ปุ๊ก-จารุพัชร อาชวะสมิต คือศิลปินและนักออกแบบสิ่งทอผู้มีเอกลักษณ์ในแนวคิด Deconstruction และการใช้โลหะทอผ้า

เธอทำ Ausara Surface & Textile แบรนด์ผ้าทอจากโลหะที่ได้ไปเฉิดฉายถึงช็อป Cartier และอีกหลายแบรนด์ระดับโลก

เธอเป็นอาจารย์ ถ่ายทอดวิชาความรู้และทักษะที่มีอยู่เต็มตัวให้นักศึกษาภาควิชาศิลปอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

เธอเริ่มสนใจการดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังในช่วงโควิด-19 และเริ่มทำงานเพื่อขับเคลื่อนประเด็นนี้ตั้งแต่นั้นมา

และล่าสุด นิยามใหม่ที่เธอให้กับตัวเองด้วยความภูมิใจ คือ ‘ศิลปินที่คนชอบชวนไปทำงานด้วย’

เมื่อ 5 ปีที่แล้วเธอได้มาเล่าเรื่องราวของ Ausara Surface ร่วมกับพาร์ตเนอร์อย่าง โชษณ ธาตวากร แล้ว ในวาระที่เธอจัดนิทรรศการส่วนตัว อย่าง ‘Second Life’ ที่ Warin Lab Contemporary เราขอพูดคุยกับเธอเกี่ยวกับงานส่วนตัวสนุก ๆ ที่ได้ทำในช่วงหลังบ้าง 

จารุพัชร อาชวะสมิต

ที่ว่าสนุก เราไม่ได้พูดไปงั้น ๆ แม้ว่าจะอยู่ในวงการออกแบบสิ่งทอมาเนิ่นนาน แต่เธอก็ยังมีไฟจะทดลองอะไรใหม่ ๆ จนค้นพบตัวเองในแง่มุมใหม่ทุกย่างที่ก้าวเดิน

นอกจากนี้ เรายังตื่นเต้นกับความคิดสร้างสรรค์ ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ และแนวคิดทางการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่เธอมีเต็มเปี่ยม จึงสร้างงานที่ไม่เคยมีใครคิดทำได้มากมาย เอาเป็นว่าการพูดคุยในครั้งนี้ทำให้เราได้รู้ว่าศาสตร์การทอผ้ามีความเป็นไปได้ไม่รู้จบขนาดนี้

เตรียมตัวรับความเนิร์ดให้พร้อม แล้วไปฟังอาจารย์ปุ๊กเล่ากันดีกว่า

ผ้าเช็ดหน้าลายคิตตี้

แพสชันในชีวิตเป็นสิ่งที่ไม่ได้ค้นพบกันง่าย ๆ 

บางคนเหมือนเกิดมาพร้อมกับแพสชันบางอย่าง บ้างโชคดีได้เรียนในคณะที่ถูกใจตอนมหาวิทยาลัย บ้างมาเห็นภาพตอนเข้าสู่โลกการทำงาน บ้างเพิ่งมาตกผลึกตอนอายุมากแล้ว บ้างก็ใช้ชีวิตอย่างมีสุขไปทั้งชีวิตโดยไม่ได้มีความสนใจพิเศษเหมือนใครเขา (แน่นอน นั่นก็ไม่ใช่เรื่องผิด)

ส่วนปุ๊กเป็นประเภทที่บังเอิญค้นเจอตั้งแต่ตั้งแต่เด็กมาก ๆ ตอนเริ่มต้นชั้นประถมศึกษา

แม่ของเธอเป็นนักพฤกษศาสตร์ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ถ้าพูดให้เจาะจงคือเป็น ‘นักวิชาการโรคพืช’ ทำหน้าที่เป็นคุณหมอให้ต้นไม้ เมื่อเลิกเรียนจากโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปุ๊กและพี่ ๆ อีก 2 คนจะมากองกันอยู่ที่ห้องแล็บของแม่เพื่อรอพ่อมารับกลับบ้านพร้อมกัน

“เห็นคุณแม่นั่งส่องกล้องจุลทรรศน์ เราก็อยากส่องบ้าง พอคุณแม่เปิดกล้องให้ส่องเล่น พี่ก็หยิบผ้าเช็ดหน้า Hello Kitty ของตัวเองมาส่อง” ปุ๊กเล่าให้ฟังด้วยสีหน้าแช่มชื่น

มันเป็นยังไง – เราถามอย่างตื่นเต้น เริ่มเดาออกว่านี่คือจุดเริ่มต้นของอาชีพ

“มันเป็นผ้าเช็ดหน้านี่แหละ แต่ขยาย 200 เท่า เราก็เลยเห็นเกลียวการทอผ้า โห! เป็นโค้งบิด ๆ ที่สวยมากเลย เหมือนเชือกที่ใช้ผูกเรือไม่ให้ลอยไปไหน”

เมื่อแม่บอกว่านี่คือ ‘ผ้าทอ’ ปุ๊กก็ปักใจตั้งแต่วินาทีนั้นเลยว่า “โตขึ้นฉันจะทอผ้าให้สวยเหมือนผ้าเช็ดหน้า Hello Kitty ผืนนี้” เมื่อเรียนจบ ม.5 เธอก็สอบเทียบและเอนทรานซ์เข้าภาควิชาการออกแบบอุตสาหกรรม สถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง จริง ๆ โดยไม่ลังเลแม้แต่นิด

โลกของสิ่งทอ

ที่ลาดกระบัง ปุ๊กได้เรียนพื้นฐานสิ่งทอ ตั้งแต่เรื่องลักษณะของเส้นใย การย้อม การพิมพ์ แต่โชคไม่ดีที่ไม่ได้เรียนเรื่องการทอตามที่ตั้งใจไว้ เพราะติดขัดเรื่องอาการป่วยของอาจารย์ผู้สอน เธอจึงได้เริ่มทอผ้าจริงจังเมื่อเรียนซัมเมอร์ที่ Rhode Island School of Design และเรียนต่อด้านสิ่งทอในระดับปริญญาโทที่ University of Michigan

ปุ๊กเลือกทำด้าน Fiber Art ที่นี่ กับ Professor Sherri Smith ซึ่งเป็นศิลปิน Fiber Art ที่มีชื่อเสียงในสหรัฐอเมริกายุค 70 และ 80 เพราะได้เห็นผลงานในนิตยสารบ่อย ๆ เธอจึงอยากเรียนกับเขามาตั้งแต่อยู่ไทย

“มีประโยคหนึ่งที่เขาพูดและเราจำได้จนทุกวันนี้ คือ

“ปุ๊ก รู้ไหมว่าเส้นด้ายมันไม่ชอบถูกบังคับ ถ้าเราปล่อยให้มันเคลื่อนที่เป็นอิสระ มันจะโค้ง แต่ถ้าเราทอมัน ล็อกมันไว้ มันจะตรง ดังนั้น เวลาออกแบบโครงสร้างลายทอ เราจะออกแบบทั้งตัวที่ล็อกมันไว้และตัวที่ปล่อยมัน มันก็จะมีทั้งเส้นโค้งและเส้นตรง” 

“นี่เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดเป็นงานของเรามาจนทุกวันนี้”

หลังได้ยินประโยคนี้จากปากไอดอลของตัวเอง เธอก็เริ่มศึกษาทำความเข้าใจวัสดุต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด เพื่อให้เข้าใจธรรมชาติของวัสดุ และเข้าใจว่ามัน ‘อยากจะอยู่’ ในรูปฟอร์มไหน

นอกจากนี้ ยังมีอีกแนวคิดของครูที่ส่งอิทธิพลกับงานของเธอมาถึงปัจจุบัน คือการนำผลิตภัณฑ์พื้นบ้านมาอยู่ในชีวิตคนยุคใหม่ โดยปุ๊กได้เปลี่ยนจากผ้าไหมหรือฝ้ายเดิม ๆ มาเพิ่มการใช้โลหะต่าง ๆ เข้าไป ทั้งทองเหลือง ทองแดง ดีบุก เคฟลาร์ คาร์บอนไฟเบอร์ ดังที่เราเห็นกันในแบรนด์ Ausara ของเธอกับโชษณที่เริ่มต้นเมื่อ 10 ปีที่แล้ว

งานของ Ausara เป็นงานดีไซน์ที่ใช้ในการตกแต่งภายใน โดยทำงานกับ Interior Designer เป็นกิจวัตร

“เรามี Sculpture ลอยตัวแขวนเพดานด้วย” ปุ๊กเล่าพลางชี้ไปที่ประติมากรรมใหญ่ยักษ์ที่พกมาให้เราดู “ถ้าเป็นโลหะ โครงสร้างคงต้องยิ่งใหญ่และหนักมากใช่มั้ยคะ แต่พอเป็นผ้าแล้วเบามาก บางทีเส้นยืนเราเหลือแค่ 10 ไมครอน ซึ่งแขวนได้โดยแทบไม่ต้องเพิ่มโครงสร้างขึ้นมาเลย”

อาวุธส่วนตัว

จะเรียกว่าเธอ ‘หลงใหล’ ในบุคลิกของวัสดุอันหลากหลายก็ไม่คงเกินไป เพราะเธอใช้เวลามากมายในชีวิตทำความรู้จักกับ ‘สรรพสิ่ง’ ราวกับว่าเป็นสิ่งมีชีวิต

“ครึ่งหนึ่งเราเป็นนักวิทยาศาสตร์” เธอพูด เรานึกย้อนไปถึงภูมิหลังวัยเด็กที่เธอขลุกตัวในห้องแล็บแม่ “เราเป็นเนิร์ด ชอบเคมี ฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ พอจะรู้อยู่แล้วว่าถ้าสเตนเลสหรือทองแดงโดนความร้อนจะเปลี่ยนสี เราก็เอาความรู้เหล่านี้มาทดลองเอง”

วิธีทำงานทุก ๆ ชิ้นของปุ๊กคือ Deconstruction หรือการรื้อสร้าง ดังสุภาษิตฝรั่งที่ว่า ถ้าอาวุธอย่างเดียวที่คุณมีคือค้อน คุณจะมองทุกอย่างเป็นตะปู

“เรามีอาวุธแบบนี้ อะไรเข้ามาเราก็ใช้วิธีนี้จัดการมัน” เธอกล่าว

จริง ๆ แล้วปุ๊กใช้วิธีนี้มาตั้งแต่เริ่มทอผ้า หากเมื่อก่อนยังไม่แน่ใจนักว่าจะยึดสิ่งนี้เป็นแนวทาง จนกระทั่งเจอกับ ติ๊ก-นิวัติ คูณผล ในช่วงโควิด-19 ตอนที่ปุ๊กมีเวลาหยุดทบทวนชีวิตที่หัวหิน

ตอนนั้นติ๊กส่งชุดภาพถ่ายขาวดำมาให้ แล้วปุ๊กก็นำมาต่อยอดด้วยการนำภาพมากรีดเป็นเส้นแล้วสานเข้ากับอีกภาพและวัสดุโลหะ กลายเป็นนิทรรศการ Weaving the Picture ที่โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ

“เดิมทีเราไม่รู้สึกว่ากำลังรื้องานอยู่ เพราะมันเป็นงานของเรา แต่พอเป็นงานของคนอื่นก็ทำให้รู้สึกตัวมากขึ้นว่า ฉันกำลังรื้องานเขานี่หว่า พอรื้อเสร็จเราก็เอามารวมใหม่ในมุมมองของเรา” ปุ๊กอธิบาย “จุดนั้นทำให้รู้ว่า อ๋อ ฉันใช้วิธีนี้ในการทำงานมาตลอด”

ไม่รู้จะเรียกโชคชะตาหรือการค้นพบตัวเองอีกขั้นหนึ่ง หลังจากนั้นปุ๊กก็มีโอกาสทำงานคู่กับคนอื่นในกลวิธีนี้อีกครั้งแล้วครั้งเล่า 

การได้ไปอยู่หัวหินและมองเห็นธรรมชาติค่อย ๆ ฟื้นตัวในช่วงโควิด-19 ก็ทำให้งานในช่วงถัดมาของเธอเกี่ยวข้องกับประเด็นสิ่งแวดล้อมเป็นส่วนใหญ่ด้วย เธอสนใจสิ่งแวดล้อมในเชิงวัสดุ และเชื่อว่าหากใช้แต่ของใหม่ (Virgin Material) ไปเรื่อย ๆ สักวันจะไม่มีวัสดุใหม่ให้ลูกหลานเราใช้อีกต่อไป จึงมักไปเดินที่วงษ์พาณิชย์และซื้อขยะอุตสาหกรรมมารื้อ แล้วสร้างใหม่เป็นสิ่งทอ

จะว่าไปแล้ว การรื้อสร้างกับการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมก็ไปกันได้แบบไม่น่าเชื่อเลย

4 Collaborations

01 นิทรรศการ ‘Second Life’

ปีที่แล้ว Warin Lab Contemporary มีนิทรรศการ Chronicle of the Landscape ซึ่งเป็นงานของ อาจารย์สาครินทร์ เครืออ่อน ศิลปินผู้มีชื่อเสียงระดับโลก เกี่ยวกับ Man-made Landscape (ภูมิทัศน์ที่มนุษย์สร้างขึ้น) 

รูปที่อาจารย์ถ่ายคือการระเบิดภูเขาหิน และนำหินที่ระเบิดมากองไว้เพื่อเตรียมไปก่อสร้าง วันดีคืนดีฝนก็ตก มีต้นธูปฤๅษีขึ้น มีแอ่งน้ำที่เหมือนทะเลสาบ กลายเป็นที่สวยงามที่คนมาถ่ายพรีเวดดิงโดยไม่รู้ว่าคืออะไร

หลังจากที่นิทรรศการเสร็จสิ้น ทาง Warin Lab Contemporary ซึ่งเป็นแกลเลอรีเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ไม่อยากจะทิ้งภาพไปเปล่า ๆ ฝน สุคนธ์ทิพย์ เจ้าของแกลเลอรีก็ติดต่ออาจารย์ปุ๊กมาสร้างสรรค์งานใหม่ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้รู้จักกันมาก่อน แต่เธอเคยเห็นงานของปุ๊กและติ๊กที่โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ

“พอเข้ามาดูก็ประทับใจเลย งานของอาจารย์สวยและมีความหมายลึกมาก ๆ” ปุ๊กกล่าว “งานชิ้นนี้มีเวลาหลายเดือน เลยได้ตกตะกอนกับตัวเอง และสร้าง Second Life ขึ้นมาให้กับงาน”

งานแบ่งเป็น 3 ชิ้น

ชิ้นแรกชื่อ Variant นำเสนอไอเดียที่ธรรมชาติพยายามจะมีชีวิตอยู่ด้วยการกลายพันธุ์เล็กน้อย จากต้นใหญ่ก็เหลือต้นเล็กลง โดยมีการใช้สเตนเลสโปร่งใสแทนน้ำ และมีโลหะอื่น ๆ แสดงถึงสัญลักษณ์ของศิลปินด้วย

ชิ้นที่ 2 ชื่อ Mutation เป็นการเปลี่ยนแปลงในระดับที่มากขึ้น ด้วยสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปก็เกิดหญ้าใหม่งอกขึ้นมา ปุ๊กใช้วัสดุรีไซเคิลอย่างขวดน้ำดื่มและขนแกะกับงานชิ้นนี้

ชิ้นที่ 3 ชื่อ Colony ซึ่งแปลว่าอาณานิคม หลังจากกลายพันธุ์มาก ๆ เข้า ก็สร้างอาณาจักรของตัวเองด้วยการงอกขึ้นมาจากซากพืช ซากสัตว์ และพยายามที่จะห่อหุ้มเป็นดักแด้ของตัวเอง

นิทรรศการนี้จะจัดที่ Warin Lab Contemporary จนถึงวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2566

02 Mobella x Jarupatcha : หมอนจากเศษหนัง

โปรเจกต์เริ่มขึ้นเมื่อโรงงาน Mobella ซึ่งผลิตโซฟาจากหนัง ชวนปุ๊กไปเยี่ยมชมโรงงาน 

แพตเทิร์นโซฟามีขนาดใหญ่มาก และแน่นอนว่าสำหรับนักสร้างสรรค์สิ่งทออย่างเธอ เศษหนังที่เหลือใช้ราว 50 เซนติเมตรนั้นถือว่ามโหฬาร

“ไหน ๆ วัว 1 ตัวก็สละชีวิต เราอยากเอาหนังไปทำให้มีมูลค่าเพิ่ม” เธอเล่าพลางยิ้มตาหยี

เธอนำหนังไปซอยเส้น ๆ แล้วนำมาทอ ได้ผลลัพธ์เป็นผืนหนังที่หน้าตาน่าสนใจ นำไปใช้ได้หลายอย่าง ทั้งทำหมอน ทั้งนำมาทำวัสดุตกแต่งผนัง

การลงมือทำครั้งนี้นำมาซึ่งความภูมิใจอย่างมากแก่ดีไซเนอร์ เพราะชนะทั้ง DEmark Award ที่ไทย และ Good Design Award ที่แดนปลาดิบ กรรมการที่ตัดสินให้เหตุผลว่านี่เป็นวิธีการที่แปลกใหม่และยังไม่มีใครนำเศษหนังมาทอให้เกิดผลิตภัณฑ์ในลักษณะนี้มาก่อน

นอกเหนือจากการใช้วัสดุเหลือทิ้งให้เกิดประโยชน์แล้ว สิ่งที่เราชอบในงานนี้คือรูปลักษณ์ที่ออกมา แม้ดูเผิน ๆ เหมือนจะง่าย แต่การเว้นระยะถี่ห่าง การปล่อยให้หนังบางส่วนหย่อน หรือทำให้แพตเทิร์นบางส่วนเหลื่อมกันแค่นิดเดียว ก็ทำให้งานแต่ละชิ้นมีคาแรกเตอร์ต่างกันได้

03 Mobella x Jarupatcha : อาร์มแชร์เสื่อกก

เมื่อทำงานเข้ากันได้ดี ผลงานออกมาเป็นที่พอใจกันทุกหมู่เหล่า ปุ๊กก็เป็นฝ่ายชวน Mobella ทำงานบ้าง พวกเขาไปลงพื้นที่โครงการเพื่อนช่วยเพื่อนของมูลนิธิชัยพัฒนา ซึ่งเป็นชุมชนเกษตรกรที่กำลังพัฒนาพันธุ์ข้าว
แต่ละปีจะมีฤดูแล้งที่ทำการเกษตรไม่ได้ แต่รอบ ๆ ชุมชนนั้นเต็มไปด้วยต้นกก ทั้ง 2 ฝ่ายจึงช่วยกันคิดค้นสิ่งใหม่ ด้วยการนำกกมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์

“แรก ๆ ก็ทำตะกร้าง่าย ๆ นี่แหละค่ะ พอเริ่มพัฒนาเป็นกระเป๋าถือก็ขายดีเลย แต่พอดีว่ายังไม่มีใครเอามาทำเฟอร์นิเจอร์ เราก็เลยชวน Mobella ทำ และบอกว่าเราจะออกแบบสี เท็กซ์เจอร์ และรูปแบบให้เอง”
เกิดมาเป็นคนไทยก็คงต้องคุ้นเคยและผูกพันกับกกเป็นอย่างดี โดยเฉพาะเสื่อกกที่ใช้ปูนั่งที่พื้น ซึ่งมีเนื้อสัมผัสทั้งลื่นทั้งหยาบในขณะเดียวกัน หากเผลอลงน้ำหนักมือนาน ๆ เข้า มือก็จะมีลวดลายแบบเดียวกับเสื่อ ไม่น่าเชื่อว่ายังไม่มีใครนำกกมาทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ 

ทำให้เราคิดได้เลยว่าไม่ต้องเป็นวัสดุยาก ๆ ก็ทำงานเหนือความคาดหมายได้เหมือนกัน

สุดท้ายเฟอร์นิเจอร์กกนี้ก็ได้ DEmark Award และได้ไปโชว์ความสวยงามที่มิลาน

04 Khom Fabrics

ปุ๊กรู้จักกับครอบครัวเจ้าของ ‘โขมพัสตร์’ ซึ่งเป็นแบรนด์ภาพพิมพ์โบราณของชาวหัวหินมานาน เพราะเป็นเพื่อนเรียนสาธิตเกษตรฯ ด้วยกันตั้งแต่เด็ก วันดีคืนดี กจง-อัสสยา คงสิริ เพื่อนวัยเด็กคนนั้น ก็ชวนปุ๊กไปเยี่ยมที่โรงงาน เพื่อมองหาความเป็นไปได้ในการทำงานร่วมกัน

เมื่อได้เดินสำรวจแล้ว ปุ๊กก็บอกกับเพื่อนว่า เธออยากทำการทดลองเรื่องสีธรรมชาติ

โดยทั่วไปคนจะใช้สีธรรมชาติในการย้อมผ้า เริ่มจากการนำสีธรรมชาติมาใส่น้ำ และนำผ้าลงไปต้ม หากอาจารย์ปุ๊กลองมองมุมกลับ นำวัสดุธรรมชาติอย่าง ‘คราม’ มาทำให้เป็นผง แล้วพิมพ์ลงบนผ้า จากนั้นก็ทำทรีตเมนต์ให้ครามฝังลงไปในเนื้อผ้า ได้เป็นคอลเลกชันที่ไม่ต้องใช้สีเคมี แต่เป็นธรรมชาติ 100%

โปรดักต์ที่ได้ก็มีหลากหลายเช่นเคย ทั้งวัสดุตกแต่งผนัง ตกแต่งบ้าน เสื้อผ้า และหมอน ในนามของ Khom Fabrics แบรนด์ลูกของโขมพัสตร์ที่เน้นเรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อม

05 Ake & Jarupatcha

นี่เป็นงานที่ปุ๊กได้ร่วมสร้างสรรค์กับ เอก อัตถะสัมปุณณะ โดยผสมผสานงานวาดรูป งานทอ และการเย็บผ้าเข้าด้วยกัน

เอกเป็นนักออกแบบเฟอร์นิเจอร์ เจ้าของแบรนด์มหาสมุทร เขามีขี้เลื่อยที่โรงงานมากมาย ปุ๊กจึงได้นำขี้เลื่อยนั้นผสมเปลือกไข่และเศษขยะจากทะเล ทำเป็นกระดาษขึ้นมา

“ทะเลเขามีวิธีคืนสิ่งที่เขาไม่ต้องการกลับมาโดยใช้คลื่นซัด แต่ก็มีบางส่วนที่คลื่นพยายามซัดแต่ไม่ยอมกลับมา เพราะมีทรายกดไว้ พวกเราสงสารทะเลเลยไปเก็บมา เราเป็นมนุษย์ เราต้องช่วยเขา”

ได้กระดาษเป็นที่เรียบร้อย ทั้งคู่ก็ตั้งโจทย์เป็น ‘เรือนร่างผู้หญิงในสายตาของแต่ละคน’ โดยเอกใช้แกรไฟต์วาดก่อน ส่วนปุ๊กใช้ด้ายเย็บตามทีหลัง โดยไม่ได้เตี๊ยมกันแม้แต่นิด

เรือนร่างผู้หญิงฝีมือเอกออกมาเป็นงาน Abstract ที่มีอารมณ์ขันอยู่ในที เมื่อส่งต่อให้ปุ๊ก เธอก็รายล้อมงานวาดนั้นด้วยเส้นสายของด้ายสีอ่อน ที่ถ้าไม่เพ่งมองใกล้ ๆ ก็อาจไม่สังเกต เส้นสายเหล่านั้นไม่ค่อยขนานกัน ออกจะพันเกี่ยวกันนิด ๆ ทำให้รูปเดิมมีการเคลื่อนไหวที่นุ่มนวลเพิ่มเข้ามา

งานนี้ได้จัดแสดงใน ATTA Gallery เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เป็นนิทรรศการรวมศิลปินหลายคน

สรรพสิ่งทอ

วัสดุไหนที่ประทับใจที่สุดในการนำมาใช้ – เราถามนักออกแบบ

“ที่สุดนี่ไม่แน่ใจนะ สนุกทุกอย่างเลย แต่ก็ชอบคาร์บอนไฟเบอร์นะ” ปุ๊กยิ้มกว้าง คาร์บอนไฟเบอร์คือเส้นใยทำรถยนต์ที่น้ำหนักเบาแต่แข็งแรงมาก ซึ่งนอกจากนี้เธอยังใช้วัสดุที่ใช้ทำ Racing Suit หรือชุดสำหรับแข่งมอเตอร์ไซค์ที่มีคุณสมบัติทำให้ล้มแล้วไม่ขาดด้วย ‘Cross Discipline’ หรือการใช้วัสดุข้ามอุตสาหกรรมนี่งานถนัดอยู่แล้ว

สิ่งหนึ่งที่ทำให้เธอยังเคลื่อนที่อยู่ตลอด คือการได้คลุกคลีกับคนรุ่นใหม่ในวงการทอผ้าอย่างเหล่านักศึกษาลาดกระบัง อาจารย์ปุ๊กเป็นคนกระตุ้นให้นักศึกษาคิด แล้วนักศึกษาจะโยนกลับมา เธอบอกว่าในทุกรุ่นจะมีคนที่ล้ำมากอยู่เสมอ เธอจึงรู้สึกสนุกและได้เติมพลังชีวิตอยู่ตลอดเวลา

“คนทำในอุตสาหกรรมแฟชั่นเยอะ แต่ Textile ไม่ค่อยมี จริง ๆ แล้ว Textile เป็นคนสร้างวัสดุให้ Fashion Designer กับ Interior Designer นำไปใช้ ถ้ามีคนสร้างวัสดุน้อย เขาก็จะมีทางเลือกน้อย

“อยากเชียร์ให้คนมาทำงานตรงนี้มากขึ้น ยิ่งมีเยอะยิ่งพัฒนาได้มาก อยากเห็นคนรุ่นใหม่มาทำอะไรสนุก ๆ เป็นเจ้าของสตูดิโอเอง คิดอะไรที่ลึกล้ำ แล้วก็อยากเห็นนักวิทยาศาสตร์มาทำร่วมกับเราอย่างจริงจัง ตอนนี้อยากทำงานวัสดุที่ซ่อมแซมตัวเองได้ อาจเป็นเซลล์พืชหรือเซลล์สัตว์ สมมติว่าวัสดุเกิดพื้นที่รอยร้าวหรือมีช่องโหว่ผุพัง จุลินทรีย์จะสร้างตัวเองเพื่อปิดรอยนั้น

“นั่นเป็นสิ่งที่อยากทำ” ปุ๊กยิ้มหลังจากอธิบายยาวอย่างเด็กเนิร์ด

จากประสบการณ์ทั้งหมดที่ผ่านมา ทุกสิ่งในชีวิตประกอบให้เธอเป็นเธอ ตั้งแต่ผ้าเช็ดหน้าลายคิตตี้ คุณแม่นักวิทย์ การตัดสินใจเรียนต่อ การทอโลหะที่ Ausara ความเปลี่ยนแปลงในช่วงโควิด รวมถึงศิลปินทุกคนที่ได้ร่วมงาน

อยากรู้แล้วสิว่าเธอจะไปเจออะไรต่อ และงานต่อไปของเธอจะสนุกแค่ไหน

Writer

พู่กัน เรืองเวส

พู่กัน เรืองเวส

อดีตนักเรียนสถาปัตย์ สนใจใคร่รู้เรื่องผู้คนและรูปแบบการใช้ชีวิตอันหลากหลาย ชอบลองทำสิ่งแปลกใหม่ พอ ๆ กับที่ชอบนอนนิ่ง ๆ อยู่บ้าน

Photographer

ภรัณยู วรรณศรีพิศุทธิ์

ภรัณยู วรรณศรีพิศุทธิ์

นักศึกษาเอกญี่ปุ่นจากมหาสารคาม สนใจภาพถ่าย ชีวิตขับเคลื่อนด้วยเสียงเพลง อยากมีเงินไปมิวสิกเฟสติวัลเยอะๆ