เซ็นทรัล อยุธยา เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา หากใครมีโอกาสได้ผ่านไปท่องเที่ยว หรือขับรถผ่านทางถนนสายเอเชีย คงจะเห็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่แกะกล่องของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาตั้งโดดเด่นมาแต่ไกล

ด้วยระยะทางห่างจากกรุงเทพฯ ไม่ถึงอึดใจ จังหวัดพระนครศรีอยุธยาจึงเป็นหมุดหมายการเดินทางที่สะดวกง่ายดาย ทั้งคนรักประวัติศาสตร์ ก็มีโบราณสถานเรียงรายทั่วทั้งในและนอกเกาะเมืองให้เลือกชมจุใจ สำหรับสายชิมก็มีให้ลองหลากหลาย ทั้งเมนูขึ้นชื่ออย่างกุ้งเผาตัวใหญ่ หรือโรตีสายไหมให้หิ้วติดมือกลับบ้าน ส่วนชาวคาเฟ่ฮอปปิ้ง พักหลังมานี้มีร้านสวย ๆ เกิดขึ้นกันเป็นดอกเห็ด ช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวให้แวะเวียนมาอยู่เสมอ

การขยับตัวอีกครั้งของเมืองมรดกโลกแห่งนี้จึงถือว่าน่าสนใจเป็นพิเศษ และเป็นเสมือนประตูด่านแรกของนักท่องเที่ยวที่มาเยือนเมืองเก่า เป็นโครงการมิกซ์ยูสที่อนาคตอันใกล้จะมีทั้งศูนย์วัฒนธรรม พิพิธภัณฑ์ สำหรับให้ข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว และ Transportation Hub จุดรวมรถโดยสารเพื่อพานักท่องเที่ยวเดินทางเข้าสู่วัดวาอารามต่าง ๆ ภายในเกาะเมือง

นอกจากนี้ยังมีโรงแรมและคอนโดมิเนียมอยู่ในพื้นที่บริเวณเดียวกัน เพื่อเติมเต็มระบบนิเวศการท่องเที่ยวอย่างเต็มรูปแบบ ส่งเสริมให้คนใช้เวลามาเที่ยวอยุธยานานขึ้น มากกว่าแค่เป็นทริปแบบวันเดียว ไปเช้า-เย็นกลับ เพราะช่วงกลางคืนเอง อยุธยาก็มีเสน่ห์ที่ต่างออกไป อย่างแสงสีที่ส่องสาดไปตามโบราณสถานในอุทยานประวัติศาสตร์ ถือเป็นอีกหนึ่งมุมที่ต่างไปจากตอนเช้า เมื่อนักท่องเที่ยวใช้เวลาเยอะขึ้น ผลพลอยได้ยังจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและกระจายรายได้ให้กับชาวบ้าน

โดยเป็นความตั้งใจของ ‘เซ็นทรัลพัฒนา’ ในฐานะผู้พัฒนาโครงการเซ็นทรัล อยุธยา ที่ต้องการให้โครงการนี้เปรียบเสมือนสปอตไลต์ส่องให้อยุธยาเรืองรองในระดับโลก พร้อมทั้งวางบทบาทให้เป็นมากกว่าแค่สถานที่มาช้อปปิ้ง แต่เป็น ‘Center of Life – ศูนย์กลางการใช้ชีวิต’ ของคนในชุมชน พร้อมทั้งเปิดพื้นที่สร้างอาชีพให้คนในท้องถิ่นและกระจายรายได้ให้กับชาวบ้านในพื้นที่ รวมถึงพัฒนาเศรษฐกิจของจังหวัดให้เจริญ โดยเป็นส่วนช่วยเติมเต็มด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

ที่ที่อดีตคืออนาคต…ที่ที่เริ่มต้นจากคำว่า ‘จินตนาการ’

นอกจากนี้อัตลักษณ์ของ ‘อยุธยา’ ยังสะท้อนอยู่บนโลโก้ Central Ayutthaya ที่มีลูกเล่นบนอักษร A ที่เปิดพื้นที่จินตนาการให้นึกถึงยอดเจดีย์และสถาปัตยกรรมในจังหวัดพระนครศรีอยุธยานั่นเอง

โดยสอดคล้องกับ Brand Identity ใหม่ของศูนย์การค้าเซ็นทรัลคือ ‘เซ็นทรัล + โลเคชั่น’ สื่อถึงการเป็น Center of Life ศูนย์กลางแห่งการใช้ชีวิตของผู้คนและชุมชน รวมไปถึงการสะท้อนอัตลักษณ์อันโดดเด่นของจังหวัดหรือที่ที่เซ็นทรัลตั้งอยู่ 

ทั้งหมดนี้เป็นความตั้งใจจริงของทางเซ็นทรัลพัฒนา ด้วยบทบาทของ Place Maker นักพัฒนาพื้นที่ที่ต้องการสร้างคุณภาพชีวิตและอนาคตที่ดีให้กับทุกที่ที่เข้าไปพัฒนา ด้วยวิสัยทัศน์ ‘Imagining better futures for all มุ่งมั่นสร้างสรรค์สิ่งที่ดีที่สุด เพื่ออนาคตที่ยั่งยืนสำหรับทุกคน’

การออกแบบที่ถ่ายทอดเอกลักษณ์ของกรุงเก่า

คนอยุธยาภูมิใจที่บ้านเมืองของตนได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก

เซ็นทรัลจึงนำเอาแรงบันดาลใจจากเมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นทั้งเมืองหลวงเก่าและเป็นเมืองมรดกโลก คล้ายกันกับจังหวัดพระนครศรีอยุธยามาใช้เป็นโมเดล คือมีทั้งโซนเมืองเก่าและโซนเมืองใหม่อยู่ร่วมกัน

เป็นการบ้านของทางเซ็นทรัลและทีมดีไซเนอร์ที่ร่วมกันทำงาน ก่อนผลลัพธ์จะออกมาเป็นคอนเซ็ปต์ ‘Thai Twist’ ที่นำเอาความเป็นไทยมาเล่าในรูปแบบร่วมสมัย สื่อถึงความรุ่งเรืองของกรุงศรีอยุธยาครั้งอดีต และแสดงความเป็นท้องถิ่นผสานกับความโมเดิร์น ถ่ายทอดผ่านการออกแบบตกแต่งทั้งภายในและภายนอกของศูนย์การค้า

ทีมสถาปนิกและนักออกแบบจาก Onion ที่ฝากผลงานไว้ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา อย่างโรงแรมศาลา อยุธยา และ บ้านป้อมเพชร รับหน้าที่สร้างสรรค์ ‘ฟาซาด’ หรือเปลือกอาคารที่คอยห่อหุ้มโครงสร้างของอาคาร ซึ่งถือเป็นฉากแรกด้านหน้าที่คอยต้อนรับยามได้มาเยือนศูนย์การค้าแห่งนี้

ภาพจำของอยุธยาในสายตาของใครหลายคน คือโบราณสถานที่ก่อร่างสร้างขึ้นจากอิฐสีแดงส้ม ปูนฉาบสีขาวที่พอหลงเหลือตามอาคารเก่าแก่ และสีทองที่ปรากฏอยู่ตามองค์ประกอบสถาปัตยกรรมในวัด-วัง ดีไซเนอร์หยิบเอาทั้ง 3 สีนี้มาเป็นโทนหลัก และด้วยความที่มีพื้นที่ติดกับถนน 2 สาย ด้านหน้าติดกับถนนสายเอเชีย เส้นทางหลวงสายหลักไปสู่ภาคเหนือของประเทศ ส่วนด้านข้างเป็นถนนอโยธยา เป็นเส้นทางสัญจรเพื่อเข้าไปสู่เกาะเมืองด้านใน จึงออกแบบให้ฟาซาดทั้ง 2 ฝั่งถนนแตกต่างกัน โดยแต่ละฝั่งต่างก็ให้ความรู้สึกอิงแอบเข้ากับกับบริบทของพื้นที่ที่ไม่เหมือนกัน

ฟากถนนสายเอเชีย ทำเป็นฟาซาดสีขาวและสีทองดูทันสมัยสะดุดตาเมื่อมองจากระยะไกล ให้ความรู้สึกดูยิ่งใหญ่และเรียบหรู แต่เมื่อเข้าไปใกล้ ๆ จะพบว่าแผ่นปิดหน้าทั้งสีทองและสีขาวนั้น เกิดจากการร้อยเรียงกันของรูปทรงสามเหลี่ยมหยักไปมาขนาดแตกต่างกันที่ออกแบบมาโดยเฉพาะ ได้แรงบันดาลใจมาจาก ‘จอมแห’ กรอบการออกแบบเจดีย์หรือเครื่องยอดอาคารในงานช่างไทย และการ ‘ย่อมุมไม้สิบสอง’ รูปแบบของส่วนฐานเจดีย์ที่นิยมในสมัยอยุธยาตอนปลาย เป็นการซ่อนรายละเอียดของงานสถาปัตยกรรมไทยโบราณมาผสานในรูปแบบที่ทันสมัยได้อย่างลงตัว

เบื้องหลังการดีไซน์ Central Ayutthaya ที่ทำให้ทุกส่วนในห้างสรรพสินค้าเล่าเรื่องท้องถิ่น

อีกฝั่งหนึ่งเป็นฟาซาดที่ใช้อิฐเป็นวัสดุหลัก มีรูปทรงโค้งโอบรับให้ความรู้สึกอบอุ่นเป็นกันเอง โดยสร้างความพิเศษยิ่งขึ้น ด้วยการออกแบบให้เป็นอิฐรูปครึ่งวงกลม สั่งเผาพิเศษจากโรงอิฐท้องถิ่นที่ยังใช้กรรมวิธีการผลิตอิฐแบบโบราณชนิดเดียวกันกับที่ใช้ก่อเจดีย์ อิฐจำนวนมหาศาลก่อเรียงสับหว่างต่อกันขึ้นไปคล้ายกำแพงขนาดใหญ่ เมื่อมองภาพกว้างจะให้ภาพคล้ายพื้นผิวภายนอกของเครื่องจักสาน งานหัตถกรรมที่ขึ้นชื่อของชาวอำเภอบางปะหัน ที่มักทำกันช่วงหมดหน้านา

เบื้องหลังการดีไซน์ Central Ayutthaya ที่ทำให้ทุกส่วนในห้างสรรพสินค้าเล่าเรื่องท้องถิ่น

ยังไม่ทันเดินเข้าด้านใน ก็เต็มไปด้วยรายละเอียดและการออกแบบที่สอดแทรกความเป็นเมืองเก่าอย่างครบครัน

บอกเล่าเรื่องราวผ่านงานดีไซน์

เซ็นทรัล อยุธยา เป็นสถานที่เดินเที่ยวสนุกและคงจะถูกใจชาว Instagram อยู่ไม่น้อย เพราะในทุกชั้น มีประติมากรรมและงานประดับตกแต่งที่แฝงความเป็นไทยอยู่แทบทุกส่วน เดินไปก็เพลินเหมือนกำลังชมเรื่องราวของชาวอยุธยาไปตลอดทาง แถมยังเก็บภาพกลับบ้านได้แบบไม่ซ้ำมุม

เริ่มตั้งแต่ก้าวเข้ามาด้านในบริเวณโถงด้านหน้า จะเจอกับประติมากรรมพานพุ่มสีทองขนาดใหญ่คอยตั้งต้อนรับ เป็นงานประณีตศิลป์โบราณที่ดีไซน์ออกมาแบบร่วมสมัย สื่อถึงสิ่งสักการะบูชาในพุทธศาสนา 

เบื้องหลังการดีไซน์ Central Ayutthaya ที่ทำให้ทุกส่วนในห้างสรรพสินค้าเล่าเรื่องท้องถิ่น

เข้ามาอีกนิดเป็นประติมากรรมคู่ที่ตั้งอยู่ไม่ไกลกัน โดยหยิบเอาส่วนหนึ่งของคำขวัญประจำจังหวัดมาใช้ตั้งชื่องานอย่าง ‘อู่ข้าว-อู่น้ำ’ สำหรับอู่ข้าว นำเสนอภาพความอุดมสมบูรณ์ที่สืบเนื่องมาตั้งแต่ในอดีต เป็นรูปควาย กองฟาง และเกวียน โดยใช้วิธีการสานขึ้นเป็นรูป ส่วนอู่น้ำ บอกเล่าถึงวิถีชีวิตริมแม่น้ำของชาวอยุธยา ผ่านสุ่มดักปลาขนาดใหญ่ที่ใช้ทำประมงพื้นบ้าน เรือ และปลาตะเพียนสาน อีกสัญลักษณ์หนึ่งของอยุธยา ชิ้นงานทั้งสองนี้ นอกจากเป็นจุดถ่ายภาพแล้ว ยังเป็นจุดนั่งพักคอยด้วย

เบื้องหลังการดีไซน์ Central Ayutthaya ที่ทำให้ทุกส่วนในห้างสรรพสินค้าเล่าเรื่องท้องถิ่น
เบื้องหลังการดีไซน์ Central Ayutthaya ที่ทำให้ทุกส่วนในห้างสรรพสินค้าเล่าเรื่องท้องถิ่น

ขึ้นมาชั้นบนสุดบริเวณโซนฟู้ดคอร์ต ออกแบบที่นั่งกินอาหารเป็นรูปถ้วยชามเบญจรงค์สีสันสดใส เขียนลวดลายเป็นเอกลักษณ์ครั้งกรุงเก่า ส่วนร้านอาหารต่าง ๆ ก็ตกแต่งโดยได้แรงบันดาลใจมาจากตู้กับข้าวของบ้านไทยสมัยก่อน เดินต่อไปอีกหน่อย เป็นโซน Co-working Space สำหรับเป็นพื้นที่อ่านหนังสือหรือนั่งทำงาน ประติมากรรมตรงนี้ทำเป็นเครื่องถ้วยลายครามสีฟ้า-ขาว เขียนลายอย่างจีนวางซ้อนกันไปมา สะท้อนให้เห็นถึงสถานะเมืองท่าค้าขายอันรุ่งเรืองในอดีตของกรุงศรีอยุธยาที่มีการติดต่อค้าขายกับอาณาจักรจีน

เบื้องหลังการดีไซน์ Central Ayutthaya ที่ทำให้ทุกส่วนในห้างสรรพสินค้าเล่าเรื่องท้องถิ่น
เบื้องหลังการดีไซน์ Central Ayutthaya ที่ทำให้ทุกส่วนในห้างสรรพสินค้าเล่าเรื่องท้องถิ่น

นอกจากนี้ ด้านนอกยังมีกิมมิกเก๋ ๆ เชื้อเชิญให้นักท่องเที่ยวออกตามหาฝาท่อ ซึ่งทำเป็นลายสัญลักษณ์ที่มีความหมายเกี่ยวข้องกับอยุธยาทั้ง 7 แบบกระจายอยู่รอบศูนย์การค้าให้เจอ จะเป็นลวดลายอะไรบ้าง ลองไปเดินเล่นตามหากันดูได้ตามอัธยาศัย

ห้างสรรพสินค้าใหม่ในเมืองเก่า กับงานออกแบบร่วมสมัยที่บอกเล่าเรื่องราวท้องถิ่น และความตั้งใจเป็นประตูบานแรกสู่อยุธยา
ห้างสรรพสินค้าใหม่ในเมืองเก่า กับงานออกแบบร่วมสมัยที่บอกเล่าเรื่องราวท้องถิ่น และความตั้งใจเป็นประตูบานแรกสู่อยุธยา

ศูนย์การค้าที่โยงใยทุกส่วนเข้ากับท้องถิ่น

หากเดินเล่นถ่ายรูปจนจุใจ อยากหาของฝากติดไม้ติดมือกลับไปบ้าน มีโซน ‘ตลาดเพลินนคร’ เป็นตลาดที่ระลึกและของฝากของดีในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตั้งแต่ขนมไทยพื้นบ้านหากินยาก กุ้งเผายอดฮิตก็มีขาย ไปจนถึงโรตีสายไหมเจ้าดัง ทางเซ็นทรัลได้ชวนผู้ประกอบการในจังหวัดมารวมไว้อยู่ภายในศูนย์การค้าแห่งนี้ ซึ่งไม่เพียงช่วยสร้างโอกาสค้าขายให้กับคนในท้องถิ่น สำหรับนักท่องเที่ยวมาแล้วก็ได้ช้อปครบจบภายในที่เดียว

ห้างสรรพสินค้าใหม่ในเมืองเก่า กับงานออกแบบร่วมสมัยที่บอกเล่าเรื่องราวท้องถิ่น และความตั้งใจเป็นประตูบานแรกสู่อยุธยา

ที่กลางตลาดเพลินนคร สร้างเป็นเรือนไทยใต้ถุนสูงขนาดใหญ่ ขึ้นไปถ่ายภาพด้านบนได้ หรือจะนั่งพักทอดสายตาลงมายังตลาดด้านล่าง ก็มีการจัดโต๊ะตามมุมต่าง ๆ ของบ้านไว้ ถือเป็นอีกหนึ่งจุดเช็กอินไฮไลต์ที่ห้ามพลาด

ห้างสรรพสินค้าใหม่ในเมืองเก่า กับงานออกแบบร่วมสมัยที่บอกเล่าเรื่องราวท้องถิ่น และความตั้งใจเป็นประตูบานแรกสู่อยุธยา

ออกมาด้านนอกมี ‘ลานพระนคร’ อยู่ด้านหน้าฟาซาดอิฐ ทำหน้าที่เป็นลานกิจกรรมสาธารณะที่ปรับเปลี่ยนการใช้งานได้ตลอด ทั้งเป็นจุดพบปะนั่งพักผ่อน หรือเป็นตลาดหมุนเวียนสับเปลี่ยนร้านค้าไปตามแต่ละเทศกาล เป็นทั้งตลาดเช้าหรือไนต์มาร์เก็ตก็ได้ แถมยังยินดีให้เยาวชนในจังหวัดมาเปิดท้ายขายสินค้าแฮนด์เมด หรือหน่วยราชการหรือองค์กรในจังหวัดยังสามารถยืมใช้พื้นที่จัดกิจกรรมได้

ห้างสรรพสินค้าใหม่ในเมืองเก่า กับงานออกแบบร่วมสมัยที่บอกเล่าเรื่องราวท้องถิ่น และความตั้งใจเป็นประตูบานแรกสู่อยุธยา

หากมาแวะเลือกซื้อหาสินค้าที่ลานพระนคร ยังมีจุดสำหรับถ่ายภาพเอาไว้เช็กอินเก๋ ๆ ลงโซเชียลว่ามาถึงอยุธยาแล้ว อย่างสะพานข้ามบ่อบัวด้านข้างลาน และมาลัยดอกไม้ชนิดต่าง ๆ ที่ถักร้อยอักษรเป็นคำว่า ‘อยุธยา’ ในรูปแบบสามมิติตั้งอยู่ด้านหน้าด้วย

ห้างสรรพสินค้าใหม่ในเมืองเก่า กับงานออกแบบร่วมสมัยที่บอกเล่าเรื่องราวท้องถิ่น และความตั้งใจเป็นประตูบานแรกสู่อยุธยา

ทั้งหมดนี้เป็นความตั้งใจจริงของทางเซ็นทรัล ที่อยากเปิดพื้นที่สร้างอาชีพให้คนในท้องถิ่น และกระจายรายได้ให้ชาวบ้านในพื้นที่ รวมถึงพัฒนาเศรษฐกิจของจังหวัดให้เจริญ โดยอาศัยเป็นส่วนช่วยเติมเต็มด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

เรียกได้ว่าเบื้องหลังของศูนย์การค้าแห่งนี้ คือแนวคิดโยงใยกับท้องถิ่นที่แทรกไว้แทบทุกส่วนเลยทีเดียว

Writer

Avatar

พณิช ตั้งวิชิตฤกษ์

นักลองฝึกพิสูจน์อักษร ผู้แสร้งเป็นนักลองฝึกเขียน อดีตเป็นนักเรียนภาษา ผู้สนใจเป็นนักเรียนประวัติศาสตร์ศิลป์ รักในมวลรอบข้างที่ดี กาแฟ ชาเขียว และแมวเหมียว

Photographer

Avatar

เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

ปัจจุบันกำลังหัดนอนก่อนเที่ยงคืน