ด้วยความที่พี่หนามและไหมเป็นทั้งศิลปินและผู้ประกอบการ ทำให้หลายปีที่ผ่านมา พวกเรายุ่งอยู่กับการปลูกปั้น ‘ละมุนละไม’ แบรนด์เซรามิกเล็กๆ ของเรามาตลอด เรามีลูกค้ามากขึ้น ได้ทำโปรเจกต์ร่วมกับคนมากมายหลายแวดวง สนุก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเมื่อเวลาผ่านไป ขั้นตอนการทำงานต่างๆ เริ่มซ้ำไปมาเป็นแพตเทิร์น จนเราเริ่มรู้สึกถูกจำกัดกรอบในการสร้างสรรค์งานเซรามิก 

เราห่างหายจากการทำโปรเจกต์พิเศษนอกสตูดิโอมานาน ครั้งล่าสุดคือตอนไปลองใช้ชีวิตเป็นศิลปินในพำนัก (Artist In Residency) ที่ประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี 2016 โครงการศิลปินในพำนักคือโครงการให้ทุนแก่ศิลปิน เพื่อไปใช้ชีวิตและทำงานเชิงสร้างสรรค์ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก

หนึ่งเดือนกว่าของการเป็นศิลปินเซรามิกที่ประเทศญี่ปุ่นของพี่หนามและไหม พวกเรารู้สึกดีมาก เพราะได้ขยายมุมมองและศักยภาพของตัวเอง มองเห็นความเป็นไปได้ในการทำงานเซรามิก จากรูปแบบและภูมิปัญญาที่แตกต่างออกไป ได้ลองทำงานในสภาพแวดล้อมและบริบทที่ไม่คุ้นเคย แม้แต่วัตถุดิบคู่ใจอย่าง ‘ดิน’ ก็เป็นคนละแบบกับที่ใช้ประจำในสตูดิโอที่ประเทศไทย

น่าจะถึงเวลาไปใช้ชีวิตแบบศิลปินเต็มตัวด้วยการเป็นศิลปินในพำนักอีกครั้ง แล้วถ้าครั้งนี้เราไม่ไปประเทศญี่ปุ่น มีที่ไหนที่เราจะไปได้อีกบ้าง ตอนแรกเรามองๆ ประเทศฝรั่งเศสและอังกฤษไว้ แต่ด้วยความที่ยุโรปเน้นสนับสนุนการเป็นศิลปินของพลเมือง เขาจึงเลือกให้ทุนกับศิลปินชาวยุโรปก่อนเป็นส่วนใหญ่ 

สุดท้ายเราค้นข้อมูลจนไปเจอโปรแกรมศิลปินในพำนักที่สหรัฐอเมริกา เฮ้ย! ตกใจและดีใจเพราะคาดไม่ถึง โปรแกรมนี้เปิดให้ศิลปินต่างชาติไปเข้าร่วมได้ ด้วยระยะเวลาที่เรามองหาพอดี คือประมาณหนึ่งเดือน ความน่ารักคือในเว็บไซต์ระบุไว้ชัดเจนว่าเปิดรับทุกชนชาติ ทุกสีผิว และทุกเพศ

เราจะไปตามหาความหมายของอเมริกันคราฟต์ (American Craft) ที่ Haystack Mountain School of Crafts โรงเรียนสอนศิลปะบนเกาะกลางทะเล ที่เมน (Maine) รัฐแห่งป่าสนทางตอนเหนือของสหรัฐอเมริกากัน

เมื่อ 2 ศิลปินเซรามิกไทยไปเป็น Artist in Residency ที่ รร. คราฟต์บนเกาะกลางทะเลสหรัฐอเมริกา

01 Haystack Mountain School of Crafts

ทะเลแอตแลนติก ป่าสน งานคราฟต์แบบอเมริกัน

เมนเป็นรัฐตากอากาศที่คนอเมริกานิยมมาพักผ่อน ให้อารมณ์เมืองเกษียณอายุที่คนจะอยู่กันแบบช้าๆ สบายๆ เพราะมีทั้งภูเขาให้ไฮกิ้ง ป่าให้แคมปิ้งและมหาสมุทรให้ฟิชชิ่ง พื้นที่ชายฝั่งตะวันออกของประเทศสหรัฐอเมริกาบริเวณนี้ เต็มไปด้วยเกาะแก่งมากมาย รวมถึงเกาะเล็กๆ ชื่อซันไชน์ (Shunshine) จุดหมายปลายทางของเรา

เมื่อ 2 ศิลปินเซรามิกไทยไปเป็น Artist in Residency ที่ รร. คราฟต์บนเกาะกลางทะเลสหรัฐอเมริกา
เมื่อ 2 ศิลปินเซรามิกไทยไปเป็น Artist in Residency ที่ รร. คราฟต์บนเกาะกลางทะเลสหรัฐอเมริกา

นอกจากโรงเรียนสอนศิลปะของเรา บนเกาะซันไชน์ยังมีหมู่บ้านของคนทำงานคราฟต์หลากหลายรูปแบบตั้งอยู่ด้วย เนื่องจากเราเคยไปเป็นศิลปินในพำนักที่ประเทศญี่ปุ่นมาแล้ว เลยพอจะมองเห็นความแตกต่างของวัฒนธรรมการทำงานคราฟต์แบบญี่ปุ่น ที่เน้นการทำงานร่วมกัน ส่งเสริมอาชีพให้ชุมชน และได้รับการส่งเสริมโดยรัฐบาล 

ในขณะที่การทำงานคราฟต์แบบอเมริกันจะมีความเป็นปัจเจกสูงกว่ามาก แม้จะมีการรวมตัวกันของศิลปิน เปิดเป็นแกลเลอรี่เล็กๆ แต่ทุกอย่างดำเนินไปภายใต้ความเป็นปัจเจกชน และศิลปินบนเกาะซันไชน์ส่วนใหญ่ก็ทำงานคราฟต์เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตมากกว่า อธิบายให้เห็นภาพคือชีวิตดีอยู่แล้ว มีเงินมากพอที่จะซื้อบ้านหลังที่สองสำหรับทำงานคราฟต์บนเกาะแห่งนี้

เมื่อ 2 ศิลปินเซรามิกไทยไปเป็น Artist in Residency ที่ รร. คราฟต์บนเกาะกลางทะเลสหรัฐอเมริกา
เมื่อ 2 ศิลปินเซรามิกไทยไปเป็น Artist in Residency ที่ รร. คราฟต์บนเกาะกลางทะเลสหรัฐอเมริกา

เพราะเกาะซันไชน์เป็นพื้นที่ที่แทบจะอยู่เหนือสุดทางฝั่งตะวันออกสุดของประเทศ ทำให้มีสภาพอากาศหนาวเย็น แต่ละปีมีแค่ 6 เดือนช่วงฤดูใบไม้ผลิถึงฤดูใบไม้ร่วงเท่านั้นที่คนนิยมมาพักอาศัยที่นี่ ศิลปินต่างๆ ก็เช่นกัน เขาจะมีบ้านอีกหลังที่รัฐอื่นสำหรับอาศัยช่วงฤดูหนาว แม้แต่ Haystack Mountain School of Crafts ก็เปิดทำการสำหรับนักเรียนแค่เดือนเมษายนถึงเดือนกันยายน หลังนั้นเจ้าหน้าที่ต้องย้ายข้าวของไปทำงานบนเมนแลนด์ที่อบอุ่นกว่า

พวกเราเลือกบินจากกรุงเทพฯ มาลงที่เมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ (Boston, Massachusetts) เพราะราคาตั๋วเครื่องบินถูกว่ามาก พี่หนามมีเพื่อนเรียนอยู่ที่นั่นด้วย เลยถือว่าแวะเยี่ยมเยียนเพื่อนไปในตัว วันต่อมาเรานั่งรถบัสประมาณ 3 ชั่วโมง ไปถึงสนามบินของรัฐเมน รถตู้ของโรงเรียนมารับและนั่งต่อไปยังโรงเรียนบนเกาะซันไชน์อีกชั่วโมงกว่าๆ มากกว่าครึ่งของเกาะเป็นป่าสน ทั้งเงียบสงบ ห่างไกล พีกที่สุดคือไม่มีสัญญาณโทรศัพท์!

เพื่อนหลายคนเห็นเรายังโพสต์เฟซบุ๊กอยู่เรื่อยๆ อาจจะนึกไม่ถึงว่า ตลอดการเป็นศิลปินในพำนักที่ประเทศสหรัฐอเมริกาของเรานั้น ถ้าอยากเชื่อมต่อกับโลกภายนอก ต้องมาที่ห้องสมุดโรงเรียนเพื่อใช้คอมพิวเตอร์เท่านั้น

02 Artist In Residency

เคบินไม้ เพื่อนใหม่ ล็อบสเตอร์

ที่พักในโรงเรียนเรียกว่าเคบิน (Cabin) ทำจากไม้ท้องถิ่นบนเกาะที่ทางโรงเรียนต่อขึ้นมาเอง เคบินของพี่หนามและไหมอยู่ริมสุด เห็นวิวมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ ถ้ากระโดดลงไปคงเย็นจนตัวแข็งแน่นอน 

เมื่อ 2 ศิลปินเซรามิกไทยไปเป็น Artist in Residency ที่ รร. คราฟต์บนเกาะกลางทะเลสหรัฐอเมริกา

โปรแกรมศิลปินในพำนักแต่ละเซสชัน ประกอบไปด้วยศิลปินกว่า 90 ชีวิตที่มาใช้ชีวิตและทำงานในสตูดิโอด้วยกัน โดยแบ่งเป็นช็อปเซรามิก ไม้ จิวเวอรี่ ทอผ้า เท็กซ์ไทล์ Blacksmithing เหล็ก กระดาษ และ FabLab 3D แต่ละช็อปก็มีธีมในการทำงานของตัวเอง อย่างธีมของช็อปเซรามิก คือปั้นดินด้วยมือสัมผัส (Pinching) ศิลปินเซรามิกทุกคนก็ต้องสร้างสรรค์ผลงานด้วยเทคนิคนี้ 

เมื่อ 2 ศิลปินเซรามิกไทยไปเป็น Artist in Residency ที่ รร. คราฟต์บนเกาะกลางทะเลสหรัฐอเมริกา

วันอาทิตย์แรกของการเป็นศิลปินในพำนักที่ Haystack Mountain School of Crafts ก่อนอาหารค่ำมื้อแรก สตาฟของโรงเรียนจะสั่นกระดิ่งเพื่อเรียกทุกคนมารวมตัวกันที่บริเวณลานกลาง จากนั้นยกขบวนกันไปที่ห้องประชุมบนเนินสูงเพื่อทำความรู้จักกัน พี่หนามกับไหมเด๋อสุด เพราะแม้โรงเรียนจะเปิดรับศิลปินจากทุกที่บนโลก แต่สุดท้ายแล้วในเซสชันนี้ก็มีแค่เราสองคนที่เป็นชาวต่างชาติ แถมยังมาไกลข้ามทวีปจากประเทศไทยอีกต่างหาก

อาหารโรงเรียนอร่อยมาก เพราะมีเชฟมาประจำอยู่ด้วยเลยตลอดโปรแกรม อาหารเช้ากับอาหารเที่ยงว่าอร่อยแล้ว อาหารค่ำทุกวันเป็นอาหารพิเศษ ปรุงแบบใช้ไฟอ่อน (Slow Cooker) โดยมีของขึ้นชื่ออย่างล็อบสเตอร์เป็นเมนูไฮไลต์ เสียดายไม่ได้ชิมเลยสักมื้อ เพราะเราแพ้กุ้ง 

เวลานั่งกินข้าว กฎคือต้องนั่งกับเพื่อนใหม่เสมอ เพื่อให้เราได้ทำความรู้จักและแลกเปลี่ยนบทสนทนากับคนให้เยอะที่สุด เล่าให้เห็นภาพคือศิลปิน 90 คนในเซสชันต้องเคยนั่งกินข้าวร่วมโต๊ะกันมาแล้ว ทุกมื้อต้องเล่าประวัติชีวิตฉบับรวบรัดให้เพื่อนใหม่ฟัง ว่าเราเป็นใคร มาจากไหน ทุกคนก็จะอเมซิ่งมากที่เรามาไกลจากไทยแลนด์

เป็นช่วงเวลาส่งเสริมทักษะการสื่อสารและสร้างเพื่อนใหม่ อเมริกันสไตล์มาก ต่อให้ตัวเราไม่ทักก่อน เขาก็จะเข้ามาชวนพูดคุยตลอดเวลาอยู่ดี โดยเฉพาะสองเอเชียนอย่างพี่หนามกับไหมที่เป็นจุดสนใจ ทุกคนพยายามจะเข้ามาเม้ามอยด้วย 

03 Keep In Touch

คุณภาพชีวิต มือสัมผัส พัฒนาการ

ไหมและพี่หนามได้ทุนจากโรงเรียนแค่บางส่วน ซึ่งครอบคลุมค่าวัสดุ อุปกรณ์ สตูดิโอ และอาหาร แต่เรายังต้องจ่ายเงินค่าเคบิน เวลาทำงานในสตูดิโอคือ 9 โมงเช้าถึง 5 โมงเย็น หลังอาคารค่ำใครใคร่จะไปเดินเล่น ทำกิจกรรมใดๆ หรือจะกลับเข้ามาทำงานต่อก็ไม่ว่ากัน 

ช่วงแรกพี่หนามกับไหมฟิตมาก บางวันเข้าสตูดิโอถึง 4 ทุ่ม ได้ดินมาจำนวนเท่าไหร่ ตั้งใจปั้นจนหมด ข้อจำกัดเรื่องเวลาของงานเซรามิก คือเมื่อปั้นขึ้นรูปเสร็จแล้ว ต้องรอแห้งอีกประมาณ 3 วัน จึงจะเอาเข้าเตาเผาได้ เลยต้องรีบเพราะกลัวงานเสร็จไม่ทัน

เมื่อ 2 ศิลปินเซรามิกไทยไปเป็น Artist in Residency ที่ รร. คราฟต์บนเกาะกลางทะเลสหรัฐอเมริกา
เมื่อ 2 ศิลปินเซรามิกไทยไปเป็น Artist in Residency ที่ รร. คราฟต์บนเกาะกลางทะเลสหรัฐอเมริกา

ช่วง 3 วันที่รองานแห้งเลยได้ไปแคมปิ้ง เทรกกิ้ง เล่นน้ำทะเล ซึ่งปรากฏว่าไม่หนาวอย่างที่คิด คงเพราะกำลังจะเข้าหน้าร้อนแล้ว การได้ทำงานสตูดิโอเดียวกับเพื่อนๆ ศิลปินฝรั่ง ทำให้เราเห็นวัฒนธรรมการทำงานและใช้ชีวิตที่สมดุลมาก เวลาทำงานก็เต็มที่ มีผลงานที่ดี ในขณะเดียวกันหลังเลิกงานก็เต็มที่กับการพักผ่อน เรียกว่าคุณภาพชีวิตดีๆ ที่ลงตัว

ศิลปินแต่ละคนจะได้ดินสำหรับปั้นงานประมาณ 25 กิโลกรัม ซึ่งถือว่าเยอะทีเดียว เมื่อเทียบกับผลงานที่ต้องสร้างสรรค์ใหม่ทั้งหมด ทุกคนได้อิสระเต็มที่ จะทำเป็นคอลเลกชันก็ได้ หรือจะปั้นออกมาเป็นประติมากรรม (Sculpture) ชิ้นเดียวเลยก็ได้

พี่หนามและไหมเลือกทำงานเป็นคอลเลกชันที่มีผลงานอยู่หลายชิ้น เพราะถ้าทำเป็นประติมากรรมใหญ่ๆ ชิ้นเดียว คงเอากลับประเทศไทยลำบากน่าดู ในคอลเลกชันนี้ เรามีทั้งผลงานชิ้นใหญ่และชิ้นเล็กชิ้นน้อย เน้นเป็นของใช้บนโต๊ะอาหาร (Table Wares) โดยได้แรงบันดาลใจจากข้าวของเครื่องใช้สไตล์อเมริกันที่เราเห็นบนเกาะซันไชน์แห่งนี้ 

เมื่อ 2 ศิลปินเซรามิกไทยไปเป็น Artist in Residency ที่ รร. คราฟต์บนเกาะกลางทะเลสหรัฐอเมริกา

คนเอเชียนิยมงานเซรามิกชิ้นบาง ยิ่งผอมบางยิ่งมีราคา แต่คนอเมริกันเน้นจับถนัดมือ ใหญ่ได้ หนาหนักไม่เกี่ยง ถ้าดีไซน์สวยงามโดนใจ จับแล้วเข้ามือก็ไม่ลำบากในการถือ แสดงถึงความแข็งแรง ทนทาน ไม่ต้องพิถีพิถันในการเก็บมากนัก 

ทุกเช้าก่อนเริ่มงาน ศิลปินแต่ละคนจะต้องผลัดกันออกมาเล่าเทคนิคการปั้นดินเฉพาะตัวของตัวเอง ภายใต้ธีมปั้นดินด้วยมือสัมผัส (Pinching) ไหมเองเล่าเทคนิคการนำเทกซ์เจอร์จากแหล่งต่างๆ เช่น ใบไม้ ผ้าลูกไม้ มาแสตมป์ให้เกิดลวดลายบนดิน รวมถึงการฝังสีลงไปในดินปั้น ที่เมื่อเผาแล้วผลงานจะออกมามีสีสันสวยงาม 

เมื่อ 2 ศิลปินเซรามิกไทยไปเป็น Artist in Residency ที่ รร. คราฟต์บนเกาะกลางทะเลสหรัฐอเมริกา

ความสนุกคือในแต่ละวัน เราจะได้เห็นพัฒนาการของเพื่อนๆ แต่ละคน ที่นำเทคนิคใหม่ซึ่งได้เรียนรู้ไปประยุกต์ใช้กับผลงานตัวเอง

เมื่อ 2 ศิลปินเซรามิกไทยไปเป็น Artist in Residency ที่ รร. คราฟต์บนเกาะกลางทะเลสหรัฐอเมริกา

04 Next Chapter

เปิดใจ มอบให้ คืนสู่ตัวเอง

เพื่อนๆ ศิลปินเซรามิกที่ทำงานด้วยกันมาเกือบเดือน ประกอบไปด้วยคนหลากหลายมาก คนที่อายุน้อยที่สุดเพิ่งเรียนจบมาจากคณะสถาปัตย์ฯ คนแก่ที่สุดอายุ 80 ปี เป็นคุณยายที่มาเป็นศิลปินในพำนักพร้อมหลานอีกคนที่อยู่ช็อปไม้ คุณยายมีพื้นฐานการปั้นดินโพลีเมอร์มาก่อน เลยอยากมาลองทำเครื่องใช้เซรามิกเพื่อนำไปใช้ที่บ้าน ปกติคุณยายอาศัยอยู่ที่เมืองนิวยอร์ก (New York) แต่ด้วยความที่ยังเก๋าและแอ็กทีฟ คุณยายเลยหาเรื่องมารัฐเมนทุกฤดูร้อน

มันเจ๋งมากจริงๆ ที่การมาประเทศสหรัฐอเมริกาครั้งนี้ เราได้มาเป็นศิลปินในพำนักอยู่ที่นี่ แถมยังได้รู้จักเพื่อนใหม่เยอะมาก เพื่อนๆ ศิลปินที่นี่ ส่วนใหญ่มีแบรนด์อยู่ในเว็บไซต์ Etsy พื้นที่ขายงานคราฟต์ออนไลน์ทุกรูปแบบ 

เมื่อ 2 ศิลปินเซรามิกไทยไปเป็น Artist in Residency ที่ รร. คราฟต์บนเกาะกลางทะเลสหรัฐอเมริกา

บางคนส่งผลงานไปให้แกลเลอรี่ใกล้บ้าน เพื่อขอนำผลงานไปตั้งขายหน้าร้าน (Window Shop) ซึ่งก็ขายดิบขายดีอยู่แล้ว เพราะศิลปินในสหรัฐอเมริกามีเครือข่ายงานคราฟต์ที่แข็งแรง ซึ่งเกื้อหนุนและสนับสนุนกันอยู่แล้ว ทำให้เขาไม่ต้องขวนขวายพยายามไปขายงานที่ต่างประเทศ 

ทุกคนเลยเซอร์ไพรส์มาก เมื่อรู้ว่าเราสองคนออกแบบชุดจานชามให้ร้านอาหารหลายร้านในกรุงเทพฯ และเคยไปออกงานแฟร์ที่ต่างประเทศมาแล้วหลายที่ รวมถึง Maison & Object งานแฟร์เครื่องใช้ในบ้านที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่ปารีส ประเทศฝรั่งเศส

เมื่อ 2 ศิลปินเซรามิกไทยไปเป็น Artist in Residency ที่ รร. คราฟต์บนเกาะกลางทะเลสหรัฐอเมริกา
เมื่อ 2 ศิลปินเซรามิกไทยไปเป็น Artist in Residency ที่ รร. คราฟต์บนเกาะกลางทะเลสหรัฐอเมริกา

ก่อนจบโปรแกรมศิลปินในพำนักอย่างสมบูรณ์ คืนสุดท้าย Haystack Mountain School of Crafts รับหน้าที่เป็นเจ้าภาพจัดงานประมูลใหญ่ (The Great Auction) ซึ่งเป็นการประมูลผลงานของศิลปินในพำนักเซสชันนี้ทั้ง 90 คน โดยให้ศิลปินแต่ละคนบริจาคผลงาน 1 ชิ้นสำหรับเปิดประมูลสาธารณะ เงินที่ได้จากงานประมูลจะเก็บไว้เป็นทุนให้ศิลปินในพำนักรุ่นต่อไป

การประมูลในคืนนั้นสนุกมาก บรรยากาศเร้าใจ ดุเดือด ผลงานบางชิ้นราคาเริ่มต้นแค่ 20 เหรียญ แต่ปิดประมูลไปได้สูงถึง 1,700 เหรียญ เป็นโมเดลที่น่าประทับใจมาก เพราะเรามาด้วยทุนจากองค์กรนี้ และเราก็ส่งมอบงานที่ดีเพื่อสร้างทุนหมุนเวียนให้องค์กรต่อไป 

ชีวิตเกือบหนึ่งเดือนที่เกาะซันไชน์ ทำให้เรานึกย้อนไปถึงความทรงจำเมื่อ 4 ปีก่อนที่ประเทศญี่ปุ่น การเป็นศิลปินในพำนักร่วมกับศิลปินอีกหลายสิบชีวิต ไม่ว่าจะที่ไหนในโลก ศิลปินทุกคนมาด้วยความเปิดใจ พร้อมที่จะเรียนรู้เรื่องราวใหม่ๆ จากคนอื่น ตัวเราก็มีเวลาทบทวน พูดคุยกับตัวเองมากขึ้นในสภาพแวดล้อมที่ต่างออกไป ถ้าเราอยู่แต่ในที่เดิมที่คุ้นเคย เรารู้ทุกอย่างอยู่แล้ว มันยากที่เราจะได้ต้นพบสิ่งใหม่ๆ 

ในขณะเดียวกันเราก็ได้เรียนรู้เทคนิค รวมถึงวัฒนธรรมการทำงานของศิลปินแต่ละประเทศ อย่างที่ประเทศญี่ปุ่น กฎเกณฑ์ต่างๆ ค่อนข้างเข้มงวด สตูดิโอเปิดปิดเวลาไหนเวลานั้น แต่ฝั่งประเทศสหรัฐอเมริกา ชิลล์มาก อยากมาเปิดสตูดิโอทำงานตอนตี 3 ก็ยังได้ แค่อย่าให้เดือดร้อนคนอื่นก็พอ สิ่งเหล่านี้คือความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่เราหลงรัก และไม่เคยเบื่อที่จะออกไปสัมผัส

ทุกความทรงจำ ผู้คนมากมายที่พบเจอ ทำให้เราได้ทำความรู้จักตัวเองใหม่อีกครั้ง

เมื่อ 2 ศิลปินเซรามิกไทยไปเป็น Artist in Residency ที่ รร. คราฟต์บนเกาะกลางทะเลสหรัฐอเมริกา

Write on The Cloud

Travelogue

ถ้าคุณมีประสบการณ์เรียนรู้ใหม่ ๆ จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญแบ่งปันเรื่องราวความรู้ของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’ ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะส่งสมุดลิมิเต็ดอิดิชัน จาก ZEQUENZ แบรนด์สมุดสัญชาติไทย ทำมือ 100 % เปิดได้ 360 องศา ให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer

Avatar

ณพกมล อัครพงศ์ไพศาล

นักประดิษฐ์ของจุ้กจิ้ก จับพลัดจับผลูได้ต่อยอดจากผลงานทีสิสมาเป็นธุรกิจสร้างสรรค์ มีความฝันอยากเป็นนักเล่าเรื่อง ผ่านประสบการณ์และการเดินทางที่ได้พบเจอมา หลงรักศิลปะ อีกทั้งเชื่อว่าความมหัศจรรย์อย่างหนึ่งของมนุษย์คือการทำของด้วยมือ

Photographer

Avatar

นล เนตรพรหม

นักปั้นและนักออกแบบเซรามิก ที่รักการทำงานด้วยมือและเก็บบันทึกภาพผลงานทุกชิ้นด้วยกล้องฟิล์ม อีกทั้งยังมีสิ่งที่รักพอๆกัน คือการเล่นกีต้าร์ มีความฝันอยากมีอัลบั้มของตัวเองในสักวันหนึ่งให้จงได้