28 พฤศจิกายน 2020
3 K

The Cloud x KIATNAKIN PHATRA

รู้ไหม นักประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่า ชื่อ ‘บางกอก’ ถูกตั้งตามลักษณะพื้นที่ซึ่งเต็มไปด้วยต้นมะกอกน้ำริมเจ้าพระยาในอดีต 

มองย้อนกลับไปในหน้าประวัติศาสตร์ ต้นไม้คือหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญที่อยู่คู่กับการก่อร่างสร้างกรุงรัตนโกสินทร์มาตั้งแต่แรกเริ่ม ดังนั้น นอกจากศิลาจารึก โบราณวัตถุ และสถาปัตยกรรมเก่าแก่ทรงคุณค่าแล้ว เราเรียนรู้ประวัติศาสตร์ผ่านการเติบโตและคงอยู่ของต้นไม้ได้เช่นกัน

วันเวลาล่วงเลย จากเวนิสตะวันออกที่เต็มไปด้วยคูคลอง สู่เมืองบกที่การพัฒนารุดหน้าและเติบโต ต้นไม้โบราณที่เติบโตมาพร้อมกับเมืองหลงเหลืออยู่น้อยแทบจะนับต้นได้ เราจึงชักชวนผู้อ่านร่วมแกะรอยประวัติศาสตร์ ผ่านการเยี่ยมชมต้นไม้ใหญ่ที่ตั้งตระหง่านผ่านร้อนหนาวมานับร้อยปี ในย่านเก่าแก่ที่เปี่ยมไปด้วยเรื่องราวการผันเปลี่ยนวิถีวัฒนธรรมไปตามยุคสมัย ภายในคลองรอบกรุง ในทริป Walk with The Cloud 27 : Island of Heritage Trees เมื่อวันเสาร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

จากความตั้งใจของ The Cloud และกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ร่วมด้วย BIG Trees กลุ่มคนที่ต้องการสร้างความเข้าใจเรื่องการสร้างพื้นที่สีเขียวที่ยั่งยืนให้กับเมือง โดยเราได้ ดร.พรธรรม ธรรมวิมล ผู้อำนวยการกลุ่มภูมิสถาปัตยกรรม สำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร ดร.วิภากร ธรรมวิมล ที่ปรึกษาและอดีตนายกสมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย ชนัตฎา ดำเงิน รุกขกร อรยา สูตะบุตร และ สันติ โอภาสปกรณ์กิจ ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม BIG Trees มาเป็นวิทยากรประจำทริป

แม้สายฝนจะโปรยปรายลงมาตลอดทั้งวัน แต่ก็ไม่ได้ทำให้ความรู้ ตลอดจนบรรยากาศและความสนุกสนานของทริปลดน้อยลงเลย เตรียมหมวกและน้ำดื่มให้พร้อม นี่คือ 20 เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่น่าสนใจของชิ้นส่วนทางประวัติศาสตร์จากอดีต ที่มีลมหายใจและเติบโตมาพร้อมกับเมืองจนถึงปัจจุบันไปพร้อมกัน

01 

15 วิวัฒนาการบางกอกผ่านการเติบโตและคงอยู่ของคุณปู่ ต้นไม้รอบเกาะรัตนโกสินทร์, Walk with The Cloud 27 : Island of Heritage Trees
15 วิวัฒนาการบางกอกผ่านการเติบโตและคงอยู่ของคุณปู่ ต้นไม้รอบเกาะรัตนโกสินทร์, Walk with The Cloud 27 : Island of Heritage Trees
15 วิวัฒนาการบางกอกผ่านการเติบโตและคงอยู่ของคุณปู่ ต้นไม้รอบเกาะรัตนโกสินทร์, Walk with The Cloud 27 : Island of Heritage Trees

ในแง่ภูมิทัศน์เมือง ต้นไม้ใหญ่ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญ เพราะแสดงถึงการตั้งอยู่ของชุมชนหรือสถานที่สำคัญที่มีความหมาย เกาะรัตนโกสินทร์ชั้นในประกอบไปด้วยพระบรมมหาราชวัง และวังของพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูงหลายพระองค์ ทำให้พื้นที่บริเวณนี้ ตั้งแต่ในอดีตมีการปลูกต้นไม้และจัดภูมิทัศน์ไว้อย่างดี

ต่อมาเมื่อสยามเปลี่ยนแปลงการปกครอง เป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข วังบางส่วนเปลี่ยนรูปแบบการใช้งานไปตามบริบทสังคมที่เปลี่ยนแปลง อย่างวังหน้าที่ถูกปรับพื้นที่เป็นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ และโรงละครแห่งชาติ 

ต้นไม้เก่าแก่และการทำภูมิทัศน์โบราณรูปแบบต่างๆ จึงตกทอดกลายเป็นมรดกจากยุคเก่าที่ติดมากับพื้นที่ บางต้นยังคงอยู่ แต่บางต้นล้มหายตายจากไปตามสภาพการดูแลและเวลาที่ล่วงไป

ต้นโพธิ์ บริเวณลานโพธิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ คือหนึ่งในต้นไม้เก่าแก่ประจำวังหน้าที่ตั้งตระหง่านอยู่ในบริเวณที่มีชัยภูมิเป็นที่นัดหมายและชุมนุมทางการเมืองของนักศึกษามายาวนาน ในสมัยแรกเริ่ม ตึกโดมมีปีกซ้ายขวา ขนาดอาคารยาวกว่าที่เห็นในปัจจุบันมาก แต่หลังจากเหตุการณ์ช่วง พ.ศ. 2519 ตึกโดมถูกตัดส่วนปีกซ้ายขวาออกไปเหลือเท่าที่เราเห็นในปัจจุบัน

นอกจากนี้ต้นโพธิ์ต้นนี้เคยเป็นที่เซ่นไหว้หัวหมูขอพรสำหรับการสอบของเหล่านักศึกษา แต่ถูกอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ สั่งห้าม เพราะมองว่าเป็นความงมงายและติดสินบนเจ้าที่ ในปัจจุบันต้นโพธิ์จึงกลายเป็นแลนด์มาร์กที่สำคัญของธรรมศาสตร์แทน 

02

15 วิวัฒนาการบางกอกผ่านการเติบโตและคงอยู่ของคุณปู่ ต้นไม้รอบเกาะรัตนโกสินทร์, Walk with The Cloud 27 : Island of Heritage Trees

ต้นกร่างที่ตั้งอยู่หน้าคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นเสมือนจิตวิญญาณของเด็กศิลปากรที่ยุคหนึ่งผูกพันกับมันมากจนถึงขั้นเรียกต้นไม้ต้นนี้ว่าคุณปู่กร่าง ถ้าเทียบตามรูปภาพโบราณสมัยรัชกาลที่ 4 เราจะเห็นยอดของต้นกร่างต้นนี้สูงขึ้นมาเหนือหลังคาตึก ทำให้อนุมานได้ว่า คุณปู่ต้นนี้มีอายุมากเกิน 100 ปีแล้ว 

15 วิวัฒนาการบางกอกผ่านการเติบโตและคงอยู่ของคุณปู่ ต้นไม้รอบเกาะรัตนโกสินทร์, Walk with The Cloud 27 : Island of Heritage Trees

แม้ว่าทั้งต้นกร่างที่มหาวิทยาลัยศิลปากรและต้นโพธิ์ที่ลานโพธิ์ของธรรมศาสตร์จะดูสวยงาม แผ่กิ่งก้านใบออกเป็นร่มเงาให้กับเรา แต่ในความจริงนั้น ทั้งสองต้นโตขึ้นได้มากกว่านี้ แต่เพราะสภาพพื้นที่ที่ถูกอาคารปิดล้อม ทำให้เราไม่สามารถชื่นชมความงามของต้นไม้ทั้งสองต้นอย่างเต็มที่ 

03

15 วิวัฒนาการบางกอกผ่านการเติบโตและคงอยู่ของคุณปู่ ต้นไม้รอบเกาะรัตนโกสินทร์, Walk with The Cloud 27 : Island of Heritage Trees

ในอดีต บริเวณพื้นที่ของกรมศิลปากรเคยเป็นที่ตั้งของวังมาก่อน ซึ่งมีถึง 3 วังด้วยกัน และมีต้นไม้โบราณที่ยังคงอยู่จนถึงปัจจุบัน คือต้นกร่างและต้นยางอินเดีย ซึ่งนอกจากสองต้นนี้แล้ว ยังมีต้นจันทร์อีกต้นหนึ่งแทรกตัวอยู่ข้างหลังพิพิธภัณฑ์อาจารย์ศิลป์ พีระศรี ตึกที่เคยเป็นท้องพระโรงเก่ามาก่อน ต้นจันทร์นับเป็นต้นไม้ใหญ่อีกต้นที่ถูกลืมเลือนไป ถ้าใครมีโอกาสแวะไปกรมศิลป์ ก็เดินไปแวะทักทายคุณปู่ต้นไม้ต้นนี้กันได้นะ 

04

15 วิวัฒนาการบางกอกผ่านการเติบโตและคงอยู่ของคุณปู่ ต้นไม้รอบเกาะรัตนโกสินทร์, Walk with The Cloud 27 : Island of Heritage Trees
15 วิวัฒนาการบางกอกผ่านการเติบโตและคงอยู่ของคุณปู่ ต้นไม้รอบเกาะรัตนโกสินทร์, Walk with The Cloud 27 : Island of Heritage Trees

เคยได้ยินคำว่า ‘โพธิ์ไทรไกรกร่าง’ กันไหม 4 ต้นไม้ใหญ่เหล่านี้ คือต้นไม้ที่มีความสำคัญในประวัติศาสตร์และพระพุทธประวัติ นอกจากแสดงฐานานุศักดิ์ของเจ้านายแล้ว ต้นไม้เหล่านี้ต้องใช้พื้นที่ในการเติบโตแผ่กิ่งก้านออกไปรอบด้าน จึงเหมาะให้ร่มเงากับพื้นที่ที่มีคนมารวมตัวกันเป็นจำนวนมาก ทำให้เป็นที่นิยมปลูกกันมากในวัดและวังสมัยก่อน

05

แนวคิดในการปลูกต้นไม้และการออกแบบภูมิทัศน์โบราณของไทย ได้อิทธิพลมาจากประเทศอินเดียและจีนเป็นหลัก แนวคิดแบบอินเดียมีความเชื่อมโยงกับพุทธประวัติ ความเชื่อ และความศรัทธา มองต้นไม้เป็นแหล่งอาหารและยารักษาโรค ในขณะที่แนวคิดแบบจีน นิยมใช้ตกแต่งสวนเพื่อความสวยงาม และถือเป็นการบำบัดจิตใจชนิดหนึ่ง มักพบเห็นได้ในรูปแบบของเขามอและต้นไม้สวยงามในวัง

ดังนั้น ต้นไม้ที่ปลูกในพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ชั้นในจึงจำแนกได้เป็น 2 ประเภท คือไม้มงคลและไม้ผล ไม้มงคลมักปลูกในพื้นที่วัง ส่วนไม้ผลมักปลูกริมคูคลอง เพื่อให้ประชาชนเก็บดอกผลรับประทานได้

06

นอกจากการปลูกต้นไม้เพื่อความสวยงามและประโยชน์ คนไทยสมัยก่อนก็นิยมปลูกต้นไม้ในเชิงสัญลักษณ์ด้วย เช่น การปลูกต้นยางนาที่โตสูงชะลูดจนมองเห็นจากที่ไกลๆ ไว้ในบริเวณวัด ทำให้คนที่เดินทางมาสังเกตเห็นต้นยางนาแล้วรู้ได้ทันทีว่าใกล้จะเข้าถึงเขตวัดแล้ว 

ในบริเวณภาคเหนือ เช่นเชียงตุงและเชียงใหม่ ก็มีการปลูกต้นไม้ในลักษณะนี้เหมือนกัน เรียกว่าไม้หมายเมืองเพื่อสัญลักษณ์ให้ผู้คนที่กำลังเดินทางเข้ามารับรู้ว่ากำลังใกล้ถึงเมืองแล้ว ต้นไม้จึงเป็นเหมือนจุดเช็กอินในสมัยก่อน

07

15 วิวัฒนาการบางกอกผ่านการเติบโตและคงอยู่ของคุณปู่ ต้นไม้รอบเกาะรัตนโกสินทร์, Walk with The Cloud 27 : Island of Heritage Trees

ต้นยางอินเดียที่เรานิยมปลูกกันอยู่ตอนนี้ สามารถเจริญเติบโตจนใหญ่มาก ขนาดที่ว่าในสมัยก่อนเราใช้ลำต้นของมันผูกล่ามช้างได้เป็นสิบๆ เชือก ดังนั้น ถ้าใครมีต้นยางอินเดียอยู่ที่บ้านและคิดจะนำมันลงกระถาง อย่าลืมหาพื้นที่กว้างๆ ให้รากและกิ่งก้านได้แผ่ออกไป และไม่ควรปลูกใกล้ตัวอาคารก่อสร้างเด็ดขาด 

08

15 วิวัฒนาการบางกอกผ่านการเติบโตและคงอยู่ของคุณปู่ ต้นไม้รอบเกาะรัตนโกสินทร์, Walk with The Cloud 27 : Island of Heritage Trees

ถ้าเดินเลียบคลองคูเมืองเดิมต่อไปจะเจอกับกลุ่มต้นตะเคียน 4 – 5 ต้นที่หน้าวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เป็นต้นไม้ชุดดั้งเดิมที่รัชกาลที่ 1 ทรงปลูก เพื่อใช้ในการสร้างเรือ อีกทั้งยังเป็นต้นไม้ใหญ่ที่มีอายุมากที่สุดที่ยังมีชีวิตอยู่ของกรุงรัตนโกสินทร์ จากภาพถ่ายโบราณที่หลงเหลืออยู่ เห็นได้ว่าต้นตะเคียนเคยถูกปลูกมากในบริเวณนี้ เพื่อสร้างความเขียวชอุ่มให้กับผู้คนที่ผ่านไปมา

15 วิวัฒนาการบางกอกผ่านการเติบโตและคงอยู่ของคุณปู่ ต้นไม้รอบเกาะรัตนโกสินทร์, Walk with The Cloud 27 : Island of Heritage Trees

นักประวัติศาสตร์ค้นพบผังภูมิทัศน์สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ที่ระบุตำแหน่งและชนิดต้นไม้ที่ปลูกริมคลองคูเมืองเดิม ทั้งต้นพิกุล จำปี มะม่วง และขนุน แต่ปัจจุบันต้นไม้ดั้งเดิมแทบทั้งหมดถูกแทนที่ด้วยต้นไม้ชุดใหม่ จากการปรับปรุงพื้นที่สาธารณะริมคลองหลายครั้ง รวมถึงการสร้างสิ่งปลูกสร้าง อย่างสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ที่จำเป็นต้องก่อสร้างทับคลองคูเมืองเดิมทิศเหนือ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชน เมื่อระบบถนนกลายเป็นการสัญจรหลัก

ข้างๆ กันนั้น เราจะเจอสะพานหก ซึ่งยกขึ้นลงได้สำหรับเรือสัญจรผ่านไปมา แต่เป็นอันจำลองที่ถูกสร้างขึ้นมาในสมัยฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี ส่วนของจริงผุพังลงไปมากแล้ว สันนิษฐานว่าเคยตั้งอยู่ที่แถวโรงสี ข้างอนุสาวรีย์สหแห่งชาติหรืออนุสาวรีย์หมู ไม่ไกลกันเท่าไรจากตำแหน่งปัจจุบัน

09

ถัดจากเกาะรัตนโกสินทร์ชั้นในออกมาเพียงข้ามฝั่งคลองคูเมืองเดิม คือแพร่งภูธร แพร่งนรา และแพร่งสรรพศาสตร์ จุดเริ่มต้นการค้าที่เชื่อมต่อไปยังเยาวราชและเจริญกรุง สถาปัตยกรรมเก่าบริเวณนี้ได้อิทธิพลมาจากฝรั่งเศสที่เป็นห้องแถวล้อมรอบคอร์ทสี่เหลี่ยม หากสังเกตดีๆ จะเห็นต้นไม้ใหญ่เหลือรอดอยู่บ้างในบางคอร์ท

คลองคูเมืองเดิมจึงเป็นเหมือนเส้นแบ่งเขตของรัตนโกสินทร์ชั้นนอกและในออกจากกัน จากการสำรวจพื้นที่ยังขุดเจอโบราณสถานต่างๆ เช่น กำแพงเมืองเดิม ร่องรอยของรถรางต่างๆ ภูมิสมาคมสถาปัตยกรรมแห่งประเทศไทยและกรมศิลปากร จึงเริ่มโครงการปรับภูมิทัศน์และ Live Museum เพื่อให้เป็นอีกสถานที่หนึ่งสำหรับศึกษาประวัติศาสตร์ของกรุงเทพฯ 

10

15 วิวัฒนาการบางกอกผ่านการเติบโตและคงอยู่ของคุณปู่ ต้นไม้รอบเกาะรัตนโกสินทร์, Walk with The Cloud 27 : Island of Heritage Trees

ต้นมะฮอกกานีต้นใหญ่บริเวณหลังกระทรวงกลาโหม กลายเป็นอีกหนึ่งแลนด์มาร์กของพื้นที่บริเวณนี้ เพราะความสวยงามของใบและกิ่งที่แผ่ออกเห็นเด่นชัดมาแต่ไกล ครั้งหนึ่งเคยเกือบถูกเปลี่ยนให้เป็นต้นขนุนเพราะความเข้าใจผิดแต่มีเอกสารเก่ายืนยันถึงที่มาของต้นไม้ได้ จึงได้รับการดูแลแทนการขุดทิ้งไป ซึ่งทั้งหมดเป็นความร่วมมือกันจากหน่วยงานของภาครัฐ ทหาร และภาคประชาชน ทำให้ต้นไม้นี้กลับมาสวยงามอีกครั้งหนึ่ง 

09

เมื่อรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสเมืองใหญ่ในต่างประเทศ พระองค์ทอดพระเนตรเห็นความศิวิไลซ์ในการวางผังและการจัดการพื้นที่เมือง จึงดำริให้สร้างสนามหลวงอย่างพลาซ่าในยุโรปและปรับปรุงถนน พร้อมปลูกต้นไม้อย่างเป็นระเบียบสวยงามเช่นถนนฌ็องเซลิเซ่ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส 

โดยประยุกต์แนวคิดการปลูกไม้ผลอย่างต้นมะขามเข้าไป เพราะต้นมะขามเป็นพืชสารพัดประโยชน์ ประชาชนเก็บใบ เปลือก ผล ไปรับประทานได้ และที่สำคัญคือใบละเอียด เช่นเดียวกับต้นมะฮอกกานี ไม้ยืนต้นที่ให้ร่มเงาได้ดีแม้มีใบขนาดเล็ก เพราะใบเล็กละเอียดเหล่านี้ปลิวไปได้และทำความสะอาดง่าย ไม่อุดตันท่อระบายน้ำ ไม่ทำให้บ้านเมืองสกปรก 

นอกจากนั้น ท่านยังคิดชื่อต้นมะขามด้วยเองสื่อถึงความน่าเกรงขาม แต่ในปัจจุบันนั้นหลงเหลือต้นมะขามที่อยู่มาตั้งแต่สมัยแรกเริ่มเพียงประมาณ 20 – 30 ต้นเท่านั้น 

10

15 วิวัฒนาการบางกอกผ่านการเติบโตและคงอยู่ของคุณปู่ ต้นไม้รอบเกาะรัตนโกสินทร์, Walk with The Cloud 27 : Island of Heritage Trees

เมื่อก่อนต้นมะขามตรงสนามหลวงเคยสุขภาพแข็งแรงมาก จนกระทั่งช่วงที่เป็นตลาดนัดสนามหลวง ทำให้มะขามถูกใช้เป็นเสาผูกผ้าใบกางเต็นท์ของแม่ค้า บ้างก็ถูกเทน้ำร้อนราด ทำให้ไม่เจริญเติบโต แต่ในปัจจุบันกำลังถูกฟื้นฟูจากความร่วมมือกันของภาครัฐและกลุ่ม BIG Trees 

11

15 วิวัฒนาการบางกอกผ่านการเติบโตและคงอยู่ของคุณปู่ ต้นไม้รอบเกาะรัตนโกสินทร์, Walk with The Cloud 27 : Island of Heritage Trees

อุทยานพระราชวังสราญรมย์สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 เพื่อเป็นที่ประทับปลายรัชสมัยของพระองค์ แต่พระองค์เสด็จสวรรคตก่อน ภายหลังรัชกาลที่ 5 มีพระราชดำริให้จัดสวนของตามแบบสวนอังกฤษ และทรงใช้อุทยานแห่งนี้เป็นพื้นที่ต้อนรับพระราชอาคันตุกะจากต่างชาติ มีการออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมและตกแต่งอุทยานด้วยสระน้ำพุ สวนดอกไม้ โดยเฉพาะกุหลาบแดง ไม้ดอกที่ทรงโปรดปราน เรื่อยมาจนถึงการจัดงานฤดูหนาวในสมัยรัชกาลที่ 6

15 วิวัฒนาการบางกอกผ่านการเติบโตและคงอยู่ของคุณปู่ ต้นไม้รอบเกาะรัตนโกสินทร์, Walk with The Cloud 27 : Island of Heritage Trees

ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง รัชกาลที่ 7 ทรงโปรดเกล้าฯ มอบอุทยานแห่งนี้ให้รัฐบาล จากนั้นจึงมีการปรับปรุงและเปิดเป็นสวนสาธารณะแห่งแรกๆ ของสยาม และหลังจากปลี่ยนมือมาอยู่ในการดูแลของคณะราษฎร จึงมีการสร้างสำนักงานของคณะราษฎรไว้ภายในพื้นที่อีกด้วย 

แม้ที่นี่จะมีพันธุ์ไม้หายากมากมายที่รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้นำมาปลูกไว้ แต่ต้นจามจุรีและมะขาม สองไม้ยืนต้นเก่าแก่ในไทยก็ยังคงยืนเด่นเป็นสง่าอยู่ที่นี่ตลอดมา

15 วิวัฒนาการบางกอกผ่านการเติบโตและคงอยู่ของคุณปู่ ต้นไม้รอบเกาะรัตนโกสินทร์, Walk with The Cloud 27 : Island of Heritage Trees

12

ภายในสวนสราญรมย์ยังมีอนุสาวรีย์ของพระนางเรือล่ม หรือสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี หนึ่งในพระราชินีของรัชกาลที่ 5 ที่เสด็จประพาสบางปะอิน ก่อนเกิดเหตุการณ์เรือล่มและไม่มีใครช่วยเหลือพระนางได้ เนื่องจากกฎมณเฑียรบาลในสมัยก่อน รัชกาลที่ 5 จึงทรงมีรับสั่งให้สร้างอนุสาวรีย์นี้ไว้เพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงความรักของพระองค์ที่มีต่อพระนาง

13

15 วิวัฒนาการบางกอกผ่านการเติบโตและคงอยู่ของคุณปู่ ต้นไม้รอบเกาะรัตนโกสินทร์, Walk with The Cloud 27 : Island of Heritage Trees

ย้อนกลับไปช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ พื้นที่บริเวณมิวเซียมสยามเคยเป็นวังที่พระทับของเจ้านายถึง 5 พระองค์ เรื่อยมาถึงสมัยรัชกาลที่ 6 พระองค์มีพระบรมราชโองกางให้จัดตั้งกระทรวงพาณิชย์ขึ้นที่นี่ เนื่องจากอยู่ใกล้ย่านการค้าริมแม่น้ำเจ้าพระยา 

นอกจากอาคารกระทวงพาณิชย์ที่ต่อมาถูกปรับปรุงเป็นมิวเซียมสยาม จะเป็นสถาปัตยกรรมทรงคุณค่าที่ออกแบบและก่อสร้างด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัยในยุคนั้นแล้ว ยังมีต้นไทรเก่าแก่อีก 2 ต้นที่เติบโตมาพร้อมกับอาคารตั้งแต่ยังเป็นกระทรวงพาณิชย์

14

เนื่องจากไม่มีการบันทึกเรื่องราวแรกเริ่มของต้นไทรคู่นี้เอาไว้ จึงคาดว่าอาจมีจุดเริ่มต้นได้ 2 กรณี คือ ตั้งใจปลูก เพราะเป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อทางพุทธประวัติ จึงนำมาปลูกไว้ในสถานที่สำคัญ หรือเติบโตขึ้นเองจากการทิ้งเมล็ดของนกที่บินมาบริเวณนี้ เนื่องจากต้นไทรเป็นไม้ยืนต้นที่ทนทานและมีระบบรากแข็งแรงมาก 

ความน่าสนใจคือ ในช่วงปรับปรุงอาคารและภูมิทัศน์เป็นมิวเซียมสยาม นักประวัติศาสตร์และนักออกแบบต้องร่วมมือกันประเมินคุณค่าของต้นไม้และองค์ประกอบต่างๆ โดยรอบพื้นที่ ต้นไทรใหญ่คู่นี้ทรงคุณค่าทั้งทาง Tangible และ Intangible ระบบก้านใบและรากค้ำจุนพื้นที่มาเนิ่นนาน พอๆ กับความเคารพศรัทธาที่ผู้คนมอบให้อย่างไม่เสื่อมคลาย

15

เคยมีโครงการสำรวจต้นไม้เก่าแก่ของประเทศไทยตามลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้ค้นพบว่า ความเชื่อเรื่องผีของคนไทยมีส่วนช่วยในการรักษาต้นไม้ จากการศึกษาพบว่า ต้นไม้เก่าแก่ส่วนใหญ่ที่ยังคงอยู่มักถูกปลูกอยู่ตามบริเวณอาณาเขตวัด ซึ่งต้นไม้ที่โตสมบูรณ์และแข็งแรงที่สุดมักอยู่ตามป่าช้าที่ไม่มีใครกล้าไปรบกวน

15 วิวัฒนาการบางกอกผ่านการเติบโตและคงอยู่ของคุณปู่ ต้นไม้รอบเกาะรัตนโกสินทร์, Walk with The Cloud 27 : Island of Heritage Trees

นี่เป็นแค่ส่วนหนึ่งของเกร็ดความรู้ที่เราได้รับจาก Walk with The Cloud 27 : Island of Heritage Trees สัปดาห์หน้า เตรียมพบกับเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่บอกเล่าผ่านต้นไม้โบราณ ที่ชี้ให้เห็นรูปแบบการดำรงชีวิต ความศรัทธา การเปลี่ยนแปลงของเมืองและสังคมในแต่ละยุคสมัย ตั้งแต่เรื่องราวการวางผังเมืองโบราณ วิสัยทัศน์เกี่ยวกับการปลูกต้นในเมืองของเจ้านายหลายพระองค์ในอดีต เรื่อยมาจนถึงเรื่องราวการเคลื่อนไหวของภาครัฐ เอกชน และประชาสังคมในปัจจุบัน เพื่ออนุรักษ์ต้นไม้ซึ่งเปี่ยมไปด้วยคุณค่าทางประวัติศาสตร์รอบเกาะรัตนโกสินทร์ 

Writer

Avatar

ณัฐณิชา โอภาสเสรีผดุง

นิสิตสถาปัตย์ สนใจประวัติศาสตร์ สถาปัตย์ ไลฟ์สไตล์ เวลาว่างหมดไปกับแมวและของกิน

Photographer

Avatar

ปวรุตม์ งามเอกอุดมพงศ์

นักศึกษาถ่ายภาพที่กำลังตามหาแนวทางของตัวเอง ผ่านมุมมอง ผ่านการคิด และ ดู