22 สิงหาคม 2024
40 K

“เกิดมา… กูยังไม่เคยเจอใครที่น่าสงสารเท่ากูมาก่อนเลย” หลังจากดู วิมานหนาม (The Paradise of Thorns) จบ ประโยคที่โหม๋พูดยังวนเวียนอยู่ในหัวเราไม่หาย จนอดคิดไม่ได้ว่าอะไรที่อยู่เบื้องหลังความเค้นแค้นของโหม๋ จนเธอสงสารใครไม่ได้อีกนอกจากตัวเอง ในบทความนี้เราเลยจะอยากพาไปหาคำตอบพร้อมกัน


วิมานหนาม (The Paradise of Thorns)
ประเภท : ดราม่า / ระทึกขวัญ
ประเทศ : ไทย
กำกับ : นฤเบศ กูโน
นักแสดงนำ : เจฟ ซาเตอร์, อิงฟ้า วราหะ, สีดา พัวพิมล, หฤษฎ์ บัวย้อย, พงศกร เมตตาริกานนท์
ความยาว : 2 ชั่วโมง 5 นาที

นี่คือภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของ GDH โดย บอส-นฤเบศ กูโน ที่ก่อนหน้าได้ฝากผลงาน แปลรักฉันด้วยใจเธอ Part 1 (พ.ศ. 2563), Side by Side พี่น้องลูกขนไก่ (พ.ศ. 2560) และในฐานะผู้เขียนบทซีรีส์พร้อมด้วยภาพยนตร์อีกมากมาย ครั้งนี้เขากลับมาในบทบาทผู้กำกับและเขียนบท ซึ่งได้แรงบันดาลใจจาก ‘ความไม่เท่าเทียม’ มาเป็นตัวดำเนินเรื่อง

เรื่องเล่าถึงคู่รักเกย์ที่ตรากตรำสร้างบ้านและสวนทุเรียนด้วยกัน ทองคำ (รับบทโดย เจฟ ซาเตอร์) ได้ลงเงินและย้ายถิ่นฐานมาอยู่แม่ฮ่องสอนกับ เสก (เต้ย-พงศกร เมตตาริกานนท์) ผู้ลงแรงทั้งหมดเพื่อให้ชีวิตของทั้งสองมั่นคง ทว่าหลังการสมรสปากเปล่า โดยมีดอกทุเรียนและโฉนดที่ดินเป็นพยานรักได้ไม่นาน โศกนาฏกรรมก็เกิดขึ้น เสกเสียชีวิตกะทันหัน ความจริงที่ว่าประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายรองรับการสมรสในเพศเดียวกันจึงเป็นดั่งหนามดอกแรกที่ทิ่มแทงให้ทองคำรู้ว่า ตนไม่มีสิทธิ์ในทรัพย์สินที่เขาและเสกร่วมก่อร่างสร้างกันมา 

กรรมสิทธิ์บ้านและสวนทุเรียนจึงตกเป็นของ แม่แสง (รับบทโดย สีดา พัวพิมล) ผู้ให้กำเนิดเสกตามกฎหมาย ซึ่งย้ายเข้ามาอยู่พร้อมกับเด็กที่เก็บมาเลี้ยงอย่าง โหม๋ (รับบทโดย อิงฟ้า วราหะ) และ จิ่งนะ (รับบทโดย เก่ง-หฤษฎ์ บัวย้อย) น้องชายของโหม๋ผู้รับจ้างอิสระ ซึ่งแม่แสงหวังให้มาปอกลอกความรู้ในการทำสวนจากทองคำ จนอยู่กันเองได้โดยไม่ต้องพึ่งพาเจ้าของเดิม 

เรื่องราวใน วิมานหนาม จึงไม่ใช่แค่การทวงสิทธิในการครอบครองสวนทุเรียนคืนของทองคำ แต่รวมถึงการแก่งแย่งกันระหว่างแม่แสงผู้ปากกัดตีนถีบ เลี้ยงดูเสกมาตั้งแต่เล็ก และโหม๋ที่คิดว่าตนเองต้องได้สิ่งตอบแทนจากการอยู่ดูแลแม่ของเสกซึ่งเดินไม่ได้กว่า 20 ปีเช่นกัน

จำเลยของความไม่เท่าเทียม

ช่วงแรกของหนังนำทางเราให้ต้องเอาใจช่วยทองคำมาก ด้วยโจทย์ใหญ่ของเรื่องคือสมรสเท่าเทียม ประกอบกับบริบททางสังคมที่อธิบายออกมาอย่างเข้าใจง่าย ทำให้คนดูรู้สึกเห็นใจทองคำได้โดยไม่ต้องดึงประสบการณ์ร่วมใด ๆ มาใช้

วิธีแรกในการทวงคืนที่ดินของทองคำเป็นอะไรที่ตรงไปตรงมา อย่างการขอคืนจากแม่แสงดี ๆ แต่สถานการณ์เลยเถิดจนทะเลาะกัน เขาถูกแม่สามีก่นด่าว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นผลจากบาปกรรม ชาติที่แล้วทองคำต้องไปผิดลูกผิดเมียคนอื่น ชาตินี้เลยต้องเกิดเป็นเกย์ และหากเป็นผู้หญิง ทุกอย่างอาจจะง่ายกว่านี้มาก เพราะคงแต่งงานกับเสกได้ตั้งแต่แรก

วิธีแรกที่ไม่ได้ผล ทำให้ทองคำต้องเดินเรื่องปรึกษาทนาย เขาเตรียมสิ่งที่คิดว่าเป็นหลักฐานไปมากมายเพื่อบอกว่าเขาและเสกรักกันจริง ๆ แต่ทนายกลับมองว่าเขาโง่ ไปยกของให้ผู้ชายเสียหมด ทั้งที่รู้ว่าตัวเองเป็นเกย์ ก็ยังเชื่อสนิทใจว่าผู้ชายจะรักจริง 

ความโดดเดี่ยวของทองคำไม่เคยกลั่นออกมาเป็นคำพูด แต่เรารับรู้ได้จากสายตาที่คนอื่นจับจ้องที่เขา และมันโดดเดี่ยวขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อต้องรับรู้ว่า ไม่ว่าจะสิ่งที่เป็นรูปธรรมอย่างทนาย หรือนามธรรมอย่างคติความเชื่อผิด ๆ เรื่องบาปกรรม ต่างไม่เคยอยู่ข้างทองคำในฐานะผู้ที่สูญเสียคนรัก บ้าน และที่ดินไปพร้อมกันเลย

แม้หลังจากนั้นหนังจะฉายให้เห็นถึงการแย่งชิงมรดกระหว่างลูกเขยที่รู้วิธีการจัดการกับสวนทุเรียนและลูกเลี้ยงที่ดูแลแม่ผู้เป็นอัมพาตครึ่งซีกอย่างลุ้นระทึกถึงใจ แต่เรากลับรู้สึกว่าการฟาดฟันในครั้งนี้เปรียบเสมือนศึกประชันบทบาททางเพศ (Gender Role) เสียมากกว่า 

เช่น เมื่อโหม๋รู้สึกสำคัญน้อยลง เธอจะเอาคืนด้วยการเมินตอนแม่แสงปัสสาวะรดที่นอน ครั้นทองคำจะช่วย แม่ก็ไม่ยอม เพราะความไม่ถูกที่ถูกทางทางเพศ จนโหม๋รู้สึกชนะจากการที่สังคมวางให้ผู้หญิงเป็นฝ่ายต้องดูแลคนในครอบครัวอยู่เสมอ ไม่นานทองคำก็ทำคะแนนกลับ เขาพาหญิงแก่เข้าใกล้ศาสนามากขึ้นผ่านการบวชแทนลูกชายที่เสียไป ซึ่งเป็นหน้าที่ของชายไทยที่พ่อแม่ต่างคาดหวัง และเป็นสิ่งที่โหม๋ไม่มีวันทำได้

แต้มต่อทางเพศนี้สร้างความยินดีให้กับผู้ชนะอยู่เป็นระยะ แต่ในขณะเดียวกัน เราคิดว่ามันกลับทำร้าย ช่วงชิง และกัดกลืนตัวตนพร้อมทั้งความต้องการของ 2 คนนี้เอง เห็นได้จากตลอดทั้งเรื่องที่แม้ทองคำจะดูแปลกแยกจากคนในชุมชนแค่ไหน เขาก็ไม่เคยละทิ้งความชอบด้านแฟชั่นของตัวเองเลย ทั้งต่างหูระโยงระยาง จิวจมูกที่แม่แสงด่าว่าเหมือนควาย เสื้อผ้าสไตล์โดดเด่น และทรงผมที่ดูจะเซตให้เข้ากับแบบที่ตัวเองชอบทุกวัน แต่ทองคำกลับยอมสละตัวตนทั้งภายนอกและภายในด้วยการบวช เพื่อทวงคืนที่ดิน และทำให้โหม๋เจ็บปวด 

ไม่ต่างกันมากนัก การดูแลแม่แสงก็ไม่เคยอยู่ในแผนของโหม๋มาก่อน เธอวาดฝันชีวิตที่ได้ทำงานในกรุงเทพฯ แต่เมื่อบทบาททางเพศนี้นำความหวังมาให้เธอ เธอจึงทำและตั้งใจทำมากกว่าเดิม จนบางทีโหม๋ก็ลืมว่านอกจากหน้าที่นี้แล้ว เธอไม่เคยได้เป็นตัวเอง และรู้สึกเป็นคนอื่นอยู่ภายในบ้านของคนที่คิดว่ารู้จักดีมากว่า 20 ปี

ในขณะที่ทองคำและโหม๋ปล่อยหมัดประชันกันอยู่นั้น คนนอกสังเวียนที่ใครต่างก็เห็นว่าร้ายที่สุดในเรื่องคงจะหนีไม่พ้นแม่แสง เพราะตั้งแต่เริ่มปรากฏตัว ยังไม่มีสักครั้งที่เธอไม่พูดถึงมรดกที่เสกทิ้งไว้ มักจะวางแผนให้ทองคำเป็นฝ่ายเสียเปรียบ ไปจนถึงจิกใช้โหม๋อย่างแข็งกร้าว หญิงชราผู้นี้จึงแทนภาพแม่ที่เห็นแก่ตัว โลภมาก 

แต่ลึก ๆ เราเห็นใจเธออย่างอดไม่ได้ ลองนึกว่าถ้างานไม่กระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ ไม่ต้องตื่นตี 3 – 4 เพื่อเก็บผักขายเต็มคันรถแลกกับเงิน 30 บาท ไม่ต้องยอมอดข้าวเก็บเงินส่งลูกชายผู้เป็นความหวังเดียวเรียน ลองนึกว่าทุกที่มีพื้นที่รับรองการเป็นผู้สูงวัยรวมถึงผู้พิการ เธอจะยังเสียขาและโดนเกลียดโดยมีต้นเหตุจากความจนอยู่ไหม เราไม่แปลกใจเลย แม้แม่แสงจะได้รับคำการันตีเป็นพัน ๆ ครั้งว่าจะไม่ทิ้งเธอไปไหนหากยกที่ดินให้ แล้วเธอจะไม่เคยเชื่อ เพราะความจนสอนให้ระแวงอยู่เสมอ การเดิมพันครั้งนี้ของแม่แสงจึงทำไปเพื่อบังคับให้ใครสักคนดูแลเธอในวันที่รัฐและสังคมทอดทิ้งเธอก็เท่านั้น

จำเลยเรื่องเพศ (หญิง)

สักพักใหญ่เราเริ่มสังเกตได้ว่าทองคำมักจะใส่สีส้ม ระหว่างที่โหม๋จะใส่สีม่วงซึ่งเป็นคู่ตรงกันข้ามตามวงล้อสี เพื่อบ่งบอกถึงความขัดแย้งของทั้งคู่ สำหรับเรา ทองคำเป็นสีส้มที่เข้มขึ้นเรื่อย ๆ เพราะสิ่งที่เขาเจอแต่ละอย่างล้วนประจักษ์ต่อสายตาคนดู ไม่ว่าจะเรื่องสิทธิด้านคู่สมรสที่กฎหมายไทยลิดรอนไป การถูกหลอกใช้จากแม่แสงให้ทำงานฟรีผ่านความหวังเล็ก ๆ ว่าจะได้ที่ดินคืน หรือแม้กระทั่งการต้องรับรู้ว่าเสกไม่ได้มีเขาแค่คนเดียว แต่โหม๋คือเมียลับ ๆ อีกคน 

ทองคำจึงเริ่มตั้งคำถามกับรักที่ผ่านมา ซึ่งสับสนอยู่ได้ไม่นานเขาก็ได้รับการเยียวยาด้วยความรักครั้งใหม่จากจิ่งนะ ทำให้ทองคำเชื่อได้อย่างสนิทใจอีกครั้งว่าความรักของเขาไม่ได้แตกต่างจากเพศไหน ๆ เพราะถึงจะเป็นน้องชายของศัตรู แต่กลับอยู่ข้างทองคำและแอบช่วยเหลือเขาตลอดจนจบเรื่อง

ในอีกมุมหนึ่ง สีม่วงของโหม๋อาจไม่ได้แทนความเป็นคู่ตรงข้ามเสียทีเดียว เราคิดว่านี่เป็นสัญลักษณ์ของความชอกช้ำที่เธอเจอ และมันอ่อนลงเรื่อย ๆ อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดายที่ภาพยนตร์เหมือนจะปูให้โหม๋ดูชิงชังทองคำมาก แต่กลับไม่ได้บอกเบื้องลึกเบื้องหลังมากนักเมื่อเทียบกับทองคำ ทำให้การกระทำของเธอดูไม่มีเหตุผลชัดเจน เราจะได้รับรู้เรื่องที่เธอเจอผ่านตัวละครอื่น ๆ และการถ่ายทอดของอิงฟ้าที่พยายามบอกว่าผู้หญิงคนนี้น่าเวทนาแค่ไหนเท่านั้น 

ครั้นจะเฉลยถึงเหตุผลของโหม๋ว่าที่เธอสู้มาทั้งหมดนั้นเพื่ออะไร หนังเลือกที่จะให้เธอตะโกนราวกับพ่ายแพ้ในศึกครั้งนี้ว่า เสกไม่เคยรักเธอ เสกรักทองคำ ซึ่งคนดูอาจจะรู้สึกว่าเหตุผลเท่านี้ไม่มากพอที่จะทำให้เธอต้องทำร้ายทองคำขนาดนั้น เธอจึงกลายเป็นตัวละครที่คนดูรู้ว่าน่าสงสาร แต่ก็เอาใจช่วยได้ไม่สุด

และหากให้จำลองสถานการณ์ความเป็นจริง คนคงจะพูดใส่เธอว่า “ทำทั้งหมดนี่แค่เพื่อความรักเหรอ” “ทำไมไม่หาผัวใหม่ คนดี ๆ มีตั้งเยอะ” “ทำไมไม่รักตัวเอง รักผู้ชายมากจนต้องทนเลี้ยงแม่คนอื่น 20 ปีเลยเหรอ” ทั้งที่หากเป็นผู้ชาย อาจจะมีคนชื่นชมว่าเสียสละที่ยอมดูแลพ่อแม่ของคนอื่น แต่เมื่อเป็นผู้หญิง การเสียเวลาไปทั้งหมดกลับไม่ถูกให้ค่า เพราะการอยู่บ้านดูแลพ่อแม่เป็นสิ่งที่ผู้หญิงทำกันเป็น ‘ปกติ’ 

ภาพความเป็นตัวร้ายและมัวเมาในความรักของโหม๋ทำให้บางทีเราเผลอลืมสิ่งที่หญิงผู้ยากจนในชนบทคนนี้ต้องเผชิญ อย่างการที่จริง ๆ แล้วสถานะเมียลับของโหม๋เกิดขึ้นตั้งแต่เธอยังไม่บรรลุนิติภาวะ เพราะโหม๋อายุ 32 และผู้คนในเรื่องมักจะย้ำเสมอว่า เธออยู่กับแม่มา 20 ปี เมื่อหักลบตามช่วงเวลาแล้ว จะพบว่าเธอคือเด็กหญิงผู้หลวมตัวไปกับสังคมซึ่งเหนียมอาย ไม่กล้าสอนเรื่องเพศศึกษา และเมื่อพลั้งพลาดเธอก็บอกกับใครไม่ได้ ไม่กล้าแม้กระทั่งจะหนีห่างจากบ้านแม่แสง ท้ายที่สุดโหม๋ก็ต้องอยู่ในสถานะลูกเลี้ยง เนื่องจากเธอคือคู่ตรงข้ามของอุดมคติในสุภาษิตสอนหญิงตอนนั้น

ถึงโหม๋จะรู้ว่าตนเองน่าสงสารมากขนาดไหน แต่ลึก ๆ แล้วเธอเองก็ไม่รู้ว่าอะไรในชีวิตที่ถูกขโมยไปบ้างนอกจากความรัก ขณะที่เราซึ่งมองด้วยมุมมองพระเจ้ากลับเห็นทุกอย่าง ไม่ว่าจะศักดิ์ศรีความเป็นคนที่เธอถูกแม่แสงชิงไปผ่านคำพูดเย้ยหยัน ท้าให้ไปฟ้องศาลว่าถูกลูกชายหลอกให้มาเป็นเมีย หรือการที่เธอถูกไล่ออกจากบ้านราวกับเป็นคนแปลกหน้า เมื่อโดนสั่งห้ามไม่ให้เอาอะไรไปด้วย เธอก็ใส่เสื้อที่เป็นผ้าขี้ริ้วเช็ดเยี่ยวเดินออกไปตัวเปล่า ทั้ง ๆ ที่แม่ผู้พิการเดินมากระชากมือเธอไม่ได้อย่างที่พูด ใช้เพียงแค่เสียงเท่านั้น แต่กลับมีอิทธิพลพาเธอไปอยู่ใต้อาณัติได้อย่างอยู่หมัด ทั้งที่ขณะนั้นโหม๋คิดจะตัดสายสัมพันธ์นี้แล้วก็ตาม ตอนนั้นเองที่เรารู้ว่าเธอสูญเสียแม้กระทั่งอำนาจในตนเองไป

ถ้าชีวิตแสนอนาถนี้ตอบแทนความอดทนของโหม๋ด้วยการแปะป้ายว่าเธอเป็นตัวละครที่ไม่สมเหตุสมผลคงเป็นเรื่องน่าเสียใจ เพราะมันสะท้อนว่าการถูกกดทับของผู้หญิงยากจนในชนบทนี้ไม่ได้มีน้ำหนักมากพอเท่าคนอื่น และแม้ว่าการไม่มีสมรสเท่าเทียมจะพรากสิทธิอันพึงมีของทองคำไป ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าเขาก็ยังมีข้อได้เปรียบบางอย่างจากเพศกำเนิดชายอยู่ เช่น ทางออกสิ้นคิดของทองคำที่พยายามจะข่มขืนโหม๋ เพราะคิดว่าหากมีลูก ทรัพย์สินจะตกเป็นของเขาอีกครั้ง ถึงจะกระทำการไม่สำเร็จ แต่ก็สร้างความสะเทือนใจให้เราไม่น้อย เป็นการยอมแพ้ที่เราอยากให้โหม๋สู้มากที่สุดฉากหนึ่ง

หรือลองนึกว่าถ้าเปลี่ยนทองคำกับเสกเป็นคู่รักหญิง-หญิง โหม๋เป็นผู้ชาย โหม๋จะไม่ได้อยู่ในสถานการณ์แบบนี้แน่นอน และอาจไม่ได้กลายเป็นคนรับใช้ในครอบครัวนี้เสียแต่ทีแรก คงผูกเปลนอนกลางป่าแบบที่จิ่งนะทำ เทียวไปมาตามที่ที่มีคนจ้างงาน และไม่ต้องติดอยู่กับบทบาททางเพศที่หนีไม่พ้น จนกลายเป็นจำเลยที่น้อยคนนักจะเห็นใจเช่นนี้

จำเลยทางขนบ

‘วิมานหนาม’ ที่บอสให้ความหมายว่าเป็นดั่งสวรรค์ แต่แลกกับการทิ่มแทงกันจนเป็นโพรงนี้ตกเป็นของโหม๋ (จะด้วยวิธีการใด เราขอให้ผู้อ่านหาคำตอบเอง) เธอได้เป็นเจ้าของโฉนดที่ดินพร้อมบ้านทันทีหลังจากแม่แสงสิ้นใจ คำว่า ‘เกิดใหม่’ น่าจะแทนสถานะของเธอได้ดีที่สุด เพราะตอนนี้โหม๋ไม่ต้องมีชีวิตเพื่อดูแลใครอีกแล้ว

โหม๋เริ่มต้นชีวิตที่ 2 ด้วยการแต่งงานกับข้าราชการในวัยที่เหมาะสม แขกเหรื่อเต็มบ้านพูดไม่หยุดปากว่าชีวิตของเธอสมบูรณ์พร้อมที่ได้แต่งงานกับคนดี ๆ หากแม่แสงยังอยู่คงจะภูมิใจไม่น้อย เหมือนเตือนให้ทองคำสำนึกว่า ความรักของตนและสามีไม่เคยเป็นความภูมิใจให้แม่ได้เช่นนั้น ไม่วายตอกย้ำความคิดกระแสหลักนี้ผ่านการนำงานวิวาห์ตามประเพณีของโหม๋ ตัดสลับกับงานแต่งงานนอกขนบของทองคำและจิ่งนะในหลืบสวนทุเรียน 

น้ำสังข์ที่มาจากเครื่องสูบน้ำพลังมือ ไร้คำอวยพรและเค้กก้อนโต หากแต่แทนที่ด้วยทุเรียนลูกขนาดพอดี นำมาสลับป้อนกันทาน สื่อว่าต่อให้งานนี้จะไม่มีสักขีพยาน พวกเขาก็จะดูแลกันและกันอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง ทะเบียนสมรสคือเม็ดทุเรียนสีทองอำพันสลักชื่อเขาทั้งคู่ที่ไม่รู้ว่าจะสวยพอให้เขาลืมกระดาษตราครุฑนั่นได้บ้างไหม เราแน่ใจว่ามันคือความสุขอันน้อยนิดที่เจือปนไปด้วยความโกรธและการตั้งคำถาม

งานวิวาห์ที่เกิดพร้อมกันนี้ถือเป็นนักโทษของกรอบแนวคิดบรรทัดฐานรักต่างเพศ (Heteronormativity) ที่คอยจับตามองและเหมารวมว่าคู่รักเกย์แต่งงานกันเพราะต้องการผลประโยชน์ แต่ในที่นี้กลายเป็นโหม๋ที่แต่งงานเพื่อหน้าตาทางสังคม คิดว่าใบบุญข้าราชการจะทำให้ชีวิตเธอเปลี่ยนไป ซึ่งก็ไม่ผิด เพราะสังคมสอนเธอมาแบบนั้น การก้าวหน้าของเธอจึงไม่ต่างจากการย่ำอยู่กับที่ด้วยความเชื่อแบบเดิม และบั่นทอนความคิดที่ว่ามีแค่คู่รักเพศตรงข้ามเท่านั้นที่มีความรักที่แท้จริงได้

ขณะที่ประสบการณ์ร่วมส่วนตัวของผู้เขียนกำลังทำงานในฉากแต่งงานทองคำและจิ่งนะจนขอบตาร้อนผ่าว เรากลับพบว่าผู้คนในโรงบางคนไม่ได้เป็นอย่างนั้น เราได้ยินเสียงกรี๊ดเบา ๆ พร้อมกับถูกเตะเก้าอี้จากด้านหลัง เหมือนกำลังฟินกับที่ผู้ชาย 2 คนได้ลงเอยกัน ซึ่งน่าแปลกมาก เพราะเจฟกับเก่งไม่เคยเป็นคู่จิ้นกันมาก่อน คงเป็นเพราะอิทธิพลของซีรีส์วายที่ช่วงชิงความหนักแน่น อัตลักษณ์ และความจริงของคู่รักคู่หนึ่ง ก่อนจะลดทอนเหลือแค่ความบันเทิง จนน่าสงสัยว่าเมื่อไหร่กันที่เรื่องรักของเกย์กลายเป็นขนบความฟินให้คนกลุ่มหนึ่งไปได้ และอุตสาหกรรมวายในไทยกำลังพาเราไปสุดที่ตรงไหน จะพัฒนาจนกลายเป็นซีรีส์เกย์ได้ไหม หรือหยุดอยู่กับความแฟนซีแค่ในจินตนาการของสาววาย

เราคิดว่าเรื่องนี้อาจไม่เกิดขึ้นหากเรามีสมรสเท่าเทียม และค่านิยมที่เปิดโอกาสให้คนค้นหาความเป็นตัวเอง เพราะถึงเสกจะเป็นคนหนึ่งที่ทำร้ายโหม๋และทองคำมาก ๆ จนตอนออกจากโรงเราหยุดก่นด่าตัวละครนี้ไม่ได้ แต่เราก็คิดว่าเสกไม่เคยมีพื้นที่ให้ตนเองค้นหาตัวตนและรสนิยมทางเพศเลย เขาอยู่ในขนบและค่านิยมแบบรักต่างเพศมาโดยตลอดจนได้มาเจอทองคำ

เช่นเดียวกับที่โหม๋อาจได้ไปหางานที่อยากทำ ไม่ต้องสับสนในสถานะของตัวเอง ตื่นรู้จากระบบที่กดขี่และขโมยทุกสิ่งไป ได้เป็นเจ้าของอำนาจในตัวเองแบบที่โหม๋ไม่เคยรู้ว่ามีได้มาโดยตลอด

สุดท้าย วิมานหนาม สะกิดให้เราคิดว่า แม้ในตอนนี้สมรสเท่าเทียมจะเกิดขึ้นจริงในไทย แต่เสกฟื้นจากความตายมายินดีกับสิ่งนี้ไม่ได้ ประเทศไทยยังรวยกระจุกจนกระจาย ตลอดจนค่านิยมเรื่องเพศก็ยังไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร ราวกับเป็นบันทึกความเจ็บปวดของผู้หญิง คนจนชายขอบ และกลุ่มผู้หลากหลายทางเพศ ต้องยอมรับว่า บอส กูโน พาเราไปเจออะไรหลายอย่างที่บางทีอาจลืมไป และนี่เป็นเหตุผลว่าทำไมเราจึงอยากแนะนำให้คนไปดูภาพยนตร์ วิมานหนาม (The Paradise of Thorns)

Writer

พิรุณพลอย อัจฉรานิวัฒน์

พิรุณพลอย อัจฉรานิวัฒน์

ทาสหมาผู้ชอบอ่านพอ ๆ กับเขียน ชอบเรียนมากกว่าออกไปใช้ชีวิต และคิดว่าครูที่ดีที่สุดในชีวิตคือผู้คน