13 พฤศจิกายน 2018
15 K

‘Ausara Surface’ คือแบรนด์สิ่งทอจากโลหะและแร่ธาตุสัญชาติไทยเพื่อใช้สำหรับงานตกแต่งภายใน

เป็นแบรนด์เดียวในโลกที่ออกแบบและผลิตสิ่งทอจากเหล็กและแร่ธาตุ

เป็น 1 ใน 3 แบรนด์ในโลกที่ออกแบบสิ่งทอจากวัสดุที่ไม่น่าจะนำมาทอผ้าได้แต่เป็นผ้าทอได้ โดยเจ้าหนึ่งอยู่ที่อเมริกา และอีกเจ้าอยู่ที่ฝรั่งเศส

ไม่ได้เป็นเพียงแบรนด์วัสดุสำหรับงานตกแต่งภายใน แต่ยังออกแบบและผลิตสำหรับใช้ในวงการแฟชั่น ด้วยข้อมูลอันเป็นความลับเราเปิดเผยได้เพียงว่าหนึ่งในลูกค้าสำคัญของ Ausara Surface คือหลายแบรนด์หรูในกลุ่ม LVHM หรือ LVMH Moët Hennessy Louis Vuitton รวมถึงเป็นผ้าที่ใช้ทำชุดเมขลารามสูร ชุดประจำชาติในการประกวดมิสยูนิเวิร์ส 2017 ของ มารีญา พูลเลิศลาภ ด้วย

ยังไม่นับงานประดับตกแต่งจากสิ่งทอและวัสดุออกแบบพิเศษที่ใช้ทั้งภายในและภาพนอกของโรงแรมหรู ร้านอาหารดัง และอสังหาริมทรัพย์เกือบทุกเจ้าในตลาด

Ausara Surface

เรามีนัดกับ โชษณ ธาตวากร Managing Director และ อาจารย์ปุ๊ก-จารุพัชร อาชวะสมิต อาจารย์ประจำภาควิชาศิลปอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และ Creative Director ของ Ausara Surface ในบ่ายวันหนึ่งที่สตูดิโอย่านลาดพร้าว เพื่อคุยกันเรื่องเบื้องหลังของแบรนด์ จากความหลงใหลและความเชื่อมั่นในงานที่ทำ การทดลองและลองทำอย่างซื่อตรง ทำให้เห็นว่าไม่ใช่แค่สิ่งทอสะท้อนแสงแวววาวนี้เท่านั้นที่ประณีต การบริหารจัดการแบรนด์เล็กๆ อย่างตั้งใจก็ส่งให้ Ausara Surface ฉายแวววิบวับในวงการสิ่งทอระดับโลก

Ausara Surface Ausara Surface

พาร์ตเนอร์สายใย สายรหัสผู้ร่วมอุดมการณ์

หลังจากวันที่รู้จักกันในฐานะพี่น้องร่วมสายรหัสของภาควิชาศิลปอุตสาหกรรมที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ของ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ทั้งสองก็แยกย้ายกันเดินทางในสายงานที่ต่างคนต่างสนใจ

อาจารย์ปุ๊กกลับมาเป็นอาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องสิ่งทอ และที่ปรึกษาด้านผลิตภัณฑ์ขององค์กรชั้นนำต่างๆ ขณะที่โชษณทำงานกับอเล็กซานเดอร์ ลามอนต์ (Alexander Lamont) แบรนด์เฟอร์นิเจอร์และของแต่งบ้านระดับโลก

ประสบการณ์จากการทำงานกับอเล็กซานเดอร์ ลามอนต์ ทำให้โชษณสนใจเรื่อง Vertical Textile หรือสิ่งทอที่ใช้สำหรับงานตกแต่งในแนวตั้ง โดยเฉพาะคุณสมบัติเรื่องน้ำหนักที่เบา และการพับเก็บเปลี่ยนรูปแบบได้ง่าย

Ausara Surface

“ช่วงปี 90 ในวงการสถาปัตยกรรมและอินทีเรียกำลังพูดถึงคอนกรีตซึ่งเป็นของใหม่ในยุคนั้น แต่ผมมองว่าเทรนด์ของโลกกำลังวิ่งหาสิ่งที่เป็น Mobility เคลื่อนย้ายได้ มีความยืดหยุ่น ไปจนถึงเรื่องของสิ่งทอที่จะไม่จำกัดอยู่ในรูปแบบเดิมๆ อีกต่อไป สมัยนั้นสิ่งทอในงานอินทีเรียจะใช้สำหรับตัดเย็บทำหมอน ซึ่งผมมองว่าผ้าเป็นได้มากกว่านั้น เป็นส่วนหนึ่งของสถาปัตยกรรมได้ หรือเป็นงานศิลปะชิ้นงานใหญ่ๆ เลยก็ย่อมได้

“โดยที่ก่อนหน้านี้งาน Mass Production และงานศิลปะจะอยู่แยกขาดจากกันอย่างสิ้นเชิง แต่ด้วยปัจจุบันที่เทคโนโลยีในการผลิตก้าวหน้าขึ้น ผู้ใช้งานในตลาดมีความหลากหลายทำให้งานสายแมสไม่ต้องสุดโต่งผลิตในจำนวนมหาศาล หรืองานศิลปะก็ไม่จำเป็นต้องมีเพียงชิ้นเดียวอีกต่อไป ทุกคนต้องการกระเบื้อง วอลเปเปอร์ พรม สีผนังที่ไม่เหมือนใคร อยากได้ของที่สะท้อนคาแรกเตอร์ตัวเอง” โชษณมองเห็นช่องว่างในตลาดที่เขาสนใจ

จนกระทั้งอาจารย์ปุ๊กชวนมาเริ่มทำแบรนด์สิ่งทอด้วยกัน ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่วงการสร้างสรรค์กำลังวิ่งเข้าหางานหัตถกรรม โหยหางานฝีมือและงานคราฟต์ ซึ่งอาจารย์ปุ๊กเล่าว่า เธอไม่ต้องการจำกัดว่าคราฟต์คืองานท้องถิ่น แต่หมายถึงงานประณีตศิลป์ที่คิดและทำอย่างตั้งใจ

Ausara Surface Ausara Surface

ทำสิ่งที่ลูกค้าไม่รู้ว่าเขาต้องการ

ไม่ต่างจากหลักการสร้างสรรค์ของ สตีฟ จ็อบส์ สองผู้ก่อตั้ง Ausara Surface ช่วยกันเล่าว่า เพราะสิ่งที่ทั้งคู่ตั้งใจทำเป็นสิ่งใหม่มากในตลาด นั่นทำให้พวกเขาเริ่มจากพัฒนาผลิตภัณฑ์ก่อนจะสื่อสารการตลาดใดๆ

“ลูกค้าไม่รู้ว่าต้องการสิ่งนี้ จนกระทั่งเขาได้เห็นและสัมผัสมัน” โชษณเสริม

“เวลาที่พูดถึงสิ่งทอ คนมักจะมุ่งไปเรื่องเสื้อผ้า แม้จะเป็นองค์ความรู้ที่มีมากว่า 3,000 ปีแล้ว คนก็ยังจดจำผ้าแบบนี้ ทั้งยังแยกประเภทการผลิตอย่างสิ้นเชิง เช่น โรงงานนี้ทอผ้าสำหรับเสื้อผ้าเท่านั้น สำหรับทอผ้าม่านเท่านั้น สำหรับผ้าปูทำโซฟาเท่านั้น ยังไม่เคยมีใครพูดเรื่องผ้าในมิติอื่น ในวันที่เราอยากหลุดจากกรอบความคิดเดิมๆ เราก็ถามโชษณว่า มีวัสดุอะไรบ้าง เราอยากได้เหล็ก หลังจากนั้นเราก็เริ่มลงมือทดลองกัน” อาจารย์ปุ๊กเสริม

Ausara Surface เริ่มต้นอย่างเรียบง่าย และใช้เวลาในช่วงทดลองและพัฒนาผลิตภัณฑ์กว่า 1 ปี โดยทำงานร่วมกับวิศวกรและโรงงานทอผ้าเพื่อให้เครื่องจักรสามารถส่งเส้นด้ายทองแดงที่หลากหลายระดับได้ จนออกมาเป็นสวอตช์หรือตัวอย่างชิ้นงานเพื่อส่งให้มัณฑนากรเลือกสรร และด้วยการแนะนำของ คุณติ๊ก-นิวัติ คูณผล รุ่นพี่ของทั้งสองคนที่ลาดกระบัง ทำให้ Ausara Surface มีโอกาสแนะนำตัวเองกับมัณฑนากรชั้นนำของประเทศ

งานสร้างสรรค์ที่สร้างความประทับใจอย่างลุ่มลึก

Ausara (อุสรา) แปลว่า พระอาทิตย์

งานทุกชิ้นของอุสราใช้ความร้อนในการผลิตเส้นใยและเส้นด้ายจากแร่ธาตุต่างๆ พวกหินบะซอลต์  เหมือนกันกับความร้อนจากพระอาทิตย์ซึ่งจุดกำเนิดทุกอย่างบนโลก

ส่วน Surface คือคอนเซปต์ของงานที่ให้ความสำคัญกับลักษณะของผิวสัมผัส มองแล้วเหมือนหลุดเข้าไปอีกโลกหนึ่ง

“ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นนักออกแบบ เขาเข้ามาหาเราเพราะเราไม่อยากได้ของที่เหมือนใคร เราสังเกตว่าเวลานักออกแบบมองงานของเราเขาจะมีจินตนาการต่อกับผ้าผืนนั้นหรือ Surface นั้นๆ ได้เลย เราชอบที่งานของเราช่วยสร้างจินตนาการแก่นักออกแบบต่อโดยไม่มีข้อจำกัด” อาจารย์ปุ๊กเล่า

คำหนึ่งคำที่อธิบายความเป็น  Ausara Surface ได้ชัดเจนที่สุดคือคำว่า ‘Profound Grace’

ความรู้สึกประทับใจที่ลุ่มลึก ไม่ใช่ความสวยที่มองแล้วรู้สึกทันที แต่เป็นยิ่งมองยิ่งสวย

Ausara Surface Ausara Surface

“ถ้าถามเรื่องมิติของการออกแบบ สีสันและรายละเอียดอาจจะไม่ได้ดึงดูดในครั้งแรกที่เห็น หรือไม่ได้มีแพตเทิร์นที่เห็นแล้วรู้ทันที แต่สำคัญคือรายละเอียดที่ผสมผสานอยู่ระหว่างโลหะและเนื้อผ้า ทั้งจากที่แสงส่องผ่านและสะท้อนออกมา ปกติผมจะแขวนงานที่เสร็จแล้วไว้ที่ห้องแล้วยืนมองงานผ่านแสงที่เปลี่ยนเช้าจรดเย็น

ขณะที่ผลิตภัณฑ์บางประเภทใช้การวัดค่าความสวยงามเป็นจุดๆ ณ ตำแหน่งนี้ ภาพที่ถ่ายออกมาให้ความสวยงามอย่างไร แต่ Profound Grace เหมือนภาพวิดีโอ คือต้องดูอย่างต่อเนื่อง ค่อยๆ เดินผ่าน บางครั้งก็ดูอีกรอบพรุ่งนี้ว่าภาพที่เห็นเปลี่ยนไปหรือเปล่า” โชษณอธิบาย แววตาที่เขามองผ้าระหว่างเล่าทำให้เราหายข้อสงสัยในความ Profound Grace

“สิ่งหนึ่งที่ควรรู้ไว้เสมอ ในงานอินทีเรีย เราไม่ใช่นางเอก เราเป็นเพื่อนนางเอก หากจะต้องทำพรมที่เด่นกว่าโต๊ะในห้องหรือผ้าม่านที่เด่นกว่าประติมากรรมในห้องก็คงไม่ดี มันอาจจะมีสถานที่แบบนั้น แต่ในความเป็นจริงเราต้องยอมรับว่าเราไม่ใช่จุดนำสายตา” อาจารย์ปุ๊กเล่า ก่อนจะบอกว่าหลังออกแบบชิ้นงานทุกครั้ง เธอจะถามตัวเองเสมอว่า Profound Grace แล้วหรือยัง

บริหารและสื่อสารอย่างนักออกแบบ

หลักการบริหารธุรกิจฉบับนักเรียนออกแบบผู้ผ่านประสบการณ์ในสายงานนี้มายาวนาน บอกเราว่า จงเลือกใช้เงินกับธุรกิจอย่างมีเหตุมีผล

หนึ่ง ไม่มีโชว์รูม เพราะคนที่เข้าออกโรงแรมไม่ได้เป็นคนเลือกแต่เป็นอินทีเรียดีไซเนอร์

“เราตกลงร่วมกันแล้วว่าจะไม่ทำหน้าร้าน เพราะเรารู้กลุ่มลูกค้าของเราและกว่าครึ่งมาจากตลาดต่างประเทศ” โชษณเล่าเหตุผล

สอง ไม่ลงทุนกับเครื่องจักรใหญ่ จากบทเรียนธุรกิจในช่วง 15 – 20 ปีที่ผ่านมา

Ausara Surface

“เราเริ่มทำ R&D ช่วงที่โรงงานทอผ้าทยอยปิดตัวกันหลังจากที่ซบเซามานาน หลังจากแบรนด์ยักษ์ใหญ่ระดับโลกต่างถอนกำลังการผลิตย้ายไปประเทศเพื่อนบ้านในช่วง 15 – 20 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นโชคดีที่ทำให้โรงงานยอมทำ R&D ให้เรา ถ้าเป็นเมื่อก่อนคงไม่มีใครอยากรับงานเล็กขนาดนี้ ” อาจารย์ปุ๊กเล่า

“ระหว่างทางกังวลไหมว่าจะมาถูกทางหรือไม่ จะขายได้หรือเปล่า” เราถาม

“เรารู้ตั้งแต่ต้นแล้วว่าเรากำลังทำสิ่งที่ใหม่มากในตลาด ซึ่งถ้าใช้เกณฑ์ทางการตลาดทั่วไปหรือทำทดลองตลาดเราสอบตกแน่นอน เพราะไม่มีใครรู้จักมาก่อน แต่เราเห็นคุณค่าในงาน เรารู้ว่ายังไงก็มีตลาด” โชษณตอบก่อนหันกลับไปถามอาจารย์ปุ๊ก

“แต่เรากลับมั่นใจนะว่างานที่ออกมาต้องเลิศมากแน่ๆ” อาจารย์ปุ๊กยิ้ม

อะไรทำให้ทั้งคู่มั่นใจขนาดนี้ เราสงสัย

“ตอนที่เราเริ่มต้นและเห็นว่ามันยังไม่มีผู้เล่น เราก็ตั้งข้อสงสัยว่ามันต้องมีอะไรบางอย่างที่ทำให้นักธรุกิจหรือนักออกแบบไม่มาเล่นตลาดนี้ เพราะอนาคตข้างหน้าบ้านจะหลังเล็กลง พื้นที่ใช้สอยไม่ได้เยอะเหมือนแต่ก่อน เทกซ์ไทล์จึงจะเป็นความหวังใหม่ เพราะมันขยับได้ ยืดได้ หดได้ พับได้ ม้วนได้ ที่ผ่านมาผมทำเฟอร์นิเจอร์ชิ้นใหญ่ โต๊ะขนาดใหญ่ขยับครั้งหนึ่งต้องใช้แรงคนจำนวนมาก เป็นความไม่สบายใจระหว่างที่เห็นว่าอะไรบางอย่างมันขาดไป พอได้ทดลองหลายๆ งานที่ใกล้เคียงกัน เราก็รู้สึกมั่นใจว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งใหม่ที่เรากำลังมองหาอยู่ และเชื่อสัญชาตญาณ ก่อนหน้านี้เคยปรึกษาหลายๆ คนว่าของแบบนี้จะขายได้ไหม ไม่มีใครเชื่อเลยว่าจะทำได้ เพราะไม่มีคนรู้จักเลย” โชษณตั้งคำถาม และพบว่าองค์ความรู้เรื่องนี้มีอยู่น้อย คนทั่วไปนึกภาพการใช้งานไม่ออก

Ausara Surface

ดังนั้น แทนที่จะขายผ้าเพียงอย่างเดียว โชษณจึงมาพร้อมบริการติดตั้ง จนลูกค้าซึ่งเป็นนักออกแบบและมัณฑนากรเข้าใจและติดใจทำให้ธุรกิจเติบโตเรื่อยมา

“ส่วนหนึ่งเพราะพวกเรามีพื้นฐานงานออกแบบจึงคุยกับนักออกแบบอย่างเข้าใจกัน แม้เรื่องยากๆ อย่างการอธิบายภาพในหัว ซึ่งเขาทำท่าว่าเขาอยากได้งานแบบนี้ (ทำมือไหลๆ พลิ้วๆ) ผมก็ตอบเป็นแบบนี้ดีไหมครับ (ทำมือไหลๆ ตอบ) สุดท้ายก็ตอบโอเค แต่ขอเพิ่มตรงนี้เป็นแบบนี้หน่อยนะ (พร้อมทำมือพลิ้วๆ) เพื่อกระจายลมไปส่วนของทางเข้าอาจจะต้องบิดเกลียวนิดหนึ่ง เป็นต้น”

ให้ค่ากับความงามที่มองเห็นมากกว่าจะเรียกร้องว่าเป็นใคร มาจากไหน

“เราคือ Material Designer เหมือนเชฟที่ดูวัตถุดิบว่าควรจะออกแบบให้เป็นอะไร แล้วสรรหาวิธีที่จะใช้มันให้ดีที่สุด” เชฟผู้คิดค้นการถักทอเหล็กอธิบาย

แทนที่จะเป็นผ้าทอจากฝ้าย วัตถุดิบที่ Ausara Surface ใช้ได้แก่โลหะพื้นฐานอย่างทองแดง ทองเหลือง ดีบุก สินแร่พวก หินบะซอลต์ คาร์บอนไฟเบอร์ และเคฟลาร์ (Kevlar)

“สมัยก่อนเรามักจะเจองานรีไซเคิลที่ฝืนๆ หน่อย ขยะดูแล้วยังเป็นขยะอยู่ แต่แนวทางของเรา ต่อให้มาจากขยะก็ยังต้องดูแล้วสวย สวยแบบค่อยๆ สวย ค่อยๆ มีความรู้สึกกับมัน ทั้งหน้าตา จังหวะจะโคน มีความรู้สึก มีผิวสัมผัส เราเน้นสิ่งนี้มากกว่าจะบอกใครว่านี่มาจากขยะ” โชษณเล่าเมื่อเราถามถึงที่มาของวัสดุที่ดูสนุกไปทุกแบบ เช่น ผ้า Horse Hair ที่ทอจากผ้าคาร์บอนไฟเบอร์จากเข็มขัดคาดนิรภัยเก่า

Ausara Surface Ausara Surface

“เหล็กในโลกนี้เป็นของรีไซเคิลอยู่แล้วตั้งแต่โบราณ น้อยคนจะรู้ว่าเหล็กที่ใช้กันทุกวันนี้มาจากการหลอมแล้วผลิตขึ้นใหม่ตลอดเวลา” อาจารย์ปุ๊กเล่า ซึ่งต่อให้ใช้วัสดุแบบไหนก็ยังคงให้ความรู้สึก Profound Grace อยู่ และไม่ใช่ Grace แบบเย่อหยิ่ง แต่ Elegance หรืองดงาม

แม้จะเป็นสินค้าเฉพาะกลุ่มมาก แต่ Ausara Surface ก็ได้รับการตอบรับที่ดีจากตลาดในประเทศ ซึ่งส่วนมากเป็นอาคารสถานที่ในอุตสาหกรรมการให้บริการเช่น โรงแรม ร้านอาหาร โรงภาพยนตร์ โดยเฉพาะอสังหาริมทรัพย์ที่เลือกใช้เกือบจะทุกโครงการ เพราะเจ้าของโครงการต่างอยากได้สิ่งที่แตกต่าง ส่งเสริมให้เกิดมิติใหม่ๆ ซึ่งทั้งผ้าและวัสดุตกแต่งผนังของ Ausara Surface ตอบโจทย์นี้

ขณะที่ตลาดต่างประเทศกำลังเติบโตไปได้สวย มีตัวแทนจำหน่ายอยู่ที่ลอนดอน นิวยอร์ก แคลิฟอร์เนีย ชิคาโก และสิงคโปร์ ซึ่งทั้งคู่อยากให้ Ausara Surface เติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไปเพื่อจะได้จดจ่อกับงานสร้างสรรค์มากกว่าคิดขยับขยายไปต่างประเทศจนเกินตัว

ผืนผ้าจากวัสดุพิเศษที่เตรียมต่อยอดไปสู่ชุมชน

ความตั้งใจต่อไปในอนาคตทั้งอาจารย์ปุ๊กและโชษณตั้งใจถ่ายทอดเทคนิคการทอผ้าด้วยวัสดุพิเศษเหล่านี้ไปยังชุมชนหมู่บ้านต่างๆ เพื่อกระจายกำลังการผลิตและหวังจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวบ้าน

“นอกชีวิตในเมืองที่เราคุ้นเคยยังมีคนอีกจำนวนมากซึ่งเป็นส่วนใหญ่ของประเทศนี้เป็นเกษตรกร ซึ่งนอกเหนือฤดูการทำสวนไร่นาเขายังทอผ้าหรือทำงานหัตถกรรมกันอยู่เยอะมากนะ โดยเฉพาะคนรุ่นยาย รุ่นป้า เด็กสุดที่เราเจอคืออายุ 40 ปี ไม่ค่อยเจอคนที่อายุน้อยกว่านั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการทอผ้าไม่ตอบรับชีวิตสมัยใหม่ ซึ่งเราไม่อาจเปลี่ยนความคิดนั้นได้

Ausara Surface Ausara Surface

“เราทำงานอยู่กับศิลปะ หัตถกรรมที่เป็นองค์ความรู้ดั้งเดิมของประเทศ วันหนึ่งเราก็หวังว่าเราจะส่งต่องานของเราให้ชาวบ้านในชุมชนทดลองทอผ้าของเราต่อไป ซึ่งเป็นโจทย์ที่เรากำลังคิดหาวิธีที่จะทำให้ทุกฝ่ายทำงานง่ายที่สุด สำคัญคือต้องเปลี่ยนภาพจำว่างานหัตถกรรมแบบนี้สนุก มีคุณค่า และไม่ขัดกับวิถีชีวิตแบบใหม่จนเกินไป” อาจารย์ปุ๊กเล่า ก่อนจะส่งต่อให้โชษณทิ้งท้ายคำแนะนำสำหรับใครก็ตามที่อยากเริ่มต้นทำธุรกิจจากสิ่งที่รักและสนใจ

“ส่วนหนึ่งที่ทำให้การดำเนินธุรกิจค่อนข้างราบรื่นเป็นเพราะเราตั้งบริษัทในวันที่เราอยู่วงการนี้มาระยะหนึ่งแล้ว พวกเราอาจจะเป็นคนรุ่นเก่าที่เชื่อว่าทำงานก่อน ทำงานให้เยอะๆ แล้ววันหนึ่งจะรู้เองว่าอยากทำงานอะไร จริงๆ ไม่มีถูกหรือผิดหรอกขึ้นกับวิถีชีวิตของแต่ละคน

“คำแนะนำที่พอจะให้ได้คือ จงเลือกทำงานที่หาทำได้ยากที่สุด แต่ทำได้ในช่วงนี้ ช่วงที่อายุยังน้อยๆ ก่อน จะเงินน้อย เหนื่อย และหนัก แค่ไหนก็ตามจงทำก่อนที่โตแล้วจะทำงานแบบนั้นไม่ได้ ทำฟรีบางทีก็ต้องทำ ในต่างประเทศการทำงานฟรีช่วงที่เรียนจบใหม่ๆ เป็นเรื่องปกติมากในสายงานสร้างสรรค์ หาประสบการณ์ให้เต็มหลังจากนั้นถนนจะเคลียร์เอง” โชษณทิ้งท้าย

Ausara Surface

The Rules

โชษณ ธาตวากร Managing Director
  1. เชื่อในสัญชาตญาณ
  2. ใช้เงินกับธุรกิจอย่างมีเหตุมีผล
  3. ค่าของคนอยู่ที่ผลของงาน

 

จารุพัชร อาชวะสมิต Creative Director
  1. เข้าใจธรรมชาติของตัวเอง
  2. รู้ลิมิตของตัวเอง
  3. แยกแยะเรื่องงานกับเรื่องส่วนตัว

 

ausarasurface.com

ขอบคุณสถานที่: ASHTON สีลม

Writer

นภษร ศรีวิลาศ

นภษร ศรีวิลาศ

บรรณาธิการธุรกิจ The Cloud 4.0 แม่บ้านและฝ่ายจัดซื้อจัดหานิตยสารประจำร้านก้อนหินกระดาษกรรไกร ผู้ใช้เวลาก่อนร้านเปิดไปลงเรียนตัดเสื้อ สานฝันแฟชั่นดีไซเนอร์ในวัย 33 ปัจจุบันเป็นแม่ค้าที่ทำเพจน้องนอนในห้องลองเสื้อบังหน้า ซึ่งอนาคตอยากเป็นแม่ค่ะ

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล