เมื่อ 20 กว่าปีก่อน จอห์น รัตนเวโรจน์ เคยทำนายอนาคตของโลกเทคโนโลยีไว้ว่า… 

ผมคงไม่ต้องนั่งพิมพ์หน้าเครื่องแล้ว เพราะตอนนั้นโปรแกรม Voice Recognition คงจะพัฒนาถึงขั้นที่ผมพูดแล้วขึ้นมาเป็นตัวอักษรได้เลย และผมคงไม่มีอุปกรณ์อะไรมากมาย เพราะต่อไปอุปกรณ์ต่าง ๆ คงค่อย ๆ ผนวกเข้าด้วยกัน มีอุปกรณ์ชิ้นเดียวก็ทำได้ทุกอย่าง 

สมมติฐานนี้มาจากความคลั่งไคล้ในเรื่องอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่สั่งสมมาตั้งแต่วัยเยาว์ และวันนี้ก็พิสูจน์แล้วว่าสิ่งที่เขาพูดในวันนั้นไม่ได้เกินเลยความจริง 

แม้หลายคนอาจรู้จักผู้ชายคนนี้ในฐานะนักร้องนำวง NUVO เจ้าของเพลงฮิตมากมาย ทั้ง ไม่เป็นไรเลย บอกอย่างงั้นอย่างงี้เลย กวีบทเก่า โง่งมงาย เก็บไว้ให้เธอ ทำได้หรือเปล่า ฯลฯ 

แต่ในอีกมุม จอห์นยังเป็นผู้บุกเบิกรายการไอทีในเมืองไทย โดยเฉพาะรายการ IE Show.com ซึ่งเป็นรายการโทรทัศน์แห่งแรกที่มีเว็บไซต์ให้ติดตาม รวมทั้งทำให้คนไทยได้ใกล้ชิดกับอินเทอร์เน็ต อุปกรณ์สื่อสาร รวมถึงแกดเจ็ตอีกมากมาย จนได้รับฉายาว่า ‘The Technotainment Guy’ 

นอกจากนี้ เขายังเป็นผู้ริเริ่มการทำวิทยุออนไลน์เป็นรายแรกของประเทศ สร้างระบบการส่ง SMS บนหน้าจอโทรทัศน์ เป็นอดีตนายกสมาคมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ รวมทั้งยังเป็นผู้ชักนำ หนุ่ย-พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ แห่ง beartai และ ซี-ฉัตรปวีณ์ ตรีชัชวาลวงศ์ เข้าสู่วงการไอทีจนเติบโตกลายเป็นพิธีกรแถวหน้าของเมืองไทย 

หากแต่การเป็น ‘คนแรก’ ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเขาต้องฝ่าฟันอุปสรรคต่าง ๆ โดยเฉพาะการสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้คนในเวลานั้นว่าเทคโนโลยีเป็นเรื่องสำคัญ และเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ได้จริง ๆ จนมาถึงวันที่อุปกรณ์ไฮเทคเหล่านี้กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของใครหลายคน 

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ถือโอกาสดี ชักชวนจอห์นมานั่งพูดคุยถึงเรื่องราวชีวิต แรงบันดาลใจ และความฝันในเรื่องวิทยาการที่ยังคงเต็มเปี่ยมไม่ต่างจากวันแรก ด้วยความหวังที่อยากจะให้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือที่สร้างความสุขและสังคมคุณภาพมาสู่ทุกคนอย่างแท้จริง 

ของเล่นวัยเด็กของแต่ละคนอาจไม่เหมือนกัน 

สำหรับเด็กชายจอห์น สิ่งหนึ่งที่หลงใหลมาตลอด คือการอ่านหนังสือคู่มือของอุปกรณ์เครื่องใช้ต่าง ๆ เริ่มจากนาฬิกา Casio วิทยุ เครื่องคิดเลข โทรทัศน์ ไปจนถึงกล้องถ่ายรูป 

“ผมรู้สึกท้าทายที่เอาชนะอุปกรณ์ที่ซื้อมาได้ ควบคุมมันได้ ทำให้ใช้ได้อย่างคุ้มค่า และขวนขวายสิ่งที่ดีกว่า คือผมจะคิดอยู่เสมอว่าการเรียนรู้อุปกรณ์อะไรก็ตาม ต้องเข้าใจกับมูลค่าของที่ซื้อมาอย่างครบถ้วน เพราะถ้าเราเก็บข้อมูลได้ทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ เท่ากับเราชนะอุปกรณ์นั้น 100 เปอร์เซ็นต์ด้วย แต่ถ้าเราอ่านหรือใช้งานได้ไม่เท่าที่ควร ผมจะรู้สึกว่า ตกลงแล้วอุปกรณ์หรือเรากันแน่ที่ไม่ค่อยฉลาดเท่าไหร่” 

อย่างเหตุการณ์หนึ่งที่จำได้ดี คือสมัยก่อน แม่จะรีบขับรถจากที่ทำงาน โรงแรมดุสิต แถวสีลม มุ่งตรงมาที่บ้านแถวพระโขนง เพื่อมารับประทานอาหารร่วมกับลูก ๆ รวมถึงมีเวลารับชมซีรีส์จีนเรื่องโปรดอย่างสบายใจ แต่ส่วนใหญ่แล้วมักพลาดชมโทรทัศน์ 

กระทั่งจอห์นอายุ 9 ขวบ แม่จึงซื้อเครื่องเล่นวิดีโอมาไว้ที่บ้าน แน่นอนว่าลูกชายตัวดีไม่พลาดที่จะอ่านคู่มืออย่างละเอียดครบถ้วนทุกตัวอักษร จนพบคุณสมบัติพิเศษว่าเครื่องนี้กดอัดรายการโทรทัศน์ล่วงหน้าได้ จึงทดลองบันทึกรายการที่แม่รับชมเป็นประจำ ผลปรากฏว่าจอห์นตั้งอัดวิดีโอล่วงหน้าได้เป็นเดือน ที่สำคัญยังตั้งเวลาบันทึกโดยไม่ต้องตรงกันทั้งสัปดาห์อีกด้วย และนับแต่นั้นแม่ก็ไม่จำเป็นต้องขับรถเร็วเพื่อรีบกลับบ้านอีกเลย เพราะกลับมาดูย้อนหลังในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์แทนได้ แถมยังรับชมได้รวดเดียว เพียงแค่กดปุ่มเพียงปุ่มเดียวซ้ำอีกต่างหาก 

“อีกเรื่องหนึ่ง คือสมัยก่อนในห้องนอนผมมีโทรทัศน์สีเครื่อง 12 นิ้ว แล้วตอนไปโรงเรียนต้องใช้เวลาพอสมควร เลยคิดว่าจะทำอย่างไรให้ทีวีเครื่องนี้เข้ามาอยู่ในรถ พอดีหันไปเห็นว่ามันต่อกับแบตเตอรี่ 12 โวลต์ได้ ผมเลยเอาทีวีไปวางไว้ตรงกลางของรถ แล้วต่อสายแบตจากด้านหน้า  ทำให้พวกเรานั่งดูทีวีระหว่างเดินทางได้ แน่นอนว่าไม่ค่อยชัดเท่าไหร่ แต่เป็นการยืนยันว่าเราทำได้” 

ในช่วงนั้นเองจอห์นที่หันมาจริงจังกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มากมาย ไม่ว่าจะเป็นวิทยุติดตามตัว Walkie-Talkie โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ รวมถึงเริ่มนำเครื่องสังเคราะห์เสียงหรือซินธิไซเซอร์เข้ามาประยุกต์กับงานเพลง ช่วยเติมสีสันให้กับ NUVO มากขึ้น 

ที่สำคัญ ความสนใจเรื่องเทคโนโลยียังมีส่วนสำคัญที่ทำให้เขาตัดสินใจเดินกลับเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญอีกครั้ง เพื่อเริ่มต้นศึกษาเกี่ยวกับโลกออนไลน์อย่างจริงจัง 

“ก่อนหน้านั้นผมเรียนเอแบคอยู่ 3 ปีแล้ว พอดี NUVO เริ่มมีชื่อเสียงมากขึ้น เริ่มบาลานซ์เวลาไม่ดี หลับในห้องสอบบ้าง จนวันหนึ่งผมถือเงินไว้ 30,000 บาทเพื่อจ่ายค่าเทอม คนเก็บเงินในมหาวิทยาลัยพอเห็นบัตรเรา เขาก็บอกว่า อ้าว ตกลงยังเรียนอีกเหรอ ผมก็เลยโอเคเอาเงินคืนมา ไม่เรียนแล้ว เพราะตอนนั้นผมรู้แล้วว่าความรู้ไม่ได้อยู่แค่ในรั้วมหาวิทยาลัยอย่างเดียว ไม่อย่างนั้นคน 50 คนอ่านหนังสือเล่มเดียวกัน บรรทัดเดียวกันก็ต้องเหมือนกันหมดสิ แต่ด้วยคำสัญญาที่มีไว้กับแม่ และผมเป็นหลานชายคนโตด้วย เลยมาที่เอแบคอีกครั้ง แต่เรียนภาคค่ำแทน แล้วก็เลือกอะไรที่เชื่อมโยงกับสิ่งที่เราสนใจ 

“จำได้ว่าเข้าอินเทอร์เน็ตครั้งแรกก็ที่นี่แหละ ยังเป็น DOS เฉย ๆ อยู่เลย แทบไม่เห็นอะไร เห็นแค่ว่าเราส่งข้อความให้กับปลายทางที่สหรัฐฯ แล้วเขาก็ตอบกลับมา เฮ้ย มีคนคุยกับเราด้วยนะ เกิดอะไรขึ้น แล้วตอนนั้นเขายังตื่นอยู่เหรอ แล้วหลัก ๆ ช่วงนั้นผมก็ชอบนั่งอยู่ตรงเซิร์ฟเวอร์ ไปดูวิธีการต่อสาย น่าจะมีแค่เส้นเดียวมั้ง ทั้งมหาวิทยาลัยน่าจะต่ออินเทอร์เน็ตได้ไม่ถึง 3 เครื่องเลย” 

ด้วยความคลั่งไคล้ที่เหนือกว่าใคร ส่งผลให้จอห์นได้รับทาบทามจาก ดร.กนกวรรณ ว่องวัฒนะสิน และ ศ.ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน สองผู้ก่อตั้ง KSC Internet ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตตามบ้านรายแรกของเมืองไทย ให้มาเป็นผู้รับสัมปทานติดตั้งอินเทอร์เน็ตในภาคตะวันออก ทั้งเมืองพัทยา ระยอง และจันทบุรี 

นั่นเองที่กลายเป็นประตูบานสำคัญที่ทำให้นักร้องดังแห่งยุคผู้นี้พัวพันกับโลกไร้พรมแดนเต็มตัว 

หากถามว่าเทคโนโลยีมีความหมายกับชีวิตของจอห์นอย่างไร

แน่นอนว่าความสะดวกสบาย ช่วยย่นระยะเวลาในการทำสิ่งต่าง ๆ ถือเป็นปัจจัยหลัก แต่อีกสิ่งที่เขาได้สัมผัสมาด้วยตัวเอง คือวิทยาการสมัยใหม่มีพลังที่เปลี่ยนแปลงชีวิตของใครบางคนได้เลย 

ย้อนกลับไปเมื่อ พ.ศ. 2538 ชื่อของจอห์นกลายเป็นข่าวดังขึ้นหน้า 1 หนังสือพิมพ์แทบทุกฉบับ ในฐานะวีรบุรุษที่ช่วยหญิงสาวให้รอดพ้นจากการถูกคุกคาม 

เหตุการณ์คืนนั้นเกิดขึ้นหลังจากที่จอห์นเสร็จสิ้นงานพิธีกรที่ผับใจกลางกรุง ช่วงตี 2 – 3 และกำลังขับรถกลับบ้านที่สุขาภิบาล 3 เขาสังเกตเห็นรถเมล์เล็กคันหนึ่งอยู่ริมทาง โดยมีชายหญิงคู่หนึ่งกำลังฉุดกระชากลากถูกันอยู่หน้ารถ จอห์นจึงจอดรถหยุดดู และคิดในใจว่าอาจเป็นสามีภรรยาทะเลาะกัน แต่พอเขาลงจากรถ ฝ่ายชายคงตกใจจนผู้หญิงสะบัดตัวหนีออกมาได้ และวิ่งมาหาเขาในสภาพเสื้อผ้าขาดวิ่น พร้อมกับตะโกนว่า ช่วยด้วย หนูถูกข่มขืน จอห์นจึงรีบพาผู้หญิงขึ้นรถ ล็อกประตูเสร็จเรียบร้อย 

จังหวะนั้นเอง คนร้ายก็ย้อนกลับไปขึ้นรถเมล์ และก่อนไปยังตะโกนด่าจอห์นแถมพาดพิงไปถึงแม่ของเขาด้วย จอห์นโกรธจัด หันไปพูดคุยหญิงสาวว่า “ผมจะลากคอมันเข้าคุกเอง” จากนั้นก็รีบขับตามไป พร้อมกับใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ Nokia-900 ติดต่อไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจและสถานีวิทยุ จส.100 เพื่อรายงานทิศทางการเคลื่อนที่ของผู้กระทำผิด ขณะเดียวกันก็ขับรถปาดหน้าคนร้ายไปมาตามถนนศรีนครินทร์ กระทั่งมาจนมุมที่สะพานข้ามแยกก่อนถึงบางนา จึงมีรถเจ้าหน้าที่ตำรวจขับตามมาทัน 

พอรถของคนร้ายจอด เจ้าหน้าที่ลงมาจากรถกันหมด ผู้กระทำผิดกลับใช้โอกาสนี้ขับรถหนี จอห์นจึงขับรถไล่ตามต่อ แต่โชคดีที่ตำรวจยิงล้อรถเมล์แบนข้างหนึ่ง บวกกับจอห์นยังช่วยไล่ตามต่อ โดยใช้รถแท็กซี่ที่ขับมาปาดหน้ารถคู่กรณีจนตกข้างคูไป ทำให้จับตัวผู้กระทำผิดได้สำเร็จ 

ผลจากการช่วยเหลือครั้งนี้ ทำให้จอห์นตระหนักว่า หากวันนั้นไม่มีโทรศัพท์มือถือติดตัว คงไม่มีทางรายงานเหตุการณ์จนกระทั่งควบคุมตัวผู้ต้องหาได้อย่างแน่นอน รวมทั้งยังเป็นแรงบันดาลใจอยากให้สังคมไทยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอย่างเต็มศักยภาพ โดยเฉพาะอินเทอร์เน็ต 

“ผมเคยบอกเพื่อนที่ทำธุรกิจโรงแรมอยู่ที่พัทยาว่า รู้ไหม หากอินเทอร์เน็ตมาถึง ไม่แน่หรอกว่าในอนาคตชาวยุโรปอาจเห็นภาพห้องนอนของเราจากที่นั่นได้เลย และพอเห็นภาพแล้ว ต่อไปก็ต้องจองห้องได้โดยไม่ต้องเดินทางเข้ามาหรือใช้โทรศัพท์ทางไกล” 

ทว่าเมื่อ พ.ศ. 2539 ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตอยู่ในวงจำกัดมาก อย่างอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ในกรุงเทพฯ ก็มีเพียงไม่กี่แห่ง อาทิ ผับใต้ดินของโรงแรมดุสิตธานี หรือ ชั้น 2 อาคารเพลินจิต พลาซา ขณะที่พื้นที่ต่างจังหวัดยิ่งไม่ต้องพูดถึง เพราะลำพังคนที่มีคอมพิวเตอร์ไว้ใช้งานยังแทบนับคนได้ 

หน้าที่หลักของจอห์นในฐานะผู้รับสัมปทานของ KSC Internet นอกจากการลากสายจากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยประจำจังหวัดต่าง ๆ ไปยังผู้รับบริการที่ติดต่อเข้ามาแล้ว คือการสำรวจตลาด พร้อมกับเดินสายให้ความรู้เกี่ยวกับประโยชน์ของอินเทอร์เน็ตตามสถานศึกษาและบริษัทห้างร้านต่าง ๆ ซึ่งนับเป็นเรื่องท้าทายยิ่ง เนื่องจากคนส่วนใหญ่ยังนึกภาพไม่ออกว่านวัตกรรมนี้จะตอบโจทย์ชีวิตอย่างไร 

ประสบการณ์หนึ่งที่จอห์นเคยเล่า เกิดขึ้นระหว่างที่เขานั่งรับประทานก๋วยเตี๋ยวที่จันทบุรี จึงถามไถ่เจ้าของร้านว่าขายดีไหม ปรากฏว่าคำตอบทำให้เขาแปลกใจ เพราะลุงคนนั้นกล่าวว่าไม่ดีเลย เพราะพลอยหมด ไม่เพียงแค่นั้น จอห์นยังได้รับคำตอบในลักษณะเดียวกันจากอีกหลาย ๆ ร้าน 

เหตุผลเพราะเศรษฐกิจของจันทบุรีในยุคก่อนขึ้นกับการค้าพลอยเป็นหลัก ชาวบ้านไม่ได้เห็นโอกาสที่จะสร้างงานสร้างรายได้จากทางอื่น จอห์นจึงมั่นใจว่า หากชาวบ้านใช้อินเทอร์เน็ตได้ โลกจะแคบลง การศึกษาจะดีขึ้น การทำตลาดก็จะง่ายขึ้น สุดท้ายทุกคนจะลืมตาอ้าปาก และนำไปสู่สังคมที่เท่าเทียมกันอย่างแท้จริง 

หากแต่จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดในช่วงที่เขาไปบรรยายเรื่องอินเทอร์เน็ตให้นักเรียนหญิงกว่า 300 คนที่โรงเรียนสตรีมารดาพิทักษ์ จันทบุรี 

“การต่อสายในเวลานั้น ผมมีเพื่อนชื่อ ตั้ง-อนุชา ตันตราภรณ์ ช่วยดูแลส่งสัญญาณจากต้นทาง ทศท.จันทบุรี จำได้ว่าตอนนั้นผมกับตั้งไปที่โรงเรียน เด็ก ๆ ชี้ว่าคนนี้เป็นนักร้องไง เราก็บอกว่าเดี๋ยวเล่าเรื่องอินเทอร์เน็ตเสร็จแล้วจะร้องเพลงให้ฟัง จากนั้นผมก็หยิบเสาอากาศวิทยุมาชี้ว่าเว็บไซต์คืออะไร ทำงานแบบไหน แล้วสมัยนั้นเว็บ CNN รีเฟรชหน้าเองทุก 15 นาที ซึ่งข่าวหนึ่งที่รีเฟรชขึ้นมาเป็นเหตุการณ์สิ้นพระชนม์ของ เจ้าหญิงไดอานา ผมเป็นคนอังกฤษไง จึงสะเทือนใจมาก แล้วก็หันไปมองเด็ก ๆ นึกขึ้นมาในใจว่าน้อง ๆ รู้ไหมว่าพวกน้องคือคนแรก ๆ ในประเทศไทยที่ทราบเรื่องนี้ แล้วน้องอยู่ที่จันทบุรี อยู่ข้าง ๆ โบสถ์แห่งนี้ และเรารู้เรื่องนี้พร้อมกัน” 

เหตุการณ์นี้ทำให้จอห์นเริ่มคิดว่าการถือเสาอากาศวิทยุมาสอนเด็ก ๆ อาจไม่เพียงพอ แต่เขาควรใช้ศักยภาพของตัวเองกระจายความรู้ให้ไปไกลที่สุด และไม่ใช่แค่ 300 คน แต่ต้องเป็นหลายสิบล้านคน 

นอกจากบทบาทศิลปินดังแล้ว อีกภาพจำของจอห์นที่คนในยุค 20 กว่าปีก่อนไม่ลืม คือการเป็นพระเอกยอดนิยมของช่อง 7 สี แม้เขาอาจมีผลงานไม่มากนัก แต่ทุกเรื่องล้วนโด่งดัง ทั้งบทบาทนายหัวนาบุญ จากเรื่อง สัมปทานหัวใจ และคุณหฤษฏิ์ พระเอกสุดโหดจากเรื่อง จำเลยรัก 

ด้วยสายสัมพันธ์อันดีนี่เอง พอจอห์นมาขอเวลาเพื่อผลิตรายการโทรทัศน์ของตัวเอง ทางผู้บริหารก็ใจดีจัดสรรเวลาไพรม์ไทม์ ทุกวันเสาร์ เวลา 12.40 น. มาให้รับผิดชอบ 

แต่แน่นอน คงเป็นไม่ได้ที่เขาจะนำเสนอแต่เรื่องเทคโนโลยีอย่างเดียว พอดีก่อนหน้านี้ วิทวัจน์ สุนทรวิเนตร์ เคยชวนเขาไปเป็นพิธีกรรายการ มายาวิชั่น คู่กับ ลินดา ครอส นำเสนอข่าวสารกอสซิปของวงการฮอลลีวูด แต่ภายหลังได้เลิกไป จอห์นจึงนำไอเดียนี้มาต่อยอด ด้วยการหยิบเรื่องแวดวงมายาต่างประเทศมาผสมผสานกับเรื่องการสื่อสาร เช่น การทายปริศนาเกี่ยวกับดาราทางเพจเจอร์ จนเกิดเป็นรายการที่ชื่อว่า MAYA.COM และดึงลินดามาดำเนินรายการร่วมกันอีกครั้ง 

MAYA.COM ออกอากาศครั้งแรกในวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2540 หลังจากเจ้าหญิงไดอานาจากไปประมาณ 3 เดือน และฉีกแนวรายการโทรทัศน์ในเวลานั้นอย่างสิ้นเชิง 

หากแต่ต้องยอมรับว่าโลกความฝันกับความเป็นจริงอาจไม่ได้อยู่เคียงข้างกันเสมอไป เพราะด้วยเนื้อหาที่ค่อนข้างแหวกแนว บวกกับพยายามสอดแทรกความรู้เรื่องเทคโนโลยีมากเกินไป ทำให้รายการมีเรตติงผู้ชมน้อย สปอนเซอร์เองก็ไม่ได้ตอบรับเท่าที่ควร แถมยังมีผู้บริหารของสถานีบางคนตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับคำว่า ‘ดอตคอม’ เนื่องจากช่วงนั้นถือเป็นเรื่องแปลก คนไม่ค่อยทราบว่าคืออะไร ฟังแล้วคล้ายคลึงกับคำผรุสวาทบางคำ จนสุดท้ายชื่อรายการจึงโดนหั่นสั้นเหลือเพียง MAYACOM 

หลังออกอากาศไปได้เพียง 5 เดือน MAYACOM ถึงคราวโบกมือลาวิกหมอชิต โดยสถานีได้หันไปออกอากาศละครโทรทัศน์แทน 

ทว่าจอห์นก็ไม่ได้ท้อถอยแต่อย่างใด เขาเปรียบตัวเองว่าเป็นธรรมดาของผู้ประกอบกิจการคนแรก ๆ ที่อาจต้องไปเหยียบกับระเบิดให้หมดเสียก่อน เพื่อกรุยทางให้คนอื่นเดินตามมาได้ ด้วยเหตุนี้ ในวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2541 เขาจึงเริ่มต้นรายการ IE.COM ทาง ททบ.5 เป็นเกมโชว์ในรูปแบบเทคโนบันเทิง อัดแน่นไปด้วยความสนุกและเรื่องราวน่ารู้ของวิทยาการต่าง ๆ โดยมีเพื่อนร่วมวง NUVO ก้อง-สหรัถ สังคปรีชา เป็นพิธีกรร่วม 

โดย IE นั้นไม่ได้ย่อมาจาก Internet Explorer อย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่ I มาจาก Information, Internet, Interactive, International, Integrity และ Idea ขณะที่ E หมายถึง Education, Enjoy, Entertainment, Environment, Enlightened และ Empathy รูปแบบรายการในเวลานั้นเป็นรายการสดเกือบ 80 เปอร์เซ็นต์ และเน้นการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ชมให้มากที่สุด 

“เวลาเริ่มรายการ ผมจะพูดว่า ขอต้อนรับสู่รายการ IE.COM ที่ธรรมชาติ เทคโนโลยี และความบันเทิงอยู่ด้วยกันอย่างกลมกลืน ทุกวันนี้ยังพูดได้เพราะมันคือดีเอ็นเอหรือแกนของสิ่งที่เชื่อมั่นมาตลอด” 

IE.COM ซึ่งภายหลังพัฒนามาเป็น IE Show.com ถือเป็นจุดเปลี่ยนหนึ่งที่สำคัญของจอห์น เพราะไม่เพียงออกอากาศยาวนานนับสิบปี หากยังเป็นพื้นที่หลักในการถ่ายทอดความคิดและความตั้งใจที่อยากผลักดันเทคโนโลยีให้เข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันของทุกคน ไม่ว่าจะเป็นการแนะนำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เว็บไซต์ที่น่าสนใจ รวมถึงนำเสนอข่าวสารเกี่ยวกับวงการไอทีจากทุกมุมโลก ในสไตล์ที่ทุกคนเข้าใจได้ง่าย 

ขณะเดียวกัน เขาก็ใช้โอกาสนี้ทดลองนวัตกรรมที่น่าสนใจ อาทิ การนำรายการ IE Show.com ไปออกอากาศคู่ขนานผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ตลอดจนเปิดโอกาสให้ผู้ชมนอกห้องส่งมีส่วนร่วมได้ 

“ตอนนั้น หนุ่ย-พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ เป็นพิธีกรภาคสนาม เราใช้วิธียิงภาพผ่านอินเทอร์เน็ตกลับมาที่สถานี โดยมี จี-ที่รัก บุญปรีชา ซึ่งปัจจุบันก็คือ พี่หลาม จิ๊กโก๋ IT อยู่ในห้องคอนโทรลในสตูดิโอ โดยการส่งภาพผ่านอินเทอร์เน็ตในสมัยนั้นเป็นเรื่องที่ทำยากพอสมควร เพราะส่วนใหญ่ต้องใช้รถถ่ายทอดไปเลย” 

อีกหนึ่งผลงานที่จอห์นภูมิใจมาก คือคลื่นวิทยุภาคภาษาไทยบนอินเทอร์เน็ต หรือ Cyber Radio ซึ่งเขาเป็นคนแรกในเมืองไทยที่เริ่มต้นบุกเบิก เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2543 โดยเปิดให้รับฟังทางเว็บไซต์ ieshow.com ผ่านโปรแกรม Winamp และ RealPlayer ด้วยความตั้งใจที่อยากให้ผู้คนใช้อินเทอร์เน็ตได้เต็มประสิทธิภาพที่สุด เช่น หากใครที่กำลังท่องเว็บไซต์ก็เปิดฟังรายการจากสถานีควบคู่ไปด้วยได้ โดยรูปแบบรายการเหมือนสถานีวิทยุทั่วไป เพียงแต่เรียกผู้ดำเนินรายการว่า IJ (Internet Jockey) แทน DJ (Disc Jockey) 

หรือแม้แต่ในช่วงที่มีวาระสำคัญของประเทศ อย่างการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ทางวิทยุ ieshow.com ก็มีรายการพิเศษเชิญผู้สมัครตัวเต็งมาร่วมพูดคุย พร้อมกับรับชมสด ๆ ทั้งภาพและเสียง และหากใครต้องการแสดงความคิดเห็นหรืออยากฝากคำถาม ก็เพียงส่งข้อความผ่านโปรแกรม ICQ จากนั้นผู้ดำเนินการก็จะนำไปสอบถามผู้สมัครแต่ละคนทันที 

ไอเดียที่จอห์นและทีมงานช่วยกันผลักดันขึ้นจุดประกายให้เกิดวิทยุออนไลน์ขึ้นอีกหลายสถานี แม้แต่รายการดัง ๆ ที่ออกอากาศผ่านคลื่นความถี่ทั่วไปก็ยังขยายช่องทางการเผยแพร่มาสู่เว็บไซต์ควบคู่ไปด้วย นับเป็นก้าวย่างแรก ๆ ในการพลิกโฉมของวงการบันเทิงไปสู่โลกออนไลน์ 

นอกจากนี้ จอห์นยังเป็นผู้บุกเบิกระบบที่เรียกว่า Mobile2TV เมื่อ พ.ศ. 2545 ด้วยการให้ผู้ชมทางบ้านส่ง SMS จากระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่เพื่อไปขึ้นบนหน้าจอโทรทัศน์แบบ Real Time โดยเริ่มต้นจากรายการข่าวของ ททบ.5 ก่อนจะขยายไปสู่รายการบันเทิงของสถานีโทรทัศน์ต่าง ๆ 

“เวลานั้นรายการ 80 – 90 เปอร์เซ็นต์ในประเทศไทยผมเป็นคนทำ จำได้ว่าครั้งแรกที่ SMS ขึ้นหน้าจอคือสถานการณ์ที่รถสองแถวถูกกราดยิงบนดอย เราถามแค่ว่าคุณคิดอย่างไร แล้วก็มีตัวเลือกให้เลือก ผมคงไม่บอกว่ามีอะไรบ้าง แต่มันสะท้อนให้ถึงอารมณ์ความรู้สึกของผู้ชมที่ดีดขึ้นมาเลย แม้แต่หัวหน้าฝ่ายข่าวและผู้บริหารของสถานียังรู้สึกตกใจกับการตอบสนองของคนดูจริง ๆ แต่น่าเสียดายที่เวลานั้นทางสถานี รวมถึงผู้จัดบางรายกลับมองและให้คุณค่ากับสิ่งนี้น้อยเกินไป” 

ไม่เพียงแค่นั้น จอห์นยังมีบทบาทสำคัญในการปลุกปั้นบุคลากรมาสู่แวดวงสื่อไอที ไม่ว่าจะเป็น หนุ่ย พงศ์สุข ซึ่งเขาได้พบครั้งแรกในช่วงหนุ่ยไปรับหน้าที่พิธีกรในงาน ICQ Party จึงชักชวนให้มาทำงานร่วมกัน มอบหมายภารกิจให้ตั้งแต่เขียนสคริปต์รายการ เป็นพิธีกร จัดรายการวิทยุ ทำอีเวนต์ จนวันนี้หนุ่ยเติบใหญ่กลายเป็นหนึ่งในผู้นำสื่อคนสำคัญของเมืองไทย แต่ถึงอย่างนั้นหนุ่ยก็ยังคงเรียกจอห์นว่าเป็น ‘เจ้านายตลอดกาล’ เสมอมา 

เช่นเดียวกับ ซี-ฉัตรปวีณ์ ตรีชัชวาลวงศ์ ซึ่งจอห์นคัดเลือกให้มาเป็นหนึ่งในพิธีกรของรายการ Tech24 ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ G-Square ทาง TrueVisions ก่อนที่ต่อมาซีจะเริ่มต้นพัฒนาช่วง Wow Gadget เรื่อยมาจนปัจจุบันเป็นเจ้าหญิงแห่งวงการ IT ที่มีรายการโทรทัศน์และคอนเทนต์ออนไลน์มากมาย 

แม้รายการที่จอห์นและทีมงานเริ่มต้นขึ้นอาจไม่ได้ติดอันดับรายการยอดนิยม แต่ในมุมหนึ่งก็มีส่วนช่วยเปลี่ยนทัศนคติของผู้คนที่มีต่อโลกไอทีว่าไม่ใช่เรื่องไกลตัว หากแต่เป็นพื้นที่ที่เปิดกว้างให้ทุกคนสร้างสรรค์ สร้างความสุข และต่อยอดสิ่งต่าง ๆ ได้ไม่รู้จบ 

“การที่ผมมาทำเรื่องเทคโนโลยี พูดไปอาจดูเหมือนเรื่องน้ำเน่า แต่ความจริงแล้วผมก็เป็นแค่คนคนหนึ่ง และวันหนึ่งได้กลายเป็น Somebody เป็น จอห์น นูโว เป็นคนของประชาชน ซึ่งก็ต้องถือโอกาสนี้ขอบคุณเพื่อนรักและน้องชายในวงด้วย และเพื่อเป็นการทดแทน ผมต้องคืนสิ่งเหล่านี้ให้ใครสักคนหนึ่งหรือเปล่า ซึ่งสิ่งที่ผมพอจะทำได้ ก็มีเรื่องเทคโนโลยีนี่แหละ” 

สำหรับจอห์นแล้ว ประสบการณ์ที่ได้ลงพื้นที่ไปขับเคลื่อนเรื่องอินเทอร์เน็ตในภาคตะวันออก ทำให้เขาเห็นความเหลื่อมล้ำมากมายที่ตั้งต้นมาจากการขาดแคลนโอกาส ดังนั้น เมื่อเริ่มต้นทำรายการของตัวเอง เขาจึงอยากใช้เวทีนี้ส่งมอบสิ่งดี ๆ คืนสู่สังคม 

อย่างกิจกรรมหนึ่งของ IE Show.com คือการที่จอห์นนำจานดาวเทียมใส่รถกระบะคู่ใจ เดินทางขึ้นบนยอดดอยทั่วประเทศเพื่อเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตให้เด็กไทยที่อยู่ห่างไกลเข้าถึงโลกไร้พรมแดนอย่างเท่าเทียม 

“คงเหมือนเป็นสัญชาตญาณบอก เพราะตอนนั้นเราเห็นว่า Digital Gap เกิดขึ้นจากความห่างไกล คือต้องไม่ลืมว่าสัญญาณโทรศัพท์เมื่อ 20 กว่าปีก่อนมีไม่กี่จังหวัดเอง ซึ่งการให้มานั่งรอผู้ประกอบการก็คงไม่ใช่เรื่อง อินเทอร์เน็ตต้องมาจากท้องฟ้า หรือต้องลากสาย LAN เชื่อมเข้ามา แต่การลากก็ไม่ใช่หน้าที่ของเรา สิ่งที่เราพอทำได้คือขับรถขึ้นดอยแล้วต่อลงมา 

“ทุกวันนี้หลับตายังนึกถึงเป็นภาพออกเลย ผมขับรถกระบะแล้วมีจานดาวเทียมเบ้อเริ่ม เป็นจานดำคล้ายกับที่เราดูทีวี เวลาขับก็ต้องขับเอียง ๆ พอไปถึงก็เหงื่อแตกเต็มตัว มีอยู่ครั้งหนึ่งเราไปถึงแสงก็จะหมดแล้ว มีเด็ก 10 – 20 คนยืนเข้าแถวอยู่ ในใจคิดว่าดาวเทียมจ๋า อย่าทำให้ผมผิดหวังนะ เราขับมาถูกจุดแล้ว และนาทีสุดท้ายก่อนที่ความมืดจะมา ต้องเผ่นแล้ว เราก็ติดตั้งเสร็จ พอกด Enter ทีมงานทุกคนแทบจะล้มไปข้างหลัง เพราะเราทำสำเร็จแล้ว และอย่างน้อยเราก็เชื่อว่าสิ่งที่ทำจะเป็นแรงบันดาลใจให้ใครสักคนที่อยู่ในหมู่บ้านได้เห็นว่านี่เป็นทางเลือกที่ช่วยสร้างโอกาสให้กับชีวิตของพวกเขา” 

เช่นเดียวกับ SMS บนหน้าจอโทรทัศน์ โดยหลังจากที่จอห์นเริ่มทำเรื่องนี้ได้สักระยะ ก็เกิดปัญหาขึ้นมา เพราะมีผู้ร้องเรียนว่าบริการลักษณะนี้เข้าข่ายการพนัน ส่งผลให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมีมติขอความร่วมมือผู้จัดรายการโทรทัศน์ยุติการให้ผู้ชมส่ง SMS เป็นการชั่วคราว 

“เราก็สงสัยว่าเป็นการพนันอย่างไรเหรอ เขาจึงอธิบายว่า เพราะมีคนเสียเงินเข้าไป คือตอนนั้นมันมีเรื่องของการส่ง SMS เพื่อรับรางวัลด้วย เหมือนเป็นการแทง หรือต่อให้ไม่มีรางวัล แต่ถ้าคุณจ่ายไป 5 – 10 บาท แล้วเกิดข้อความไม่ขึ้นก็เท่ากับผมเสียเงินฟรีนะ มาถึงวันนี้การใช้งานนี้เลิกเป็นที่นิยมไปแล้ว แต่ก็ยืนยันว่าเป็นต้นเหตุมาจากความผิดพลาดของการตีความเป็นสำคัญ” 

ช่วงนั้นจึงมีการรวมตัวของผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ รวมถึงผู้ให้บริการเป็นสมาพันธ์สมาคมผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่แห่งประเทศไทย (TFA Thailand Federations of Mobile Service Providers) โดยจอห์นรับตำแหน่งประธาน เพื่อสร้างกรอบในการควบคุมกันเองและเสนอต่อรัฐบาลเพื่อจัดทำเป็นแนวปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม 

และเมื่อจัดการปัญหานี้เรียบร้อย พอดีขณะนั้นปัญหาความรุนแรงในภาคใต้กำลังระอุ กระทรวงมหาดไทยจึงทำโครงการ Information War Fare ขึ้นมา เพื่อสร้างความปลอดภัยแก่พี่น้องใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ จอห์นและสมาพันธ์ฯ จึงประสานงานกับผู้ให้บริการทุกเครือข่ายทำระบบ SMS Alert เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ ส่งข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ โดยผ่านทางโอเปเรเตอร์ และวิ่งตรงไปยังกระทรวงมหาดไทย เป็นกระบวนการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือ PDPA ในรูปแบบแรก ๆ ของประเทศไทย

น่าเสียดายที่แม้ทุกอย่างเตรียมพร้อมไว้หมดแล้ว แต่ภายหลังเกิดการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารของกระทรวง ส่งผลให้ระบบนี้ไม่ได้รับการสานต่อในแง่การปฏิบัติแต่อย่างใด 

นอกจากนี้ จอห์นและเพื่อนซี้คนเดิม ตั้ง อนุชา ยังริเริ่มโครงการระบบการประเมินคุณภาพเนื้อหาของสื่อ หรือ ME System Project (Media Evaluation System Project) ภายใต้การสนับสนุนของกระทรวงวัฒนธรรม เพื่อวัดเรตติงในเชิงคุณภาพของรายการโทรทัศน์ 

โดยนำรายการจากฟรีทีวี 6 ช่อง และสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมกว่า 150 ช่องในยุคนั้นมาออกอากาศผ่านเว็บไซต์ www.me.in.th พร้อมให้รับชมย้อนหลังเป็นเวลา 3 เดือน ผู้ชมประเมินรายการต่าง ๆ ได้ว่าควรจัดระดับความเหมาะสมในกลุ่มอะไร เช่น ป 3+ คือเหมาะสมกับกลุ่มเด็กปฐมวัย ในวัย 3 – 5 ปี, ด 6+ คือเหมาะสมกับเด็กทั่วไป ตั้งแต่อายุ 6 – 12 ปี, ท หมายถึง สามารถรับชมได้ทุกวัย เป็นต้น ซึ่งต่อมากรมประชาสัมพันธ์ก็กำหนดสัญลักษณ์เรตติงในลักษณะใกล้เคียงกันนี้สำหรับรายการโทรทัศน์ต่าง ๆ อย่างที่เห็นในปัจจุบัน 

ไม่เพียงแค่นั้น ยังมีการประเมินในเชิงลึกผ่านทฤษฎี +6 / -3 โดย +6 คือประเด็นเนื้อหาที่ควรส่งเสริม เช่น ส่งเสริมให้เกิดระบบวิธีคิด ส่งเสริมความรู้วิชาการ ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาด้านคุณธรรมและจริยธรรม ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้เกี่ยวกับทักษะชีวิต ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ยอมรับ เข้าใจ และชื่นชมความหลากหลายของสังคม และส่งเสริมการพัฒนาความสัมพันธ์ในครอบครัว ส่วน -3 คือเนื้อหาที่ควรมีการจำกัด ประกอบด้วยพฤติกรรมความรุนแรง เรื่องเพศ และภาษาที่ไม่เหมาะสม 

“ที่ผ่านมาเรตติงในบ้านเราวัดแต่เชิงปริมาณเท่านั้น และพอเราตั้งใจจะทำอะไรสักอย่างที่คิดว่าดี อย่างการสร้างเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี ให้คนไทยรู้เท่าทัน แล้วคุณมาทำในรูปแบบรายการวิทยุหรือรายการโทรทัศน์ โอกาสที่คุณจะมีเรตติงหรือมีผู้สนับสนุนนั้นเป็นเรื่องยาก เพราะเขาวัดกันที่เรตติงเชิงปริมาณ เลยรู้สึกว่าทำไมถึงตรวจวัดด้วยคุณค่าของประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นไม่ได้ 

“อีกอย่างหนึ่ง ตอนนั้นทางกระทรวงวัฒนธรรมมองว่ารายการโทรทัศน์ โดยเฉพาะละคร มีอิทธิพลต่อประชาชน แต่การวัดเชิงคุณภาพเป็นดุลยพินิจของเจ้าของสถานี เจ้าของรายการเป็นหลัก ขณะที่หน่วยงานภาครัฐก็ประสงค์จะเข้ามามีส่วนร่วมตรงนี้ด้วย เขาก็ถามว่าคุณจอห์นคิดว่าอย่างไร ในฐานะที่ผมมีแบ็กกราวนด์เรื่องการทำระบบ Streaming มาก่อน และอยากเห็นระบบแบบนี้ในเมืองไทย จึงเข้ามาช่วยวางระบบตรงนี้ ถือเป็นแพลตฟอร์มแรกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เลย ที่สำคัญ ภายหลัง กสทช. นำระบบ ME System นี้ไปใช้เป็นเครื่องมือในกรณีร้องเรียนจากประชาชน ซึ่งผมก็ต้องขอขอบคุณผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคนด้วย” 

หลังเริ่มต้นโครงการ ปรากฏว่า ME System Project ได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากผู้ชม ภายใน 2 เดือน มียอดสมาชิกที่ยืนยันตัวตนสูงถึง 450,000 คน และยังนำระบบนี้ไปพัฒนาต่อให้กับสมาคมโทรทัศน์ดาวเทียม (ประเทศไทย) ในยุคที่เมืองไทยมีทีวีดาวเทียมเติบโตสุดขีดด้วย 

อย่างไรก็ตาม แม้ระบบที่จอห์นคิดจะน่าสนใจและช่วยยกระดับเนื้อหารายการในโทรทัศน์ได้ แต่การปรับเปลี่ยนความคิดหรือแนวปฏิบัติที่ทุกคนคุ้นเคยมานานหลายสิบปีไม่ใช่เรื่องง่ายเลย สุดท้ายโครงการนี้จึงต้องยุติไปในที่สุด 

“เราทำระบบนี้เพื่อให้เป็นทางเลือก ซึ่งตอนนั้นก็มีอยู่ช่องหนึ่งที่ไม่เห็นด้วย และไม่ต้องให้ระบบของเราเป็นมาตรฐานใด ๆ ซึ่งตอนนั้นมีผู้บริหารของสถานีโทรทัศน์อีกแห่งหนึ่งอธิบายให้ผมฟังว่ามาตรฐานที่ใช้อยู่ ถ้าเป็นเปรียบเป็นนาฬิกาคือ Rolex ส่วนระบบ ME System คือ Casio ซึ่งที่จอห์นทำมาถือว่าดีมากเลย ทำได้หลายอย่าง แต่พอดีมาตรฐานในวงการนี้ต้องเป็น Rolex เท่านั้นเอง” 

และเมื่อ พ.ศ. 2552 จอห์นรับตำแหน่งนายกสมาคมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยมีส่วนผลักดันโครงการต่าง ๆ อาทิ NetGen สร้างสรรค์เยาวชนคนรุ่นใหม่ผู้มีวินัยใช้ไอซีที เพื่อให้ครูและเยาวชนได้พัฒนาและเพิ่มทักษะความรู้พื้นฐานทางด้านคอมพิวเตอร์มากขึ้น  

แม้หลายโครงการที่จอห์นผลักดันอาจสำเร็จมากบ้างน้อยบ้าง หรือบางกิจกรรมก็ไปไม่ถึงฝั่งฝันเลย แต่สิ่งที่สำคัญมากกว่า คือการกล้าที่จะลงมือทำ เพื่อทำให้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือที่ตอบสนองและช่วยยกระดับคุณภาพของสังคมไทยให้ดียิ่งขึ้น 

จากวันวานที่จอห์นต้องเชิญชวนคนรอบข้างให้ทดลองใช้อินเทอร์เน็ต ถึงวันนี้คงไม่ต้องบอกอีกแล้วว่าอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีมีประโยชน์อะไรกับชีวิตมนุษย์ 

โจทย์หนึ่งที่จอห์นอยากบอกกับสังคมมากกว่า คือการทำอย่างไรให้ทุกคนมีชีวิตอยู่ในโลกที่เทคโนโลยีเข้ามามีอิทธิพลอยู่ตลอดได้อย่างมีความสุข เพราะต้องยอมรับว่าเทคโนโลยีเปรียบเสมือนดาบสองคม หากใช้อย่างถูกต้องก็จะมีประโยชน์มหาศาล แต่ในทางกลับกันก็มีโทษมหันต์ หากเราใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือโจมตีหรือสร้างความเกลียดชัง

คำเตือนหนึ่งที่จอห์นเคยพูดมานานหลายปีแล้ว คือเราต้องเป็นคนใช้เทคโนโลยี อย่าปล่อยให้เทคโนโลยีเป็นฝ่ายใช้เรา 

“บางครั้งเราดูเหมือนเป็นคนที่มีนวัตกรรม เราใช้เทคโนโลยี แต่ถ้ามองย้อนกลับกัน แล้วเราถูกมันใช้อะไรบ้าง อย่าง Social Media เอาเวลาของเรา เอาความเป็นมนุษย์ของเรา ไปอยู่ในโลกที่เป็นโลกเสมือนมากขึ้นกว่าเดิมหลายเท่าตัว จนบางครั้งก็นำมาสู่ความเปลี่ยนแปลงที่ไม่ควรจะเป็น เช่น สุขภาพที่เสื่อมโทรม หรือการ Cyberbullying โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน ซึ่งสาเหตุของการกลั่นแกล้งเป็นไปได้จากหลายเหตุผล เช่น เทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว ความสามารถในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของคนไทยที่มีมากขึ้น จากเทคโนโลยีการสื่อสารที่ทำให้ทุกคนติดต่อกันได้อย่างกว้างขวาง” 

ที่สำคัญ ผลของความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วเกินไปยังทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งบ่อยครั้งกลายเป็นชนวนนำไปสู่ความขัดแย้ง และมีผู้ได้รับผลกระทบเต็มไปหมด โดยเฉพาะคนที่รับมือกับความเปลี่ยนแปลงได้ไม่ทัน

“ถึงวันนี้ผมมักคิดว่า ทำไมเราจึงยังใช้คำว่า Disrupt กันอยู่เลย เพราะเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นก็ต้องปรับตัวตามใช่ไหม แล้วคนที่เปลี่ยนแปลงได้ไม่ทัน ทำไมไม่พูดถึงกันเลย ผมคิดว่าผลกระทบที่เกิดจากความเปลี่ยนแปลง เหตุใดถึงไม่นำมาตีค่าทางเศรษฐกิจด้วย เรื่องนี้ทำให้ผมโกรธ ผมไม่ชอบคนที่ใช้เทคโนโลยีเพื่อให้ได้เปรียบเหนือคนอื่นตลอดเวลา แล้วบอกว่านี่คือพวกที่ไม่เท่าทัน มันไม่ใช่ความผิดเขา แต่เป็นสิ่งที่ผู้กระทำต้องรับผิดชอบต่างหาก เพราะเวลาที่คุณทำอะไรให้ก้าวหน้าไปเร็วขนาดนั้น ก็ต้องกลับมารับผิดชอบ กลับมาดูแลด้วย ในการที่คุณไปเปลี่ยนแปลงชีวิตของเขาว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงภายใต้ประโยชน์ของใคร ส่งผลกระทบอะไรบ้าง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ควรต้องคุยกันก่อนลงมือหรือเปล่า” 

จากจุดตั้งต้นที่อยากคืนความสมดุลให้โลกเทคโนโลยีกลายเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข จอห์นจึงก่อตั้งสมาคมเครือข่ายเพื่อการเรียนรู้ เท่าทัน ดิจิทัลเทคโนโลยี (D-Tech : Digital Technology Knowledge Network Association) ขึ้นมาเมื่อ พ.ศ. 2564 เพื่อทำภารกิจในการสร้างความรู้ ภูมิคุ้มกัน และเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ ที่มาช่วยเหลือและเติมเต็มทักษะที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีและการใช้สื่อดิจิทัลได้อย่างมีประโยชน์ พร้อมกับเสริมบทบาทของสถาบันครอบครัวในการช่วยประคับประคองไม่ให้เทคโนโลยีเข้ามามีอิทธิพลต่อชีวิตมากเกินไป 

โดยปัจจุบัน D-Tech มีโครงการที่น่าสนใจมากมาย อาทิ Digital Vaccine เพื่อให้ทุกคนอยู่ร่วมกับโลกดิจิทัลได้อย่างมีความสุข Sounds of Earth กิจกรรมทางดนตรีที่นำเทคโนโลยีเข้ามาผสมผสานกับสภาพแวดล้อมที่อยู่รอบตัว โดยไม่สร้างเสียงรบกวนแก่ธรรมชาติ เพราะทุกคนจะกลมกล่อมกับเสียงดนตรีแบบสด ๆ ผ่านหูฟังไร้สายที่มีคุณภาพยอดเยี่ยม Digital Detective ซึ่งมีหมุดหมายที่จะสร้างพลเมืองดิจิทัลที่ดีมีคุณภาพให้ได้มากที่สุด รวมไปถึง Tech Know Now รายการโทรทัศน์ที่จอห์นและ จัสติน-มหาสมุทร รัตนเวโรจน์ บุตรชายคนโต ร่วมกันสร้างสรรค์ขึ้น เพื่อให้คนไทยกลับมาสนุกที่จะได้เรียนรู้ และก้าวเดินไปพร้อมกับเทคโนโลยีอีกครั้ง  

“ถ้าเราเปรียบอินเทอร์เน็ตเป็นถนน แล้วบนถนนมีแต่คนที่ขับรถโดยไม่มีใบขับขี่ ไม่มีกติกา สุดท้ายรถคงชนกันเละโดยไม่มีประกันคุ้มครอง และไปว่ากันที่กฎหมายสถานเดียว ดังนั้น D-Tech จึงมุ่งเน้นขับเคลื่อนในประเด็น 3 หลักประเด็นหลัก ซึ่งเราเรียกว่า 3E+ คือ Education, Environment และ Economy เพื่อเติมเต็มความเป็นพลเมืองดิจิทัลกับส่วนที่ขาดหายไปในสังคมไทย ทั้งความรับผิดชอบและการใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์แก่สังคม 

“สิ่งที่เราตั้งใจไม่ใช่การลดบทบาทของเทคโนโลยี แต่ต้องการสร้าง Ecosystem ที่ยั่งยืน เพราะทุกอย่างที่ทำจากต้นน้ำถึงปลายน้ำ ท้ายสุดตอนจบของเรื่องนี้ก็คือ All Come to Peace หมายถึง สันติภาพในด้านจิตใจ ความรู้สึก และความเป็นอยู่ในครอบครัว ในสังคม ในยุคของสังคมยุคดิจิทัลที่บาลานซ์ซึ่งกันและกันได้” 

ชีวิตของจอห์นในวันนี้จึงไม่ได้ยึดติดกับเครื่องมือใด ๆ หรือผันผวนไปตามความเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็วของโลกไอทีอีกต่อไปแล้ว เพราะสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่า คือการดำรงชีวิตอย่างมีความสุข โดยยังคงรักษาคุณค่าความเป็นมนุษย์ที่ใช้และสร้างประโยชน์จากเทคโนโลยีควบคู่กันไป 

“หากถามว่าอีก 20 ปีข้างหน้าโลกไอทีจะเป็นอย่างไร ขอบอกเลยว่าไม่ได้คิด เพราะผมอยู่กับปัจจุบัน และรู้แค่พรุ่งนี้คือวันใหม่ เราทำวันนี้ให้ดีที่สุด ให้สุด ๆ ไปเลย It’s OK, if It’s D-Tech.”

ข้อมูลประกอบการเรียบเรียง
  • บทสัมภาษณ์ คุณจอห์น-นรศักดิ์ รัตนเวโรจน์ วันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2566
  • นิตยสาร พลอยแกมเพชร ปีที่ 6 ฉบับที่ 133 วันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2540
  • หนังสือพิมพ์ ผู้จัดการรายวัน ฉบับวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2542
  • หนังสือพิมพ์ ผู้จัดการรายวัน ฉบับวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2543
  • นิตยสาร e-commerce ปีที่ 2 ฉบับที่ 19 เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2543
  • นิตยสาร GM ปีที่ 16 ฉบับที่ 258 เดือนมกราคม พ.ศ. 2545
  • เว็บไซต์ RYT9
  • เว็บไซต์สมาคมเครือข่ายเพื่อการเรียนรู้เท่าทันดิจิทัลเทคโนโลยี

Writer

Avatar

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา

เพจเล่าเรื่องที่เชื่อว่าคนธรรมดาทุกคนต่างมีความเป็นยอดมนุษย์อยู่ในตัว

Photographer

โตมร เช้าสาคร

โตมร เช้าสาคร

ชอบถ่ายวิวมากกว่าคน ชอบกินเผ็ดและกาแฟมาก เป็นคนอีโค่เฟรนลี่ รักสีเขียว ชวนไปไหนก็ได้ไม่ติด ถ้ามีตัง