Wildlife Photographer of the Year คือการประกวดภาพถ่ายสัตว์ป่าที่ใหญ่ที่สุดในโลก จัดโดย Natural History Museum, London เพื่อนำเสนอความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติ จุดประกายการอนุรักษ์ และสร้างความเคารพต่อสัตว์และสิ่งแวดล้อม

 ทุกปีมีช่างภาพส่งผลงานเข้าร่วมมากกว่า 38,000 รายการ จากเกือบ 100 ประเทศ แบ่งเป็น Wildlife Photographer of the Year สำหรับผู้ใหญ่ และ Young Wildlife Photographer of the Year สำหรับเยาวชน 3 รุ่น ได้แก่ รุ่นอายุไม่เกิน 10 ปี รุ่นอายุ 11 – 14 ปี และ 15 – 17 ปี

วิน-กตัญญู วุฒิชัยธนากร เด็กชายวัย 16 จากประเทศไทย คือผู้คว้ารางวัลชนะเลิศอันดับหนึ่งจากรายการหลังสุดในปี 2022

กตัญญู วุฒิชัยธนากร เด็กไทยวัย 16 ผู้คว้าที่หนึ่งช่างภาพโลก Young Wildlife Photographer

เขาพูดคำว่า ‘ปลา’ ได้ก่อนคำว่าพ่อและแม่ จนเกิดเป็นความสนใจศึกษาเรื่องมัจฉาใต้สมุทร ขึ้นสุดไปถึงเหล่าวิหคบนอากาศ ชอบสะพายกล้องตามความสุขเข้าป่าตั้งแต่อยู่ประถมฯ สนุกกับการถ่ายภาพนกร่วม 700 ชนิดที่เห็นด้วยตา และลั่นชัตเตอร์ด้วยตัวเองเพื่อบันทึกเป็นสถิติส่วนตัว

ต่อจากนี้คือเรื่องราวของช่างภาพผู้หลงรักสัตว์ป่า และคุณค่าที่เขาค้นพบ

13 ภาพถ่ายเรื่องราวรถไฟทั่วไทยใน 2 ปีที่ผ่านมา ของแฟนพันธุ์แท้รถไฟไทย

“ไม่ใช่ทุกคนที่รู้ว่ามีวาฬบรูด้าในอ่าวไทย มันอ้าปากได้กว้างถึง 90 องศา ตอนแรกผมไม่แน่ใจว่าภาพนี้จะได้รางวัล เพราะคนส่วนใหญ่มองไม่ออกด้วยซ้ำว่ามันคือวาฬ”

สิ่งที่เห็นในรูปเรียกว่า ‘บาลีน’ (Baleen) หรือซี่กรองและร่องใต้คางสีชมพู ขนวาฬมีส่วนประกอบของเคราตินแบบเดียวกับมนุษย์ เมื่อปลาตัวเล็กตัวน้อยกระโดดเข้ามาในปาก วาฬจะปิดปากและดำลงไปใต้น้ำ จากนั้นจึงใช้บาลีนกรองเอาน้ำออกเพื่อให้เหลือแต่ปลา โดยน้ำนั้นจะถูกนำออกจากร่างกายอย่างที่เราเรียกว่า ‘วาฬพ่นน้ำ’

กตัญญู วุฒิชัยธนากร เด็กไทยวัย 16 ผู้คว้าที่หนึ่งช่างภาพโลก Young Wildlife Photographer
กตัญญู วุฒิชัยธนากร เด็กไทยวัย 16 ผู้คว้าที่หนึ่งช่างภาพโลก Young Wildlife Photographer

“ผมชอบรูปนี้ตั้งแต่วันแรกที่ถ่าย เพราะเป็นการถ่าย Close-up ในอวัยวะที่คนทั่วไปไม่รู้จักหรือไม่ได้สนใจ 

“เรื่องต่อจากนั้นคือปลาที่เห็นเล็ก ๆ ตรงนี้ชื่อว่า ปลากะตักหรือปลาไส้ตัน ซึ่งใช้ทำน้ำปลา บางทีจึงกลายเป็นการรบกวนวาฬ เพราะวาฬกินอย่างอื่นได้ก็จริง แต่เขาชอบกินปลากะตักมากกว่า”

กตัญญูได้รางวัลชนะเลิศตั้งแต่ครั้งแรกที่ส่งภาพถ่ายเข้าประกวดในรายการ Young Wildlife Photographer of the Year 2022 ขณะที่เขาไม่ค่อยได้รางวัลในประเทศไทยมากนัก ทั้งหมดเรียกว่าเป็นโชคชะตาก็คงได้ เพราะ อาจารย์ณรงค์ สุวรรณรงค์ ครูสอนถ่ายภาพเป็นคนบอกให้เขาลองให้โอกาสตัวเองดูสักครั้ง

จากที่ส่งไปโดยหวังสูงสุดเพียงเข้ารอบสุดท้าย รางวัลนี้กลับทำให้เขาได้ทำหน้าที่ช่างภาพผู้บอกเล่าเรื่องราวอันน่ามหัศจรรย์ของวาฬและแสดงฝีมือชัตเตอร์ของคนไทยให้โลกรู้

กตัญญู วุฒิชัยธนากร เด็กไทยวัย 16 ผู้คว้าที่หนึ่งช่างภาพโลก Young Wildlife Photographer

“ผมเห็นลิงลพบุรีตัวนี้แล้วสนใจมาก ที่บอกว่าน่าสนใจเพราะทุกภาพเล่าได้ว่า นี่คือการที่ลิงปรับตัวเข้ามาอาศัยในเมือง บางคนชอบที่จะเห็นลิงในป่า แต่นี่คือ Urban Wildlife เป็นอีกประเภทที่ช่างภาพต่างชาติถ่ายเยอะ เพื่อสะท้อนให้เห็นชีวิตสัตว์ที่ปรับตัวเข้ามาอยู่ในเมือง”

เขาเปรียบว่า บางคนชอบถ่ายนกบนท้องฟ้าสีฟ้า ไม่ชอบท้องฟ้าสีขาว แต่สำหรับเขา ท้องฟ้าสีขาวก็เล่าเรื่องได้ดีในอีกรูปแบบ เช่นเดียวกับการเห็นนกเกาะสายไฟ แทนที่จะเกาะบนกิ่งไม้

กตัญญู วุฒิชัยธนากร เด็กไทยวัย 16 ผู้คว้าที่หนึ่งช่างภาพโลก Young Wildlife Photographer
กตัญญู วุฒิชัยธนากร เด็กไทยวัย 16 ผู้คว้าที่หนึ่งช่างภาพโลก Young Wildlife Photographer

“ในความคิดผม พื้นฐานจริง ๆ อาจไม่ควรมีมนุษย์อยู่บนโลกด้วยซ้ำ ผมเคยได้ยินประโยคว่า มนุษย์ไม่มีธรรมชาติ มนุษย์อยู่ไม่ได้ แต่ธรรมชาติไม่มีมนุษย์ ธรรมชาติอยู่ได้สบาย ผมจึงมองว่าภาพถ่ายประเภทนี้แฝงความหมายบางอย่างที่มากกว่าแค่ว่ามนุษย์รุกป่าเพื่อความอยู่รอด” อีกฝ่ายว่า

Urban Wildlife ถือเป็นตัวเลือกใหม่ให้เขาพัฒนามุมมองการเล่าเรื่องให้เฉียบคม เข้าใจทั้งสัตว์ที่อยู่ในป่าและสัตว์ที่ปรับตัวเข้ามาอยู่ในเมือง

เรื่องนี้ต้องขอบคุณ อาจารย์วัชระ อยู่สวัสดิ์ และ อาจารย์เกรียงไกร สุวรรณภักดิ์ ผู้เป็นอาจารย์คนแรก ๆ ที่สอนให้รู้จักธรรมชาติ รวมไปถึง อาจารย์ปัณยา ไชยะคํา และนกตีทอง (Coppersmith Barbet) ผู้นำเขาเข้าสู่วงการดูนกอย่างเป็นทางการ

กตัญญู วุฒิชัยธนากร เด็กไทยวัย 16 ผู้คว้าที่หนึ่งช่างภาพโลก Young Wildlife Photographer

เหยี่ยวเคสเตรลของต่างประเทศอาศัยในเมือง แต่เหยี่ยวเคสเตรลของไทยย้ายมาอยู่ในป่า กตัญญูเรียกเหยี่ยวในรูปว่า ‘เหยี่ยวเขาใหญ่’ เพราะมันบินมาเกาะใกล้บ้านพักเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เนื่องจากมีกองขยะ เหยี่ยวชนิดนี้กินแมลงเป็นหลัก ล่าตั๊กแตน หนูตัวเล็ก หรือสัตว์เลื้อยคลานบ้าง จากอยู่ในป่าจึงเริ่มปรับตัวเข้ามาอยู่ใกล้บ้านพักเจ้าหน้าที่ เพราะล่าได้ง่ายขึ้น

เขาเล่าว่า บางครั้งการจำแนกนกไม่อาจใช้เพียงลักษณะภายนอก เช่น สี ความยาวหาง หรือขนปลายปีก เพราะนกหลายชนิดหน้าตาเหมือนกันราวกับฝาแฝด นักดูนกจึงแยกพวกมันด้วยสเปกโตรแกรมคลื่นเสียง ประกอบกับข้อมูลสถานที่และวันพบเจอ เพื่อจำกัดชนิดนกให้แคบลง

ตอนนี้ เขาบอกว่าตนเองช่ำชองการจำแนกชนิดนกด้วยสายตาแล้ว จึงเริ่มฝึกฟังเสียง ศึกษาอนาโตมี รวมถึงศาสตร์แห่งการสตัฟฟ์สัตว์กับ อาจารย์วันชัย สุขเกษม

กตัญญู วุฒิชัยธนากร เด็กไทยวัย 16 ผู้คว้าที่หนึ่งช่างภาพโลก Young Wildlife Photographer
กตัญญู วุฒิชัยธนากร เด็กไทยวัย 16 ผู้คว้าที่หนึ่งช่างภาพโลก Young Wildlife Photographer

เมื่อถามเขาว่าเริ่มชอบสัตว์ตั้งแต่เมื่อไหร่ เขาตอบว่าน่าจะชอบตั้งแต่เกิด พร้อมโชว์หลักฐานเป็นคู่มือดูนกเล่มเก่าซึ่งเต็มไปด้วยรอยขาด รูปวาด และลายมือ แถมเขาบอกว่ายังเคยวาดภาพปกนิตยสาร a day ฉบับที่ 159 ประจำเดือนพฤศจิกายน ปี 2013 ในธีมสวนสัตว์ด้วย

ตั้งแต่จำความได้ ผู้ใหญ่ในครอบครัวมักอุ้มเขาไปชมตู้ปลาขนาดใหญ่ในบ้าน โตขึ้นหน่อยก็พาไปสวนสัตว์ ขณะที่คุณแม่ซื้อตุ๊กตาสัตว์ให้เล่น เพราะลูกชายไม่สนใจทั้งรถและหุ่นยนต์

กตัญญูศึกษาเรื่องสัตว์อย่างจริงจังตอนอายุ 10 ปี เริ่มจากปลา ตามด้วยแมลง และนก โดยคุณแม่พาไปเข้าร่วม Bird Walk ครั้งแรกกับสมาคมอนุรักษ์นก (Bird Conservation Society of Thailand – BCST) ทำให้เขาไม่เคยออกจากวงการอีกเลย มีแต่ศึกษามากขึ้นจนหวังว่าวันหนึ่งจะได้เป็น ‘นักสัตววิทยา’

“ผมอยากเป็นช่างภาพที่เข้าใจในตัวสัตว์ด้วย บางครั้งเข้าป่าก็ไม่ได้ถ่าย แต่เป็นการทำวิจัย เช่น ไปนับเหยี่ยว 1 เดือนที่เขาดินสอ เรื่องนี้น่าสนใจ เพราะเขาดินสอเป็น 1 ใน 5 จุดดูเหยี่ยวอพยพที่ดีที่สุดในโลก และเป็นอันดับหนึ่งของโลกที่มีจำนวนชนิดเหยี่ยวอพยพผ่านมากที่สุด แต่คนไม่ค่อยรู้”

กตัญญู วุฒิชัยธนากร เด็กไทยวัย 16 ผู้คว้าที่หนึ่งช่างภาพโลก Young Wildlife Photographer
เบื้องหลังภาพสัตว์ป่าและคุณค่าที่ ‘กตัญญู วุฒิชัยธนากร’ ผู้ชนะวัย 16 จาก Young Wildlife Photographer อยากเล่าให้ฟัง

จากการลงเรียนและฟังบรรยาย ปัจจุบัน ทักษะที่มีติดตัวคือการจำแนกนกและสัตว์ เขาเล่าว่ามีคนส่งรูปมาสอบถามบ่อยมาก บางทีถึงขั้นอัปโหลดรูปนกมาทั้งโฟลเดอร์เลยทีเดียว

“แต่ผมก็ไม่คิดว่าคนทั่วไปจำเป็นต้องจำชนิดสัตว์นะ รู้แค่สัตว์มีพิษอย่างแมลงหรืองูก็พอ เพราะถ้าคุณแพ้หรือติดเชื้อ คุณอาจตายได้ แต่ถ้าไม่มีพิษก็แค่ไล่ ไม่ต้องตี”

ยกตัวอย่าง งูแสงอาทิตย์ที่คนคิดว่าถูกกัดแล้วจะตายเมื่อเจอแสงแดด กตัญญูบอกว่าไม่เป็นความจริง แถมเขายังเคยพยายามทำให้งูชนิดนี้กัด แต่มันก็ไม่ยอมกัดสักทีแม้จะเป็นนักล่าที่กินทั้งงูเห่าและจงอางก็ตาม

“อีกอย่างคือเรื่องการทำบุญปล่อยปลาปล่อยเต่า ถ้าปล่อยเต่าบกในน้ำยังไงก็ตาย เพราะเขาว่ายน้ำไม่ได้ นี่คือสิ่งที่ควรรู้ และเรื่องง่าย ๆ ที่คนไม่ทำ คือการเข้าป่าแล้วไม่นำขยะออกมาด้วย ทุกครั้งที่ผมไปทำวิจัยที่เขาดินสอ ผมเก็บขยะลงมาทุกวัน”

เบื้องหลังภาพสัตว์ป่าและคุณค่าที่ ‘กตัญญู วุฒิชัยธนากร’ ผู้ชนะวัย 16 จาก Young Wildlife Photographer อยากเล่าให้ฟัง

การเห็นโลมาตื่นตอนกลางวันทำให้คนเข้าใจผิดว่าโลมาเป็นสัตว์หากินแค่กลางวัน ทั้งที่จริงแล้วพวกมันหากินตอนกลางคืนด้วย 

รูปนี้เป็นครั้งแรกที่กตัญญูเห็นฝูงโลมาตอนค่ำ และได้นั่งเรือตามถ่ายท่ามกลางแสงอาทิตย์ลับขอบฟ้าในทะเลอันดามัน ออกเรือ 5 วัน โดยกินนอนบนเรือของนักดำน้ำ

ชีวิตช่างภาพของกตัญญูเริ่มจากการใช้กล้องถ่ายภาพใต้น้ำของคุณแม่ผู้ชอบดำน้ำและส่องกล้องดูปลา เขาจึงได้โอกาส Freediving ถ่ายรูปตั้งแต่เด็ก 

ต่อมาเมื่อค้นพบความงดงามในโลกของนก จึงเริ่มหยิบกล้องขึ้นมาบันทึกเพื่อเป็นเรกคอร์ดของตัวเอง จนตอนนี้เขามีรูปนกกว่า 700 ชนิดที่เคยเห็นด้วยตา

เบื้องหลังภาพสัตว์ป่าและคุณค่าที่ ‘กตัญญู วุฒิชัยธนากร’ ผู้ชนะวัย 16 จาก Young Wildlife Photographer อยากเล่าให้ฟัง

“แต่ผมกลับรู้สึกว่า การวิ่งตามนกแล้วถ่ายมันไม่สนุกแล้ว ผมเลยกลับไปเริ่มที่นกธรรมดาในป่า โดยถ่ายให้ประณีตขึ้น เล่าเรื่องให้เยอะขึ้น บางทีไปนั่งถ่ายนกตัวเดียวเป็นเดือนก็มี เพราะทุกครั้งที่กดชัตเตอร์ หมายถึงประสบการณ์ที่เพิ่มขึ้น

“ผมคิดเล่น ๆ ว่า นกในไทยมี 1,082 ชนิด ถ้าเจอครบก็จบแล้วเหรอ แต่ผมคงไม่ตามเก็บนกทั่วโลกต่อ เพราะมันไม่ง่าย ในทางกลับกัน ถ้าผมถ่ายรูปเพื่อเล่าเรื่องมันไม่มีวันจบเลย มีมุมใหม่มาเรื่อย ๆ”

เบื้องหลังภาพสัตว์ป่าและคุณค่าที่ ‘กตัญญู วุฒิชัยธนากร’ ผู้ชนะวัย 16 จาก Young Wildlife Photographer อยากเล่าให้ฟัง

นกนางนวลบินตามท้ายเรือเป็นสิ่งคุ้นชินตาสำหรับเด็กชาย เมื่อเขานั่งเรือออกไปถ่ายวาฬบริเวณปากอ่าว ปลาที่ตกใจใบพัดจะกระโดดขึ้นมาบนผิวน้ำ นกนางนวลรอโอกาสนั้นเพื่อโฉบกิน

“การออกเรือหาปลาคือกิจวัตรของชาวประมง และเป็นกิจวัตรของนกนางนวลเช่นกัน เมื่อไปถึงทะเลลึกปลาจะเริ่มน้อยลง นกนางนวลจึงบินกลับไปตามเรือใกล้ชายฝั่งใหม่ หรือบางทีอาจเปลี่ยนชนิดเป็นนกโจรสลัด ซึ่งไม่มีความสามารถในการโฉบแย่งแบบนกนางนวล แต่ตัวใหญ่กว่าจึงใช้ทักษะในการขโมยอาหารจากนกอื่นเอา”

ไม่มีนกตัวไหนกล้าขโมยปลาจากเรือที่มีชาวประมงเฝ้า แต่ปลาที่กระโดดอยู่นอกเรือคืออภิสิทธิ์ของธรรมชาติ และเป็นการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับสัตว์

เบื้องหลังภาพสัตว์ป่าและคุณค่าที่ ‘กตัญญู วุฒิชัยธนากร’ ผู้ชนะวัย 16 จาก Young Wildlife Photographer อยากเล่าให้ฟัง

“บางครั้ง ผมว่าแม้รูปจะดูไม่ออก แต่มันชวนจินตนาการและมีเรื่องเล่า เหมือนจิ้งจกอยู่บนพระจันทร์ แค่ในบ้านก็ถ่ายรูปให้มีมุมมองได้ ไม่จำเป็นต้องเข้าป่าเสมอไป ที่บ้านจะปล่อยให้สัตว์ทุกอย่างเข้ามา ไม่ว่าจะงูหรือตัวเงินตัวทอง ผมจับได้ทุกตัว โดนข่วน โดนกัดก็ไปหาหมอเอา”

นอกจากการพลีกายพลีใจให้เหล่าสิ่งมีชีวิตต่างสายพันธุ์ในเขตที่อยู่อาศัย ชุดเข้าป่าของช่างภาพวัย 16 ปีก็ล่อยุงและปลิงเช่นกัน โดยมีเพียงเสื้อบอล กางเกงขาสั้น รองเท้าแตะสีชมพู (ที่เขาคิดว่าลื่นน้อยกว่ารองเท้าผ้าใบ) และกระเป๋าเป้หนึ่งใบที่ใส่อุปกรณ์ครบครัน ตั้งแต่กล้อง เลนส์ ขาตั้งกล้อง น้ำ ไฟฉาย มีดพก ชุดปฐมพยาบาลเบื้องต้น รวมไปถึงยาอะดรีนาลีนหรืออีพิเพ็น (Adrenaline / Epipen) เพื่อรักษาอาการแพ้รุนแรงที่เกิดเฉียบพลัน ในกรณีนี้ เขาพกไว้เพราะตัวเองแพ้ต่อ

ส่วนปลายทางที่ไปบ่อยคืออุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และอยู่ยาวทั้งเดือนตุลาคมที่เขาดินสอเพื่อลั่นชัตเตอร์เก็บโมเมนต์เหยี่ยวอพยพ

เบื้องหลังภาพสัตว์ป่าและคุณค่าที่ ‘กตัญญู วุฒิชัยธนากร’ ผู้ชนะวัย 16 จาก Young Wildlife Photographer อยากเล่าให้ฟัง

ภาพนี้เจ้าของภาพทักมาบอกว่า อยากรบกวนดึงแสงแต่งสีให้หน่อย

“รูปนี้ธรรมดา แต่เป็นธรรมชาติ ฝูงหมาในออกมาล่ากวางที่เขาใหญ่ แต่ละตัวมีหน้าที่ต่างกัน เช่น กัดลูกตากวางเพื่อหยุดการมองเห็น ส่วนใหญ่จะล่าริมน้ำเพื่อกดลากกวางลงไป เป็นการลดทางหนีจาก 4 ทางเป็น 3 ทาง เพราะทั้งกวางและหมาในว่ายน้ำไม่เก่งทั้งคู่”

หมาในปรับตัวและชินกับคน แต่ใช่ว่าจะพบเจอกันได้ง่าย ๆ ภาพนี้เขาถ่ายที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่

อย่างไรก็ตาม การเป็นช่างภาพสัตว์ป่าสอนให้กตัญญูรู้จักเว้นระยะห่าง เขาบอกว่าเราเคารพโมเดลที่เป็นคนฉันใด ก็ควรเคารพโมเดลที่เป็นสัตว์ฉันนั้น เพราะธรรมชาติมีระยะปลอดภัยของตัวเอง 

เบื้องหลังภาพสัตว์ป่าและคุณค่าที่ ‘กตัญญู วุฒิชัยธนากร’ ผู้ชนะวัย 16 จาก Young Wildlife Photographer อยากเล่าให้ฟัง

จากงานรับรางวัลที่ได้ไปเปิดหูเปิดตา เขาค้นพบว่าชาวต่างชาติสนใจเรื่องสัตว์ป่าและจัดการได้เป็นอย่างดี ยกตัวอย่าง การแบ่งพื้นที่สำหรับให้อาหารนกพิราบ การจัดการสิ่งมีชีวิตต่างถิ่นหรือ Alien Species ซึ่งนักล่าอย่างแมวจรจัดก็ถือเป็นหนึ่งในสิ่งมีชีวิตที่ทำลายระบบนิเวศ โดยในสหรัฐอเมริกายกให้แมวเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของการตายผิดธรรมชาติของนก รวมทั้งปี แมวทั้งสหรัฐส่งนกขึ้นสวรรค์ไปกว่า 2,000 ล้านตัว

“แมวไม่ได้ล่าเพื่อกินให้อิ่ม แต่เขาล่าเพื่อเล่น ทำให้นก งู หรือหนู ตายจากอาการบาดเจ็บ บางชนิดก็สูญพันธุ์จากแมวจร” กตัญญูเล่า

เบื้องหลังภาพสัตว์ป่าและคุณค่าที่ ‘กตัญญู วุฒิชัยธนากร’ ผู้ชนะวัย 16 จาก Young Wildlife Photographer อยากเล่าให้ฟัง

นอกจากนกเงือกหัวแรดในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลาบาลา จังหวัดนราธิวาส มีคนทาบทามเขาไปถ่ายภาพแนวอื่น ไม่ว่าจะเป็นทิวทัศน์หรือคน แต่กตัญญูยังคงมุ่งมั่นกับสิ่งที่รัก เพราะเขาคือช่างภาพสัตว์

“เสน่ห์คือไม่มีอะไรคาดเดาได้ บอกให้สัตว์ขยับซ้ายขวาก็ไม่ได้ ต้องเป็นเราที่เคลื่อนตัวหามุมเอง จะเจอไหมก็ไม่รู้ จะหนีไปตอนไหนก็ไม่รู้ มันเป็นทั้งอุปสรรคและความท้าทาย”

ภาพวาฬบรูด้าในอ่าวไทยอาจกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวในแง่หนึ่ง แต่นอกเหนือจากนั้นคือการกระตุ้นให้คนศึกษาหาข้อมูล และเรียนรู้วิธีวางตัวระหว่างคนกับธรรมชาติให้เหมาะสม

“ผมอยากให้เริ่มจากการที่คนเห็นรูปแล้วสนใจ ศึกษา และนำไปสู่การอนุรักษ์ ช่างภาพสัตว์มีเยอะมาก แต่ผลลัพธ์ที่ผมหวังไว้ยังไม่เกิด เลยคิดว่าภาพต้องสื่อสารและมีอะไรแฝงไว้มากกว่าแค่การบันทึก”

เบื้องหลังภาพสัตว์ป่าและคุณค่าที่ ‘กตัญญู วุฒิชัยธนากร’ ผู้ชนะวัย 16 จาก Young Wildlife Photographer อยากเล่าให้ฟัง
“ช่างภาพสัตว์คือผู้นำเรื่องเล่าจากป่ากลับออกมาให้คนภายนอกได้รับรู้ เพราะไม่ใช่ทุกคนที่มีโอกาสสัมผัสธรรมชาติด้วยตัวเอง”

Facebook : Katanyou Photographer

Instagram : katanyouphotographer

Writer

วโรดม เตชศรีสุธี

วโรดม เตชศรีสุธี

นักจิบชามะนาวจากเมืองสรอง งานประจำเป็นนักฟัง งานพาร์ทไทม์เป็นนักเขียน งานอดิเรกเป็นนักเล่า

Photographer

Avatar

ผลาณุสนธิ์ ผดุงทศ

ช่างภาพที่โตมาจากเมืองทอง รักแมว ชอบฤดูฝน และฝันอยากไปดูบอลที่แมนเชสเตอร์