22 กุมภาพันธ์ 2023
2 K

รู้หรือไม่ มีพื้นที่เลียบคลองในกรุงเทพฯ มากมายที่ยังไม่ได้รับการพัฒนาอย่างเหมาะสม

และรู้หรือไม่ พื้นที่เลียบคลองที่เคยถูกมองข้ามเหล่านี้ พัฒนาเป็นพื้นที่สาธารณะที่มีประสิทธิภาพให้กับชุมชนได้ ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้คนดีขึ้นได้ หากเกิดความร่วมมือกันระหว่างหลายภาคส่วน

we!park เป็นแพลตฟอร์มเชื่อมโยงผู้คนกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้มีส่วนร่วมในการออกแบบพื้นที่สาธารณะ พวกเขาทำงานกันมาหลายปี และพัฒนาพื้นที่รกร้างเป็น Pocket Park มากมายหลายพื้นที่

คราวนี้ ยศพล บุญสม แห่ง we!park และ Shma จะมาเล่าถึงโปรเจกต์ล่าสุดเนื่องใน Bangkok Design Week 2023 ที่ชื่อว่า ‘Green Hacker’ ที่ทำงานผ่านแนวคิด Guerrilla Gardening หรือการทำสวนแบบกองโจร โจรกรรม 5 พื้นที่ในกรุงเทพฯ เปลี่ยนเป็นพื้นที่สาธารณะ โดยมีการพัฒนาพื้นที่ริม ‘คลองเป้ง’ คลองที่ถูกลืมแห่งเอกมัย-ทองหล่อ ย่านเก๋ซึ่งรวมสถานที่แฮงก์เอาต์ทั้งกลางวันกลางคืนเอาไว้เป็นไฮไลต์

คุยกับ ยศพล บุญสม แห่ง we!park ถึงปฏิบัติการพลิก ‘คลองเป้ง’ และโปรเจกต์ Green Hacker ปรับปรุงพื้นที่สาธารณะในกรุง เนื่องใน BKKDW2023

ปฏิบัติการครั้งนี้ต่างจากที่ we!park ทำเป็นปกติ ตรงที่มีระยะเวลาทำงานสั้นลง จากเดิมที่ทำประมาณ 3 – 4 เดือน ก็เหลือประมาณ 1 เดือน ชวนผู้คนจากหลายฝ่ายมารวมกัน กระตุ้นให้เกิด ‘บทสนทนา’ ในช่วงดีไซน์วีก และนำไปพัฒนาต่อเนื่องให้เกิดขึ้นจริงในที่สุด

คุยกับ ยศพล บุญสม แห่ง we!park ถึงปฏิบัติการพลิก ‘คลองเป้ง’ และโปรเจกต์ Green Hacker ปรับปรุงพื้นที่สาธารณะในกรุง เนื่องใน BKKDW2023
คุยกับ ยศพล บุญสม แห่ง we!park ถึงปฏิบัติการพลิก ‘คลองเป้ง’ และโปรเจกต์ Green Hacker ปรับปรุงพื้นที่สาธารณะในกรุง เนื่องใน BKKDW2023

“เราไม่เคยทำพื้นที่เลียบคลองมาก่อนเลย” ยศพลเล่าถึงความแปลกใหม่ในการทำงาน

ที่พิเศษคือแนวคิดของ we!park พวกเขาเชื่อว่า การทำงานครั้งนี้ไม่ใช่แค่การพัฒนาคลองเป้งเท่านั้น แต่จะเป็นการวางระบบครั้งใหญ่ที่พาให้คลองอื่น ๆ รวมถึงพื้นที่เล็ก ๆ น้อย ๆ ประเภทอื่น ๆ มากมายในกรุงเทพฯ ได้เฉิดฉายตามไปด้วย

ไปฟังเขาเล่าเต็ม ๆ กันได้ กับคอลัมน์ Public Space ในครั้งนี้

“ไม่ได้อยากให้เป็นแค่อีเวนต์จบไป เราอยากพัฒนาให้ต่อเนื่อง”

หลังจบ Bangkok Design Week 2023 เทศกาลดีไซน์ใหญ่ของกรุงเทพฯ ในปีที่มีกิจกรรมพัฒนาเมืองผุดขึ้นมากว่า 500 กิจกรรม เราก็มีโอกาสได้นั่งคุยกับ พี่ยศ หัวหอกอีกคนของวงการคนทำงานเมือง ในค่ำหลังเลิกงานวันหนึ่ง โดยมีโปรเจกต์คลองเป้งเป็นเหตุ

เอกมัย-ทองหล่อ เป็นที่รู้จักกันดีในแง่แหล่งแฮงก์เอาต์ที่เหล่าคนอายุน้อยชื่นชอบ ที่นี่มีทั้งคาเฟ่สวย ๆ ให้นั่งในเวลากลางวัน ผับบาร์ให้เที่ยวในเวลากลางคืน ทั้งยังมีคอมมูนิตี้มอลล์ ดีไซน์สโตร์ และสตูดิโอออกแบบชั้นนำของประเทศมากมาย แต่สิ่งที่ยังขาดไป คือพื้นที่สาธารณะและพื้นที่สีเขียวที่มีประสิทธิภาพ 

เพราะฉะนั้น คลองเป้งจึงน่าสนใจ

คุยกับ ยศพล บุญสม แห่ง we!park ถึงโปรเจกต์ Green Hacker ปรับปรุงพื้นที่สาธารณะในกรุง เนื่องใน BKKDW2023

คลองเป้ง ไอเทมลับของย่าน เป็นคลองระบายน้ำ พาดตัวยาว 1 กิโลเมตรกว่า ๆ อยู่กลางย่าน คอยระบายน้ำในเขตวัฒนาลงสู่คลองแสนแสบ แม้ระบบที่ทำไว้จะยังไม่ค่อยดีก็ตาม 

คลองเป้งก็เหมือนคลองระบายน้ำเฉา ๆ ทั่วไปที่ไม่เคยได้รับความสนใจมาก่อน แต่เมื่อ Shma ทำกิจกรรม Green Finder และเดินสำรวจกับเหล่าอาสาสมัคร ก็ได้มาเจอกับคลองเป้งและมองเห็นศักยภาพมากมายของมันหากได้รับการพัฒนาอย่างเหมาะสม

“ประจวบกับ UddC เคยศึกษาศักยภาพคลองเป้งเอาไว้ด้วย” ยศพลเสริม โชคดีที่เขามีเครือข่ายคนทำงานเมืองซึ่งจะแบ่งปันข้อมูลที่มีประโยชน์กันได้ 

ริมคลองเป้งมีชาวบ้านตั้งบ้านเรือนอาศัยอยู่ไม่น้อย แม้ว่าจะมีต้นไม้ใหญ่เยอะเพราะไม่มีใครมาเอาออก มีร่มเงาของตึกสูง แต่ด้วยทางเดินริมคลองเดิมที่ทั้งแคบ เดินยาก และเปลี่ยว จากการที่กลายเป็นหลังบ้าน จึงไม่เอื้อให้ชาวบ้านรวมถึงคนที่ผ่านไปผ่านมาใช้เดินได้สะดวกนัก

“หลัง ๆ นี่ สำนักงานเขตกับ กทม. เริ่มเข้าไปปรับปรุงบ้างแล้ว ภาคการศึกษา ภาควิชาชีพก็สนใจ มันเริ่มดูมีความพร้อมขึ้นมา” ยศพลกล่าว “เราอยากใช้ดีไซน์วีกเป็นโอกาสในการ ‘เคาะ’ สิ่งที่จะทำกับคลองเป้ง และใช้โอกาสนี้ในการรวมคนมาทำด้วยกัน”

คุยกับ ยศพล บุญสม แห่ง we!park ถึงโปรเจกต์ Green Hacker ปรับปรุงพื้นที่สาธารณะในกรุง เนื่องใน BKKDW2023

we!park, Shma และ Shma SoEn เริ่มต้นทำงานจากการชวนนิสิตจากภาควิชาภูมิสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาสำรวจและช่วยกันคิดหาไอเดียในการปรับปรุงพื้นที่ โดยมีระยะ 400 เมตรแรกของคลองเป็นเป้าหมาย

ผลลัพธ์ที่ออกมาในทางกายภาพ คือไอเดียในการขยายทางเดินเท้าริมคลองให้เดินสะดวก นอกจากปิดทึบก็มีการใช้ตะแกรงมาช่วย เพื่อให้แสงยังส่องถึงคลองได้ จากเดิมที่สำนักงานเขตเข้ามาพัฒนา Pocket Park 1 จุดก็เพิ่มไปอีก 1 จุด เพื่อเป็น ‘เพื่อนระหว่างการเดิน’ และเป็น Destination ให้คนเดินริมคลอง รวมถึงมีการทำสะพานข้ามคลองที่ทำให้เกิด Connectivity มากขึ้นด้วย

“เราเน้นเรื่องแสงสว่างและความปลอดภัย การเดินริมคลองต้องมี Eyes on Street” ยศพลพูดถึงหลักการหนึ่งในการออกแบบเมือง Eyes on Street หมายถึง การแก้จุดบอดของย่านด้วยการสร้างการเข้าถึง การถูกมองเห็น และการทำให้เกิดกิจกรรมต่าง ๆ ในพื้นที่ “มีไอเดียการบำบัดพืชน้ำด้วยพืชบำบัดหรือการใช้ Mechanic มาช่วยด้วย”

คุยกับ ยศพล บุญสม แห่ง we!park ถึงโปรเจกต์ Green Hacker ปรับปรุงพื้นที่สาธารณะในกรุง เนื่องใน BKKDW2023
คุยกับ ยศพล บุญสม แห่ง we!park ถึงโปรเจกต์ Green Hacker ปรับปรุงพื้นที่สาธารณะในกรุง เนื่องใน BKKDW2023

ไอเดียบางส่วนได้ถูกทำเป็นม็อกอัปโดยมีงบสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ มีเฟอร์นิเจอร์มือสองจากทาง IKEA มาวางใน Pocket Park มีสำนักงานเขตสนับสนุนเรื่องต้นไม้ มีคอมมูนิตี้มอลล์ @EKKAMAI สนับสนุนเรื่องสะพานข้ามฝั่งคลองที่พวกเขาอยากทำมานานแล้ว และทุบกำแพงที่กั้นระหว่างคลองเป้งกับคอมมูนิตี้มอลล์แล้วทำประตูแทน เพื่อการเชื่อมต่อที่มากขึ้น

มี UddC เป็นพาร์ตเนอร์ร่วมขับเคลื่อนพื้นที่ มีกลุ่มสนใจเป็นพาร์ตเนอร์ด้านการทำกระบวนการมีส่วนร่วมกับชุมชน มีการสนับสนุนจากบ้านและสวน ทั้งนี้ยังมีศิลปินกราฟฟิตี้ นำโดย Alex Face ชวนเพื่อนต่างชาติมาเพนต์กำแพงเพื่อสร้างความมีชีวิตชีวาให้พื้นที่ด้วย

“จริง ๆ แล้ว มีหลายภาคส่วนที่อยากทำงานพัฒนาพื้นที่คลองอยู่แล้ว แต่ไม่มีใครเริ่ม ไม่รู้จะเริ่มยังไง เมืองต้องการตัวกลางบางอย่าง และ we!park ก็เป็นหนึ่งในตัวกลางนั้น” ยศพลเผย

คุยกับ ยศพล บุญสม แห่ง we!park ถึงโปรเจกต์ Green Hacker ปรับปรุงพื้นที่สาธารณะในกรุง เนื่องใน BKKDW2023

การช่วยกันคิดระหว่าง we!park และนิสิตสถาปัตยฯ นั้นเกิดขึ้นก่อนดีไซน์วีก แล้วนำไปสู่ดีเดย์ช่วงดีไซน์วีกที่ทุกคนจะมามุงคลองเป้งกันพร้อมหน้า และให้ความเห็นว่าสิ่งที่นิสิตคิดมานั้น เวิร์กหรือไม่เวิร์กยังไงบ้าง

ในวันนั้น มี ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ สน.ทองหล่อ และ @EKKAMAI มาให้ความเห็น มีการเปิดบอร์ดรับฟังความเห็นชาวบ้าน ว่าด้วยเรื่องการเชื่อมโยงของย่าน การรับรู้การมีอยู่ของคลอง ความปลอดภัย กลิ่น เสียง มีการเล่าให้ท่านทูตและสถานทูตเนเธอร์แลนด์ฟัง ด้วยเป็นสถานทูตที่มีเป้าหมายด้านการเชื่อม Connectivity ในเมืองอยู่แล้ว

“สเตปต่อไปคือเราต้องนำไอเดียได้มาไประดมทุนต่อ” เขาพูดถึงอีกขั้นตอนสำคัญที่จะทำให้โปรเจกต์นี้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาได้ “เรื่องทุน อาจจะต้องมาจากทั้งรัฐและเอกชน รัฐอาจเป็นเจ้าภาพในเรื่อง โครงสร้างพื้นฐานหลัก ๆ ส่วนการปรับปรุงพื้นที่อย่างอื่น จริง ๆ เอกชนก็มีศักยภาพนะ”

เมื่อการปรับปรุงคลองเป้งเสร็จสิ้น ทีมงานคาดหวังว่าพฤติกรรมการเดินในย่านจะเปลี่ยนไป มีพื้นที่สาธารณะที่ไม่ต้องเสียเงินเข้ามากขึ้น จากเดิมที่พนักงานต้องไปนั่งคาเฟ่ตลอด คุณภาพน้ำ สิ่งแวดล้อม อากาศจะดีขึ้น ส่วนเด็ก ๆ ชาวเอกมัย-ทองหล่อ ก็จะมีที่วิ่งเล่นที่มีคุณภาพ 

เขาบอกว่า Pocket Park ที่ทำม็อกอัปไว้ยังไม่ได้มีโปรแกรมกิจกรรมมากเท่าไหร่ แต่หากทำจริงก็อยากใส่เข้าไปเพิ่มเติม เพิ่มตัวเลือกให้ผู้คนทุกเพศ ทุกวัย ทุกนิสัย

“ขยับไม่กี่จุด แต่เกิดอิมแพกต์สูงได้” ยศพลว่า

คุยกับ ยศพล บุญสม แห่ง we!park ถึงโปรเจกต์ Green Hacker ปรับปรุงพื้นที่สาธารณะในกรุง เนื่องใน BKKDW2023
คุยกับ ยศพล บุญสม แห่ง we!park ถึงโปรเจกต์ Green Hacker ปรับปรุงพื้นที่สาธารณะในกรุง เนื่องใน BKKDW2023

“ที่พูดกันเรื่องสวน 15 นาที ทุกคนต้องเข้าถึงสวนได้ภายใน 15 นาที ริมคลองก็เป็นสวน 15 นาทีได้นะ พื้นที่ Linear ทำหน้าที่ได้หลายบทบาท ทั้งช่วยเรื่อง Connectivity ทั้งเป็นสวนด้วย”

จากกระบวนการทั้งหมดที่ผ่านมา คิดว่าขั้นตอนไหนที่ท้าทายที่สุด – เราถาม

“ท้าทายที่สุดคือการโน้มน้าวให้ทุกคนเห็นภาพว่า สิ่งที่ทำมันจะเกิดอิมแพกต์กับพื้นที่นี่แหละ โดยเฉพาะเพื่อนบ้านที่อยู่ริมคลอง ถ้าคนในเห็นพ้อง ก็ง่ายต่อการที่คนอื่นจะมาร่วมด้วย”

แล้วถ้าพูดถึงกระบวนการที่จะทำต่อไปล่ะ ขั้นตอนไหนที่ท้าทาย

“การประกอบร่างให้ตอบโจทย์ทุกฝ่ายท้าทายที่สุดเลย เพราะแต่ละฝ่ายก็กังวลกันคนละเรื่อง เราจะวางน้ำหนักให้พอดีความต้องการยังไง” ยศพลตอบอย่างไม่ลังเล “ที่สำคัญอีกเรื่องคือ เราต้องดูแลรักษาพื้นที่สาธารณะให้ยั่งยืนด้วย โดยเริ่มจากกระบวนการแรกที่ให้ผู้คนได้ลงมือ มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น จะได้มีความรู้สึกเป็นเจ้าของพื้นที่”

เขาพูดอย่างคนที่ตกผลึกจากการทำงานมาแล้ว และเราเชื่อว่าด้วยประสบการณ์มากมายที่ผ่านมา we!park จะจัดการทุกเรื่องที่พูดได้เป็นอย่างดี

คุยกับ ยศพล บุญสม แห่ง we!park ถึงโปรเจกต์ Green Hacker ปรับปรุงพื้นที่สาธารณะในกรุง เนื่องใน BKKDW2023

สำหรับอีก 4 พื้นที่ในโครงการ ได้แก่

การปรับปรุงพื้นที่ลานกีฬาโรงเรียนกุหลาบวิทยา เป็นการทำให้ลานคอนกรีตมีโปรแกรมของการใช้งานมากขึ้น จากเดิมที่มีปัญหาไม่มีที่สำหรับเด็กผู้หญิง และเด็กที่โตเกินจะใช้สนามเด็กเล่น

การทำพื้นที่สาธารณะแห่งใหม่ สวนจักรพรรดิ์ ให้กับชุมชนนางเลิ้ง นำพื้นที่ที่เคยไฟไหม้มาปรับเป็น Urban Farm มีพื้นที่เรียนรู้เรื่องฟาร์มและการแยกขยะ ช่วยเรื่องความมั่นคงทางอาหารของชุมชน

การพัฒนาพื้นที่ชุ่มน้ำประดิพัทธ์ 19 ทำให้ผู้คนเห็นความสำคัญของพื้นที่ลักษณะนี้ ซึ่งเป็นสวน 15 นาทีอีกประเภทที่ให้ธรรมชาติเป็นใหญ่ แล้วให้คนเข้าไปมีประสบการณ์กับพื้นที่

และสวนป่าเอกมัย ที่ we!park เข้าไปพัฒนาอยู่แล้ว แต่ชวนผู้คนให้ไปเพนต์ทางเข้าสวนเพิ่ม เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างเครือข่าย

คุยกับ ยศพล บุญสม แห่ง we!park ถึงโปรเจกต์ Green Hacker ปรับปรุงพื้นที่สาธารณะในกรุง เนื่องใน BKKDW2023

we!park ไม่อยากให้ Green Hacker เป็นแค่กิจกรรมหนึ่งในดีไซน์วีกแล้วก็จบไป แต่อยากให้เป็นโครงการที่ทำจนเห็นผลจริงได้ 

และพวกเขาก็ไม่อยากให้คลองเป้งเป็นแค่อีกหนึ่งโปรเจกต์พื้นที่สาธารณะเท่านั้น แต่อยากให้เป็น ‘โมเดล’ ให้กับการพัฒนาพื้นที่ริมคลองอื่น ๆ ต่อไป ทั้งทางการออกแบบเชิงกายภาพ และทางด้านระบบการทำงานร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ

“คลองหลังถนนบรรทัดทองก็น่าทำนะ จากน้ำเน่า ๆ รก ๆ ถ้าทำให้ดีก็จะเพิ่มศักยภาพของย่านได้” เขาตอบเมื่อเราถามว่า we!park เล็งคลองไหนไว้อีกบ้าง “คลองต่าง ๆ ไม่ได้รับการพัฒนาเพราะมันกลายเป็นหลังบ้านเปลี่ยว ๆ ไป ไม่ปลอดภัย ไม่มี Eyes on Street เมืองกลายเป็นเมืองรถยนต์ ถ้าพัฒนาคลองได้ก็จะดีมาก”

ยศพลบอกว่า จริง ๆ แล้วการพัฒนาคลองเป็นหน้าที่ของหลายฝ่าย สำนักระบายน้ำ สำนักสิ่งแวดล้อม สำนักงานเขต ก็ล้วนเกี่ยวข้องทั้งนั้น แต่ที่ผ่านมาทุกฝ่ายต่างทำหน้าที่ของตัวเอง ไม่ได้มีการมองแบบบูรณาการหรือมีการรวมศาสตร์แล้วพัฒนาร่วมกัน

คุยกับ ยศพล บุญสม แห่ง we!park ถึงโปรเจกต์ Green Hacker ปรับปรุงพื้นที่สาธารณะในกรุง เนื่องใน BKKDW2023

สิ่งที่เขามุ่งหวังคือทำให้การพัฒนาพื้นที่สาธารณะเป็นภารกิจร่วมของหลายฝ่าย มีเครือข่ายทำงานและมีตัวกลางช่วยประสาน มากไปกว่านั้น คือการลงทุนสร้าง ‘ระบบ’ ที่แข็งแรง มีการกำหนดนโยบายจริง ๆ จัง ๆ อบรมบุคลากร และกำหนดงบประมาณ 

“ถ้าเราไปมุ่งในเชิงปริมาณ แล้วไม่ดูระบบ พอผู้ว่าฯ ท่านไป ก็ไม่มีคนที่มากำชับแล้วแหละว่าต้องทำ” ยศพลกล่าวถึงปัจจัยหลักของปัญหา

“ถ้าระบบมันชัดว่าเมืองมีตัวชี้วัดอันนี้ มีข้อมูลปรากฏชัดเจนว่าเมืองต้องลด PM 2.5 ต้องดูดซับน้ำ ทำให้ต้องการกี่สวน มีที่ร้างตรงไหนทำได้บ้าง แล้วก็ทำให้มีคนทำงานที่มากไปกว่ารัฐ ทุกฝ่ายรู้ระบบการทำงานและบทบาทของตัวเองจากการกำหนดอย่างชัดเจนของรัฐ การผลิตพื้นที่สาธารณะสีเขียวก็จะเดินได้เอง”

คุยกับ ยศพล บุญสม แห่ง we!park ถึงโปรเจกต์ Green Hacker ปรับปรุงพื้นที่สาธารณะในกรุง เนื่องใน BKKDW2023

มาถึงตรงนี้ก็กระจ่างขึ้นมาทันทีว่า ประเทศอื่นที่มีพื้นที่สาธารณะที่มีคุณภาพนั้นมีที่มาที่ไปอย่างไร และเราขาดอะไรถึงยังไปถึงจุดนั้นไม่ได้

ยศพลเองไม่ได้แค่พูด แต่เขาและทีมกำลังจะก่อตั้งเครือข่ายรวมตัวคนทำงานเมืองในหลายภาคส่วนทั้งรัฐและเอกชนขึ้นมา เพื่อขับเคลื่อนในมิติต่าง ๆ ที่ใหญ่กว่า Pocket Park ที่ we!park ทำอยู่แล้ว และสร้างระบบที่ว่าให้เกิดขึ้นจริง

หวังว่าต่อไปจะมีพื้นที่สาธารณะหลากประเภทผุดขึ้นมาอีกมากมาย จากการร่วมมือของทุกฝ่าย ไม่ใช่แค่ริมคลองเท่านั้น

คุยกับ ยศพล บุญสม แห่ง we!park ถึงโปรเจกต์ Green Hacker ปรับปรุงพื้นที่สาธารณะในกรุง เนื่องใน BKKDW2023
คุยกับ ยศพล บุญสม แห่ง we!park ถึงโปรเจกต์ Green Hacker ปรับปรุงพื้นที่สาธารณะในกรุง เนื่องใน BKKDW2023

ภาพ : we!park

Writer

พู่กัน เรืองเวส

พู่กัน เรืองเวส

อดีตนักเรียนสถาปัตย์ สนใจใคร่รู้เรื่องผู้คนและรูปแบบการใช้ชีวิตอันหลากหลาย ชอบลองทำสิ่งแปลกใหม่ พอ ๆ กับที่ชอบนอนนิ่ง ๆ อยู่บ้าน