหนึ่ง สีนี้ส่วนหนึ่งพอตกแต่งลงไปนี่แย่งซีนกัน แต่ถ้าสมมติเราเตรียมไว้ให้ข้างในสีขาว คราวนี้พอวางอะไรลงไปมันก็จะเป็นของตกแต่ง ไม่ขาดไม่เกิน เหมือนเตรียมเฟรมภาพสีขาวสะอาดรองรับไว้แล้วมันก็จะพอดีไม่มากไป

“บ้านเลยเหมือนแกลเลอรีของพวกเรา แต่ภาพส่วนใหญ่ที่ติดในบ้านนี้คือลูกสาวทั้งสอง น้องนิปุณและน้องณปรร เป็นคนวาด พี่ว่าภาพที่เด็กวาดจะดูเป็นธรรมชาติ มีมุมมองที่ซื่อตรง เขาคิดเห็นอะไร เห็นอย่างไร เขาก็จะวาดอย่างนั้น ถ้าเขาไม่ได้วาดในช่วงวัยนี้ โตหน่อยก็จะเริ่มมีข้อจำกัดและวาดได้ช้าลง คิดเยอะขึ้น

“ตอนเล็ก ๆ เขาไม่รู้หรอกว่าเดี๋ยวจะไม่สวยนะ หรือจะสมจริงไหม อยากวาดก็วาดเลย อย่างภาพลูกชิ้น ณปรร ลูกคนเล็ก อยากวาดก็วาดเลย เหมือนของที่ซื้อมา พ่อซื้อหอไอเฟลแบบหนึ่ง ลูกก็จะซื้อหอไอเฟลอีกแบบหนึ่งมา ของอย่างเดียวกัน แต่การมองเห็นและรับรู้ของเราต่างกัน เพราะฉะนั้น เราต้องส่งเสริมให้เขาวาดช่วงนี้ได้เต็มที่”

ชีวิตที่เป็นไปตามแผน

“โดยส่วนตัวพี่เป็นคนแพลนชีวิตเยอะตั้งแต่สมัยทำงานใหม่ ๆ แล้ว นั่งคิดว่ากี่ปีเราต้องเป็นหัวหน้า กี่ปีเราต้องเป็นเจ้าของบริษัท บ้านหลังนี้ก็อยู่ในแพลนของพี่เหมือนกัน เพียงแต่ตอนนั้นไม่ได้แพลนว่าจะมีลูก แต่พอแต่งงานแล้วมีลูกมันกลับดีกว่าที่เคยคิดไว้ มันเป็นอีกบทหนึ่งของชีวิต

“ถ้าเราโสด เราก็มีความสุขไปในชีวิตอีกแบบหนึ่ง พอมีชีวิตคู่ก็มีชีวิตที่มีสุขไปอีกแบบหนึ่ง คือมันเรียนรู้และเติบโตไปคนละแบบ คนละไลฟ์สไตล์”

แผนในอนาคต : The Studio of Art Therapy

“พี่ชอบคำว่า ‘Living with Art’ มันเป็น DNA ของพี่เลย พี่ทำงานศิลปะมาตั้งแต่เด็ก เราอยู่กับมันเป็นชีวิตประจำวัน จนมาทำเป็นงานประจำ งานอดิเรก พอมีลูกก็ส่งต่อให้ลูก ชอบไม่ชอบอย่างน้อยก็ให้เขาได้ซึมซับ ไม่ว่าจะเป็นการวาดภาพ เล่นดนตรี หรือทำกิจกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับศิลปะ อย่างการพาไปพิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ เลี้ยงสัตว์

“บั้นปลายเราก็เลยอยากทำ Studio of Art Therapy ตั้งชื่อไว้ว่า ศิลปะดูแลใจ

“พี่มองว่าเดี๋ยวนี้คนเราเครียดมากเลย ด้วยสิ่งต่าง ๆ รอบตัวเขา เราอยากใช้บริเวณสนามหญ้าหน้าบ้านริมคลองที่นี่ทำศิลปะบำบัด แต่ต้องไปศึกษาเพิ่มเติมให้ถูกหลักก่อนนะ “อยากให้สถานที่นี้ทำให้เขารู้สึกดี อาจเข้ามาวาดภาพ มาเจอเพื่อนที่คิดเหมือนกัน มาเพื่อเจอบรรยากาศที่ผ่อนคลายก็ได้

“เราเตรียมบ้านหลังนี้ไว้สำหรับอนาคตมาก ๆ และคงใช้เป็นบ้านเตรียมเกษียณ เราออกแบบให้สอดคล้องกับกฎแห่งความสุขในแบบ อัลแบร์ การ์มูส์ ในบั้นปลายชีวิต ฟังดูเศร้าเนอะ (หัวเราะ) แต่จริง ๆ ก็ไม่ขนาดนั้น มันเป็นการวางแผนในระยะยาว”

หลังจากจบบทสนทนา ฉันลองเช็กลิสต์ทฤษฎีความสุขในทัศนะทั้ง 4 ข้อ ของอัลแบร์ การ์มูส์ นักเขียนรางวัลโนเบลชาวฝรั่งเศสเล่น ๆ พบว่ามันครบถ้วนสมบูรณ์แล้วหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นอยู่ในที่ที่มีอากาศปลอดโปร่ง พ้นจากความทะเยอทะยาน ทำงานสร้างสรรค์ และรักใครสักคน โดยเฉพาะในความสุขข้อสุดท้าย ปรากฏตัวให้เราสัมผัสขณะที่เรานั่งฟังเสียงเปียโนของน้องนิปุณ ลูกสาวคนโต โดยมีน้องณปรร ลูกสาวคนเล็กยืนดูอยู่ข้าง ๆ ก่อนจะเตรียมตัวลงเล่นน้ำในสระ ส่วนคุณนุ้ยเดินเข้าไปเตรียมอาหารสำหรับมื้อกลางวัน ฉันเชื่อว่าความสุขมันผ่อนคลายและเรียบง่ายแบบนี้แหละ

Writer

สุภัทรา ณัฐพูลวัฒน์

สุภัทรา ณัฐพูลวัฒน์

บุคคลธรรมดาที่เคยทำงานหนังสืออยู่ช่วงหนึ่ง ปัจจุบันชอบทำสวน ชอบอยู่กับแมว หมา และหน้าหนังสือ

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล