28 กุมภาพันธ์ 2024
804

ถ้าหากโลกนี้ไม่มีพระคัมภีร์ไบเบิลแล้วไซร้ เจ้าชายน้อย (The Little Prince) ก็จะกลายเป็นหนังสือที่ได้รับการแปลภาษาต่างประเทศมากที่สุดในประวัติศาสตร์

นับจากการตีพิมพ์ครั้งที่ 1 เมื่อกว่า 80 ปีก่อน วรรณกรรมสัญชาติฝรั่งเศสเล่มนี้ทำยอดขายสูงถึง 140 ล้านเล่มรอบโลก และถูกนำไปเผยแพร่เป็นภาษาต่าง ๆ มากกว่า 560 ภาษา ครอบคลุมภาษาถิ่นหรือภาษาชนเผ่าที่หลายคนไม่เคยได้ยินชื่อ ยังไม่รวมถึงภาษาประหลาดที่คงไม่มีใครใช้กันในชีวิตจริงอย่างภาษาปุ่มโทรศัพท์ ภาษาตัวเลขพีทาโกรัส หรือกระทั่ง ภาษา Star Wars!

ทุกฉบับภาษาที่กล่าวมานี้ ฌอง-มาร์ก พร็อพสต์ (Jean-Marc Probst) ไม่เพียงแต่รู้จักดี แต่เขาคนนี้ยังได้ครอบครอง รวมทั้งมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์พวกมันขึ้นมาอีกด้วย

บนวัย 68 ปีของเศรษฐีชาวสวิสรายนี้ ฌอง-มาร์ก ผ่านการทำงานและดำรงตำแหน่งสำคัญ ๆ มาหลากหลายจนเจ้าตัวเองก็ยังไล่ไม่ถูก อาทิ เจ้าของธุรกิจนำเข้าเครื่องจักรรายใหญ่ในเมืองโลซานน์ ประธานหอการค้าสวิตเซอร์แลนด์ สมาชิกสภานิติบัญญัติ กงสุลกิตติมศักดิ์ของเยอรมนี รวมทั้งคนสนิทของประธานาธิบดี และรัฐมนตรีหลายกระทรวงในชาติบ้านเกิด

แต่สิ่งที่นำพาเรามาพบ ฌอง-มาร์ก ในครั้งนี้ คือบทบาทนักสะสมหนังสือ เจ้าชายน้อย ที่ติดตัวเขามาตั้งแต่ครั้งยังเป็นเด็กหนุ่มที่ออกท่องโลก จนต่อยอดมาเป็นผู้ก่อตั้งมูลนิธิฌอง-มาร์ก พร็อพสต์ เพื่อเจ้าชายน้อย (Jean Marc Probst Foundation for The Little Prince) ซึ่งสนับสนุนการตีพิมพ์และแปลเป็นภาษาใหม่ ๆ ที่ยังไม่เคยมีใครแปลมาก่อน

ในโอกาสสำคัญที่เจ้าของคอลเลกชัน เจ้าชายน้อย ที่มีจำนวนของสะสมมากที่สุดคนหนึ่งในโลกเดินทางมากรุงเทพฯ เพื่อร่วมกิจกรรม Talk of The Cloud : The Little Prince Planet ที่มหาวิทยาลัย ศิลปากร วังท่าพระ เราได้นัดสนทนากับเขาถึงชีวิตส่วนตัว ความรัก ความฝันที่เขามีต่อวรรณกรรมอมตะของโลกชิ้นนี้ ซึ่งเขาก็ได้ตอบอย่างหมดเปลือก หนำซ้ำยังแสดงความเป็นแฟนตัวยงให้เห็นกันจะจะว่า เขาสามารถจดจำทุกคำจากทุกบทในหนังสือภาษาที่เขาอ่าน ชนิดแค่เปรยขึ้นมาแค่ 1-2 คำก็ตอบได้ทันทีว่ามาจากบทไหน หน้าที่เท่าไหร่!

นอกเหนือจากการสะสม เจ้าชายน้อย คุณทำอะไรอีกบ้าง

ทำงานอะไรบ้างงั้นหรือ? ถ้าจะให้พูดผมคงต้องใช้เวลาทั้งวัน (หัวเราะเสียงดัง)

คร่าว ๆ คือผมเกิดที่เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ แต่ผมย้ายไปเรียนสถาบันเทคโนโลยีเครื่องกลที่เมืองซูริค ก่อนจะกลับมาบ้านเพื่อรับช่วงต่อธุรกิจครอบครัวตั้งแต่ปี 1983 ครอบครัวผมนำเข้าเครื่องจักร เครื่องยนต์กลไกพวกนี้มาจากญี่ปุ่นและเยอรมนี นำมาขายให้ชาวสวิส ผมทำธุรกิจนี้จนกระทั่ง 3 ปีก่อน ผมก็ยกมันให้ลูกชายทำต่อ ตอนนี้ผมเกษียณตัวเอง มีเวลาว่างทำสิ่งที่ผมรักได้เต็มตัวแล้ว

เดาว่าการสะสมต้องเป็นหนึ่งในสิ่งที่คุณอยากทำเมื่อมีเวลาว่างเต็มตัว

ครับ แต่สำหรับผมแล้ว สิ่งที่มาเป็นอันดับ 1 คือครอบครัว ผมเป็นพ่อของลูก 6 คน เป็นปู่และตาของหลานอีก 6 คน อันดับ 2 คือธุรกิจ ผมดูแลพนักงานในบริษัทราว 180 คน นับว่าเยอะมากในสวิตเซอร์แลนด์ ส่วนอันดับ 3 จึงเป็นสิ่งที่ผมรักอย่าง เจ้าชายน้อย ซึ่งผมมีของในคอลเลกชันนับไม่ถ้วน

ครั้งแรกที่ได้อ่าน เจ้าชายน้อย คุณอายุเท่าไหร่

หนังสือเล่มแรกที่ผมได้รับมาคือสมัยเรียนชั้นมัธยมต้นในปี 1970 คุณครูคนหนึ่งเป็นผู้มอบให้กับผมที่ตอนนั้นอายุได้ 14 ปี ท่านบอกผมว่า “จงอ่านหนังสือเล่มนี้สิ แล้วเธอจะชอบมัน” พอได้อ่านแล้ว ผมก็ตกหลุมรักทันที เนื้อเรื่องมันน่ามหัศจรรย์มาก ตั้งแต่ได้ปรายตาอ่านบทที่ 1 ผมก็ตื่นเต้นไปกับเรื่องราวที่ อ็องตวน เดอ แซ็งแต็กซูเปรี (Antoine de Saint-Exupéry) เล่าให้เราฟังมาตั้งแต่ ค.ศ. 1943 ในความรู้สึกของเด็กชายที่ใกล้จะโตเป็นหนุ่มเช่นผมในวันนั้น ผมอาจยังไม่เข้าใจเนื้อหาทั้งหมดที่เขาต้องการจะเล่า แต่ผมก็ชอบ

หนังสือเล่มที่คุณอ่านครั้งนั้นเป็นภาษาอะไร

เป็นภาษาฝรั่งเศส Le Petit Prince ภาษาต้นฉบับที่ อ็องตวน เดอ แซ็งแต็กซูเปรี เขียนเรื่องนี้เลย ตัวผมมาจากเมืองโลซานน์ ในภูมิภาคที่พูดภาษาฝรั่งเศส ผมพูดฝรั่งเศสเป็นภาษาแรก อิตาเลียนเป็นภาษาที่ 2 และเยอรมันเป็นภาษาที่ 3 ถ้าเกิดมาในสวิตเซอร์แลนด์ คุณจำเป็นต้องรู้หลายภาษา

วรรณกรรมเรื่องนี้เป็นที่นิยมมากแค่ไหนในสวิตเซอร์แลนด์

เหมือนจะน้อยกว่าประเทศอื่น ๆ เช่น เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น จีน สเปน อาร์เจนตินา หรือแม้แต่ไทย ที่สวิตเซอร์แลนด์บ้านเกิดของผมนั้น ทุกคนรู้จัก เจ้าชายน้อย เคยอ่านในวัยเรียน แต่อ่านจบแล้วก็จบไป ไม่ได้มาอ่านต่อเมื่อโตขึ้นเหมือนอย่างผม 

อย่างไรก็ดี ตอนนี้มีการแปล เจ้าชายน้อย เป็นภาษาท้องถิ่นครบทั้ง 17 ภาษาของสวิตเซอร์แลนด์แล้ว นั่นเพราะภาษาเยอรมันแบบสวิสมีสำเนียงต่างกันในทุกภูมิภาค จะบาเซิล ซูริค เบิร์น ฯลฯ ภาษาเยอรมันที่นั่นแตกต่างกันทั้งสำเนียงและการใช้คำ ถ้าเจอคนสวิสที่พูดเยอรมันจะฟังรู้เลยว่าเขามาจากไหน

ถ้าจะต้องอธิบายให้ใครฟังถึงสาเหตุที่คุณชอบเรื่องนี้มากว่าคนอื่น ๆ คุณจะตอบเขาว่ายังไง

นี่เคยเป็นโจทย์ที่ผมคิดว่ายากมาก เมื่อนานมาแล้ว สิ่งที่ผมชอบมากที่สุดคือคุณค่าที่ได้รับจากเนื้อเรื่อง และเป็นเรื่องที่ผมมองว่าสำคัญที่สุดในวรรณกรรมชิ้นเอกเรื่องนี้แล้ว แต่ตอนหลังผมจะพูดถึง ‘คุณค่า’ ที่ได้รับจากเรื่องนี้เป็นหลักว่า หากเราต้องการทำความเข้าใจกับโลก หรือต้องการจะเปลี่ยนแปลงตัวเราเอง ก็ต้องคำนึงถึงคุณค่าทั้งหมดที่เรื่องราวตั้งใจจะบอกเรา

คุณค่าจาก เจ้าชายน้อย มีมากมาย เช่นการเคารพต่อทุกสิ่งที่อยู่รอบตัวเรา ถ้าคุณได้เรียนเรื่องนี้มาจากพ่อแม่ หรือจากครูที่โรงเรียน ผนวกกับการได้อ่าน เจ้าชายน้อย คุณก็จะได้เข้าใจสิ่งที่เรื่องนี้ต้องการจะสอนคุณได้ดีขึ้น ตั้งแต่ครั้งแรกที่ผมอ่านจนถึงตอนนี้ ก็ยังรู้สึกถึงคุณค่าใหม่ ๆ ที่ เจ้าชายน้อย ต้องการจะบอกผมอยู่เรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นความซื่อสัตย์ มนุษยธรรม มิตรภาพ ฯลฯ

คุณเห็นด้วยหรือเปล่ากับคำกล่าวที่ว่าการอ่าน เจ้าชายน้อย แต่ละช่วงเวลา แต่ละช่วงวัย จะให้ความรู้สึกและความคิดที่แตกต่างกันไป

แน่นอนที่สุดครับ ถ้าคุณเป็นคนหนุ่มสาว คุณอาจอยากเป็นเจ้าชายน้อย ถ้าคุณอ่านตอนโต บางทีคุณอาจอยากเป็นนักบิน ถ้าคุณเป็นหญิงสาว กำลังมีความรัก อยู่ในวัยแรกรุ่น คุณก็อาจอยากเป็นกุหลาบที่ปรารถนาความรักจากเจ้าชายน้อย หรือถ้าคุณแก่กว่านั้น มีความคิดเชิงปรัชญาเยอะหน่อย คุณก็น่าจะรู้สึกตัวเองเหมือนสุนัขจิ้งจอกที่ให้แง่คิดและบทเรียนชีวิตต่าง ๆ แก่เจ้าชายน้อย

ความรู้สึกนึกคิดเหล่านี้เปลี่ยนแปลงไปด้วยปัจจัยหลายอย่าง เช่น “คุณอายุเท่าไหร่” “ตัวคุณเป็นใคร” หรือ “คุณอยู่ในสภาวะอารมณ์ใด” กำลังสุข กำลังทุกข์ กำลังเศร้า กำลังครุ่นคิดถึงใครบางคน เมื่ออ่านแล้วคุณก็จะเน้นความสำคัญกับข้อความและบทที่ต่างกันด้วย วรรณกรรมเรื่องนี้จึงมีความพิเศษมาก เพราะมันแฝงไว้ซึ่งคุณค่าและความหมายหลายประเด็นเหลือเกิน ช่วงเวลาและช่วงชีวิตจะเป็นตัวกำหนดให้คุณว่าจะให้น้ำหนักกับเนื้อหาส่วนไหนมากเป็นพิเศษหรือเปล่า

คุณอ่านไปทั้งหมดกี่รอบแล้ว

โอ้ ผมจำไม่ได้เลย พูดตามตรงนะครับ ในช่วง 4 – 5 ปีหลัง ผมไม่ได้อ่านจบเล่มเหมือนก่อน แต่จะเลือกอ่านเฉพาะบทที่พิเศษ เวลาผมมองหาอะไรสักอย่าง แล้วผมก็จะอ่านแต่บทที่พูดถึงเรื่องนั้น เช่นบางทีอ่านบทที่ 23 ซึ่งเป็นบทสั้นที่สุดบทหนึ่ง แค่หน้าเดียว แต่มันเยี่ยมยอดมาก บางทีก็อ่านซ้ำแล้วซ้ำเล่า แล้วไปคุยกับเพื่อนฝูงที่รัก เจ้าชายน้อย เหมือนกันว่าอ่านบทนี้มา ทุกคนก็จะเข้าใจว่าผมอ่านบทนั้นเพื่ออะไร มันพูดถึงสิ่งใด และพากันกลับไปอ่านใหม่อีกที

เรื่องนี้ตีพิมพ์ครั้งแรก ค.ศ. 1943 แต่ดูเหมือนว่าแซ็งแต็กซูเปรีจะเตรียมการเขียนเอาไว้นานแล้ว

ต้นฉบับหนังสือเรื่อง Citadelle ของแซ็งแต็กซูเปรีที่ตีพิมพ์เป็นเล่มสุดท้าย หลังจากที่เขาเสียชีวิตจากเหตุเครื่องบินตก เป็นสิ่งที่ตอบคำถามนี้กับเรา ที่จริงต้นฉบับหนังสือเล่มนี้เขียนไว้ก่อนนานแล้ว และแซงแต็กซูเปรีก็ได้จดโน้ตมากมายที่บ่งบอกว่า เขาควรจะเขียน เจ้าชายน้อย ลงไปในต้นฉบับ Citadelle ร่องรอยที่แซ็งแต็กซูเปรีขีดเขียนลงไปทำให้เราเห็นว่า เขาได้ครุ่นคิดถึงเนื้อเรื่องและองค์ประกอบเรื่องราวนี้มานานหลายปีแล้ว เขาค่อย ๆ ฟูมฟัก เจ้าชายน้อย ให้เติบโตในหัวใจตนเอง

เราพูดได้หรือเปล่าว่า ทั้งแซ็งแต็กซูเปรี และ เจ้าชายน้อย เติบโตไปพร้อม ๆ กัน

ครับ เป็นเวลานานมาก ๆ ที่ เจ้าชายน้อย อยู่ในใจของผู้เขียน บางครั้งเนื้อหาในวรรณกรรมก็เป็นตัวตนของแซ็งแต็กซูเปรีไปด้วย นอกจากเป็นนักเขียน เขายังเป็นนักบิน ครั้งหนึ่งตัวเขาก็เคยประสบอุบัติเหตุกลางทะเลทรายเหมือนนักบินในเรื่อง และเรื่องราวหนังสือก็เปิดฉากขึ้นแบบนี้เช่นกัน มันเลยเหมือนกับการเล่าเกี่ยวกับตัวเขา เกิดอะไรขึ้นในทะเลทรายอันกว้างใหญ่นั้น เขากลัวมากว่าตัวเองจะไม่รอดชีวิต และตอนท้ายของเรื่องก็พูดไปถึงความตายเช่นเดียวกัน

เวลาอ่านหนังสือของแซ็งแต็กซูเปรี คุณสัมผัสตัวตนผู้เขียนได้จากเรื่องที่เขาเขียนมั้ย

ได้อยู่แล้วครับ เพราะถ้าคุณอ่านหนังสือเล่มอื่นที่เขาเขียน คุณจะพบแนวคิดเดียวกันทั้งเรื่องมิตรภาพ จากเรื่อง แผ่นดินของเรา (Terre des Hommes) ซึ่งพูดถึงความสำคัญในการทำงานเป็นหมู่คณะ การร่วมแรงร่วมใจกันของผู้คนที่เดินทางไปยังอเมริกาใต้ เหมือนตัวเขากับเพื่อน ๆ 

แซ็งแต็กซูเปรีเป็นนักมนุษยนิยม เชื่อในศักยภาพความเป็นมนุษย์ว่า สามารถออกท่องเที่ยว เล่าเรียน ต่อสู้ ฯลฯ ตามแต่ใจต้องการ เขาอาจจะไม่ได้มีเวลาเขียนมากมาย แต่เขาก็ประพันธ์งานทุกชิ้นออกมาอย่างสมบูรณ์แบบที่สุดด้วยรูปแบบการเล่าเรื่องที่ดี

เส้นทางการเป็นนักสะสม เจ้าชายน้อย ของคุณเริ่มต้นอย่างไร

ตั้งแต่ได้อ่านครั้งแรกไม่นาน คุณครูที่มอบหนังสือเล่มนั้นให้กับผมก็ออกจากโรงเรียนไป และไปเป็นนักบวชในอาราม ดังนั้น เจ้าชายน้อย เลยให้ความรู้สึกที่พิเศษต่อตัวผม ทำให้ผมคิดถึงครูที่แสนดีท่านนั้น ด้วยความที่ผมชอบมันมาก ผมเลยซื้อไว้หลาย ๆ เล่ม พฤติกรรมแบบนี้ปัจจุบันผมก็ยังทำอยู่ ถ้าผมชอบหนังสือเล่มไหนมาก ผมจะไม่ซื้อแค่เล่มเดียว แต่จะซื้อไว้ 20 – 30 เล่มเลย

อันที่จริงตอนนั้นผมก็ยังไม่ได้ถึงกับสะสมของเป็นเรื่องเป็นราวหรอก เรื่องราวระหว่างผมกับ เจ้าชายน้อย เหมือนจะจบลงไปแค่นั้น กระทั่งตอนที่ผมมาเรียนที่ซูริค ผมพักการเรียนไป 1 ปีเพื่อท่องเที่ยวไปทั่วโลก ระหว่างทริปนี้ ผมไปพักอยู่ที่กรุงโตเกียว แล้วสายตาผมก็เหลือบไปเห็นหนังสือ เจ้าชายน้อยฉบับแปลญี่ปุ่น ตัวหนังสือภาษาญี่ปุ่นพาดหัวอยู่บนหนังสือเล่มนั้น มันสวยมาก ถึงผมจะอ่านไม่ออกเลย แต่ผมก็ยังซื้อมัน ถือเป็นของสะสมชิ้นแรกในคอลเลกชันของผมทีเดียว

เท่ากับว่าฉบับภาษาญี่ปุ่นเป็นเล่มแรกที่คุณสะสมจริงจัง ภาษาอื่นล่ะครับตามมาเมื่อไหร่

ในทริปเดียวกันนั้น ผมก็สอดส่ายสายตาไปทุกที่ เฝ้ามองหาแต่ เจ้าชายน้อย แม้จะเป็นฉบับแปลที่ผมไม่รู้ภาษานั้น ผมไปตามหาในอินเดีย ในอีกหลายประเทศ และเมื่อผมกลับมาสวิตเซอร์แลนด์ ผมก็มีทั้งหมด 15 เล่ม 15 ภาษา

จากนั้นเมื่อเพื่อน ๆ ผมรู้ว่าผมสะสม เวลาเขาไปที่ไหน เขาก็จะมองหาและซื้อหามาให้ผม ดังนั้นคลังสะสมมีขนาดใหญ่ขึ้นทุกที จาก 15 ก็เพิ่มเป็น 80 – 90 เล่ม ทว่าต่อมาก็อย่างที่ผมได้เล่าไป ค.ศ. 1983 ผมมารับช่วงต่อธุรกิจครอบครัว เริ่มได้ทำงานการเมือง ชีวิตผมเลยไม่เหลือเวลาให้การสะสมอีก ยิ่งผมมีลูกหลายคน ก็ยิ่งต้องให้เวลาและเงินทองเพื่อดูแลพวกเขา

เมื่อคุณไม่มีเวลาออกเดินทางหรือใช้จ่ายกับการเก็บรวบรวมหนังสือเข้าคลังส่วนตัวเหมือนแต่ก่อน เหตุใดคุณจึงกลับมาสะสมข้าวของได้มหาศาลอย่างที่เป็นอยู่นี้อีกล่ะ

สำคัญที่สุดคืออินเทอร์เน็ต เมื่อโลกเชื่อมถึงกันได้ด้วยอินเทอร์เน็ตขึ้นมา ผมก็ใช้มันเป็นทางเชื่อมไปทำความรู้จักกับคนทุกมุมโลกได้ และยังสั่งซื้อหนังสือมาจากประเทศต่าง ๆ ได้อย่างสะดวก ทุกวันนี้เราอาจมองเป็นเรื่องธรรมดา แต่เมื่อ 20 – 30 ปีที่แล้ว นี่เป็นเรื่องที่วิเศษมากที่เราจะได้รู้จักกับผู้คนมากมายในต่างแดน เป็นต้นว่า พจน์-สุพจน์ โล่ห์คุณสมบัติ ซึ่งผมเริ่มติดต่อกับเขาโดยที่ไม่เคยได้เจอหน้ากันเลยเป็นเวลานานราว 6 – 8 ปี ต่อมาเมื่อเราได้พบกัน ก็ได้คุยกันเรื่องโครงการแปลเจ้าชายน้อยแต่ละภาษา

ดังนั้น อินเทอร์เน็ตจึงเสมือนบานประตูที่เปิดเชื่อมโลกถึงกันครับ ผมได้ติดต่อกับผู้คนประมาณ 80 ถึง 100 คนทั่วโลก ทุกวันผมจะได้รับอีเมลจากเพื่อน ๆ เพื่อแจ้งข่าวว่า มีฉบับพิมพ์ใหม่ที่นั่น มีการแปลใหม่ที่นี่ จะเป็นในอเมริกาใต้ อเมริกากลาง ยุโรปตะวันออก ฯลฯ คนที่นั่นเขาก็จะแจ้งข่าวมาทางผมว่า “เฮ้! ฌอง-มาร์ก บ้านฉันมีฉบับใหม่ออกมาแล้วนะ!”

คุณได้รับหนังสือฉบับใหม่ทุก ๆ ปีเลยใช่มั้ยครับ

เปล่าเลย ผมได้รับฉบับพิมพ์ใหม่ปีละ 50 ฉบับเลยต่างหาก (หัวเราะ)

ในรอบ 10 ปีหลังมานี้ ผมก็ได้รับของชิ้นใหม่มาเข้าคลังสะสมของตัวเองอีก 109 ชิ้น แต่ก็ยังไม่ได้มีทุกอย่างของ เจ้าชายน้อย หรอกนะ ที่ผมมีของเยอะเพราะตั้งแต่เริ่มต้นปี 2015 ผู้ถือลิขสิทธิ์ เจ้าชายน้อย ยกเลิกการเก็บลิขสิทธิ์ทั่วโลก ยกเว้นฝรั่งเศส อเมริกา เม็กซิโก แคนาดา และบางส่วนของสเปน ทำให้เกิดการตีพิมพ์และแปลฉบับใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นเยอะมาก คุณจะเห็นว่ามีการตีพิมพ์และการแปลเพิ่มขึ้นอยู่ตลอด ผมก็หวังว่าสักวันหนึ่งผมจะได้ เจ้าชายน้อย ฉบับแปลครบสักทีนะครับ

อะไรคือของสะสมที่หามาได้ยากที่สุด

ยังมีหนังสืออยู่บางเล่มที่ผมยังหามาไม่ได้ อย่างฉบับภาษาดารี (Dari) ภาษาประจำชาติอัฟกานิสถาน ฉบับแรกที่แปลเป็นดารีปัจจุบันเหลืออยู่แค่ 5 เล่มเท่านั้น เรื่องราวก็น่าเสียดายมาก ผู้แปลจัดพิมพ์ที่กรุงคาบูล ประเทศอัฟกานิสถาน ต่อมาเขาเดินทางไปต่างประเทศ โดยมี เจ้าชายน้อย 5 เล่มติดกระเป๋าเดินทางไปด้วย แล้วในระหว่างเขาพำนักอยู่นอกประเทศนั้นเอง สงครามกลางเมืองอัฟกานิสถานได้ปะทุขึ้น บ้านของเขาถูกเผา ทุกเล่มที่เหลือไหม้ไปกับไฟทั้งหมด ทั้งโลกจึงเหลือหนังสือแปลฉบับนี้แค่ 5 เล่ม ผมทราบหมดว่ามันอยู่ที่ไหน อยู่กับนักสะสมชาวฝรั่งเศส 1 สเปน 1 อิตาลี 1 ฯลฯ แต่ตัวผมยังไม่มีเลย เพราะอย่างนี้ผมเลยฝันว่าอยากจะมีเหมือนพวกเขาสักเล่ม (หัวเราะ)

พอรู้ว่าไม่มีโอกาสครอบครองของหายากพวกนี้ คุณนึกเสียดายมั้ยครับ

ผมทราบดีว่ายังมีบางเล่มที่ผมยังขาดอยู่ ถึงแม้ว่าผมจะมีเกือบทุกเล่ม ทุกฉบับแล้วก็ตาม มันใช้เวลานานมากกว่าจะเสาะหาของที่ต้องการมาได้ แต่ผมก็ไม่ได้รีบร้อนจะหานักหรอกนะ เมื่อถึงเวลาที่ใช่ มันก็คงมาหาผมเอง

เพราะเหตุใดคุณถึงเลือกจะเปิดมูลนิธิฌอง-มาร์ก พร็อพสต์ เพื่อ เจ้าชายน้อย ขึ้นมา

มูลนิธินี้จัดตั้งเมื่อ ค.ศ. 2013 จุดประสงค์แรกคือการช่วยรักษาคลังของสะสมซึ่งมีความเฉพาะตัวสูงมาก หลายชิ้นถือเป็นสมบัติอันล้ำค่า ผมเคยคิดมาตลอดว่าอยากมีหน่วยงานที่ช่วยเก็บรักษาของเหล่านี้ต่อไปในยามที่ตัวผมไม่อยู่แล้ว อย่างน้อยที่สุดพวกมันก็จะมีชีวิตอยู่ต่อไปได้ โดยผมเป็นผู้ปูรากฐานไว้แล้ว ทั้งหมดนี้ก็จะคงอยู่ไป ส่วนเป้าหมายที่สองของผมคือการขยายคลังสะสม และจัดแสดงนิทรรศการต่าง ๆ จัดเสวนา ประชุม เพื่อสร้างชื่อเสียงให้กับ เจ้าชายน้อย เพิ่มขึ้นไปในเวทีโลก รวมทั้งจัดการแปลฉบับภาษาใหม่ ๆ และการตีพิมพ์ครั้งใหม่ ๆ

ตอนที่เริ่มทำมูลนิธิ คอลเลกชันของคุณมีของกี่ชิ้น

วันนั้นผมยังไม่ได้มีมากเหมือนทุกวันนี้ บางชิ้นเคยเป็นหนังสือที่ผมเก็บไว้เป็นการส่วนตัว และผมได้มอบให้กับมูลนิธิของผมเอง ตอนนี้ทางมูลนิธิได้รับเงินสนับสนุนและความอนุเคราะห์จากหลาย ๆ คน สุพจน์ก็เป็นหนึ่งในนั้น จุดหมายสำคัญที่เราทำมานานเนิ่น คือการกระตุ้นความตระหนักรู้เกี่ยวกับ เจ้าชายน้อย ให้ผู้คนทั่วทุกมุมโลก และตั้งใจจะแปลวรรณกรรมเรื่องนี้ จัดนิทรรศการแสดง และซื้อหารวบรวมของสะสมมาไว้ให้ได้มากที่สุด 

ผมได้รับการสนับสนุนจากครอบครัวแซ็งแต็กซูเปรีด้วย พวกเขาดีกับผมมาก ยินดีให้ผมใช้ชื่อและสัญลักษณ์จาก เจ้าชายน้อย ของอ็องตวนด้วย

ครอบครัวแซ็งแต็กซูเปรียังมีคนสืบทอดอยู่อีกหรือ

ปัจจุบันไม่มีลูกหลานที่ใช้นามสกุลนี้แล้ว เพราะอ็องตวนไม่มีลูก น้องชายคนหนึ่งเสียชีวิตตั้งแต่เขายังเด็ก พี่น้องผู้หญิง 2 คนของเขาก็ไม่มีลูก มีแค่น้องสาวคนเล็กของเขาที่แต่งงานกับคนนามสกุล ดาเกย์ (D’Agay) และมีลูกถึง 4 คน ในจำนวนนั้นมี ฟร็องซัว ดาเกย์ (François d’Agay) ที่อายุเกือบ 100 ปีแล้ว แต่ยังมีชีวิตอยู่ เขาเป็นหลานลุงและลูกทูนหัวของอองตวน ผมรู้จักกับเขาดี ลูกชายคนหนึ่งของเขาทำหน้าที่เป็นคนจัดการกองมรดกและมูลนิธิแซ็งแต็กซูเปรี ปารีส ซึ่งตัวผมก็มีชื่อเป็นกรรมการมูลนิธินี้ด้วย

มี เจ้าชายน้อย ฉบับแปลทั้งหมดกี่ภาษาที่มูลนิธิของคุณออกทุนหรือสนับสนุนให้เกิดขึ้น

ตอนนี้เราทำไปแล้วประมาณ 50 ฉบับ ปี 2023 มี 8 ฉบับที่เราได้ดำเนินการทำไป ปีหน้าจะมีอีกประมาณ 6 – 8 โครงการที่จะทำ ส่วนจำนวนเล่มที่พิมพ์ก็แตกต่างกันไป บางครั้งเราพิมพ์ 2,000 เล่ม บางครั้งมากกว่านั้น ขึ้นอยู่กับว่าผมมีสปอนเซอร์ด้วยหรือไม่ อีกอย่างคือจำนวนประชากรคนที่รู้ภาษานั้น ถ้ามีคนรู้ภาษานั้นมาก และพร้อมจะอ่านฉบับแปลนั้น เราก็จะเพิ่มยอดพิมพ์

เวลาจะแปลแต่ละภาษา คุณต้องเผชิญกับปัญหาใดบ้าง

มันจะง่ายถ้าหากผมมีผู้ร่วมมือที่ดีอย่างสุพจน์ เพราะเขาพูดคุยกับผู้คนในประเทศของเขาได้ ติดต่อกับสำนักพิมพ์ได้ ไหนจะโรงพิมพ์ คนจัดรูปเล่ม และคอยช่วยให้หนังสือฉบับแปลใหม่ได้รับการพิมพ์โดยสมบูรณ์ ถือเป็นโชคดีของผมที่ได้รู้จักกับพันธมิตรคนรักเจ้าชายน้อยที่ดีอย่างเขา

แต่ในหลาย ๆ ครั้ง ผมก็ไม่มีใครมาช่วย กรณีตัวอย่างก็เช่นฉบับภาษาคอมอเรียน (Comorian) ที่ใช้ในหมู่เกาะคอโมโรส ผมได้พบกับนักแปล เขาดูกระตือรือร้นที่จะได้แปลมาก แต่ผมกลับไม่ได้รับความคืบหน้าใด ๆ เป็นเวลา 6 เดือน สุดท้ายผมต้องใช้เวลาถึง 3 ปีในการรอคอย กว่าจะได้หนังสือฉบับนี้ที่เขียนออกมาอย่างพิถีพิถันมาก ผู้แปลขัดเกลาเนื้อหาและสำนวนจนมั่นใจว่าจะไม่มีข้อบกพร่องใด ๆ จึงพูดได้ว่ามันใช้ทั้งเวลาและพลังเยอะมากกว่าจะทำสำเร็จได้

พอจะประมาณจำนวนการแปลและการพิมพ์ที่คุณมีส่วนร่วมได้มั้ย

มันเพิ่มขึ้นเยอะมาก ๆ โดยเฉพาะในแอฟริกาซึ่งเต็มไปด้วยภาษาถิ่นการหาวัสดุจัดพิมพ์ก็เป็นเรื่องยากเย็นแสนเข็ญ บางครั้งเราหากระดาษมาพิมพ์ไม่ได้ เครื่องพรินต์ก็หาไม่ง่าย ถึงแม้จะมีโรงพิมพ์บางแห่งอยากจัดพิมพ์ก็จริง แต่เขาไม่มีกระดาษที่ดี คุณภาพพรินเตอร์ของเขาก็ไม่ดีพอ การจะทำอะไรในแอฟริกาเป็นเรื่องยากไปหมด แต่เราก็ได้ทำหลายอย่างให้พวกเขา แต่ไม่ง่ายเลยจริง ๆ ครับ

ภาษายากที่สุดที่มูลนิธิคุณเคยแปลคือ

ภาษาทิเบต ลำดับแรกสุดเลยคือพวกเราไม่สามารถทำสิ่งนี้ในเขตปกครองตนเองทิเบตที่อยู่ภายใต้การปกครองของจีน เพราะรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนไม่ยอมให้เผยแพร่ภาษานี้ เราเลยต้องมาจัดพิมพ์กันที่สวิตเซอร์แลนด์แทน ขั้นตอนที่ยากมากคือการจัดวางเลย์เอาต์ เพราะคนจำนวนมากไม่รู้ภาษาทิเบต และไม่รู้วิธีการจัดวางหน้า แบ่งคำ บางครั้งเราก็เลยต้องตัดคำและตรวจทานกับผู้รู้ให้ดี การแปลภาษานี้จึงใช้เวลานานมาก

ถ้าเฉพาะในประเทศไทยล่ะครับ มีการจัดพิมพ์ฉบับใหม่ ๆ กี่ภาษาแล้ว

ที่ทำร่วมกับสุพจน์ ผมทำไว้ 4 ภาษา มีฉบับภาษาล้านนา (คำเมือง) ที่เขียนด้วยอักษรธรรมล้านนา ภาษามลายูปัตตานี อักษรยาวี มีภาษากะเหรี่ยง ภาษาเขมรถิ่นสุรินทร์ นอกจากนี้ยังมีภาษาจารึกสุโขทัย มูลนิธิของผมก็ได้สนับสนุนให้แปลภาษานี้ขึ้นมา โดยร่วมกับพันธมิตรคนอื่น ตอนนี้ทางเรากำลังมีโครงการจัดทำภาษาบาลีและภาษามอแกนอีกด้วย

ตั้งแต่วันแรกที่คุณเดินสายจัดนิทรรศการเกี่ยวกับ เจ้าชายน้อย มา คุณได้ไปเยือนกี่ประเทศแล้ว

ผมพยายามเสมอกับการจดจำประเทศและผู้คนที่ผมได้พบ แต่ผมก็จำไม่ได้ (หัวเราะ)

อย่างวันพรุ่งนี้ผมก็จะบินไปกรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย เพื่อพบกับเพื่อนนักสะสมอีก 2 คน พวกเราร่วมงานกันมาหลายโครงการ ช่วยกันแปลภาษาซุนดา (Sundanese) ภาษาชวา (Javanese) จะจัดพิมพ์กันที่เมืองซูราบายา เราเชิญชวนคนที่มีความคิดเดียวกันมาเยอะแยะ ผมบริจาคเงินให้หลาย ๆ ประเทศ ในแอฟริกาก็มี เมื่อผมไปประเทศนั้นนี้ ผมก็ทำในสิ่งที่ผมอยากทำ สนับสนุนให้มีการแปลภาษาต่าง ๆ

นอกจากเพิ่มภาษาใหม่ให้ผลงานเอกของแซ็งแต็กซูเปรีแล้ว การแปล เจ้าชายน้อย เป็นภาษาที่มีคนรู้ไม่มากมีประโยชน์อย่างไรอีก

หลาย ๆ ครั้งก็มีส่วนช่วยในการกระตุ้นเตือนความรับรู้ที่ผู้คนมีต่อภาษานั้น และช่วยต่ออายุให้กับภาษาเหล่านั้นด้วย หลายปีก่อนผมเคยแปลภาษามาปูเช (Mapuche) เป็นภาษาถิ่นของชนพื้นเมืองทางตอนใต้ของประเทศชิลี ครั้งหนึ่ง จอมพลเอากุสโต ปิโนเชต์ ผู้นำเผด็จการของชิลีเคยประกาศห้ามไม่ให้มีการใช้ภาษานี้ เพราะต้องการส่งเสริมให้ทั้งชาติพูดภาษาเดียวกันคือภาษาสเปน แต่มาปูเชไม่ได้มีแค่ภาษา หากยังเป็นวิถีชีวิต เป็นวัฒนธรรมของชาวมาปูเชอีกด้วย โชคดีที่สถานการณ์ทุกวันนี้เปลี่ยนไป พวกเขาพยายามสนับสนุนวัฒนธรรมและภาษามาปูเช และต้องการให้มีหนังสือตีพิมพ์ในภาษามาปูเช

นี่คือตัวอย่างชั้นดีที่แสดงถึงการผสมผสานระหว่างบางสิ่งที่เราเคยทำให้กับ เจ้าชายน้อย เพื่อนำคุณค่าอันดีงามของเรื่องนี้ให้ชาวมาปูเชได้รับทราบ และเพื่อรักษาวัฒนธรรมมาปูเชของพวกเขาเอง รุ่นพ่อรุ่นแม่อาจพูดภาษานี้ไม่ได้แล้ว เพราะพวกเขาโตมาในยุคปิโนเชต์ แต่รุ่นตายายอาจยังพูดได้อยู่ พวกแกก็อ่านหนังสือเล่มนี้ให้ลูกหลานเขาฟังได้ครับ

สำหรับตัวคุณที่ได้อุทิศเงิน แรง และเวลา เพื่อ เจ้าชายน้อย มาทั้งชีวิต คุณได้รับอะไรจากสิ่งที่ทำ

ผมคิดได้ว่าผมไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง ผมทำเพื่อคนอื่น ท้ายที่สุดผมไม่จำเป็นต้องได้รับอะไรจากสิ่งนี้ แต่อยากนำสิ่งนี้ไปมอบให้ผู้อื่น เช่นเดียวกับที่สุพจน์ทำนั่นแหละ ผมพยายามแนะนำทุกคนว่า หนังสือเล่มนี้ดีเพียงไร และอยากจะส่งต่อสิ่งดี ๆ ให้พวกเขาได้รู้สึกเช่นเดียวกับเรา ในการทำสิ่งเหล่านี้ ผมมอบสิ่งที่ดีให้กับผู้อื่นด้วยชีวิตของผม เป็นส่วนหนึ่งของปณิธานในชีวิตผม โดยที่ผมไม่ได้คาดหวังอะไรเลย

ใครที่ไม่เคยอ่าน เจ้าชายน้อย คุณคิดว่าเขาพลาดอะไรไป

เป็นคำถามที่ดีนะครับ ผมไม่คิดว่าเขาจะพลาดอะไรไป เพียงแต่เขาจะได้อะไรเพิ่มขึ้นมา ถ้าเขาได้อ่านมันครับ

ถ้าหากคุณได้พบแซ็งแต็กซูเปรีผู้เป็นนักเขียนในดวงใจคุณ

คำแรกที่ผมจะบอกเลยก็คือ “ขอบคุณครับ” ขอบคุณที่กรุณาเขียน เจ้าชายน้อย ขึ้นมา ขอบคุณที่เป็นผู้กล้าเขียนหนังสือที่ให้แง่คิดและมุมมองชีวิตเช่นนี้ เพราะตัวเขามีชีวิตผาดโผน สุ่มเสี่ยงต่ออันตรายมาตลอด และด้วยการใช้ชีวิตเช่นนี้ เขาจึงเก็บประสบการณ์ที่จะเป็นหัวเชื้อในการเขียนวรรณกรรมดี ๆ อย่างนี้ออกมาได้ ถ้าเขาไม่เคยมีชีวิตที่หวือหวาแบบนี้ เขาก็คงไม่สามารถเขียนออกมา

ดังนั้น ผมเลยอยากขอบคุณเขาที่ช่างกล้าหาญเหลือเกิน ที่ใช้เวลาหลายปีในชีวิตในทิศทางนี้ เพื่อที่วันหนึ่งในชีวิตจะได้ประพันธ์ผลงานอันเปี่ยมล้นด้วยคุณค่าอย่าง เจ้าชายน้อย ให้คนรุ่นหลังได้อ่านกัน

Writer

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

ชอบอ่านเขียนตั้งแต่จำความได้ สนใจวิชาสังคมศึกษาตั้งแต่จบอนุบาล ใฝ่รู้ประวัติศาสตร์ตั้งแต่อยู่ประถม หัดแต่งนวนิยายตั้งแต่เรียนมัธยม เขียนงานสารพัดด้วยนามปากกา “แพทริก เหล่า” ตั้งแต่เข้ามหา’ลัย

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล