20 พฤศจิกายน 2020
14 K

The Cloud X ไทยประกันชีวิต

คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ตึกสูงกลางเมืองย่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ในซอยโยธี เป็นโรงเรียนทันตแพทย์เก่าแก่ของไทย ปลุกปั้นทันตแพทย์เก่งๆ ทำงานในสังคมไทยมาตั้งแต่ พ.ศ. 2517

บรรยากาศโดยรวมในอาคารค่อนข้างแปลกตา ถ้าเทียบกับสถานโรงพยาบาลรัฐอื่นๆ ที่นี่มีความโมเดิร์น ตกแต่งโทนสีขาวสบายตาไม่อึดอัด เต็มไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย มีเครื่องไม้เครื่องมือที่ทันสมัยมาก เพื่อรองรับการทำงานของอาจารย์ การเรียนของเหล่านักศึกษาทันตแพทย์ และรองรับคนไข้ในงานทันตกรรมทุกด้าน

วันนี้เรากดลิฟต์ขึ้นชั้น 9 มายังคลินิกประดิษฐ์ใบหน้าขากรรไกร คุยกับ ผศ. ดร. ทพ.ณัฐดนัย โชติประเสริฐ อาจารย์ผู้ควบคุมคลินิกประดิษฐ์ใบหน้าขากรรไกร โครงการอะไหล่มนุษย์ อะไหล่ชีวิต

อะไหล่มนุษย์ ภารกิจประดิษฐ์อวัยวะเทียมโดยหมอฟัน เติมเต็มชีวิตผู้ป่วยด้อยโอกาสนับหมื่น, มหาวิทยาลัยมหิดล

เพื่อทำความรู้จักกับภาควิชาทันตกรรมประดิษฐ์แห่งเดียวในไทย ที่มีหลักสูตรการทำอวัยวะเทียมอย่างเป็นทางการ (Maxillofacial Prosthesis Service) ทำการรักษาและเติมเต็มอวัยวะให้กับผู้ป่วยที่มีความพิการทางใบหน้าและขากรรไกร เพื่อให้พวกเขาดำเนินชีวิตในสังคมได้ตามปกติ

คุณหมอณัฐดนัยอธิบายกับเราในเบื้องต้นว่า ผู้ป่วยมีความพิการบริเวณใบหน้าและขากรรไกรมีอยู่ 2 ประเภทใหญ่ๆ 

หนึ่ง คือพิการแต่กำเนิด เช่น ผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ หรือเด็กที่มีใบหูพิการ 

และสอง ผู้ป่วยที่พิการหลังกำเนิด ผู้ที่เป็นโรคเนื้องอกชนิดต่างๆ ผู้ป่วยมะเร็งบนใบหน้า แพทย์ต้องผ่าตัดอวัยวะบางส่วนบนใบหน้าพวกเขาออกไป ทำให้ใบหน้าไม่สมบูรณ์เหมือนเดิม การรักษาโดยวิธีศัลยกรรมตกแต่งไม่สามารถแก้ไขปัญหาผู้ป่วยใบหน้าพิการทุกราย คนไข้เหล่านั้นจึงถูกส่งต่อมาให้ทีมแพทย์ที่คลินิกประดิษฐ์ใบหน้าขากรรไกร มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นคนรักษาต่อ

วันนี้เรามาทำความรู้จักศาสตร์วิชาการแพทย์ที่ยังมีคนรู้จักน้อยมากๆ ในบ้านเรา

อะไหล่มนุษย์ ภารกิจประดิษฐ์อวัยวะเทียมโดยหมอฟัน เติมเต็มชีวิตผู้ป่วยด้อยโอกาสนับหมื่น, มหาวิทยาลัยมหิดล

01

เริ่มจากความตั้งใจที่อยากให้คนไข้มีกำลังใจใช้ชีวิต

คลินิกประดิษฐ์ใบหน้าขากรรไกรแห่งนี้เกิดขึ้นได้จากความตั้งใจของ ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณทันตแพทย์เบ็ญจพจน์ ยศเนืองนิตย์ อดีตหัวหน้าภาคทันตกรรมประดิษฐ์ ที่อยากช่วยคนไข้ไม่รู้สึกกลัวการใช้ชีวิตในสังคม

ย้อนกลับไปเมื่อราว 40 ปีที่แล้ว คุณหมอเบญจพจน์ได้เดินทางไปศึกษาต่อสาขาประดิษฐ์ใบหน้าขากรรไกรที่ประเทศอเมริกา เมื่อกลับมายังประเทศไทย ท่านก็เริ่มรับคนไข้เข้ามารักษา ทำอวัยวะเทียมเพื่อเติมเต็มอวัยวะบนใบหน้า ตอนนั้นยังทำงานภายใต้คลินิกทำฟันปลอม

“คนไข้กลุ่มแรกๆ คือคนไข้กลุ่มมะเร็งใบหน้าที่ต้องตัดโพรงจมูกและตัดขากรรไกรออก หมอก็จะส่งให้ทันตแพทย์มาใส่ฟันปลอม คนไข้ที่ถูกตัดใบหน้าออกไปมาก สมัยก่อนหมอศัลยกรรมตกแต่งเขาก็จะเอาเนื้อส่วนก้นมาแปะ ซึ่งมันก็จะไม่ได้เป็นรูปร่างลักษณะของใบหน้า เป็นก้อนเนื้อมาแปะไว้เฉยๆ ซึ่งถ้าพูดในแง่ของฟังก์ชันก็ใช้งานได้ กลืนน้ำได้ ไม่สำลัก แต่ว่าเรื่องความสวยงามไม่ได้ คนไข้กลุ่มนี้จึงไม่กล้าออกไปข้างนอกหรืออยู่ในสังคม

“อาจารย์หมอเบญจพจน์ตระหนักถึงคุณภาพชีวิตของคนไข้เหล่านี้ เลยพยายามผลักดันงานแบบนี้มากขึ้น สมัยแรกๆ เราทำเฉพาะฟันปลอม คนไข้กลืนไม่ได้ก็มาทำเพดานปากให้เคี้ยวอาหารได้บ้าง ใส่ฟันปลอมได้บ้าง พออาจารย์เบญจพจน์กลับมาจากอเมริกาก็ขยายงานเพิ่มขึ้น เป็นทำใบหูเทียม ใบหน้าเทียม ดวงตาเทียม และทำเบ้าตาเทียม” คุณหมอณัฐดนัยเล่าถึงจุดเริ่มต้นเมื่อหลายสิบปีก่อนให้ฟัง

อะไหล่มนุษย์ ภารกิจประดิษฐ์อวัยวะเทียมโดยหมอฟัน เติมเต็มชีวิตผู้ป่วยด้อยโอกาสนับหมื่น, มหาวิทยาลัยมหิดล
อะไหล่มนุษย์ ภารกิจประดิษฐ์อวัยวะเทียมโดยหมอฟัน เติมเต็มชีวิตผู้ป่วยด้อยโอกาสนับหมื่น, มหาวิทยาลัยมหิดล

ศาสตร์การทำอวัยวะเทียมมีมานานแล้วที่ประเทศอังกฤษและอเมริกา มีสาขาอาชีพที่เรียกว่า Anaplastologist เป็นวิชาชีพทางการแพทย์ที่สรรค์สร้างอวัยวะเทียมอย่างสมจริง ผู้ที่จะทำอาชีพนี้ได้ต้องร่ำเรียนเป็นเวลา 4 ปี เมื่อจบออกมาก็ทำงานร่วมกับแพทย์ในโรงพยาบาล แต่ในประเทศไทยยังไม่มีคณะและวิชาชีพนี้อย่างเป็นทางการ แต่ผู้ที่ทำงานได้ใกล้เคียงที่สุดก็คือทันตแพทย์ สาขาทันตกรรมประดิษฐ์ เนื่องจากหมอทันตกรรมประดิษฐ์ต้องทำฟันปลอมหรือทำรากฟันเทียมอยู่แล้ว เป็นงานที่ต้องใช้ความเก่งทั้งศาสตร์และศิลป์

เมื่อคุณหมอเบญจพจน์รับรักษาคนไข้อยู่ได้สักระยะหนึ่ง จำนวนคนไข้ก็มากขึ้นเรื่อยๆ เกินกว่าที่กำลังหมอคนเดียวจะจัดการไหว จึงตัดสินใจรับอาจารย์มาเพิ่ม หนึ่งในนั้นคือ รศ. ทพ. หม่อมหลวงธีรธวัช ศรีธวัช ผู้เป็นหัวหน้าโครงการในปัจจุบัน พร้อมเปิดเป็นหลักสูตรแห่งแรกและแห่งเดียวในไทย สอนนักศึกษาทันตแพทย์ที่สนใจมาเรียนเฉพาะทางด้านนี้ตั้งแต่ พ.ศ. 2547 

“เราเปิดหลักสูตรครั้งแรกตอน พ.ศ. 2547 แต่ตอนนั้นยังเป็น Advanced Clinic เป็นคลินิกรวมที่หลายแผนกใช้ร่วมกัน ยังไม่มีคลินิกประดิษฐ์ใบหน้าขากรรไกรตามผังโรงพยาบาล เป็นแค่หน่วยประดิษฐ์ใบหน้าขากรรไกรเท่านั้น จนงานของเราเป็นที่รับรู้ของสังคมและของหมอจากโรงพยาบาลต่างๆ ที่ Refer คนไข้มาเยอะ ทางคณะเลยตั้งเป็นคลินิกอย่างที่เห็นทุกวันนี้ เป็นคลินิกหนึ่งในคณะทันตแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งมหาวิทยาลัยอื่นหรือโรงพยาบาลอื่นไม่มีคลินิกนี้

“มันเป็นศาสตร์ที่คนไทยไม่รู้จักเลย แล้วก็มีแพทย์ที่ทำได้น้อย ตอนนี้เราก็มีคุณหมออาสาสมัคร ซึ่งจะเป็นคุณหมอจัดฟัน คุณหมอรักษารากฟัน คุณหมออุดฟัน คุณหมอรักษาโรคเหงือก และคุณหมอตา หมอเหล่านี้เข้ามาช่วยโดยไม่ได้รับเงินสักบาท อันนี้ผมก็ต้องให้คณะทำหนังสือขอบคุณทุกปี” หมอณัฐดนัยเล่า ก่อนขอตัวไปตรวจคนไข้สักพักหนึ่ง

อะไหล่มนุษย์ ภารกิจประดิษฐ์อวัยวะเทียมโดยหมอฟัน เติมเต็มชีวิตผู้ป่วยด้อยโอกาสนับหมื่น, มหาวิทยาลัยมหิดล

02

รักษาร่างกายและรักษาใจ

คลินิกประดิษฐ์ใบหน้าขากรรไกรรับรักษาคนไข้มาแล้วนับหมื่นเคส ทีมแพทย์เจอทั้งเคสง่ายไปจนถึงเคสที่ยากมาก เช่น คุณป้าผู้ป่วยมะเร็งบนใบหน้าที่ต้องผ่านการผ่าตัด จนสูญเสียอวัยวะบนใบหน้าไปเกินครึ่ง

“ผมกับอาจารย์หม่อมดูแลเคสนั้น เป็นเคสใหญ่มากของเรา จนทีมต้องคิดกันหนักเลยว่าจะเริ่มยังไงดี หนึ่งคือจะยึดใบหน้าเขายังไง ใบหน้าเป็นโพรงจนเห็นอวัยวะข้างใน มีการเจาะเต็มไปหมดเลยครับ คนไข้ถ่ายรูปยังไม่มองกล้องเลย ประโยคแรกที่คุยกัน เขาบอกว่าคุณหมอมาช่วยชีวิตเขาทำไม เขาอยากตาย

“พอเราเจอแบบนี้ก็คิดหนักเลยว่าจะช่วยคนไข้อย่างไรดี คนไข้จะกลืนอาหารยังไงเพราะเขาไม่มีเพดานปาก ไม่มีอะไรเลย กว่าจะทำออกมาได้สำเร็จใช้เวลานานเหมือนกัน เราก็พิมพ์แบบใบหน้าเทียมที่เราทำมา มีฟันปลอม มีเพดานปาก มีอวัยวะใบหน้าทั้งหมด 

“อาจารย์หม่อมบอกเราว่า เคสนี้ใหญ่มาก สมัยอยู่อเมริกาก็ไม่เคยเจอ เรารักษาคุณป้าจนลูกสาวสนิทกับพวกผู้ช่วย ลูกสาวบอกว่า ตอนแรกคุณแม่ไม่ยอมไปไหน ไม่ยอมออกจากบ้านเลย ไม่กล้าส่องกระจก ในบ้านห้ามมีอะไรที่จะให้เห็นตัวเอง 

“ปรากฏว่าพอได้ใบหน้าไปแล้ว คุณป้าก็ออกไปไหนมาไหน คุณป้าไปตลาด ไปเที่ยวข้างนอกบ้าน และทุกครั้งที่มาเช็กอุปกรณ์ที่โรงพยาบาล ป้าจะไปสอยมะม่วงมาแจกหมอๆ ลูกสาวก็บอกว่าเขาเห็นความเปลี่ยนไปของคุณแม่เขา คุณแม่เขามีกำลังใจที่จะอยู่มากขึ้น แต่ก็นั่นแหละ ด้วยความที่เป็นมะเร็ง พออยู่ไปอีกประมาณสี่ปี มะเร็งมันกินเข้าไปถึงฐานสมอง แล้วก็ทะลุเข้าไปในสมอง” 

อะไหล่มนุษย์ ภารกิจประดิษฐ์อวัยวะเทียมโดยหมอฟัน เติมเต็มชีวิตผู้ป่วยด้อยโอกาสนับหมื่น, มหาวิทยาลัยมหิดล
อะไหล่มนุษย์ ภารกิจประดิษฐ์อวัยวะเทียมโดยหมอฟัน เติมเต็มชีวิตผู้ป่วยด้อยโอกาสนับหมื่น, มหาวิทยาลัยมหิดล

คุณหมอณัฐดนัยเล่าให้เราฟังถึงอีกเคสที่เก็บไว้สอนนักเรียนแพทย์ เป็นคุณลุงคนหนึ่งที่เจ็บปวดจากโรคมะเร็งใบหน้า เข้ามารับการรักษากับทีมคุณหมอตั้งแต่ พ.ศ. 2544

“ค่ารักษาคุณลุงประมาณล้านบาท เพราะต้องใส่จมูกเทียม สร้างเพดานปากขึ้นมาใหม่ และใส่ตัวรากเทียมยาวขึ้นไปยึดถึงกระดูกด้านในใบหน้า โดยปกติรากเทียมจะยึดแค่เหงือกกับกระดูกขากรรไกร แต่เคสนี้กระดูกขากรรไกรไม่เหลือแล้ว เลยต้องไปยึดขึ้นไปถึงกระดูกแถวโหนกแก้ม เป็นเคสที่เรามีหมอจากต่างประเทศมาทำ Life Surgery ที่แผนกศัลยศาสตร์ช่องปาก ทำ VDO Conference ได้รับความร่วมมือจากหลายๆ ภาคส่วน

“ตอนหลังมะเร็งมันขึ้นตา ก็ต้องผ่าตาออกข้างหนึ่ง เข้ามาทำอวัยวะเพิ่ม ค่ารักษาคุณลุงจริงๆ เป็นล้าน แต่คุณลุงไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพราะที่บ้านยากจน ขอสังคมสงเคราะห์จากทางคณะ ก็เป็นอีกหนึ่งเคสตำนาน คุณลุงออกรายการทีวีด้วย แกบอกว่าแกอยากมาให้ความรู้กับคนที่เจอเรื่องแบบเดียวกัน” คุณหมอเล่าพร้อมเปิดภาพการรักษาบางส่วนให้เราดู

อย่างหนึ่งที่เราเห็นชัด คือที่แห่งนี้เป็นที่รักษาทั้งร่างกายและจิตใจ ช่วยให้ผู้ป่วยรับความกระทบกระเทือนทางจิตใจลดลงหลังจากสูญเสียอวัยวะนั้นไป จนผู้ที่ได้มารับการรักษา ก็อยากถ่ายทอดเรื่องราวดีๆ แบบนี้กับผู้อื่นในสังคมด้วย

อะไหล่มนุษย์ ภารกิจประดิษฐ์อวัยวะเทียมโดยหมอฟัน เติมเต็มชีวิตผู้ป่วยด้อยโอกาสนับหมื่น, มหาวิทยาลัยมหิดล

03

มุ่งมั่นต่อไปอย่างสุดกำลัง

คุณหมอณัฐดนัยพาเราไปดูอุปกรณ์ทางการแพทย์อันทันสมัยที่คลินิกมี รวมถึงวิธีการรักษาคนไข้จริงๆ ของทีมแพทย์ที่นี่ 

เช้าวันนี้มีคนไข้เข้ามาไม่เยอะนัก พวกเขากำลังนั่งรอคิวบริเวณโถงตรงกลาง อีกด้านหนึ่งเป็นห้องแล็บผลิตอวัยวะเทียม มีเจ้าหน้าที่ช่างทันตกรรมประจำการ คอยทำหน้าที่ผลิตอวัยวะเทียมตามคำสั่งของเหล่าคุณหมอทุกวัน

ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาจากที่นี่ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ด้อยโอกาสทางสังคม ยิ่งได้รับความพิการบนใบหน้า ก็ทำให้ไม่กล้าออกไปทำงานหรือใช้ชีวิตอีก เหล่าทีมแพทย์ที่คลินิกประดิษฐ์ใบหน้าขากรรไกรจึงมุ่งมั่นรักษาผู้ป่วยอย่างสุดกำลัง 

“ห้าหกปีหลังมานี้บุคลากรเราน้อย ทีมเราก็ทำได้แค่ตั้งรับ อย่างคนไข้ดวงตาเทียมมีคิวอยู่ในสต๊อกหกร้อยกว่าคน เรามีแพลนเปิดคลินิกนอกเวลา ให้คุณหมอนักศึกษาที่เรียนไปกลับมาช่วยทำ จะเริ่มเปิดเดือนหน้าในวันที่ 1 ธันวาคม ส่วนอีกหนึ่งแพลนที่ว่าจะทำ คือเป็นโครงการทำดวงตาเทียมสำเร็จรูป คิดว่าถ้าเราทำเอง ต้นทุนจะถูกลงมากๆ เพราะไม่ต้องไปซื้อจากต่างประเทศเหมือนที่เป็นอยู่

“ผมคุยกับอาจารย์หม่อมมานานแล้วล่ะ หวังอยากให้ทันตแพทย์ดูแลคนไข้กลุ่มนี้ได้ คือบรรจุลงไปในหลักสูตรทันตแพทย์เลย แต่ว่ามันก็ยากถ้าไปปรับหลักสูตรทันตแพทยศาสตร์บัณฑิต ผมก็มองว่าเป็นไปได้ไหม ถ้าให้หมอที่ไปอยู่ตามโรงพยาบาลชุมชนต่างๆ มาพัฒนาความรู้ ความสามารถ แล้วรักษาคนไข้ในที่นั่นได้เลย เพราะมีคุณหมอที่อยู่ตามชุมชนเจอคนไข้แบบนี้แล้วไม่รู้จะทำยังไง ถ้าเราเอาเข้าไปเป็นนโยบายของกระทรวงได้ เราจะมีหมอที่ทำสิ่งนี้ได้เยอะขึ้น แต่ถ้าบทความนี้ออกไปแล้วมีคุณหมอที่สนใจอยากช่วยคนไข้กลุ่มนี้ ผมยินดีมากครับ”

อะไหล่มนุษย์ ภารกิจประดิษฐ์อวัยวะเทียมโดยหมอฟัน เติมเต็มชีวิตผู้ป่วยด้อยโอกาสนับหมื่น, มหาวิทยาลัยมหิดล

Writer

Avatar

นิภัทรา นาคสิงห์

ตื่นเช้า ดื่มอเมริกาโน เลี้ยงปลากัด นัดเจอเพื่อนบ่อย แถมยังชอบวง ADOY กับ Catfish and the bottlemen สนุกดี

Photographer

Avatar

นินทร์ นรินทรกุล ณ อยุธยา

นินทร์ชอบถ่ายรูปมาตั้งแต่เด็ก พ่อแม่ซื้อฟิล์มให้ไม่ยั้ง ตื่นเต้นกับเสียงชัตเตอร์เสมอต้นเสมอปลาย เพื่อนชอบชวนไปทะเล ไม่ใช่เพราะนินทร์น่าคบเพียงอย่างเดียวแน่นอน :)