ดอกไม้ผลิบานในวงนักดื่ม

“เชื่อไหมว่า โครงการ Flora of Thailand ที่ทำกันมานาน 61 ปีเกิดขึ้นจากวงเบียร์”

ดร.ก่องกานดา ชยามฤต นักพฤกษศาสตร์อาวุโสแห่งสำนักงานหอพรรณไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เกริ่นให้เราฟังหลังการสนทนาผ่านไปแล้ว 30 นาที

เธออารมณ์ดีและไม่รีบร้อน เราเองก็เช่นกัน

กรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จวันเดียวฉันใด หนังสือคู่มือพันธุ์ไม้ Flora of Thailand พรรณพฤกษชาติของไทย ก็ไม่ได้เสร็จวันเดียวฉันนั้น เรื่องราวตลอด 61 ปีมีมากพอให้เขียนเป็นหนังสืออีกเล่มได้เลย

ดร.ก่องกานดา ชยามฤต นักพฤกษศาสตร์อาวุโสแห่งสำนักงานหอพรรณไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

ศาสตราจารย์เต็ม สมิตินันทน์ และ Prof. Kai Larsen นักพฤกษศาสตร์ชาวเดนมาร์ก ทั้ง 2 คนเป็นเพื่อนผู้ร่วมก่อตั้งโครงการมาด้วยกัน สมัยก่อนพวกเขาต้องขี่ช้างเข้าไปสำรวจพันธุ์ไม้ ตอนนั้นไปแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี คุณลุงเต็มเล่าให้ฟังว่าโปรเจกต์นี้เริ่มต้นจากการดื่มเบียร์แล้วคุยกันว่า เพื่อนบ้านเรามีคู่มือจำแนกพันธุ์ไม้หมดแล้ว ไม่ว่าจะเมียนมา ลาว เวียดนาม ทำไมเราไม่มีสักที เขา 2 คนเลยตกลงทำสิ่งนี้กัน จากนั้นก็ไปเชิญอังกฤษ ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ และประเทศอื่น ๆ มาช่วย”

โครงการดำเนินมา 61 ปี เหลืออีกเพียง 2 ปี โครงการที่ศาสตราจารย์เต็ม นักพฤกษศาสตร์คนสำคัญของไทยเป็นผู้ริเริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2506 ก็จะเสร็จสมบูรณ์ เราจะมีแหล่งข้อมูลในการจำแนกพันธุ์ไม้ในประเทศครบถ้วนกว่า 250 วงศ์ 12,000 ชนิด เพื่อใช้ในการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพบนแผ่นดินไทย ต่อยอดเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร สร้างเศรษฐกิจระดับชุมชน เป็นข้อมูลในการผลิตสมุนไพร ยารักษาโรค เพิ่มทางเลือกในการพัฒนาสินค้าและบริการทางธรรมชาติ จนถึงพิทักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพบนแผ่นดินไทยอย่างคนรู้จริง

งานนี้เป็นความร่วมมือของพันธมิตรระหว่างนักพฤกษศาสตร์ไทยกับนักพฤกษศาสตร์ทั่วโลก ใครเชี่ยวชาญวงศ์ไหนช่วยทำวงศ์นั้น บางวงศ์ต้องช่วยกันถึง 10 คน บางวงศ์ทำนานนับสิบปีจึงสำเร็จ

ด้วยระยะเวลาที่ยาวนาน นักพฤกษศาสตร์ที่มีส่วนร่วมบางคนเสียชีวิตไปแล้ว บางคนเกษียณ บางคนอายุขึ้นเลข 9 สุขภาพร่างกายไม่แข็งแรงเหมือนก่อน แต่ความตั้งใจไม่เคยน้อยลงตามอายุ เช่นเดียวกับ ดร.ก่องกานดา หลานสาวของศาสตราจารย์เต็ม ผู้สานต่อเจตนารมณ์มานานกว่า 5 ทศวรรษ

ความตั้งใจของเธอในตอนนี้ คือทำให้ Flora of Thailand สำเร็จในยุคของตัวเอง 

ก่องกานดา

ก่อนได้นั่งสนทนากันยาว ๆ เราขับรถหลงทางในกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จนเลยเวลานัด ถามใครก็ไม่รู้จัก ‘สำนักงานหอพรรณไม้’ กระทั่ง ปั้น-กมลรัตน์ ชยามฤต ลูกสาวของ ดร.ก่องกานดา เจ้าของ Malibarn: eco-florist & herbarium ร้านดอกไม้-หอพรรณไม้ไซซ์มินิ Eco-friendly ผู้ตั้งใจเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหาทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากอุตสาหกรรมดอกไม้ของโลก มาช่วยนำทางไปยังเรือนกระจกขนาดใหญ่ที่หลบเร้นอยู่หลังตึกสูงมากมาย

ภายในเต็มไปด้วยพฤกษานานาพรรณ ไม่มีเสียงน้ำตก มีเสียงนกร้องและผีเสื้อบินไปมา ทางเดินทำจากหิน มีร่มไม้ร่มรื่น ฉากหลังสีเขียวขจี ไม่น่าเชื่อว่ามีสถานที่อลังการนี้อยู่ภายในสถานที่ราชการด้วย

“ยินดีต้อนรับสู่แดนสนธยาค่ะ”

หากเป็นฉากในหนัง Jurassic Park เพลงประจำภาพยนตร์ต้องดังกระหึ่มพร้อมภาพมุมกว้างสุดอลังการ ปั้นผายมือต้อนรับเราเข้าสู่โลกของนักพฤกษศาสตร์ กลุ่มนักวิชาการรักสงบ ผู้ปลีกวิเวกจากโลกมนุษย์ มีความสุขกับโลกธรรมชาติ โอบรับต้นไม้ใบหญ้าเป็นครอบครัว และมีสรรพสัตว์เป็นผองเพื่อน

นักพฤกษศาสตร์หญิงวัย 71 ปีรอเราอยู่ในห้องทำงานสุดทางเดิน เธอรีบออกตัวว่าไม่ถนัดสื่อสารกับคน เพราะปกติอยู่แต่กับพรรณไม้ ถึงขั้นพยายามหลีกเลี่ยงการพูดคุยกับเราจนถึงเมื่อคืน แต่ขอบอกทุกท่านว่า เธอคุยสนุก จนเราใช้เวลาอยู่กับเธอนานถึง 5 ชั่วโมง

หากไม่ใช่เพราะนิยามคำว่า ‘คุยไม่เก่ง’ ของเธอกับเราแตกต่างกัน ก็คงเป็นเพราะเรื่องราวที่น่าฟังจนไม่อาจห้ามใจได้ และที่สำคัญคือ ดร.ก่องกานดา ชอบ ‘ช็อตฟีลตัวเอง’ ให้เรายิ้มออก

“ถ้าเชื่อคุณลุงคุณน้า ไปเรียนบัญชีก็คงสบายแล้ว” เจ้าของห้องหัวเราะ 

คุณย่าของ ดร.ก่องกานดา เป็นนางกำนัลในวังสระปทุม ลูกสาวจึงเติบโตในวังท่ามกลางครอบครัวที่มีอาชีพการงานดี ผู้ใหญ่ในบ้านซึ่งทำงานกรมสรรพากรสนับสนุนให้เธอเรียนบัญชี

แต่สุดท้ายหลานสาวกลับเลือกตามรอยคุณลุงนักพฤกษศาสตร์ของเธอ

“เป็นอาชีพที่ดีมากเลย อยู่กับธรรมชาติ แต่ตอนเด็กไม่ได้ไปลงพื้นที่กับคุณลุงเต็มนะคะ เพราะต้องเรียนหนังสือ จนเลือกเรียนสายนี้ช่วงมหาวิทยาลัย ถ้าว่างก็จะติดตามไป คุณลุงไม่ค่อยอยู่บ้าน เขาไปป่า ไปดอยตลอด ถ้ามีนักพฤกษศาสตร์ต่างชาติมา คุณลุงเต็มก็ต้องพาออกไป” เธอหวนนึกถึงอดีต

นักพฤกษศาสตร์แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ Field Botanist นักพฤกษศาสตร์สายลงพื้นที่ และ Herbarium Botanist ซึ่งจะนั่งทำงานประจำอยู่ในออฟฟิศเพื่อจำแนกพืชที่เก็บมาแล้ว 

ดร.ก่องกานดา เป็นทั้ง 2 อย่าง ยุคก่อน เธอและคณะสำรวจต้องเข้าไปเก็บพรรณไม้ บางคนปีน บางคนสอย บางคนถ่ายภาพ ซึ่งทุกคนจนถึงพนักงานขับรถต้องอัดพรรณไม้แห้งเป็น

“คุณลุงเต็มเขาสอน เราก็ช่วยกันอัด เขาจะได้ไปดื่ม (หัวเราะ) สมัยนั้นต้องแบกเตาเข้าไปอบพรรณไม้ให้แห้ง ต้องจดบันทึกตัวอย่างที่เก็บมาว่ามีรายละเอียดยังไง สีอะไร เวลากลับมาออฟฟิศจะได้นึกออก แม้กระทั่งผลโต ก็ต้องเก็บดองแอลกอฮอล์มาก่อน เขียนตัวเลขให้ตรงกับภาพ เพื่อป้องกันการสับสน

“การจัดท่าก็ต้องเป็นธรรมชาติด้วย ดูสิ” เธอยื่นกระดาษที่มีพรรณไม้ทั้งกิ่งติดอยู่ให้ดู

เราถามเธอว่า “มีต้นไหนอลังการ ๆ บ้างไหมคะ” อีกฝ่ายหันมาทำหน้าฉงนแล้วบอกว่า

“นี่อลังการมากเลยนะ” เพราะสำหรับเธอ ตัวอย่างชิ้นนี้ ‘อลังการ’ ด้วยความสมบูรณ์ของส่วนประกอบ ไม่ใช่การแผ่กิ่งก้าน ‘ดูอลังการ’ อย่างที่คนนอกแบบเราคิด

“ใบต้องพลิกให้เห็นหลังใบ หน้าใบ เพราะต้องดูขน ดูเส้นใบ เป็นลักษณะเสริมที่ทำให้เราจำแนกพันธุ์ไม้ได้ แล้วก็ต้องมีคำอธิบายวงศ์ สกุล จนถึงชนิด เป็นงานละเอียดที่ต้องใช้เวลามาก เราต้องอัปเดตข้อมูลกับคนและป่า ต้องดูว่าในป่ายังมีอยู่ไหม เปลี่ยนไปแค่ไหน หน้าที่ในการจำแนกสิ่งเหล่านี้จึงเป็นของเรา เขาเรียกว่า ‘นักอนุกรมวิธาน’ ” เธอยิ้มสดใสก่อนเดินไปเปิดตัวอย่างพรรณไม้แห้งให้เราดู

การเดินทางเข้าป่าเพื่อสำรวจพรรณไม้ในยุคก่อนเป็นเรื่องลำบากและอันตราย ในป่าไม่มีทางให้รถขับ ไม่มีแม้กระทั่งทางให้เดิน พวกเขาต้องใช้ดาบฟันถางต้นไม้ให้เป็นอุโมงค์ แล้วก้มลงคลานกับพื้น

“นี่นักพฤกษศาสตร์หรือนักผจญภัยคะเนี่ย” เราถามด้วยความตื่นเต้น อีกฝ่ายหัวเราะเป็นคำตอบ 

เธอเคยเจอกองทัพต่อหัวเสือบุก เมื่ออาจารย์คนหนึ่งในทริปไปเหยียบรังที่หลบซ่อนอยู่ใต้หญ้า ทุกคนต้องกระโดดทับกันเพื่อปกป้องกันเอง มีผู้ร่วมเดินทางคนหนึ่งโดนต่อหัวเสือต่อยจนแพ้หนัก แต่คณะก็พาออกมารักษาได้ทันและปลอดภัย จากเหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้ทุกคนเรียนรู้ ‘จงเดินให้ติดดิน’

“หรืออีกเหตุการณ์ แต่แม่ (ดร.ก่องกานดา แทนตัวเอง) ไม่ได้ไปด้วยนะ มีคนไปนั่งบนงูหลาม พอนั่งแล้วมันก็ตกใจหนีไป หลายเหตุการณ์มักเกิดกับชาวต่างชาติ มีนักพฤกษศาสตร์อีกคนไปสำรวจที่เชียงดาว ดันเจอแก๊งขนยาเสพติดในป่า เราบอกว่าไปเก็บพรรณไม้ เขากลัวเราไปบอกตำรวจเลยกักตัวไว้แล้วค่อยปล่อยทีหลัง” เธอเล่าอย่างออกรส แต่เราสงสัยว่าชาวต่างชาติเข้าป่าไทยไปสำรวจได้หรือ

“ต้องขอทางกรมฯ และมีคนของเราไปด้วย เป็นพระราชบัญญัติอุทยานที่ต้องการคุ้มครองพรรณไม้ไทย ไม่ให้ใครเอาพรรณไม้หายากของเราไป แต่ชาวต่างชาติจะมีชื่อเป็นผู้ร่วมเก็บพรรณไม้ บางครั้งเจอพืชชนิดใหม่ก็จะร่วมกันศึกษา มีชื่อร่วมกัน” ปั้นช่วยอธิบาย

ทรัพยากรธรรมชาติมีประโยชน์ต่อโลกหลายด้าน หนึ่งในนั้นคืออุตสาหกรรมยา การนำพืชจากไทยไปใช้เชิงพาณิชย์ไม่ใช่เรื่องง่าย กระทรวงสาธารณสุขคุ้มครองพืชและองค์ความรู้ในประเทศอย่างเข้มข้น

“อาชีพของแม่ไม่ได้ทำเพราะหวังเงินหรือชื่อเสียง เราทำด้วยใจบริสุทธิ์ อย่างหนังสือคู่มือที่ทำกันมา 60 ปี คนที่ช่วยเสียชีวิตไปบ้างแล้ว บางคนเราเห็นตั้งแต่เขายังหนุ่มจนเกษียณ จริง ๆ จะหยุดทำแล้วปล่อยไปก็ได้ แต่ใจเราอยากให้ประเทศมีคู่มือจำแนกพันธุ์ไม้ที่สมบูรณ์” ดร.ก่องกานดา บอก

น่าเสียดายที่คนยังไม่เห็นความสำคัญของข้อมูลพื้นฐานด้านพฤกษศาสตร์เหล่านี้ แต่เมื่อไม่รู้จักสิ่งที่มี จะนำไปใช้ต่อก็ยาก แม้กระทั่งอนุรักษ์ก็ยังพูดได้ไม่เต็มปากว่าเรารู้จักสิ่งที่ต้องการปกปักรักษาดีแล้ว

“คุณลุงเต็มเคยบอกไว้ หากไม่รู้จักต้นไม้ชนิดต่าง ๆ แล้วจะอนุรักษ์ได้อย่างไร และหากไม่รู้จักต้นไม้ชนิดต่าง ๆ แล้วจะรู้คุณค่าได้อย่างไร ไม่ใช่แค่สมุนไพรที่หน้าตาเหมือนกันแล้วถูกนำไปใช้ไม่ตรงสรรพคุณ แต่น่าเศร้าที่บางอย่างเรายังไม่รู้เลยว่ามีอยู่ในประเทศ จนหายไปแล้วเพิ่งรู้ เพราะฉะนั้น Flora of Thailand จึงควรเร่งทำให้ทันการณ์ก่อนที่ทุกอย่างจะหายไปหมด” เธอกล่าวอย่างหนักแน่น

พรรณพฤกษชาติของไทย

ดร.ก่องกานดา เข้ามามีส่วนร่วมในโครงการ Flora of Thailand ตั้งแต่อายุ 27 ปี ขณะนั้นมีศาสตราจารย์เต็มเป็นหัวเรือใหญ่ เมื่ออายุขึ้นเลข 3 เธอก็รับภารกิจรวบรวมจัดพิมพ์หนังสือ Flora of Thailand พืชในวงศ์ Cyatheaceae (เฟิร์น) ของนักพฤกษศาสตร์ญี่ปุ่นเป็นงานแรก ก่อนจะเข้ามาเป็นผู้บริหารโครงการเต็มตัวเมื่อศาสตราจารย์เต็มเสียชีวิต

“อย่างที่บอกว่าบางวงศ์ทำนานมาก แม่เรียนจบปริญญาเอกตอนอายุ 45 ศึกษาวงศ์ Euphorbiaceae (โป๊ยเซียน) 10 ปี ถ้าเป็นวงศ์ใหญ่มาก ต้องมีนักพฤกษศาสตร์นับสิบคนแบ่งกันทำ ทำคนเดียวตายไปก็ไม่เสร็จ” เธอหัวเราะ 

“วงศ์ Acanthaceae (ต้อยติ่ง) คนทำเสียชีวิตแล้ว สมัยนั้นคอมพิวเตอร์กู้ข้อมูลไม่ได้ก็ต้องทำใหม่ ก่อนหน้านั้นเป็นยุคพิมพ์ดีด แก้ทีพิมพ์ใหม่ทั้งหมด” เธอเล่าความท้าทาย แต่ก่อนจะถึงขั้นตอนรวบรวมข้อมูล สิ่งที่ท้าทายยิ่งกว่า ณ เวลานั้น คือการหานักพฤกษศาสตร์มารับผิดชอบให้ได้

“เรามีรายชื่อวงศ์พรรณไม้ในไทยประมาณ 3 หน้ากระดาษเอสี่ แต่ตอนนั้นเราไม่มีนักพฤกษศาสตร์มากพอจะมาเติมชื่อผู้รับผิดชอบให้ครบ ด้วยความที่ประเทศไทยอยู่บริเวณเส้นศูนย์สูตร เลยมีความหลากหลายมากกว่าพืชในแถบยุโรป ซึ่งตอนนี้พวกเขาศึกษาพืชในประเทศเขาเสร็จแล้วจึงมาให้ความร่วมมือในโครงการ Flora of Thailand” ดร.ก่องกานดา ยิ้ม

ดร. Peter C. van Welzen ศึกษาทำพรรณไม้ในประเทศที่เคยเป็นเมืองขึ้น คืออินโดนีเซีย แต่เขาต้องศึกษาพรรณไม้ทางภาคใต้ของไทยแหลมมลายู เราเลยขอให้เขามาทำของเรา เพราะส่วนมากของเราจะเสร็จก่อน เนื่องจากพรรณไม้น้อยกว่า ขณะที่อินโดนีเซียมีหลายเกาะ พรรณไม้เยอะกว่าเรามาก” ถือว่าภารกิจสำเร็จ

อย่างที่เล่าไป แม้กฎหมายของอุทยานจะระบุให้มีชื่อชาวไทยควบคู่กับชาวต่างชาติเมื่อค้นพบพันธุ์ไม้ใหม่ สำหรับ Flora of Thailand ชาวต่างชาติรับผิดชอบวงศ์ที่ตนเชี่ยวชาญได้ด้วยตนเอง โดยมี ดร.ก่องกานดา เป็นบรรณาธิการร่วม ปัจจุบันรายชื่อวงศ์ทั้งหมดมีผู้รับผิดชอบครบแล้ว ซึ่งผู้รับผิดชอบบางส่วนเป็นนักศึกษาด้านพฤกษศาสตร์ที่ต้องทำโปรเจกต์ก่อนจบปีสุดท้ายของมหาวิทยาลัย

“เราจะให้นักศึกษาทำพืชที่ศึกษาง่าย เช่น ดอกโต ผลโต แต่หลัง ๆ เราทำเสร็จจนไม่เหลือแล้ว พวกเราเลือกง่าย ๆ ทำกันเองก่อน นักศึกษาเขาก็บ่น ๆ นะ แต่ถือเป็นเรื่องดีที่ให้เขาลองของยาก เช่น วงศ์ Piperaceae (พริกไทย) ดอกเล็ก ทุกอย่างเล็ก ก็จะท้าทายหน่อย” คนเล่าหัวเราะร่า 

เธอบอกว่างานของนักศึกษาใช้ในโครงการได้เนื่องจากมีอาจารย์และบรรณาธิการคอยตรวจสอบส่วนหน้าที่หลักของเธอ คือทำให้โครงการนี้ขับเคลื่อนไปได้ ส่วนใหญ่จึงเป็นงานบริหารมากกว่า

“ไม่ใช่แค่วิชาการ ในอดีตเรายังต้องหาทุนด้วย อย่างที่บอก เราขาดนักพฤกษศาสตร์ ช่วง 30 ปีที่ผ่านมามีโครงการความหลากหลายทางชีวภาพ สวทช. ศ.ดร.วิสุทธิ์ ใบไม้ ท่านเห็นว่าเราทำข้อมูลพื้นฐานที่ถ้าไม่มีจะไปต่อไม่ได้ เลยให้ทุนเด็กที่สนใจศึกษาต่อปริญญาโท ซึ่งคนสนใจเยอะ 

“ส่วนทุนโครงการ เริ่มแรกไม่มีเลย เพราะเวลาไปขอทุนต้องเขียนว่าโครงการกี่ปี เราเขียนไป 20 ปี โดนปัดทิ้ง เพราะนานเกิน พอทอนเวลาลงก็มีคนให้ทุน เราใช้เงินเพื่อพิมพ์หนังสือขาย ได้เงินมาแล้วถึงพิมพ์เล่มถัดไป แต่คนไม่ค่อยสนใจนัก ออกเล่มใหม่ก็ขายได้ไม่ถึง 200 เล่ม คนซื้อส่วนใหญ่เป็นแฟนคลับที่อยากเก็บให้ครบ ไม่ก็มหาวิทยาลัย หรือเมืองนอกมาซื้อ” ดร.ก่องกานดา ยิ้ม ทุกคนในห้องเข้าใจดีว่างานวิทยาศาสตร์จ๋าเช่นนี้เข้าถึงคนทั่วไปยาก แต่ไม่ได้แปลว่าไม่สำคัญ และไม่ได้แปลว่าควรถูกละเลย

ถึงแม้ไม่ได้สนับสนุนโครงการเป็นเงิน การเข้าใจวัตถุประสงค์ของโครงการและการร่วมทำความรู้จักโครงการนี้ก็ถือเป็นการสนับสนุนที่ดีและมีค่ามากแล้ว เพราะนักพฤกษศาสตร์ทุกคนตั้งใจอุทิศตนเพื่อคู่มือพรรณไม้ของประเทศโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน ขอเพียงธรรมชาติยังคงอยู่และเจริญงอกงามต่อไป

“นอกจากการศึกษาที่ใช้เวลา อีกขั้นตอนคือการวาดภาพ เราจะส่งสำเนาให้ศิลปินวาดและแรเงา เขาต้องจิ้มทีละจุดเพื่อความละเอียด เส้นใบเป็นยังไงต้องเขียนให้เหมือน เพราะบางทีการเรียงตัวของเส้นใบก็ช่วยในการจำแนกพืชได้ แต่ถ้าพวกเขาไม่มีอารมณ์ก็ทำไม่ได้ อย่าง คุณป้าลีนา ผู้พัฒนพงศ์ ผู้เชี่ยวชาญพืชวงศ์ชบา ทำงานละเอียดมาก เกษียณมา 30 – 40 ปีแล้ว แต่วงศ์ชบาของท่านเพิ่งเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2561 นี่เอง ขั้นตอนสุดท้ายคือเราต้องนำไปสรุปที่หอพรรณไม้ของต่างประเทศ”

กระบวนการนี้คือการนำพรรณไม้ที่ค้นพบในเมืองไทยไปเทียบกับในหอพรรณไม้ต่างประเทศ บางแห่งเก็บไว้นานถึง 70 – 80 ปี เรียกว่า Historical Collection ถือเป็นการสรุปครั้งสุดท้ายว่าวงศ์นี้มีพืชกี่สกุล กี่ชนิด หากเป็นวงศ์ไม่ใหญ่มาก มีเพียงไม่กี่ชนิด นักพฤกษศาสตร์ไทยก็สรุปเองได้

“สมัยก่อนคนที่สำรวจพรรณไม้คือหมอสอนศาสนา เรายังไม่มีหอพรรณไม้ เขาเลยต้องเอากลับไปจำแนกที่หอพรรณไม้ของเขา แล้วเก็บเอาไว้ เพราะไปรษณีย์ยุคก่อนส่งยาก แต่ปัจจุบัน เมื่อเขาสำรวจและทำงานเสร็จแล้ว เขาจะส่งสำเนามาให้เราเก็บไว้ด้วย สมมติตัดมากิ่งเดียว เราแยกออกเป็น 5 ชิ้น แต่ละชิ้นต้องมีดอก มีผล พออัดพรรณไม้เสร็จก็เก็บไว้ 2 – 3 ชุด ที่เหลือส่งให้เขาไปศึกษา” ดร.ก่องกานดา เล่า

“เขาเก็บเอาไว้อย่างดีนะคะ ตอนปั้นไปเรียนที่ Royal Botanic Gardens, Kew ประเทศอังกฤษ ยังเจอพรรณไม้ที่เก็บโดยคุณตาเต็มอยู่เลย ตั้งแต่ พ.ศ. 2477 เห็นจะได้” ปั้นเอ่ยอย่างภูมิใจ

แต่ถ้าทำคู่มือเสร็จแล้ว เราอาจสำรวจเจอพันธุ์ไม้ใหม่ก็ได้ แล้วเมื่อไหร่จะเสร็จ – เราถาม

“ต้องสำรวจไปเรื่อย ๆ เคยมีนักพฤกษศาสตร์ต่างชาติทำวงศ์ Araliaceae (หนวดปลาหมึก) มาช่วยทำคู่มือ เราต้องพาเขาไปสำรวจ แม้จะมีตัวอย่างแห้งเก็บอยู่ในห้องก็ตาม เพราะการสำรวจครั้งก่อนอาจมีสิ่งที่มองข้ามไป ไม่ได้เก็บมา ถ้ามีคนที่เชี่ยวชาญไปด้วย สายตาเขาก็จะโฟกัสสิ่งเหล่านี้ได้ดี อาจเจอพันธุ์ไม้ใหม่ก็ได้ หรือสมัยก่อนใช้ลักษณะสัณฐานวิทยา คือรูปพรรณสัณฐานในการจำแนก แต่ตอนนี้ศึกษาไปถึงระดับโมเลกุลก็เลยมีการเปลี่ยนวงศ์ด้วย” เจ้าของห้องอธิบาย เราจึงถามเธอต่อว่า ตอนนี้เหลืออีกเยอะไหมจึงจะถึงเป้าหมายที่วางไว้

“เหลืออีกนิดเดียว” อีกฝ่ายตอบ ทุกคนในห้องร้องพร้อมกันว่า เย้!

“พืชทำหมดไป 80 เปอร์เซ็นต์แล้ว ส่วน 20 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือมีคนจับจองครบ แต่ยังสรุปไม่ได้ เช่น วงศ์ Poaceae (หญ้า) มีประมาณ 450 ชนิด เราก็กำลังเร่งทำอยู่ อยากให้หนังสือออกมาเรื่อย ๆ จะได้ไม่ขาดช่วง” แม่เล่า ก่อนลูกสาวจะเสริมทันทีว่า “ตั้งแต่คุณแม่มารับช่วงต่อโครงการนี้ มีนักพฤษศาสตร์ต่างชาติมาขอทำร่วมมากมาย และมีทุนจาก Carlsberg Foundation มาสนับสนุนนักศึกษา นักวิจัย อย่างต่อเนื่อง พิมพ์หนังสือออกมาปีละ 2 – 3 เล่ม เป็นเวลาเกือบ 10 ปีติดต่อกัน เพราะว่า…”

“แม่ใจร้อน” แม่ตอบแทนลูกสาว

Prof. Henrik Balslev จาก Aarhus University มาเป็นบรรณาธิการใหญ่ร่วมกัน แต่ศาสตราจารย์ท่านอื่น ๆ ที่ช่วยเราเขาเกษียณกันแล้ว เลี้ยงหลานบ้าง เลี้ยงผึ้งบ้าง บางคนอยากสบาย เราก็ต้องรีบ ไม่อย่างนั้นเดี๋ยวเขาไม่อยู่แล้วจะแย่กว่าเดิม” เธอหัวเราะอย่างคนเข้าใจชีวิตและเข้าใจโลก 

“Royal Botanic Gardens, Kew ประเทศอังกฤษ Nationaal Herbarium Nederland, Leiden ประเทศเนเธอร์แลนด์ Department of Biology, Aarhus University ประเทศเดนมาร์ก Singapore Botanic Gardens ประเทศสิงคโปร์ Department of Botany, Trinity College, University of Dublin ประเทศไอร์แลนด์ นอกจากนี้ยังมีฝรั่งเศส ญี่ปุ่น เยอรมนี” เธอร่ายรายนามผู้ร่วมอุดมการณ์ให้ฟัง

“สมัยก่อนเขามาช่วยเรา ต้องหาทุนเอง เราไม่มีเงินสนับสนุนให้ เลยสนับสนุนเรื่องการลงพื้นที่เพราะรู้ว่าเขาต้องเข้าป่าไปสำรวจ ตอนนี้เรามีทุนจึงสนับสนุนทุกคนได้ บางคนช่วยเรามานาน…

“นานขนาดว่า ตอนนี้ที่เห็นจะเป็นวงศ์ Rubiaceae (เข็ม) Christian Puff คนที่รับผิดชอบเสียไปก่อน เราเลยมารับช่วงต่อได้ประมาณ 10 ปี แต่ตัวคนนี้เขามาเมืองไทยตั้งแต่ 30 – 40 ปีก่อนแล้ว ยังไม่เสร็จนะคะ (ทุกคนหัวเราะ) เพิ่งจะตอนที่ 1 เอง คิดไว้ว่าจะมี 3 ตอน ตอนที่ 2 ออกปีนี้ โดยจะมี Hans-Joachim Esser เป็นคนมาช่วยอ่าน แต่ตอนนี้แกเป็นโรคหัวใจค่ะ! แม่นี่เสียวมาก” เธอเว้นวรรคหัวเราะ 

“ปีที่แล้วแกเพิ่งออกจากโรงพยาบาล แม่รีบเชิญมานั่งห้องแอร์เลย กลับไปมิวนิกแกบอกต้องไปโรงพยาบาลอีก” เพราะเขาอายุเกือบศตวรรษ ดร.ก่องกานดา จึงจำต้องดูแลมิตรสหายทุกคนอย่างดี

“บางครั้งก็คิดว่า อยากจะหยุดทำโครงการนี้สักที เพราะทำต่อเนื่องกันมาถึง 60 ปี” เธอยิ้มน้อย ๆ ก่อนต่อประโยคให้สมบูรณ์ “แต่สุดท้ายก็ปล่อยวางไม่ได้ค่ะ เพราะเป็นเป้าหมายในชีวิตของเรา”

“แม่ชอบการวิจัยมาตั้งแต่เด็ก ชอบชีวิตคุณลุงเต็ม เราก็อยากสานต่อ แม้กระทั่ง Prof. Kai Larsen หรือ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ธวัชชัย สันติสุข (เจ้านายคนแรก) เขาก็ฝากความหวังไว้ที่เรา มันเป็นความรัก ความผูกพัน กับสิ่งที่ทำและคนที่ทำงานร่วมกันมา นักพฤกษศาสตร์ทุกคนทั้งไทยและต่างชาติอยากให้ Flora of Thailand เสร็จสมบูรณ์ ถึงได้ช่วยกันมาจนถึงวันนี้

“แก่กันหมดแล้วค่ะ แต่ยังอยากให้เสร็จในวันที่เรายังดูทัน” ดร.ก่องกานดา ยิ้ม

ลูกสาวมองแม่ของตนอย่างภาคภูมิใจ พวกเราเองก็รู้สึกเช่นนั้น

ผู้พิทักษ์ – นักรักธรรมชาติ

ถ้าโครงการนี้จบแล้ว คุณแม่จะทำอะไรต่อคะ – ทีมงาน The Cloud ถามทิ้งท้าย

“ในที่สุดก็คงอยู่บ้านเลี้ยงสุนัข” อีกฝ่ายหัวเราะสดใส สดใสเหมือนความหมายของชื่อ ก่องกานดา ที่สมัยเด็กไม่เคยคิดพิศวาสมันมาก่อน ขณะที่ปัจจุบัน ชื่อนี้ทั้งงดงามและเป็นชื่อพรรณไม้ด้วย นั่นคือถั่วดอยดอกม่วงก่องกานดา ตั้งโดยผู้คนพบที่อยากให้เกียรติแก่คนสำคัญในวงการพฤกษศาสตร์

นอกจากคุณลุงของเธอ ครอบครัวนี้ก็เป็นนักอนุรักษ์ตัวจริง เธอเรียนจบจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ส่วนสามีเป็นนิสิตคณะวนศาสตร์ เธอและสามีตกหลุมรักกันก่อนจะแต่งงานและมีพยานรัก 2 คน คือปั้นและน้องชาย ซึ่งสมัยที่ ดร.ก่องกานดา ยังต้องลงพื้นที่สำรวจป่า ก็เป็นสามีของเธอที่ช่วยติดต่อ ประสานงาน อำนวยความสะดวกให้คนรักลงพื้นที่อย่างปลอดภัย ถือเป็นคู่รักนักพฤกษศาสตร์-ป่าไม้ เพียงคู่เดียวในกรมฯ ที่มีอุดมการณ์แรงกล้าในการอนุรักษ์พรรณไม้ไทย

“เรายังต้องการนักศึกษารุ่นใหม่ เพราะประเทศมีอุทยานเป็นร้อย ควรจะมีนักพฤกษศาสตร์อยู่ในนั้น จะได้ไปสำรวจและศึกษา เขาจะติดตามพรรณไม้ได้ ขณะที่ตอนนี้เราต้องฝากทีมเรนเจอร์ให้ถ่ายภาพให้หน่อย เวลาอยากรู้ว่าดอกเปลี่ยนไปไหม เหมือนหรือต่างจากพันธุ์ที่ใกล้ชิดกันไหม

“แต่ในระดับทั่วไป เราอยากให้เด็กและเยาวชนรุ่นใหม่มองเห็นทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพที่เรามีอยู่ อยากให้เกิดความภูมิใจ อย่างน้อยเวลาไปเดินป่าแล้วรู้จักสักหน่อยว่าคุณกำลังดูอะไรอยู่ คงเหมือนเห็นเพื่อนแล้วรู้จักเขา เรียกชื่อเขาถูก ทักทายเขาได้

“หรือถ้าคุณอยากปลูกพืชที่มีกลิ่นหอมผ่อนคลาย ต้องปลูกอะไร ไม่ใช่แค่ความสวยงาม แต่คือทรัพยากรธรรมชาติที่มีประโยชน์ เป็นยา เป็นเครื่องนุ่งห่ม เป็นไม้ดักแมลง เด็ก ๆ ควรเติบโตขึ้นมาโดยรู้จักพรรณไม้ไทย เขาจะได้รู้สึกหวงแหน อยากดูแลธรรมชาติที่เรามี” ดร.ก่องกานดา บอก

นักพฤกษศาสตร์ไม่ได้มีหน้าที่แค่ทำคู่มือจำแนกพันธุ์ไม้ให้เสร็จแล้วทุกอย่างจบ

แต่นักพฤกษศาสตร์ใช้ศาสตร์ที่ต้องลงลึกถึงการกระจายพันธุ์ในฐานะ Living Database จึงยังต้องมีการสำรวจพรรณไม้อยู่อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้คงไว้ซึ่งความสมดุลของระบบนิเวศ

ดังนั้น การศึกษาสิ่งเหล่านี้ตลอดเวลาจึงถือเป็นการอนุรักษ์อย่างหนึ่ง

ปั้นเล่าว่าปัจจุบัน 1 ใน 17 เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป้าหมายที่ 15 (Life on Land) เพื่อหยุดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ พยายามแก้ไขเรื่อง Triple Planetary Crisis 3 ข้อ คือ Climate Change, Pollution และ Biodiversity Loss โดยงานของ ดร.ก่องกานดา เกี่ยวข้องกับเรื่อง Biodiversity ซึ่งมีคำถามง่าย ๆ คือ ‘ถ้าไม่รู้จักพืช ก็ไม่รู้จะอนุรักษ์ยังไง’

“หลายประเทศทางยุโรปมีโครงการ Seed Bank เก็บเมล็ดพันธุ์เอาไว้ เพราะหากเกิดโรคระบาด เกิดสงคราม เขายังมีเมล็ดพันธุ์สำหรับปลูก หรือ Svalbard Global Seed Vault อุโมงค์เก็บรักษาเมล็ดพันธุ์แห่งสวาลบาร์ด คือสถานที่เก็บรวบรวมเมล็ดพันธุ์พืชที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เขาทำแบบนี้เพื่อให้แน่ใจว่ามนุษยชาติจะยังมีอาหารแม้วันสิ้นโลก แต่ประเทศไทย เราไม่ได้ห่วงเรื่องเหล่านี้นัก เพราะพืชพรรณของเราหลากหลาย แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่ต้องกังวลหรือละเลยได้” ปั้นทิ้งท้าย

ดร.ก่องกานดา บอกว่าชีวิตต้องพึ่งพาธรรมชาติไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม ปั้นเองก็เห็นด้วยกับสิ่งนี้ จากที่เติบโตมาท่ามกลางนักพฤษศาสตร์ คุณแม่ คุณตาเต็ม และเพื่อนต่างชาติของคุณแม่ตั้งแต่เด็ก เธอสังเกตว่าพวกเขาทุกคนมีบุคลิกถ่อมตัว ใจกว้าง และมีความสุข ทั้งงานของพวกเขายังมีประโยชน์ต่อคนรุ่นหลัง

“โลกของนักพฤกษศาสตร์ไม่มีสิ่งปรุงแต่ง มันทำให้เรามองโลกละเอียด เห็นชีวิตจนเข้าใจชีวิต สำหรับแม่ธรรมชาติคือธรรมะ สิ่งที่เราพร่ำทำกันมาไม่ได้มีประโยชน์แค่ตัวเรา แต่เป็นองค์ความรู้ของภูมิภาค ของประเทศ และของโลก เป้าหมายของนักอนุกรมวิธานอย่างแม่ไม่มีอะไรมาก ขอแค่ได้สร้างอะไรบางอย่างไว้ให้โลก 

“และสิ่งนั้นคือคู่มือจำแนกพรรณไม้ไทยที่กำลังจะเสร็จสมบูรณ์” นักพฤกศาสตร์หญิงวัย 71 จบบทสนทนา

Writer

วโรดม เตชศรีสุธี

วโรดม เตชศรีสุธี

นักจิบชามะนาวจากเมืองสรอง งานประจำเป็นนักฟัง งานพาร์ทไทม์เป็นนักเขียน งานอดิเรกเป็นนักเล่า

Photographer

Avatar

ผลาณุสนธิ์ ผดุงทศ

ช่างภาพที่โตมาจากเมืองทอง รักแมว ชอบฤดูฝน และฝันอยากไปดูบอลที่แมนเชสเตอร์