14 กุมภาพันธ์ 2024
5 K

“หนูยังรู้จักรักข้ามโขงอยู่อีกเหรอ” แก้วสิริ สมพร หรือ แก้วสิริ เอเวอร์ริ่งแฮม คุณแม่ของนักแสดงแนวหน้าของวงการ อนันดา เอเวอร์ริ่งแฮม ถามด้วยความประหลาดใจ 

เราตอบเธอกลับไปอย่างสัตย์จริงว่ายังมีผู้ใหญ่เล่าให้ฟังบ้าง แต่หากพูดถึงภาพยนตร์ฮอลลีวูดเรื่อง Love Is Forever (ปี 1983) ที่นำวีรกรรมรักบันลือโลกของจริงมาสร้าง เราไม่เคยดู

แล้วคุณล่ะ เคยดูหรือเคยได้ยินเรื่องราวของคู่รักสาวชาวลาวกับหนุ่มช่างภาพชาวออสเตรเลียที่ดำน้ำข้ามโขงหนีสงครามมายังประเทศไทยบ้างไหม

หลังได้ที่นั่งสนทนาท่ามกลางผู้คนพลุกพล่านในงาน Talk of The Cloud : The Little Prince Planet ในวาระครบรอบ 80 ปี เจ้าชายน้อย ซึ่ง แม่แก้ว (เราเรียกเธออย่างนั้น) มาเป็นอาสาสมัครอ่านเวอร์ชันภาษาลาว คุณแม่ในวัย 71 ปีก็เริ่มเล่าถึงข้อความที่อดีตสามี จอห์น เอเวอร์ริ่งแฮม เพิ่งส่งมา

“เขาบอกว่าดีแล้วนะที่ผ่านชีวิตมาได้ถึงเลข 7

“ชีวิตล้มลุกคลุกคลาน แต่ก็เป็นประสบการณ์ของเรา ถึงแม้จะแยกย้ายกันไป แต่ยังมีความสุข ครอบครัวเรานัดเจอกันทุกปี คุณจอห์นมาหาไม่เคยขาด เรียกว่าเป็นสิ่งที่ดีแล้ว ถึงแม้มองย้อนกลับไปตอนข้ามโขงจะน่ากลัวมาก แต่เป็นความทรงจำที่ทำให้เรามีชีวิตอย่างทุกวันนี้” เธอเล่าด้วยเสียงราบเรียบและปิดท้ายด้วยรอยยิ้มอย่างผู้ใหญ่ใจดีที่เข้าใจความเป็นไปของโลก

แก้วสิริ สมพร เกิดที่เวียงจันทน์ แต่เติบโตที่หลวงพระบาง ก่อนเข้าเรียนคณะแพทยศาสตร์ เธอทำงานที่กรมท่องเที่ยวจนได้รู้จัก จอห์น เอเวอร์ริ่งแฮม นักข่าวและช่างภาพชาวออสเตรเลีย ทั้งคู่ตกหลุมรักกันท่ามกลางสภาวะสงครามที่ทำให้มีการหนีข้ามประเทศมากขึ้น

จอห์นคือนักข่าวต่างชาติคนสุดท้ายที่ออกจากประเทศลาว เขาข้ามมายังประเทศไทยเพื่อตั้งหลักพาหญิงสาวที่ตนรักหนี เมื่อพิจารณาแล้วว่าบนบกเต็มไปด้วยทหารอาวุธครบมือ ทั้งยังมีการป้องกันแน่นหนา สายน้ำโขงอันเชี่ยวกรากจึงเป็นหนทางที่เขาเลือก โดยที่แก้วสิริไม่รู้มาก่อนว่าคนรักจะเลือกวิธีนี้

เธอว่ายน้ำไม่เป็น

“แต่ต้องไป” แก้วสิริหลังผ่านเหตุการณ์นี้มา 46 ปีเอ่ยด้วยเสียงหนักแน่น

พวกเขานัดพบกันที่หาดดอนจันตรงข้ามศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย จอห์นใช้ถังออกซิเจนดำน้ำเพียงถังเดียวพร้อมเครื่องช่วยหายใจสำหรับ 2 คน แต่ถึงแม้หนุ่มออสเตรเลียจะว่ายน้ำแข็งขนาดไหนก็ยังแพ้ความเกรี้ยวกราดของแม่น้ำโขงที่ไม่ยอมให้การพบกันง่ายดายอย่างที่คิด ร่างของจอห์นถูกพัดลอยไปไกลจากจุดนัดหลายครั้ง แม้จะดำถึงพื้น เกาะตามหิน การตัดกระแสน้ำก็ยังเป็นอุปสรรคใหญ่หลวง 

จอห์นผูกคนรักไว้กับตัวเพื่อไม่ให้ผละจากกัน พวกเขาใช้ความพยายามถึง 4 ครั้งกว่าจะสำเร็จ แต่แม้ผ่านจุดเฉียดตายมาได้ การพาสาวลาวหนีข้ามแดนก็ผิดกฎหมายทั้งฝั่งไทยและฝั่งลาว 

จอห์นถูกจับ แก้วสิริถูกส่งไปยังศูนย์อพยพหนองคายนาน 4 เดือน แต่เรื่องราวของพวกเขาเป็นที่โจษจันทั่วสังคม หนังสือพิมพ์ไทยลงข่าวจนดังระดับโลก แล้วฮอลลีวูดก็เชิญจอห์นไปสัมภาษณ์ เซ็นสัญญาทำภาพยนตร์เรื่อง Love Is Forever (1983) นำแสดงโดย Michael Landon (รับบท จอห์น เอเวอร์ริ่งแฮม) และ Laura Gemser (รับบท แก้วสิริ) 

หลังออกจากศูนย์อพยพฯ แก้วสิริเดินทางจากเมืองไทยไปพักที่ออสเตรเลีย ทั้งสองแต่งงานครองรักกันแล้วย้ายกลับมาอยู่ไทยถาวร กระทั่งปี 1982 ที่ภาพยนตร์รักบันลือโลกเริ่มถ่ายทำ อนันดา เอเวอร์ริ่งแฮม ก็ลืมตาดูโลกท่ามกลางคำอวยพรและกระเช้าดอกไม้แสดงความยินดี เขาใช้ชีวิตอยู่ในกองถ่ายตั้งแต่เด็กระหว่างพ่อแม่เดินทางถ่ายทำหนังไปถึงฮอลลีวูด จนตอนนี้เด็กชายเติบโตเป็นนักแสดงที่มีผู้คนชื่นชอบทั่วโลก

ชีวิตรักของสองชายหญิงเริ่มต้นด้วยความทรหดและจบลงอย่างเรียบง่ายด้วยการตกลงเป็นกัลยาณมิตรตลอดกาล จอห์นและแก้วสิริแยกย้ายไปใช้ชีวิตบนทางของตัวเองโดยทิ้งเรื่องราวรักข้ามโขงไว้เป็นเพียงตำนาน

แต่หากย้อนเวลากลับไปได้ คุณแม่จะดำน้ำข้ามโขงไหม – เราถาม

เธอมีคำตอบในใจ แต่ใช้เวลาสักพักเพื่อเรียบเรียง

หนึ่งในคำตอบของเธอ คือการข้ามโขงครั้งนั้นถือเป็นรางวัลชีวิต แต่อดีตผ่านมาแล้วก็ให้ผ่านไป เหลือไว้แต่เพียงประสบการณ์ที่ยังคงอยู่ เพื่อให้เจ้าของได้ตกตะกอนสิ่งที่ได้เรียนรู้ซ้ำแล้วซ้ำอีกจนถึงลมหายใจสุดท้าย

ขอสารภาพว่าก่อนเข้าเรื่องรักข้ามโขง เราชวนแม่แก้วคุยหลายเรื่องทั้งประเพณีฝั่งลาว ความเชื่อเรื่องจิตวิญญาณ ครูสอนศาสนา การเรียนวาดภาพ จนถึงชีวิตวัยเกษียณ แต่สุดท้ายไม่ว่าจะคุยเรื่องอะไร เธอก็จะวกเข้าเรื่อง ‘ผ้า’ ได้เสมอ เพราะผ้าไม่ใช่แค่ปัจจัย 4 เอาไว้ห่มกาย แต่เป็นความทรงจำเอาไว้ห่มใจมานานเท่าตำนานรักข้ามโขง

แม่แก้วสนใจผ้า จอห์นก็เช่นกัน เขาชอบใส่ผ้ามัดหมี่และยังแนะนำให้เธอขนผ้าไปออสเตรเลียเพื่อหาลูกค้า เมื่อได้รับคำสั่งซื้อจึงกลับมาหาผ้าที่แถบภาคอีสานของไทย กระทั่ง อาจารย์แพทริเซีย แน่นหนา ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าที่เชียงใหม่ จุดประกายให้เธอเก็บผ้าโบราณ โดยนำผ้าเบี่ยงและผ้าซำเหนือมาเป็นของฝาก

“สวยจังเลย พอคิดอย่างนั้น ตอนหลังมองผ้าอะไรก็สวยไปหมด” แม่แก้วหัวเราะ

“ในยุคที่คนหนีข้ามโขงมา ทั้งคนธรรมดา ชนชั้นสูง เขาเอาผ้าโบราณติดมือมาด้วยทั้งผ้าเบี่ยง ผ้าพิธีกรรม ผ้าห่อคัมภีร์ ผ้าไหมทองคำ บางผืนอายุเป็นร้อยปี ย้อมสีธรรมชาติ พอเขาปล่อยขายแลกเงิน เราเลยซื้อเก็บไว้

“ซื้อไปซื้อมา มีเป็นพันผืนน่าจะได้แล้วน้อ จะโดนทับแล้ว” เธอหัวเราะ หลุดเล่าเป็นสำเนียงลาวในบางจังหวะ ดวงตายังเปล่งประกายสุกใสสมกับเป็นความสุขที่ไม่ลดน้อยลงเลยแม้จะผ่านมากว่า 4 ทศวรรษ

“เราหลงใหลในผ้า ไม่ใช่แค่เพราะมันสวย แต่เพราะคนโบราณไม่ได้ทอผ้าสะเปะสะปะ ผ้าบางอย่างมีลายป้องกันสิ่งชั่วร้ายทั้งดาวแปดแฉก บันไดสวรรค์ ลายนาค เอาผ้าไปใช้อะไร เขาก็จะทอเพื่อสิ่งนั้น”

สำหรับเรา ผ้าเป็นงานศิลปะ มีทั้งลวดลายที่ถักทอให้คนตีความอย่างอิสระ และลวดลายที่จารึกประวัติศาสตร์จริงลงบนนั้น จากที่ฟังแม่แก้วเล่า ไม่ใช่แค่ลายโบราณที่มีความหมายลึกซึ้ง แต่เรื่องราวของผ้าแต่ละผืน เสื้อแต่ละชุดก็มีความทรงจำในวันวานฝังแน่นจนอยากเก็บไว้ไม่ให้สูญหาย

ชุดผ้าที่แม่แก้วรักและหวงแหนที่สุดคือ ‘เสื้อปั๊ด’ หรือ ‘เสื้อป้าย’ ซึ่งเป็นชุดแต่งงานของคุณแม่ รวมไปถึงผ้าซิ่นดิ้นทองและสไบ เธอเล่าว่าสมัยก่อนชุดแต่งงานเป็นมรดกตกทอดจากรุ่นสู่รุ่น ยายใส่ แม่ใส่ ลูกใส่ เสื้อผ้าชุดนี้จึงมีทั้งความสุขอัดแน่นอยู่ภายในและมีความหมายต่อเธอมหาศาล

นอกจากความสุขที่แค่เห็นผ้าที่ตัวเองสะสมก็หายเหนื่อยหายไข้ ผ้ายังทำให้การสนทนากับแม่แก้วมีช่วงเศร้าปะปน เพราะเธอต้องระลึกถึงการพลัดพรากที่ไม่อยากจดจำ

“สมัยก่อนขายไปเยอะ” เธอบอก 

“เสียดายที่เก็บไม่อยู่ ยิ่งนึกยิ่งเสียดายเสียใจ เพราะคิดถึงและผูกพัน ประสบการณ์ชีวิตของเราอยู่ในนั้น ผ้าไหมเรายังสั่งทอใหม่ได้ แต่ผ้าโบราณไม่ซ้ำและไม่มีอีกแล้ว หลายผืนไปแล้วไปเลย”

ความพิเศษของผ้าในยุคก่อนคือคนทอล้วนทอด้วยความรัก ความอดทน และความใส่ใจ ไม่ใช่การค้า ผ้าที่แม่ทอให้ลูก ภรรยาทอให้สามีหรือทอให้ครอบครัว จึงใช้เป็นทั้งสื่อรักและคำอวยพร ตั้งแต่วันเกิด วันแต่ง จนถึงวันตาย

“เรื่องผ้าเรียกว่าชอบคงไม่ได้ ต้องเรียกว่ารักมากกว่า 

“หากเจอว่าสิ่งไหนทำให้จิตใจเบิกบาน ให้คิดว่าเป็นความสุขที่ควรเก็บเอาไว้ เรารู้ว่าความสุขของเราคือผ้า เลยตั้งใจสะสมเรื่อยมา แล้วผลของมันคือการที่ป่วยเมื่อไหร่ แค่ได้เห็นได้สัมผัสผ้าก็แข็งแรงขึ้นมาทันที” แม่แก้วทิ้งท้าย

“พูดถึงความรัก แม่ก็รักบ้านเกิด รักหลวงพระบาง ที่นั่นเหมือนเชียงใหม่” 

แม่แก้วย้อนวันวานกลับไปวัยเด็ก เธอชอบเที่ยวธรรมชาติ ป่าไม้ น้ำตก ประเทศลาวมีชนเผ่ามากมายให้ผูกมิตรไมตรี เธอคิดถึงตลาดเช้าที่ชอบเดิน คิดถึงอาหารที่เคยกิน ไม่ว่าจะไคแผ่น แจ่วบอง หมากค้อ หรือข้าวปุ้น แต่สำคัญที่สุด คือคิดถึงความทรงจำที่มีกับครอบครัวใหญ่เมื่อเธอเป็นน้องเล็กของบ้าน

“ฟังแล้วเหมือนเรื่องตลก แต่เป็นความจริง อย่างที่บอกว่าเราอยู่ในครอบครัวใหญ่ ลูกของพี่สาวเลยเป็นคนเลี้ยงเรา” เธอเว้นจังหวะ

“ตอนนี้เขาอายุ 80 กว่า เรา 71 เขามีศักดิ์เป็นหลาน เราเป็นน้า กลายเป็นว่าหลานอุ้มน้าไปเที่ยว เอาเราไปวางไว้ข้างสนามฟุตบอล เวลาคนถามว่าเราเป็นใคร เขาก็จะตอบว่า นี่น้าผม” คนเล่าหัวเราะต่ออย่างอารมณ์ดี

ครอบครัวที่อบอุ่นในวัยเด็กส่งผลถึงการสร้างครอบครัวของตัวเองในตอนโต เธอเรียนรู้ว่าสามีภรรยาต้องมีความซื่อสัตย์ ใส่ใจ ให้กำลังใจ ดูแลกันและกัน เพราะความเกี่ยวดองอาจนำไปสู่ความผูกพันระยะยาว ถึงแม้ต้องแยกย้ายหรืออยู่ห่างไกล ก็ยังมีความสุขที่ได้นึกถึงความทรงจำดี ๆ ที่สร้างร่วมกันมา

แม่แก้วบอกว่าเธอไม่เคยทะเลาะกับครอบครัว แม้กระทั่งตอนที่ข้ามโขงก็ไม่ทะเลาะ 

เพราะไม่มีใครรู้

“บอกก็ไม่ได้ข้าม” อีกฝ่ายหัวเราะแล้วเล่าเรื่องบ้านที่ประเทศลาวต่อว่า ครอบครัวของเธอสนับสนุนทุกอย่าง โดยเฉพาะการเรียน ซึ่งมีคุณพ่อเป็นผู้เข้มงวดกวดขันทุกคนในบ้าน

“ก่อนไปเรียนคุณพ่อจะให้ลูกหลานยืนเรียงแถว เอาการบ้านมาให้ดูทีละคน ทำหรือยัง เช็ดหูหรือยัง ต้องเช็ดขี้ไคลออกด้วย แล้วคุณพ่อก็สอนภาษา เขาพูดฝรั่งเศสคล่อง เวลาทำอะไรจะเป็นคนที่ตั้งใจ สอนให้เราเมตตาคนอื่น จริง ๆ ไม่ได้สอนหรอก เขามักทำให้ดูมากกว่า ใครตกยากมาหา เขาก็จะช่วยเหลือ”

แม่แก้วเคยโดดเรียนบ้างไหม – เราถาม

“เคยสิ โดดเรียนไปเที่ยวน้ำตกนี่แหละ ชีวิตที่ลาวเป็นชีวิตธรรมชาติ มันม่วน มันสวยงาม ไม่เคยคิดเลยว่าต่อมาจะไม่มีทางกลับเป็นเหมือนเดิม”

ย้อนกลับไปเรื่องรักข้ามโขงอีกสักที ด้วยความที่แม่แก้วเป็นคนเรียนเก่งและเรียนสายวิทยาศาสตร์ เธอจึงออกจากกรมท่องเที่ยวแล้วเข้าเรียนต่อที่คณะแพทยศาสตร์

“แต่พอดีหนีตามหนุ่มมาก่อนเลยเรียนไม่จบ” แม่แก้วบอกว่าตอนนี้เป็นหมอจิตวิญญาณแทน เพราะหันมานับถือศาสนาคริสต์ตามคำชวนของลูกเพื่อนของจอห์น ทั้งยังทำงานการกุศลและเป็นครูสอนศาสนาด้วย 

ส่วนความรักในการเรียนสมัยอยู่บ้านเกิด วิชาที่เธอชอบคือวรรณกรรม วาดภาพ และภาษา โดยการเรียนการสอนเป็นภาษาฝรั่งเศส แล้วให้เลือกภาษาอื่นเพิ่ม ซึ่งแม่แก้วเลือกเป็นภาษาลาวและภาษาบาลี หลังจากนั้นจึงเรียนภาษารัสเซียเพิ่ม

“การเรียนสำคัญ ไม่ว่าจะเรียนในตำราหรือเรียนจากการใช้ชีวิต ทุกวิชามีคุณค่า เรียนการทำไร่ทำนาจากครอบครัว เรียนวิชาชีพ เรียนการทอผ้าจากแม่ 

“หนึ่งชีวิตไม่มีทางได้เรียนครบทุกอย่าง การเก็บเกี่ยวรายทางจึงเป็นสิ่งสำคัญ และครอบครัวก็ควรเป็นสถาบันแรกที่สอนให้เห็นความสำคัญเหล่านี้” เธอบอก

ท่ามกลางบ้านหลังน้อยอันสงบร่มเย็นที่เชียงใหม่ งานอดิเรกวัยเกษียณของแม่แก้วคือการวาดภาพ ซึ่งเธอเคยเรียนกับ Marc Leguay ที่ Lycée de Vientiane ตั้งแต่อายุ 20 กว่าปี ตอนนี้จึงกลับมาวาดภาพสีน้ำอีกครั้ง

“ชีวิตเราผ่านอะไรมาเยอะ ทำอะไรมาแยะ ตอนเรียนศาสนาก็ไปตามภูเขา เราขึ้นดอยด้วยเสื้อขาว กลับมาโคลนเต็มหลัง ผจญภัยมาก แต่มีความสุขที่ได้ไปเจอผู้คน เจอกลุ่มชาติพันธุ์หลากหลาย ได้ช่วยเหลือ ได้เอาตัวเข้าไปอยู่ในวัฒนธรรมเขา ได้เห็นผ้าสวย ๆ ของเขา นั่นไง พูดเรื่องผ้าอีกแล้ว” เธอหัวเราะ

จากการสนทนา เราเห็นว่าชีวิตของผู้หญิงชื่อแก้วสิริรายล้อมไปด้วยคนที่เธอรักและรักเธอเสมอมา ทั้งประสบการณ์ยังสะท้อนว่าเธอเป็นคนที่ใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ รู้จักเก็บเกี่ยวความรักจากสิ่งรอบตัวโดยไม่ลืมรักตัวเอง ดูแลกายและใจตัวเองด้วยการมองโลกในแง่ดีและเติมเต็มสิ่งดี ๆ อยู่ไม่ขาด

แต่นอกจากหลากหลายบทบาทที่สวมมาก่อนหน้า เราอยากรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงลูกของเธอด้วย โดยเฉพาะการดูแลนักแสดงหนุ่มอย่างอนันดา

“ไม่ได้สอนเขาเยอะ แค่บอกให้ตั้งใจเรียน ให้เขาขยัน ดูแลตัวเองให้ได้ เขาเรียนจากประสบการณ์ชีวิตมากกว่าเรียนหนังสือ พอดีมีช่วงหนึ่งเขาดื้อ” เธอยิ้ม

“ชีวิตเขาอาจจะไม่เหมือนเด็กทั่วไปเท่าไหร่ ต้องบอกว่าคุณพ่อของเขาสอนมาตั้งแต่เด็กให้ดูแลตัวเอง อนันดาต้องขึ้นเครื่องบินเองตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 10 ขวบ เพราะคุณพ่อของเขาส่งไปออสเตรเลีย เอาขวดนมแขวนคอ ติดป้ายให้พนักงานบนเครื่องบินดูแล เราเป็นห่วงมากจนจะเป็นลม” แม่แก้วส่ายหน้าแต่ยังยิ้มได้ เพราะในฐานะแม่ เธอรักและยินดีที่เห็นลูกชายได้เดินทางบนเส้นทางที่ตนเลือกอย่างสง่าผ่าเผย

แม้ตอนนี้ลูกชายจะสร้างครอบครัวและมีงานจ่อรอแน่นขนัด แต่เขาก็บินไปหาผู้เป็นแม่เมื่อมีเวลา 

ดังนั้น นอกจากความสุขในการสะสมผ้า วาดภาพ และใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายที่เชียงใหม่ การได้พบหน้าลูกชาย ได้ไปเที่ยวกันทั้งครอบครัว ได้เริ่มต้นบทสนทนาเล็ก ๆ กับคนที่รักและคิดถึงเสมอก็ยังเป็นความสุขอันยิ่งใหญ่ที่หญิงวัยเกษียณรอคอย

คิดถึงเมื่อไหร่ก็แวะมาได้เสมอ

Writer

วโรดม เตชศรีสุธี

วโรดม เตชศรีสุธี

นักจิบชามะนาวจากเมืองสรอง งานประจำเป็นนักฟัง งานพาร์ทไทม์เป็นนักเขียน งานอดิเรกเป็นนักเล่า

Photographer

Avatar

กรินทร์ มงคลพันธ์

ช่างภาพอิสระชาวเชียงใหม่ ร่ำเรียนมาทางศิลปะจากคณะที่ได้ชื่อว่ามีวงดนตรีลูกทุ่งแสนบันเทิงของเมืองเหนือ มีความสุขกับการกดชัตเตอร์ในแสงเงาธรรมชาติ ชอบแมว หมา และบ้าจักรยานไม่แพ้กิจกรรมกลางแจ้งอื่น ๆ