ลี่-คีตา วารินบุรี เบื่อและเกลียดการเรียนหนังสือที่สุด

เด็กชายชาวบุรีรัมย์เรียนจบชั้นมัธยมเพราะเพื่อนทำการบ้านให้ มีปัญหากับฝ่ายปกครองของโรงเรียนอยู่เสมอ เกเรวิวาทจนต้องออกจากหมู่บ้าน และเมื่อเข้ากรุงเทพฯ มาเรียนต่อเขาก็เรียนมหาวิทยาลัยไม่จบ

ชีวิตวัยหนุ่มของลี่วนเวียนอยู่ตามผับบาร์ในฐานะนักดนตรีกลางคืน บางครั้งหากจังหวะชีวิตชักนำ เขาก็ออกเร่เล่นดนตรีไปจังหวัดต่างๆ

ใครจะรู้ว่าวันหนึ่งนักดนตรีคนนี้จะกลับบ้านเกิดมาเปิด ‘โรงเรียนเล็กในทุ่งกว้าง’ ใน พ.ศ. 2559 โดยสอนบทเพลงและบทเรียนชีวิตให้เด็กๆ จนวงดนตรีบ้านนานี้โด่งดังระดับประเทศ เสียงเพลงซื่อใสและความบริสุทธิ์น่ารักของเด็กๆ จับใจแฟนคลับหลายแสนคนบนโลกออนไลน์ พวกเขาได้รับเชิญไปแสดงตามงานต่างๆ อย่างวงดนตรีมืออาชีพ และโรงเรียนกลางทุ่งข้าวนี้ก็กลายเป็นต้นแบบการศึกษานอกห้องเรียนที่น่าจับตามองที่สุดแห่งหนึ่งของเมืองไทย

ก่อนพิณกระป๋อง น้ำเต้า กลองยาว และไวโอลินของเด็กๆ จะเข้ามาบรรเลงประสานเสียง เรื่องนี้เริ่มต้นจากเสียงแคนและเสียงกีตาร์ของ ‘ครูลี่’ นักดนตรีแห่งตำบลถาวร อำเภอเฉลิมพระเกียรติ

โรงเรียนเล็กในทุ่งกว้าง

โรงเรียนเล็กในทุ่งกว้าง

กินเพลงแทนข้าว

“ผมเบื่อวิธีการที่ครูสอน โรงเรียนให้นั่งอยู่ในห้องสี่เหลี่ยมไม่ไปไหน ชีวิตมันซ้ำๆ จำเจ เราชอบโลดโผน ผมรู้สึกว่าชีวิตเรากำลังหาอะไรบางอย่าง ผมตอบตัวเองตั้งแต่มัธยมเลยว่าอยากเป็นนักดนตรี ไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่าจะเป็นครู”

เด็กชายลี่เป่าแคนครั้งแรกตอน ป.4 และตกหลุมรักเสียงดนตรีมานับแต่นั้น เขาหัดเรียนดนตรีเองจากเพื่อนบ้าง คนรู้จักบ้าง พอขึ้นชั้นมัธยมก็ยืมกีตาร์เพื่อนบ้านไปเล่นที่โรงเรียนทุกวัน ทั้งหมู่บ้านมีกีตาร์ 3 ตัวก็ผลัดเปลี่ยนการยืมไปเรื่อย จนกระทั่งเข้ากรุงเทพฯ มาเรียน เลิกเรียน และทำงานเป็นนักดนตรีอาชีพแล้ว เขาก็ยังต้องยืมเครื่องดนตรีคนอื่นอยู่หลายปี

“เราฝังใจว่าไม่เคยมีอุปกรณ์ของตัวเอง เครื่องดนตรีชิ้นแรกที่ผมซื้อคือกีตาร์รุ่น FG441 YAMAHA เพลงแรกที่เล่นคือเพลง ผีโรงเย็น ของ พงษ์สิทธิ์ คัมภีร์ ความรู้สึกตอนนั้นนี่ โอ้โห พูดลำบากเลย มันไม่กินข้าวก็ได้ ตอนนั้นผมเข้ากรุงเทพฯ มาทำงานเป็นคนล้างจานในร้านอาหาร ได้วันละ 80 บาท เก็บตังค์ซื้อกีตาร์ราคา 4 พันกว่าบาท แล้วก็เมาธ์ออร์แกนอีกตัว เพื่อนมันค้อนใหญ่เลยบอกมึงไม่กินกีตาร์ล่ะ กินข้าวทำไม”

เส้นทางดนตรีพาชายหนุ่มเลือดอีสานไปสร้างเสียงเพลงทั่วประเทศ มีรายได้สม่ำเสมอจากการทำวงเล่นตามศูนย์อาหารและร้านเหล้าแบบต่างๆ ไปจนถึงเล่นแบ็กอัพให้ศิลปินหรือมือปืนรับจ้างในห้องอัด ตลอดระยะเวลา 15 ปี

โรงเรียนเล็กในทุ่งกว้าง

“สุดท้ายเราก็ยังรู้สึกเหมือนหาอะไรอยู่ เหมือนเราไปสุดแล้วแต่ยังขาดอะไรไม่รู้ และมันก็ไม่เต็มสักที” ครูลี่หมุนถ้วยชาร้อนในมือ

“ผมอยากแก้ไขปัญหาตัวเองที่มันร้อนรนวุ่นวาย ณ ตอนนั้น ชีวิตเราต้องเผชิญร้านเหล้าทุกวัน เราคิดเพลงเป็นงานศิลปะแทบตาย แต่ต้องเจอกับผู้คนที่ให้เราไปเล่นดนตรีประกอบการกินเหล้าของเขา เขาไม่ได้มาฟังเราเล่นดนตรี เขามาเล่นโทรศัพท์ เขาแค่เอาเสียงเพลงเราเป็นการนัดเจอกันเท่านั้น แต่เราก็ต้องทำงานเหมือนเดิมเพื่อแลกกับความเป็นอยู่ของเรา”

เมื่อเส้นทางดนตรีสายเดิมไม่เติมเต็มจิตวิญญาณอีกต่อไป นักดนตรีหนุ่มออกค้นหาสิ่งใหม่ที่จะเติมเต็มความหิวโหยในใจของเขาอีกครั้ง

เสียงหัวเราะของเด็กๆ คือคำตอบที่เขาตามหา

ของขวัญแก่บ้านเกิด

โรงเรียนเล็กในทุ่งกว้าง

โรงเรียนเล็กในทุ่งกว้าง

โรงเรียนเล็กในทุ่งกว้าง

“ผมชอบเล่นกับเด็ก เด็กเป็นสิ่งมหัศจรรย์ เด็กคือความงาม ไม่รู้สิ ผมคิดว่าเด็กๆ ถูกส่งมาเพื่อมอบความอบอุ่นให้โลก”

เพราะฝังใจเรื่องไม่มีอุปกรณ์เล่นดนตรีเป็นของตัวเองตั้งแต่ยังเล็ก ลี่เริ่มชวนเพื่อนฝูงมาทำกิจกรรมหาเงินซื้อเครื่องดนตรีไปให้เด็กๆ ตามชายแดน และตระเวนออกไปมอบของและจัดกิจกรรมให้เยาวชนทั่วประเทศอย่างสม่ำเสมอ จนกลับมาหาเงินเรือนแสนซื้อเครื่องดนตรีให้โรงเรียนเก่าของตัวเองจนครบถ้วน แถมยังจัดคอนเสิร์ตท้องถิ่นบนภูเขาซึ่งประสบความสำเร็จงดงาม

เหตุการณ์นั้นจุดประกายให้เขาอยากสร้างศูนย์การเรียนรู้ที่มีเวทีให้ผู้เฒ่าผู้แก่สอนลูกสอนหลาน เช่น วิชาสานแห วิชาทำว่าว ก่อนที่วิชาศิลปหัตถกรรมในหมู่บ้านทั้งหมดจะค่อยๆ หายไป แต่ศูนย์การเรียนรู้เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ไม่เพียงต้องใช้เงิน แต่ยังต้องการแรงสนับสนุนของผู้เกี่ยวข้องจำนวนมาก โมเดลซับซ้อนแบบนั้นไม่เหมาะกับวิถีของนักดนตรีหนุ่มเท่าไหร่นัก

ต่อมาเมื่อลี่ได้โอกาสไปทำงานเป็นนักดนตรีและครูบนดอยที่เชียงใหม่ถึง 5 ปี เขาได้โอกาสเรียนกับพระอาจารย์จากมุกดาหาร หลังปฏิเสธการศึกษาในระบบมาตลอด ครั้งนี้เขาได้เรียนรู้สิ่งที่กระหายด้วยวิธีการลงมือปฏิบัติ เช่น เข้าไปสบตากับความกลัวด้วยการเข้าไปนอนในป่าช้า 7 วัน เรียนวิชาเยียวยาจิตใจ ออกจากความคิดผิดหวังมาอยู่กับปัจจุบัน

“วิชาชีวิตจะอยู่กับเราจนลมหายใจสุดท้าย มันคือการออกจากความคิดมาอยู่กับการรู้สึกตัว จิตเราทำงานได้ไวมาก ไวกว่าแสง แสงเดินทาง 280,000 กิโลเมตรต่อวินาที แสงดวงอาทิตย์เดินทางมายังโลกใช้เวลา 8 นาทีเศษ แต่เรานึกถึงดวงอาทิตย์ตอนนี้ ใช้เวลาแค่เสี้ยววินาทีเท่านั้น พอเราเรียนรู้วิชาชีวิตจัดการกับสิ่งที่เราไม่ชอบได้แล้ว มันก็เหลือแค่สื่อการสอนละว่าจะสอนสิ่งเหล่านี้กับคนอื่นอย่างไร”

โรงเรียนเล็กในทุ่งกว้าง

โรงเรียนเล็กในทุ่งกว้าง

หลังพเนจรออกจากบ้านไปเกือบ 20 ปี ลี่ตัดสินใจกลับบ้านมาทำการเกษตรและดูแลพ่อแม่ที่อายุมากขึ้น เขาสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจนที่บ้านถาวร

“เมื่อก่อนตอนผมวิ่งเล่นที่นี่ ผมมีความสุขมากนะที่ได้อยู่กับทุ่งนา แต่ตอนนี้ที่ไหนๆ ก็มีสารเคมีเต็มไปหมด ทั้งปุ๋ยทั้งยา การแบ่งปันของคนในชุมชนก็เปลี่ยนไป เด็กๆ ไม่ได้วิ่งเล่นเหมือนเมื่อก่อน อยู่กับเกมคอมพิวเตอร์ พ่อแม่ก็ใช้โทรศัพท์เลี้ยงลูก เพราะต้องออกจากบ้านไปทำงานตามภาคอุตสาหกรรม ทิ้งลูกไว้กับตายายแก่ๆ ให้เผชิญชีวิตตามลำพัง

“มันน่าเศร้ามาก ผมไม่คิดว่าจะมาเจอสภาพแบบนี้ที่บ้านเรา เพราะบ้านผมนี่เป็นบ้านนอกมากเลย ความลูกทุ่งมันยังมีอยู่ แต่มันเป็นแค่ภาพเท่านั้นเอง ไส้ในมันกลวงหมดแล้ว เราเห็นความล่มสลายของชุมชนที่เกิดจากระบบทุน โจทย์ของผมคือเราเลือกจะอยู่ที่นี่ยังไง เราต้องหาความสุขบนความทุกข์ หาความงามบนความล่มสลาย”

ด้วยความคิดนี้ โรงเรียนเล็กในทุ่งกว้างจึงถือกำเนิดขึ้นในทุ่งนาขนาด 19 ไร่ของครอบครัวลี่ โดยลูกศิษย์คนแรกของเขาคือหลานชายนั่นเอง

โรงเรียนลูกทุ่ง

โรงเรียนเล็กในทุ่งกว้าง

โรงเรียนเล็กในทุ่งกว้าง

จากเด็กติดเกมในจอ ลี่ชวนหลานเล่นช่วงปิดเทอม หลังเลิกเรียน และในวันหยุด เหมือนสมัยเขายังเป็นเด็ก เช่น ปลูกผัก ว่ายน้ำ ตั้งแคมป์ เล่นดนตรี ไปจนถึงทำงานพิเศษเล็กๆ น้อยๆ หาเงินค่าขนม กิจกรรมสนุกในชีวิตจริงค่อยๆ เปลี่ยนพฤติกรรมเด็กชายอย่างเห็นได้ชัด

“ดนตรีเป็นแค่ส่วนเล็กๆ ที่เราเรียนกันเท่านั้น แววตาเขาเริ่มเปลี่ยน ไม่เหม่อลอย ไม่เป็นเด็กก้าวร้าว ไม่เรียกร้อง เมื่อก่อนเขาเรียกร้องด้วยการกดปุ่มแม่เขาเรื่อยแหละ คือหมายถึงเขาอยากได้อะไร เวลาไปตลาดนัดแล้วอยากได้ของแล้วลงไปเกลือกกลิ้ง เด็กเขาฉลาดนะ แต่เราปรับเขาได้ พองานวันเด็กในหมู่บ้าน เราเล่นกีตาร์ให้กลุ่มเด็กๆ ไปแสดง เด็กๆ ชอบใหญ่ ชาวบ้านเห็นก็ฝากลูกมาเรียนกันใหญ่เลย”

ใบสมัครเข้าเรียนที่นี่คือแปลงผักคนละแปลง เด็กๆ ที่พ่อแม่พามาจะต้องฝึกปลูกผักให้เป็น ปลูกอะไรก็ได้ตามชอบ ระหว่างปรับตัวให้เข้ากับโรงเรียนเป็นเวลา 3 เดือน หากแปลงผักและนิสัยใจคองอกงาม ก็เข้ามายกขันขึ้นครู นับเป็นสมาชิกโรงเรียนเล็กในทุ่งกว้างได้เต็มตัว

เมื่อเข้ามาแล้ว หลักการดูแลกันและกันในโรงเรียนนี้คือทักขิณทิส ในทิศ 6 ซึ่งระบุการปฏิบัติตัวระหว่างครูกับลูกศิษย์ ครูจะมอบวิชา ปกป้องดูแล ขณะที่ลูกศิษย์ตอบแทนด้วยการเคารพนับถือ และช่วยเหลือตอบแทนอย่างมีสัมมาคารวะ

“สิ่งที่ผมรับมาจากอาจารย์ของผม ผมรับมาฟรีๆ นะ สิ่งที่ผมทำคือแค่ส่งต่อวิชา อาจารย์บอกว่า อย่าเอาวิชาไปขายกิน ไม่ต้องไปแลกเป็นเงินเป็นทอง แต่ให้ส่งต่อ เพราะอาจารย์ก็รับมาฟรีๆ เช่นกัน”

ครูลี่พูดด้วยรอยยิ้ม ปัจจุบันลูกศิษย์ที่โตที่สุดของที่นี่เรียนอยู่ในระดับมหาวิทยาลัย แต่ไม่ได้หมายความว่าเขาจบการศึกษาจากที่นี่ ความสัมพันธ์ในโรงเรียนเล็กในทุ่งกว้างคือการเกื้อกูลระหว่างครูกับลูกศิษย์ที่ไม่มีวันสิ้นสุด

โรงเรียนเล็กในทุ่งกว้าง

โรงเรียนเล็กในทุ่งกว้าง

เสียงเขย่าน้ำเต้าและเสียงพูดคุยร้องเพลงของเด็กๆ แว่วเข้ามาในบทสนทนา เวลาประมาณ 5 โมงเย็นหลังเลิกเรียน เด็กๆ จะเริ่มเข้ามาดูแลแปลงผักของตัวเอง เรียนดนตรี และเรียนวิชาชีวิตต่างๆ ตามแต่ครูลี่และเด็กๆ จะตกลงกัน

นอกจากเด็กๆ ได้เรียน ผู้ก่อตั้งโรงเรียนเล็กในทุ่งกว้างอธิบายว่า พ่อแม่นักเรียนก็ได้เรียนไปพร้อมกันด้วย เพราะพ่อแม่หลายคนไม่เข้าใจสิ่งที่ลูกเป็น สิ่งที่ครูทำ และอยากให้สอนตามใจพ่อแม่ กฎสำคัญของที่นี่คือต้องปล่อยเด็กๆ ให้เติบโต ไม่เข้าไปจัดการคนอื่น แต่ต้องจัดการตัวเองให้ได้ก่อน

“ชีวิตมันไม่มีแพตเทิร์นนะ แต่คนส่วนใหญ่จะตั้งแพตเทิร์นให้กับชีวิต ที่นี่ผมจะไม่ใช้อย่างนั้น อย่างสมมติเย็นนี้เราจะสอนดนตรีแล้วพอเด็กเข้ามาตาลอยหมดเลย ไปเจออะไรมาไม่รู้ ถามว่าเราจะสอนดนตรีเขาได้ไหม มันก็ต้องปรับไป บางทีมานั่งเล่านิทาน เล่นโยคะ เล่นละคร ทำข้าวต้มมัด ทำสบู่ทำน้ำยาล้างจานเตรียมไปขายที่ตลาด หรือบางทีเราก็ไม่ทำอะไรเลย ถ้าคลื่นมันดี เด็กกำลังเล่นกันอยู่ก็ปล่อยเลย ชีวิตเราไม่ใช่หุ่นยนต์ มันต้องรู้จักอิมโพรไวซ์ ไม่งั้นชีวิตคุณจะแห้งแล้งมาก ชีวิตมันคาดหวังไม่ได้ ไม่มีใครคาดหวังแล้วสมหวัง”

เราเดินเลียบคันนากลับไปหาเด็กๆ ที่กำลังเตรียมเครื่องดนตรีออกมาเล่นกันยามตะวันรอน บนพื้นที่เดียวกันนี้ ครูลี่กำลังจะปลูกข้าวพันธ์ุโบราณของไทยเพื่อศึกษาและแจกจ่ายชาวบ้าน รวมถึงปลูกสมุนไพรต้านมะเร็ง เพื่อเปิดสถานพยาบาลเล็กๆ ช่วยเหลือคนเพิ่มในอนาคต

รูปแบบโรงเรียนเล็กในทุ่งกว้างไม่มีอะไรตายตัว แต่เสียงดนตรี ธรรมชาติ และการเรียนการสอนที่อิสระของครูที่เข้าใจความล้มเหลวของการศึกษา ทำให้ความเข้าใจและความสุขของเด็กๆ อบอวลไปทั่วทุ่งนาเขียวขจีแห่งบุรีรัมย์
โรงเรียนเล็กในทุ่งกว้าง

Writer

ภัทรียา พัวพงศกร

ภัทรียา พัวพงศกร

บรรณาธิการ นักเขียน ที่สนใจตึกเก่า เสื้อผ้า งานคราฟต์ กลิ่น และละครเวที พอๆ กับการเดินทาง

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล