ด้วยความที่พี่หนามและไหมเป็นทั้งศิลปินและผู้ประกอบการ ทำให้หลายปีที่ผ่านมา พวกเรายุ่งอยู่กับการปลูกปั้น ‘ละมุนละไม’ แบรนด์เซรามิกเล็กๆ ของเรามาตลอด เรามีลูกค้ามากขึ้น ได้ทำโปรเจกต์ร่วมกับคนมากมายหลายแวดวง สนุก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเมื่อเวลาผ่านไป ขั้นตอนการทำงานต่างๆ เริ่มซ้ำไปมาเป็นแพตเทิร์น จนเราเริ่มรู้สึกถูกจำกัดกรอบในการสร้างสรรค์งานเซรามิก
เราห่างหายจากการทำโปรเจกต์พิเศษนอกสตูดิโอมานาน ครั้งล่าสุดคือตอนไปลองใช้ชีวิตเป็นศิลปินในพำนัก (Artist In Residency) ที่ประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี 2016 โครงการศิลปินในพำนักคือโครงการให้ทุนแก่ศิลปิน เพื่อไปใช้ชีวิตและทำงานเชิงสร้างสรรค์ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก
หนึ่งเดือนกว่าของการเป็นศิลปินเซรามิกที่ประเทศญี่ปุ่นของพี่หนามและไหม พวกเรารู้สึกดีมาก เพราะได้ขยายมุมมองและศักยภาพของตัวเอง มองเห็นความเป็นไปได้ในการทำงานเซรามิก จากรูปแบบและภูมิปัญญาที่แตกต่างออกไป ได้ลองทำงานในสภาพแวดล้อมและบริบทที่ไม่คุ้นเคย แม้แต่วัตถุดิบคู่ใจอย่าง ‘ดิน’ ก็เป็นคนละแบบกับที่ใช้ประจำในสตูดิโอที่ประเทศไทย
น่าจะถึงเวลาไปใช้ชีวิตแบบศิลปินเต็มตัวด้วยการเป็นศิลปินในพำนักอีกครั้ง แล้วถ้าครั้งนี้เราไม่ไปประเทศญี่ปุ่น มีที่ไหนที่เราจะไปได้อีกบ้าง ตอนแรกเรามองๆ ประเทศฝรั่งเศสและอังกฤษไว้ แต่ด้วยความที่ยุโรปเน้นสนับสนุนการเป็นศิลปินของพลเมือง เขาจึงเลือกให้ทุนกับศิลปินชาวยุโรปก่อนเป็นส่วนใหญ่
สุดท้ายเราค้นข้อมูลจนไปเจอโปรแกรมศิลปินในพำนักที่สหรัฐอเมริกา เฮ้ย! ตกใจและดีใจเพราะคาดไม่ถึง โปรแกรมนี้เปิดให้ศิลปินต่างชาติไปเข้าร่วมได้ ด้วยระยะเวลาที่เรามองหาพอดี คือประมาณหนึ่งเดือน ความน่ารักคือในเว็บไซต์ระบุไว้ชัดเจนว่าเปิดรับทุกชนชาติ ทุกสีผิว และทุกเพศ
เราจะไปตามหาความหมายของอเมริกันคราฟต์ (American Craft) ที่ Haystack Mountain School of Crafts โรงเรียนสอนศิลปะบนเกาะกลางทะเล ที่เมน (Maine) รัฐแห่งป่าสนทางตอนเหนือของสหรัฐอเมริกากัน

01 Haystack Mountain School of Crafts
ทะเลแอตแลนติก ป่าสน งานคราฟต์แบบอเมริกัน
เมนเป็นรัฐตากอากาศที่คนอเมริกานิยมมาพักผ่อน ให้อารมณ์เมืองเกษียณอายุที่คนจะอยู่กันแบบช้าๆ สบายๆ เพราะมีทั้งภูเขาให้ไฮกิ้ง ป่าให้แคมปิ้งและมหาสมุทรให้ฟิชชิ่ง พื้นที่ชายฝั่งตะวันออกของประเทศสหรัฐอเมริกาบริเวณนี้ เต็มไปด้วยเกาะแก่งมากมาย รวมถึงเกาะเล็กๆ ชื่อซันไชน์ (Shunshine) จุดหมายปลายทางของเรา


นอกจากโรงเรียนสอนศิลปะของเรา บนเกาะซันไชน์ยังมีหมู่บ้านของคนทำงานคราฟต์หลากหลายรูปแบบตั้งอยู่ด้วย เนื่องจากเราเคยไปเป็นศิลปินในพำนักที่ประเทศญี่ปุ่นมาแล้ว เลยพอจะมองเห็นความแตกต่างของวัฒนธรรมการทำงานคราฟต์แบบญี่ปุ่น ที่เน้นการทำงานร่วมกัน ส่งเสริมอาชีพให้ชุมชน และได้รับการส่งเสริมโดยรัฐบาล
ในขณะที่การทำงานคราฟต์แบบอเมริกันจะมีความเป็นปัจเจกสูงกว่ามาก แม้จะมีการรวมตัวกันของศิลปิน เปิดเป็นแกลเลอรี่เล็กๆ แต่ทุกอย่างดำเนินไปภายใต้ความเป็นปัจเจกชน และศิลปินบนเกาะซันไชน์ส่วนใหญ่ก็ทำงานคราฟต์เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตมากกว่า อธิบายให้เห็นภาพคือชีวิตดีอยู่แล้ว มีเงินมากพอที่จะซื้อบ้านหลังที่สองสำหรับทำงานคราฟต์บนเกาะแห่งนี้


เพราะเกาะซันไชน์เป็นพื้นที่ที่แทบจะอยู่เหนือสุดทางฝั่งตะวันออกสุดของประเทศ ทำให้มีสภาพอากาศหนาวเย็น แต่ละปีมีแค่ 6 เดือนช่วงฤดูใบไม้ผลิถึงฤดูใบไม้ร่วงเท่านั้นที่คนนิยมมาพักอาศัยที่นี่ ศิลปินต่างๆ ก็เช่นกัน เขาจะมีบ้านอีกหลังที่รัฐอื่นสำหรับอาศัยช่วงฤดูหนาว แม้แต่ Haystack Mountain School of Crafts ก็เปิดทำการสำหรับนักเรียนแค่เดือนเมษายนถึงเดือนกันยายน หลังนั้นเจ้าหน้าที่ต้องย้ายข้าวของไปทำงานบนเมนแลนด์ที่อบอุ่นกว่า
พวกเราเลือกบินจากกรุงเทพฯ มาลงที่เมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ (Boston, Massachusetts) เพราะราคาตั๋วเครื่องบินถูกว่ามาก พี่หนามมีเพื่อนเรียนอยู่ที่นั่นด้วย เลยถือว่าแวะเยี่ยมเยียนเพื่อนไปในตัว วันต่อมาเรานั่งรถบัสประมาณ 3 ชั่วโมง ไปถึงสนามบินของรัฐเมน รถตู้ของโรงเรียนมารับและนั่งต่อไปยังโรงเรียนบนเกาะซันไชน์อีกชั่วโมงกว่าๆ มากกว่าครึ่งของเกาะเป็นป่าสน ทั้งเงียบสงบ ห่างไกล พีกที่สุดคือไม่มีสัญญาณโทรศัพท์!
เพื่อนหลายคนเห็นเรายังโพสต์เฟซบุ๊กอยู่เรื่อยๆ อาจจะนึกไม่ถึงว่า ตลอดการเป็นศิลปินในพำนักที่ประเทศสหรัฐอเมริกาของเรานั้น ถ้าอยากเชื่อมต่อกับโลกภายนอก ต้องมาที่ห้องสมุดโรงเรียนเพื่อใช้คอมพิวเตอร์เท่านั้น
02 Artist In Residency
เคบินไม้ เพื่อนใหม่ ล็อบสเตอร์
ที่พักในโรงเรียนเรียกว่าเคบิน (Cabin) ทำจากไม้ท้องถิ่นบนเกาะที่ทางโรงเรียนต่อขึ้นมาเอง เคบินของพี่หนามและไหมอยู่ริมสุด เห็นวิวมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ ถ้ากระโดดลงไปคงเย็นจนตัวแข็งแน่นอน

โปรแกรมศิลปินในพำนักแต่ละเซสชัน ประกอบไปด้วยศิลปินกว่า 90 ชีวิตที่มาใช้ชีวิตและทำงานในสตูดิโอด้วยกัน โดยแบ่งเป็นช็อปเซรามิก ไม้ จิวเวอรี่ ทอผ้า เท็กซ์ไทล์ Blacksmithing เหล็ก กระดาษ และ FabLab 3D แต่ละช็อปก็มีธีมในการทำงานของตัวเอง อย่างธีมของช็อปเซรามิก คือปั้นดินด้วยมือสัมผัส (Pinching) ศิลปินเซรามิกทุกคนก็ต้องสร้างสรรค์ผลงานด้วยเทคนิคนี้

วันอาทิตย์แรกของการเป็นศิลปินในพำนักที่ Haystack Mountain School of Crafts ก่อนอาหารค่ำมื้อแรก สตาฟของโรงเรียนจะสั่นกระดิ่งเพื่อเรียกทุกคนมารวมตัวกันที่บริเวณลานกลาง จากนั้นยกขบวนกันไปที่ห้องประชุมบนเนินสูงเพื่อทำความรู้จักกัน พี่หนามกับไหมเด๋อสุด เพราะแม้โรงเรียนจะเปิดรับศิลปินจากทุกที่บนโลก แต่สุดท้ายแล้วในเซสชันนี้ก็มีแค่เราสองคนที่เป็นชาวต่างชาติ แถมยังมาไกลข้ามทวีปจากประเทศไทยอีกต่างหาก
อาหารโรงเรียนอร่อยมาก เพราะมีเชฟมาประจำอยู่ด้วยเลยตลอดโปรแกรม อาหารเช้ากับอาหารเที่ยงว่าอร่อยแล้ว อาหารค่ำทุกวันเป็นอาหารพิเศษ ปรุงแบบใช้ไฟอ่อน (Slow Cooker) โดยมีของขึ้นชื่ออย่างล็อบสเตอร์เป็นเมนูไฮไลต์ เสียดายไม่ได้ชิมเลยสักมื้อ เพราะเราแพ้กุ้ง
เวลานั่งกินข้าว กฎคือต้องนั่งกับเพื่อนใหม่เสมอ เพื่อให้เราได้ทำความรู้จักและแลกเปลี่ยนบทสนทนากับคนให้เยอะที่สุด เล่าให้เห็นภาพคือศิลปิน 90 คนในเซสชันต้องเคยนั่งกินข้าวร่วมโต๊ะกันมาแล้ว ทุกมื้อต้องเล่าประวัติชีวิตฉบับรวบรัดให้เพื่อนใหม่ฟัง ว่าเราเป็นใคร มาจากไหน ทุกคนก็จะอเมซิ่งมากที่เรามาไกลจากไทยแลนด์
เป็นช่วงเวลาส่งเสริมทักษะการสื่อสารและสร้างเพื่อนใหม่ อเมริกันสไตล์มาก ต่อให้ตัวเราไม่ทักก่อน เขาก็จะเข้ามาชวนพูดคุยตลอดเวลาอยู่ดี โดยเฉพาะสองเอเชียนอย่างพี่หนามกับไหมที่เป็นจุดสนใจ ทุกคนพยายามจะเข้ามาเม้ามอยด้วย
03 Keep In Touch
คุณภาพชีวิต มือสัมผัส พัฒนาการ
ไหมและพี่หนามได้ทุนจากโรงเรียนแค่บางส่วน ซึ่งครอบคลุมค่าวัสดุ อุปกรณ์ สตูดิโอ และอาหาร แต่เรายังต้องจ่ายเงินค่าเคบิน เวลาทำงานในสตูดิโอคือ 9 โมงเช้าถึง 5 โมงเย็น หลังอาคารค่ำใครใคร่จะไปเดินเล่น ทำกิจกรรมใดๆ หรือจะกลับเข้ามาทำงานต่อก็ไม่ว่ากัน
ช่วงแรกพี่หนามกับไหมฟิตมาก บางวันเข้าสตูดิโอถึง 4 ทุ่ม ได้ดินมาจำนวนเท่าไหร่ ตั้งใจปั้นจนหมด ข้อจำกัดเรื่องเวลาของงานเซรามิก คือเมื่อปั้นขึ้นรูปเสร็จแล้ว ต้องรอแห้งอีกประมาณ 3 วัน จึงจะเอาเข้าเตาเผาได้ เลยต้องรีบเพราะกลัวงานเสร็จไม่ทัน


ช่วง 3 วันที่รองานแห้งเลยได้ไปแคมปิ้ง เทรกกิ้ง เล่นน้ำทะเล ซึ่งปรากฏว่าไม่หนาวอย่างที่คิด คงเพราะกำลังจะเข้าหน้าร้อนแล้ว การได้ทำงานสตูดิโอเดียวกับเพื่อนๆ ศิลปินฝรั่ง ทำให้เราเห็นวัฒนธรรมการทำงานและใช้ชีวิตที่สมดุลมาก เวลาทำงานก็เต็มที่ มีผลงานที่ดี ในขณะเดียวกันหลังเลิกงานก็เต็มที่กับการพักผ่อน เรียกว่าคุณภาพชีวิตดีๆ ที่ลงตัว
ศิลปินแต่ละคนจะได้ดินสำหรับปั้นงานประมาณ 25 กิโลกรัม ซึ่งถือว่าเยอะทีเดียว เมื่อเทียบกับผลงานที่ต้องสร้างสรรค์ใหม่ทั้งหมด ทุกคนได้อิสระเต็มที่ จะทำเป็นคอลเลกชันก็ได้ หรือจะปั้นออกมาเป็นประติมากรรม (Sculpture) ชิ้นเดียวเลยก็ได้
พี่หนามและไหมเลือกทำงานเป็นคอลเลกชันที่มีผลงานอยู่หลายชิ้น เพราะถ้าทำเป็นประติมากรรมใหญ่ๆ ชิ้นเดียว คงเอากลับประเทศไทยลำบากน่าดู ในคอลเลกชันนี้ เรามีทั้งผลงานชิ้นใหญ่และชิ้นเล็กชิ้นน้อย เน้นเป็นของใช้บนโต๊ะอาหาร (Table Wares) โดยได้แรงบันดาลใจจากข้าวของเครื่องใช้สไตล์อเมริกันที่เราเห็นบนเกาะซันไชน์แห่งนี้

คนเอเชียนิยมงานเซรามิกชิ้นบาง ยิ่งผอมบางยิ่งมีราคา แต่คนอเมริกันเน้นจับถนัดมือ ใหญ่ได้ หนาหนักไม่เกี่ยง ถ้าดีไซน์สวยงามโดนใจ จับแล้วเข้ามือก็ไม่ลำบากในการถือ แสดงถึงความแข็งแรง ทนทาน ไม่ต้องพิถีพิถันในการเก็บมากนัก
ทุกเช้าก่อนเริ่มงาน ศิลปินแต่ละคนจะต้องผลัดกันออกมาเล่าเทคนิคการปั้นดินเฉพาะตัวของตัวเอง ภายใต้ธีมปั้นดินด้วยมือสัมผัส (Pinching) ไหมเองเล่าเทคนิคการนำเทกซ์เจอร์จากแหล่งต่างๆ เช่น ใบไม้ ผ้าลูกไม้ มาแสตมป์ให้เกิดลวดลายบนดิน รวมถึงการฝังสีลงไปในดินปั้น ที่เมื่อเผาแล้วผลงานจะออกมามีสีสันสวยงาม

ความสนุกคือในแต่ละวัน เราจะได้เห็นพัฒนาการของเพื่อนๆ แต่ละคน ที่นำเทคนิคใหม่ซึ่งได้เรียนรู้ไปประยุกต์ใช้กับผลงานตัวเอง

04 Next Chapter
เปิดใจ มอบให้ คืนสู่ตัวเอง
เพื่อนๆ ศิลปินเซรามิกที่ทำงานด้วยกันมาเกือบเดือน ประกอบไปด้วยคนหลากหลายมาก คนที่อายุน้อยที่สุดเพิ่งเรียนจบมาจากคณะสถาปัตย์ฯ คนแก่ที่สุดอายุ 80 ปี เป็นคุณยายที่มาเป็นศิลปินในพำนักพร้อมหลานอีกคนที่อยู่ช็อปไม้ คุณยายมีพื้นฐานการปั้นดินโพลีเมอร์มาก่อน เลยอยากมาลองทำเครื่องใช้เซรามิกเพื่อนำไปใช้ที่บ้าน ปกติคุณยายอาศัยอยู่ที่เมืองนิวยอร์ก (New York) แต่ด้วยความที่ยังเก๋าและแอ็กทีฟ คุณยายเลยหาเรื่องมารัฐเมนทุกฤดูร้อน
มันเจ๋งมากจริงๆ ที่การมาประเทศสหรัฐอเมริกาครั้งนี้ เราได้มาเป็นศิลปินในพำนักอยู่ที่นี่ แถมยังได้รู้จักเพื่อนใหม่เยอะมาก เพื่อนๆ ศิลปินที่นี่ ส่วนใหญ่มีแบรนด์อยู่ในเว็บไซต์ Etsy พื้นที่ขายงานคราฟต์ออนไลน์ทุกรูปแบบ

บางคนส่งผลงานไปให้แกลเลอรี่ใกล้บ้าน เพื่อขอนำผลงานไปตั้งขายหน้าร้าน (Window Shop) ซึ่งก็ขายดิบขายดีอยู่แล้ว เพราะศิลปินในสหรัฐอเมริกามีเครือข่ายงานคราฟต์ที่แข็งแรง ซึ่งเกื้อหนุนและสนับสนุนกันอยู่แล้ว ทำให้เขาไม่ต้องขวนขวายพยายามไปขายงานที่ต่างประเทศ
ทุกคนเลยเซอร์ไพรส์มาก เมื่อรู้ว่าเราสองคนออกแบบชุดจานชามให้ร้านอาหารหลายร้านในกรุงเทพฯ และเคยไปออกงานแฟร์ที่ต่างประเทศมาแล้วหลายที่ รวมถึง Maison & Object งานแฟร์เครื่องใช้ในบ้านที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่ปารีส ประเทศฝรั่งเศส


ก่อนจบโปรแกรมศิลปินในพำนักอย่างสมบูรณ์ คืนสุดท้าย Haystack Mountain School of Crafts รับหน้าที่เป็นเจ้าภาพจัดงานประมูลใหญ่ (The Great Auction) ซึ่งเป็นการประมูลผลงานของศิลปินในพำนักเซสชันนี้ทั้ง 90 คน โดยให้ศิลปินแต่ละคนบริจาคผลงาน 1 ชิ้นสำหรับเปิดประมูลสาธารณะ เงินที่ได้จากงานประมูลจะเก็บไว้เป็นทุนให้ศิลปินในพำนักรุ่นต่อไป
การประมูลในคืนนั้นสนุกมาก บรรยากาศเร้าใจ ดุเดือด ผลงานบางชิ้นราคาเริ่มต้นแค่ 20 เหรียญ แต่ปิดประมูลไปได้สูงถึง 1,700 เหรียญ เป็นโมเดลที่น่าประทับใจมาก เพราะเรามาด้วยทุนจากองค์กรนี้ และเราก็ส่งมอบงานที่ดีเพื่อสร้างทุนหมุนเวียนให้องค์กรต่อไป
ชีวิตเกือบหนึ่งเดือนที่เกาะซันไชน์ ทำให้เรานึกย้อนไปถึงความทรงจำเมื่อ 4 ปีก่อนที่ประเทศญี่ปุ่น การเป็นศิลปินในพำนักร่วมกับศิลปินอีกหลายสิบชีวิต ไม่ว่าจะที่ไหนในโลก ศิลปินทุกคนมาด้วยความเปิดใจ พร้อมที่จะเรียนรู้เรื่องราวใหม่ๆ จากคนอื่น ตัวเราก็มีเวลาทบทวน พูดคุยกับตัวเองมากขึ้นในสภาพแวดล้อมที่ต่างออกไป ถ้าเราอยู่แต่ในที่เดิมที่คุ้นเคย เรารู้ทุกอย่างอยู่แล้ว มันยากที่เราจะได้ต้นพบสิ่งใหม่ๆ
ในขณะเดียวกันเราก็ได้เรียนรู้เทคนิค รวมถึงวัฒนธรรมการทำงานของศิลปินแต่ละประเทศ อย่างที่ประเทศญี่ปุ่น กฎเกณฑ์ต่างๆ ค่อนข้างเข้มงวด สตูดิโอเปิดปิดเวลาไหนเวลานั้น แต่ฝั่งประเทศสหรัฐอเมริกา ชิลล์มาก อยากมาเปิดสตูดิโอทำงานตอนตี 3 ก็ยังได้ แค่อย่าให้เดือดร้อนคนอื่นก็พอ สิ่งเหล่านี้คือความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่เราหลงรัก และไม่เคยเบื่อที่จะออกไปสัมผัส
ทุกความทรงจำ ผู้คนมากมายที่พบเจอ ทำให้เราได้ทำความรู้จักตัวเองใหม่อีกครั้ง

Write on The Cloud
Travelogue

ถ้าคุณมีประสบการณ์เรียนรู้ใหม่ ๆ จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญแบ่งปันเรื่องราวความรู้ของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’ ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะส่งสมุดลิมิเต็ดอิดิชัน จาก ZEQUENZ แบรนด์สมุดสัญชาติไทย ทำมือ 100 % เปิดได้ 360 องศา ให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ