คุณเคยสังเกตไหมว่าพฤติกรรมของคุณหลังจากยุคโควิดนั้นเปลี่ยนไปอย่างไร ไหนจะซื้อของออนไลน์ สั่งอาหารออนไลน์ หาความบันเทิงออนไลน์ หรือแม้กระทั่งธุรกรรมการเงินก็ปรับมาเป็นออนไลน์ ซึ่งแม้ในวันนี้ที่ไม่ได้มีใครมาบังคับให้ทำทุกอย่างออนไลน์แล้ว แต่หลายคนกลับเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเหล่านี้และย้ายไปอาศัยอยู่บนโลกออนไลน์อย่างถาวร… ก็มันสะดวกดีนี่นา

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่เศรษฐกิจดิจิทัลของไทยในปีที่ผ่านมาจะมีมูลค่าถึง 36,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมีแนวโน้มจะพุ่งทะยานไปถึง 49,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2025 และจึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่เราจะเห็นผู้เล่นใหม่ ๆ หลากหลายเจ้ากระโดดเข้ามาในตลาดการบริการดิจิทัลกันรายวัน

ท่ามกลางสนามการแข่งขันอันดุเดือดแห่งนี้ นก-มณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Sea (ประเทศไทย) กลับเป็นกัปตันทีมหญิงที่ยืนหนึ่งและยืนหยัดอย่างแข็งแกร่งมาตลอดกว่าสิบปี ในวงการที่หลายคนอาจเข้าใจผิดว่าเป็นประหนึ่ง ‘โรงเรียนชายล้วน’ 

บทความนี้จะขอเล่าถึงทั้งธุรกิจของ Sea (ประเทศไทย) กับความตั้งใจที่จะใช้เทคโนโลยีเพื่อยกระดับชีวิตคน พร้อมเปิดเบื้องหลังวิธีคิดในการทำงานและการใช้ชีวิตของผู้บริหารหญิงระดับแนวหน้าของประเทศไทยโดยไม่หมกไว้แม้แต่เม็ดเดียว

ก้าวแรกในวงการเทคโนโลยี

“โดนหลอกมาค่ะ” 

คุณนกหยอกล้อพร้อมหัวเราะเสียงดังหลังจากเราถามว่าเธอมาเข้าในวงการเทคโนโลยีได้อย่างไร แต่เมื่อเสียงหัวเราะซาลง คุณนกก็เล่าที่มาที่ไปที่แท้จริงของเธอให้ฟัง 

“เมื่อ 20 ปีที่แล้วนกไปเรียนที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ได้รู้จักและเป็นเพื่อนกับ Forrest Li (ผู้ก่อตั้ง Sea Limited) การใช้ชีวิตอยู่ใกล้ Silicon Valley ทำให้นกสนใจเทคโนโลยี ซึ่งที่สหรัฐอเมริกา คนอินกับเทคโนโลยี ลงทุนกับเรื่องพวกนี้เยอะมาก แล้วเราเห็นว่าชีวิตเขาง่ายจริง ๆ เป็นที่มาของแพสชันเรื่องเทคโนโลยีซึ่งอยู่ลึก ๆ ในตัวเรา”

หลังเรียนจบจาก MBA คุณนกเริ่มต้นทำงานในบริษัทที่ปรึกษาทางด้านธุรกิจ ซึ่งประสบการณ์กว่า 6 ปีในบริษัทนั้นให้อะไรมากมาย ทั้งวิธีคิดวางแผน วางกลยุทธ์ เป็นโอกาสให้ได้พบและพูดคุยกับผู้บริหารระดับประเทศไปจนถึงระดับโลก แต่เมื่อ DNA อดีตนักเรียนวิศวกรรมศาสตร์อย่างเธอนั้นแรงกล้า คุณนกจึงเกิดคันไม้คันมือ อยากออกมาเป็นคนลงมือทำเสียเอง ซึ่งก็ประจวบเหมาะกับที่วนมาพบเจอกับ Forrest Li อีกครั้ง 

“ตอนนั้น Forrest เขาเริ่มทํา Garena ได้สัก 2 – 3 ปีแล้ว เขาบอกว่าอยากพากิจการเข้าประเทศไทย อยากทำให้แถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นเหมือนที่เราไปเห็นที่สหรัฐฯ ซึ่งตรงกับสิ่งที่นกอยากทำ คือพื้นฐานจริง ๆ นกเรียนวิศวฯ ตอนปริญญาตรี และคนที่เป็นวิศวกรส่วนใหญ่ชอบลงมือทํา นกก็เป็นหนึ่งในนั้น การเป็นที่ปรึกษาทางธุรกิจนั้นได้คิด แต่ไม่ได้ลงมือ พอมีโอกาสที่จะได้มาสร้างบริษัท ได้ลงมือทำ และยังเป็นเรื่องเทคโนโลยีด้วย เราว่ามันน่าตื่นเต้น”

Better Experience

Garena ถือกำเนิดขึ้นในประเทศไทยในปี 2012 ซึ่ง ณ วันนั้นคุณนกกล้าพูดได้เต็มปากว่า Garena เป็นเจ้าใหญ่ในตลาดภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม้ว่าจะได้มาซึ่งสถานะผู้นำในวงการเกม เธอกลับมีคำถามมากมายตามมาว่า “What’s next? เป็นธุรกิจเกมแล้วยังไงต่อ เราอยากจะทําอะไร ตอนปี 2014 เราเลยตั้งเป็น Mission ของบริษัทขึ้นมาว่า ต้องการเอาเทคโนโลยีมาทําให้ชีวิตของคนดีขึ้น” ผ่าน 3 แนวทางหลัก ได้แก่ Better Experience, More Opportunity และ Inclusiveness

แต่อยู่ดี ๆ จะให้บริษัทเกมกระโดดเข้าไปในธุรกิจดิจิทัลอื่นแบบโต้ง ๆ พร้อมยกระดับชีวิตคนไปพร้อม ๆ กันก็คงไม่ใช่ ทีมงานจึงค่อย ๆ หาทางต่อยอดจากธุรกิจเกมที่มีอยู่ในมือ 

“ธุรกิจเกมมีโมเดลหนึ่งคือเรื่องการเติมเงิน สมัยก่อนต้องไปซื้อการ์ดจากร้านสะดวกซื้อแล้วเอาเหรียญมาขูดหาโค้ดเพื่อเติมเงินเกม ซึ่งมันไม่สะดวก เราเลยทําเรื่องการเติมเงินเกมออนไลน์ จนเป็นที่มาของธุรกิจ E-wallet ชื่อว่า AirPay” และเมื่อเติมเงินเกมของตัวเองแล้ว คุณนกและทีมจึงเริ่มมองเห็นช่องทางการเติบโตหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการเติมเงินมือถือ จ่ายบิลค่าน้ำ-ค่าไฟ ไปจนถึงไลฟ์สไตล์ต่าง ๆ เช่น การจองตั๋วภาพยนตร์ การจองโรงแรม ตามลำดับ

เมื่อเริ่มทำเรื่องการจ่ายเงินออนไลน์ คุณนกและทีมจึงอดไม่ได้ที่จะคิดถึงธุรกิจ E-commerce และ Shopee ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นเมื่อปี 2015 โดยเริ่มต้นสร้างความแตกต่างด้วยการออกแบบแอปพลิเคชันให้รองรับการแสดงผลบนโทรศัพท์มือถือเป็นอันดับแรก (Mobile-first) ซึ่งมาพูดกันตอนนี้อาจฟังดูเฉย ๆ แต่หากย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ก็ถือว่าเป็นวิสัยทัศน์ที่มาในทิศทางที่ถูกต้องจริง ๆ 

“เราเชื่อว่าทุกอย่างจะเกิดขึ้นบนมือถือ เมื่อ 10 ปีที่แล้วยังไม่ชัดขนาดนี้ แต่ตอนนี้คือทุกอย่างเกิดขึ้นบนมือถือจริง ๆ เราก็เลยเน้นทำบนมือถือ เป็นที่ที่ผู้ซื้อ-ผู้ขายเจอกันเอง เราทำหน้าที่สร้างตลาดที่เอาเทคโนโลยีมาช่วยให้ทางผู้ซื้อก็ซื้อของได้สะดวก ผู้ขายก็ขายสะดวก” 

อีกฟีเจอร์ที่สำคัญของ Shopee คือ Seller Center ที่มาพร้อมกับการฝึกอบรมให้ความรู้ต่าง ๆ เพื่อคอยช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยหลาย ๆ คนที่ต้องการจะเติบโต แต่ยังไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร 

“คุณเข้ามาดูได้เลยว่าอาทิตย์ที่ผ่านมาการขายของคุณเป็นยังไง ตัวไหนขายดี แคมเปญไหนผลตอบรับดี เพื่อช่วยให้ประสบการณ์การขายของเขาดีขึ้น นกเชื่อว่าทั้งหมดที่เราทําสร้างประสบการณ์ที่ดี แล้วทําให้เขาใช้ของเราแล้วเขาติดใจ เขาจึงใช้อย่างต่อเนื่อง” 

ส่วนฝั่งผู้ซื้อ ทาง Sea ก็ไม่ละเลย โดยบริษัทจะเก็บข้อมูลของผู้ใช้มาวิเคราะห์เพื่อสร้างประสบการณ์การซื้อของออนไลน์ที่สะดวกสบาย เพลิดเพลิน และที่สำคัญคือเหมาะกับความสนใจของคุณโดยเฉพาะ หรือ Personalization 

“เรามีระบบหลังบ้านที่จะเรียนรู้ว่าคุณชอบอะไร เสิร์ชอะไร กําลังอยากได้อะไร แล้วเราพยายามที่จะเสนอว่าตอนนี้มี Voucher นี้นะ มีแคมเปญนี้นะ มีโปรโมชันนี้นะที่คุณอาจจะชอบ เพื่อให้ผู้ซื้อได้ประสบการณ์ที่ดีที่สุด”

More Opportunity

เพราะ Sea เป็นผู้นำในตลาดการให้บริการดิจิทัล ทำให้บริษัทเห็นอาชีพใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นในวงการนี้รายวัน ทั้งนักกีฬาอีสปอร์ต นักพากย์ กราฟิกดีไซน์ และอีกมากมายที่หลายคนอาจไม่คุ้นชิน หรืออาชีพที่คุ้นชินกันอยู่แล้ว เช่น การเป็นผู้ประกอบการนั้น Shopee ก็ช่วยให้หลาย ๆ คนที่ไม่คิดไม่ฝันว่าจะมีธุรกิจของตัวเองเป็นเจ้าของกิจการได้ เพราะการขายของบนโลกออนไลน์ไม่ได้ใช้ต้นทุนสูง 

“แต่จะทำยังไงให้คนไทยฉวยโอกาสเหล่านี้ได้” เป็นคำถามที่คุณนกตั้ง ซึ่งทาง Sea พยายามผลักดันเรื่องของการส่งเสริมทักษะดิจิทัล ภายใต้ Sea Academy โดยมี 3 ขาหลัก 

“เราทำเรื่อง Financial Literacy ที่ให้ความรู้ทางด้านการเงิน และมี Shopee University เป็นโครงการให้ความรู้คนที่เข้ามาขายของออนไลน์ว่าไม่ใช่แค่ถ่ายรูป เขียนแนะนำ แปะลงในแอปพลิเคชันแล้วจะขายได้ ยังมีอย่างอื่นที่ต้องศึกษา การใช้เครื่องมือต่าง ๆ ให้เกิดประโยชน์กับคุณมากที่สุด 

“หรือน้อง ๆ เยาวชนหลายคนที่ชอบเล่นเกมอยู่แล้ว เราก็มี Garena Academy ที่จะช่วยทําให้สิ่งที่เขาสนใจเปลี่ยนเป็นประโยชน์ Garena Academy จะบอกว่า ถ้าน้องอยากเป็นแคสเตอร์ ควรศึกษาอะไรเพิ่ม ถ้าน้องอยากเป็นคนออกแบบสกินเกม น้องต้องเรียนเขียนโค้ดดิ้งอะไร อย่างไร” ที่สำคัญ ทักษะดิจิทัลเหล่านี้ยังนำไปต่อยอดในธุรกิจอื่น ๆ ได้อีกมากมาย

Inclusiveness

หนึ่งในบริการ Digital Finance ของเราคือ Digital Lending ซึ่งมาจากการเห็น Pain Point ของผู้บริโภคบางกลุ่ม เช่น ผู้ประกอบการรายย่อยที่ต้องการเงินทุนหมุนเวียนเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจไม่ได้ต้องการกู้เงินก้อนใหญ่นักและต้องการความสะดวกรวดเร็วเป็นหลัก การให้บริการ Digital Lending จึงเข้ามาเป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์ผู้ใช้งานกลุ่มนี้ให้มีโอกาสเข้าถึงเงินทุนได้มากขึ้น

“เรามี Data ที่วิเคราะห์ได้ว่าคนคนนี้มีพฤติกรรมบนโลกดิจิทัลยังไง เขาขายของยังไง หรือถ้าเป็นผู้ซื้อ เขาชําระเงินยังไง เราเอามาวิเคราะห์ได้ แล้วก็ปล่อยเงินกู้ยอดเล็ก ๆ ให้เขาก่อนได้ ถ้าพฤติกรรมการชําระเงินของเขาดี ยอดเงินที่เขาจะกู้ได้ก็เพิ่มขึ้นตามระยะเวลา” ซึ่งบริการนี้ได้รับเสียงตอบรับอย่างดี เพราะ Sea ตีโจทย์ความต้องการของ SME ได้แตกจริง ๆ 

ตำรา CEO

เกม

เทคโนโลยี

การเงิน

หากมองเผิน ๆ แล้ว คนมักจะคิดว่านี่ไม่ใช่วงการที่จะเห็นผู้หญิงมาโลดแล่นอย่างแข็งแกร่ง แต่คุณนกกลับตีภาพจำในหัวของเราจนแตกกระเจิง 

“นกอยู่ในวงการวิศวฯ มาก่อน ซึ่งมีผู้ชายเยอะในระดับหนึ่งอยู่แล้ว เราเลยได้ปรับตัวในอุตสาหกรรมนี้ และไม่ได้รู้สึกว่าเป็นเรื่องยากขนาดนั้น มีข้อดีด้วยซ้ำ เพราะผู้หญิงเราอาจมองคนละมุมกับเขา เราเห็นอะไรที่เขาอาจไม่เห็น เรามีความเข้าอกเข้าใจในเรื่องบางเรื่องมากกว่าเขา แต่ก็ต้องยอมรับว่ามีความท้าทายบางอย่างเหมือนกัน 

“ด้วยความที่ผู้หญิงมักพูดเสียงเบา บางทีเราอาจต้องพูดให้เสียงดังขึ้น นำเสนอไอเดียของเรามากหน่อย เพื่อให้คนได้ฟังเราบ้าง แต่จริง ๆ ตั้งแต่ที่นกอยู่มา คือไม่ได้รู้สึกเลยนะคะว่าเขาไม่ฟังผู้หญิง พอเราพูด เขาก็ฟังอยู่แล้ว โชคดีด้วยที่ประเทศไทยมีผู้หญิงที่อยู่ในวงการเทคโนโลยีค่อนข้างเยอะถ้าเทียบกับบางประเทศ ทำให้เรามี Support System เล็ก ๆ ที่ช่วยผลักดันกัน” 

นอกจากหมวกเพื่อนหญิงพลังหญิงแล้ว แน่นอนว่าอีกหมวกที่สำคัญของคุณนกใน Sea คือ CEO ซึ่งเธอมีแนวคิดต่อการสวมหมวกนี้น่าสนใจทีเดียว 

“นกเชื่อว่าไม่มี Superman ไม่ได้มีใครคนใดคนหนึ่งที่ทําได้ทุกเรื่อง การที่เราจะทําอะไรให้ผ่านไปได้ต้องใช้ความสามารถหลาย ๆ แบบของหลาย ๆ คน เราเชื่อในศักยภาพของคน ทุกคนเก่ง แต่เขาได้โอกาสใช้มันรึเปล่า เราก็ต้องมองว่าคนนี้เก่งอะไร แล้วพยายามปรับโอกาสให้เหมาะสม ถ้าไม่ให้โอกาส ไม่ให้เขาพูด ไม่ทําตัวเป็นเหมือนเพื่อนร่วมงานกับเขา เขาก็อาจจะเกร็ง ไม่พูด ไม่โชว์สิ่งที่เขาดีจริง ๆ”

“ดังนั้น นกชอบที่จะเป็นโค้ชและเป็นเพื่อนร่วมงานกับคนที่ทํางานกับเรามากกว่า เพื่อที่เราจะได้เดินไปด้วยกัน บรรลุเป้าหมายด้วยกัน แต่ในขณะเดียวกัน เราอาจผ่านประสบการณ์อะไรที่เยอะกว่าเขา หรืออาจเห็นมุมที่เขาไม่เห็น เพราะฉะนั้นเราอยากเป็นกึ่ง ๆ โค้ชที่จะคอยไกด์เขาเพื่อให้เติบโตไปกับเรา”

เพราะเธอมองตัวเองเป็นเพื่อนร่วมงานและโค้ชมากกว่า CEO ความภาคภูมิใจที่สุดของเธอจึงเป็นการได้เห็นความสำเร็จของคนในทีม ไม่ว่าคนเหล่านั้นจะประสบความสำเร็จในรูปแบบใดก็ตาม 

“ความภูมิใจที่สุดคือการเห็นคนที่อยู่กับเราทําได้ดีกว่าเรา หรือทําได้มากกว่าที่เราคิด อย่างน้องที่ดูแลธุรกิจเกม เขาอยู่กับเรามาเกือบสิบปี เห็นกันมาตั้งแต่เพิ่งจบ เริ่มทํางานเป็นแค่หนึ่งคนในทีมอีสปอร์ต จนตอนนี้เติบโตไปดูทั้งธุรกิจเกม คือเรารู้สึกว่าให้เราไปทํา เราทําไม่ได้นะ แต่เขาทําได้ หรือว่าอย่างน้องหลาย ๆ คนที่อยู่กับบริษัทแล้วออกไปทําธุรกิจ ไปเติบโตที่อื่น เราก็รู้สึกว่าเรามีส่วนเล็ก ๆ ในการสอนเขา”

ส่วนความสำเร็จของตัวเธอเองนั้น เธอให้นิยามไว้ว่ามันคือคำว่า ‘ความสุข’ 

“นกมองว่า ถ้าประสบความสําเร็จหมายถึงว่ามีความสุขไหม คำตอบคือมีความสุข การงานไปได้ในแบบของมัน ถามว่ามีปัญหาไหม มีอยู่แล้ว ก็แก้กันไป แต่เรายังมีชีวิต มีครอบครัว มีเวลาให้ลูก ชีวิตก็มีความสุขดี นกคิดว่าอันนี้คือประสบความสําเร็จ”

ตำราชีวิต

นั่งคุยมาถึงตรงนี้ ทำให้เราได้รู้ว่าคุณนกมีอีกหนึ่งหมวกสำคัญคือการเป็นคุณแม่ ซึ่งหมวกใบนี้เป็นที่มาของแพสชันสำคัญของเธอ 

“นกมีลูกที่โตในระดับหนึ่งแล้ว แต่เขาเป็นเด็กพิเศษ เราก็เลยค่อนข้างอินกับเรื่องเด็ก ว่าทํายังไงที่จะทําให้เด็กคนหนึ่งเติบโตได้ นกคุยกับโรงพยาบาลและมูลนิธิ เพราะเราอยากรู้ว่าจะมีส่วนช่วยยังไงได้บ้าง ในสังคมทั่วโลกมีกลุ่มเด็กพิเศษที่ไม่ได้รับการช่วยเหลือมากเพียงพอ แต่จากประสบการณ์ตรงกับตัวเอง เรารู้ได้เลยว่า ถ้าเขาได้รับการสนับสนุนที่เพียงพอจริง ๆ เขาก็พัฒนาได้ อาจจะมีข้อจำกัดบางอย่าง แต่มันก็พัฒนาได้ เพียงแต่คุณได้โอกาสหรือเปล่า ถ้าเกษียณก็คงอยากทำเรื่องนี้ แล้วเราอยู่กับโลกเทคโนโลยีด้วย เรารู้สึกว่ามีอีกหลายอย่างที่จับมาชนกันได้ เพื่อสร้างประโยชน์ให้คนที่เขาอาจยังไม่ได้รับโอกาสเท่าคนทั่วไป”

เพราะเธอเป็นทั้ง CEO และคุณแม่ลูกสอง เราจึงสงสัยว่าคุณนกมีเวลาว่างบ้างหรือไม่ ซึ่งเราได้คำตอบที่น่าประหลาดใจอยู่ไม่น้อย “มีเยอะเลยค่ะ” คุณนกหัวเราะเสียงใสก่อนจะอธิบายว่าวันว่างของเธอเป็นไปได้ส่วนหนึ่งเพราะเทคโนโลยีที่ทำให้เธอทำงานจากที่ใดก็ได้ และอีกส่วนสำคัญ คือความไว้วางใจที่เธอกับทีมงานมีให้กัน

“ถ้าเราไม่มีทีมที่ซัพพอร์ต เราก็อาจว่างน้อยลง แต่พอดีทีมซัพพอร์ต เราจึงมีเวลาว่างมากขึ้นจากงานที่อาจใช้เวลามาก ๆ ซึ่งพอว่างก็จะใช้เวลาอยู่กับลูกเป็นหลัก”

คุณนกเล่าให้เราฟังราวกับการสวมหมวก CEO ของบริษัทยักษ์ใหญ่ พร้อมกับการสวมหมวกคุณแม่ไปพร้อม ๆ กันนั้นเป็นเรื่องสบาย ๆ แต่แท้จริงแล้ว เธอมีเคล็ดลับง่าย ๆ ที่ทำให้เธอสบายตัวและสบายใจอย่างแท้จริง 

“ตอนยังเป็นเด็ก เราจะมองไปข้างหน้าเยอะมากเลย โดนอะไรกระแทกนิดหนึ่งฉันก็กระโดดแล้ว เพราะกังวลว่าถ้าไม่ทําแล้วจะเกิดอะไรขึ้น กังวลกับอนาคต และห่วงข้างหลังเยอะมากด้วย อะไรที่เคยพลาดมา บางทีเราก็จะเก็บมาคิด เหมือนจิตใจไม่อยู่กับปัจจุบัน 

“นกรู้สึกว่าที่ผ่านมามันไม่สบายใจเพราะเรามัวแต่เสียใจกับอดีต กังวลกับอนาคต แต่พอโตขึ้น เราก็เรียนรู้ว่า 99.99% ของเรื่องที่มากระทบ เราไม่ได้ต้องทำอะไรทันที Action ไม่เท่ากับ Reaction อย่าไปกังวลกับอนาคต เพราะมันยังมาไม่ถึง ส่วนอดีตก็ช่างมัน เรียนรู้กันไป อยู่ตรงนี้ อยู่กับปัจจุบันก่อน”

10 Things you never know

about Maneerut Anulomsombut

1.  คุณคิดว่าตัวเองเป็นนกอะไร

น่าจะเป็นนกฮูก เพราะชอบกลางคืนมากกว่ากลางวัน รู้สึกว่าทำหลายอย่างได้ดีในตอนกลางคืนมากกว่ากลางวัน

2.  หนังสือที่อ่านแล้วอยากแนะนำต่อ

เจ้านายคนแรกแนะนำให้อ่าน Only the Paranoid Survive คนเขียนบอกว่าคนที่คิดเยอะและคิดเผื่อไปสักหน่อย จะคิดครบถ้วนและมีโอกาสทําได้ดีกว่า

3.  หนังเรื่องโปรดตลอดกาล

The Devil Wears Prada อาจเพราะตัวเอกของเรื่องทั้ง 2 คนเป็นผู้หญิงที่ประสบความสําเร็จในชีวิต เราดูเขาแล้วก็เอาข้อคิดที่ได้มาปรับใช้

4.  ไอดอลในการดำเนินชีวิต

คุณแม่ เพราะท่านทํางานหนัก เลี้ยงลูกมา อุทิศตัวเองให้คนอื่น คอยช่วยเหลือคนอื่นตลอด เราอยากเป็นแบบเขา

5.  Favourite quote of all time.

Whatever will be, will be.

6.  เป็น Introvert หรือ Extrovert

Introvert อย่างแรง พอโตขึ้นมาก็เรียนรู้ว่าเป็นหน้าที่การงาน เป็นความรับผิดชอบและความจําเป็นในการต้องเข้าสังคม จึงค่อย ๆ พัฒนาทักษะนี้

7.  ในเกม ROV คุณเลือกเมนเป็นตัวอะไร

ต้องบอกก่อนว่าเคยเล่นแต่กากมากเลย ถ้าเล่นก็จะเป็น Mage นักเวทย์ เป็นสายซัพพอร์ตที่เข้าไปช่วยคนนู้นคนนี้

8.  ตอนเด็กฝันว่าอยากเป็น…

วิศวกรโยธา อยากสร้างสะพาน สร้างตึกสูง ๆ ใส่หมวกสีขาว เท่มากเลย แต่แม่ไม่ให้เป็น เลยไปเรียนวิศวกรรมอุตสาหการแทน

9.  สิ่งที่ดีที่สุดจากการเลือกเรียนวิศวกรรมศาสตร์

แม้ว่าทุกวันนี้จะไม่ได้ทํางานอะไรที่เป็นวิศวฯ แต่การเรียนวิศวฯ สร้างรากฐานความคิดบางอย่าง ทําให้เราทํางานเป็นระบบระเบียบ แล้วเราก็ชอบที่เราเป็นแบบนี้

10.  การตัดสินใจครั้งที่เปลี่ยนชีวิต

ตอนทํางานที่แรกในโรงงานผลิตจิวเวลรี นกเข้าไปอยู่ในฝ่ายผลิตเพราะจบวิศวกรรมอุตสาหการ ซึ่งการได้ทําโรงงานคือ Perfect Job แต่อยู่ดี ๆ เขาก็มาขอให้ย้ายไปทําการตลาด คิดว่านั่นเป็นจุดเปลี่ยนในชีวิตเลย ถ้าวันนั้นเราปฏิเสธและยังทํางานอยู่ในสายเดิม เราก็คงไม่ได้เห็นโลกอีกแบบหนึ่ง การไปทําการตลาดทำให้เราเปิดความคิดจากที่ตัวเองอยู่ รู้สึกว่าโลกมันใหญ่ขึ้น จึงอยากรู้ว่าโลกนี้เป็นยังไง

Writer

ลิตา ศรีพัฒนาสกุล

ลิตา ศรีพัฒนาสกุล

ชอบอ่านหนังสือก่อนนอน ออกกำลังกาย และกำลังตามหางานอดิเรกใหม่ ๆ

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ