เมื่อพูดถึงอาชีพในวงการเกม เชื่อว่าหลายคนน่าจะนึกถึงสตรีมเมอร์หรือเกมแคสเตอร์บนช่องทางออนไลน์เป็นหลัก แต่แท้จริงแล้วอาชีพดังกล่าวนั้นเป็นเพียงจุดเล็ก ๆ ที่ซ่อนอยู่ในอุตสาหกรรมเกมซึ่งกำลังเติบโตมากในปัจจุบัน

34,556 ล้านบาท คือมูลค่าของตลาดเกมของประเทศไทยประจำปี 2022 ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะขยายตัวในเชิงบวกมากขึ้นเรื่อย ๆ จากสถิติจำนวนผู้เล่นที่เพิ่มมากขึ้นทุกปี ทางด้าน eSports ก็เป็นที่พูดถึงในวงกว้างมากขึ้น มีการจัดแข่งขันในระดับประเทศ ภูมิภาค นานาชาติ ไปจนถึงบรรจุเป็นหนึ่งในกีฬาในการแข่งขันเอเชียนเกมส์ตั้งแต่ปี 2018

ด้วยความใหม่ของวงการ อาจทำให้ข้อมูลยังไม่เป็นระเบียบมากนัก ทางการีนา (Garena) บริษัทผู้ให้บริการเกมออนไลน์ที่หลายคนคุ้นเคยดีจึงอาสาเป็นผู้รวบรวมความรู้เกี่ยวกับอาชีพในอุตสาหกรรมเกมและ eSports เพื่อสร้างความเข้าใจและแรงบันดาลใจให้ผู้ที่สนใจ โดยนำเสนอผ่านทาง Garena Academy แพลตฟอร์มการเรียนรู้ที่พร้อมเปิดโลกเกมให้กับทุกคน

วันนี้เราเลยชวน แชมป์-กฤตย์ พัฒนเตชะ Senior Director และ Head of Garena Online (Thailand) มาพูดคุยถึงโปรเจกต์นี้ที่เขาตั้งใจสร้างเพื่อผลักดันวงการเกมและ eSports ไทยให้ไปไกลถึงระดับโลก

Garena Academy ห้องเรียนอีสปอร์ตที่เปิดพื้นที่ให้เด็กไทยได้ค้นหาอาชีพที่ใช่ในวงการเกม

CHOOSE YOUR LANE

ก่อนจะมาเป็นนายกฤตย์ เด็กชายกฤตย์ก็ชอบเล่นเกมมาก่อน

แชมป์โตมากับเกมบอยรุ่นแรก ขยับไปเล่น Playstation 1 และ 2 ก่อนจะเริ่มมาเล่นเกมแนว MOBA (Multiplayer Online Battle Arena) ช่วงเรียนมหาวิทยาลัยที่ประเทศอังกฤษ และติดตามการแข่งขัน eSports ไปด้วยพร้อม ๆ กัน 

เมื่อมีเวลากลับมาไทย แชมป์ก็มีโอกาสไปลองแบ่งปันวัฒนธรรมร่วมในร้านเกมที่มีเด็กคอยยืนเชียร์ให้กำลังใจอยู่หลังเบาะ (โหยพี่ ทำไมไม่เชื่อผม)

วันเวลาผ่านไป แชมป์คว้าใบปริญญาวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาเคมี มาครอง ไปค้นหาตัวเองในสายอาชีพวิศวกรด้านการออกแบบแท่นน้ำมันอยู่สักพัก ก็ได้รับคำชวนจาก นก-มณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ ซึ่งในขณะนี้เป็น CEO ของ Sea (ประเทศไทย) หรือยานแม่ของการีนาให้มาทำงานในตำแหน่งมาร์เก็ตติง 

ย้อนกลับไปสักนิด จริง ๆ แล้วทางการีนาเคยเปิดตัวเกมบน PC มาแล้วหลายเกม ประกอบไปด้วยเกมแนว MOBA อย่าง Heroes of Newerth (HoN) และ League of Legends (LOL) เกมแนวยิงปืนอย่าง Point Bank (PB) และเกมแนวฟุตบอลอย่าง FIFA Online 3 ซึ่งเป็นเกมที่แชมป์ได้รับคำชวนให้มาร่วมงานกัน

Garena Academy ห้องเรียนอีสปอร์ตที่เปิดพื้นที่ให้เด็กไทยได้ค้นหาอาชีพที่ใช่ในวงการเกม

“ด้วยความที่เคยเรียนที่อังกฤษทำให้ผมชอบฟุตบอลเป็นทุนเดิม เลยทำการตลาดด้วยการชวน ไมเคิล โอเวน (Michael Owen) มาโปรโมตเกม น่าจะเป็นครั้งแรกที่มีการเอานักฟุตบอลระดับโลกมาทำมาร์เก็ตติงในไทย”

หลังจากได้ชิมลางงานเกมเป็นครั้งแรก แชมป์ก็ค้นพบความสุขของการทำงาน เมื่อได้คลุกคลีกับเกมซึ่งเป็นสิ่งที่ชอบอยู่แล้ว ทำให้รู้สึกว่าทำได้ดี ประกอบกับการเป็นคนเล่นเกมมาก่อน แชมป์จึงเข้าใจหัวอกฝั่งยูสเซอร์หรือเกมเมอร์ว่าเขาชอบเกมแบบไหนและต้องการอะไรในเกม

ถัดจากยุค PC ก็เริ่มเป็นช่วงที่โทรศัพท์มือถือเข้ามามีบทบาทในชีวิตมนุษย์มากขึ้น แชมป์มองเห็นกลุ่มเป้าหมายที่อยากเล่นเกม MOBA แต่ไม่มีเวลามากพอ เพราะในหนึ่งเกมใช้เวลาค่อนข้างเยอะ เขาจึงร่วมมือกับทาง Tencent ที่ออกเกม Arena of Valor (RoV) นำมาเปิดตัวที่ไทยในช่วงปี 2016 โดยเจาะกลุ่มคนเล่นในโทรศัพท์โดยเฉพาะ ก่อนที่เกมดังกล่าวจะสร้างปรากฏการณ์ฮอตฮิตไปทั่วบ้านทั่วเมือง 

น้ำขึ้นต้องรีบตัก หลัง RoV ประสบความสำเร็จ แชมป์ก็เห็นกระแสเกมแนว Battle Royale ซึ่งยังมีแค่ใน PC ซึ่งก็สอดคล้องกับสถานการณ์ในหลาย ๆ ตลาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในเวลานั้นเองการีนาก็ได้พัฒนาเกมขึ้นมาใหม่ในชื่อ Free Fire และต่อมาก็กลายเป็นเกมชูโรงของบริษัทควบคู่กับ RoV จวบจนปัจจุบัน

PREPARE TO ENGAGE

นอกจากงานดูแลเกม อีกสิ่งหนึ่งที่แชมป์ให้ความสนใจเป็นพิเศษคือวงการ eSports เนื่องจากเขาติดตามกีฬานี้มาตั้งแต่สมัยยังเรียนมหาวิทยาลัย เห็นการแข่งขันระดับโลกที่มีเงินรางวัลมหาศาล จึงเกิดเป็นแรงบันดาลใจในการกลับมาผลักดันวงการ eSports ของไทยต่อ 

ทางการีนามีการผลักดันด้าน eSports มาตั้งแต่ยุคเกม PC แต่ยังไม่ได้รับความนิยมเท่ายุคเกมโทรศัพท์ โดยเมื่อแชมป์ได้เข้ามาดูแลเกม RoV ก็มีปณิธานว่า eSports ต้องเกิด และทำให้ RoV เป็นเกมที่มีการจัดการแข่งขันอย่างจริงจัง ทั้งในระดับมือสมัครเล่น ระดับกึ่งมืออาชีพ และระดับมืออาชีพ ทั้งในประเทศและระดับนานาชาติ ยกตัวอย่างเช่น RoV Pro League ที่เปิดรับสมัครผู้เล่นมาเป็นนักกีฬา จัดการแข่งขันอย่างจริงจัง และได้รับการตอบรับอย่างดีเยี่ยมจากทั้งผู้สมัครและผู้เข้าชม กลายเป็นอีกรายการ eSports ที่มีผู้ชมจำนวนมากเป็นประวัติการณ์ของเมืองไทย

เมื่อเห็นแล้วว่า eSports พอจะมีทิศทางการเติบโตในประเทศบ้านเกิด แชมป์จึงอยากทำให้วงการนี้อยู่รอดอย่างยั่งยืน ซึ่งสิ่งสำคัญคือการมี Ecosystem ที่แข็งแรง 

Garena Academy ห้องเรียนอีสปอร์ตที่เปิดพื้นที่ให้เด็กไทยได้ค้นหาอาชีพที่ใช่ในวงการเกม

“การีนาในฐานะ Publisher ต้องเลือกเอาเกมที่เหมาะสมกับการทำ eSports เข้ามา มีการจัดตั้งสโมสรนักกีฬา ให้นักแข่งมีเงินเดือน มีการฝึกซ้อมอย่างเป็นระบบ ขณะเดียวกันก็มีการจับมือกับพาร์ตเนอร์หาสปอนเซอร์มาเติมเต็ม Ecosystem ให้มีความครบถ้วนมากขึ้น เมื่อภาครัฐและภาคธุรกิจเห็นว่า eSports เติบโต มีโอกาส มีประโยชน์ ก็นำเกมไปใช้ในการผลักดันเศรษฐกิจดิจิทัล วงการกีฬา หรือประยุกต์กับการพัฒนาทักษะคนรุ่นใหม่ จึงทำให้หลาย ๆ ฝ่ายเข้ามาสนับสนุนวงการเกมและ eSports มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดและทำให้ Ecosystem ของวงการเกมและ eSports ครบลูปมากขึ้น”

ในเวลาที่การีนาเริ่มผลักดัน eSports ในประเทศไทย ซึ่งก็ราว 10 ปีก่อน การจะทำให้ Ecosystem ในฝันของแชมป์เป็นจริงได้มีความท้าทายอยู่ 3 ด่าน

หนึ่ง ด้านยูสเซอร์ที่ยังไม่เข้าถึงเกมมากขนาดนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกมที่ยังไม่ตอบโจทย์ หรือยังมีกลุ่มคนที่เข้าถึงอุปกรณ์การเล่นอย่างทั่วถึงไม่ได้

สอง ด้านความคิดเห็นของผู้ใหญ่หรือผู้ปกครองบางส่วน ซึ่งยังติดภาพเกมว่าเป็นตัวร้ายและอาจมีการเหมารวมว่าเด็กที่เล่นเกมจะไม่ตั้งใจเรียนหรือหัวรุนแรง 

สาม ด้านการสนับสนุนจากภาครัฐบาล ซึ่งในอดีตยังอยู่ในช่วงการประเมินอยู่ว่าวงการนี้จะไปได้ไกลแค่ไหน

Garena Academy ห้องเรียนอีสปอร์ตที่เปิดพื้นที่ให้เด็กไทยได้ค้นหาอาชีพที่ใช่ในวงการเกม

“ความท้าทายทั้ง 3 ด่านนั้นต้องค่อย ๆ แก้ ด่านแรกที่เป็นเรื่องเกม ทางการีนาต้องคัดเลือกเกมที่ยูสเซอร์ย่อยได้ง่าย มีสนามให้เขาประลองฝีมือ มีการฝึกตั้งแต่เป็นมือสมัครเล่นไปจนถึงระดับมืออาชีพ

“ด่านที่ 2 เรื่องผู้ปกครองไม่ยอมรับ จุดนี้ต้องสร้างความเข้าใจ เปลี่ยนมุมมองภาพจำว่าเด็กเล่นเกมแล้วจะไม่ตั้งใจเรียน ซึ่งจริง ๆ เด็กจำนวนมากเล่นเกมแต่เขาก็รับผิดชอบการเรียนของเขาได้ เรานำเสนอผ่านการสร้าง Role Model หยิบเอานักกีฬา eSports ที่เก่ง มีวินัย แบ่งเวลาได้ดีมาพูดถึง ให้ผู้ปกครองเห็นว่าน้อง ๆ เล่นเกมเป็นอาชีพและมีชีวิตในด้านอื่น ๆ ควบคู่ไปด้วยกันได้

“และด่านสุดท้ายคือการสนับสนุนจากภาครัฐ ผมคิดว่าพอทั้ง 2 ด่านแรกได้รับการแก้ไขแล้ว เขาก็มองเห็นโอกาสและได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้น ในปัจจุบันเราก็เห็นแล้วว่าภาครัฐเข้ามาช่วยส่งเสริมหลายด้าน ไม่ว่าจะด้านการส่งเสริมนักกีฬา การส่งเสริมการพัฒนาทักษะ หรือการส่งเสริมการพัฒนา Digital Content”

นอกจากอาชีพนักกีฬา จริง ๆ แล้ววงการเกมและ eSports ยังมีอีกหลายตำแหน่งงานที่ต้องการแรงงานมากความสามารถ เช่น นักพากย์เกม นักพัฒนาเกม กราฟิกดีไซเนอร์ ฯลฯ ซึ่งเป็นตำแหน่งสำคัญที่ทำให้ Ecosystem ดำเนินต่อไปอย่างยั่งยืน แต่ข้อมูลส่วนนี้ยังไม่ค่อยแพร่หลาย ทางการีนาจึงจัดตั้งโปรเจกต์ Garena Academy ขึ้นมาอย่างเป็นทางการในปี 2020

Garena Academy ห้องเรียนอีสปอร์ตที่เปิดพื้นที่ให้เด็กไทยได้ค้นหาอาชีพที่ใช่ในวงการเกม

LEVEL UP YOUR PASSION

Garena Academy เป็นแพลตฟอร์มให้ข้อมูลเรื่องอาชีพในวงการเกมและ eSports มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ความรู้ สร้างความเข้าใจ และมีส่วนช่วยเตรียมความพร้อมให้ผู้มีความสนใจเข้าสู่อุตสาหกรรมในอนาคต

แชมป์แบ่งอาชีพในวงการออกเป็น 3 ด้าน

ด้านแรกคือด่านหน้ากล้อง หมายถึงกลุ่มคนที่อยู่หน้าฉาก ได้แก่ นักกีฬา เกมเมอร์ แคสเตอร์ และอินฟลูเอนเซอร์ ซึ่งเป็นอาชีพที่หลายคนคุ้นเคยเมื่อพูดถึงวงการเกมและ eSports 

ด้านที่ 2 คือด่านตรงกลาง หมายถึงกลุ่มคนที่เป็นสื่อหรือทำคอนเทนต์เกี่ยวกับเกม 

ด้านที่ 3 คือด่านหลังกล้อง หมายถึงกลุ่มคนที่อยู่หลังฉาก ซึ่งมีจำนวนเยอะและหลากหลายที่สุด ประกอบไปด้วยหลายสาขาวิชา มีทักษะที่แตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นสายพัฒนา สายโลจิก สายโปรแกรมเมอร์ สายอาร์ตออกแบบ สายจัดการแข่งขัน หรือสายมาร์เก็ตติง

นอกจากการเปิดเผยความหลากหลายแล้ว Garena Academy ยังให้ข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับสกิลล์ที่จำเป็นของแต่ละอาชีพ แนะนำสาขาวิชาที่ควรไปต่อในระดับมหาวิทยาลัย อธิบายขอบข่ายงาน รายได้ และรูปแบบการใช้ชีวิต พร้อมทั้งมี Role Model ผู้ประกอบอาชีพนั้นจริง ๆ มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์

Garena Academy ห้องเรียนอีสปอร์ตที่เปิดพื้นที่ให้เด็กไทยได้ค้นหาอาชีพที่ใช่ในวงการเกม

“การคัดเลือก Role Model เราจะคัดเลือกคนที่มีความรู้ความเข้าใจในสายงานของตัวเองจริง ๆ อย่างนักกีฬา eSports ก็ต้องเอาคนที่เล่นเก่ง มีประสบการณ์ มีคุณลักษณะที่ดี เช่น มีวินัยทั้งด้านการเรียนและการเป็นนักกีฬา ผมว่ามันจำเป็นที่ต้องถ่ายทอดเรื่อง Skill Set ที่ถูกต้องและลึกซึ้ง เพราะเราต้องสร้างแรงบันดาลใจและสื่อสารแนวทางพัฒนาตัวเอง ให้คนที่สนใจเข้าใจและนำไปปรับใช้ได้

“ตัวสื่อการเรียนการสอนในเว็บไซต์จะมีทั้งรูปแบบเอกสารและวิดีโอ ซึ่งตัวคลิปนั้นเราไปถ่ายทำในสถานที่ทำงานจริง เพื่อให้คนดูเห็นว่านี่เป็นอาชีพที่มีคนทำจริง ๆ แล้วเขาก็จะเป็นคนเล่าเรื่องรายละเอียดงานด้วยตัวเอง” แชมป์เล่าถึงกระบวนการทำหลักสูตร

กลุ่มเป้าหมายของ Garena Academy ไม่ใช่แค่ตัวนักเรียน แต่ยังรวมไปถึงคุณครูด้วย เพราะพวกเขาต้องเป็นผู้ให้คำแนะนำกับเด็ก ๆ ได้อย่างถูกต้อง การีนาจึงมีโอกาสทำงานร่วมกับโรงเรียนต่าง ๆ ภายใต้โครงการ ‘ห้องเรียน eSports’ จัดทำเป็นโครงการระยะยาว โดยให้โรงเรียนเป็นผู้จัดแข่ง Tournament 

“การจัดแข่งขัน eSports มีองค์ประกอบหลายอย่าง ทั้งด้านการจัดการนักกีฬา การจัดการแข่งขันที่ถูกต้อง การทำมาร์เก็ตติง การทำ Broadcasting และการจัดการโปรเจกต์ ผมคิดว่ามันเป็นโอกาสที่ดีในการเพิ่มหลักสูตรเข้าไปในห้องเรียน เพราะทุกวันนี้เกมก็อยู่ในชีวิตของเด็ก การที่เขาได้ลองทำและมีครูที่ให้คำแนะนำได้ น่าจะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้พวกเขาไม่มากก็น้อย”

แม้ตัวโครงการที่เป็นกิจกรรมจะเริ่มต้นจากกรุงเทพฯ และปริมณฑลเป็นหลัก แต่แชมป์เผยว่ามีการจัดทำออกมาเป็นหลักสูตรที่พร้อมใช้งานแล้ว และทุกโรงเรียนในประเทศไทยที่สนใจ เข้าไปศึกษาได้ในเว็บไซต์ SeaAcademy.co และนำไปปรับใช้ได้ ถ้าโรงเรียนใดติดต่อเข้ามาเรื่องต้องการสนับสนุนเพื่อนำหลักสูตรไปปรับใช้ ก็จะมีทีมงานที่ดูแลโครงการ Garena Academy คอยให้คำแนะนำ

เพื่อให้เห็นภาพมากยิ่งขึ้น เราขอให้แชมป์ช่วยยกตัวอย่างอาชีพในวงการเกมและ eSports ที่หลายคนมักจะนึกไม่ถึง แต่กลับเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างมากสัก 3 อาชีพ

อาชีพแรกที่แชมป์ยกมาเป็นงานด้าน Production Broadcasting เป็นอาชีพที่มี Transferable Skill เอาความรู้ไปปรับใช้ได้หลายตลาด สำหรับงานเกมออนไลน์อาชีพนี้จะคอยดูแลจัดการการแข่งขัน ซึ่งปัจจุบันบรรดาเกมต่าง ๆ มักจัดตารางแข่งขันค่อนข้างถี่ งานนี้จึงเป็นที่ต้องการอยู่ตลอด

ต่อมาคืองานด้านอาร์ต แชมป์เล่าในมุมของยูสเซอร์ว่า ถ้าอาร์ตไม่สวยก็คงไม่มีใครอยากเล่นเกมนี้ต่อ ดังนั้นงานออกแบบตัวละครหรือฉากจึงเป็นสิ่งสำคัญ นอกจากการทำงานร่วมกับผู้พัฒนาเกม สายอาร์ตยังมีบทบาทในตอนจัดการแข่งขันด้วยการออกแบบเวทีให้ดูยิ่งใหญ่ สวยงาม และสร้างประสบการณ์ดี ๆ ให้คนดู 

สุดท้ายคืองานของฝั่งผู้พัฒนาเกม ซึ่งจะโฟกัสไปที่คนดีไซน์เกม คิดจากกระดาษว่าเมื่อคนเข้ามาเล่นเกมนี้จะเจออะไรบ้าง แล้วจะทำอย่างไรให้เขาอยู่กับเกมไปนาน ๆ เป็นการคิดแบบ Long-term แชมป์มองว่านี่เป็นอาชีพที่ยังมี Gap อยู่มากทั้งในตลาดไทยและตลาดโลก เพราะคนทำอาชีพนี้ต้องใช้ความกล้าที่จะใส่ไอเดียใหม่ ๆ เอาข้อมูลไปลองเทสต์ เอากลับมาปรับ มีความเข้าใจยูสเซอร์ โปรดักต์ Limitation อยู่ตรงไหน จะ Push ไปได้ไกลแค่ไหน วงการเกมและ eSports ค่อนข้างใหม่ แต่คนที่จะมาทำงานนี้ได้ต้องมีประสบการณ์ 

“งานเกมมีทั้ง Technical Skill ที่เฉพาะเจาะจง Specific กับเกม และมี Transferable Skill หรือ General Skill ที่ถ้าเข้ามาเรียนรู้ก็ใช้ทำงานอื่นได้ด้วย ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในวงการเกม ไปทำ Digital Content หรืออาชีพอื่น ๆ ได้หมดเลย อยากให้คนที่สนใจลองเข้ามาศึกษา สมมติว่าลองแล้วไม่ชอบเกม ก็เอาทักษะนั้นไปต่อยอดกับสาขาอื่นได้” แชมป์เล่าให้ฟังถึงการทำหลักสูตรใน Garena Academy

Garena Academy ห้องเรียนอีสปอร์ตที่เปิดพื้นที่ให้เด็กไทยได้ค้นหาอาชีพที่ใช่ในวงการเกม

ATTACK!

แชมป์มองว่าปัจจุบันจุดยืนในวงการ eSports ของไทยในระดับภูมิภาคค่อนข้างเป็นที่น่าพอใจ โดยเฉพาะเกม RoV หรือ Free Fire ที่ไทยมีกลุ่มนักกีฬาที่เก่งเป็นอันดับต้น ๆ ของเอเชีย แต่ถ้าอยากจะไปต่อให้ไกลกว่านี้มีสิ่งที่ต้องทำอยู่ 2 อย่าง

“หนึ่ง คือทำสิ่งที่เราทำอยู่ให้มันยิ่งใหญ่มากขึ้น มีการไปเรียนรู้กับทางต่างประเทศว่าเขาทำอะไรน่าสนใจ เราก็นำกลับมาปรับใช้ เช่น มีเทคโนโลยีอะไรน่าตื่นตาตื่นใจ หรือแม้กระทั่งการทำ Data Analysis ระหว่างเกม มี Commentator มาให้ข้อมูลว่า ถ้าทำแบบนี้จะมีโอกาสชนะกี่เปอร์เซ็นต์ เป็นการเพิ่มความน่าสนใจให้ผู้ชม

สอง คือนำเกมที่พัฒนาเป็น eSports ได้มาเปิดในไทยมากยิ่งขึ้น เพื่อเจาะกลุ่มคนวงกว้าง เพราะการที่มีคนสนใจก็เป็นการสร้าง Ecosystem ที่ดีต่อไป นำไปสู่แอ็กชันจากภาครัฐและภาคเอกชน”

Garena Academy ห้องเรียนอีสปอร์ตที่เปิดพื้นที่ให้เด็กไทยได้ค้นหาอาชีพที่ใช่ในวงการเกม
Garena Academy ห้องเรียนอีสปอร์ตที่เปิดพื้นที่ให้เด็กไทยได้ค้นหาอาชีพที่ใช่ในวงการเกม

Writer

สุชานาถ กิตติสุรินทร์

สุชานาถ กิตติสุรินทร์

นักเขียนผู้ชื่นชอบการนอน พิซซ่า และสีเหลือง (บางครั้งก็สีเขียว)

Photographer

Avatar

ผลาณุสนธิ์ ผดุงทศ

ช่างภาพที่โตมาจากเมืองทอง รักแมว ชอบฤดูฝน และฝันอยากไปดูบอลที่แมนเชสเตอร์