หลายคนอาจเห็นกันตามโซเชียลมีเดียว่ามีร้านกาแฟเปิดใหม่ที่ จ.ชลบุรี หน้าตาโดดเด่นจำง่ายด้วยสเปซภายในที่มีไดนามิก เปิดรับแสงสวย ๆ จากด้านบน และมีต้นไม้โผล่ออกไปทักทายข้างนอก

นี่เป็นผลงานล่าสุดของ ‘IDIN Architects’ ที่เพิ่งเปิดใช้งานและได้กระแสตอบรับอย่างดี จนบางครั้งร้านก็แน่นขนัดไปด้วยผู้คนที่อยากมาจิบกาแฟในบรรยากาศน่าประทับใจแบบนั้น

ปกติแล้วออฟฟิศนี้จะมีภาพจำเป็นการออกแบบอาคารกล่อง เรียบ นิ่ง แต่จริง ๆ แล้วพวกเขาทำงานหลากหลายรูปแบบมาก แล้วแต่ความเหมาะสมในการใช้งาน

เป้-จีรเวช หงสกุล ผู้ก่อตั้งและเจ้าของบริษัท เริ่มชีวิตสถาปนิกในช่วงหลังฟองสบู่แตก พัฒนาความหลงใหลในงานสถาปัตยกรรมมาจากการศึกษาแนวคิดสถาปนิกผู้ยิ่งใหญ่ยุคโมเดิร์น และประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับความเป็น Tropical Architecture ในประเทศไทย

ที่น่าสนใจคือเราอาจเรียกได้ว่าเป้เป็นสถาปนิกกลุ่มแรก ๆ ในประเทศไทยที่ออกมาเปิดออฟฟิศเองตั้งแต่อายุยังน้อย

“สวัสดีครัช!” คือคำทักทายแรกจากเป้ ทำเอาเราที่กำลังเพลิดเพลินไปกับผลงานสุดคูลในห้องประชุม IDIN Architects นึกขึ้นมาได้ว่า นี่มันออฟฟิศที่เขียนในประกาศรับสมัครว่า ถ้าชื่นชอบการ์ตูน คุโรมาตี้ จะพิจารณาเป็นพิเศษนี่นา!

IDIN Architects ทำงานกันยังไง ทำไม 19 ปีแล้วผู้ก่อตั้งยังคงสนุกสุดเหวี่ยง มีแพสชันเต็มเปี่ยมในการออกแบบสถาปัตยกรรมไม่เปลี่ยนแปลง คุณจะได้รู้ทั้งหมดนี้ผ่านชีวิตของเป้และ 4 ผลงานที่เขาคัดสรรมาเล่า

ดีไซเนอร์ยุคต้มยำกุ้ง

ถ้าความซวยของเด็กจบใหม่ยุคนี้คือโควิด ความซวยของเด็กจบใหม่ยุค Y2K ก็คือต้มยำกุ้ง

เป้จบจากคณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง พ.ศ. 2541 ในช่วงที่เขากำลังนั่งทำธีสิส รุ่นพี่ที่จบไปก่อนก็ทยอยโดนเลิกจ้างกันจนมีเวลากลับมาช่วยน้อง ๆ ตัดโมเดลได้สบาย

“เราเป็นอาชีพต้นน้ำ เวลาเศรษฐกิจดีเราก็จะดีก่อน เพราะคนจะเริ่มก่อสร้าง พอฟองสบู่แตก บ้านเมืองหยุดสร้างทุกอย่าง สถาปนิกก็ได้รับผลกระทบเป็นพวกแรก ๆ คนที่เจ็บหนักที่สุดก็คือรุ่นพี่ผม ประมาณ 2 ปีที่กำลังอยู่บนยอดดอย”

รุ่นของเป้รู้ตัวก่อนว่าจบไปคงไม่มีงานทำและหมดหวังกันตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่ม ซึ่งเมื่อเรียนจบก็เป็นไปดังคาด เขาต้องไปทำกราฟิก-ทำเว็บไซต์ตามคำแนะนำของอาจารย์ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้ชอบ

เป้อยากเป็นสถาปนิกมาตั้งแต่ ม.2 ที่ได้เห็น Fallingwater House ของ Frank Lloyd Wright ในบทความรวมบ้านแปลกของ ต่วย’ตูน แล้วรู้สึกเปรี้ยงปร้างในใจ นี่มันโคตรเท่ ซึ่งพอได้รู้ว่าต้องเป็นสถาปนิกถึงจะมีโอกาสสร้างสิ่งอัศจรรย์แบบนั้นได้ เขาก็ค้นพบเป้าหมายชีวิตที่ชัดเจนทันที 

เมื่อไม่ถูกใจงานแรกที่ได้ทำอย่างงานกราฟิก ไม่นานเขาก็ลาออกจากบริษัทไปเที่ยวเล่นหาแรงบันดาลใจ แล้วกลับมาประกวดแบบสวนสาธารณะของสมาคมสถาปนิกสยามฯ โดยเปลี่ยนสนามม้านางเลิ้งเป็นสวนที่มีพิพิธภัณฑ์ในตัว ซึ่งความมุ่งมั่นเต็มเปี่ยมก็ทำให้เขาคว้ารางวัลชนะเลิศมาได้

จากคนที่จบมาแล้วไม่ได้ประกอบอาชีพตรงสายถึง 2 ปี ชัยชนะครั้งนั้นทำให้เขามีพอร์ตที่ดูดี และเข้าทำงาน Plan Associates ไปเป็นมือทำแบบประกวดให้กับออฟฟิศได้อย่างสมศักดิ์ศรี

“ตอนยังไม่ 30 พี่ก็ออกมาทำสตูดิโอกับเพื่อน และจดเป็น IDIN Architects ทีหลัง” เป้เล่าให้พวกเราฟังด้วยท่าทีเป็นกันเอง

“เอาจริง ๆ พี่ว่าพี่น่าจะเป็นแก๊งแรก ๆ ในวงการที่เปิดออฟฟิศเร็ว สมัยนั้นหนังสือรวม Young Gen ยังมี พี่ด้วง-ดวงฤทธิ์ บุนนาค มี อาจารย์เล็ก-กรรณิการ์ รัตนปรีดากุล Spacetime อยู่เลย สมัยก่อนเขาจะเก็บเกี่ยวประสบการณ์จาก 30 ไป 40 แล้วค่อยเปิดออฟฟิศ ไม่มีอายุน้อย ๆ หรอก”

และนี่ก็คือประวัติศาสตร์หน้าสำคัญของ IDIN Architects

หลากวิธีสู่ปลายทาง

ดีไซเนอร์ยุคต้มยำกุ้งแบบเขาเติบโตมาแบบแอนะล็อก ไร้อินเทอร์เน็ต ฟังเพลง Bakery Music สมัยเรียนก็เน้นไปที่ยุค Modern Architecture ศึกษาแนวคิดของเกรตเต็กอย่าง Walter Gropius, Louis Kahn หรือ Mies Van Der Rohe 

ในที่สุดแล้วเขาก็ค้นพบว่า ถึง Frank Lloyd Wright จะพาเขามาเรียนสายนี้ แต่ Le Corbusier ต่างหากที่ถูกจริตที่สุด และส่งอิทธิพลต่อ IDIN Architects มาจนถึงตอนนี้ แม้ว่าภายหลังจะมีงานสถาปนิกสายเฟี้ยวฟ้าวมาให้ดูมากมาย เขาก็ยังยึดมั่นกับ Modernism อยู่อย่างนั้น

“เราเอาคำว่า Less is More ออกไปไม่ได้เลยตั้งแต่ได้รู้จัก เฮ้ย ฉิบหายละ” เป้หัวเราะดังลั่นห้อง “หลาย ๆ ทีเราก็พลิกไปเรื่องอื่นนะ แต่มันก็ยังอิงอยู่กับความตรงไปตรงมา ซื่อสัตย์กับสเปซ หรือ Form Follows Function”

เป้บอกเราว่าเขาชอบ ‘ความงามที่มีลอจิก’ แล้วเริ่มยกตัวอย่างถึงสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่ในห้องประชุมที่เรากำลังคุยกัน ไม่ว่าจะเป็นไม้ยาคิซูกิตรงผนัง ซึ่งสีดำของถ่านไม้เป็นวิธีการกันไฟ แก้ปัญหาจากการเกิดเพลิงไหม้บ้านไม้ในหมู่บ้านที่ญี่ปุ่นเมื่อหลายร้อยปีที่แล้ว หรือ iPhone ซึ่ง สตีฟ จอบส์ ออกแบบมาให้ใช้งานแล้วเวิร์ก ก่อนจะไปถึงรูปร่างหน้าตา

เพราะพื้นฐานเป็นคนไม่ค่อยชอบห้องแอร์ และอยากทำงานที่ตอบโจทย์ภูมิอากาศร้อนชื้นของประเทศไทยให้ดี เป้จึงตั้งชื่อออฟฟิศว่า IDIN ซึ่งมาจาก Integrating Design Into Nature โดย Nature นั้นหมายถึงทั้งธรรมชาติในแบบ Ecology ทั้งธรรมชาติของผู้คน ของโปรแกรม และของบริบทโดยรอบ 

นอกจากนี้ IDIN ยังได้อ่านว่า ‘ไอดิน’ กลิ่นของดินหลังฝนตกที่เป้รักและคิดว่าสื่อสารถึงประเทศไทยได้ดี

ปกติแล้ว เมื่อนึกถึง Tropical Architecture คนมักจะนึกถึงสถาปัตยกรรมที่มีชายคายื่นยาวเพื่อกันแดดกันฝน หากงานของ IDIN นั้นมีหลากหลาย งานที่เป็นภาพจำก็เป็นอาคารทรงกล่องเลยด้วยซ้ำไป

“วิธีการไปสู่ปลายทางมีหลายวิธี” เป้ว่าแบบนั้น 

“เป็นจั่วได้ก็ดี เพราะความร้อนลอยตัวสูงขึ้น และน้ำจะระบายได้เร็วขึ้น งานเราก็ใช้จั่วเต็มเลย แต่งานที่เป็นกล่องก็มาจากฟังก์ชันที่ใช้ 

“เราดีไซน์เพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ของปัจจุบัน เราชอบให้คนขึ้นไปใช้ Rooftop ซึ่งก็ต้องทำ Flat Roof โดยทำให้ข้างในยังอุณหภูมิดี ระบายอากาศได้ดี ในเมื่อสมัยนี้มีวิธีกันความร้อนกันฝนหลากหลายแบบ ก็ไม่จำเป็นต้องทำจั่วเสมอไป”

ประเด็นที่เป้ให้ความสำคัญคือ ‘คอนเทนต์’ ของงาน ซึ่งหมายถึงการคิดแก้ปัญหาที่มีด้วยวิธีการดีไซน์ และผลักดันให้สถาปัตยกรรมนั้นตอบโจทย์เจ้าของอาคารและผู้มาใช้งานให้ได้มากที่สุด

และสุดท้าย ถึงแม้เขาจะยึดหลัก Form Follows Function ทั้งยังดีระดับที่ส่งประกวดได้ทุกงาน เขาก็อยากทำงานที่สวยเป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาด้วย เป้บอกว่าความงามสำหรับเขานั้นมีเส้นมาตรฐานที่ต้องไปให้ถึง เขาจึงเคี่ยวกรำน้อง ๆ ในออฟฟิศให้ไปแตะเส้นนั้นให้ได้เสมอ

“พี่ไม่ได้อยากทำหนังเมืองคานส์ที่ดูยาก ไม่ได้อยากเป็น พี่เจ้ย (อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล) แต่อยากเป็น คริสโตเฟอร์ โนแลน อยากเป็น สตีเวน สปีลเบิร์ก ที่ทั้งสนุก เจ๋ง และเข้าถึงคนได้”

4 งานบอกเล่าวิธีคิด

01 NANA Coffee Roasters Bangna (ปี 2021 – 2022)

NANA Coffee Roaster เป็นแบรนด์ร้านกาแฟที่เน้นคุณภาพกาแฟ ทั้งหาเมล็ดเอง คั่วเอง ตั้งใจให้ประสบการณ์ในการดื่มกาแฟของทุกคนนั้นออกมาดีที่สุด หากสาขาที่เคยเปิดมานั้นเหมือนจะเกิดปัญหาตรงที่ผู้คนสนใจมาถ่ายรูปมากกว่าสนใจกาแฟ เมื่อ กุ้ง เจ้าของร้านอยากเปิดที่ใหม่ จึงตั้งเป้าให้ IDIN ไว้ว่า จะทำให้กาแฟเป็นพระเอก

วิธีที่ IDIN เลือกใช้เพื่อไปถึงเป้าหมายคือการฉีกอาคารออกเป็น 3 ก้อน แทนที่จะเป็นอาคารใหญ่ ๆ 1 ก้อน 

“เราจะทำให้สถาปัตยกรรมหายตัวไป เพื่อให้คนไม่ต้องจดจำสถาปัตยกรรม แต่ว่าอยากมาทานกาแฟที่นี่บ่อย ๆ” 

แต่ละอาคารจะมีสวนแทรกเข้าไปตรงกลาง ทำให้ก้ำกึ่งระหว่างภายนอก-ภายใน เป้เชื่อว่าบรรยากาศที่ดีที่สุดสำหรับการดื่มกาแฟคือการดื่มในสวน

เพราะ Pain Point ที่เจ้าของร้านเล่ามาตั้งแต่แรก ทีมสถาปนิกจึงออกแบบให้ผู้คนนั่งหันหน้าออกทั้งหมด เพื่อให้ตั้งใจลิ้มรสกาแฟและดื่มด่ำกับวิวสวนตรงหน้า หากหันหน้าเมาท์มอยกับเพื่อนนาน ๆ ก็จะเริ่มเมื่อย เรียกว่าเป็นการออกแบบเพื่อกำหนดพฤติกรรมของผู้ใช้งาน

เคาน์เตอร์ที่ต่อเนื่องลื่นไหลเป็นริบบิ้นก็ใช้เป็นสีขาว เพื่อให้เงาต้นไม้พาดลงมาดูละมุนละไม และทำหน้าเคาน์เตอร์ให้เป็น Curve เพื่อบังคับให้นั่งห่าง ๆ กัน ช่วยทั้งเรื่อง Social Distancing เนื่องจากดีไซน์ในช่วงโรคระบาด ทั้งเรื่องการพุ่งจุดสนใจไปที่กาแฟ ทั้งนี้ในส่วน Slow Bar เน้นใช้สีดำเป็นหลัก เพื่อความนิ่งสงบของคนดื่ม เหมาะแก่การใช้เวลาคุยลึก ๆ กับบาริสต้า

นอกจากตัวสถาปัตยกรรมเองแล้ว IDIN ยังต้องออกแบบป้ายที่ต้องใช้สมาธิในการมอง ออกแบบ คำให้เข้าคอนเซปต์ ทั้งหมดมุ่งไปที่การนำเสนอประสบการณ์การดื่มกาแฟที่ดีที่สุดทั้งนั้น

02 Harudot Chonburi by NANA Coffee Roasters (ปี 2022 – 2023)

ในขณะที่ NANA Coffee Roasters Bangna เน้นออกแบบให้สถาปัตยกรรมหายตัวไป และอยากให้คนกลับมาใช้บริการซ้ำ ๆ Harudot ตรงกันข้าม IDIN เลือกให้ที่นี่ดูหวือหวา ตะโกนเสียงดัง จากบรีฟของเจ้าของที่ต้องการให้ที่นี่ประสบควาสำเร็จ เพราะเป็นการออกต่างจังหวัดครั้งแรกของร้านกาแฟเจ้านี้

“คุณอยู่ที่ไหนคุณก็อยากไปที่นี่ดูสักครั้ง” เป้ประกาศเจตนารมณ์ของงานชิ้นนี้

Harudot เป็นแบรนด์ย่อยและเป็นร้านแรกของ NANA Coffee Roasters ที่ออกต่างจังหวัด ณ ทำเลนั้น นอกจากห้างเซ็นทรัลแล้วก็ไม่มีอะไรให้เที่ยวนัก สถาปนิกจึงทำให้ร้านกาแฟแห่งนี้เป็นจุดสนใจของผู้คน อย่างที่เคยบอกไปว่า IDIN ไม่ยึดติดกับรูปแบบงานดีไซน์ แต่เน้นไปให้ถึงเป้าหมาย

“พี่ชอบให้งานสื่อถึงเจ้าของ” เขาพูด “พาร์ตเนอร์ร้านนี้เขาชอบเล่นต้นไม้แปลก ๆ เขาก็เอารูปต้นเบาบับมาให้เราดูตั้งแต่วันแรกเลย บอกว่าทำยังไงก็ได้ครับ ผมขอให้งานมีต้นไม้อย่างนี้อยู่”

ก่อนจะไปถึงผลลัพธ์ที่ออกมา ต้องเล่าก่อนว่า ‘Haru’ สื่อถึงฤดูใบไม้ผลิ ‘Dot’ สื่อถึงจุดเริ่มต้น ทีมสถาปนิกจึงออกแบบให้ดูราวกับว่านำเมล็ดพันธุ์หยอดลงไปแล้วต้นไม้ทะลุออกมานอกอาคาร ซึ่งพวกเขาแตกอาคารออกเป็น 3 หลัง เพราะติดอกติดใจจากตอนทำร้านที่บางนา

เพราะเจ้าของเลือกให้แบรนด์นี้มีความเป็นญี่ปุ่น เป้ก็ตีความว่าความญี่ปุ่นนั้นนิ่ง ถ่อมตัว หากแฝงไปด้วยรายละเอียดซับซ้อน จึงเลือกให้รูปลักษณ์ภายนอกอาคารเป็น 3 จั่วเรียบง่าย แต่เมื่อเดินเข้ามาก็พบกับสเปซที่มีไดนามิกน่าประทับใจและอบอุ่นด้วยพื้นผิวไม้สนสีธรรมชาติ

เพื่อความ Photogenic ที่นี่โดดเด่นเรื่องการให้แสงมาก ๆ เมื่อสเปซเป็นแบบนี้ แทนที่จะติด Downlight ก็ติด Uplight ให้แสงชี้ขึ้นไป และมีฉากมารับให้แสงกระจายตัว ฟุ้งไปทั้งสเปซ ทั้งนี้ยังมีส่วนที่เป็นเอาต์ดอร์เปิดฝนตกลงมาได้ด้วย

สุดท้ายก็สมดังตั้งใจ Harudot แห่งนี้สวยโดดเด่นจนผู้คนหลั่งไหลกันเข้ามาไม่เว้นแต่ละวัน

03 PA PRANK (ปี 2016 – 2018)

ราว 10 ปีที่แล้ว IDIN เริ่มทำ SIRI HOUSE เป็นการรีโนเวตตึกแถวครั้งแรก ปกติแล้วตึกแถวมักจะมีปัญหาเรื่องการระบายอากาศและความมืดทึบ สถาปนิกก็แก้ปัญหาด้วยการเจาะคอร์ดด้านใน และให้แต่ละยูนิตมี 2 ชั้น เชื่อมเกี่ยวกันไปกันมา

คราวนี้บริบทปัญหาคล้ายกัน แต่ก็ไม่เหมือนกันเสียทีเดียว SIRI HOUSE เป็นบ้านคน ส่วนป้าแพร่งเป็นโฮสเทล ตั้งอยู่ที่แพร่งสรรพศาสตร์

“เราขอเฉือนตึกไป 1 ใน 4 การระบายอากาศมันก็จะดี แสงสว่างก็เข้ามาในตึกแถวได้ทั้งหมด ฝนก็ตกลงมาได้ด้วย”

ส่วนที่เฉือนไปไม่ได้โล่งเปล่า หากมีห้องส่วนตัวยื่นออกมาเสมือนลอยในอากาศ ใครอยู่ห้องเหล่านี้ก็โชคดีที่เปิดรับลมหน้า-หลังได้
“พื้นที่ใช้สอยเหมือนจะลดลงไป 25 เปอร์เซ็นต์” เป้กล่าว “ตรงนี้แหละคือประเด็นที่ต้องโน้มน้าวลูกค้า ซึ่งพอเขายอมเสียพื้นที่นั้น คุณภาพของสเปซก็ดีขึ้น และเขาก็รู้สึกว่าตึกเขากว้างขึ้นด้วย เพราะได้แสงสว่าง ไม่อุดอู้”

ที่พิเศษคือเมื่อเฉือนไปและสกัดปูนฉาบออกก็ทำให้เห็นอิฐแดงอายุราว 40 ปี สะท้อนมาที่ผนังกระจกอีกด้านได้ ถ้าเราเข้าไปยืนในคอร์ตก็จะเห็น ‘ความเก่าในความใหม่’ นั้น

ส่วนรูปด้านฝั่งที่ติดถนนนั้นเป็นฟาซาดสีดำกลืนไปกับสภาพแวดล้อม ออกแบบภาษาให้ล้อไปกับความเป็นชิโน-ยูโรเปียนของสถาปัตยกรรมย่านสามแพร่ง โดยใช้วัสดุสมัยใหม่อย่างเหล็ก ส่วนไหนที่เป็นวัสดุเก่า เช่น การใช้กระเบื้องโบราณหรือกระเบื้องหางมนในงานอินทีเรีย ก็จะออกแบบด้วยภาษาที่โมเดิร์นแทน

04 W House ll (ปี 2023 – Present)

W House หลังแรกเป็นบ้านที่ IDIN ทำให้ลูกค้าชาวกรุงเทพฯ ที่อยากย้ายไปใช้ชีวิตที่ปากช่อง โคราช 

10 กว่าปีผ่านไป เมื่อเจ้าของบ้านเริ่มรู้สึกว่าเพื่อน ๆ มาเที่ยวแล้วไม่มีที่นอน ก็อยากยกบ้านนี้ไว้รับรองเพื่อน ๆ แล้วไปสร้างบ้านใหม่ให้ตัวเขาเองในพื้นที่เดียวกันและเริ่มมีสัตว์เลี้ยงเป็นน้องวัว 3 ตัว

“ตอนทำหลังแรก เขาไม่ได้อยากได้ Rooftop เลย แต่พอเราใส่ให้ เขาก็บอกว่า สุดท้ายวิวที่สวยที่สุดคือวิวที่พี่เป้จัดให้ตรงนี้แหละ” เป้ยิ้มกับการตัดสินใจของตัวเอง 

“สุดท้ายเลยกลายเป็นคอนเซปต์ของหลังที่ 2 ในการทำบ้านชั้นเดียว พื้นที่น้อย ๆ แต่มีใต้ถุน 2 ชั้น สูง 7 เมตร และปล่อยให้พื้นด้านล่างเป็นพื้นที่ของวัว ปล่อยให้วัชพืชเกิด ให้วัวกินหญ้าได้ปกติ”

7 เมตรนั้นสูงมาก ๆ แต่เป็นระดับเดียวกับเมื่อยืนบน Rooftop บ้านหลังแรก ซึ่งเป็นระดับที่เห็นวิวอันคุ้นเคยได้ โดยนอกจากบันไดสวย ๆ แล้ว ยังมีลิฟต์ส่งอาหารขึ้นไปถึงตัวบ้านด้วย 

นอกจากนี้ เป้และทีมยังทำผนังคอนกรีตเปลือยไว้ปีนหน้าผา มีสระว่ายน้ำ และทางเดินออกกำลังกายดูวิวรอบบ้าน ตามไลฟ์สไตล์เจ้าของด้วย

ปัจจุบันนี้ W House ll ยังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง แต่ก็อยากเห็นรูปตอนเสร็จเสียแล้วสิ

แก้ปัญหาด้วยความสนุก

ตอนนี้มีงานแนวไหนที่อยากลองทำเป็นพิเศษไหม – เราถามเจ้าของบริษัท

“ดีไซเนอร์จะชอบบอกว่าอยากทำมิวเซียม เป็นคำตอบมาตรฐานแต่ก่อน แต่ถ้าถามตอนนี้ รู้สึกว่าไม่ได้สนใจที่ประเภทอาคาร ทำอะไรก็ได้เลยที่คอนเทนต์น่าสนใจ

“อยากได้งานที่ลูกค้าเชื่อใจเรามาก ๆ เราจะได้เล่นอะไรได้เต็มที่ ถ้าลูกค้าเชื่อเรา เขาจะชอบเลยตั้งแต่ครั้งแรก และงานจะออกมาชัดเจนมาก แม้แต่ทำบ้าน ทำร้านกาแฟ หรือทำห้องน้ำให้วัดก็ทำให้สนุกได้” เป้ตอบพลางหัวเราะอารมณ์ดี

‘Modernism Cafe’ ร้านกาแฟด้านล่างออฟฟิศเองก็เป็นหนึ่งในงานที่เป้ชอบ เป็นร้านกาแฟเหมือนกัน แต่คอนเทนต์สนุกกันไปคนละแบบ มีอะไรให้แก้ปัญหาแตกต่างกันไป

และแน่นอน เขาตั้งชื่อว่า Modernism เพราะชื่นชอบเหล่า Modern Architect จนต้องหยิบมาเป็นคอนเซปต์ของร้าน จากคำพูดของ Le Corbusier ที่ว่า A house is a machine for living in. ก็เขียนเป็น A cafe is a machine for sipping in. ทั้งยังมีเครื่องดื่มที่ล้อไปกับคอนเซปต์อย่าง Frank Lloyd Ice, Long Cold Brew Si Ter หรือ Falling Cocoa เป็นอารมณ์ขันในแบบของเป้

“พี่เป็นคนชอบหาทางแก้ปัญหาเยอะ ๆ เพราะมันไม่มีถูกหรือผิด มีแต่อย่างไหนเหมาะสม ชอบบอกน้อง ๆ ว่า ถ้าจะไปภูเขาลูกหนึ่ง จะไปมอเตอร์ไซค์ก็ดีนะ ได้เพลินกับวิว ได้ลมตีหน้า ถ้าจะไปด้วยจักรยานก็ได้ออกกำลังกาย แต่ถ้าจะไปด้วยรถยนต์ จะให้ความสำคัญกับความเร็ว ก็ต้องทำรถยนต์ให้มันเร็ว ให้ไปถึงแล้วรู้สึกว่าได้ใช้รถยนต์ เราไม่ได้จำกัดวิธีการ แต่วิธีที่เลือกมันต้องเวิร์กและเจ๋งเพียงพอ เราก็เลยโอเพ่นและทำงานหลากหลายมาก”

สถาปัตยกรรมโมเดิร์น หน้าตาเรียบง่าย ไร้ซึ่งองค์ประกอบมาตกแต่งมากมาย ไม่ได้หมายความว่างานนั้นจะแห้งไร้ชีวิต แต่กลับกันคืองานโมเดิร์นนั้นสนุกได้ตั้งแต่คนออกแบบ มีความสุขได้ถึงผู้คนที่ได้เข้าไปใช้งาน

ก่อนกลับ เราแวะไปเยี่ยมเยียนห้องทำงานด้านบน เห็นบรรยากาศการทำงานสุดร่าเริงก็คิดว่า ออฟฟิศที่หัวหน้ามีไฟแรงกล้านั้นส่งต่อพลังถึงทีมได้จริง ๆ

ภาพ : IDIN Architects

Writer

พู่กัน เรืองเวส

พู่กัน เรืองเวส

อดีตนักเรียนสถาปัตย์ สนใจใคร่รู้เรื่องผู้คนและรูปแบบการใช้ชีวิตอันหลากหลาย ชอบลองทำสิ่งแปลกใหม่ พอ ๆ กับที่ชอบนอนนิ่ง ๆ อยู่บ้าน

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล