15 กุมภาพันธ์ 2024
2 K

‘จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท’ หรือ ‘ร เรือในมหาสมุท’

คนอ่านวรรณกรรมสะท้อนสังคม มักรู้จักเธอในชื่อแรก

ส่วนคนอ่านวรรณกรรมวาย มักรู้จักเธอในชื่อหลัง

แต่สิ่งที่ผู้อ่านทุกกลุ่มของเธอรู้เช่นเดียวกัน คือ ลี้-จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท เป็นนักสังเกตการณ์ชีวิตตัวยง

ร เรือในมหาสมุท เป็นนักเขียนที่ทำงานหลากหลาย บางทีก็เขียนให้ออกมาไทย ๆ เหมือนเรื่องเกิดขึ้นแถวบ้าน บางทีก็เขียนถึงโลกที่ไม่มีอยู่จริง เมืองสมมติ หรือมนุษย์ต่างเผ่าพันธุ์ แต่ไม่ว่าหีบห่อจะเป็นยังไง สุดท้ายประเด็นที่เธอนำเสนอก็เป็นชีวิตจริงที่สุด เข้าถึงกลางใจผู้อ่านที่สุด และเราเชื่อว่าคนหลงรักตัวอักษรของเธอด้วยเหตุนั้น

ในวัย 25 ปี สิงโตนอกคอก พาให้เธอเป็นนักเขียนอายุน้อยที่สุดที่ได้รางวัลซีไรต์

6 ปีถัดมา เธอก็เป็นนักเขียนอายุน้อยที่สุดที่ได้รางวัลศิลปาธร สาขาวรรณศิลป์

ความสำเร็จเป็นสิ่งที่ต้องอดทนรอ ใน 100 คนคงมีไม่กี่คนที่ได้รับรางวัลการันตีความสามารถในอาชีพตั้งแต่ยังเยาว์ แต่ลี้ฝึกฝนตัวเองในสนามนี้มาค่อนชีวิต ไม่รวมกับที่พิมพ์เอง ปัจจุบันเธอตีพิมพ์หนังสือมาแล้ว 27 เล่ม ทั้งยังเริ่มต้นทำงานเขียนบทเพิ่มมาอีกอย่างแล้วด้วย

บ่ายวันหนึ่งในฤดูหนาว เราชวนเธอไปนั่งเล่นที่ House of Commons ร้านหนังสืออิสระเชิงสะพานพิทยเสถียร ย่านตลาดน้อย ก่อนจะเริ่มคุยกันบนชั้น 3 ก็ซื้อหนังสือ Monochromatic Night สีสุดท้ายของกลางคืน จากชั้นล่างขึ้นไปให้เธอเซ็น

ในฐานะนักอ่านในยุคสมัยของจิดานันท์ สิ่งที่เราอยากรู้จากเธอ คือโลกมนุษย์ในมุมมองของเธอเป็นยังไง เธอมีทัศนคติในการเขียนงานยังไง เผชิญหน้ากับความสำเร็จที่ดาหน้าเข้ามารวดเร็วแบบไหน และมองอนาคตหลังประสบความสำเร็จสูงสุดเท่าที่นักเขียนอายุ 31 จะประสบได้ยังไงบ้าง

ความสำเร็จทำให้เธอกลัวที่จะก้าวต่อเหมือนตอนที่ได้ซีไรต์

หรือทำให้เธอมีแรงสร้างงานเพื่อตั้งคำถามกับสังคมให้สนุกสุดเหวี่ยงกว่าเดิมกันแน่

‘สาวออฟฟิศ’ หรือ ‘นักเขียน’

รู้สึกยังไงบ้างที่ได้รางวัลศิลปาธรครั้งนี้

เราว่ามันก็เป็นหมุดหมายที่ดีอย่างหนึ่งนะ เพราะถ้าจะเป็นศิลปินแห่งชาติต้องอายุเยอะแล้ว อันนี้เหมือนเขาตั้งใจทำมาสำหรับศิลปินที่อยู่ในระดับกลาง ๆ ของ Career Path ถ้าเด็กมาก คุณก็เป็น Young Thai Artist Award แต่อันนี้คือช่วงเวลาที่คุณไม่ได้เด็กมากและไม่ได้โตมาก แต่มีอะไรบางอย่างที่มองเห็นคุณในช่วงระหว่างเวลานั้น

ถือว่าเป็นอีกครั้งที่ได้รับรางวัลตอนอายุน้อยนะ

ใช่ ๆ ต้องอายุ 30 ถึงจะได้ ปีนี้ลี้ 31 น่าจะน้อยที่สุดที่เขาเคยให้มา

ลี้เคยคุยกับรุ่นพี่บางคนที่เขาอายุมากกว่า เขาพูดว่า ถึงแกจะบอกว่าแกเด็ก แต่จำนวนผลงานมันการันตีแล้ว อย่างตอนซีไรต์ สิงโตนอกคอก อาจเป็นหนังสือเล่มแรก แต่ช่วงนั้นก็ได้รางวัลเรื่องสั้นมาจำนวนหนึ่งแล้ว

พอมาตอนนี้ ถามว่ารู้สึกว่าเป็นครึ่งหนึ่งของ Career Path ไหม รู้สึกแล้ว ไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะเราเด็กด้วยหรือเปล่านะ บางทีตอนอายุ 70 เราอาจจะคิดว่า เอ้ย ไม่ ยูเพิ่งสตาร์ตเอง

ตอนเด็ก ๆ ใช้ชีวิตยังไง ทำไมถึงเป็นคนที่เริ่มเขียนเร็ว

ลี้อ่านหนังสือตั้งแต่เด็ก ๆ หนังสือเด็ก หนังสืออะไรก็อ่านมาตลอด

พอช่วงอายุ 12 เป็นช่วงที่เริ่มมีอินเทอร์เน็ตในประเทศเรา เริ่มมีเว็บบอร์ด เด็กเริ่มเขียนนิยาย ลี้ก็เขียนเล่น ๆ มาตลอด ตอนนั้นเป็นยุคที่โรงเรียนเวทมนตร์ดัง ทุกคนมีโรงเรียนเวทมนตร์ คัดสรรเข้าบ้านด้วยวิธีต่าง ๆ หัวขโมยแห่งบารามอส ก็เป็นแบบนั้น เพื่อนฉันถึงขั้นแต่งให้พระเอกสู้กับแมลงสาบ ถึงจะเป็นโรงเรียนเวทมนตร์เหมือนกันหมด แต่มันหลากหลายมากเลยนะ แกคิดได้ไง ให้ทุกคนมาสู้กับแมลงสาบ (หัวเราะ) เราไม่เขียนแบบนั้นหรอก แต่ก็เขียนแฟนตาซีเหมือนกัน

สมัยนั้นมีเพื่อนได้ตีพิมพ์กับสถาพรบุ๊คส์ กับ Enter Books แต่ไม่มีสำนักพิมพ์ไหนรับเรา รู้สึกจ๋อยมาก หลังจากนั้นเลยส่งเรื่องสั้นประกวดช่วงมหาวิทยาลัย ส่งครั้งแรกก็ชนะเลย รู้สึกดีที่ หนึ่ง มีคนยอมรับ สอง ได้เงินมาประมาณหนึ่ง เลยคิดว่า โอ้ เป็นอาชีพที่ดีนะ (หัวเราะ)

ฝึกฝนตัวเองในการเขียนยังไงบ้าง

เราฝึกไปประกวด ต่อให้รางวัลเขาบอกว่าเขียนอะไรก็ได้ แต่คนคัดเขาจะมีในใจ เราก็จะไปดูงานเก่าก่อนของปีที่แล้วว่าแนวไหนได้รางวัล แล้วลองพยายาม บางทีคนคัดก็ชอบรักโรแมนติก บางทีก็ชอบผี

แสดงว่าช่วงนั้นมาสายประกวดเต็มตัวเลย

พูดตรง ๆ คือมันได้เงินอะแก 

ทำไมถึงอยากได้เงินนะ

อ้าว (ขำ) เราใช้เงินในการจ่ายค่าเทอม

จริง ๆ ที่บ้านก็พร้อมสนับสนุน แต่การที่เราบอกว่าไม่เป็นไร เราเขียนประกวดได้เงินมา ทำให้รู้สึกว่าก็โอเคนะ ถ้าไม่ใช้เงินจ่ายค่าเทอมเราก็ไม่รู้จะเอาเงินไปทำอะไร สมัยก่อนเรียนอยู่ธรรมศาสตร์ รังสิต การไปเที่ยวต้องนั่งรถตู้ไปที่อนุสาวรีย์ กว่ารถตู้จะเต็ม ถ้าพระแย่งก็จะไม่ได้นั่งอีก ไปถึงอนุสาวรีย์ก็เหนื่อยแล้ว ยังต้องขึ้น BTS ต่อไปสยามอีก ไม่ค่อยไปเที่ยวหรอก

พอชนะได้เงินมาแล้วที่บ้านแฮปปี้ไหม

เขาเฉย ๆ นะ ช่วงแรก ๆ เขาไม่ค่อยแสดงออก ได้เงินเหรอ ดีใจด้วยลูก ไม่ต้องเอาเงินค่าเทอมเหรอ โอเค แต่ก็ไม่ได้ชื่นชมหรือต่อว่าเป็นพิเศษ 

เขาไม่ได้หวังอะไรแล้ว เพราะเราเป็นลูกคนที่ 4 เขาเคยหวังกับพี่หลายคน แล้วความหวังของเขาก็ทำให้เกิดปัญหา เขาเลยเริ่มรู้ว่าการพยายามบังคับจะทำให้ชีวิตลำบาก เขากลัวแค่ว่าเราจะหลงทางเวลาไปรับรางวัล (ขำ)

ตอนนั้นคุณหวังอะไรกับตัวเองบ้าง อยากเป็นนักเขียนอาชีพรึเปล่า

ไม่นะ ตอนสัก พ.ศ. 2548 – 2550 ยังไม่มีใครเป็นนักเขียนอาชีพแบบที่เขาเอาหนังสือมาขายในร้านข้างล่างนี้นะ ทุกคนต้องส่งไปแบบนิตยสาร ขวัญเรือน กุลสตรี พอไปพวกค่ายนักเขียน รุ่นพี่หลายคนก็บอกว่าอยู่ไม่ได้หรอกถ้าเป็นนักเขียน ไม่มีจะกิน

พอจบศิลปศาสตร์มาเราเลยไปทำ HR ทำเรื่องเงินเดือน ประกันสังคม ภาษี ที่บริษัทมีคนทุกแบบ ทุกประเทศ

(ผู้สัมภาษณ์ : ยังไงบ้าง) สัปดาห์แรกที่ไปได้เจอฝรั่งขาวหล่อที่ลาออกแล้วเดินบอกลาทุกคน ฉันก็โมโห อีนี่ป๊อปหรือไงถึงต้องบอกลาขนาดนั้น พอตอนเดินไปส่งที่ลิฟต์ ฉันถามว่าคุณไปทำงานที่ไหนต่อเนี่ย เขาบอกว่าไปอัฟกานิสถาน (หัวเราะ) คือเข้าใจแล้วทำไมต้องบอกทุกคน โอเค กลับไปบอกอีกได้นะ

แล้วก็มีคนเกาหลีที่แกล้งทำตัวเป็นคนญี่ปุ่นมาตลอดชีวิตเพราะไม่อยากให้ใครรู้ ซึ่งทุกคนคิดว่าเขาเป็นคนญี่ปุ่น พอวันหนึ่งเขาต้องไปทำ Work Permit คนทั้งกรุ๊ปถึงเห็นว่าเขาชื่อ ฮยอนดอง ไม่ใช่ชื่อประมาณว่ายูกิ

มันเต็มไปด้วยเรื่องราวเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ก็เป็นช่วงเวลาที่สนุกมาก ๆ 

‘ดี’ หรือ ‘เลว’

เป็นคนสนใจเรื่องคนเหรอ

ใช่ ๆ เป็นคนสนใจสิ่งต่าง ๆ นอกจากนั้นก็เรื่อง… อืม ดาราศาสตร์มั้งคะ เรื่องรูหนอนอะไรอย่างนั้น

คนคือสตอรี รูหนอนก็เป็นเรื่องของสตอรี พวกเรามีสตอรีมากมาย เช่น สตอรีของคน สตอรีของเจ้าหญิงนิทรา สตอรีของซินเดอเรลล่า สตอรีของการสร้างโลก มีอดัมกับอีฟ งั้นสตอรีของโลกมาจากไหน สตอรีของจักรวาลมาจากไหน สตอรีของจุดขอบของจักรวาลมาจากไหน การวาร์ปคืออะไร

เราค่อนข้างชอบแนวดาราศาสตร์ เพราะความรู้ยังไม่ค่อยเต็มที่ เหมือนมีช่องว่างให้เราดึงข้อมูลมาเขียนได้เยอะ

ตอนนี้เขียนแนวไหนอยู่บ้าง

ก่อนหน้านี้มีงานประกวดของช่อง one31 เราเขียนแบบแนวดราม่าครอบครัว มีคดีฆาตกรรม แต่ไม่ได้นะ เขาไม่ซื้อ แล้วก็เพิ่งส่งต้นฉบับรวมบทกวีไปเล่มหนึ่ง รอดูว่าสำนักพิมพ์จะสนใจไหม

เดี๋ยวลี้จะไปไต้หวัน 3 เดือน เขาให้ศิลปินส่งพอร์ตไปแล้วคัดเลือก มีที่พักให้ คิดว่าจะไปเขียนเรื่องสั้นเกี่ยวกับผู้คน อยากจะสำรวจความเหมือนกันระหว่างไต้หวันกับกรุงเทพฯ วัฒนธรรมไทยค่อนข้างจีน Chinese Refugee ก็เยอะ ที่นั่นก็เหมือนกัน และอยากพูดเรื่องมูฟเมนต์ LQBTQ+ ความเป็นคนรุ่นใหม่แต่ยังเชื่อเรื่องโชคลางและการไหว้พระ หรือป๊อปคัลเจอร์ต่าง ๆ เราคิดว่าคนไต้หวันเหมือนคนกรุงเทพฯ แต่เมืองเขาเอื้อให้อยู่สบายมากกว่า เลยอยากเขียนถึงความย้อนแย้งนั้น

คงไม่ได้เขียนเป็นดิสโทเปีย เราตั้งใจไว้ว่าเป็นแนว ๆ a day หรือ นิ้วกลม แต่ทุกคนก็จะพูดว่า เหรอ จิดานันท์เขียนงานมองโลกในแง่ดีได้ด้วยเหรอ (หัวเราะ)

ปกติเห็นว่าไม่ได้เขียนงานแนวอ่านสบาย ๆ เท่าไหร่

เราเขียนงานให้ทุกคนอ่านได้ แต่บางทีก็ไม่แน่ใจ

การอ่านวรรณกรรมมีบางอย่างที่เราต้อง ‘ทานรับ’ กลางทางเราอาจเจอสิ่งที่ไม่คาดคิด แต่ก็รู้สึกว่าทานรับได้ เรารู้สึกว่าถ้าดาร์กแค่ 30% จะเป็นอะไรที่ทุกคนอ่านได้ แต่สำหรับบางคน เขาอาจจะมองว่าดาร์กก็คือดาร์ก นี่ลงไปตั้ง 30% แต่ฉันรับได้ 2%

อย่างสมมติเล่มนั้น (ชี้ไปที่ Monochromatic Night สีสุดท้ายของกลางคืน) นางเอกรู้สึกว่าตัวเองต้องทำตัวเป็นผู้หญิงธรรมดา แต่จริง ๆ นางรู้สึกอึดอัด อยากได้เสรีภาพมากกว่านี้ เลยนำไปสู่การเปลี่ยนชื่อและอะไรหลาย ๆ อย่าง ซึ่งลี้ก็รู้สึกว่าปกตินะ ผู้หญิงทำงานทุกคนก็คงรู้สึกแบบนั้น

คุณเดินไปถามป้าตามตลาดก็ได้ ป้า ๆ ลูกป้าไปเกณฑ์ทหารมั้ย ตระกูลป้ามีใครมีเมียน้อยไหม มีกงสีแล้วแย่งเงินกันไหม ฉันว่าทุกครอบครัวมี การที่คุณรู้สึกว่าเรื่องมันดาร์กกว่าชีวิตประจำวันนั้นไม่จริง

คุณได้ไอเดียในการเขียนวรรณกรรมมาจากไหนบ้าง

แล้วแต่ค่ะ ส่วนใหญ่เราสำรวจจากไอเดีย ถ้าอยากคุยเรื่องนี้ เราจะสร้างตัวละครยังไงให้คุยเรื่องนี้ได้

ช่วงที่มี BNK48 เราดูวิธีการที่สังคมไทยกระทำต่อบุคคลมีชื่อเสียง บางทีก็เขียนให้ฆาตกรฆ่าเพื่อล้างแค้น หรือเรื่อง DIVINE BEING ไม่ใช่มนุษย์ และตัวตนอื่นๆ เราเขียนให้ตัวละครทุกตัวเปลี่ยนจากผู้หญิงเป็นผู้ชายเมื่ออายุ 30 เพราะอยากเล่าเรื่อง Gender Fluid ว่า ถ้าทั้งเมืองเป็นแบบนี้ คุณจะรีแอคยังไง เป็นเหมือนการสร้างโจทย์ขึ้นมา

เราทำงานให้กระทบคนอ่านโดยไม่ต้องมีคำตอบ ให้เขารู้สึกว่านี่เป็นสิ่งที่ควรจะถามแค่นั้นก็พอ

เคยได้ยินคนให้คำนิยามว่า จิดานันท์เป็นคนตั้งคำถามบางอย่างเพื่อท้าทายศีลธรรม

ใช่ อย่าง สิงโตนอกคอก คือเป็นงานแบบนั้น ที่ถามว่าแบบ ถ้าเราฆ่าคนเลว เราเป็นฆาตกรไหม หรือเป็นคนดี

สมมติมีฆาตกรที่ฆ่าคนมาแล้ว 3 ศพ โอ้โห เลวจังเลย แล้วเพชฌฆาตฆ่ามาเท่าไหร่เหรอ 75 ศพ (ขำพรืด) พอบอกว่าจะนับจากจำนวนไม่ได้ ต้องนับจากวัตถุประสงค์ งั้นถ้าเพชฌฆาตฆ่าแล้วโคตรแฮปปี้เลย ฮ่า ๆ วันนี้ได้ฆ่าคนแล้ว หรือแบบฆาตกรฆ่าเพื่อล้างแค้นให้ครอบครัวจะเป็นยังไง

คิดยังไงกับประโยคที่ว่า วรรณกรรมหรือภาพยนตร์ไม่ควรชี้นำสังคมไปในทางที่ผิด ที่ชาวเน็ตชอบพูดกัน

อืม เอาจริง ๆ ก็รู้สึกแปลก อะไรคือชี้นำสังคมไปในทางที่ผิด มันเหมือนคำถามเชิงปรัชญานะ

ถ้าเราจะบอกว่าผู้หญิงรักนวลสงวนตัว ผิดไหม ถ้าจะเราจะบอกว่าต้องเชิดชูรัฐบาลเผด็จการ ผิดไหม ผิดของแต่ละคนขึ้นอยู่กับว่าคุณอยู่ในกรอบศีลธรรมไหน ถ้าฉันอยู่รัชกาลที่ 5 แบบแม่พลอย ฉันจะรู้สึกว่าการที่ทุกคนรักษาศีลและอยู่บ้านร้อยมาลัยเป็นสิ่งที่ถูก เพราะฉะนั้น ความรู้สึกว่า ‘ชี้นำสังคมไปในทางที่ผิด’ ของชาวเน็ต คือผิดจากกรอบศีลธรรมของเขา ก็ต้องมาคุยกันอีกว่ากรอบศีลธรรมของเขาถูกต้องในทุก ๆ องค์ และทุก ๆ กาลรึเปล่า

ไม่ใช่ว่า โสเครตีส บอกแบบนี้ แล้วพวกคุณก็ท่องตาม การพูดคุยเชิงปรัชญาคือการสู้กันตลอดเวลา ซึ่งลี้มองว่าดีนะที่คนจะถกเถียงกันว่าอะไรผิดอะไรถูก สิ่งไหนดีไม่ดี เพราะนั่นคือวิธีที่สังคมจะเคลื่อนไปข้างหน้า แต่ต้องอย่าลืมว่าคุณกำลังถกเถียงเพื่อเคลื่อนความคิดทั้งหมดของมนุษยชาติไปสู่สิ่งที่วิไลขึ้น

บางคนก็คิดว่างานวายไม่ใช่งานเขียนที่มีคุณค่า ในฐานะนักเขียนที่ได้รับการยอมรับและเขียนงานวายด้วย คุณคิดยังไงกับสิ่งนี้

อุทิศ เหมะมูล ก็เขียนชายรักชาย ให้เก่ากว่านี้อีกก็ พี่ขจรฤทธิ์ (ขจรฤทธิ์ รักษา) เรื่องสั้นบางเรื่องของเขาพิมพ์มา พ.ศ. 2530 – 2535 ในบรรดานักเขียนสะท้อนสังคมเพื่อชีวิตมีการเขียนเรื่องรักร่วมเพศมาตลอด แต่ในทัศนะไหนก็เปลี่ยนแปลงไปตามช่วงเวลานั้น แม้แต่เดี๋ยวนี้ งานที่ประกวดซีไรต์หลาย ๆ เรื่องก็เป็นไปด้วยรักร่วมเพศนะ ลี้รู้สึกว่าการพูดถึงเพศสภาพอยู่ในทุกที่ ไม่ได้อยู่แค่งานลูกกวาด

เรื่องคุณค่านี่ตั้งแต่สมัยก่อนแล้ว มีคนบอกว่างานแบบแจ่มใส งานปกการ์ตูนไม่มีค่า ก่อนนั้นอีกก็บอกว่านิยายชีคไม่มีค่า แต่เขาพิมพ์กันเป็นหมื่นเล่ม แล้วคุณมีเงินไหม ไม่ ไอ้พวกที่คุณบอกว่าไร้สาระเขารวยกันจะตาย

หนังสือที่มีคุณค่าสำหรับเราคือหนังสือที่อ่านแล้วชอบ ซึ่งก็อาจจะไม่ได้มีความหมายด้วยนะ บางคนก็อาจไม่ชอบเลยก็ได้ แต่มันมีคุณค่าสำหรับเราไง

‘โสเครตีสที่รวดร้าว’ หรือ ‘หมูอิ่ม’

งานเขียนแบบไหนที่โลกสมัยนี้ต้องการ

โลกสมัยนี้เป็นโลกที่เอกเทศมากเลยนะ
สมัยคุณเด็ก ตอนเย็นวันเสาร์ ทุกคนดู บางรักซอย 9 กันทั้งประเทศ และนั่นก็คือช่วงเวลาที่คนทั้งประเทศอ่านหนังสือพิมพ์เดียวกันคือ ไทยรัฐ แล้วคนทั้งประเทศก็อ่านหนังสือเล่มเดียวกัน อาจจะเป็น Harry Potter เล่มที่ ทักษิณ เซ็นมั้ง

แต่ตอนนี้ไม่ได้มีภาพนั้นแล้ว บางคนอาจจะดู Netflix ดู iQIYI ดูซีรีส์จีน ซีรีส์เกาหลี บางคนถึงขั้นดูหนังอินเดียก็มี เพราะฉะนั้น ลี้รู้สึกว่าหนังสือที่จะออกมาแล้วเป็นหนังสือแห่งยุคสมัย คนออกมาทำสงครามกลางเมือง แบบนั้นมันไม่มีแล้ว

ถ้าหนังสือไม่ดังพลุแตกเหมือนเมื่อก่อน แล้วนักเขียนเขาอยู่กันยังไง

นักเขียนมีหลายสาย สมมติว่าเธอจะเขียนเรื่องสั้นสะท้อนสังคม สายในทวิตเตอร์ที่เขียนวายแล้วมีความประชาธิปไตย บางคนก็ขายได้เยอะ แต่บางคนลี้ก็เห็นเขาบ่น ๆ ว่าลำบากเหมือนกัน สายรางวัลก็ลำบากกันพอสมควรเลย

แต่ถ้าเป็นเป็นนิยายรักโรแมนติกนี่เฟื่องฟูมาตลอดนะ ที่ลงในเว็บนี่เขาได้เงินเยอะกว่าฉันมาก เยอะแบบโอ้โหเลย

ทำไมคุณถึงเลือกเขียนงานหลายแนว สะท้อนสังคมก็มี วายก็มี

ลี้แค่รู้สึกว่า โอเค มีความคิดนี้แล้วก็จะเขียนประมาณนี้แหละ ซึ่งบางทีก็เป็นเรื่องวาย ไม่ได้ตั้งธงว่า วันนี้ข้าจะเป็นนักเขียนเพื่อสังคม ข้าต้องสูบบุหรี่ ใส่หมวกเช (ขำ)

คุณเป็นนักเขียนรุ่นใหม่ที่เติบโตมาจากการเขียนนิยายลงเว็บไซต์ คิดยังไงที่ตอนนี้มีเด็ก ๆ ในโลกออนไลน์อยากเป็นนักเขียนกันเยอะมาก

เรามองว่าเป็นงานอดิเรกที่ดีนะ บางคนทำเงินได้ก็ดี บางคนแฮปปี้ที่ได้เขียน การเขียนคือการฝึกความสามารถทางภาษา ทำให้เรียบเรียงหรือพูดคุยอะไรได้ อีกหน่อยคุณไปทำงาน ความสามารถในการสื่อสารช่วยได้ทุก ๆ งาน

แต่สมัยก่อนเราเศร้ามากที่เขียนออกมาแล้วไม่มีใครอ่าน น้อง ๆ ในปัจจุบันก็ยังเป็น บางทีเรารู้สึกว่ามนุษย์อาจจำเป็นต้องเรียนรู้ความผิดหวังระหว่างเติบโต บางทีเราก็รู้สึกว่า เอ้ย น่าสงสารจัง ทำไมเธอต้องมาเศร้าแบบนี้ด้วย ถ้าเธอไปเล่นเกมแทนก็คงไม่เศร้าแล้ว แต่ในเชิงปรัชญา บางคนก็อยากเป็นโสเครตีสที่รวดร้าวมากกว่าจะป็นหมูอิ่ม (ผู้สัมภาษณ์ : หมูอิ่มเหรอ) หมูที่กินอิ่มแล้วก็นอนน่ะ บางคนคิดว่าแม้จะต้องรวดร้าวก็อยากเข้าถึงความสวยงามในโลกมากกว่าจะใช้ชีวิตไปวัน ๆ มันเป็นความเจ็บปวดที่ควรค่าแก่การแลก

แต่ในคลาสปรัชญา ลี้เถียงกับอาจารย์จนยับเลย เพราะลี้อยากเป็นหมูอิ่ม ตื่นมาแล้วก็นอนเล่นในโคลน มีคนเอาอาหารมาให้ ไม่ต้องเสียใจ อาจารย์บอกว่าเธอคือเมนหลักของคลาสปรัชญา แต่เธออยากเป็นหมูอิ่มเนี่ยนะ

ทุกวันนี้ยังอยากเป็นหมูอิ่มอยู่ไหม

ยังอยากเป็นหมูอิ่ม แต่ทุกวันนี้ก็อิ่มพอประมาณ ไม่ได้นอนเล่นในโคลนเท่าไหร่

มันจะมีคนแบบ Vincent Van Gogh ตัดหูตัวเอง! ฉันจะวาดงานศิลปะ! ถ้าพี่เปลี่ยนไปขายปาท่องโก๋ พี่อาจจะสุขสบายแล้วก็ได้นะ (หัวเราะ) คนมักบอกว่าเขาได้สร้างสิ่งที่สำคัญมากในโลก แต่เรารู้สึกว่า ถ้าฉันต้องสร้างสิ่งที่สำคัญมากไว้ในโลกแล้วต้องเจ็บปวดขนาดนั้นน่ะ ฉันมีชีวิตสบาย ๆ ก็ได้มั้ง ต่อให้อีก 200 ปีคนยังชื่นชมงานของฉันอยู่ ฉันก็ไม่รู้เพราะตายไปแล้ว

เร็ว ๆ นี้มีคนมาสัมภาษณ์ว่า น้องลี้คิดว่างานของน้องจะอยู่ไปอีก 100 ปีไหม ฉันเลยบอกว่า พี่คะ งานของหนูเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ตอนนี้ก็ไม่มีใครพูดถึงแล้วนะคะ

ถ้าคุณเป็นพระเยซู เป็นพระพุทธเจ้า อีก 2,500 ปี ยังมีคนพูดถึงคุณ ฉันไม่ได้ต่อสู้แบบ Malala Yousafzai ไม่ได้เป็น Greta Thunberg แต่ฉันเป็นลูกเจ๊กคนหนึ่งที่เกิดมาในตึกแถว ถ้าอีก 50 ปีไม่ได้มีคนพูดถึงฉัน ฉันก็ไม่ว่าอะไรนะ เพราะฉันไม่ได้สำคัญอะไร (หัวเราะ)

ถ้าอย่างนั้นทำไมเวลาเขียนต้องตั้งคำถามด้วยล่ะ

มันตลกดีอะ สนุกออก

ก่อนพุทธกาล โสเครตีส เพลโต และทุกคนใน Lyceum ตั้งคำถามไว้เท่านี้แล้ว (ทำมือใหญ่) แต่คำถามที่ลี้ตั้งอาจจะเล็กแค่นี้เอง (ทำมือเล็ก) สิ่งนี้คงไม่สั่นสะเทือนสังคมหรอก แต่ก็แค่อยากถามเพราะมันสนุกดี การคิดเรื่องไร้สาระเป็นเรื่องสนุก แต่ก็เป็นสิทธิพิเศษของคนที่ไม่ต้องกระเสือกกระสน

คิดว่าตัวเองเป็นคนที่ไม่ต้องกระเสือกกระสนเหรอ

ลี้จำเป็นที่จำต้องยอมรับว่าได้รับสิ่งที่ดีมากมาย จึงทำให้มีชีวิตที่ดีได้

แน่นอน ครอบครัวฉันไม่ได้ร่ำรวยอะไรมาก แต่ก็ไม่ได้ยากจนข้นแค้น แล้วครอบครัวก็ผลักดัน ไม่ได้ท็อกซิกเรื่องการทำงานด้วย ลี้เคยบอก อาตุ๊ (จตุพล บุญพรัด) ว่า หนูได้ซีไรต์เพราะหนูดวงดี ซึ่งอาตุ๊ก็บอกว่า อย่าพูดอย่างนั้น มันไม่ดีกับคนอื่น ลี้รู้สึกเหมือนตัวเองได้รับสิ่งที่ดีในชีวิต เจอสำนักพิมพ์ที่ดี เจอคนร่วมงานที่ดี เลยคิดว่าบางทีฉันอาจจะโชคดีก็ได้ที่ทุกอย่างโอเคขนาดนี้ ทั้งที่คนอื่นเขาลำบาก

แต่คนอื่นก็บอกว่า ลี้ แกทำงานหนักมากนะ บางทีเรื่องการติดต่อสื่อสาร การพูด การวางตัว หรือวิธีในการเลือกสิ่งต่าง ๆ อาจจะมีผลก็ได้ แกอาจจะลงแรงทำอะไรบางอย่างแต่ไม่รู้ตัว แล้วแกก็คิดว่าแกโชคดีก็ได้นะ

ไปต่อ’ หรือ ‘พอแค่นี้’

ในเมื่อประสบความสำเร็จในอาชีพนักเขียนเร็วขนาดนี้ คุณได้ตั้งเป้าหมายชีวิตต่อไปไว้บ้างไหม

มันจะเป็นขั้น ๆ ไป แต่ช่วงนี้ลี้กำลังจัดการมันใหม่

ถ้าก่อนหน้านี้อาจจะตอบอย่างหนึ่ง ซึ่งก็ได้รับมาแล้ว ตอนนี้อยู่ในระหว่างการเก็บสะสมคำขอใหม่ เพราะคำขอเก่าไม่ใช่สิ่งที่อยากได้แล้ว บางครั้งเป้าหมายชีวิตก็เปลี่ยนกันได้ คนที่เปลี่ยนเป้าหมายไม่ใช่คนล้มเหลว แต่อาจเป็นคนที่ทันต่อสถานการณ์ก็ได้ ถ้าทุกวันนี้ยังอยากได้อะไรเก่า ๆ อยู่ มันอาจจะไม่เหมาะกับ Career Path

เคยอ่านบทสัมภาษณ์สมัยซีไรต์ คุณกลัวจะได้รางวัลแล้วเขียนต่อไปจะไม่ดีเท่าเล่มเดิม ณ ตอนนี้ที่ได้รางวัลศิลปาธรมาด้วยแล้ว คุณยังคิดอย่างนั้นอยู่ไหม

ถ้ากลับไปตรงนั้นได้ก็จะบอกตัวเองว่า ไม่เป็นไรเว้ย แกจะเขียนสิ่งที่ดีกว่า สิงโตนอกคอก ได้ ถ้าแกย้อนกลับไปได้ แกน่าจะแก้เละเลยด้วย ไม่ต้องห่วง (หัวเราะ) มีเพื่อนสนิทคนหนึ่งมันชอบ สิงโตนอกคอกมาก ฉันก็ชอบนั่งด่าหนังสือเล่มนี้ มันก็แบบ อย่าด่า สิงโตนอกคอก ได้ไหม! (ยิ้ม) สรุปใครเป็นคนเขียน ฉันหรือแก

ตอนนี้ลี้ไม่ได้กลัวว่าจะแย่ลง เรารู้สึกว่ายังขึ้นได้อีก อาจเป็นเพราะการได้ทำงานกับผู้กำกับด้วยนะ เหมือนได้ออกจากความคิดของคนที่คิดจากหนังสือน่ะ เราได้เรียนรู้อะไรที่คนหนังสือไม่รู้เพิ่มมาเยอะเลย

ยังตื่นเต้นกับการได้ตีพิมพ์หนังสืออยู่รึเปล่า

ตื่นเต้นอยู่แก! ตื่นเต้นแบบตื่นเต้นเลย (ทำท่าตื่นเต้น)

งานเราไม่ได้เป็นงานยากที่สุดที่เคยทำมาทุกครั้ง แต่พอมีงานที่รู้สึกว่ายากที่สุด ยากกว่าอันเก่าที่เคยคิดอีก เราก็จะตื่นเต้น ๆๆๆ (หัวเราะ) แต่งานที่เราชอบมาก ๆ สำนักพิมพ์ก็จะไม่เอานะ

ตั้งแต่เขียนมาชอบเล่มไหนที่สุด

มันจะเป็นช่วงเวลา ๆ ถ้าถามตอนหลังซีไรต์จะชอบ เฟื่องนคร ตอนนี้ก็ไม่ได้ชอบน้อยลง แต่เหมือนมันเก่าแล้ว ฉันไม่อยากจะเล่นกับนายอีกต่อไป ช่วงนี้เราชอบ อาจไม่เหมาะหากเปราะบาง

เธอจะคิดยังไงถ้าฉันยังชอบ สิงโตนอกคอก ไปตลอดชีวิตล่ะ จะดูเหมือนว่าก้าวไม่ข้ามตัวเองที่ได้รางวัลเลยใช่มั้ย ดูไม่ค่อยเท่เท่าไหร่นะ เราอยากเป็นคนเท่

ซีไรต์เปลี่ยนชีวิตคุณไปยังไงบ้าง

มีเดือนหนึ่งที่คนมาวุ่นวายกับเรา แล้วหลังจากนั้นก็ไม่ได้มีอะไร แต่รางวัลทำให้พอร์ตเราสวย ยื่นไปโครงการในต่างประเทศได้หรือได้โอกาสอะไรหลายอย่าง สมมติเราไปยื่นกับเน็ตฟลิกซ์ว่าอยากเขียนบทให้โดยที่ไม่เคยเขียนบทมาก่อน ถ้าเราบอกว่าเราเป็นนักเขียนวรรณกรรมสร้างสรรค์แห่งอาเซียน มันก็จะดูดี แต่ความจริงเขียนบทเป็นรึเปล่าไม่รู้ เราช่วงใช้ประโยชน์ของซีไรต์ได้ในลักษณะนี้

เราเปลี่ยนไปเยอะจากตอน สิงโตนอกคอก เราคล่องขึ้น ไม่ใช่เพราะรางวัล แต่เป็นเพราะการเจอผู้คน ซึ่งพนักงานบริษัทที่ทำมาสัก 5 ปีก็คงเหมือนกัน มันเกี่ยวกับเวลา

ถ้าตอนนั้นไม่ได้รางวัลซีไรต์

(นิ่งคิด) ลี้ว่าคงมีหลาย ๆ โอกาสในชีวิตที่ไม่ได้ทำ

Writer

พู่กัน เรืองเวส

พู่กัน เรืองเวส

อดีตนักเรียนสถาปัตย์ สนใจใคร่รู้เรื่องผู้คนและรูปแบบการใช้ชีวิตอันหลากหลาย ชอบลองทำสิ่งแปลกใหม่ พอ ๆ กับที่ชอบนอนนิ่ง ๆ อยู่บ้าน

Photographer

Avatar

ผลาณุสนธิ์ ผดุงทศ

ช่างภาพที่โตมาจากเมืองทอง รักแมว ชอบฤดูฝน และฝันอยากไปดูบอลที่แมนเชสเตอร์