เช้าวันนั้น เรานั่งอยู่หน้าพิพิธภัณฑ์ MOCA (Museum of Contemporary Art) รอจนกว่าเข็มนาฬิกาจะบอกเวลา 10 โมงตรง ซึ่งเป็นเวลาเปิดทำการให้ผู้คนเข้าไปชมงานได้ ระหว่างซึมซับบรรยากาศอันร่มรื่นของพิพิธภัณฑ์ มองไปรอบ ๆ ก็พบว่าเราไม่ใช่คนเดียวที่กำลังรอ แต่ยังมีนักท่องเที่ยวทั้งฝรั่งและชาวจีนอีกจำนวนไม่น้อยที่มาร่วมรอชมนิทรรศการเดียวกันกับเรา

นิทรรศการที่ว่าคือนิทรรศการ ‘Reincarnation’ สร้างสรรค์โดย Jacky Tsai หรือ แจ็คกี้ ไซ ศิลปินชาวจีนผู้ค้นพบความฝันของตัวเองในลอนดอน โดยผลงานอันโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของเขามักประกอบไปด้วย 2 สิ่งนี้เสมอ

หนึ่ง ตะวันออกผสมตะวันตก (East meets West)

สอง หัวกะโหลก (Skull)

Jacky Tsai ศิลปินจีนผู้พบความฝันในลอนดอน กับนิทรรศการผสมความเป็นไทยครั้งแรกที่ MOCA
Jacky Tsai ศิลปินจีนผู้พบความฝันในลอนดอน กับนิทรรศการผสมความเป็นไทยครั้งแรกที่ MOCA

เมื่อประตูพิพิธภัณฑ์เปิดออก สิ่งแรกที่เห็นเมื่อเราก้าวเท้าเข้าไป คือภาพหัวกะโหลกขนาดใหญ่แขวนไว้ที่ผนัง เราลองสังเกตดี ๆ ภาพหัวกะโหลกที่แกะสลักมาอย่างประณีตนั้นมีลายเส้นคล้ายผนังวัดบ้านเรา อีกทั้งยังมีส่วนประกอบที่น่าสนใจ คือการใส่ตัวละครคอมมิกอาร์ตเข้ามาในภาพเขียนไทยประเพณี สัมผัสได้ถึงความแปลกใหม่ในแบบที่ไม่เคยเห็นใครทำมาก่อน 

เวลาผ่านไปไม่นาน แจ็คกี้ ไซ (Jacky Tsai) เจ้าของผลงานก็ปรากฏตัวหน้าภาพหัวกะโหลกนั้น เขาหยุดมองมันสักพักด้วยความภูมิใจ จนทำเอาเราสงสัยว่ามีอะไรอยู่เบื้องหลังงานเหล่านี้บ้าง

Jacky Tsai ศิลปินจีนผู้พบความฝันในลอนดอน กับนิทรรศการผสมความเป็นไทยครั้งแรกที่ MOCA

คอลัมน์ In Design วันนี้ เราจะพาทุกคนไปรู้จักทั้งความเป็นตะวันออก-ตะวันตก หัวกะโหลก และตัวตนของแจ็คกี้ ไซ ผ่านการชมนิทรรศการคุณภาพดีไปด้วยกัน

จากไปลอนดอน

“ถ้าอยู่จีนต่อ ผมคงเป็นแค่กราฟิกดีไซเนอร์ธรรมดาคนหนึ่ง” 

แจ็คกี้ ไซ เกิดและเติบโตในเมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน เขารู้ตัวเองมาตั้งแต่เด็กว่าชื่นชอบศิลปะ ทว่าเมื่อเวลาผ่านไป เขากลับพบว่าสภาพแวดล้อมในบ้านเกิดเมืองนอนไม่เอื้ออำนวยให้เขาเติบโตในเส้นทางสายนี้ สิ่งเหล่านี้จึงจุดประกายความคิดการไปเรียนต่อต่างประเทศของแจ็คกี้

แล้วความคิดนี้ก็พาเขามาเหยียบผืนแผ่นดินที่ไม่ใช่บ้านเกิดเมืองนอนเป็นครั้งแรก

Jacky Tsai ศิลปินจีนผู้พบความฝันในลอนดอน กับนิทรรศการผสมความเป็นไทยครั้งแรกที่ MOCA

“ผมไม่เคยไปต่างประเทศมาก่อนเลย อังกฤษเป็นที่แรก ส่วนสาเหตุที่เลือกที่นี่ เป็นเพราะอังกฤษเป็นต้นกำเนิดของ Pop Art ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมชอบ”

แต่แน่นอนว่าการเป็นคนเอเชียในประเทศต่างแดน ย่อมไม่ง่าย ปัญหาหลักที่แจ็คกี้เจอคือกำแพงภาษา เพราะเขาต้องเรียนเป็นภาษาอังกฤษ แม้ตัวเองจะพูดภาษาอังกฤษไม่ได้เลย ทั้งยังต้องเจอวัฒนธรรมที่แตกต่างและไม่เคยชิน แต่เขาเล่าเสริมว่า เมื่อถึงจุดหนึ่งที่ปรับตัวได้ ทุกอย่างก็ง่ายดาย ดังนั้น หากให้ย้อนเวลากลับไปตัดสินใจใหม่ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เขาก็เลือกที่จะมาลอนดอนอยู่ดี

Jacky Tsai ศิลปินจีนผู้พบความฝันในลอนดอน กับนิทรรศการผสมความเป็นไทยครั้งแรกที่ MOCA
Jacky Tsai ศิลปินจีนผู้พบความฝันในลอนดอน กับนิทรรศการผสมความเป็นไทยครั้งแรกที่ MOCA

แจ็คกี้เลือกเรียนสาขาวิชาเกี่ยวกับดีไซน์ ทำงานเกี่ยวกับดีไซน์ และมีความตั้งใจจะเป็นดีไซเนอร์ แต่พอทำงานไปได้สักระยะหนึ่ง เขาก็พบว่าสิ่งที่เขากำลังทำอยู่ กลับไม่ใช่สิ่งที่ตัวเขาอยากเป็น

“ตอนนั้นผมพยายามจะเป็นดีไซเนอร์นะ แต่ไม่สำเร็จ เพราะไม่ชอบทำงานให้คนอื่น อยากทำงานให้ตัวเองมากกว่า หลังจากนั้นเลยลาออกมาเริ่มสร้างงานศิลปะของตัวเองเลย ส่วนเรื่องเงินช่างมันไปก่อน (หัวเราะ)” 

เราถามต่อว่า แล้วจุดไหนที่ทำให้รู้ว่าอยากสร้างงานศิลปะมากกว่า เมื่อสิ้นเสียงคำถามนั้น แจ็คกี้ก็ตอบเราทันที ด้วย 1 ประโยคสั้น ๆ ได้ใจความว่า

“Self expression is the key” เพราะศิลปะทำให้แจ็คกี้แสดงตัวตนของเขาได้นั่นเอง

Jacky Tsai ศิลปินจีนผู้พบความฝันในลอนดอน กับนิทรรศการผสมความเป็นไทยครั้งแรกที่ MOCA

และตัวตนที่แจ็คกี้ว่า ก็นำพาเขามาสู่ ‘East meets West’ แปลง่าย ๆ คือเมื่อวัฒนธรรมตะวันออกเจอวัฒนธรรมตะวันตก เหมือนกับแจ็คกี้ที่เป็นคนจีนแท้ ๆ มาพบเจอกับคนต่างถิ่น ผมคนละสี พูดคนละภาษากับเขา 

“คอนเซปต์นี้มาจากการที่ผมอยู่ในลอนดอน ได้ซึมซับสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรมของตะวันตกไปโดยปริยาย แต่ยังไงผมก็เป็นคนจีน เพราะฉะนั้น ในแต่ละวันผมได้เจอความขัดแย้งทางวัฒนธรรมอยู่เรื่อย ๆ พูดคนละภาษา คิดคนละแบบ แค่ภาชนะที่ใช้กินอาหารยังไม่เหมือนกันเลย” เขาหัวเราะ

“ผมคงไม่กลับจีนหรอก เพราะ East meets West คือตัวตนของผม” 

เขายังคงยืนกรานด้วยน้ำเสียงอย่างหนักแน่นว่า การ ‘จากไปลอนดอน’ คือทางเลือกที่ควรจะเป็นเสมอมาและเสมอไป

Jacky Tsai ศิลปินจีนผู้พบความฝันในลอนดอน กับนิทรรศการผสมความเป็นไทยครั้งแรกที่ MOCA

เกิด แก่ เจ็บ ตาย เกิดใหม่

ตัดภาพกลับมาที่โต๊ะสนทนาแห่งหนึ่งในพิพิธภัณฑ์ MOCA เราพูดคุยกับแจ็คกี้เรื่องการจัดนิทรรศการครั้งแรกในไทยถึงคอนเซปต์ ‘เกิดใหม่’ และการมาเยือนประเทศไทยครั้งที่… (เขาเองก็จำไม่ได้)

“ผมมาไทยบ่อย เพราะเป็นประเทศพักเครื่องก่อนไปฮ่องกง ผมสะดุดตากับศิลปะไทยในสนามบิน (หัวเราะ) ในสนามบินนี่แหละ พอมาบ่อย ๆ เข้า ก็รู้สึกว่าอยากทำอะไรจริงจังบ้างแล้ว ไม่อยากมาแบบเสียเวลาเปล่า แล้วเผอิญว่ามีเพื่อนในประเทศไทยอยู่บ้าง เขาก็แนะนำให้เรารู้จักกับ MOCA เลยตกลงกันได้ว่าจะมาทำนิทรรศการ เลยเป็นจุดเริ่มต้นของนิทรรศการนี้ ตลกดีที่มันมาจากแค่การพักเครื่อง”

แล้วเหตุการณ์เล็ก ๆ ที่ว่าก็เป็นเหตุให้เขาบินลัดฟ้ามาเยือนประเทศไทย (แบบที่ไม่ใช่แค่พักเครื่องแล้ว)

Jacky Tsai ศิลปินจีนผู้พบความฝันในลอนดอน กับนิทรรศการผสมความเป็นไทยครั้งแรกที่ MOCA

แล้วทำไมนิทรรศการนี้ ถึงมีชื่อว่า Reincarnation – เราถามต่อด้วยความสงสัย

“เพราะทุกอย่างคือการเกิดใหม่ ทุกอย่างคือการเริ่มต้นใหม่ อย่างหัวกะโหลกในงานของผมก็คือการเกิดใหม่จากความตาย” 

แจ็คกี้เล่าให้เราฟังเพิ่มเติมว่า การเกิดใหม่ที่เขาหมายถึงนั้นก็มาจากหลักพระพุทธศาสนานี่แหละ แต่นอกเหนือจากนี้ เขายังเปรียบเทียบถึงสัดส่วนอื่น ๆ ของชีวิตด้วยเช่นกันว่า มนุษย์เราต้องเริ่มต้นใหม่อยู่ตลอดเวลา ยกตัวอย่างง่าย ๆ อย่างสถานการณ์โควิดที่คนทั้งโลกเผชิญนั้น วันหนึ่งก็ต้องอาศัยการเกิดใหม่ การรักษา การพึ่งพา และกลับมาใช้ชีวิตอีกครั้งในโลกที่เปลี่ยนไป

Jacky Tsai ศิลปินจีนผู้พบความฝันในลอนดอน กับนิทรรศการผสมความเป็นไทยครั้งแรกที่ MOCA
Jacky Tsai ศิลปินจีนผู้พบความฝันในลอนดอน กับนิทรรศการผสมความเป็นไทยครั้งแรกที่ MOCA

หากสังเกตดี ๆ เราพบว่าผลงานส่วนมากในนิทรรศการครั้งนี้สร้างขึ้นภายใต้เซตติ้ง ‘สถานการณ์โควิด’ ไม่ว่าจะเป็นการใส่วัคซีนหรือแคปซูลเข้าไปในภาพ ช่วงเวลาในการผลิตผลงานก็ตรงกับช่วงที่โรคร้ายกำลังแพร่ทำลายโลก 

ในขณะที่คนส่วนมากหมดแรงบันดาลใจเพราะต้องหมกตัวอยู่แต่บ้าน กลับกัน สถานการณ์นี้กลายเป็นจุดเริ่มต้นไอเดียใหม่ ๆ สำหรับแจ็คกี้ เรียกได้ว่าเป็นการพลิกวิกฤตเป็นโอกาสโดยไม่ได้ตั้งใจ

“ก่อนโควิด เราก็อยู่แต่ในที่เดิม ๆ ไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลง แต่พอล็อกดาวน์ปุ๊บ ชีวิตผมเปลี่ยนไป วิถีชีวิตก็เปลี่ยนใหม่ มันทำให้ผมค้นพบไอเดียต่าง ๆ เยอะมากระหว่างกักตัว”

อาจไม่ใช่ทุกคนที่จะค้นพบไอเดียใหม่ ๆ ในช่วงเวลาที่ไม่เอื้ออำนวย แต่อย่างน้อย แจ็คกี้ก็ทำให้เราเห็นแล้วว่า ศิลปินผู้ใช้หัวใจนำทางอย่างเขา ‘เกิดใหม่’ ได้ทุกเมื่อ

4 ผลงาน เล่าผ่านนิทรรศการ Reincarnation

01 Bangkok Skull

หัวกะโหลกใหญ่ยักษ์ที่เราเห็นกัน เป็นงานที่สร้างสรรค์ขึ้นมาใหม่สำหรับการจัดแสดงที่กรุงเทพฯ โดยเฉพาะ และดูเป็นภาพที่แจ็คกี้ภูมิใจอยู่ไม่น้อย เพราะระหว่างเราพูดคุยกัน เขาผุดลุกผุดนั่งแวะไปบันทึกภาพเจ้าหัวกะโหลกยักษ์กับผู้มาเยี่ยมชมอยู่หลายครั้ง 

Jacky Tsai ศิลปินจีนผู้พบความฝันในลอนดอน กับนิทรรศการผสมความเป็นไทยครั้งแรกที่ MOCA

“จริง ๆ การทำงานหัวกะโหลกไม่ง่ายเลย เพราะผมอยากทำให้มันดีขึ้นทุกครั้ง บางครั้งก็รู้สึกว่าคงทำดีไปกว่านี้ไม่ได้แล้ว แต่สำหรับ Bangkok Skull มันเปลี่ยนไป เพราะตอนได้มาไทย ไอเดียต่าง ๆ พรั่งพรูเข้ามา จนทำให้เราสร้างหัวกะโหลกที่แตกต่างจากครั้งก่อนได้

“ถือว่าเป็นหัวกะโหลกที่ใหญ่ที่สุดเลยแหละ ผมใส่ส่วนประกอบที่มีความเป็นไทยลงไปด้วย ทั้งวัดวาอารามหรือนางรำ ถือว่าเป็นงานที่ผสมความเป็นตัวผมกับความเป็นไทยเข้าด้วยกัน”

ความเป็นไทยที่ว่า แจ็คกี้เรียนรู้จากกำแพงสนามบิน แล้วไปศึกษาต่อเองจากผนังวัด มากไปกว่านั้น เขายังใส่ความเป็น East meets West ลงไปผ่านตัวละครคอมมิกอาร์ตที่รายล้อมอยู่รอบ ๆ หัวกะโหลก เขาต้องการสร้างผลงานทุกชิ้นให้ดูสนุกสนานและมีชีวิตชีวา 

เนื่องจากส่วนประกอบของภาพหัวกะโหลกดูหลากหลายจนไม่อยากเชื่อว่าเอามารวมกันเป็นภาพเดียวได้ เราจึงขอให้แจ็คกี้อธิบายถึงแต่ละส่วนประกอบที่ผสมปนเปกันอยู่ แต่คำตอบกลับทำให้เราเข้าใจความเป็นศิลปินในตัวเขามากขึ้น เพราะเขาตอบเรามาว่า

“No, I can’t explain” พร้อมกับเสียงหัวเราะส่งท้าย

แจ็คกี้ให้เหตุผลว่า เขาอยากให้ผู้ชมผลงานตีความเรื่องราวของภาพตามความเข้าใจของตัวเอง ไม่มีผิดหรือถูก แค่มองแล้วรู้สึกอะไร นั่นก็คือสิ่งที่ภาพนั้นเป็น 

02 The Dance

ทุกคนน่าจะคุ้นเคยกับภาพกลุ่มคนจับมือกันเป็นวงกลมเป็นอย่างดี เพราะผลงานชิ้นนี้ แจ็คกี้สร้างจากภาพ The Dance ของศิลปินระดับตำนานอย่าง Henri Matisse

“เป็นการจัดวางแบบเดียวกัน คนก็อยู่ในตำแหน่งเดียวกัน แต่ที่แตกต่างออกไป คืองานของผมมีวัคซีนอยู่ตรงกลาง”

เนื่องด้วยเซตติ้งที่ต่างยุคต่างสมัยจากผลงานต้นฉบับ แจ็คกี้จึงใส่ลูกเล่น ผสมกับเอกลักษณ์ของตัวเองลงไป เพราะนอกเหนือจากกระปุกวัคซีนตรงกลาง คนที่เต้นรำล้อมรอบก็มีพื้นเพที่แตกต่างกันด้วย

“แต่ละคนมาจากวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน อย่างคนนั้นเป็นคนญี่ปุ่น คนนั้นเป็นวันเดอร์วูแมน อีกคนเป็นอัศวินอังกฤษ ทุกคนมาจากหลากหลายพื้นที่ แต่มารวมตัวกันเพื่อเฉลิมฉลองให้กับสิ่งเดียวกัน นั่นก็คือวัคซีน”

แจ็คกี้เล่าเสริมว่า การสร้างผลงานชิ้นนี้ ใช้เทคนิคการสเปรย์สีลงบนผืนผ้าใบ แต่เขาไม่ได้ทำเพียงคนเดียว เพราะยังมีลูกทีมอีก 4 – 5 คน ที่เขาเชื่อใจ พร้อมจะทุ่มเททำงานนี้ไปด้วยกัน

“เนื่องจากเป็นงานที่ใช้เทคนิคเฉพาะทางมาก จึงต้องอาศัยเวลา อาศัยจำนวนคน ถ้าผมทำคนเดียว ชาตินี้น่าจะยังไม่เสร็จ” เขาหัวเราะ

“นอกจากดูด้วยตาเปล่า ผมทำเวอร์ชัน AR ไว้ด้วยนะ สแกน QR Code ใต้ภาพได้” 

แจ็คกี้เล่าให้เราฟังว่า เขาพยายามทดลองใช้สื่อใหม่ ๆ ในการนำเสนอศิลปะอยู่เสมอ งาน The Dance ก็เช่นเดียวกัน ฉะนั้น หากใครมาเยี่ยมชมนิทรรศการ อย่าลืมแวะมาชมภาพและสแกน QR Code ให้คุ้มค่าเวลาที่แจ็คกี้กับลูกทีมทุ่มเทลงไปด้วยนะ!

03 Parody of Jay’s Music

“งานนี้ใช้เวลาทำ 1 ปี” 

ฟังไม่ผิดหรอก แต่ 1 ปี เลยเหรอ!

Parody of Jay’s Music เป็นงานที่เขาทำร่วมกับนักร้อง-นักแต่งเพลงชาวไต้หวันชื่อดัง นามว่า เจย์ โชว โดยเนื้อหาในภาพจะเป็นการเล่าถึงเพลง มิวสิกวิดีโอ และภาพยนตร์ต่าง ๆ ของเจย์ โชว ซึ่งนับว่าเป็นงานที่แจ็คกี้ต้องอาศัยการพูดคุยสื่อสารอยู่ตลอดเวลา เพื่อผลลัพธ์และความเข้าใจที่ตรงกัน

“งานนี้เรียกได้ว่าเหนื่อยสุด ๆ หลังจากทำงานนี้เสร็จ ผมไม่อยากทำงานอะไรแล้ว (หัวเราะ) แถมเป็นงานขนาดใหญ่ เรียกว่าใหญ่สุดเท่าที่เคยทำมา แต่พอเห็นมันได้แสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์จริง ๆ ก็ภูมิใจนะ”

เราที่ยืนอยู่หน้าภาพนั้น ขอช่วยการันตีให้ว่าภาพมันใหญ่มหึมาอย่างที่แจ็คกี้ว่าจริง ๆ ใหญ่ขนาดที่ว่าต้องขยับถอยหลังไปกี่ก้าวก็ไม่รู้ถึงจะมองภาพทั้งหมดได้ ทว่ารายละเอียดในตัวงานสวยงามและประณีต อีกทั้งยังสังเกตเห็นถึงการใส่ตัวละครจีนและตัวละครคอมมิกอาร์ตลงไปในงาน ตามแบบฉบับของแจ็คกี้ ไซ

แล้วถ้าหากมีโอกาสได้ร่วมทำงานกับศิลปินอีก คุณอยากร่วมงานกับศิลปินคนไหน – เราถามเพิ่ม

“ไม่ทำแล้ว เหนื่อย” แจ็คกี้เล่าไป หัวเราะไป เราเองก็หัวเราะเช่นกัน

04 Tiger Express

“ผมอยากให้นิทรรศการนี้มีรถไฟ ผมก็แค่สร้างมันขึ้นมา”

แจ็คกี้เล่าให้เราฟังด้วยน้ำเสียงเรียบเฉย ราวกับว่ารถไฟที่ว่าเป็นเพียงรถไฟของเล่น แต่ที่ไหนได้ มันคือรถไฟจำลองที่มีขนาดเท่ารถไฟจริง

“ผมอยากสร้างรถไฟ เพราะจำได้ว่าครั้งแรกที่ผมมาไทย ผมก็ได้นั่งรถไฟ เหมือนมันพาให้นึกถึงความทรงจำเก่า ๆ ที่มีต่อกรุงเทพฯ”

นอกเหนือจากจะเป็นการผูกโยงความทรงจำผ่านงานศิลปะแล้ว แจ็คกี้มีความตั้งใจที่จะสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์เสือโคร่งผ่านรถไฟขบวนนี้ด้วย เนื่องจาก Tiger Express เป็นงานที่ร่วมมือทำกับองค์กรด้านการอนุรักษ์ระดับโลกอย่าง Save Wild Tigers ฉะนั้น จึงถือได้ว่า นอกจากเป็นงานศิลปะที่ทำให้ผู้คนทั่วไปจรรโลงจิตใจแล้ว ยังช่วยเป็นกระบอกเสียงให้สังคมได้อีกด้วย

ใครมาชมนิทรรศการก็อย่าลืมแวะมาทักทายเจ้ารถไฟเสือโคร่งขบวนนี้ด้วยนะ

NOT A WORK BUT ‘A LIFELONG HOBBY’

เราเชื่อว่าไม่ว่าจะทำงานอะไร มนุษย์อย่างเรา ๆ ก็คงหนีไม่พ้นปัญหาหมดไฟอย่างแน่นอน 

แต่แจ็คกี้ทำให้รู้ว่าเราคิดผิด เพราะเขาไม่เคยเผชิญปัญหานั้น และคงไม่มีวันได้เผชิญในอนาคตเช่นกัน

“ผมไม่เคยเบื่อการสร้างศิลปะเลย อาจเพราะผมไม่ได้มองเป็นอาชีพ แต่คือชีวิตของผม มันคืองานอดิเรกระยะยาว ถ้าคืองาน เราก็ต้องเกษียณ แต่เราจะเกษียณไปทำไมถ้าสิ่งนี้ทำให้เรามีความสุข” 

เฉกเช่นเดียวกับ East meets West ที่ไม่มีวันหมดไป เพราะแจ็คกี้ไม่ได้มองว่ามันเป็นเพียงคอนเซปต์งานสำหรับการสร้างศิลปะ แต่เขามองว่าคือตัวตน ตราบใดที่เขายังเป็นศิลปินจีนในลอนดอน เขาก็จะพบเจอ East meets West ได้ในทุก ๆ วัน

“หลังจากนี้คงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมาก นอกจากจะดีขึ้นเรื่อย ๆ ในแต่ละชิ้นที่ผลิตออกมา” เขายิ้ม

แล้วคิดว่าตัวเองจะประสบความสำเร็จถึงจุดนี้บ้างมั้ย – เราถามคำถามสุดท้ายก่อนจากกัน

“ไม่เคยคาดหวังว่าจะมาถึงจุดนี้ เพราะถ้าคาดหวัง ก็คงมาไม่ถึงหรอก เพราะมันแปลว่าเรากดดันตัวเองมากไปจนหมดสนุก ตอนนั้นคิดแค่ว่าอยากทำ เราก็แค่ทำ

“เพราะศิลปะคือการทำตามหัวใจ” แจ็คกี้ยิ้มหลังพูดจบ

ตราบใดที่แต่ละวันของแจ็คกี้ยังคงดำเนินไป เราเชื่อว่าเขาก็พร้อมสร้างสรรค์ผลงานออกมาได้ไม่รู้จบ เพราะเขาทำมันด้วยใจรัก

สุดท้ายนี้ หลังจากที่เราพาทุกคนเดินจนครบจบนิทรรศการ เราเชื่อว่าทุกคนคงได้อะไรกลับไปมากกว่าแค่เรื่องราวบนผืนผ้าใบแน่นอน

ภาพ : Artsper Magazine

Writer

วรรณิกา อุดมสินวัฒนา

วรรณิกา อุดมสินวัฒนา

ติดบ้าน ชอบดื่มชา เล่นกีฬาไม่ได้เรื่อง

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ