ช่วงนี้ชาวอิตาเลียนโดยเฉพาะชาวโบโลญญาคงยังไม่หุบยิ้ม เพราะสิ่งก่อสร้างอันเป็นสัญลักษณ์ของเมืองเพิ่งได้รับการบันทึกจากยูเนสโกให้เป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมอีกแห่ง สิ่งนั้นก็คือสิ่งที่คนโบโลญญาเรียกว่า ‘I portici’ (อิ ป้อรฺติฉิ) 

มันคืออะไร ดูเผินๆ มันก็คือระเบียงทางเดินใต้ตัวอาคารนั่นเอง ในภาษาสถาปัตยกรรมไม่รู้ว่าจะเรียกว่าอะไรดี มีคนใช้คำว่า ‘มุขเสาเรียง’ ซึ่งเพราะดีเหมือนกัน แต่ยังไม่คุ้นปากเลย ตอนนี้ขอใช้คำว่าระเบียงทางเดินไปก่อนก็แล้วกัน 

I Portici ระเบียงทางเดินโบโลญญาที่ยาวมาก เก่ามาก จนได้เป็นแหล่งมรดกโลกยูเนสโก
ภาพ : bologna.repubblica.it

ฉันได้ยินกิตติศัพท์หรือรู้จักมุขเสาเรียงหรือระเบียงทางเดินนี้มาตั้งแต่ก่อนไปอิตาลี ครั้งนั้น เมื่อรู้ว่าจะได้ไปโบโลญญา อาจารย์ก็ให้โบรชัวร์แหล่งท่องเที่ยวของเมืองมาดูไปพลางๆ ในนั้นย่อมมีภาพระเบียงทางเดินที่ว่านี่ ตอนนั้นก็ยังไม่เข้าใจว่ามีอะไรน่าตื่นเต้น จนกระทั่งภายหลังจึงได้รู้ว่า ระเบียงทางเดินเช่นนี้ถือเป็นเอกลักษณ์สำคัญของโบโลญญา ไม่มีที่ไหนในโลกที่เยอะและยาวกว่าที่นี่แล้ว 

เมืองโบโลญญาส่งระเบียงทางเดินนี้ไปให้ยูเนสโกพิจารณา และได้รับการบรรจุไว้ในกลุ่ม ‘เข้าชิง’ มาตั้งแต่ ค.ศ. 2006 แล้วคนโบโลญญาก็ลุ้นจิกเบาะมาตลอดว่าจะได้รับการพิจารณาหรือเปล่า จนในที่สุดวันที่ 28 กรกฎาคมปีนี้ (ค.ศ. 2021) คนโบโลญญาก็ได้เฮกันเสียที

ที่มาของระเบียงทางเดิน

ถ้ากลับไปอ่านด้านบนอีกครั้ง จะเห็นว่าเขียนไว้ว่า ‘ดูเผินๆ’ ซึ่งในรูป ต่อให้จ้องนานๆ ก็ยังคงเป็นทางเดินอยู่ดี จริงๆ แล้วมันไม่ได้ตั้งใจสร้างให้เป็นทางเดินหรอก

ตามประวัติย้อนไปได้ตั้งแต่ศตวรรษที่ 11 อันเป็นจุดพลิกผันครั้งสำคัญของเมืองโบโลญญา คือการที่เมืองมีมหาวิทยาลัยแห่งแรกของทวีปยุโรปขึ้นมา ประชากรก็เพิ่มมากขึ้น มีผู้คนเดินทางมาศึกษามากมาย เมื่อมีคนมามาก พ่อค้าแม่ขายก็ตามกันมาเป็นกระพรวน เมื่อมีผู้คนมากขึ้น ทำยังไงดี ที่ก็มีอยู่แค่นั้น ทางการจึงอนุญาตให้บรรดาบ้านเรือนต่างๆ สร้างชั้นบนงอกเงื้อมออกไปได้ โดยยังคงให้ด้านล่างเป็นที่สัญจรไปมาของผู้คนได้อยู่ดี แต่ค้ำยันให้ดีนะ เสาไม้ไง เอามาค้ำหน่อยเป็นไร

I Portici ระเบียงทางเดินโบโลญญาที่ยาวมาก เก่ามาก จนได้เป็นแหล่งมรดกโลกยูเนสโก
ภาพ : www.tripadvisor.it

ดั่งนี้แล้ว บ้านช่องต่างๆ จึงมีชั้นบนงอกยื่นออกมา ด้วยหวังผลเพียงแค่ให้มีที่อยู่อาศัยเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม ผลพลอยได้ก็คือ ด้านล่างก็เป็นทางเดินที่มีหลังคากั้น ฝนร่วง ฟ้าร้อง หิมะโรยก็หาได้กลัวไม่ นับว่าเด็ดโดยแท้

ชะรอยทางการคงคิดเห็นเป็นประการเดียวกัน ใน ค.ศ. 1288 จึงออกกฎหมายกำหนดเป็นเรื่องเป็นราวว่า ต่อไปนี้ใครจะสร้างบ้านเรือน ต้องมีลักษณะอย่างนี้นะ คือข้างล่างต้องมีทางเดินได้ โดยทางเดินนั้นถือเป็นที่สาธารณะ

เมื่อบ้านทุกหลังมีมุขออกมาอย่างนี้เรียงๆ กันไปแล้ว มันจึงกลายสภาพเป็นทางเดินต่อเนื่องกันเป็นธรรมดา กฎหมายดังกล่าวในตอนหลังจึงกำหนดกฎเกณฑ์ในการสร้างส่วนหน้าของอาคารนี้ให้สูงไม่ต่ำกว่า 7 บาทโบโลญญา (บาทที่แปลว่าเท้านี่แหละ) หรือราว 2.66 เมตร แล้วก็ปรับอีกทีใน ค.ศ. 1352 ให้เป็น 10 บาทโบโลญญา หรือราว 3.6 เมตร เพื่อให้คนขี่ม้าผ่านได้ด้วย และใน ค.ศ. 1568 ก็กำหนดให้เสาค้ำยันนั้นเป็นอิฐหรือหินเท่านั้น ไม่ให้ใช้ไม้แล้ว

ด้วยเหตุดังนี้แล โบโลญญาจึงเต็มไปด้วยระเบียงทางเดิน ซึ่งเฉพาะในเมืองก็ยาวรวมๆ กันได้กว่า 38 กิโลเมตร หากรวมนอกกำแพงเมืองด้วยก็จะยาวถึง 53 กิโลเมตรเลยทีเดียว

ต่อมาเป็นรายการ ‘ที่สุด’ ของมุขเสาเรียงเหล่านี้

ยาวที่สุดในโบโลญญา หรือในอิตาลี หรือในโลก คือทางเดินขึ้นโบสถ์ซันลูกา อันมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า Santuario della Madonna di San Luca ตั้งอยู่บนยอดเขาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมือง ใครเคยนั่งรถไฟไปหรือจะผ่านโบโลญญาจะต้องได้เห็นโบสถ์นี้แต่ไกล อารมณ์เหมือนผ่านนครปฐมแล้วเห็นยอดองค์พระ หรือผ่านสุพรรณฯ แล้วเห็นหอบรรหาร ถ้าจุดหมายปลายทางของใครคือโบโลญญา เตรียมลุกขึ้นหยิบกระเป๋าแล้วไปรอที่ประตูได้เลย 

I Portici ระเบียงทางเดินโบโลญญาที่ยาวมาก เก่ามาก จนได้เป็นแหล่งมรดกโลกยูเนสโก
ภาพ : www.harpersbazaar.com 

ทางเดินดังกล่าวยาวเกือบ 4 กิโลเมตรหรือจะให้เป๊ะๆ คือ 3.976 กิโลเมตร ครั้งหนึ่งฉันเคยพาเพื่อนเดินขึ้นไป นับเป็นการกระทำที่บ้าระห่ำมาก ราวกับจะจาริกแสวงบุญก็มิปาน พอจวนจะถึงน้ำตาก็แทบเล็ด ไม่ใช่ปลื้มปีติอะไรทั้งสิ้น เขาปิดโบสถ์พอดี

I Portici ระเบียงทางเดินโบโลญญาที่ยาวมาก เก่ามาก จนได้เป็นแหล่งมรดกโลกยูเนสโก
ภาพ : www.weekendpremium.it

สำหรับระเบียงทางเดินที่สูงที่สุดอยู่ที่ถนน (Via) Altabella บริเวณหน้าสำนักอัครมุขมณฑลแห่งโบโลญญา (Palazzo dell’Arcidiocesi di Bologna) สูงเกือบถึง 10 เมตร จะด้วยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ยากจะเดา แต่เมื่อเราอยู่ตรงนั้นจะรู้สึกตัวเล็กขึ้นมาทันที

สถาปัตยกรรมเด่นของเมืองโบโลญญา เมื่อกฎการสร้างทางเดินสาธารณะใต้ที่อยู่ ทำให้เกิดระเบียงยาวๆ ทั่วบ้านทั่วเมือง
ภาพ : facciamoungiroincentro.blogspot.com

ระเบียงทางเดินที่กว้างที่สุดอยู่ที่โบสถ์ Basilica di Santa Maria dei Servi อยู่ในใจกลางเมืองมากๆ นอกจากจะเป็นระเบียงที่กว้างที่สุดแล้ว ยังมีลักษณะไม่เหมือนใครคือเป็นทางเดินรูปสี่เหลี่ยมอีกด้วย

สถาปัตยกรรมเด่นของเมืองโบโลญญา เมื่อกฎการสร้างทางเดินสาธารณะใต้ที่อยู่ ทำให้เกิดระเบียงยาวๆ ทั่วบ้านทั่วเมือง
Santa Maria dei Servi
ภาพ : facciamoungiroincentro.blogspot.com

ส่วนทางเดินที่แคบที่สุดนั้นอยู่ที่ Via Senzanome (แปลว่า ถนนไม่มีชื่อ สมัยก่อนตอนเดินผ่านยังแอบขำว่า ถ้าบ้านอยู่ถนนนี้แล้วบอกใคร เขาจะหาว่ากวนหรือเปล่า) แคบแค่ 95 ซม. ใช่ ไม่ถึงเมตรด้วยซ้ำ ชื่อเล่นของทางเดินช่วงนี้เรียกว่า ระเบียงเฉี่ยวถัน ฟังดูเป็นหนังจีนมากๆ แต่จริงๆ พยายามแปลไม่ให้อุจาด เพราะด้วยความแคบนี้ จึงทำให้คนที่เดินสวนกันต้องเสียดสีกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เอ๊ะ หรือหลีกเลี่ยงได้แต่ไม่เลี่ยง เพราะในสมัยโบราณย่านนี้เต็มไปด้วยสำนักโคมเขียวนั่นเอง

หากมองหาทางเดินสวยๆ เชิญที่ถนนฟารีนี (Via Farini) มีภาพวาดเฟรสโก้บนเพดาน ทำเอานักท่องเที่ยวเดินคอตั้งบ่ามาแล้วไม่น้อย

แต่ถ้าอยากดูของเก่าก็ต้องไปที่ถนน Strada Maggiore ตรงที่เรียกว่า Casa Isolani อันมีระเบียงเสาค้ำที่ทำด้วยไม้อันเป็น 1 ใน 8 แห่งของโบโลญญาที่หลงเหลืออยู่ ระเบียงนี้มีมาตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 13 

สถาปัตยกรรมเด่นของเมืองโบโลญญา เมื่อกฎการสร้างทางเดินสาธารณะใต้ที่อยู่ ทำให้เกิดระเบียงยาวๆ ทั่วบ้านทั่วเมือง
Casa Isolani
ภาพ : odm.sviluppoaptservizi.com

แต่ก็ใช่ว่าจะมีแต่ของเก่าให้เห็นในโบโลญญา บรรดาอาคารใหม่ๆ ของเมืองก็มีทางเดินแบบนี้ทั้งนั้น แต่ที่โดดเด่นที่สุดเห็นจะเป็นที่ย่านนอกเมืองออกไปทางทิศตะวันตก ทางเดินนี้มีชื่อเล่นว่า ‘ระเบียงรถไฟ’ (portico del treno) ที่มันยาวถึง 600 เมตรและดูเหมือนรถไฟกำลังเลี้ยวโค้ง

สถาปัตยกรรมเด่นของเมืองโบโลญญา เมื่อกฎการสร้างทางเดินสาธารณะใต้ที่อยู่ ทำให้เกิดระเบียงยาวๆ ทั่วบ้านทั่วเมือง
ระเบียงรถไฟ
ภาพ : bologna.repubblica.it

ส่วนระเบียงทางเดินที่คนโบโลญญารักที่สุด น่าจะเป็นระเบียงที่เรียกว่า ‘อิล ปาวัลโยเน’ (Il Pavaglione) ซึ่งเลาะถนน Archiginnasio ข้างโบสถ์ San Petronio อันเป็นโบสถ์ประจำเมือง ระเบียงนี้มีประวัติศาสตร์การค้าขายมานับตั้งแต่สมัยโบราณ จนวันนี้ ระเบียงทางเดินแห่งนี้ก็ยังเป็นแหล่งช้อปปิ้งที่คนโบโลญญานิยมมาเดินกัน เพื่อชมร้านสวยๆ และเพื่อพบปะกัน นอกจากนี้แล้ว บริเวณนี้ยังเป็นที่ตั้งของอาคารที่ครั้งหนึ่งเคยใช้เป็นที่ทำการของมหาวิทยาลัยโบโลญญาอีกด้วย ตอนนี้ก็ยังเปิดให้เข้าชมอยู่

สถาปัตยกรรมเด่นของเมืองโบโลญญา เมื่อกฎการสร้างทางเดินสาธารณะใต้ที่อยู่ ทำให้เกิดระเบียงยาวๆ ทั่วบ้านทั่วเมือง
มุมหนึ่งของระเบียง Il Pavaglione
ภาพ : www.farmaciediturno.org

ข้อมูลอ้างอิง

comune.bologna.it/portici/

emiliaromagnaturismo.it/it/arte-cultura/citta-darte/bologna-portici

facciamoungiroincentro.blogspot.com/2018/02/i-portici.html

initalia.virgilio.it/ecco-come-sono-nati-i-portici-a-bologna-15136

whc.unesco.org/en/list/1650/ 

www.bolognawelcome.com/it/blog/i-portici-di-bologna

www.ilrestodelcarlino.it/bologna/cronaca/portici-storia-curiosita-1.6638170

youtu.be/WHmFL0DCUjo 

Writer

Avatar

สรรควัฒน์ ประดิษฐพงษ์

‘ครูก้า’ ของลูกศิษย์และลูกเพจ ผู้เชื่อ (ไปเอง) ว่าตัวเองเป็นครูสอนภาษาอิตาเลียนมือวางอันดับหนึ่งของเอเชียอาคเนย์ หัวหน้าทัวร์ผู้ดุร้าย นักแปลผู้ใจเย็น ผู้เชิดหุ่นกระบอกมือสมัครเล่น และนักเขียนมือสมัครเล่นเข้าไปยิ่งกว่า