5 กุมภาพันธ์ 2020
2 K

แสงไฟยามค่ำคืนของ Kona เมืองตากอากาศชายทะเลเล็กๆ ที่ตั้งอยู่บนเกาะใหญ่หรือ Big Island ของมลรัฐฮาวาย ประเทศสหรัฐอเมริกา ดูสว่างไสวยามเมื่อเรือของเราแล่นออกมาจากท่าเรือในตอนพลบค่ำ เรือหลายลำจอดลอยลำรอเวลาที่จะสลับสับเปลี่ยนกันลงน้ำ

ใต้ผืนน้ำลงไป ผมมองเห็นเงาสีดำว่ายโฉบไปมาในความมืดมิด สลับไปกับแสงจากไฟแฟลชที่สว่างวาบมาเป็นระยะๆ

ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติหลายอย่างเกิดขึ้นเพียงชั่วขณะที่มนุษย์เราเรียนรู้จากการเฝ้าสังเกตและศึกษาธรรมชาติ ไม่กี่ปีมานี้เองที่นักวิทยาศาสตร์และนักธรรมชาติวิทยาค้นพบปรากฏการณ์แพลงก์ตอนบูม ที่ทำให้กระเบนราหูสายพันธุ์ Reef Manta Ray นับร้อยมารวมตัวกันในบริเวณพื้นที่เล็กๆ ของ Hanifaru ประเทศมัลดีฟส์ ในช่วงวันพระจันทร์เต็มดวง ซึ่งเป็นการรวมตัวทางธรรมชาติของฝูงกระเบนราหูที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก หากแต่ปรากฏการณ์บางอย่างที่เกิดขึ้นอย่างน่าอัศจรรย์ในอีกมุมหนึ่งของโลกในบางครั้งก็เป็นแค่ความบังเอิญ

เมื่อในราวต้นทศวรรษสุดท้ายของศตวรรษที่แล้ว ราว ค.ศ. 1990 – 1991 มีเรื่องบังเอิญเกิดขึ้นที่เมืองตากอากาศชายทะเลที่พลุกพล่านไปด้วยนักท่องเที่ยวแห่งนี้ เมื่อโรงแรม Sheraton ที่ตั้งอยู่ริมชายหาด Kona ได้เอาไฟสปอตไลต์ดวงเล็กๆ มาติดตั้งไว้ที่ท่าเรือและฉายไฟออกไปในท้องทะเล เพื่อมาตรการรักษาความปลอดภัยในยามค่ำคืน ไม่มีใครล่วงรู้มาก่อนว่าความบังเอิญในครั้งนั้นจะกลายมาเป็นการค้นพบครั้งยิ่งใหญ่อย่างหนึ่งของวงการดำน้ำของโลก

เมื่อกระเบนราหูหรือ Manta Ray (ในยุคนั้นยังไม่ได้แยกออกเป็น 2 สายพันธุ์ และไม่ได้ยุบรวมสายพันธุ์ในการจำแนกทางวิทยาศาสตร์เข้าไปรวมกับกระเบนปีศาจหรือ Devil Ray เหมือนทุกวันนี้) ที่อาศัยอยู่ในท้องทะเลแถบนั้น เริ่มรวมตัวเข้ามาในบริเวณเวณที่แสงไฟสาดส่องลงไปในท้องทะเล เพื่อม้วนตัวจับกินแพลงก์ตอนที่มารวมตัวกันหนาแน่นทุกคืน หลังจากที่ไฟดวงนั้นเปิดติดต่อกันมาสักพักใหญ่ๆ

นักดำน้ำหลายคนเริ่มสังเกตเห็นพฤติกรรมเช่นนี้ จึงเริ่มมาลงดำน้ำกันในบริเวณหน้าโรงแรมและเริ่มพัฒนาวิธีการที่จะสร้างความสัมพันธ์กับราหูแห่งห้วงน้ำที่มารวมตัวกันในทุกค่ำคืนในบริเวณนี้

ดำน้ำไปสังเกตการณ์ Plankton Blooms ปรากฏการณ์รวมฝูง กระเบนราหู ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกที่ฮาวาย

กระเบนราหูหลายสิบตัวมารวมตัวกันใต้แสงไฟ เพื่อดักจับกินแพลงก์ตอนที่ล่องลอยมากับกระแสน้ำในยามค่ำคืน

ดำน้ำไปสังเกตการณ์ Plankton Blooms ปรากฏการณ์รวมฝูง กระเบนราหู ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกที่ฮาวาย

แม้ว่ากระเบนราหูที่พบในบริเวณนี้ส่วนใหญ่เป็น Reef Manta Ray ที่ขนาดค่อนข้างเล็ก แต่เมื่อเทียบกับขนาดของมนุษย์แล้ว ก็ยังจัดว่าเป็นปลาขนาดใหญ่ ไม่น่าแปลกใจที่เมื่อหลายร้อยปีก่อนมนุษย์จึงหวาดกลัวกระเบนราหู

กระเบนราหูเป็นสัตว์ที่น่าอัศจรรย์ เมื่อหลายร้อยปีก่อน นักเดินเรือในมหาสมุทรเคยคิดว่ามันเป็นสัตว์ร้ายที่น่ากลัวชื่อ Manta ของมันมีที่มาจากภาษาสแปนิช แปลว่า ผ้าห่มที่มีเรื่องเล่า และตำนานของชาวเรือมากมายเล่าว่ากระเบนราหูกระโดดขึ้นมาเหนือน้ำและล่มเรือเดินสมุทรให้อับปางลงกลางทะเล แต่เมื่อเวลาผ่านไป เราได้เรียนรู้และพบว่าแท้จริงแล้วกระเบนราหูก็คือยักษ์ใหญ่ใจดีชนิดหนึ่งแห่งท้องทะเล แม้ว่ารูปร่างหน้าตาของมันอาจจะดูน่ากลัวก็ตาม

อาหารหลักของกระเบนราหูก็คือแพลงก์ตอนหรือสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่ล่องลอยมากับกระแสน้ำ มันจะร่อนเร่ไปในห้วงมหาสมุทรและอ้าปากกว้างขณะว่ายน้ำ เพื่อกรองกินแพลงก์ตอนที่ล่องลอยกับกระแสน้ำเป็นอาหาร

แพลงก์ตอนนั้นมีทั้งที่เป็นพืชและสัตว์ แพลงก์ตอนพืชเป็นแหล่งอาหารขั้นปฐมภูมิของท้องทะเล สังเคราะห์แสงจากดวงอาทิตย์เพื่อมาเป็นพลังงาน และส่งต่อพลังงานนั้นให้กับห่วงโซ่อาหารในท้องทะเล ในยามค่ำคืนที่มืดมิดเมื่อมีแสงไฟสาดส่องลงไปในท้องทะเล แพลงก์ตอนพืชก็จะมารวมตัวกันในบริเวณนั้น และตามมาด้วยแพลงก์ตอนสัตว์ที่เข้ามาจับกินแพลงก์ตอนพืชอีกต่อหนึ่ง

กระเบนราหูในบริเวณนั้นเรียนรู้ว่าเมื่อมีแสงไฟสว่างขึ้นในบริเวณใดก็ตาม จะมีอาหารมารวมตัวกันอยู่มากมายในบริเวณนั้น

เรารอให้เรือลำอื่นๆ ทยอยพานักท่องเที่ยวขึ้นจากน้ำจนหมด ก่อนที่เราจะเริ่มประกอบอุปกรณ์และเซ็ตไฟ เมื่อหลายปีก่อนหน้านี้ ช่างภาพจากนิตยสาร National Geographic สหรัฐอเมริกา เดินทางมาบันทึกภาพกระเบนราหูในยามค่ำคืนหน้าโรงแรมแห่งนี้ โดยใช้อุปกรณ์ที่สมฐานะนิตยสารระดับโลก คือไฟ HMI 6K อย่างที่ใช้ถ่ายภาพยนตร์ เป็นแหล่งกำเนิดแสงหลักที่สาดส่องจากเรือลงไปจากผิวน้ำ เพื่อล่อให้กระเบนราหูมารวมตัวกัน และเพื่อเพิ่มมิติของภาพให้มีความลึกขึ้นจากฉากหลังที่ดำสนิทของท้องน้ำในยามค่ำคืน ในขณะที่เราซึ่งไม่มีงบประมาณมากมายขนาดนั้น ก็แก้ปัญหาด้วยการใช้ไฟวิดีโอใต้น้ำหลายๆ ดวงมามัดรวมกับเสื้อชูชีพ ลอยอยู่ในบริเวณผิวน้ำ แม้ว่าไฟวิดีโอจะไม่ได้ให้ลำแสงที่สาดส่องลงมาเป็นลำเหมือนกับไฟถ่ายภาพยนตร์ แต่ก็ยังดีกว่าวิธีการที่ไดฟ์มาสเตอร์ท้องถิ่นใช้กัน คือเอาไฟฉายมาผูกกับลังพลาสติกที่ถ่วงไว้ด้วยตะกั่วแล้ววางไว้ที่พื้น เพื่อให้แสงสาดส่องขึ้นมาจากด้านล่าง

ดำน้ำไปสังเกตการณ์ Plankton Blooms ปรากฏการณ์รวมฝูง กระเบนราหู ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกที่ฮาวาย

เมื่อแสงไฟสาดส่องไปในห้วงน้ำอันดำมืด แพลงก์ตอนจะมารวมตัวกันในบริเวณที่มีแสงไฟ ในภาพนี้จะเห็นแพลงก์ตอนเป็นจุดสีแดงๆ กระจายอยู่ทั่วภาพ

ดำน้ำไปสังเกตการณ์ Plankton Blooms ปรากฏการณ์รวมฝูง กระเบนราหู ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกที่ฮาวาย

แพลงก์ตอนคือสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่ล่องลอยไปในกระแสน้ำ มีทั้งที่เป็นสัตว์และพืช ซึ่งเป็นแหล่งอาหารปฐมภูมิของท้องทะเล

ดำน้ำไปสังเกตการณ์ Plankton Blooms ปรากฏการณ์รวมฝูงกระเบนราหูยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกที่ฮาวาย

กระเบนราหูเป็นสัตว์ที่มีเซนส์ในการเคลื่อนไหวร่างกายดีมาก แม้ว่ามันจะเข้ามาใกล้กันแค่ไหน ถ้าไม่มีอะไรไปขวางทาง มันจะหลบหลีกกันได้ราวกับมีเรดาห์จับการเคลื่อนไหว

แสงไฟจากทุกที่ดึงดูดให้แพลงก์ตอนมารวมตัวกันในบริเวณนั้น มีแสงที่ไหน กระเบนราหูก็จะว่ายตรงเข้ามาที่ต้นกำเนิดแสงนั้น

การลงดำน้ำในบริเวณนี้ ไดฟ์มาสเตอร์แนะนำให้เราพยายามนั่งอยู่เฉยๆ เหนือพื้นหินลาวาก้อนกลมๆ ใต้ผืนน้ำ ฉายไฟสาดส่องขึ้นไปที่ผิวน้ำ ไม่ต้องว่ายน้ำไปมา กระเบนราหูจะว่ายเข้ามาหาแสงไฟเอง

ปัญหาของการถ่ายภาพกระเบนราหูที่ผมและนักดำน้ำอื่นๆ มักประสบพบมาก็คือ ในบางครั้งกระเบนราหูมักไม่ค่อยว่ายเข้ามาใกล้นักดำน้ำในระยะที่เราพอจะบันทึกภาพได้

หากแต่ปัญหาในการลงดำน้ำกับกระเบนราหูในยามค่ำคืนที่นี่กลับกลายเป็นด้านตรงข้าม
คือมีกระเบนราหูมากเกินไป และเข้ามาใกล้เรามากจนเกินไป 

ใกล้จนกระทั่งด้วยเลนส์ฟิชอาย 16 มิลลิเมตรที่ให้มุมรับภาพกว้างที่สุด ในบางครั้งก็ยังเก็บภาพกระเบนราหูที่เแย่งกันเข้ามาหาไฟของเราได้ไม่ครบ 

ดำน้ำไปสังเกตการณ์ Plankton Blooms ปรากฏการณ์รวมฝูงกระเบนราหูยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกที่ฮาวาย

โรงแรม Sheraton Kona จุดเริ่มต้นแห่งแรกของความบังเอิญที่มีรายงานพบว่า กระเบนราหูเข้ามารวมตัวกันในบริเวณที่มีแสงไฟในยามค่ำคืนในช่วงปลายศตววรษที่ผ่านมา

หลายๆ ครั้งเราต้องคอยหลบ และหลายๆ ครั้งผมต้องปิดไฟที่ติดอยู่บนกล้อง เพื่อไม่ให้กระเบนราหูเข้ามาใกล้เรามากจนเกินไป

หลายครั้งที่ผมไม่ทันได้กดชัตเตอร์ เพราะมัวแต่มองตากันกับเจ้ากระเบนราหูที่ว่ายโฉบมาห่างจากใบหน้าของเราไม่ถึงเมตร

หลังจากลงดำน้ำกับกระเบนราหูในบริเวณนี้หลายคืน ผมจึงพบว่าถ้าหากเราอยู่นิ่งๆ และไม่ขยับตัวไปมาแล้ว กระเบนราหูเป็นสัตว์ที่มีเซนส์ของการเคลื่อนไหวร่างกายที่ดีมากที่สุดชนิดหนึ่ง

ไม่ว่ามันจะว่ายเข้ามาพร้อมๆ กัน พุ่งตรงมาที่แสงไฟกี่ตัวก็ตาม มันก็จะเบนตัวหลบเบี่ยงจากกันได้อย่างไม่น่าเชื่อ ราวกับการจราจรบนถนนที่คับคั่งและแออัดในอินเดีย

Writer & Photographer

Avatar

นัท สุมนเตมีย์

ช่างภาพใต้น้ำมืออาชีพที่เรียกได้ว่าคนแรกๆ ของประเทศไทย เริ่มต้นจากการเป็นช่างภาพและนักเขียนให้กับนิตยสาร อ.ส.ท. และ อีกหลากหลายนิตยสารทั้งในและต่างประเทศมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2537 ปัจจุบันนอกเหนือจากการถ่ายภาพแล้ว นัท ยังถ่ายภาพยนต์สารคดีใต้ท้องทะเล และบันทึกภาพทางอากาศให้กับทีมงานสารคดีหลายทีม