16 มิถุนายน 2023
2 K

หญิงสาวผู้รักดอกไม้อย่างเราดี๊ด๊าเป็นพิเศษ เมื่อรู้ว่าจะได้แวะเวียนไปที่ ‘มะลิบาน’ หรือ ‘Malibarn: eco-florist & herbarium ร้านดอกไม้เปิดใหม่ในโครงการ Slowcombo ย่านสามย่าน เบื้องต้นเรารู้มาคร่าว ๆ ว่านี่คือร้านที่มีแนวคิดสวนทางกับธุรกิจร้านดอกไม้ในไทยอยู่หลายข้อทีเดียว

และเหตุผลเหล่านั้นทำให้เราตื่นเต้นที่จะได้เห็นความพิเศษด้วยตาตัวเอง

Malibarn ร้านดอกไม้-หอพรรณไม้เล็ก ๆ ที่เชื่อว่าร้านดอกไม้ก็สนับสนุนเกษตรกรไทย และ Eco-friendly ได้
Malibarn ร้านดอกไม้-หอพรรณไม้เล็ก ๆ ที่เชื่อว่าร้านดอกไม้ก็สนับสนุนเกษตรกรไทย และ Eco-friendly ได้

ร้านหอมมากเลย กลิ่นอะไรเหรอคะ – เราถาม ปั้น-กมลรัตน์ ชยามฤต เจ้าของรีบตอบยิ้ม ๆ ว่า นี่เป็นคำถามของลูกค้าแทบทุกคน และนั่นแปลว่าคุณมาถึงมะลิบานแล้ว เพราะกลิ่นยูคาลิปตัสแทบเป็นกลิ่นซิกเนเจอร์ของร้านเลยก็ว่าได้ โดยยูคาลิปตัสที่เราได้กลิ่น ณ ตอนนี้ มาจากจังหวัดเชียงใหม่ แต่ไม่ได้มีแค่จังหวัดเดียวนะ ยูคาลิปตัสจากภาคอีสานที่ร้านก็มีเหมือนกัน เธอพูดจบพลางลุกขึ้นไปหยิบดอกไฮเดรนเยียจากเชียงใหม่มายื่นให้เราชมความงาม พร้อมกับดอกทิวลิปสีหวานจากระยอง 

“เห็นไหม ดอกไม้ในไทยสวยและดีไม่แพ้ต่างชาติ แต่คนก็ยังชอบใช้ของนอกกัน”

Malibarn ร้านดอกไม้-หอพรรณไม้เล็ก ๆ ที่เชื่อว่าร้านดอกไม้ก็สนับสนุนเกษตรกรไทย และ Eco-friendly ได้
Malibarn ร้านดอกไม้-หอพรรณไม้เล็ก ๆ ที่เชื่อว่าร้านดอกไม้ก็สนับสนุนเกษตรกรไทย และ Eco-friendly ได้

ใช่แล้ว เอกลักษณ์ของมะลิบาน ข้อแรก คือ ใช้ดอกไม้จากแหล่งปลูกใน ‘ไทย’ ทั้งหมด

ถ้าถามว่าทำไม คำตอบก็เฉลยอยู่ในชื่อร้านอย่าง ‘Eco-florist’ เพราะความตั้งใจที่เธอใช้ดอกไม้จากไทย นอกจากช่วยเหลือเกษตรกรไทยแล้ว ยังช่วยลดคาร์บอนฟุตพรินต์จากการขนส่ง แถมดอกไม้ทั้งหมดในร้าน ปั้นเลือกใช้เฉพาะดอกไม้ตามฤดูกาล ไม่เร่งให้โต ไม่เร่งให้สวย เพราะการใช้สารเคมีกระตุ้นพวกเขา นั่นไม่นับว่าเป็นการรักธรรมชาติ แถมอาจส่งผลร้ายต่อคนปลูกและคนรับ อีกทั้งทุกการจัดช่อให้ลูกค้า เธอไม่ใช้โฟมแม้แต่ชิ้นเดียว และพยายามใช้วัสดุทดแทนการใช้พลาสติกเสมอ

หากอิงจากชื่อร้าน แน่นอนที่นี่ต้องมี Herbarium หรือ หอพรรณไม้ ซึ่งเป็นไปตามนั้น มีทั้งแบบแผงอัดและแบบใส่โหล เพราะปั้นอยากให้ทุกคนได้เรียนรู้รายละเอียดพรรณไม้ ตั้งแต่ดอกไม้ที่เห็นในชีวิตประจำวันจนถึงดอกไม้หายากในป่า และไฮไลต์เด็ดที่สะดุดตาเราตั้งแต่เข้ามาหนีไม่พ้นการยกเอา Terrarium หรือตู้จำลองระบบนิเวศมาตั้งไว้กลางร้าน เพื่อขยับธรรมชาติมาใกล้ชิดคนเมือง

Malibarn ร้านดอกไม้-หอพรรณไม้เล็ก ๆ ที่เชื่อว่าร้านดอกไม้ก็สนับสนุนเกษตรกรไทย และ Eco-friendly ได้

จุดเริ่มต้น เดิมทีปั้นเคยเปิดร้านดอกไม้ที่ สปป.ลาว เมื่อ 8 ปีที่แล้ว ก่อนปิดกิจการไป เพราะเธอไม่อยากทำธุรกิจที่ไม่เป็นมิตรกับโลก มาจนถึงวันนี้ เธอทำให้ Malibarn: eco-florist & herbarium เป็นมิตรกับเกษตรกรผู้ผลิตที่ไม่ต้องรับสารเคมี เป็นมิตรกับโลกจากการลดคาร์บอนฟุตพรินต์ในการขนส่ง เป็นมิตรกับดอกไม้ในแปลงที่ไม่ต้องถูกเร่งให้โต หรือประโคมสารพิษเข้าไปเพื่อให้รูปโฉมสะสวย

รวมถึงเป็นมิตรกับผู้มาเยือน ลูกค้าเข้าถึงดอกไม้ได้ในราคาสบายกระเป๋า เพียง 15 บาทคุณก็ได้กุหลาบงาม ๆ กลับบ้าน แถมอย่างน้อยแค่ผลักประตูเข้าร้าน คุณก็จะได้รู้จักดอกไม้มากกว่าเดิม

ก่อนมะลิบาน 

‘มะลิ’ เป็นชื่อที่คนลาวใช้เรียกปั้น เพราะ 8 ปีก่อนเธอเปิดร้านดอกไม้ที่นั่น มะลิบานไม่ได้เริ่มต้นเพราะปั้นอยากเปิดร้านดอกไม้ แต่เริ่มจากการอยากช่วยเกษตรกรคนลาวให้มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการปลูกดอกไม้ คำต่อท้ายอย่าง ‘บาน’ จึงหมายถึงยุ้งข้าวบานแรกที่ปั้นทำให้เกิดขึ้นในหมู่บ้านแห่งนั้น

Malibarn ร้านดอกไม้-หอพรรณไม้เล็ก ๆ ที่เชื่อว่าร้านดอกไม้ก็สนับสนุนเกษตรกรไทย และ Eco-friendly ได้

“มะลิบานเกิดขึ้นที่หลวงพระบาง เริ่มมาจากคำสัญญาที่ปั้นให้ไว้กับชาวบ้าน ถ้าเขาปลูกดอกไม้แล้วไม่มีคนซื้อ เราจะรับซื้อเอง จนเกิดร้านดอกไม้ที่นั่นขึ้นมา และด้วยความที่เราทำงานยูเนสโก เกี่ยวข้องกับมรดกโลก เลยมีโอกาสไปเที่ยวหลวงพระบาง จังหวะรถขับผ่านบ้านไม้หลังหนึ่งที่เพิ่งโดนไฟไหม้ เราหยุดดูว่ามันคืออะไร ปรากฏว่าเป็นโรงเรียนอนุบาล เด็ก ๆ นั่งกับพื้น โต๊ะพัง น้ำดื่มไม่สะอาด พ่อแม่ส่งลูกเรียนไม่ไหว เราก็คุยกับเพื่อนว่าทำยังไงดี ไม่สบายใจเลย จนกลับไปที่หมู่บ้านนั้นบ่อย ๆ แล้วถามถึงความต้องการว่าเขาต้องการอะไร ทำอาชีพอะไรกัน และสัญญาว่าจะสร้างโรงเรียนนี้ให้ภายในฤดูฝน

“ความตั้งใจแรกคือการระดมทุนค่าอาหารกลางวัน ค่าเทอมของเด็ก 28 คนในนั้น เราและเพื่อนอีก 27 คน รับผิดชอบค่าใช้จ่ายเด็กแต่ละคน พร้อมจ้างแม่ ๆ ของเด็ก ๆ มาทำอาหารเข้าครัว และปลูกสวนผัก แต่ติดที่ชาวบ้านเขาปลูกอะไรเหมือน ๆ กัน เช่น มี 10 หมู่บ้าน ปลูกลูกเดือยขายกิโลละ 6 บาททุกบ้าน เราเลยปิ๊งไอเดียขึ้นมาว่า งั้นชวนเขาเปลี่ยนสิ่งที่ปลูก ซึ่งเขาก็อยากลองปลูกดอกไม้ แต่ไม่มั่นใจเลยว่าใครจะรับซื้อ แต่เรามองเห็นว่าที่นั่นไม่ได้ห่างจากโรงแรมมากนัก ซึ่งคิดว่าโรงแรมเป็นลูกค้าของเขาได้ เราก็เลยรับปากว่า ไม่เป็นอะไรนะ เรามาลองด้วยกัน ถ้าไม่มีใครซื้อ เรารับซื้อเอง” เธอเล่าที่มาที่ไป

Malibarn ร้านดอกไม้-หอพรรณไม้เล็ก ๆ ที่เชื่อว่าร้านดอกไม้ก็สนับสนุนเกษตรกรไทย และ Eco-friendly ได้

ปั้นยกทัพเกษตรกรเชียงใหม่ไปช่วยเกษตรกรชาวลาว สอนวิธีปลูกดอกไม้ที่ไม่ต้องใช้ทักษะเยอะ เช่น เขาเคยปลูกเดือย หัวหอม ปั้นก็ให้เขาปลูกดอกไม้ที่เกิดจากหัว อย่างแกลดิโอลัส Magic Moment ที่เกิดขึ้นคือทุกอย่างราบรื่น เนื่องจากอากาศและดินบริเวณนั้นคล้ายเชียงใหม่พอดิบพอดี โรงแรมต่าง ๆ พากันเข้ามาซื้อดอกไม้ จากเคยได้รายได้กิโลกรัมละ 6 บาท ขยับเป็นกำละ 60 บาท ความสำเร็จที่ปั้นหว่านเมล็ดให้ชาวบ้านผ่านพ้นวันยาก ๆ ไปได้ จุดประกายจนอยากเปิดร้านดอกไม้ของตัวเองขึ้นมา

Malibarn ร้านดอกไม้-หอพรรณไม้เล็ก ๆ ที่เชื่อว่าร้านดอกไม้ก็สนับสนุนเกษตรกรไทย และ Eco-friendly ได้

“เราไปเช่าที่เปิดร้านดอกไม้ที่ลาวโดยที่ยังจัดดอกไม้ไม่เป็น (หัวเราะ) แต่ด้วยความที่มีเพื่อนต่างชาติเยอะ เขาก็ช่วยอุดหนุน ทำให้เราพัฒนาสกิลล์จัดดอกไม้ไปด้วย และตัดสินใจเรียนจัดดอกไม้เพิ่มกับครูคนไทย ครูญี่ปุ่น ครูเกาหลี ครูฝรั่งเศส และเจ้าของร้านดอกไม้ต่าง ๆ จนหาสไตล์ตัวเองเจอ

“เราเปิดร้านที่นั่น 5 ปี ลูกค้ามาจากโรงแรมและร้านกาแฟ มันก็อยู่ได้นะ รายได้เยอะแต่กำไรน้อย เพราะทำธุรกิจไม่เป็นเลยค่ะ (หัวเราะ) พอเรามีงานประจำอยู่แล้ว ก็ต้องย้ายกลับมาที่ไทยและล้มเลิกกิจการไป และไม่คิดจะเปิดอีกเลย เพราะไม่อยากทำธุรกิจดอกไม้ที่ต้องใช้โฟม ใช้พลาสติก

“พอกลับมาไทย เรายังมีฐานลูกค้าเก่าอยู่จำนวนหนึ่ง จนมาเจอ พี่อิ๊บ-คล้ายเดือน สุขะหุต เจ้าของ Slowcombo เขาชวนมาเปิดที่นี่ เราปฏิเสธไปหลายครั้ง แต่พี่อิ๊บเล่าว่าตึกนี้เน้นการใช้ชีวิตให้ช้าลง ลดขยะ ลดพลาสติก เราเริ่มเปิดใจและคิดหาความเป็นไปได้ว่าการเปิดร้านครั้งนี้จะต้องทำให้ดอกไม้ในร้านอีโค่ลดการใช้วัสดุทำร้ายธรรมชาติ ตั้งใจว่าต้องมีหอพรรณไม้และ Terrarium ให้ได้”

แล้วปั้นก็ทำมันให้เกิดขึ้นจริงตามที่เธอตั้งใจ

Malibarn ร้านดอกไม้-หอพรรณไม้เล็ก ๆ ที่เชื่อว่าร้านดอกไม้ก็สนับสนุนเกษตรกรไทย และ Eco-friendly ได้

มะลิบานช้า แต่อิมแพกต์ด้วย Slow Flower และ Eco-florist 

สิ่งแรกที่เห็นเมื่อเปิดประตูเข้าไปในร้านดอกไม้แห่งนี้คือมุมบาร์ดอกไม้แสนสวยให้เลือกซื้อไปจัดช่อเองที่บ้าน หรือให้ที่ร้านจัดช่อให้ก็ย่อมได้ ซึ่งปั้นตั้งใจแบ่งดอกไม้ตามทฤษฎีการจัดดอกไม้ โดยมีให้เลือกตั้งแต่ดอกไม้ดอกใหญ่ที่เป็นจุดดึงสายตา (Focal Flower) เช่น ไฮเดรนเยีย ทานตะวัน ดอกไม้ที่เล็กลงมาหน่อย มีความสำคัญเป็นอันดับ 2 (Secondary Flower) เช่น กุหลาบ ทิวลิป ถัดมาเป็นดอกไม้ที่ใช้สร้างฐาน ใบต่าง ๆ ไปจนถึงส่วนที่เติมช่อดอกไม้ให้เต็มอย่าง Baby’s Breath หรือดอกหญ้า เป็นต้น

ดอกไม้ทั้งหมดมาจากอ่างขาง เชียงใหม่ บางส่วนมาจากระยอง ถ้าเป็นจำพวกใบ มาจากนครปฐมบ้าง บางครั้งก็มาจากปากคลอง ปั้นจะเข้าไปสนับสนุนร้านขายดอกไม้ไทยโดยเฉพาะ รวม ๆ แล้วเธอบอกว่าที่นี่มีดอกไม้ราว ๆ 20 – 30 สายพันธุ์ เข้ามาเติม 2 ครั้งต่อสัปดาห์ ทุกวันอังคารและวันศุกร์ 

Malibarn ร้านดอกไม้-หอพรรณไม้เล็ก ๆ ที่เชื่อว่าร้านดอกไม้ก็สนับสนุนเกษตรกรไทย และ Eco-friendly ได้

แนวคิดการใช้ดอกไม้จากแหล่งปลูกในประเทศไทย เป็น 1 ใน 8 ความตั้งใจของปั้นที่อยากทำให้ร้านดอกไม้ของเธอตรงตามคอนเซปต์ Eco-florist ซึ่งล้อมาจากคำว่า Eco-friendly นั่นเอง

“เราเป็นหนึ่งใน Global Network ที่เรียกว่า Sustainable Floristry Network (SFN) เครือข่ายที่พยายามแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมโดยการเดินไปคนละทางกับอุตสาหกรรมดอกไม้ของโลก อุตสาหกรรมดอกไม้ที่ตัดดอกไม้มาใช้อย่างเลวร้าย เร่งสี ทำให้ทุกอย่างไม่เป็นไปตามธรรมชาติ และมีการขนส่งที่กระทบสิ่งแวดล้อมเยอะมาก ซึ่งเราก็นำหัวใจสำคัญ 8 ข้อมาเล่นกับคำว่า Slow Flower” 

 บางคนสงสัยว่าอะไรคือ ‘ดอกไม้ช้า’ หลัก ๆ ที่ปั้นแชร์ให้เราฟัง คือการทำให้ดอกไม้เติบโตอย่างช้า ๆ ตามธรรมชาติของมัน ไม่เร่งธรรมชาติโดยการเร่งสี เร่งให้รีบบาน หรือเร่งให้ตัดไปขายได้

ซึ่งมูฟเมนต์ 8 ข้อที่เธอนำมาใช้ในการทำร้านดอกไม้ มีความดีงามและน่าสนใจ ดังนี้

1. ใช้ดอกไม้จากแหล่งปลูกในประเทศไทยเท่านั้น 

2. ใช้ดอกไม้ตามฤดูกาล ไม่เร่ง ไม่ใช้สารเคมี ไม่อิงกระแสหลัก และไม่ Commercial 

“ร้านดอกไม้ส่วนใหญ่ในประเทศไทยมักใช้ดอกไม้นำเข้าจากเมืองนอก ราคาจึงสูง และพวกเขามักใช้ดอกไม้ตามเทรนด์ บางทีดอกไม้ชนิดนั้นไม่อยู่ในฤดูกาล เขาก็เอามาใช้อยู่ดี ดูเหมือนธุรกิจนี้จะรอธรรมชาติไม่ได้เลย จนทำให้เกิดปัญหาเรื่องน้ำ เพราะการปลูกพืชเชิงเดี่ยวต้องใช้น้ำเยอะมาก ยาฆ่าแมลง สารเคมีต้องเยอะสุด ๆ กว่าสีจะออกมาชัดขนาดนั้น หรือกว่าใบจะสมบูรณ์โดยไม่มีแมลงอะไรมากัดเลย 

“ลองคิดดูว่าเกษตรกรต้องสูดดมเคมีเข้าไปเยอะขนาดไหน ไม่ใช่แค่ทำลายธรรมชาติ แต่กำลังทำลายชีวิตคนไปด้วย” ปั้นเล่าให้ฟังถึงปัญหาของร้านดอกไม้ที่สร้างผลกระทบในหลายด้าน

Malibarn ร้านดอกไม้-หอพรรณไม้เล็ก ๆ ที่เชื่อว่าร้านดอกไม้ก็สนับสนุนเกษตรกรไทย และ Eco-friendly ได้

3. ลดคาร์บอนฟุตพรินต์จากการขนส่งทางอากาศ โดยการใช้ดอกไม้ในประเทศ

“ดอกไม้นำเข้าจากจีน ฮอลแลนด์ เคนยา หรือประเทศอื่น ๆ ต้องขึ้นเครื่องบินมา นั่นคือคาร์บอนฟุตพรินต์ที่เกิดขึ้นจากการขนส่ง ร้านเราจึงเลือกขนส่งทางรถที่ขนส่งอยู่แล้วในประเทศ”

4. ไม่ใช้โฟม

“การใช้โฟมในการจัดดอกไม้ ย่อยสลายยากมาก เราเปลี่ยนมาใช้ลวดกรงไก่แทน เพราะจริง ๆ ศิลปะการจัดดอกไม้ คือ Composition การหยิบจับเขามาอยู่ด้วยกัน ผสมสี ผสมรูปทรง จัดบาลานซ์ ถ้าเรายังใช้โฟมมันคงง่ายมาก แค่ปักดอกไม้ลงไปก็จบ เมื่อเราไม่ใช้โฟม เราเลยต้องใส่ถาดน้ำลงไปข้างใต้ เพื่อจัดดอกไม้ตามลวดกรงไก่ ทักษะมันยากกว่า ขนส่งให้ลูกค้าก็ยาก เวลาเราหาเด็กมาประจำที่ร้านก็ยากมาก เพราะหลายคนทำไม่เป็น ต้องมาฝึกฝนกันใหม่ ซึ่งลูกค้าก็พยายามเอาใจช่วยเราอยู่ค่ะ (ยิ้ม)” 

Malibarn ร้านดอกไม้-หอพรรณไม้เล็ก ๆ ที่เชื่อว่าร้านดอกไม้ก็สนับสนุนเกษตรกรไทย และ Eco-friendly ได้
Malibarn ร้านดอกไม้-หอพรรณไม้เล็ก ๆ ที่เชื่อว่าร้านดอกไม้ก็สนับสนุนเกษตรกรไทย และ Eco-friendly ได้

5. โปรโมตความหลากหลายทางชีวิต ให้ความรู้ทางพฤกษศาสตร์ด้วย Terrarium และ Herbarium

6. สนับสนุนเกษตรท้องถิ่น ซึ่งปั้นทำงานกับเกษตรกรที่ภาคเหนือมาแล้วเกือบ 10 ปี

7. มุ่งสู่ Zero Waste เน้นย้ำการลดพลาสติกและสนับสนุนการนำกลับมาใช้ใหม่ 

“งานแต่งงานเป็นงานที่ใช้ดอกไม้ครั้งเดียว รุ่งขึ้นก็ทิ้ง นั่นกลายเป็นการสร้างขยะอย่างหนึ่ง เราจึงต้องเอาพวกวัสดุต่าง ๆ มารีไซเคิล เช่น โบจากฟาง สำลีที่ถูกปั่นมาเป็น Biobase ทางชีวภาพ ทุกอย่างย่อยสลายได้ทั้งหมด และเราไม่ใช้พลาสเตอร์หรือสก็อตเทปมาจัดทรงดอกไม้

“เราพยายามทำให้ดอกไม้เป็นธรรมชาติที่สุด เพราะดอกไม้เวลาขึ้นตามทุ่งมันก็ไม่ได้เป๊ะขนาดนั้น เราจึงตั้งใจจัดทุกช่อเลียนแบบธรรมชาติ แต่ยังคำนึงถึงทฤษฎีการจัดดอกไม้อยู่” 

ร้านดอกไม้และหอพรรณไม้ย่านสามย่าน กับคอนเซปต์ Slow Flower & Eco-Florist เป็นมิตรกับธรรมชาติ คนปลูก ลูกค้า และโลกใบนี้

8. เปลี่ยนมายด์เซตของคนว่าดอกไม้ซื้อได้ทุกวัน

“ปกติคนซื้อดอกไม้เฉพาะโอกาสสำคัญ เช่น วันแห่งความรัก วันรับปริญญา วันเกิด แต่เราอยากให้คนซื้อดอกไม้ได้ทุกวันเหมือนซื้อผัก ซื้อนม ฉะนั้นราคาจึงต้องเข้าถึงได้ และพยายามเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคของคนไทยให้หันมาใช้ดอกไม้จากไทย เพราะดอกไม้ในไทยสวยมากเลยนะ 

“เราว่าส่วนหนึ่งที่คนซื้อดอกไม้ไม่ได้ทุกวันเพราะราคาแพง ตั้งแต่เราเปิดร้านมา ลูกค้าที่เยอะที่สุดคือกลุ่มนักศึกษา เพราะดอกไม้ร้านราคาเริ่มต้น 15 บาท ซึ่งในราคานั้นเขาได้กุหลาบสวย ๆ กลับไปแล้ว อย่างดอกเยอบีร่า เราขาย 25 บาท บางครั้งลูกค้าก็กังวลนะคะว่าเราจะมีรายได้ไหม

“เราอยากบอกว่าเราขายราคานี้ได้เพราะเราใช้ดอกไม้ไทย เราอยากทำให้ทุกคนเห็นว่า ถ้าหันมาใช้ดอกไม้ที่ปลูกภายในประเทศ มันราคาดีขนาดไหน และเรายืนยันว่าไม่ได้ขาดทุนค่ะ”

หอพรรณไม้ในร้านดอกไม้ ช่วยมะลิบานแบ่งบานความรู้

Fun Fact หนึ่งที่ได้รู้จากเจ้าของร้านดอกไม้คนเก่งคนนี้ คือปั้นอยากเป็นนักพฤกษศาสตร์มาตั้งแต่เด็ก แต่เธอไม่ได้เป็น เพราะสอบตกวิชาคณิตศาสตร์! ทว่านั่นไม่ได้เหนี่ยวรั้งให้เธอหยุดขวนขวายเรียนรู้ศาสตร์ทางพฤกษศาสตร์แม้แต่น้อย และดูจะเรียนรู้มากกว่าเดิมอีกหลายเท่าตัวด้วย

ร้านดอกไม้และหอพรรณไม้ย่านสามย่าน กับคอนเซปต์ Slow Flower & Eco-Florist เป็นมิตรกับธรรมชาติ คนปลูก ลูกค้า และโลกใบนี้

“เราไม่ได้เป็นนักพฤกษศาสตร์ เพราะระบบการศึกษาบ้านเรามันล้มเหลวจริง ๆ เราอยากเรียนพฤกษศาสตร์มาตั้งแต่เด็ก แต่ดันตกเลข เข้าสายวิทย์ไม่ได้ จึงหมดโอกาสไปเลย ทั้ง ๆ ที่การเรียนพฤกษศาสตร์ใช้แต่ชีววิทยา ฟิสิกส์ก็ไม่ต้องใช้ เราว่ามันทำลายความฝันของเด็ก ๆ ไปเยอะเลยนะ

“ถามว่าอินเรื่องนี้มานานหรือยัง ก็ไม่รู้เหมือนกันนะ แต่เราลึกซึ้งกับศาสตร์ทางพฤกษศาสตร์ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะโตมากับ Herbarium เพราะแม่ทำงานในหอพรรณไม้ เลิกเรียนก็ไปอยู่กับแม่ เห็นวิธีการทำงานของแม่ ได้เจอเพื่อนของแม่ที่เป็นนักพฤกษศาสตร์ทั่วโลก ทำให้เรารู้ว่าศาสตร์นี้เป็นคำตอบของธรรมชาติ มากไปกว่านั้น เวลาเราไปเดินป่า เราได้เห็นภูมิปัญญาชาวบ้าน การอยู่ร่วมกับธรรมชาติ เราจึงรู้ว่าธรรมชาติสัมพันธ์กับทุกชีวิต ทั้งคน สัตว์ หรือแม้แต่ธรรมชาติด้วยกันเอง

ร้านดอกไม้และหอพรรณไม้ย่านสามย่าน กับคอนเซปต์ Slow Flower & Eco-Florist เป็นมิตรกับธรรมชาติ คนปลูก ลูกค้า และโลกใบนี้
ร้านดอกไม้และหอพรรณไม้ย่านสามย่าน กับคอนเซปต์ Slow Flower & Eco-Florist เป็นมิตรกับธรรมชาติ คนปลูก ลูกค้า และโลกใบนี้

“พฤกษศาสตร์เป็นศาสตร์​ที่สร้างทักษะการสังเกต ความละเอียดลออ เราดูตั้งแต่ระดับการเรียงตัวของเส้นใบ ลักษณะขอบใบ การเรียงตัวของรังไข่บนและล่าง การเรียงตัวของเกสร การเรียงตัวของเมล็ด ต้องใช้ความใจเย็นมาก ๆ นักพฤกษศาสตร์ส่วนใหญ่เป็น Pure Science (วิทยาศาสตร์บริสุทธิ์) ที่เอามาเล่ากับคนอื่นไม่ได้ แต่เราอยากเป็นสื่อกลางที่ทำให้องค์ความรู้ทางพฤกษศาสตร์เข้าถึงเด็ก ๆ ได้ง่ายมากขึ้น โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมมะลิบานจึงมีหอพรรณไม้ในร้าน

“เราคิดว่าการสร้างมายด์เซตให้เด็กรุ่นใหม่รักธรรมชาติเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าไปบอกให้เขาปลูกต้นไม้ งดใช้พลาสติก เราว่ามันไม่เวิร์ก แต่ถ้าโยงให้เห็นว่าชีวิตของเรากับชีวิตต้นไม้ ดอกไม้ หรือธรรมชาติ เกี่ยวข้องกันยังไง การกระทำของเรากระทบเขาอย่างไร น่าจะทำให้เด็ก ๆ รักธรรมชาติมากขึ้น”

ร้านดอกไม้และหอพรรณไม้ย่านสามย่าน กับคอนเซปต์ Slow Flower & Eco-Florist เป็นมิตรกับธรรมชาติ คนปลูก ลูกค้า และโลกใบนี้
ร้านดอกไม้และหอพรรณไม้ย่านสามย่าน กับคอนเซปต์ Slow Flower & Eco-Florist เป็นมิตรกับธรรมชาติ คนปลูก ลูกค้า และโลกใบนี้

มะลิบานมี Herbarium ทั้งแบบแผงอัดและดองโหล สำหรับแบบแผงอัด ปั้นจำลองการเก็บพรรณไม้โดยนักพฤกษศาสตร์จริง ๆ ที่เข้าป่าไปเรียนรู้ แผงอัดพรรณไม้ใช้ในกรณีที่เราจำแนกพรรณไม้ไม่ได้ในพื้นที่ป่า นักพฤกษศาสตร์จึงต้องใช้วิธีการทับพรรณไม้เพื่อเอาความชื้นออก และเก็บเอาอวัยวะทุกอย่างของมันให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ และจัดในรูปแบบแผงอัดเพื่อใช้เป็นฐานข้อมูล หรือบางคนเวลาเข้าป่า อาจใช้วิธีสเกตช์เป็นภาพออกมา ซึ่งร้านมะลิบานก็มีภาพสเกตช์มากมายให้เด็ก ๆ เรียนรู้

หากอวัยวะบางอย่างของพรรณไม้ชนิดนั้น ๆ ทับลงบนแผงอัดไม่ได้ นักพฤกษศาสตร์จำเป็นต้องดองในโหล ในร้านมะลิบานก็มีให้ชมเหมือนกัน ตั้งแต่ว่านชักมดลูก ขิง ข่า หอม หม้อข้าวหม้อแกงลิง ดอกรัก บุก หางนกยูง พวงคราม บานชื่น มะลิ ฯลฯ บางชนิดปั้นก็เก็บมาจากริมรั้วบ้าน

ร้านดอกไม้และหอพรรณไม้ย่านสามย่าน กับคอนเซปต์ Slow Flower & Eco-Florist เป็นมิตรกับธรรมชาติ คนปลูก ลูกค้า และโลกใบนี้

“เราอยากให้เด็ก ๆ ใกล้ชิดธรรมชาติมากขึ้น ให้เขารู้ถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ เพราะพรรณไม้แต่ละชนิดบอกอะไรได้หลายอย่างมาก ๆ เช่น ยูคาลิปตัสบอกคุณภาพดินได้ ไม่นิยมปลูกกับพรรณไม้อย่างอื่น เพราะกินน้ำเยอะและเร็ว ถ้าเด็ก ๆ เห็นยูคาลิปตัสที่ไหน แสดงว่าข้างล่างอาจมีน้ำเยอะเป็นตัวบ่งชี้ หรือในป่ามีพืชที่เป็นตัวบ่งชี้หลายชนิดว่าฝนจะมาแล้วนะ ปีนี้จะแล้งนะ

“อย่างมะลิเป็นสัญญาณของฤดูฝน เพราะชอบน้ำ หญ้าดอกเลาเป็นสัญญาณของฤดูแล้ง สับปะรดชอบอยู่ในที่แห้ง ไม่ต้องใช้น้ำเยอะ หัวหอมขึ้นบนหิน ปลูกตามขั้นได้ ข้าวใช้น้ำเยอะ ดินต้องดี หรือไผ่เป็นที่อยู่ของหนอนต่าง ๆ ความรู้เหล่านี้ล้วนเป็นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติทั้งนั้น”

อีกทั้งการตั้งตู้ Terrarium ไว้กลางร้าน ปั้นบอกว่าแม้จะมีราคาสูง แต่เธอตั้งใจไว้แล้วว่าอยากมีระบบนิเวศจำลองให้เด็ก ๆ เรียนรู้ ภายในตู้มี Microorganism มีเฟิร์น มีมอสส์ ที่ผลิตความชื้น มีไฟที่แทนแสงแดด มีดินที่แทนอาหาร และมีสิ่งชีวิตจริง ๆ อาศัยอยู่ เช่น หอยทาก กบ และไอโซพอด 

ร้านดอกไม้และหอพรรณไม้ย่านสามย่าน กับคอนเซปต์ Slow Flower & Eco-Florist เป็นมิตรกับธรรมชาติ คนปลูก ลูกค้า และโลกใบนี้

“ระบบนิเวศคือการอยู่ร่วมกันในสังคมของพืช ทุกชีวิตมีหน้าที่ของมัน พึ่งพิงอาศัยกันและกัน ไม่ว่าจะเป็นหนอนที่ตัวเล็กแค่ไหน เขาก็มีหน้าที่ในการพรวนดิน ถ้าเป็นเห็ด เขาก็มีหน้าที่ย่อยสลายอะไรบางอย่าง ฝน แสงแดด พืชใหญ่ ต้นไม้ใหญ่ที่เป็นร่มไทร ทุกอย่างล้วนพึ่งพิงกันอย่างสมดุล”

นั่นทำให้ปั้นออกแบบกิจกรรมทำหอพรรณไม้ในขวดแก้ว (Herbarium Bottle) ทุกวันอังคาร และมีการเปิดรับเด็ก ๆ มาทัวร์ Terrarium และ Herbarium ภายในเวลา 2 ชั่วโมง อยู่เป็นประจำ

ร้านดอกไม้และหอพรรณไม้ย่านสามย่าน กับคอนเซปต์ Slow Flower & Eco-Florist เป็นมิตรกับธรรมชาติ คนปลูก ลูกค้า และโลกใบนี้

มะลิบานที่อยากให้คนเห็นคุณค่าของ ‘มะลิ’ 

นอกจากเวิร์กช็อปพาทัวร์หอพรรณไม้และเวิร์กช็อป Herbarium แล้ว มะลิบานยังมีเวิร์กช็อปจัดดอกไม้ในแจกัน และกิจกรรมไฮไลต์ซึ่งปั้นตื่นเต้นที่จะเล่าให้ฟังที่สุดคือเวิร์กช็อป ‘ร้อยมาลัย’ 

เพราะ หนึ่ง เธอเป็นแฟนดอกไม้ไทยเป็นทุนเดิม สอง เธออยากให้คนเห็นคุณค่าของดอกมะลิและพวงมาลัยให้มากขึ้น และสาม นี่คือการอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยในรูปแบบร่วมสมัย

“เราว่าดอกไม้ไทยมันเย้ายวน ส่วนตัวเป็นคนชอบดอกไม้หอม มะลิ ปีบ จำปา แก้ว โมก กุหลาบ พุด กรรณิการ์ จริง ๆ มันสวยนะ แต่เอามาจัดเป็นช่อไม่ค่อยได้ ดอกไม้ไทยแท้จึงมักอยู่ในมาลัย เราเล็งเห็นว่าดอกไม้เหล่านี้มีเสน่ห์และน่าเอามาต่อยอด บวกกับไม่อยากทิ้งวัฒนธรรมการร้อยมาลัยให้เป็นเรื่องเฉพาะของคนรุ่นเก่า เราเลยทำเวิร์กช็อปร้อยมาลัยที่วัยรุ่นก็ร้อยได้” เธอเล่าสิ่งที่ตั้งใจ

ร้านดอกไม้และหอพรรณไม้ย่านสามย่าน กับคอนเซปต์ Slow Flower & Eco-Florist เป็นมิตรกับธรรมชาติ คนปลูก ลูกค้า และโลกใบนี้
ร้านดอกไม้และหอพรรณไม้ย่านสามย่าน กับคอนเซปต์ Slow Flower & Eco-Florist เป็นมิตรกับธรรมชาติ คนปลูก ลูกค้า และโลกใบนี้

เวิร์กช็อปร้อยมาลัยของมะลิบานพิเศษตรงที่เป็นเทคนิคและทักษะจากวังหญิง ออกแบบมาให้ร่วมสมัย ใช้กลีบดอกรักตรงกลาง อุบะใช้กลีบกล้วยไม้ให้เหมือนดอกจำปา ปั้นบอกว่า

“นี่คือเวิร์กช็อปที่ป๊อปที่สุด ผลตอบรับดีมาก วัยรุ่นได้เห็นคุณค่าของพวงมาลัยจริง ๆ ว่าต้องผ่านการร้อยด้วยทักษะ มีเวลาที่ต้องเสียไป ซึ่งควรขายแพงกว่าช่อดอกไม้ตะวันตกด้วยซ้ำ ซึ่งมาลัยที่เรารับมา ก็มาจากกลุ่มคนที่ทำอาชีพนี้ ทำให้เขามีอาชีพต่อ ไม่เช่นนั้นอาชีพนี้ก็อาจน้อยลงเรื่อย ๆ”

ปั้นเล่าว่าสิ่งที่เธออยากขายแพงที่สุดในร้าน คือพวงมาลัย

เธอพยายามดันบาร์ราคาของพวงมาลัยให้ขึ้นไปประมาณ 1,800 – 2,500 บาท และคนที่มาเวิร์กช็อปร้อยมาลัยก็จะเข้าใจว่าทำไมพวงมาลัยถึงต้องขายในราคาสูง และปั้นยังย้ำกับเราด้วยว่า 

“แม้แต่มาลัยตามสี่แยกก็ไม่ควรราคา 20 บาท เพราะเป็นทักษะที่ควรขายได้ในราคาดีกว่านี้”

มะลิบานไม่ควรมีร้านเดียวในไทย

ตั้งแต่ต้นจนจบ หลายท่านคงได้ตอบคำถามในใจแล้วว่าความพิเศษของ Malibarn คืออะไร แต่สิ่งที่ปั้นวาดฝันไว้ไม่ใช่การเป็นร้านหนึ่งเดียวที่พิเศษ แต่เธออยากให้ประเทศไทยมีร้านดอกไม้อีโค่ที่คำนึงถึงธรรมชาติแบบนี้เกิดขึ้นอีกมากมาย และเธออยากลงแข่งขันการทำดีเพื่อโลกกับทุกร้านค้า

“การทำธุรกิจ ถ้าเอาหลักธรรมชาติมาใช้จริง ๆ ธรรมชาติไม่เคยแข่งขันกับใคร ต่างคนต่างโต และปรารถนาให้ทุกคนโตไปด้วยกัน เราพึ่งพิงกัน และธรรมชาติไม่เคยเร่ง ถึงฤดูกาลของเขา เขาก็บาน และหาวิธีที่จะใช้ชีวิตต่อไป เราเองก็เช่นกัน เราทำธุรกิจเพื่อให้มีชีวิตต่อไปได้โดยไม่ไปรบกวนธรรมชาติ

“เราอยากเป็นแรงบันดาลใจให้กับร้านดอกไม้ในไทย ให้หันมาใช้ดอกไม้ไทย ลดคาร์บอนฟุตพรินต์ ลดโฟม ลดการใช้ดอกไม้แบบครั้งเดียวทิ้ง เพราะมันคือ Slow Flower ที่เราพูดถึงมาตลอด”

ร้านดอกไม้และหอพรรณไม้ย่านสามย่าน กับคอนเซปต์ Slow Flower & Eco-Florist เป็นมิตรกับธรรมชาติ คนปลูก ลูกค้า และโลกใบนี้

ปั้นยอมรับว่าธุรกิจงานแต่งงานให้รายได้ที่เยอะมากและส่งผลดีกับร้านดอกไม้อยู่แล้ว แต่เธอมองว่านอกจากดีแค่กับเจ้าของธุรกิจ มันจะดีกับคนอื่น ๆ ได้อีกหรือเปล่า การซื้อดอกไม้ที่มะลิบาน แน่นอนว่าจะดีต่อชีวิตเกษตรกรและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม พร้อมต่อยอดความรู้ทางพฤกษศาสตร์

“เราพยายามยืดอายุดอกไม้ให้นานที่สุด ให้เขามีเวลากินน้ำ มีชีวิตยาวขึ้น อนาคตเราจะมี Flower Tag บอกวิธีการยืดอายุดอกไม้ เช่น ควรตัดก้านทุกวันนะ เปลี่ยนน้ำทุกวันนะ เพราะเราไม่อยากให้คนซื้อดอกไม้ไปวันเดียวแล้วก็ทิ้ง มีครั้งหนึ่ง เราเคยรับจัดดอกไม้ในงานแต่งงาน หลังจบงานเราก็เอาดอกไม้มาขายต่อที่ร้านเพราะมีดอกที่ยังสวยอยู่ หรือไม่ก็เอามาทำดอกไม้แห้ง ใส่น้ำมันแร่เอาไว้

“ถ้าบ้านเรามีร้านดอกไม้แบบนี้ในประเทศไทย อาจเริ่มจาก 10 ร้านก่อน ก็จะช่วยลดพฤติกรรมบริโภคบางอย่างที่ท็อกซิกได้ เมื่อเกิด 10 ร้านคล้าย ๆ กัน เราเชื่อว่าจะมีธุรกิจเล็ก ๆ เกิดขึ้นอีกมาก ต้นทุนก็ต่ำลง และเกิดการแข่งขันเพื่อสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่แข่งขันเพื่อกำไรแต่ทำลายสิ่งแวดล้อม สิ่งสำคัญคือธุรกิจของเราก็ต้องไปได้ด้วยนะ ถ้าไปไม่ได้ ร้านอื่นก็ไม่ทำตาม เราจึงต้องรับภาระตรงนี้ไปก่อนในช่วงแรก

ร้านดอกไม้และหอพรรณไม้ย่านสามย่าน กับคอนเซปต์ Slow Flower & Eco-Florist เป็นมิตรกับธรรมชาติ คนปลูก ลูกค้า และโลกใบนี้

“เวลาลูกค้าเข้ามาซื้อดอกไม้ที่ร้าน เขาอาจจะซื้อเพราะความสวยของดอกไม้ ซื้อด้วยปรัชญาที่เราใช้ ซื้อเพราะอยากมีส่วนช่วยสิ่งแวดล้อมและเกษตรกร หรือซื้อเพราะอยากเป็นกำลังใจให้เราไปลงทุนเรื่องความรู้ทางวิทยาศาสตร์และพฤกษศาสตร์แล้วมาส่งต่อเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเหตุผลไหน เราดีใจทั้งหมดค่ะ”

รายได้ส่วนหนึ่งของมะลิบาน ทุกปีจะถูกนำส่งไปทำแนวกันไฟป่าให้กับเกษตรกรชาวปกาเกอะญอ ที่ปั้นทำงานร่วมด้วย โดยการส่งต่อองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับชื่อพรรณไม้ให้กับพวกเขา ขณะเดียวกันพวกเขาก็แลกเปลี่ยนความรู้ทางภูมิปัญญาที่มีมากกว่าคนนอกป่าด้วยซ้ำ

สิ่งเดียวที่ปั้นคาดหวังให้ผู้มาเยือนมะลิบานได้รับกลับไป คือความรู้สึกดี ๆ ที่ได้ใกล้ชิดกับดอกไม้ และธรรมชาติ ณ ร้านดอกไม้ในเมืองหลวงนี้ ไม่ว่าจะซื้อกลับไปหรือแค่แวะเวียนผ่านมาเห็นความตั้งใจ และได้รับความรู้เรื่องพรรณไม้กลับไปไม่มากก็น้อย เธอถือว่านี่คือความสำเร็จของมะลิบานแล้ว

ร้านดอกไม้และหอพรรณไม้ย่านสามย่าน กับคอนเซปต์ Slow Flower & Eco-Florist เป็นมิตรกับธรรมชาติ คนปลูก ลูกค้า และโลกใบนี้
Malibarn: eco-florist & herbarium
  • Slowcombo จุฬาลงกรณ์ซอย 50 ถนนมหานคร แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ (แผนที่)
  • เปิดวันอังคาร-วันเสาร์ เวลา 10.00 – 19.00 น. วันอาทิตย์ เวลา 09.00 – 19.00 น. (หยุดวันจันทร์)
  • 06 1958 0801
  • Malibarn: eco-florist & herbarium

Writer

Avatar

พัชญ์สิตา ไพบูลย์ศิริ

นัก (ชอบ) เขียนบ้ากล้องที่ชอบถ่ายรูปตัวเองเป็นพิเศษ เสพติดเสียงธรรมชาติ กลิ่นฝน และสีเลือดฝาดบนใบหน้า ที่ใช้เวลาเขียนงานไปพร้อมๆ กับติ่งอปป้าอย่างใจเย็น

Photographer

ภรัณยู วรรณศรีพิศุทธิ์

ภรัณยู วรรณศรีพิศุทธิ์

นักศึกษาเอกญี่ปุ่นจากมหาสารคาม สนใจภาพถ่าย ชีวิตขับเคลื่อนด้วยเสียงเพลง อยากมีเงินไปมิวสิกเฟสติวัลเยอะๆ