“ที่นี่มีคณะมาเยี่ยมชมมากมายจากหลายประเทศและหลายระดับ ตั้งแต่กลุ่มของสถานเอกอัครราชทูต รัฐมนตรี และหน่วยงานราชการ ถือเป็นหนึ่งในการทูตห้องสมุด (Library Diplomacy)” ไรอัน วูล์ฟสัน-ฟอร์ด บอกผมผ่านการพูดคุยแบบออนไลน์ เขาคือบรรณารักษ์หนังสืออ้างอิงของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประจำหอสมุดรัฐสภาอเมริกัน (Library of Congress) ห้องสมุดใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นต้นแบบแนวคิดมากมาย ที่กรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา

สิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญด้านหนังสือลาวและไทยพูดน่าจะจริง เพราะผมก็ติดต่อเขาด้วยเหตุผลนั้น

ผมเดินทางไปกรุงวอชิงตัน เพื่อร่วมงาน Sawasdee DC Thai Fest 2023 ในวาระฉลองครบรอบ 190 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-สหรัฐฯ ในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ก่อนจะถึงวันงาน สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน ช่วยประสานให้ผมได้คุยกับบรรณารักษ์ประจำห้อง Asian Reading Room ซึ่งเก็บหนังสือไทยจำนวนมหาศาลไว้ ผมอยากให้เขาช่วยเลือกหนังสือ 10 เล่มที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกาในช่วง 190 ปีที่ผ่านมา

ข้อความตอบกลับทางอีเมลแจ้งว่าไม่มีปัญหา เพียงแต่ช่วงที่ผมอยู่สหรัฐฯ เป็นวันหยุดยาว ผมเลยทำได้แค่เดินเข้าไปดูบรรยากาศก่อน แล้วมาสัมภาษณ์กันแบบออนไลน์ภายหลัง

“ห้องสมุดได้รับหนังสือจากหลายประเทศเป็นของขวัญ ได้รับต้นฉบับลายมือของหนังสือหลายร้อยเล่มจากสหภาพพม่า (ขณะนั้น) ในปี 1948 ช่วงที่เพิ่งได้รับอิสรภาพใหม่ ๆ ได้มาพร้อมตู้ไม้ที่สวยมาก ปัจจุบันก็ยังมีนักวิชาการจากเมียนมาเข้ามาขอดูหนังสือชุดนี้เพื่อทำวิจัยอยู่”

ไรอันเล่าว่าหอสมุดรัฐสภาอเมริกันมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่จัดหาหนังสือเข้าห้องสมุดอยู่ทั่วโลก ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีสำนักงานอยู่ที่เมืองจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย มาตั้งแต่ปี 1962 แล้วก็มีสำนักงานย่อยในประเทศไทยเพื่อทำหน้าที่จัดหาหนังสือภาษาไทยและสิ่งพิมพ์ที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับไทยเข้าห้องสมุด รวมถึงเป็นผู้จัดทำฐานข้อมูลหนังสือให้ห้องสมุดด้วย ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะถ้าจัดหาหนังสือมาแล้วไม่ทำฐานข้อมูล ก็จะไม่มีใครรู้และไม่มีใครใช้

ห้องสมุดแห่งนี้มีหนังสือจากประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ราว 370,000 เล่ม เป็นภาษาอินโดนีเซียมากที่สุด ราว 180,000 เล่ม ส่วนภาษาไทยมีประมาณ 45,000 เล่ม หนังสือทั้งหมดนี้ได้มาจาก มีผู้มอบให้และใช้งบประมาณจัดซื้อมา ถ้าเป็นหนังสือหายาก ห้องสมุดจะซื้อหรือประมูลจากตัวแทนจำหน่ายที่ลงทะเบียนกับสมาคมผู้จัดจำหน่ายหนังสือหายากนานาชาติเท่านั้น เพราะจำเป็นที่จะต้องระบุเส้นความเป็นเจ้าของหนังสือได้อย่างชัดเจน ต้องมั่นใจว่าได้มาอยากถูกต้อง ไม่ผิดกฎหมาย

“ผมกำลังให้ห้องสมุดร่วมประมูลจดหมายที่แปลเป็นภาษาดัตช์ในช่วงต้นศตวรรษที่ 17 เป็นจดหมายของนักการทูตไทยที่เดินทางไปเนเธอร์แลนด์ช่วงปี 1607 – 1608 น่าจะเป็นภารกิจทางการทูตแรกของไทยในยุโรป ถือเป็นหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์ มันคงดีมากถ้าเราจะได้สิ่งนี้มาเก็บไว้ในห้องสมุด เพื่อเปิดให้นักวิจัยและผู้ที่สนใจทั่วไปมาเรียนรู้ประวัติศาสตร์ผ่านหนังสือเล่มนี้” ไรอันเล่าถึงวิธีได้มาของหนังสือหายากในยุคปัจจุบัน

ที่นี่มีสิ่งพิมพ์จากประเทศไทยประมาณ 44,000 ชิ้น เป็นหนังสือประมาณ 41,000 เล่ม นิตยสารและหนังสือพิมพ์ประมาณ 2,000 ฉบับ และแผนที่ประมาณ 1,600 เล่มอยู่ที่ห้องแผนที่ และหนังสือหายากจากประเทศไทยประมาณ 270 เล่ม

“เรามีหนังสือภาษาไทยและหนังสือที่เขียนเกี่ยวกับประเทศไทยด้วยภาษาตะวันตกโดยนักเดินทางจากต่างชาติ และที่เขียนขึ้นในประเทศไทยเอง คอลเลกชันต่าง ๆ จะแยกกันเก็บอยู่หลายที่ หนังสือภาษาไทยอยู่ที่ห้อง Asian Reading Room หนังสือภาษาตะวันตกอยู่ที่ Main Reading Room หนังสือพิมพ์ภาษาตะวันตกอยู่ในห้อง Periodical Reading Room แผนที่อยู่ที่ Geography and Map Reading Room ภาพถ่ายและโปสเตอร์อยู่ที่ Printed Photographs Reading Room เรามีห้องที่เก็บหนังสือเฉพาะทางแบบนี้กว่า 20 ห้อง” 

ไรอันบอกว่าการเข้าถึงหนังสือทั้งหมดนี้ง่ายมาก “สิ่งที่คุณต้องทำมีแค่บัตรห้องสมุด ใช้เวลาประมาณ 5 นาที ใคร ๆ ก็ทำได้ ไม่ต้องเป็นพลเมืองอเมริกัน ไม่ต้องจ่ายค่าสมาชิกหรือค่าธรรมเนียม ทุกอย่างฟรี แต่หนังสือบางเล่มอาจต้องใช้เวลาในการจัดหามาให้คุณ เพราะมันเก็บอยู่นอกห้องสมุด ต้องใช้เวลาขนส่งมา แต่ไม่มีค่าบริการ การเข้าถึงฐานข้อมูลก็พร้อมให้บริการคนทั้งโลก หนังสือบางส่วนก็เริ่มทำเป็นดิจิทัลให้ดูผ่านออนไลน์ได้แล้ว”

ไรอันบอกว่า ตอนนี้ห้องสมุดของเขาเพิ่งเริ่มบันทึกข้อมูลหนังสือเป็นภาษาไทย จากเดิมที่บันทึกชื่อหนังสือภาษาไทยด้วยตัวอักษรโรมันเท่านั้น นั่นหมายความว่าคนที่รู้ภาษาไทยสืบค้นหาหนังสือบางส่วนด้วยภาษาไทยได้แล้ว ซึ่งน่าจะทำให้เข้าถึงคนได้มากขึ้น

“ผมเลือกสิ่งพิมพ์ 10 ชิ้นที่จะเล่าถึงความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกากับไทยตลอดระยะเวลา 190 ปีไว้แล้ว มันถูกแยกเก็บอยู่ในห้องต่าง ๆ ซึ่งทั้งหมดนี้คุณขอดูเพื่อทำวิจัยหรือศึกษาหาข้อมูลได้ตลอด เพียงแค่คุณมีบัตรห้องสมุดเท่านั้น” ไรอันเกริ่นก่อนจะเล่าถึงสิ่งพิมพ์คัดสรรทั้ง 10 ชิ้นของเขา

Main Title : Edmund Roberts papers, 1803-1905 (bulk 1832-1836).

LCCN Permalink : lccn.loc.gov/mm73037960

Type of Material : Archival Manuscript/Mixed Formats (Collection)

LCCN : mm 73037960

Request in : Manuscript Reading Room (Madison, LM101)

เอ็ดมันด์ โรเบิร์ต (Edmund Roberts) เป็นตัวแทนของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาไปเจรจราต่อรองกับสยามในการทำสนธิสัญญาระหว่างกันฉบับแรก เอกสารในคอลเลกชันนี้ของโรเบิร์ตประกอบด้วยจดหมายโต้ตอบอย่างเป็นทางการ บทความ และร่างต้นฉบับด้วยลายมือของหนังสือ Embassy to the Eastern Courts of Cochin-China, Siam, and Muscat ของเขา เนื้อหาในเอกสารยังเกี่ยวกับผู้คน งานศุลกากร ภาษา ศาสนา และศิลปะที่เขาพบในเอเชียด้วย

Main Title : Mongkut, King of Siam, correspondence, 1853-1868.

LCCN Permalink : lccn.loc.gov/mm85006167

Type of Material : Archival Manuscript/Mixed Formats (Collection)

LCCN : mm 85006167

Request in : Manuscript Reading Room (Madison, LM101)

นี่เป็นพระราชหัตถเลขาโต้ตอบระหว่าง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ถึง เซอร์จอห์น เบาว์ริง (Sir John Bowring) กับ เอ็ดการ์ เบาว์ริง (Edgar Bowring) ลูกชายของเขา เนื้อหาเกี่ยวกับสนธิสัญญาเบาว์ริง ปี 1855 ระหว่างสหรัฐอเมริกากับไทย ซึ่งเป็นช่วงแรกของการเปิดประเทศสยามอย่างเป็นทางการกับชาติตะวันตก พอล ไมเคิล เทเลอร์ (Paul Michael Taylor) นักวิชาการของสถาบันสมิธโซเนียนเคยทำวิจัยเกี่ยวกับเอกสารเหล่านี้ ความน่าสนใจของเนื้อหาไม่ได้อยู่ที่การเล่าถึงสหรัฐอเมริกา แต่เป็นเรื่องราวการขยายความสัมพันธ์ของไทยกับประเทศตะวันตกอย่างสหรัฐฯ และอังกฤษในช่วงศตวรรษที่ 19 และความพิเศษอีกอย่าง คือเป็นเอกสารที่เป็นลายพระหัตถ์ของพระมหากษัตริย์องค์สำคัญของประเทศไทย

Main Title : [Nangsư̄ nī pen rư̄ang kitčhakān hǣng Phrayēsū Čhao] = The life of Christ / by Dr. Bradley.

Published/Produced : Bangkok : A.B.C.F.M. Mission Press, 1841.

LCCN Permalink : lccn.loc.gov/90929690

Link : catalog.hathitrust.org/Record/008433575

Type of Material : Book

LCCN : 90929690

Request in : Rare Books – Asian Reading Room (Jefferson, LJ150)

หนังสือเล่มนี้อยู่ในคอลเลกชันของหนังสือหายากของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชื่อหนังสือเป็นภาษาไทย หนังสือนี้เป็นเรื่องกิจการแห่งพระเยซูเจ้า โดย แดน บีช แบรดลีย์ (Dan Beach Bradley) หรือที่คนไทยรู้จักกันในชื่อ หมอบรัดเลย์ เขาเป็นมิชชันนารีชาวอเมริกันคนแรก ๆ ที่เดินทางไปประเทศไทย แล้วก็ยังเป็นที่รู้จักในเรื่องการนำเทคโนโลยีการพิมพ์แบบตะวันตกเข้าไปพิมพ์งานภาษาไทยเป็นครั้งแรก เขาตั้งใจทำเพื่อเผยแผ่ศาสนาคริสต์ ในขณะเดียวกันงานเหล่านี้ก็เล่าถึงความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกากับไทยในช่วงแรก ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ระดับประชาชนกับประชาชน ในห้องสมุดมีหนังสือชื่อคล้าย ๆ กันนี้ประมาณ 20 เล่ม ทั้งหมดเขียนชื่อหนังสือภาษาไทยด้วยตัวอักษรโรมัน

Main Title : Nangsư Sīlōm fāk tǣ mư̄ang nǭk — mālā phǭ lǣ mǣ.

Published/Produced : [Thailand] : [Chiang Mai Mission Press] : [American Presbyterian Mission], 1892.

LCCN Permalink : lccn.loc.gov/2017285810

Type of Material : Textual Manuscript

LCCN : 2017285810

Request in : Rare Books – Asian Reading Room (Jefferson, LJ150)

หนังสือเล่มนี้เกี่ยวกับเทคโนโลยีการพิมพ์ของตะวันตกที่ถูกส่งไปยังประเทศไทยโดยมิชชันนารีอเมริกัน หมอบรัดเลย์นำเครื่องพิมพ์มาเผยแพร่ในประเทศไทยเมื่อปี 1836 ที่กรุงเทพฯ แต่ประวัติศาสตร์เรื่องการพิมพ์ในเชียงใหม่ไม่มีข้อมูลมากนัก ความน่าสนใจของเล่มนี้ คือจัดพิมพ์โดยคริสตจักรเพรสไบทีเรียนอเมริกันที่จังหวัดเชียงใหม่ เป็นหนังสือที่พิมพ์ในปีแรกของการเปิดโรงพิมพ์ ชื่อหนังสืออ่านว่า หนังสือสีโล้มฟากแต่เมืองนอกมาลาพ่อแลแม่ เป็นหนังสือที่พิมพ์ด้วยตัวอักษรธรรมล้านนา ซึ่งน่าจะเป็นหนังสือที่ใช้ตัวหนังสือภาษาท้องถิ่นทางเหนือเล่มแรก ๆ ของไทยที่พิมพ์ด้วยวิธีการแบบตะวันตก มีข้อมูลว่าพวกเขาพิมพ์งานที่เกี่ยวกับคริสเตียนหลายล้านหน้าในช่วงทศวรรษแรกของการตั้งโรงพิมพ์ที่เชียงใหม่ นั่นหมายความว่าเป็นโรงพิมพ์ขนาดใหญ่ นี่เป็นตัวอย่างที่น่าสนใจในการใช้เทคโนโลยีเผยแพร่ข่าวสารเพื่อเข้าถึงภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศไทย ซึ่งในกรณีนี้คือเขตภาคเหนือ

Main Title : Tripiṭaka : [Buddhist scriptures, sacred writings of the southern Buddhists] / publ. by order of Somdetch … king of Siam.

Published/Produced : [Bangkok] : [Royal Press], [1893?]

LCCN Permalink : lccn.loc.gov/2018382004

Type of Material : Book

LCCN : 2018382004

Request in : Rare Books – Asian Reading Room (Jefferson, LJ150)

ชิ้นนี้แสดงให้เห็นภาพของการพิมพ์ที่ใหญ่ขึ้น เป็นสิ่งที่พิเศษมาก เพราะไม่ใช่สิ่งพิมพ์ที่ชาวอเมริกันมอบให้ไทยหรือเข้าไปพิมพ์ในไทย แต่เป็นของขวัญที่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานให้ห้องสมุดของเราเมื่อปี 1905 คือหนังสือ พระไตรปิฎก ฉบับแรกที่พิมพ์เป็นภาษาไทย เป็น พระไตรปิฎกฉบับเถรวาท มีทั้งหมด 39 เล่ม เรายังมีหนังสือเล่มนี้อีกชุดที่ American University in Massachusetts Amherst College แสดงว่าพระองค์พระราชทานให้กับหลายหน่วยงานในสหรัฐอเมริกา ในห้องสมุดของเรามีเรื่องมากมายเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีการพิมพ์เพื่อเผยแผ่ศาสนาคริสต์ในประเทศไทย แต่เล่มนี้แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยใช้เทคโนโลยีการพิมพ์เดียวกันพิมพ์เผยแผ่พุทธศาสนาแล้วส่งกลับมาที่สหรัฐอเมริกา เป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก

Main Title : John Barrett papers, 1861-1943 (bulk 1907-1933).

LCCN Permalink : lccn.loc.gov/mm81011874

Type of Material : Archival Manuscript/Mixed Formats (Collection)

LCCN : mm 81011874

Request in : Manuscript Reading Room (Madison, LM101)

คอลเลกชันนี้เป็นเอกสารของ จอห์น บาร์เร็ตต์ (John Barrett) อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ช่วงปี 1894 – 1898 มีทั้งจดหมายโต้ตอบ บันทึกประจำวัน สุนทรพจน์ งานเขียน รายงาน สมุดบันทึก แฟ้มเอกสาร และหลักฐานการเงิน เขาเคยไปประจำการในหลายประเทศ และยังมีตำแหน่งเป็น Director General ของ Pan American Union ทำให้ต้องเดินทางไปทั่วเอเชียตะวันออก เอกสารกว่า 50,000 ชิ้นชุดนี้อาจเกี่ยวกับประเทศไทยไม่มาก แต่แสดงให้เห็นว่ามีผู้คนมากมายร่วมกันสร้างประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกากับไทยตลอด 2 ศตวรรษที่ผ่านมา รวมถึง จอห์น บาร์เร็ตต์ ด้วย ภาพที่นำมาประกอบเป็นภาพกลุ่มคนงานที่กำลังลากราชรถในพิธีศพของลูกสาวเจ้าเมืองแพร่

Sērī Thai Collection (uncatalogued)

Request in : Manuscript Reading Room (Madison, LM101)

เอกสารคอลเลกชันนี้เกี่ยวกับขบวนการเสรีไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ในประเทศไทย มีจำนวนหลายร้อยหน้า มีทั้งเอกสารทางการเมือง เอกสารถอดเทปเสียงที่เผยแพร่กิจกรรมของเสรีไทยผ่านวิทยุทั้งภาษาไทยและอังกฤษ ผู้ที่บริจาคให้คือ Kenneth Landon ชาวอเมริกันผู้เชี่ยวชาญเรื่องประเทศไทย อดีตมิชชันนารีที่เคยไปประจำที่ประเทศไทย แลนดอนทำงานให้กับ Office of Strategic Services (องค์กรตั้งต้นก่อนจะเป็น CIA ในเวลาต่อมา) ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งต้องทำงานร่วมกับเสรีไทย ข้อมูลทั้งหมดนี้ไม่ได้มีครบทุกอย่าง แต่พอจะทำให้รู้ว่าเสรีไทยทำอะไรในประเทศไทย พูดเรื่องอะไร คิดอย่างไร ถือเป็นจุดสำคัญของประวัติศาสตร์ไทย และการที่สหรัฐอเมริกาสนับสนุนเสรีไทย จึงเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ดีที่แสดงถึงความสัมพันธ์ของสองประเทศระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 เอกสารชิ้นนี้ยังไม่บันทึกเข้าสู่ระบบ แต่ขอดูได้

Main Title : The King of Siam speaks, by Seni Pramoj and Kukrit Pramoj.

Published/Produced : [Bangkok, 1948]

LCCN Permalink : lccn.loc.gov/73180908

Type of Material : Book

LCCN : 73180908

Request in : Rare Books – Asian Reading Room (Jefferson, LJ150)

หนังสือเล่มนี้เป็นเวอร์ชันคาร์บอนก๊อบปี้ของต้นฉบับพิมพ์ดีดซึ่งเขียนเป็นภาษาอังกฤษเพื่อตั้งใจสื่อสารกับชาวอเมริกัน โดย เสนีย์ ปราโมช และ คึกฤทธิ์ ปราโมช ในปี 1948 เพื่อตอบโต้หนังสือ Anna and the King of Siam ของ มาร์กาเร็ต แลนดอน (Margaret Landon) ซึ่งพิมพ์เมื่อปี 1944 หนังสือเล่มนี้เล่าถึงประเทศไทยว่าไม่ได้เป็นอย่างที่ถูกทำให้เข้าใจผิด ๆ เหมือนในหนังสือ Anna and the King of Siam ต้นฉบับเล่มนี้ถูกมอบให้ Abbot Low Moffat นักการเมืองและนักการทูตชาวอเมริกัน เขาใช้เป็นข้อมูลประกอบการเขียนหนังสือเล่าถึงประวัติของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่อง Mongkut the King of Siam (1961) เมื่อเขียนเสร็จก็นำมามอบให้ห้องสมุด

Main Title : USIA Cold War-era Thai collection, 1951-1969.

LCCN Permalink : lccn.loc.gov/2022655031

Type of Material : Archival Manuscript/Mixed Formats (Collection)

LCCN : 2022655031

Request in : Rare Books – Asian Reading Room (Jefferson, LJ150)

คอลเลกชันนี้เป็นสื่อที่ผลิตโดย United States Information Agency (USIA) ซึ่งเป็นหน่วยงานเผยแพร่การโฆษณาชวนเชื่อในช่วงสงครามเย็น ใช้เผยแพร่ในสหรัฐอเมริกาและต่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศไทย ประกอบด้วย โปสเตอร์ การ์ตูนการเมือง หนังสือการ์ตูน แผ่นพับ ใบปลิว และหนังสือ ที่น่าสนใจคือมีการทำเป็นภาษาไทยซึ่งแตกต่างกันถึง 175 ชิ้น เพื่อให้เข้าถึงคนไทย ส่วนเนื้อหาสังเกตได้อย่างชัดเจนว่าต้องการทำให้คอมมิวนิสต์มีภาพที่ไม่ดี และทำให้เสรีภาพดูเป็นคำตอบที่ถูกต้องในการยกระดับให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น เนื้อหาจึงเป็นการสอนเรื่องต่าง ๆ เช่น คู่มือทำเกษตรกรรม วิธีเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร วิธีพัฒนาคุณภาพชีวิต วิธีจับปลา และวิธีเลี้ยงปลา

Main Title : Communism or Freedom series, USIA Cold War-era Thai collection, 1965-1968.

Link : hdl.loc.gov/loc.asian/asianscd

LCCN Permalink : lccn.loc.gov/2022655032

Type of Material : Archival Manuscript/Mixed Formats (Collection)

LCCN : 2022655031

Request in : Rare Books – Asian Reading Room (Jefferson, LJ150)

ชิ้นสุดท้ายเป็นโปสเตอร์จำนวน 13 ใบ ผลิตโดย United States Information Agency (USIA) ทำในช่วงสงครามเย็น สไตล์ของภาพวาดที่ใช้ดูคล้ายกับภาพโปสเตอร์โฆษณาชวนเชื่อในสาธารณรัฐประชาชนจีนในช่วงปี 1950 – 1960 ซึ่งมักวาดให้ชีวิตภายใต้ระบบคอมมิวนิสต์ดูดีเกินจริง โปสเตอร์นี้ก็เช่นกัน พยายามทำให้ภาพของคอมมิวนิสต์ดูแย่เกินจริงเพื่อให้คนเกิดความรู้สึกลบ แล้วเห็นว่าถ้าอยากมีความสุขต้องไม่เป็นคอมมิวนิสต์ โดยโยงเนื้อหาให้เกี่ยวข้องกับครอบครัว ศาสนา และวิธีที่รัฐดูแลประชาชน ถือเป็นอีกบทบันทึกเรื่องราวในช่วงสงครามเย็นที่เกิดขึ้นในประเทศไทย

Writer & Photographer

ทรงกลด บางยี่ขัน

ทรงกลด บางยี่ขัน

ตำแหน่งบรรณาธิการโดยอาชีพ เป็นนักเดินทางมือสมัครเล่น แบ่งเวลาไปสอนหนังสือโดยสมัครใจ และชอบจัดทริปให้คนสมัครไป