เสน่ห์ของร้านชำคืออะไร

ก. สินค้าหลากหลาย

ข. อยากได้อะไรก็มีขายหมด

หรือ ค. บทสนทนา

นอกจากนานาสรรพสินค้าที่ไม่ว่าคิดอยากจะซื้อหาอะไรก็มีเสมอแล้ว ภาพจำของร้านชำ คือสถานที่แลกเปลี่ยนบทสนทนาระหว่างพ่อค้าแม่ค้ากับลูกค้า การได้พูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลกับลุงป้า ไต่ถามสารทุกข์สุกดิบกับน้าอา คือวิธีการสานสัมพันธ์ฉันญาติมิตรระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายที่มีชั้นเชิงมาก

นั่นคือเสน่ห์ที่แท้จริงของร้านชำ ที่การซื้อขายออนไลน์ไม่มี

แต่ ‘จิ๊บกี่’ คือข้อยกเว้น

จิ๊บกี่ เมื่อสาวโปรดิวเซอร์ Disney ทายาทร้านชำ 'ตาเบิ้มคลองเตย' ขยายร้านพ่อสู่โลกออนไลน์, ร้านขายของชำ, โชห่วย, ร้านชำออนไลน์

จิ๊บกี่คือร้านชำออนไลน์ของ จิ๊บ-นิสา จิ๋วเจริญ ทายาทรุ่นสองของร้านขายของชำเก่าแก่แห่งตลาดคลองเตย ที่มีชื่ออย่างไม่เป็นทางการว่า ‘ร้านตาเบิ้ม’

จิ๊บกี่ เมื่อสาวโปรดิวเซอร์ Disney ทายาทร้านชำ 'ตาเบิ้มคลองเตย' ขยายร้านพ่อสู่โลกออนไลน์, ร้านขายของชำ, โชห่วย, ร้านชำออนไลน์

จิ๊บตกหลุมรักบรรยากาศของร้านชำ สถานที่ซึ่งเธอเห็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างพ่อค้าแม่ขายกับลูกค้ามีค่าและสำคัญพอๆ กับสินค้า ประกอบกับการชอบทำอาหารและความหลงใหลในสินค้าจากร้านชำ เมื่อคลอดจิ๊บกี่ออกมา เธอจึงพยายามรักษาความสัมพันธ์ซึ่งเป็นเสน่ห์เช่นนี้ไว้ให้ได้มากที่สุด ควบคู่ไปกับการสืบทอดวิถีการทำการค้าแบบจริงใจต่อลูกค้าและใส่ใจในคุณภาพวัตถุดิบ อย่างที่ร้านตาเบิ้มคลองเตยเป็นมาโดยตลอด

เรานัดคุยกับจิ๊บที่สตูดิโอย่านแบร์ริ่ง ถึงเรื่องธุรกิจที่ไม่จิ๊บของเธอ ต่อไปนี้คือการเดินทางจากร้านตาเบิ้มคลองเตยสู่จิ๊บกี่ ร้านชำออนไลน์อายุน้อยที่เกิดขึ้นเพราะ COVID-19 และมีของแถมคือมิตรไมตรีไปกับทุกๆ สินค้า

ธุรกิจ : ร้านขายของชำ

ปีก่อตั้ง : พ.ศ. 2527

อายุ : 36 ปี

เจ้าของ/ผู้ก่อตั้ง : บุญช่วย จิ๋วเจริญ

ทายาทรุ่นสอง : นิสา จิ๋วเจริญ

01

ร้านตาเบิ้มแห่งตลาดคลองเตย

เบิ้ม-บุญช่วย จิ๋วเจริญ เป็นพ่อของจิ๊บฉันใด ร้านตาเบิ้มแห่งตลาดคลองเตยก็เป็นพ่อของร้านชำออนไลน์จิ๊บกี่ฉันนั้น

“ร้านเดิมที่คลองเตยไม่มีชื่อ แต่คนทั่วไปเรียกว่า ‘ร้านตาเบิ้ม’ เบิ้มคือชื่อคุณพ่อ” จิ๊บเริ่มเล่าที่มาที่ไปให้เราฟัง ย้อนกลับไปเมื่อ พ.ศ. 2526 หนึ่งปีก่อนจิ๊บเกิด คุณพ่อเบิ้มตัดสินใจเบนหัวเรือจากอาชีพช่างเชื่อม ที่ต้องจากครอบครัวไปทำงานไกลถึงแท่นขุดเจาะกลางทะเล อาศัยเงินรอนที่สะสมมาพอสมควร ประกอบกับได้ตึกแถวของแม่ยายที่ตลาดคลองเตย หันมาเปิดร้านชำขายส่งสินค้าจำพวกข้าวสาร ข้าวเหนียว ถั่ว น้ำตาล น้ำมัน และบรรดาสารพัดวัตถุดิบของแห้งที่เราๆ ท่านๆ ใช้ประกอบอาหาร 

ด้วยพื้นฐานลูกชาวนาแห่งสุพรรณบุรีที่คลุกคลีกับข้าวอยู่เป็นนิจ สาเหตุของการเปลี่ยนแปลงที่ว่าก็เพราะจิ๊บ เมื่อมีลูก คุณพ่อเบิ้มไม่อยากจากครอบครัวไปทำงานไกลๆ อีกต่อไป จึงเลือกทำอาชีพที่ได้ใช้เวลาอยู่กับครอบครัวมากกว่า

“ร้านอยู่ท้ายๆ ตลาดหน่อย เป็นตึกแถวขนาดหนึ่งคูหาที่ต่อหน้ายื่นออกมา ร้านเราขายทั้งปลีกทั้งส่ง ทั้งหน้าร้านและในร้านเรียงรายไปด้วยกระสอบข้าว และบรรดาสินค้าของแห้งทั้งหลาย” นี่คือคำบรรยายย่นย่อทว่าชัดเจน ที่จิ๊บใช้พรรณนาภาพร้านชำของคุณพ่อเธอให้เราเห็น

ตลาดคลองเตยคือทำเลทองที่ทำให้กิจการร้านตาเบิ้มเริ่มขยายใหญ่โตเป็นร้านขนาดบิ๊กเบิ้ม

“ข้อได้เปรียบของคุณพ่อคือสถานที่ แกอยู่ตรงนั้น คนมาตลาดคลองเตยก็ต้องเห็นอยู่แล้ว ข้อดีข้อสำคัญคือตลาดคลองเตยเป็นที่ที่ร้านอาหารหรือคนซื้อเขาตั้งใจมาซื้อของ เพราะเขารู้ว่าที่นั่นมีทุกอย่าง ที่ตั้งเราได้เปรียบ นั่นคือจุดดีของตลาดคลองเตย”

แต่จะมองตลาดไซส์บิ๊กที่อยู่มาอย่างยาวนานอย่างตลาดคลองเตยคือจุดเสียเปรียบก็ได้ เพราะสินค้าในตลาดมีซ้ำกันไม่กี่ชนิดประเภท แต่กลับมีผู้ค้าหลากหลายรายมาแข่งกันขาย

“อะไรที่ทำให้ร้านตาเบิ้มแตกต่างจากร้านอื่น” เราอดสงสัยไม่ได้

จิ๊บกี่ เมื่อสาวโปรดิวเซอร์ Disney ทายาทร้านชำ 'ตาเบิ้มคลองเตย' ขยายร้านพ่อสู่โลกออนไลน์, ร้านขายของชำ, โชห่วย, ร้านชำออนไลน์

“ความใส่ใจค่ะ” จิ๊บเฉลยพร้อมรอยยิ้ม “คุณพ่อจะใส่ใจสินค้ามาก เวลาเลือกข้าวหรือสินค้าที่จะเอามาขาย เขาจะซื้อมาชิมเองก่อน ถ้าคุณภาพดีจึงเอามาขาย ร้านเราจึงไม่เน้นว่าจะต้องขายถูกที่สุดในตลาด แต่ว่าเรามีจุดยืน เรานำเสนอคุณภาพเท่านี้ แล้วราคาก็สมเหตุสมผลกับคุณภาพ ลูกค้าที่มาซื้อไปเอาไปทำขนมทำกับข้าว เขาจะรู้ว่าอันนี้ข้าวเกรดดีนะ อันนี้น้ำตาลของดีนะ คุณภาพดีและสัมพันธ์กับราคา นั่นคือจุดยืนของคุณพ่อที่เราเห็นมาตั้งแต่เด็กๆ”

จิ๊บยกตัวอย่างอีกว่า “เรื่องคุณภาพ เช่นน้ำตาลปี๊บ เวลาเลือกคุณพ่อจะเดินทางไปจังหวัดที่เป็นแหล่งผลิตน้ำตาลปี๊บที่มีชื่อเสียง แล้วนั่งเรือไปตามบ้าน เข้าไปชิมว่าเจ้าไหนของแท้ไม่เจือน้ำตาลทราย เมื่อเจอของดีเราถึงเอามาขาย แล้วของดีมีน้อย คนทำมีน้อยลงในทุกๆ ปี แต่พอเอามาขายและคนซื้อติดแล้ว เราก็ต้องพยายามหาวัตถุดิบนั้นมาขายให้ได้ ต้องพยายามรักษามาตรฐานไว้

“คุณพ่อเป็นคนชอบกิน กินแล้วต้องอร่อย ดังนั้น เวลาขาย แกก็อยากขายของที่มีคุณภาพ อย่างน้ำตาลปี๊บ ลูกค้าซื้อไปทำขนมแล้วมาบอกว่าอร่อย เขาทำขนมแล้วเอามาฝากเรากิน เราก็อยากให้เขาซื้อตรงนั้นได้” จิ๊บเล่าไปพลางยิ้มไป ทำให้เราสัมผัสความจริงใจที่ถ่ายทอดผ่านดีเอ็นเอนี้มาได้ทันที

จิ๊บกี่ เมื่อสาวโปรดิวเซอร์ Disney ทายาทร้านชำ 'ตาเบิ้มคลองเตย' ขยายร้านพ่อสู่โลกออนไลน์, ร้านขายของชำ, โชห่วย, ร้านชำออนไลน์

02

ดูแลกันฉันญาติมิตร

ทำเลที่ดีประกอบกับความใส่ใจในคุณภาพและราคาที่สมเหตุสมผล ทำให้ร้านตาเบิ้มเติบโตมาเป็นร้านชำพี่เบิ้มแห่งตลาดคลองเตย

จิ๊บเล่าให้เราฟังว่า ลูกค้าส่วนใหญ่ที่มาซื้อมีทั้งพ่อค้าแม่ขายรายย่อยที่รับไปขายต่อ ร้านอาหารตั้งแต่ร้านเล็กๆ ไปจนถึงร้านอาหารที่มีชื่อเสียงหรือภัตตาคาร คู่ค้าสำคัญก็อย่างเช่นร้านข้าวเหนียวมะม่วงแม่ทองคำที่อุดหนุนกันมาหลายสิบปีแล้ว มาซื้อข้าวเหนียวทีก็หลายกระสอบ

แม้ต่อมาจะเริ่มมีห้างสรรพสินค้าหรือร้านสะดวกซื้อที่จำหน่ายสินค้าแบบเดียวกันนี้เข้ามาตีตลาดมากขึ้น แต่ลูกค้าของร้านตาเบิ้มก็ยังคงอุดหนุนกันดีไม่เปลี่ยนแปลง

“มีลูกค้าบางคนไปซื้อร้านอื่นซึ่งราคาถูกกว่าจริง แต่ว่าลูกค้าที่อยู่กับเรามาแต่แรกก็ยืนยันที่จะอยู่กับเรา เพราะว่าราคาเราไม่ได้ต่างอะไรจากที่อื่นมาก แต่คุณภาพเราแน่นอน ลูกค้าเก่าแก่ที่ซื้อขายกับคุณพ่อตั้งแต่เรายังเล็ก มาจนถึงปัจจุบันนี้ก็ยังรักษาสัมพันธ์กันไว้อย่างดี ลักษณะที่ร้านคือเวลาเขามาก็จะมานั่งคุยกัน ไต่ถามเรื่องราวชีวิตกันว่าชีวิตเป็นยังไง ลูกกี่ขวบแล้ว เข้าโรงเรียนที่ไหน รักกันดีมาก อย่างตอนน้องชายเราแต่งงานเขาก็มาร่วมแสดงความยินดี เหมือนญาติคนหนึ่ง เป็นลักษณะนี้”

ความสัมพันธ์ที่เกิดจากบทสนทนาในร้านชำคือเสน่ห์ที่เราเฉลยมาตั้งแต่ต้น ร้านชำคือร้านค้าที่มีชีวิต คือสถานที่ที่คู่ค้าจะได้สร้างสัมพันธ์กันผ่านบทสนทนา และไม่ได้เป็นเพียงสถานที่แลกเปลี่ยนเงินตรากับสินค้าเท่านั้น ยังมีมิติแห่งความเป็นมนุษย์และความผูกพันฉันเพื่อนแฝงอยู่ในทุกๆ ครั้งที่คู่ค้าได้มาเจอกัน

03

ลูกสาวคนโตของตาเบิ้ม

จิ๊บกี่ เมื่อสาวโปรดิวเซอร์ Disney ทายาทร้านชำ 'ตาเบิ้มคลองเตย' ขยายร้านพ่อสู่โลกออนไลน์, ร้านขายของชำ, โชห่วย, ร้านชำออนไลน์

ร้านตาเบิ้มเติบโตขึ้นพร้อมๆ กับเด็กหญิงจิ๊บ

จิ๊บคือลูกสาวคนโตของตาเบิ้ม

หลังเรียนจบจิ๊บก็เข้าทำงานเป็นพนักงานประจำบริษัทดิสนีย์ ในตำแหน่งโปรดิวเซอร์ ทำรายการโทรทัศน์ภาษาอังกฤษที่ออนแอร์ทั่วทั้งเอเชีย ภาพลักษณ์ภายนอกของเธอคือหญิงเก่งที่กระฉับกระเฉงผู้มีความคิดสร้างสรรค์ และมีงานยุ่งรัดตัวอยู่ตลอดเวลา

แต่อีกด้านหนึ่งของเธอคือหญิงผู้หลงรักวัตถุดิบในร้านชำและการทำอาหารอย่างมาก

“ใจเราเป็นคนชอบผลิตภัณฑ์แบบนี้อยู่แล้ว เวลาเราไปต่างประเทศ ไปทำงานหรือไปเที่ยว เราก็จะไปร้านชำของเขา เหมือนอย่างตอนไปฮ่องกง เราก็ไปซื้อน้ำมันหอยของเขากลับมา เป็นคนชอบซื้อวัตถุดิบจากร้านชำของที่อื่น อย่างเวลาไปเกาหลีก็จะไปซื้อวัตถุดิบท้องถิ่นของเขามา เพื่อมาทำกับข้าว เพราะว่าชอบทำกับข้าว ชอบเดินตลาด ชอบเดินร้านชำ” จิ๊บเล่าให้เราฟังอย่างออกรส เหมือนกับว่าเราตามเธอไปช้อปร้านชำด้วยจริงๆ

แต่เพราะชีวิตของจิ๊บส่วนมากยุ่งอยู่กับงาน นานทีปีหนจะได้มีโอกาสพบปะกับครอบครัว รวมตัวนั่งกินข้าวกันจริงจังสักครั้งหนึ่ง จิ๊บจึงไม่มีความคิดเรื่องจะสืบทอดกิจการหรือจะกลับมาทำงานที่ร้านเลย ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะเธอเห็นว่าร้านที่คลองเตยก็ดำเนินไปได้ด้วยดีและคุณพ่อเบิ้มยังคงบริหารทุกอย่างได้อยู่หมัด ยังไม่ได้ต้องการตัวเธอไปช่วยงาน

จิ๊บกี่ เมื่อสาวโปรดิวเซอร์ Disney ทายาทร้านชำ 'ตาเบิ้มคลองเตย' ขยายร้านพ่อสู่โลกออนไลน์, ร้านขายของชำ, โชห่วย, ร้านชำออนไลน์
จิ๊บกี่ เมื่อสาวโปรดิวเซอร์ Disney ทายาทร้านชำ 'ตาเบิ้มคลองเตย' ขยายร้านพ่อสู่โลกออนไลน์, ร้านขายของชำ, โชห่วย, ร้านชำออนไลน์

04

โควิดคือจุดเริ่มต้น

แม้กายจะยุ่งอยู่กับงานที่บริษัท แต่จิ๊บมีไอเดียที่อยากขยายร้านตาเบิ้มเข้าสู่ตลาดออนไลน์ในหัวมาโดยตลอด เช่นเดียวกับน้องชายของเธอ แต่เนื่องจากทั้งคู่ไม่มีเวลามาร่วมกันคิดร่วมกันทำให้เป็นจริงเป็นจังขึ้นมาสักที

จิ๊บชอบทำอาหาร หลงใหลของชำและร้านชำเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เมื่อต้นปีหลังจากที่ประเทศไทยได้รู้จักเพื่อนใหม่อย่าง COVID-19 ภาระงานประจำที่ลดน้อยลงตอนช่วงนั้นและการทำงานจากบ้าน เปิดโอกาสให้เธอได้เห็นว่าทุกคนรอบตัวได้ย้ายโลกชีวิตจริงเข้าไปอยู่ในโลกอินเทอร์เน็ตกันหมด เพราะต่างจำต้องใช้ชีวิตอยู่ที่บ้าน บรรดาแม่บ้านมือใหม่ เหล่าแม่ครัวมือสมัครเล่น เริ่มเผยตัวออกมาตามหาวัตถุดิบในการทำอาหารในตลาดออนไลน์กันมากขึ้น ไอเดียการขยายร้านตาเบิ้มเข้าสู่โลกออนไลน์จึงแล่นกลับเข้ามาในหัวเธออีกครั้ง

“เรากับน้องชายคิดตรงกันว่าอยากทำร้านพ่อให้เป็นร้านออนไลน์ แต่ก่อนหน้านี้ต่างคนก็ไม่มีเวลาเพราะยุ่งกันมากจริงๆ เป็นแค่ไอเดียอยู่เฉยๆ นานอยู่เหมือนกัน เพราะว่ายังไม่มีจุดที่จะต้องลงมือ พอถึงช่วงโควิด เราก็เห็นโอกาส ประกอบกับได้มีเวลามาอยู่ด้วยกันพร้อมหน้ากับครอบครัวมากขึ้น จึงตัดสินใจลงมือทำเลย แล้วมันก็เกิดขึ้นมาได้จริง คือต้องมีจุดเริ่มต้นสักจุดหนึ่ง และช่วงโควิดคือจุดนั้น”

“วันแรกที่เอาไอเดียไปขายคุณพ่อ คุณพ่อว่ายังไง” เราถาม

“เขาก็สนับสนุน เพราะคุณพ่อก็อยากทำอยู่แล้ว แล้วพอเราอยากทำ เขาก็ดูแล้วว่ามันไม่ได้กระทบหน้าที่การงานของเรา เพราะงานประจำเราก็ภาระลดลง แกก็บอกว่าให้ลอง แล้วแกก็สนนับสนุนเต็มที่”

เมื่อจิ๊บได้ไฟเขียวจากพ่อ สิ่งแรกที่เธอเปลี่ยนแปลงใหม่คือการสร้างสรรค์บรรจุภัณฑ์ให้มีสวยงามมากขึ้นกว่าเดิม

“คุณพ่อบอกว่าไม่เห็นด้วยเพราะคิดว่าสิ้นเปลือง แต่เพราะเราทำงานสายนี้มา เรารู้ว่าบรรจุภัณฑ์สำคัญ พอเราตัดสินใจทำจริงๆ แล้วยอดที่ออกมามันชี้ว่าขายได้ เขาเลยยอมรับ ซึ่งจิ๊บก็เข้าใจเพราะคุณพ่อเขาขายที่ตลาดคลองเตยมาตลอด เขายังชินกับรูปแบบเดิมอยู่”

สำหรับคุณพ่อเบิ้ม วิธีการขายอย่างเก่าที่บรรจุภัณฑ์ไม่ได้เป็นปัจจัยหลักต่อการตัดสินใจซื้อของลูกค้า ยังคงมีประสิทธิภาพอยู่เสมอ บรรดาของแห้งจำพวกข้าวสาร น้ำตาลทราย หรือถั่วนานาชนิด เมื่อมาถึงร้านตาเบิ้มด้วยถุงหรือกระสอบใบใหญ่ๆ แล้ว ก็จะตักมาแบ่งขายใส่ถุงพลาสติกตามน้ำหนัก หรือหากเป็นลูกค้าเจ้าใหญ่ จะซื้อทีละถุงทีละหลายกระสอบเลยก็มี สิ่งที่ทำให้ร้านตาเบิ้มยังขายได้คือความเป็นร้านตาเบิ้มที่รักษาคู่ค้ามายาวนาน คือทำเลทองของตลาดคลองเตย คือคุณภาพที่คงเส้นคงวา

แต่จิ๊บกี่คือร้านชำออนไลน์เบบี๋ที่ยังต้องใช้บรรจุภัณฑ์สื่อสารกับลูกค้าอยู่ จิ๊บแพ็กสินค้าเป็นถุงๆ หลากหลายขนาด หลากหลายน้ำหนัก พลาสติกที่ห่อหุ้มสินค้าดูสะอาดตา มีโลโก้สีแดงสดพร้อมข้อความสีขาวโดดเด่นว่า ‘จิ๊บกี่ร้านชำ’ แปะอยู่ด้านบนเพื่อบอกคาแรกเตอร์ของร้านค้าออนไลน์แห่งนี้ให้ลูกค้าได้เข้าใจ ป้ายสีแดงให้ภาพและกลิ่นของร้านชำคนจีนแบบดั้งเดิมในแรกเห็น ในขณะที่บรรจุภัณฑ์ที่มิดชิดช่วยยืนยันกับลูกค้าได้ถึงความปลอดภัยและความสะอาด จิ๊บกี่จึงเป็นร้านตาเบิ้มเวอร์ชันที่มีบรรจุภัณฑ์น่าใช้มากขึ้น

จิ๊บพลิกวิกฤต COVID-19 ให้เป็นโอกาสด้วยการขยายร้านตาเบิ้มแห่งตลาดคลองเตยเข้าสู่โลกออนไลน์  ไม่ใช่ว่าบรรดาร้านค้าร้านขายล้วนทำกันหมดแล้วต้องขยับตาม แต่เป็นความชอบของจิ๊บที่อยากแบ่งปันวัตถุดิบดีๆ ให้แก่คนรอบตัวต่างหาก

จิ๊บกี่ เมื่อสาวโปรดิวเซอร์ Disney ทายาทร้านชำ 'ตาเบิ้มคลองเตย' ขยายร้านพ่อสู่โลกออนไลน์, ร้านขายของชำ, โชห่วย, ร้านชำออนไลน์

05

ใส่ใจไม่แพ้กัน

แม้สินค้าส่วนใหญ่ที่ขายในจิ๊บกี่มาจากร้านตาเบิ้มคลองเตย แต่ร้านชำออนไลน์เจ้านี้ได้เพิ่มเติมสินค้าพิเศษบางตัวเอาใจบรรดาแม่ครัวนักช้อป ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าใหม่ที่แตกต่างไปจากร้านเดิม ทว่าจิ๊บกี่ก็ยังคงต้องอาศัยคอนเนกชันของตาเบิ้มในการตามหาวัตถุดิบเหล่านั้นอยู่ดี

“ออนไลน์กว้างขึ้น เพราะว่าเพิ่มเติมสินค้าจากที่เราชอบและบางชนิดที่ลูกค้ามาถามหากับเรา เช่น เมล็ดอัลมอนด์ พอเราไปถามพ่อ พ่อจะไปดีลกับโรงถั่วมาให้ได้เพราะพ่อรู้แหล่ง นั่นคือองค์ความรู้และประสบการณ์ของคุณพ่อที่ได้มาจากการทำร้านชำมานาน แต่สินค้าพวกนี้ถ้าเอาไปขายร้านพ่อก็ขายไม่ได้นะ เพราะลูกค้าคนละกลุ่มกัน พวกเขาต้องการสินค้าไม่เหมือนกัน เมล็ดอัลมอนด์พ่อค้าข้าวแกงก็คงไม่ต้องการซื้อ”

อีกสาเหตุที่ทำให้จิ๊บกี่ออนไลน์ขายสินค้าหลากหลายขึ้นคือการที่ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น เพราะจิ๊บก็เป็นคนที่ชอบไปเสาะหาวัตถุดิบดีๆ มาขายให้ลูกค้าเหมือนตาเบิ้ม

“เราก็พยายามจะเอาของอย่างอื่นที่เราไม่ได้มีขายในร้านพ่อมาขายเองเหมือนกัน เช่น กุ้งแห้งหรือปลาหมึกแห้ง ที่เราไปเจอว่ามันต้องที่นี่เท่านั้น เพราะว่าเขาตากธรรมชาติ รสชาติอร่อยมาก เราก็จะคุยกับน้องสะใภ้ เพราะว่าเขาก็ชอบไปสรรหามาเหมือนกัน”

นอกจากนี้ จิ๊บยังใช้ทักษะการสื่อสารและใช้กลวิธีการเล่าเรื่องสินค้าวัตถุดิบที่มีชั้นเชิง ซึ่งเป็นทักษะที่เธอสะสมมาจากตอนเรียน ผสมผสานกับความคิดสร้างสรรค์ที่เธอได้มาจากการทำงานสายครีเอทีฟ มาช่วยในการทำร้านชำออนไลน์ของเธอ เช่น นำเสนอว่าวัตถุดิบแต่ละชนิดนำไปทำอะไรได้บ้าง บรรดาลูกค้าก็จะทักเข้ามาถามเพื่อขอซื้อวัตถุดิบเหล่านั้น บ้างก็มาแลกเปลี่ยนสูตรอาหารกันก็มี จิ๊บกี่ นอกจากเป็นร้านชำออนไลน์แล้ว ยังเป็นคอมมูนิตี้ของแม่ครัวมือใหม่อีกด้วย

จิ๊บกี่ เมื่อสาวโปรดิวเซอร์ Disney ทายาทร้านชำ 'ตาเบิ้มคลองเตย' ขยายร้านพ่อสู่โลกออนไลน์, ร้านขายของชำ, โชห่วย, ร้านชำออนไลน์

“เราเป็นเด็กอักษรฯ อ่านหนังสือเยอะ เราเลยเราเรื่องได้และคิดอะไรเป็นคอนเซปต์ สกิลล์ในสายงานการผลิตทำให้เราเข้าใจและมองอะไรชัดเจน ลำดับเรื่องราวเป็น จิ๊บกี่เราก็ใช้เรื่องการถ่ายทอดเรื่องราวเหมือนกัน ไม่ใช่ว่าฉันขายข้าวสารโลละห้าสิบเก้าบาทแล้วจบกัน แยกย้าย แต่เราจะสื่อสารเรื่องราว เล่าว่าข้าวสารเรามีที่มาจากไหน ซื้อมาจากใคร วัตถุดิบนี้ทำเมนูอะไรได้บ้าง พอเราขายออนไลน์เราเลยต้องมีการเล่าเรื่องและการสื่อสารกับลูกค้าด้วย”

จิ๊บเสริมอีกว่า “เราตั้งใจทำแบบเล็กๆ แบบเพื่อนมาแลกเปลี่ยนของกัน พอเราเริ่มสื่อสารกับลูกค้า เขาก็เห็นว่าเราเป็นเพื่อน บางคนก็รีวิววัตถุดิบโดยการทำอาหารส่งมาให้ดูก็มี บางคนเข้ามาแลกเปลี่ยนสูตรอาหารกันก็มี มีคนหนึ่งอยากทำน้ำเต้าหู้ เขาเข้ามาถามเราว่าทำยังไง ต้องซื้ออะไรบ้าง นอกจากเราขายของแล้วเราก็ยังแนะนำเขาไปด้วย ว่าลองซื้อถั่วลิสงแล้วคั่วใส่ลงไป จะหอมขึ้น กลายเป็นว่าได้แนะนำกัน ได้แลกเปลี่ยนพูดคุยกัน หลังจากนั้นเขาอยากทำอะไรก็มาถามเรา มาอุดหนุนเราตลอด”

จิ๊บเล่าให้เราฟังถึงกลุ่มลูกค้าที่น่ารักของเธอว่า “ส่วนมากคือพนักงานออฟฟิศที่ชอบทำอาหาร หรือผู้หญิงที่เพิ่งมีครอบครัว ชอบซื้อของร้านชำ แต่ชีวิตจริงไม่มีเวลา เลยซื้อทางออนไลน์แทน แล้วบางอย่างเป็นของแปลกๆ ที่ถ้าไม่เข้าร้านชำจะหาไม่เจอ อีกกลุ่มคือคนที่อยากอุดหนุนร้านค้ารายย่อย แต่ชีวิตจริงก็ยุ่ง ไม่มีเวลาไปเสาะหา เลยกลายเป็นว่าเราคือทางเลือกหนึ่งในโลกออนไลน์แทน เขาก็รู้สึกดีที่ได้อุดหนุนเรา”

ลูกค้าของจิ๊บกี่ออนไลน์จึงแตกต่างจากลูกค้าร้านตาเบิ้มโดยสิ้นเชิง จากกลุ่มพ่อค้าแม่ขายที่ซื้อวัตถุดิบไปปรุงเป็นอาหารเพื่อจำหน่าย สู่เหล่าแม่บ้านสมองไวที่ช้อปปิ้งผ่านร้านชำออนไลน์ ถึงแม้ลูกค้าจะเปลี่ยนไป แต่จิ๊บกี่ร้านชำออนไลน์ก็ยังคงใส่ใจวัตถุดิบเพื่อลูกค้าเช่นเดียวกับร้านตาเบิ้มเหมือนเดิม

06

ร้านจิ๊บจิ๊บ

จิ๊บตั้งใจทำจิ๊บกี่ออนไลน์แบบจิ๊บๆ ที่ยังคงเสน่ห์ของร้านชำแบบดั้งเดิมอยู่

“เราอยากชวนคุย อยากมีปฏิสัมพันธ์เหมือนร้านพ่อที่เขามีลูกค้าที่ค้าขายกันมานานเป็นสิบยี่สิบปีอยู่ ยังอยากคงความสัมพันธ์ระหว่างลูกค้ากับพ่อค้า และบรรยากาศที่ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องราวกัน เพราะว่าการที่เราใช้คำว่า ‘ร้านชำ’ มาอยู่ในชื่อร้านเรา แปลว่าเรายังอยากวางตัวเองแบบนั้น แม้จะออนไลน์แต่เราก็ยังอยากคุยกับลูกค้าเหมือนเวลาที่เขาเดินมาซื้อของร้านชำแถวบ้านเขา”

จิ๊บเล่าต่อว่า “เราไม่อยากเป็นร้านค้าออนไลน์ที่ให้คอมพิวเตอร์ทำงาน ลูกค้าแค่กดคลิกซื้อของก็แล้วกันไป เรายังค่อนข้างระมัดระวัง กลัวว่าจะกลายเป็นการขายของที่คนซื้อปฏิสัมพันธ์กับคอมพิวเตอร์ กับระบบ ไม่ได้คุยกับคน เรายังเน้นว่าเราอยากมีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า”

บุคลิกของจิ๊บกี่คือเป็นร้านชำออนไลน์ที่ยังพูดคุยกับลูกค้าอย่างมิตร ไม่ต่างอะไรจากหน้าร้านตาเบิ้มเลย นี่คือเสน่ห์มัดใจซึ่งเป็นข้อแตกต่างระหว่างจิ๊บกี่กับร้านชำออนไลน์อื่นๆ ที่ลูกค้าเพียงกดๆ คลิกๆ เพื่อซื้อของ แล้วก็ได้ของไปโดยที่พ่อค้าแม่ค้าไม่ได้พูดคุยลูกค้าของตัวเองเลย

จิ๊บกี่ เมื่อสาวโปรดิวเซอร์ Disney ทายาทร้านชำ 'ตาเบิ้มคลองเตย' ขยายร้านพ่อสู่โลกออนไลน์, ร้านขายของชำ, โชห่วย, ร้านชำออนไลน์

07

จิ๊บกี่จะจิ๊บอีกสักกี่น้ำ

แนวโน้มของจิ๊บกี่คือต้องโตขึ้นเรื่อยๆ แน่นอน ขอนี้เราน่าจะคาดไม่ผิด เพราะตอนนี้จิ๊บเปรยกับเราแล้วว่าอยากขยายมาทำเพจในเฟซบุ๊ก เนื่องจากจำนวนลูกค้าเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เริ่มมีรีวิวเริ่มเข้ามามาก และจิ๊บกี่ก็เริ่มมีคอนเทนต์ในการโฆษณาบ้างแล้ว จึงอยากขยายมาใช้แพลตฟอร์มเฟซบุ๊กเพื่อรองรับการเติบโต

ที่เราสงสัยคือ “ถ้าจิ๊บกี่โตไปมากกว่านี้ จะรักษาเสน่ห์อย่างเดิมไว้ยังไง”

“โลกออนไลน์ไปไวมาก แต่เราไม่ตามเลย เราไปในแนวทางของเรา ไม่ช้าไม่เร็ว แต่เราต้องยั่งยืน อยู่ด้วยกันกับลูกค้าแบบนี้ เราอาจต้องเก็บรักษาบุคลิกบางส่วนของเราไว้ สมมติถ้าบริบทมันต้องเปลี่ยนจริงๆ เราต้องรักษาหัวใจของเราคือเน้นที่ปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า ถ้าในอนาคตต้องเปลี่ยน เราก็ยังอยากคงหัวใจตรงนี้ไว้ คืออยากเป็นบรรยากาศร้านชำออนไลน์ให้แก่ลูกค้าทุกคน ถ้ามีทีมก็อยากให้ทีมของเราเชื่อแบบเดียวกัน และทำตรงนั้นให้ได้”

จิ๊บเล่าให้เราฟังต่ออีกว่า “ที่จริงเราก็ไม่ได้คาดหวังให้มันโตมากเกินไป ต้องการแค่ให้อยู่ได้ด้วยตัวเอง ไม่เข้าเนื้อ เราไม่ถึงกับต้องรวยเป็นมหาเศรษฐี แต่ยังต้องมีกำไรเลี้ยงทุกคนได้ เราไม่ได้ทะเยอทะยานขนาดนั้น”

แม้ว่าตอนนี้จิ๊บกี่จะกำลังตั้งไข่ หัดเดินอยู่ในตลาดออนไลน์อยู่ แต่เราเชื่อเหลือเกินว่าเสน่ห์อย่างที่ว่านี้หาได้น้อยมากในบรรดาร้านค้าออนไลน์อื่นๆ และจะทำให้จิ๊บกี่เติบโตไปได้อย่างสุขภาพดีตามที่ต้องการ

08

จากร้านตาเบิ้มสู่จิ๊บกี่

“อะไรอีกบ้างที่ทั้งร้านตาเบิ้มและจิ๊บกี่มีเหมือนกัน” เราถาม

“ความซื่อสัตย์ต่อลูกค้า” จิ๊บเปรยก่อนจะขยายความต่อว่า “เป็นสิ่งที่เราเห็นมาตั้งแต่เด็กและคุณพ่อปลูกฝังเรามาตลอด เป็นคุณธรรมสำหรับพ่อค้าแม่ค้าที่ใช้ได้ตั้งแต่ยุคคลองเตยยันยุคออนไลน์ คือสินค้าเราเป็นยังไง เราต้องบอก สมมติข้าวเราเอามาเก็บจนเก่าแล้วมอดขึ้น เราก็ต้องบอกนะว่าข้าวนี้เราเอาไปแช่เย็น เราเอาไปลงน้ำยามอดมา เราต้องบอกเขาหมด เราใช้ข้อนี้ในการขายของ ซื่อสัตย์กับลูกค้าเป็นอะไรที่สำคัญมากๆ ที่พ่อเคยย้ำ

“อีกอย่างคือให้ใส่ใจลูกค้า ให้ดูแลลูกค้าให้ดี เหมือนเป็นญาติพี่น้องกัน ไม่ให้คิดว่าขายของให้คนอื่นไกล แต่ให้คิดว่าเป็นการขายของให้พี่น้องเราเอง ญาติเราเอง และพยายามรักษาความสัมพันธ์กับลูกค้าไว้ให้ดี”

ถ้าถามว่าเข้าร้านชำครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ เราคงตอบไม่ได้ เพราะว่าการเดินเข้าร้านชำครั้งล่าสุดผ่านเวลามานานเกินกว่าจะจินตนาการออก แต่กลิ่นอายอันเป็นเสน่ห์ของร้านชำคือบทสนทนาและคำโอภาปราศรัยของอาเจ็กอาม่าเวลาเราเดินเข้าร้านยังคงตราตรึงอยู่ในหัวเราอย่างชัดเจน

นั่นคือเอกลักษณ์ที่การซื้อของออนไลน์ให้แก่เราไม่ได้ 

แต่จิ๊บกี่ ร้านชำออนไลน์ของทายาทรุ่นสองจากร้านตาเบิ้มคลองเตย ลบข้อครหาที่ว่านี้ได้ เพราะร้านชำออนไลน์แห่งนี้ยังคงอบอวลไปด้วยเสน่ห์ของร้านชำแบบเดิมอยู่มาก แม้ว่าแพลตฟอร์ม สินค้า และกลุ่มลูกค้าจะเปลี่ยนแปลงไปบ้าง แต่แต่ละภาพในอินสตาแกรม แต่ละบรรทัดของบทสนทนาโต้ตอบ ล้วนแฝงไปความความใส่ใจและความซื่อสัตย์ที่จิ๊บกี่สืบทอดมาจากรุ่นหนึ่ง

Instagram : Jibukigrocery

Writer

Avatar

นิรภัฎ ช้างแดง

กองบรรณาธิการผู้คนพบความสุขในวัยใกล้เบญจเพสจากบทสนทนาดีๆ กับคนดีๆ และเพลงรักสุดแสน Bittersweet ของ Mariah Carey

Photographer

Avatar

นินทร์ นรินทรกุล ณ อยุธยา

นินทร์ชอบถ่ายรูปมาตั้งแต่เด็ก พ่อแม่ซื้อฟิล์มให้ไม่ยั้ง ตื่นเต้นกับเสียงชัตเตอร์เสมอต้นเสมอปลาย เพื่อนชอบชวนไปทะเล ไม่ใช่เพราะนินทร์น่าคบเพียงอย่างเดียวแน่นอน :)