18 มิถุนายน 2022
15 K

The Cloud x สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa)

ความเป็นติ่งของ เคน-ธีรเดช วงศ์พัวพันธ์ และ รถไฟฟ้า..มาหานะเธอ ทำให้เราต้องดั้นด้นไปตามหาทันทีที่รู้ว่า ‘บ้านของพี่เคน’ (ในภาพยนตร์) ได้กลายเป็นโรงแรมริมน้ำเล็ก ๆ แถวถนนทรงวาดชื่อ ‘ลอยละล่อง

ต่อมา เมื่อได้รู้จักและเลิกกรี๊ดความเป็นบ้านพี่เคนแล้ว เราก็ยังเทียวไปเทียวมาที่นี่อยู่ตลอด ด้วยความรู้สึกผูกพันส่วนตัว และยังพาคนอื่นไปสัมผัสเสน่ห์ที่ไม่เคยล้าสมัย แม้ล่วงเข้าปีที่ 11 แล้ว

สิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยน (และทำให้อึ้งไปหลายวินาทีเมื่อแรกรู้จัก) คือเรายังต้องเดินผ่านลานจอดรถของวัดปทุมคงคาไปจนสุดทางที่มีกุฏิพระเรียงรายอยู่ ทางเข้าที่เป็นซอกระหว่างกุฏิ ยังเป็นที่จอดมอเตอร์ไซค์และรถเข็นขายของที่มีสารพัดสิ่งวางสุมอยู่ ส่วนมาสคอตของโรงแรมก็ยังเป็นคุณป้าข้างบ้านคนเดิมที่ชอบเปิดประตูนั่งรับลม และคอยต้อนรับแขกผู้มาเยือนด้วยการชี้ทางเข้าให้กับใบหน้างง ๆ ของคนที่เพิ่งมาเยือนสถานที่แห่งนี้เป็นครั้งแรก

นอกจากคุณป้าจะเป็นมาสคอตของที่นี่แล้ว คุณป้ายังเป็นตรายางที่รับรองว่า ลอยละล่องเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนได้อย่างลงตัว และเคารพคนในชุมชนในฐานะผู้มาขออาศัย โดยไม่เขินอายที่จะปกปิด หรือพยายามเปลี่ยนสภาพด้านนอกให้ดูดีขึ้น เมื่อยอมรับความไม่เข้ากันที่เข้ากันได้ ซี-สราวุธ ศาสนนันทน์ และภรรยา จึงตัดสินใจทิ้งงานอันมั่นคงในวงการโฆษณา มาลงมือสร้างโรงแรมเล็ก ๆ ริมน้ำเมื่อ พ.ศ. 2554 ทันที

การเดินทาง 11 ปี ของ ‘ลอยละล่อง’ โรงแรมริมน้ำเจ้าพระยาที่ชาร์จพลังให้นักเดินทางทั่วโลก

“ตอนแรกผมก็คิดว่าการลาออกมันยาก แต่เอาเข้าจริง พอถึงเวลา ใจผมเรียกร้องมาก ไม่ได้คิดหน้าคิดหลัง คิดแต่ว่า ไม่เอาแล้วเว้ย! หลังจากนั้นผมบอกแม่ว่ามีข่าวดี ผมเป็นอิสระแล้ว แม่ด่าเปิงเลย” ซีหัวเราะ

“การลาออกมีเหตุให้ผมกลัวเยอะมาก ไม่มีใครเห็นด้วยเลย พอเจอตัวบ้านและสภาพแวดล้อมของที่นี่ (ที่ตั้งของลอยละล่อง) แฟนถามว่า พี่ไหวเหรอ ผมก็ถามกลับว่า มันมียิ่งกว่านี้อีกนะ อยู่ที่ว่าเราจะทำหรือเปล่า แล้วปัญหาที่มากกว่านั้นก็คือ น้ำ หลังจากนั้น 6 เดือน น้ำท่วมอยู่ 1 เดือน พระเจ้ารับน้องชุดใหญ่มาก แต่ทุกอย่างที่ดูจะเป็นปัญหา กลับไม่ใช่ปัญหาของเรา แต่เป็นปัญหาของคนที่มาพัก ถ้าเขายอมรับบริบทตรงนี้ได้” เขาเล่าติดตลก

เราก็เป็นหนึ่งในคนมาพักที่เห็นว่า การขึ้นลงของน้ำคือประสบการณ์น่าสนุก ตื่นเต้น และท้าทายจริง ๆ แต่ไม่ใช่แขกทุกคนที่จะรับความขลุกขลักแบบนี้ได้ ซีบอกว่าทั้งสองฝ่ายมีสิทธิ์ที่จะเลือก (ทั้งแขกและเจ้าของที่พัก) เพราะเขาเชื่อว่าการไปเที่ยวหรือไปพักที่ไหน ตัวเราต้องอยู่ในที่ที่ชอบก่อน ทริปนั้นถึงจะแฮปปี้ ลอยละล่องเลยไม่มีปัญหา ถ้าแขกจะปฏิเสธการเข้าพัก แต่กลับมีปัญหาในการปฏิเสธแขกมากกว่า เพราะบางทีไม่เข้ากันจริง ๆ ก็จะทำตัวไม่ถูก

การเดินทาง 11 ปี ของ ‘ลอยละล่อง’ ที่พักริมน้ำเจ้าพระยาที่ชาร์จพลังให้นักเดินทางทั่วโลก

“เคยมีฝรั่งชาวเยอรมันคู่หนึ่งมาพักที่นี่ ภรรยาเขาหน้าบึ้งมาก เหมือนกับว่าที่พักเราไม่ใช่แบบที่เขาคิดไว้ ซึ่งเขาจองมา 3 คืน ผมบอก ถ้าอย่างนั้น คืนนี้ยูนอนเลย ถ้าพรุ่งนี้ยูไม่ชอบ ไอคืนเงินให้ทั้งหมด เพราะตอนนั้นค่ำมากแล้ว จะไปหาที่พักใหม่ก็ลำบาก ปรากฏว่าตอนเช้าเขาชอบมาก และขอบคุณที่ให้โอกาสเขา มันกลายเป็นมิตรภาพที่ดีมากครับ แล้วเขาก็กลับมาบ่อย ทุกครั้งที่เขามาก็จะมีของมาฝากผม แล้วเอาของผมกลับไปด้วย เช่น ต้นไม้ ใบหญ้า”

ซีจึงปล่อยการตลาดของลอยละล่องให้เป็นไปตามธรรมชาติ เขาทิ้งตำราโฆษณาที่ตัวเองเชี่ยวชาญ และพบว่าวิธีนี้ดีที่สุด เพราะคนที่ถูกใจก็จะแนะนำคนที่ใกล้เคียงกับเขา และใกล้เคียงกับโรงแรมมาพัก ทำให้แฮปปี้ด้วยกันทั้งสองฝ่าย ประกอบกับโรงแรมมีห้องพักแค่ 6 ห้อง ไม่ต้องการแขกมากมาย การเป็นโรงแรมเล็ก ๆ นี้ เจ้าของคือคาแรกเตอร์ของโรงแรมทั้งหมด ข้อดีคือตั้งราคาได้ ลดราคาได้ถ้าอยากจะลด และเป็นอิสระมากกว่า

การเดินทาง 11 ปี ของ ‘ลอยละล่อง’ ที่พักริมน้ำเจ้าพระยาที่ชาร์จพลังให้นักเดินทางทั่วโลก

การกลับไปเยี่ยมเยียนโรงแรมที่เพิ่งผ่านการรีโนเวตครั้งที่ 3 เมื่อเดือนพฤษภาคม สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ ที่นี่ได้เพิ่มลูกเล่นและสีสันให้กับบ้านไม้สีธรรมชาติอันคุ้นตาไปอีกระดับ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้มาจากการตกผลึกทางความคิด และประสบการณ์ที่ลองผิดลองถูกมาตลอดของเจ้าของนั่นเอง

ซีเริ่มทำที่พักแห่งนี้ด้วยความดุ่ย ๆ หลายเรื่องที่ควรจะกลัวก็ไม่กลัว แถมยังขบถเล็ก ๆ ต่อศาสตร์การทำโรงแรมทั่วไป การรีโนเวตในแต่ละรอบ นอกจากเรื่องปรับปรุงความทรุดโทรมแล้ว ก็ถือเป็นการรีเฟรชตัวโรงแรมและตัวของซีด้วย ปีนี้จึงมีการเปลี่ยนรูปลักษณ์มากขึ้น หลังจากเริ่มคิดว่าอะไรเป็น Best Stay และ Luxury สำหรับแขกผู้มาพัก

ในเมื่อตัวอย่างความหรูหราของซี คือการละเลียดกาแฟตอนเช้าสัก 2 ชั่วโมง ในบรรยากาศสงบที่แทบหาไม่ได้ในกรุงเทพฯ ทำให้เขาใส่รายละเอียดในแต่ละห้องมากขึ้น เพิ่มเครื่องทำกาแฟ ต่อเติมระเบียง เสริมด้วยต้นไม้และดอกไม้ที่จะเบ่งบานรับแขกที่ตื่นมาชงกาแฟเอง และตั้งใจให้พวกเขาออกไปนั่งที่ระเบียงในชุดนอน เพื่อดื่มด่ำบรรยากาศแม่น้ำได้นานเท่าที่ต้องการ สิ่งเหล่านี้เป็นความหรูหราในนิยามที่ลอยละล่องอยากมอบให้แขกผู้มาพักทุกคน

แขกต่างชาติส่วนใหญ่ของที่นี่ เป็นคนที่มาเมืองไทยหลายครั้งจนแทบไม่ออกไปไหน แต่เอ็นจอยกับการใช้เวลาอยู่ในที่พักเล็ก ๆ เหมือนโอเอซิส หลังจากผ่านความวุ่นวายของเยาวราชบ้าง โดนแท็กซี่หลอกบ้าง เขาเหล่านี้จึงไม่ได้ต้องการอะไรมากกว่าการเห็นเรือทุกชนิดแล่นผ่านไปมา หรือเห็นขยะทุกประเภทลอยผ่านหน้า แค่นั้นเอง

มิตรภาพและความไว้วางใจที่เกิดขึ้นในบ้านน้อยหลังนี้ มาในคำชมหลายรูปแบบที่ไม่ต้องเอ่ยวาจา เช่น แขกบางคนเดินถอดเสื้อโดยไม่ปิดประตูห้อง บางคนทิ้งกระเป๋าเงินและกล้องไว้ขณะที่ออกไปเที่ยวครึ่งค่อนวัน บางคนเอาของมาทิ้งไว้ให้ บางคนส่งลูกมาพักและให้ช่วยดูแล หรือบางคนฝากของให้เพื่อนที่จะมาพักในอีก 8 เดือน (ข้างหน้า) แบบนี้ก็มี!

การเดินทาง 11 ปี ของ ‘ลอยละล่อง’ ที่พักริมน้ำเจ้าพระยาที่ชาร์จพลังให้นักเดินทางทั่วโลก

ในรอบ 10 ปี เราเยือนลอยละล่องในฐานะแขกประจำ แต่ที่เห็นว่าไม่ประจำคือหน้าของพนักงาน ถือเป็นเรื่องน่าปวดหัวสำหรับเจ้าของกิจการไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ แต่ใน 2 – 3 ปีที่ผ่านมา ที่นี่ได้ทีมสาว ๆ ไฟแรงแสนน่ารักมาช่วยดูแลบ้านน้อยหลังนี้ ตรงตามเจตนารมณ์ของโรงแรมและแขกผู้มาพัก ที่สำคัญ สาว ๆ มีฝีมือในการทำอาหารไม่แพ้เชฟมีชื่อ จึงช่วยประคองตัวผ่านวิกฤตช่วงปิดประเทศไปได้ การเปิดร้านอาหารและบาร์เล็ก ๆ เปลี่ยนโรงแรมเป็นพื้นที่ Work from River เพื่อรองรับแขกคนไทย ทำให้มีคนเข้ามาเยือนตลอดโดยไม่จำเป็นต้องค้าง

การได้ทีมที่เข้มแข็งเป็นความโชคดีในความโชคร้ายระหว่างปิดประเทศอย่างมาก หลัง ๆ โรงแรมได้คอมเมนต์นอกเหนือจากการชื่นชมแม่น้ำตามสูตร เป็นการพูดถึงพนักงาน เรื่องนี้ซีขอขอบคุณคำสอนจากพี่คนหนึ่งที่เป็นเจ้าของที่พักกลางเกาะหลีเป๊ะ เขาต้องไปส่งแขกที่ท่าเรือด้วยตัวเองแทบทุกครั้ง ด้วยความคิดว่า

“เวลาแขกเช็กเอาต์ ก็เหมือนตายจากกัน เขาอาจไม่กลับมาแล้ว ต้องบริการเขาให้ดีที่สุด ต่อให้เขาแย่ที่สุด ก็ต้องจบกันในภพเล็ก ๆ นี้” คำพูดนี้ทำให้ซีตอบตัวเองได้ว่า เขาต้องดูแลแขกแบบไหน และพร่ำสอนพนักงานให้คิดแบบนั้น ซีเชื่อว่า “คนไทยคือ Soft Power ที่ต้องเก็บไว้ เป็นเรื่องดีของคนไทยมาก ๆ ที่เรามีน้ำใจโดยอัตโนมัติ”

เมื่อไทยเริ่มเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว ลอยละล่องจึงยิ่งกว่าพร้อมที่จะต้อนรับแขกจากต่างแดน โดยพกความมั่นใจในมิตรภาพข้ามโลกที่แฝงความโรแมนติกว่า คนที่ไม่ควรจะได้เจอกัน แต่ก็ได้เจอกัน เป็นเพื่อนกัน ทำให้มีโอกาสดูแลกัน และมอบความสุขกลับไป ถือเป็นรางวัลที่มีค่ามากของโรงแรม

การเดินทาง 11 ปี ของ ‘ลอยละล่อง’ ที่พักริมน้ำเจ้าพระยาที่ชาร์จพลังให้นักเดินทางทั่วโลก

ไม่ว่าจะเป็นแขกประจำหรือแขกที่เพิ่งมาครั้งแรก การเดินผ่านประตูไม้ทึบเข้ามาตามทางเดินแคบ ๆ ก่อให้เกิดความรู้สึกตื่นเต้นและคาดหวังทุกครั้ง เราเริ่มรับรู้ถึงความเย็นสงบไปพร้อม ๆ กับได้ยินเสียงคลื่นน้ำเป็นระยะ ๆ เมื่อผ่านครัวเล็ก ๆ ทางซ้ายที่ดูจะวุ่นวายที่สุด เพราะเป็นที่ประจำการของทีมสาว ๆ ก่อนจะเข้าสู่ห้องนั่งเล่นที่ปูลาดด้วยเบาะสีสดใส ข้างหน้าคือวิวพาโนราม่าของเจ้าพระยาที่ดึงดูดให้ถลาไปชื่นชมก่อนแทบทุกคน

นอกจากตั้งชื่อโรงแรมว่า ‘ลอยละล่อง’ จากการสะท้อนโลเคชันตามสูตรแล้ว ชื่อนี้ยังเหมือนกับการประกาศอิสรภาพว่า (ออกจากงาน) ไปแล้วนะ และเมื่อเริ่มเข้าไปทำจริง ๆ ซีพบว่า แต่ละห้องไม่เหมือนกันเลย ความสนุกและความท้าทายจึงเหมือนกับการทำห้อง 6 ห้อง เป็น 6 สถานที่ในแต่ละรายละเอียด การตั้งชื่อห้องเป็นสีก็เพื่อให้สื่อสารง่าย และยังง่ายต่อการตกแต่งจาก Scheme Colour (โทนสี) ด้วย

เราแอบถามซีจนพบว่า บ้านหลังนี้จริง ๆ มีทั้งหมด 7 ห้อง แต่เนื่องจากห้องหนึ่งไม่เอื้อกับคุณภาพในการนอน ที่นี่จึงเปิดห้องพักแค่ 6 ห้อง 6 สี โดยอยู่ข้างล่าง 3 ห้อง ข้างบนอีก 3 ห้อง

ห้องสีฟ้า ซีบอกว่า ทัศนคติของการลาออกจากงานในครั้งนั้น ได้นำไปบรรจุในห้องสีฟ้าหมดแล้ว จึงดูเป็นห้องที่น่าค้นหาความหมายที่สุดและยอดนิยมที่สุด ถึงแม้จะไม่รู้ที่มาที่ไปก็ตาม

การเดินทาง 11 ปี ของ ‘ลอยละล่อง’ ที่พักริมน้ำเจ้าพระยาที่ชาร์จพลังให้นักเดินทางทั่วโลก
ความสุขปริ่มน้ำที่ 'ลอยละล่อง' สิ่งที่นักเดินทางโอบรับและโหยหา หลังโดนซ้อมจนเหนื่อยล้าจากความวุ่นวายในกรุงเทพฯ

ห้องสีเขียว จุดเด่นคือ อ่างอาบน้ำสีทองแดงที่ต้องไปจ้างทำ เนื่องจากสู้ราคาอ่างจริงไม่ได้ ให้อารมณ์เหมือนอาบน้ำริมธาร ล้อไปกับรูปวาดบนผนังสีเขียวแบบในหนัง Great Expectations

ความสุขปริ่มน้ำที่ 'ลอยละล่อง' สิ่งที่นักเดินทางโอบรับและโหยหา หลังโดนซ้อมจนเหนื่อยล้าจากความวุ่นวายในกรุงเทพฯ
ความสุขปริ่มน้ำที่ 'ลอยละล่อง' สิ่งที่นักเดินทางโอบรับและโหยหา หลังโดนซ้อมจนเหนื่อยล้าจากความวุ่นวายในกรุงเทพฯ

ห้องสีดำ ที่เจ้าของชอบที่สุด แต่ถูกคนรอบตัวว่ามากที่สุด เพราะหาว่าเป็นสีอัปมงคล!

สำหรับแขกประจำแบบเรา บอกได้เลยว่าห้องนี้มีการปรับปรุงมากที่สุด ด้วยการเพิ่มขนาดของห้องและเปลี่ยนตำแหน่งของห้องน้ำให้สะดวกมากขึ้น และมีระเบียงให้ออกไปจิบกาแฟยามเช้า

ห้องสีส้ม เป็นห้องขนาดเล็กที่สุดสำหรับ Solo Traveler และถือว่าน่ารักน่านอนด้วยนะ อาจจะเพราะโรงแรมค้นพบว่า คนที่เที่ยวคนเดียวไม่ใช่ผู้ชาย แต่เป็นผู้หญิงนี่เอง

ความสุขปริ่มน้ำที่ 'ลอยละล่อง' สิ่งที่นักเดินทางโอบรับและโหยหา หลังโดนซ้อมจนเหนื่อยล้าจากความวุ่นวายในกรุงเทพฯ

ห้องสีขาว มีทางเข้าได้ทั้งชั้นบนและชั้นล่าง ถือกำเนิดจากการเป็นห้องแบบ Dormitory แต่สุดท้ายก็ทำเป็นห้องสำหรับ Family แทน สำหรับครอบครัวที่มีเด็ก ห้องนี้สนุกที่สุด (มีประตูลับด้วย)

ห้องสีแดง มีกลิ่นอายแบบจีน ๆ และมีส่วนหนึ่งอยู่ใต้หลังคา จึงจัดเป็นที่นอนเสริมสำหรับครอบครัวที่มีลูกเล็ก ๆ นอนรวมกันได้ถึง 3 คน

ความสุขปริ่มน้ำที่ 'ลอยละล่อง' สิ่งที่นักเดินทางโอบรับและโหยหา หลังโดนซ้อมจนเหนื่อยล้าจากความวุ่นวายในกรุงเทพฯ

แต่ละชั้นมีห้องนั่งเล่นตรงกลาง และมีชานสำหรับชมวิวแม่น้ำ โรงแรมให้ความสำคัญกับพื้นที่ส่วนกลางมาก เพราะเป็นส่วนที่สร้างมิตรภาพให้เกิดขึ้น ระหว่างผู้เข้าพักที่มาจากคนละซีกโลก และมิตรภาพระหว่างแขกกับโรงแรม

“ผมทำลอยละล่องมา 10 ปี สมัยก่อนผมอาจจะอยากได้เพื่อน แต่ ณ วันนี้ ผมรู้สึกว่าแขกมาถึงที่พักผมก็ไม่ง่าย ทั้งคนไทยและต่างชาติที่บินมาจากไหนก็ไม่รู้ เขามาให้โอกาสผม ผมเลยอยากดูแลเขาให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ นอกจากดูแลกายแล้ว ผมก็ขอดูแลใจเขาด้วย หมายถึง ให้เขามาชาร์จแบตกลับไปจน Full Energy”

นี่เป็นคำพูดที่ยังติดหูเรา เมื่อบอกลาความสงบและกลับสู่ความวุ่นวายของโลกด้านนอกอีกครั้ง

ความสุขปริ่มน้ำที่ 'ลอยละล่อง' สิ่งที่นักเดินทางโอบรับและโหยหา หลังโดนซ้อมจนเหนื่อยล้าจากความวุ่นวายในกรุงเทพฯ

ในขณะที่ซีมีโอกาสดูแลเพื่อนข้ามโลกสารพัดชาติ แต่โชคชะตากลับเล่นตลก ให้ต้องสูญเสียคนรักที่ร่วมแรงร่วมใจสร้างลอยละล่องมาด้วยกัน เป็นเวลาหลายปีที่ทั้งคู่มีโอกาสเรียนรู้การเผชิญความตายอย่างสงบและมีสติ หรือ Peaceful Death ด้วยกัน จากการดูแลแนะนำสั่งสอนของ พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล ที่ให้ความสำคัญกับ Palliative Care หรือ การดูแลวิญญาณและจิตสุดท้าย รวมถึงดูแลผู้ที่ดูแลคนป่วยด้วย

เมื่อผ่านเรื่องนี้ไปได้แบบเข้มแข็งทุกฝ่ายจนถึงวาระสุดท้าย ซีเลยปวารณาตนไปบวชรับใช้พระอาจารย์ที่วัดป่าบนยอดเขาที่จังหวัดชัยภูมิถึง 2 ครั้ง และยังจัดคอร์สอบรม ‘เผชิญความตายอย่างสงบ’ ที่โรงแรมเกือบทุกปีด้วย เป็นคอร์สที่ส่วนตัวมาก ๆ เพราะรับผู้เข้าร่วมแค่ 15 – 16 คนเท่านั้น ซีเน้นรับเฉพาะคนไทย ถึงแม้ว่าจะมีชาวต่างชาติที่อยู่เมืองไทยอยากเข้าร่วมก็ตาม

1 ทศวรรษของ ‘ลอยละล่อง’ จึงผ่านเรื่องสุข ทุกข์ และความเจ็บปวดมากมาย ในขณะที่ทำให้ ‘ผู้รับ’ ได้สิ่งที่ดีและสุขสบายที่สุด ใครจะรู้ว่าในบางขณะ ‘ผู้ให้’ ต้องมีกำลังใจที่เข้มแข็งและมีทัศนคติที่ดี ที่พร้อมจะมอบให้คนรอบตัวแค่ไหน นั่นเป็นความประทับใจจากการบังเอิญไปรับรู้เรื่องราวที่ส่งพลังบวกให้กับเราอย่างมาก

ถึงจะเหมือนอีกหลายคนที่อยากเก็บที่นี้ไว้เป็นความลับมากเท่าไหร่ แต่ในที่สุดก็อดไม่ได้ที่จะอวดสิ่งที่เรารัก และอยากให้คนที่เคมีตรงกันได้ไปสัมผัส ตกหลุมรัก และ Have a Nice Stay เหมือนเรา ที่ลอยละล่องแห่งนี้

การเดินทาง 11 ปี ของ ‘ลอยละล่อง’ โรงแรมริมน้ำเจ้าพระยาที่ชาร์จพลังให้นักเดินทางทั่วโลก

Loy La Long Hotel
ที่อยู่ : 1620/2 ถนนทรงวาด (ในวัดปทุมคงคา) แขวงสัมพันธวงศ์ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร 10100 (แผนที่)

โทรศัพท์ : 0 2639 1390

เว็บไซต์ : loylalong.com

Facebook : Loy La Long Hotel

The Cloud Golden Week คือแคมเปญสนุก ๆ ที่ทีมงานก้อนเมฆขอประกาศลาพักร้อน 1 สัปดาห์ เนื่องในโอกาสฉลอง The Cloud ครบ 5 ปี เราเลยเปิดรับวัยอิสระ อายุ 50 ปีขึ้นไป ทั้งนักเขียน ช่างภาพ และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ เข้ามาประจำการแทนใน The Cloud Golden Week ขอเรียกว่าเป็นการรวมพลังวัยอิสระมา ‘เล่าเรื่อง’ ในฉบับของตนเองผ่านสื่อดิจิทัลบนก้อนเมฆ เพราะเราเชื่อว่า ‘ประสบการณ์’ ของวัยอิสระคือเรื่องราวอันมีค่า เราเชื่อในศักยภาพของมนุษย์ อายุที่เพิ่มขึ้นเป็นเพียงตัวเลข ไม่ใช่ข้อจำกัดของการเรียนรู้

แคมเปญนี้เราร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) เพื่อส่งต่อแรงบันดาลใจให้วัยอิสระกล้ากระโจนเข้าหาประสบการณ์ใหม่ ๆ ออกมาพูดคุยกับเพื่อนวัยเดียวกัน พร้อมแบ่งปันเรื่องราวอันเปี่ยมด้วยคุณค่า เพื่อเติมฟืนไฟให้กาย-ใจสดใสร่าเริง

นี่เป็นครั้งแรกที่ทีมงาน The Cloud มีสมาชิกอายุรวมกันมากกว่า 1,300 ปี!

Writer

Avatar

สุทธิชา จารุรัตน์

คุณแม่ลูกสอง จบอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชื่นชอบการอ่านหนังสือ ดูหนัง ชมละคร Broadway & West End และละครเวทีเล็กของไทย ว่าง ๆ มักจะเดินชมงาน ฟัง Talk เรื่องศิลปะและประวัติศาสตร์ ท่องเที่ยวในและต่างประเทศ และทานอาหารนอกบ้าน

Photographer

สาโรจน์ ปาลกวงศ์ ณ อยุธยา

สาโรจน์ ปาลกวงศ์ ณ อยุธยา

“หยุดเวลาไว้ในภาพใบนั้น โอบกอดวันวานไว้ในกล้องตัวเก่า โลกสุขสว่างหรือซึมเศร้า งามหรือเหงา ล้วนมีค่าเท่า ๆ กัน” เกิดมาเป็นผู้บันทึก มีโอกาสถ่ายทอดเรื่องราวมากมาย ขอบคุณทุกฉากชีวิตที่ผ่านมา แม้เพียงครั้งหนึ่งยังคิดถึงเสมอ