ก่อนจะพาตัวเองขับขานทำนองร่วมสมัย

ชิฉ่า เดือนพฤศจิกายนมาถึง ฤดูเก็บเกี่ยวกำลังจะเสร็จสิ้นลง ถึงเวลาที่ภูเขาและยอดดอยต่างๆ จะได้ต้อนรับฤดูหนาวที่กำลังมาถึงเช่นกัน พวกเราหลายคนคงวางแผนเดินทางไปกางเต็นท์ ล้อมวงผิงไฟ เผามัน จิบชาหรือกาแฟอุ่นๆ สักแก้วยามเช้า มองออกไปเห็นหมอกยามเช้ากำลังทักทายกับภูเขา เรียบง่ายและงาม

งานบนโต๊ะที่ไม่มีฤดูกาล หรืองานบนท้องไร่ท้องนาที่ไม่ยอมให้ผืนดินได้พักผ่อน คงไม่เลวร้ายเท่าไหร่ถ้าได้เปิดเพลงที่ชอบฟังเบาๆ หรือฟังนิทานสักเรื่อง

ปกาเกอะญอ

 

เตหน่ากูตัวแรก พิณป่าของเด็กกำพร้า

พระราชาผู้ร่ำรวยและเพียบพร้อมไปด้วยสมบัติและบริวารทุกข์ใจเป็นอย่างยิ่ง เมื่อลูกสาวอันเป็นที่รักกลับหลับไหลไม่ยอมตื่น พระราชาจึงประกาศให้หนุ่มทั่วแคว้นทราบว่า หากใครก็ตามปลุกเธอให้ตื่นได้จะได้แต่งงานกับเธอ

ชายหนุ่มร้อยพันจากทั่วทุกสารทิศที่อยากเป็นเจ้าชายต่างเดินทางพร้อมกับฉิ่ง ฉาบ ฆ้อง และเครื่องไม้เครื่องมือมากมายที่ตนคิดว่าจะปลุกเจ้าหญิงให้ตื่น

หลายวันหลายคืนผ่านไป ไม่มีใครเลยสักคนที่จะปลุกลูกสาวพระราชาให้ตื่นได้ เมื่อรู้สึกหมดหวัง พระราชาจึงนั่งคิด พลางนึกขึ้นได้ว่ามีเด็กกำพร้าในป่าคนหนึ่ง ป่านนี้คงโตเป็นหนุ่มแล้ว จึงรับสั่งให้ทหารไปเชิญตัวมา  

เด็กกำพร้าที่ตอนนี้โตเป็นหนุ่มแล้ว ไม่อาจขัดคำเชิญ หนุ่มกำพร้าหยิบพิณจากเศษไม้ในไร่ที่เขาทำเองกับมือ แล้วเดินทางเข้าวัง ทันทีที่ถึงวังผู้คนพากันหัวเราะเยาะใส่เขา เพราะเสื้อตัวเก่าที่ยายทอให้ กับเครื่องดนตรีคู่ใจหน้าตาประหลาด พลางมีเสียงตะโกนไกลๆ ว่า

“จะไหวเร้อพ่อหนุ่ม ถืออะไรมาน่ะ”

ปกาเกอะญอ ปกาเกอะญอ

หนุ่มกำพร้าไม่สนใจเสียงเยาะเย้ยถากถาง พาตัวเองนั่งลงใกล้ๆ เจ้าหญิงรูปงาม และเริ่มกรีดนิ้วลงที่สายพิณของเขาก่อนจะเพลงร้องเพลงที่เขาร้องบ่อยๆ

เล เล

ไปฟันไร่ที่ขุนห้วย

ไปทำไร่ที่กลางป่า      

ท่อนไม้โค้งงอ มาทำเตหน่ากู

กิ่งไผ่งอ มาทำเตหน่ากู

เพลงในไร่ ที่บ้านได้ยิน

เพลงจากป่า ในเมืองได้ฟัง

เธอผู้หลับใหล ไม่ได้ยิน

แม่ต้องเขย่าเธอให้ตื่นขึ้นมาฟัง

(แม่มีความหมายถึง Mother Earth ด้วย)

ปกาเกอะญอ

พอจบเพลง ลูกสาวพระราชาก็ตื่นขึ้นและกลายเป็นคู่ชีวิตของหนุ่มกำพร้า ที่ทั้งชีวิตของเขามีแค่ยาย เสื้อผ้าไม่กี่ชุด เตหน่ากูคู่กาย และธรรมชาติที่เขาเรียกมันว่าบ้าน

 

ผู้เฒ่าซาโลโมผู้พาเตหน่ากูออกจากบทกวี

‘เตหน่ากู’ ถูกเอ่ยนามทั้งในนิทานและ ‘ธา’ บทกวีดั้งเดิม หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมมีกู ไม่เพราะเลย ‘กู’  คือคำย่อของ ‘เกะกู’ ที่แปลว่า โค้งงอ ส่วนคอของเตหน่านั้นโค้ง จึงเป็นที่มาของชื่อ เตหน่ากู ซึ่งผู้เฒ่าผู้แก่เคยขับร้องบทเพลงที่พูดถึงเตหน่ากู แต่ไม่มีใครได้เห็น กระทั่ง คุณปู่ซาโลโม แห่งบ้านห้วยบง อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ได้เดินทางไปยังพะอัน รัฐกะเหรี่ยงในพม่า เพื่อไปเล่าเรียนพระคัมภีร์ ที่นั่นเองเขาได้พบกับเครื่องดนตรีที่ได้รับการกล่าวขานในบทกวี เขาได้ร่ำเรียนการเล่นเตหน่าที่นั่นแล้วพามันกลับบ้าน และในเวลาเดียวกันนั้นเอง ครูพนา พัฒนาไพรวัลย์ ที่สมัยนั้นเป็นครูอยู่ที่แม่ชาถ่าได้พบปะกับปู่ซาโลโม และได้สืบทอดวิชาเตหน่ากู พามันกลับมูเจะคี และชวนเพื่อนๆ สืบทอดการเล่นเตหน่ากูจนตกทอดมาถึงทุกวันนี้

 

มูเจะคี เมื่อป่าสนร้องเพลงเตหน่ากู

มูเจะคี หรืออำเภอวัดจันทร์ จังหวัดเชียงใหม่ ก่อนจะถูกเปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอกัลยาณิวัฒนา เป็นชุมชนเก่าแก่ มีประชากร 95 เปอร์เซ็นต์เป็นปกาเกอะญอที่นับถือพุทธ คริสต์ และธรรมชาติ มีชีวิตผูกพันกับแผ่นดินถิ่นเกิด และอยู่อย่างเอื้อเฟื่อและเคารพในธรรมชาติ จึงทำให้ป่าสนกว่าแสนไร่นี้ยังคงยืนตระหง่านเป็นสักขีพยานว่าคนอยู่กับป่าได้ นอกจากนี้ ป่าสนวัดจันทร์ยังเป็นผืนป่าสนที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มูเจะคีเป็นชุมชนนักดนตรีอย่างแท้จริง ไล่ตั้งแต่ยุคแรกๆ อย่างครูพนา พะตีทองดี กับวัชพืชหลังเขา ลีซะ ชูชื่นจิตรสกุล มีศิลปินล้านนาอย่าง สุนทรี เวชานนท์ และ สุวิชานนท์ รัตนภิมนย์ นักดนตรี นักเขียน จากใต้มาร่วมขับขานบทเพลงของภูเขา

ปกาเกอะญอ

ชิ-สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ เจ้าของเพลง นกเขาป่า และอีก 3 อัลบั้ม ปัจจุบันเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตตาก ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้นของครูพนา เป็นอีกหนึ่งคนที่เติบโตมากับเตหน่ากู ด้วยเพราะมีแรงเสียดทานจากภายนอกที่บ่อยครั้งทำให้เขารู้สึกว่ามันเป็นข้อมูลที่ไม่จริง เช่นการโดนดูถูกดูแคลน การกล่าวหาเรื่องการทำลายป่า ทั้งๆ ที่ชาวบ้านที่มูเจะคีเคยปกป้องผืนป่าสนวัดจันทร์จากโรงกลั่นน้ำมันสนและโรงเลื่อยใน พ.ศ. 2535

ชิเห็นถึงความคลาดเคลื่อนของสารที่สื่อออกไป เขาจึงจับเตหน่ากูขึ้นมาพูดคุยกับสังคมตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา ผู้คนอาจเรียกเขาว่าศิลปินหรือนักร้อง แต่เขากลับไม่คิดเช่นนั้น เมื่อสิ่งที่มีคุณค่ามากกว่านั้นคือการสืบทอดองค์ความรู้ของบรรพบุรุษ รากเหง้าของคนปกาเกอะญอที่มีศักดิ์เท่าๆ กับมนุษย์คนอื่นๆ บนโลก และเตหน่ากูทำให้เขามีเพื่อนมากขึ้นทุกวัน โลกที่โฆษณาความศิวิไลซ์อย่างบ้าคลั่งละทิ้งคุณค่าของธรรมชาติ ความหลากหลายขององค์ความรู้ ภูมิปัญญาของภาคต่างๆ ที่ยังมีประโยชน์และคุณค่าต่อคนไทย

ปกาเกอะญอ ปกาเกอะญอ

คนที่มีเครื่องไม้เครื่องมือไม่พอก็ถูกทำให้กำพร้าความเท่าเทียม นอกจากทำหน้าที่สอนหนังสือ อาจารย์ชิยังเดินทางไปแลกเปลี่ยนพูดคุยสื่อสารเรื่องราวของชาติพันธุ์ทั้งในและต่างประเทศอยู่บ่อยครั้ง ทั้งเอเชีย ยุโรป ออสเตรเลีย หรือฝั่งอเมริกา เตหน่ากูได้เดินทางเป็นว่าเล่นเลยทีเดียว ใครอยากสัมผัสดนตรีแบบ World Music ของอาจารย์ชิ สุวิชาน เข้าไปฟังในยูทูบได้เลย

 

เมื่อเตหน่ากูและฝันต้องถอยไปข้างหน้า

ในอดีตสายของเตหน่าใช้วัสดุที่หาได้ตามธรรมชาติ เช่น เถาวัลย์ และเอ็นสัตว์ ปัจจุบันนิยมใช้สายเบรกจักรยานยนต์ และยังไม่มีสายอะไรที่จะแย่งตำแหน่งจากสายเบรกจักรยานยนต์ แม้แต่สายกีตาร์ก็ตามที และทุกๆ ครั้งที่มีการสร้างเตหน่า 1 ตัว จึงมีการรีไซเคิลเกิดขึ้น 1 ครั้งเช่นเดียวกัน

คลี-ณัฐวุติ ธุระวร ลูกไม้ใกล้ต้นจากมูเจะคีของ ลุงทองดี เจ้าของบทเพลง เสน่ห์มูเจะคี คลีกำลังต่อยอดการทำเตหน่าใหม่แทนที่จะใช้สายขึงกับฝาครอบตัวเตหน่า แต่ทดลองนำหลักการแบบการทำกีตาร์มาใช้ และใช้ลูกบิดกีตาร์ช่วยให้เตหน่ามีเสียงที่มั่นคงและสามารถร่วมวงกับเครื่องดนตรีสากลได้ทุกตัว ในฐานะที่จบสายดนตรีมา ทักษะและความรู้ของคลีสามารถนำพาเตหน่ากูไปต่อได้อีกไกล และในขณะเดียวกันก็ยังมีรากที่แจ่มชัด คลีฝันว่าอยากแนะนำเตหน่ากูให้เป็นที่รู้จักของชาวโลก

ปกาเกอะญอ ปกาเกอะญอ

“ผมอยากเห็นเตหน่าเป็นเครื่องดนตรีทีเป็นที่รู้จัก หาซื้อได้ตามร้านเครื่องดนตรี และอยากพัฒนาสายเตหน่าที่ใช้กับเตหน่าโดยเฉพาะ ”

ล่าสุด เขาทำเตหน่าตัวใหม่ที่เขาเรียกมันว่า เตหน่าโมเดิร์น ในขณะที่กำลังทำความฝันอย่างค่อยเป็นค่อยไป คลีกับเพื่อนๆ ก็กำลังทำเพลงกันโดยใช้ชื่อวงว่า ‘KLEE BHO’ ที่รวมเอาเครื่องดนตรีอย่างแซกโซโฟน เบส กลอง พวกเขากำลังทำในสิ่งที่ตัวเองรักและบางทีอาจทำให้เครื่องดนตรีตัวอื่นๆ ที่กำลังหลบซ่อนตัว เหนียมอาย ไม่กล้าที่จะเผยตัวตนออก ให้ได้ลองแนะนำตัวเองสู่สายตาชาวโลกก็เป็นได้ สามารถติดตามคลีได้ที่เพจ KLEE BHO และทางยูทูบได้เช่นเดียวกัน

 

เตหน่าตัวสุดท้าย

ปกาเกอะญอ ปกาเกอะญอ ปกาเกอะญอ

นับตั้งแต่ยุคล่าอาณานิคมจนถึงยุคไร้พรมแดน เตหน่ากูและเครื่องดนตรีอื่นๆ มากมายยังคงเผชิญกับการถูกทำให้กลายเป็นชายขอบ เตหน่ากูมีรากที่เด่นชัด ภาษาที่เป็นเอกลักษณ์ จึงยากที่จะกลายเป็นหนึ่งเดียวกับโลกใหม่ที่ทุกคนต้องร้องเพลงเพลงเดียว พูดภาษาเดียว และยากมากที่เตหน่าจะละทิ้งท่วงทำนอง จังหวะ ของตัวเอง เพื่อไปเป็นหนึ่งเดียวกับอะไรที่ไม่มีรากซึ่งรู้จักคุณค่าของและกล้าชื่นชมผืนแผ่นดินเกิดได้อย่างเต็มปาก

การร่วมเป็นหนึ่งในหมู่เพื่อนที่พูดกันหลากหลายภาษาทำนอง เตหน่ากูคงได้หายใจคล่องขึ้น ถ้าพูดภาษาคนได้ เตหน่ากูคงอยากขอบคุณเพื่อนๆ ที่ได้พบปะกันตามที่ต่างๆ ผู้รับฟังอย่างตั้งอกตั้งใจ อดทน ต่อเรื่องราวที่ชวนให้ปวดหัว เพราะลำพังชีวิตที่ปากกัดตีนถีบของหลายๆ คนก็มีเรื่องให้คิดเยอะพอแล้ว

เตหน่ากูจะเดินทางต่อได้ นอกจากต้องใช้พลังทั้งหมดที่ตัวเองมีแล้ว อ้อมกอดและจิตใจที่เปิดกว้างก็ต่อลมหายใจได้อีกเฮือก คงคล้ายกับพวกเราในเมืองใหญ่ในตึกสูง ที่มองลงไปเห็นต้นไม้ท่ามกลางซอกตึกใหญ่น้อย หัวใจน้อยๆ คงได้สัมผัสถึงพลังของธรรมชาติที่เรารู้ว่าเราต้องการมัน คงคล้ายกับชาวนาชาวสวนที่ดีใจเมื่อฝนมา คงคล้ายกับเพื่อนผู้ไร้บ้านผู้กำลังหิวโหยที่ได้รับขนมปังจากคนที่เดินผ่านไปมา

ชีวิตไม่ได้ขึ้นอยู่กับเราทั้งหมด ชีวิตของเราขึ้นอยู่กับแม่ที่เขย่าเราให้ตื่น เราคงไม่อยากให้แม่เขย่าเราแรงเกินพอดี

แล้วเราจะชวนกันตื่นได้ยังไงบ้างนะ

ปกาเกอะญอ

ภาพ:   ธีรชาติ ชัยประเสริฐ

Writer

Avatar

โอชิ จ่อวาลู

นักการภารโรงที่ Lazy man College ผู้กำลังหัดเขียนเล่าเรื่อง

Photographer

Avatar

ธีรชาติ ชัยประเสริฐ

มนุษย์เงินเดือนที่อดกินมื้อหรูเพราะจะเก็บเงินไว้เป็นค่าเดินทางออกไปเรียนรู้อยู่กินกับชนเผ่าทั่วโลก เพื่อนำเรื่องราวของพวกเขามาบอกเล่าให้หลายๆ คนได้รับรู้ และหวังว่าเรื่องราวที่นำมาเล่าจะช่วยสร้างความเคลื่อนไหวเล็กๆ ให้กับสังคม