บ้านสไตล์โมเดิร์นที่เห็นตามหนังสือแมกกาซีนตกแต่งบ้านมักเป็นบ้านสีขาว รูปทรงทันสมัย มีกระจกบานใหญ่ที่มองเห็นสนามหญ้าสีเขียวหน้าบ้าน มีระเบียงใหญ่สำหรับจัดปาร์ตี้กับเพื่อนฝูง มีบันไดวนภายในบ้านตั้งแต่ชั้นใต้ดินจนถึงดาดฟ้า และมีที่จอดรถสามารถเดินทะลุมาในตัวบ้านได้เลย

บ้านแบบนี้มีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 20 จุดเริ่มต้นมาจากสถาปนิกชาวสวิส-ฝรั่งเศส เลอ กอร์บูซีเย (Le Corbusier) ที่มีชื่อจริงว่า ชาร์ล-เอดูอาร์ จาเนอเร-กรี (Charles-Édouard Jeanneret-Gris) ที่มีแนวทางออกแบบที่เน้นการใช้งานเป็นหลัก การใช้วัสดุเนื้อแท้ เช่น ผนังปูนเปลือย ผลงานความคิดที่สร้างชื่อให้แก่เลอกอร์บูซีเยคือแนวคิดสัดส่วนที่เรียกว่า ‘มอดูลอร์’ และแนวคิด 5 ประการในการออกแบบงานสถาปัตยกรรมเปรียบเสมือนคัมภีร์ของการสร้างบ้านสไตล์โมเดิร์น

La Villa Savoye คือผลงานชิ้นเอกที่เริ่มสร้างในปี 1929 แล้วเสร็จ 1931 เป็นต้นแบบบ้านหลังแรกที่สร้างแบบล้ำสมัย และเป็นแรงบันดาลใจให้สถาปนิกนำหลักการ The Five Points มาสร้างบ้านทุกวันนี้ ปัจจุบันได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจากองค์การยูเนสโกให้เป็นสถาปัตยกรรมชิ้นเอกของศตวรรษที่ 20 และอยู่ในความดูแลของรัฐบาลฝรั่งเศส

จุดเริ่มต้นของการไปเยือนบ้านอายุเกือบร้อยปีหลังนี้คือการเปิดดูหนังสือไกด์บุ๊กหน้า 024 (เล่มที่มี Allan Deas วาดภาพประกอบให้) และประทับใจกับประโยคว่า “The house is a machine for living.” ทำให้เช้าวันเสาร์เราต้องนั่งรถไฟออกไปนอกเมืองปารีสเพื่อไปดูเครื่องจักรชิ้นนี้

การเดินทางเริ่มต้นจากการนั่งรถไฟสาย RER A5 ไปลงสถานี Poissy เมืองเล็กๆ ที่อยู่บริเวณชายขอบของปารีส พอลงรถไฟแล้ว Google Maps ก็เริ่มทำงาน ลูกศรชี้ทางบอกตำแหน่งของบ้าน ซึ่งระยะทางสามารถเดินไปได้

เมื่อผ่านดงต้นไม้ทางเข้าสู่ La Villa Savoye เราพบบ้านรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าคล้ายคลึงกับบ้านพักข้าราชการต่างจังหวัด เมื่อเดินเข้าไปใกล้ก็จะเห็นเสาลอยยกพื้นสูง (Pilotis) ผนังของบ้านที่ออกแบบอย่างอิสระ (Free Facade) หน้าต่างบานใหญ่แนวนอน (Ribbon Window) ผังห้องที่ดูเหมือนจะเชื่อมกันทุกห้อง (Free Plan) และสวนบนหลังคาดาดฟ้าคอนกรีต (Roof Garden) ส่วนประกอบทั้งหมดของบ้านหลังนี้สะท้อน 5 แนวคิดหลักของสถาปัตยกรรมโมเดิร์นในแบบเลอกอร์บูซีเยได้เป็นอย่างดี

ภายในตัวบ้านประกอบไปด้วย 3 ชั้น ชั้นแรกเป็นทางเข้าที่ติดกับโรงจอดรถ มีคุณป้าเจ้าหน้าที่คอยแนะนำอยู่ด้านหน้า คุณป้าเล่าให้ฟังว่า บ้านหลังนี้เดิมสร้างขึ้นให้กับตระกูลซาวอยเพื่อใช้เป็นบ้านพักต่างอากาศนอกเมืองปารีส แต่ภายหลังขายให้กับรัฐบาลฝรั่งเศส อาคารรอดพ้นจากการถูกรื้อถอนหลายครั้ง รัฐบาลฝรั่งเศสประกาศให้บ้านหลังนี้เป็นอนุสรณ์สถานและได้จดทะเบียนเป็นมรดกโลกในเวลาต่อมา พอคุณป้าเล่าจบเราก็ยืนมองดูรอบๆ บ้านให้อินไปกับประวัติศาสตร์ของบ้านหลังนี้ เดินถัดไปหน่อยจะมีกระจกบานเลื่อนขนาดใหญ่ที่จะเปิดรับลมในวันแสงแดดเป็นใจ ถัดไปคือโถงกลางบ้านมีบันไดวนกับทางลาดให้เราเลือกเดินขึ้นชั้นบนตามใจชอบ

ชั้นสองเป็นพื้นที่หลักของตัวบ้าน สถาปนิกชาวสวิส-ฝรั่งเศสได้ออกแบบพื้นที่ความสัมพันธ์ไว้ในบ้านหลังนี้อย่างชาญฉลาด โซนพบปะ (Public Space)ได้แก่ ห้องครัวขนาดพอเหมาะสำหรับทำอาหารและอบขนมปัง มีเคาน์เตอร์เชื่อมต่อกับโถงรับแขกขนาดใหญ่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ มองเห็นลานระเบียงด้านนอกสำหรับปลูกต้นไม้ ออกกำลังกาย หรือสังสรรค์กับเพื่อนฝูง โดยอยู่ในที่ร่มเพราะใช้งานในตอนกลางวัน

อีกโซนคือโซนส่วนตัว (Private Space) ได้แก่ ห้องนอนใหญ่ติดกับห้องอาบน้ำ ภายในห้องมีการจัดนิทรรศการบอกเล่าเรื่องราวการสร้างบ้านหลังนี้เพื่อเป็นสถานที่พักผ่อนในชนบทสำหรับครอบครัวซาวอย ถัดมาคือห้องนอนเล็กอีก 2 ห้อง และห้องสุดท้ายสำหรับอ่านหนังสือ สิ่งที่พิเศษในชั้นสองคือสามารถมองเห็นสนามหญ้ารอบบ้านได้จากทุกห้อง ดีไซน์นี้ยิ่งทำให้บ้านหลังนี้เป็นบ้านในอุดมคติของหลายๆ คนเลยทีเดียว

ชั้นสุดท้ายเป็นหลังคาดาดฟ้า เราเดินขึ้นบันไดวนแล้วเปิดประตูมาพบสวนเล็กๆ เรียบง่าย พืชสวนครัวและดอกไม้ถูกจัดวางไว้อย่างสวยงาม สำหรับเดินเล่นสูดอากาศให้เต็มปอด การได้มาเยือนบ้านหลังนี้ทำให้รู้สึกถึงความตั้งใจของเลอกอร์บูซีเย ที่สะท้อนให้เห็นถึงบ้านพักอาศัยที่ควรสนองประโยชน์ให้ใช้สอยอย่างแท้จริง รวมถึงการสร้างความสัมพันธ์ของผู้อยู่อาศัยผ่านการจัดการพื้นที่

เรามีเวลาเดินเล่นอยู่ La Villa Savoye ได้สักพักฝนก็ตกลงมาพร้อมกับอากาศที่หนาวเย็น ทำให้ต้องจากลาบ้านในอุดมคติและเดินทางกลับเข้ามหานครปารีสพร้อมกับสายฝนที่ตกลงมาอย่างหนักหน่วง

ภาพ : มณีนุช บุญเรือง

สถาปนิก : Le Corbusier

ที่อยู่ : 82 Rue de Villiers, 78300 Poissy, France

ค่าตั๋วเข้าชม : 8 EUR

เวลา : 10.00 – 18.00 น. (ปิดวันจันทร์)

ถ้าคุณมีประสบการณ์เดินทางแปลกใหม่จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญส่งเรื่องราวของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’

ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะมีสมุดบันทึกปกหนังเทียมเล่มสวยส่งให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer

Avatar

กฤษฏิ์ ตุลวรรธนะ

ชายผู้ชื่นชอบในงานออบแบบ คลั่งไคล้งานกราฟิก ดูประวัติศาสตร์ผ่าน Netflix และตื่นเช้าปั่นจักรยานไปสอนหนังสือ

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล