‘ละมุน’ ความรู้สึกคล้ายหัวใจพองฟูที่ยากจะอธิบายเป็นคำพูดได้
แต่เมื่อถามว่าอะไรคือ ‘ความละมุนละไม’ ในงานเซรามิก คนที่ให้คำตอบกับเราได้คงหนีไม่พ้น ไหม-ณพกมล อัครพงศ์ไพศาล และ หนาม-นล เนตรพรหม เจ้าของแบรนด์เซรามิกชื่อหวานอย่าง ‘ละมุนละไม’ ที่พร้อมละลายหัวใจคนรักเซรามิกทันทีที่พบเห็น

“อยากให้คนใช้รู้สึกละมุน เห็นแล้วรู้สึกอบอุ่น” เป็นเหตุผลที่อดีตสองนักศึกษาภาควิชาการออกแบบอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ต่อยอดงานวิจัยเรื่องดินขาว Porcelain สมัยเรียนเซรามิกเมื่อหลายปีก่อน สู่การปลูกปั้นแบรนด์ของตัวเอง ด้วยการทดลองเคลือบสีบนดินขาวที่นวลอยู่แล้วให้ละมุนขึ้นไปอีก จนเกิดเป็นเซรามิกที่สัมผัสได้ถึงความนวล ทั้งจาก สี สัมผัส และรูปทรง
จากแบรนด์เล็กๆ ที่เข้าไปนั่งอยู่ในใจและในบ้านของคนรักเครื่องใช้ในบ้านหลายคน


ละมุนละไมเติบโตและมีเส้นทางที่ชัดเจน จากการรับทำเซรามิกแบบ Custom-made ออกแบบคอลเลกชันเฉพาะที่มีเพียงหนึ่งเดียวให้ลูกค้าผู้มาเดินเล่นตามร้านป๊อปอัพเล็กๆ ที่ตลาด สู่การเข้าไปนั่งอยู่ในร้านอาหารชื่อดัง ไม่ว่าจะเป็นร้าน La Dotta, 80/20, Mandarin Oriental, ศรณ์, Vesper, Starbucks และอีกมากมาย ด้วยการชูจุดเด่นความเป็นเครื่องใช้เซรามิกที่ตอบโจทย์การใช้งานได้จริง แถมในปีนี้ยังมีแผนออกเดินทางไปโชว์ตัวที่โอซาก้า งาน Maison & Object ที่ปารีส ตั้งโชว์ที่ห้างสรรพสินค้าในเครือ Siam Piwat และ ICONSIAM อีกต่างหาก
ในวันที่เราก้าวเท้าเข้ามาเยี่ยมชมสตูดิโอ แทบไม่มีจานชามเหลืออยู่สักใบ เพราะเซรามิกใบเล็กใบน้อยได้แยกย้ายเดินทางไปนั่งอยู่ในบ้านใครต่อใครเรียบร้อยแล้ว จากการออกงานที่บ้านและสวนแฟร์แค่ปีละครั้ง
อะไรที่ทำให้เซรามิกในสตูดิโอเล็กๆ กล้าหาญปรับเปลี่ยนแผนธุรกิจ และออกเดินทางในเส้นทางที่เซรามิกจากสตูดิโออื่นอาจไม่เคยลองแวะไป จนได้รับความไว้วางใจจากร้านอาหารชื่อดังและได้เดินทางไกลไปถึงงานแสดงสินค้าระดับโลก
เบื้องหลังความละมุนมีอะไรมากกว่าการออกแบบสีสันสดใสและลวดลายที่อบอุ่นหัวใจ
วันนี้เรามานั่งฟังเรื่องเล่าการเดินทางของละมุนละไมในสตูดิโอเซรามิกที่แสนอบอุ่น บ้านที่ให้กำเนิดเซรามิกเหล่านี้กัน

จุดเริ่มต้นของความละมุนที่มีแค่คุณเป็นเจ้าของ
“เราเริ่มขายของกระจุกกระจิกอย่างป้ายชื่อเซรามิกรูปสัตว์ สร้อย จาน ชามชิ้นเล็กๆ ลูกค้าสั่งทำพิเศษได้ ไม่ว่าจะใส่ชื่อของตัวเอง เลือกสีและลายต่างๆ ได้ตามใจ เพราะเราทำชิ้นต่อชิ้นอยู่แล้ว” ไหมเริ่มเล่าถึงวันที่เริ่มเปลี่ยนความชอบมาเป็นธุรกิจเมื่อหลายปีก่อน
ลูกค้าหลายคนที่มาซื้อมักมีความต้องการพิเศษ เช่น อยากได้จานลายเฉพาะเป็นของขวัญให้คนรัก อยากได้แก้วรุ่นพิเศษสำหรับคนสำคัญ เมื่อละมุนละไมไม่ได้เป็นสตูดิโอที่ทำงานแบบโรงงาน ผลิตสินค้าแบบเดียวกันเป็นร้อยเป็นพันชิ้น จึงพร้อมออกแบบ ‘คอลเลกชันพิเศษ’ ด้วยความใส่ใจให้ตอบโจทย์ความต้องการของทุกคน โดยไม่ได้คำนึงว่าออร์เดอร์ที่สั่งแต่ละครั้งต้องมีปริมาณมาก

วันเวลาทำให้รูปแบบการเลือกซื้อจานชามแบบ Custom-made ได้รับความนิยมมากขึ้น ไหมและหนามสังเกตจากการได้ไปออกงานว่า จากที่ร้านอาหารนิยมมาซื้อจานแบบเดียว ครั้งละเยอะๆ จากแหล่งค้าส่งใหญ่ๆ คนที่มาเลือกซื้อจานชามเริ่มเปลี่ยนมาเป็น เจ้าของแกลเลอรี่ ผู้คัดสรรเนื้อหาในพิพิธภัณฑ์ สไตลิสต์ ที่มาเลือกซื้อสินค้าที่น่าสนใจไม่กี่ชิ้นไปจัดแสดง หากมีคนสนใจสินค้าเหล่านั้น จึงค่อยติดต่อสตูดิโอเซรามิกเพื่อสั่งผลิตพิเศษเยอะๆ ในแบบของตัวเองอีกที
เมื่อโอกาสเหมาะและพฤติกรรมการซื้อของลูกค้าตรงกับแก่นของละมุนละไมที่อยากใส่ใจคนใช้ แบรนด์จึงเริ่มขยับจากการขายแค่กลุ่มลูกค้าปลีกมาเป็นร้านอาหารมากขึ้น

กระบวนการออกแบบที่ละเมียดเพื่อจานที่ละมุน
หัวใจของการออกแบบ Custom-made ที่ทำให้ร้านอาหารหลายร้านถูกใจละมุนละไม ไม่ใช่เพียงเพราะความนุ่มนวลของเซรามิก แต่เป็นการออกแบบที่ตอบโจทย์การใช้งานได้จริง เมื่อได้โจทย์จากร้านอาหารมา ไหมและหนามจะเริ่มคิดงานด้วยกระบวนการออกแบบเพื่อแก้ปัญหา หรือ Design Thinking ที่ตั้งคำถามและขุดลึกถึงความต้องการที่แท้จริงของผู้ใช้ ทั้งหาข้อมูลอาหารจากอินเทอร์เน็ต ลองชิมอาหารด้วยตัวเอง พูดคุยกับเชฟเพื่อถอดรหัสว่าแก่นของร้านคืออะไร
“ตอนแรกเริ่มเราไม่มีความรู้ด้านอาหารเลย ลูกค้าเป็นคนสอนเราว่าอาหารแบบนี้ กินประมาณนี้ ลูกค้ารู้ลึกในเรื่องอาหารดีที่สุด เราเรียนรู้จากลูกค้าอีกที” หนามเล่า


เซรามิกของละมุนละไมจึงสะท้อนความหวานละมุนแบบเข้าอกเข้าใจ ไม่ใช่ความละมุนฉาบหน้าที่ ‘สวยแต่รูป จูบไม่หอม’ ภาชนะทุกใบถูกออกแบบมาอย่างละเมียดให้จับคู่กับอาหารแล้วอยู่ด้วยกันอย่างกลมกล่อม พร้อมเล่าเรื่องอาหารในจานและสะท้อนตัวตนของร้านออกมา มากกว่ายกให้จานชามเด่นเหนืออาหาร
ไม่ว่าจะเป็น ชามพาสต้าของร้าน La Dotta ที่ออกแบบมาให้เส้นพาสต้าที่เป็นพระเอกอยู่ตรงกลาง
ลักษณะจานมีปีกแต่ไม่แผ่กว้างเกินไป ทรงบานออกให้ใส่อาหารอย่างอื่นได้ และสูงพอที่เชฟโอบถือขึ้นมาได้ แต่ไม่สูงเกินไป เพราะเวลาลูกค้านั่งที่โต๊ะจะได้อยู่ในระดับพอดี
หรือภาชนะ 10 ใบสำหรับร้านอาหาร Fine Dining อย่าง 80/20 ที่ออกแบบมาให้แต่ละใบไม่เหมือนกันเลย เหมาะสำหรับเอกลักษณ์ของอาหารที่แตกต่างกันในหนึ่งคอร์ส

“เราไม่ได้คิดว่าต้องออกแบบแค่จานหรือชาม แต่ตั้งโจทย์ไว้ว่าเราจะออกแบบภาชนะ”
สิ่งที่ละมุนละไมออกแบบให้ร้านอาหารจึงมีนิยามกว้างว่าเป็น Tableware หรือชุดเครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร ซึ่งหมายถึงทุกอย่างบนโต๊ะ ตั้งแต่แจกัน เหยือก จานเสิร์ฟ ชาม แก้ว ที่ใส่ช้อนส้อม ที่วางตะเกียบ ช้อนซุป
ในบางครั้งหากเจาะลึกความต้องการของลูกค้าจะพบว่าไม่จำเป็นต้องออกแบบทรงภาชนะใหม่ แค่มีลวดลายไม่เหมือนใคร เล่าเรื่องราวของร้านและตอบโจทย์การใช้งานได้ก็พอ ละมุนละไมจะออกแบบเพียงแค่ลวดลายสำหรับนำไปเพ้นต์บนเซรามิกต่อไปเท่านั้น
เซรามิกที่ไม่มีหน้าร้านและโชว์รูมของตัวเอง
ไม่ใช่แค่ต้องตอบโจทย์ความต้องการของเชฟเท่านั้น แต่ภาชนะที่ออกแบบมาจะต้องถูกใจฝ่ายการตลาด และเจ้าของร้าน รวมทั้งมีความกลมกลืนกับแบรนด์และการตกแต่งภายในร้านด้วย
เมื่อมีเทรนด์ Cafe Hopping ที่คนนิยมถ่ายรูปอาหารลงโซเชียล ทำให้ร้านอาหารอยากเตรียมมุมถ่ายรูปให้คนเก็บภาพประทับใจ


ไหมและหนามจึงศึกษาไปถึงขนาดโต๊ะ ว่าจะออกแบบอย่างไรให้จัดวางภาชนะได้พอดี ไม่เบียดเกินไป ถ่ายรูปแล้วสวย และยังต้องคงความละมุนละไมในแบบของแบรนด์ หากชามเป็นสีน้ำเงินที่ให้ความรู้สึกแน่นหนัก จะมีการเล่นดีเทลใช้ลายเส้นและเล่นสี ด้วยการใช้สีเหลืองทับน้ำเงิน สีน้ำเงินทับเขียวให้เกิดความนุ่มนวลขึ้นมา
การคิดแบบองค์รวมที่ตอบโจทย์ทั้งการใช้งานและความสวยงาม ผสมผสานกลายเป็นเซรามิกที่มีความละมุนแบบพอดี แม้ไม่มีโชว์รูมจัดแสดงสินค้า แต่เมื่อลูกค้าได้ลองทานอาหารที่ร้านมักจะถูกใจในความละมุนของภาชนะไปด้วย จนเกิดการบอกต่อปากต่อปาก ทำให้แบรนด์ได้ลูกค้าเพิ่มจากคนที่ได้ลองใช้จริง

“ร้านอาหารและห้างเป็นเหมือนโชว์รูมของเรา เราไม่มีหน้าร้าน แต่อาศัยให้คนได้ประสบการณ์จริงจากการใช้ เวลาออกงานที่ไหน เราจะมีการจัดวางให้เห็นภาพว่าเอาไปใช้ได้ยังไง” ไหมเล่า
กล่าวได้ว่าละมุนละไมเป็นสตูดิโอที่ไม่ได้ออกแบบแค่เซรามิก แต่ออกแบบไปถึงประสบการณ์การใช้ แม้ร้านอาหารจะเลือกซื้อจานชามจากร้านค้าส่งที่มีขายทั่วไปได้
แต่ความรู้สึกพิเศษของมื้ออาหารที่ออกแบบอย่างพิถีพิถันทั้งอาหารและภาชนะ เป็นประสบการณ์บนโต๊ะที่เลือกซื้อตามร้านจานชามทั่วไปไม่ได้ง่ายๆ ทำให้ร้านอาหารชื่อดังอยากส่งมอบความพิเศษที่ไม่ซ้ำใครให้ลูกค้าที่มาทาน และความพิเศษไม่ได้มีได้แค่ในโอกาสเปิดร้านใหม่เท่านั้น แต่นำเสนอได้ทุกครั้งที่อยากเปลี่ยนเมนูใหม่ หรือเล่าเรื่องอาหารในประเด็นใหม่ๆ ให้ลูกค้าฟัง

สตูดิโอที่พร้อมเปิดประตูสู่โลกกว้าง
โลกการทำเซรามิกของละมุนละไมไม่ได้หยุดอยู่แค่ร้านอาหารและสตูดิโอดาดฟ้าย่านศาลาแดง แต่ความกระตือรือร้นที่อยากเรียนรู้ตลอดเวลา ทำให้ไหมและหนามเลือกที่จะปิดสตูดิโอชั่วคราวในบางครั้ง เพื่อออกเดินทางหาแรงบันดาลใจมาคิดค้นคอลเลกชันเซรามิกใหม่ๆ
ในปี 2016 ทั้งสองได้ไปเยี่ยมอาริตะ เมืองที่เป็นจุดเริ่มต้นของการใช้ดินขาว Porcelain มาทำเซรามิก เมื่อพบว่าอาริตะเป็นแหล่งโรงงานที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่นในการส่งออกดินขาวไปทั่วทั้งประเทศ แต่ยังรักษาจุดเด่นความเป็น Arita Ware ได้เป็นอย่างดี ละมุนละไมจึงประยุกต์เอาเทคนิคมาใช้กับแบรนด์ นั่นคือการผลิตแบบหัตถอุตสาหกรรม ไม่จำเป็นต้องทำมือทั้งหมด แต่ยังคงเอกลักษณ์ของแบรนด์ไว้ได้


และเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ทั้งคู่ตัดสินใจไปลองเรียนรู้งานคราฟต์แบบอเมริกันที่ Haystack Mountain School of Crafts โรงเรียนออกแบบที่เก่าแก่เกือบที่สุดของสหรัฐ เป็นสตูดิโออยู่บนเกาะล้อมรอบด้วยป่าสน ซึ่งเปิดรับนักเรียนและศิลปินจากทั่วโลกปีละ 1 ครั้ง ที่นั่นทำให้หนามและไหมค้นพบการต่อยอดและเรียนรู้เทคนิคการทำเซรามิกแบบ Pinching หรือการทำชิ้นงานเซรามิกขนาดใหญ่ที่ไม่ใช้เครื่องมือใดๆ นอกจากมือ
ทุกวันนี้สินค้าของละมุนละไมจึงใช้เทคนิคการทำหลากหลาย มีทั้งคอลเลกชันที่ทำด้วยมือล้วนและขึ้นแบบด้วยมือก่อน จากนั้นค่อยส่งให้โรงงานผลิตเป็นจำนวนมาก แต่ทุกคอลเลกชันล้วนเป็นเซรามิกที่ทำจากแรงบันดาลใจ ตั้งแต่คอลเลกชันแรกๆ ที่เก็บดวงดาวมาไว้ในจานด้วยการทำสีเคลือบให้เหมือนอวกาศ ไปจนถึงคอลเลกชันที่เพิ่งขายไปอย่าง Summer Moon ที่เก็บความสดใสของฤดูร้อนมาเบ่งบานในภาชนะ

และการออกเดินทางในปีนี้ก็ทำให้ละมุนละไมได้ไอเดียในการออกแบบเครื่องแขวนตกแต่งผนังห้อง คอลเลกชันล่าสุดในธีม Celebrate Human Touch ที่เน้นเทคนิคการทำเซรามิกแบบใช้มือล้วนๆ ตามที่ได้ลับคมวิชามา เพื่อสื่อสารความสัมพันธ์ระหว่างคนกับดิน
นอกจากเครื่องแขวนตกแต่งผนังแล้ว ไหมและหนามยังต่อยอดสินค้าและทดลองโครงการใหม่ๆ อีกหลายอย่าง
ไม่ว่าจะเป็นโคมไฟเซรามิก แท่นตั้งโชว์เครื่องประดับที่เน้นการขับวัสดุเซรามิกและเครื่องประดับให้ส่งเสริมกันและกัน การเล่นลวดลายใหม่ๆ บนเซรามิกด้วยการใช้ผ้าไทลื้อจากภาคเหนือ กระทั่งการจัด Solo Exhibition และเวิร์กช็อปสำหรับมือใหม่ที่สนใจการทำเซรามิกเป็นงานอดิเรก ให้มาฝึกทำในบรรยากาศสบายๆ
การเดินทางของแบรนด์ที่ไม่หยุดนิ่ง
ด้วยความไม่ยึดติดที่ปลายทางว่าสินค้าต้องเป็นชุดเครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร แต่ยึดจากวัสดุที่มีคือ เซรามิก เมื่อเล็งเห็นว่ายังมีของใช้ในบ้านอื่นๆ อีกมากมายที่ทำให้บ้านอบอุ่นได้ ละมุนละไมจึงกล้าขยับจากการทำของชิ้นเล็กๆ มาทำของชิ้นใหญ่
“เราเป็นสตูดิโอออกแบบเซรามิกที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ ลูกค้าบอกความต้องการมา เราเสนอให้ได้” ไหมกล่าวสรุป
เพราะยึดหลักว่า ไม่ว่าไปออกงานที่ไหนจะทำคอลเลกชันใหม่ให้แตกต่างออกไปเหมือนไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน แต่ทุกครั้งที่เห็นยังรู้สึกถึงความละมุน ประกอบกับการเป็นเซรามิกที่มีความอ่อนหวานแต่ไม่อ่อนแอ เข้าไมโครเวฟได้ ใช้งานได้จริง ทำให้ลูกค้าทั้งหน้าเก่าและใหม่พร้อมตกหลุมรักซ้ำๆ

ท่ามกลางแบรนด์เซรามิกบางส่วนที่ล้มหายตายจากไป เพราะเป็นได้แค่รักแรกพบที่สื่อสารคุณค่านอกเหนือจากความสวยงามไม่ได้ ละมุนละไมพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ความรักอย่างเดียวกินไม่ได้
ลำพังความรักในการเป็นศิลปินที่ทำเซรามิกออกมาได้สวยงาม คงทำให้คนที่พบเห็นประทับใจเพียงพบผ่านเท่านั้น แต่ทั้งคู่เป็นศิลปินที่มีศิลปะการขายในโลกธุรกิจ พาตัวเองไปเจอกลุ่มเป้าหมายที่ใช่ ใส่ใจความต้องการของลูกค้าและประสบการณ์ในการใช้อยู่เสมอ ทำให้พัฒนาความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งกับลูกค้ามาได้นานถึง 7 ปี
หนามกล่าวว่า “มีคนทักเราเยอะว่าคนทำเซรามิกดูเป็นศิลปิน แต่เราไม่ค่อยมองตัวเองว่าทำงานศิลปะ เราคำนึงถึงคนใช้เยอะมาก ถ้ามีคนใช้ เรารู้สึกว่าสิ่งที่ทำมามีความหมาย เซรามิกเป็นสิ่งที่ไม่ย่อยสลาย เมื่อเผา เคลือบสีออกมาแล้ว ก็คงอยู่ไปจนกาลอวสาน รีไซเคิลลำบาก เราเลยอยากให้คนใช้งานได้จริง”
ความสำเร็จของละมุนละไมสะท้อนให้เห็นว่า ความรักที่ดีย่อมมีการเปลี่ยนแปลงและเติบโตตามวันเวลา แม้จะมีวันที่รู้สึกเหนื่อย เบื่อ ท้อ และตั้งคำถามระหว่างออกเดินทางไกลอยู่บ้าง แต่เพราะไม่เคยหยุดหาคำตอบ ทำความเข้าใจ และมองหาโอกาสใหม่ๆ แม้จะเดินทางไกลมามากแล้ว เซรามิกในสตูดิโอจึงยังมีเรื่องราวการเดินทางไกลบทต่อไปรอให้ติดตามชมอยู่เรื่อยๆ
ไม่รู้ว่าคำว่า ‘ละมุน’ ในความหมายของแต่ละคนมีนิยามว่าอย่างไร
แต่ความละมุนที่สัมผัสได้จากเซรามิกในแบบของละมุนละไมในวันนี้
คงเป็นการเติมเต็มความอบอุ่นในบ้านที่คงความละมุนตราบนานเท่านานที่มีคนใช้งาน

Lesson Learned
ปรัชญาการทำงานจากสตูดิโอเซรามิก
หนามและไหมเล่าให้ฟังว่า การทำเซรามิกเหมือนความสัมพันธ์แบบ Love-Hate Relationship เราทำครึ่งหนึ่ง เตาทำต่อจากเราอีกครึ่งหนึ่ง และมีปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้เยอะ เวลาเอาเซรามิกเข้าเตาเผาเหมือนเล่นเกม Tetris ต้องมีการวางแผนว่า ด้วยเตาขนาดแค่นี้ จะจัดเรียงยังไงให้เผาของที่ขนาดไม่เท่ากัน ออกมาให้ได้พร้อมกัน ถ้าคำนวณไม่ดี เผาแล้วระเบิด บิด ร้าวก็มี คนทำเซรามิกจึงต้องฝึกจัดการจิตใจตัวเองให้พร้อมรับกับความผิดหวังให้ได้ บางวันทำมาแล้วเสีย ท้อ ร้องไห้ก็มี แต่ประสบการณ์จะสอนเราให้เก่งและแข็งแกร่งขึ้นเอง สิ่งสำคัญคือ ถ้าเราเคลือบความใส่ใจลงไปในงานทุกครั้ง ไม่มีวันที่งานที่ไม่ดีจะหลุดออกไปจากสตูดิโอของเรา