9 พฤศจิกายน 2019
7 K

ฉันได้รับโจทย์… เรียกว่าคำเชิญชวนดีกว่า มาให้เขียนถึงโบโลญญา ไม่สิ มหาวิทยาลัยโบโลญญาเสียด้วย

เข้าใจว่ามีอยู่ 2 ประเด็น ประเด็นแรกคือ ในฐานะมหาวิทยาลัยแห่งแรกของโลก กับสองคือ นึกถึงคนที่เคยเรียนที่นี่ไม่ออก นอกจากฉัน ทั้งที่จริงๆ แล้วมีคนเรียนที่มหาวิทยาลัยนี้ก็ตั้งเยอะ อยู่นานกว่าฉันอีกด้วย

อืมม… ก็ลองดู แต่ว่าฉันเคยไปมานานแล้วนะ ไม่ว่ากันนะ อย่างน้อยก็เล่าสู่กันฟัง

ว่าแต่ จะเขียนอะไรดี

คิดเรื่องนี้อยู่นาน เขียนไป ลบไป ไม่พอใจเสียที ในที่สุด ก็มีเหตุให้กลับไปโบโลญญาอีกครั้งเมื่อต้นเดือนกันยายน เลยได้ระลึกถึงความหลังจริงๆ เสียที

นักเรียนเก่า อิตาลี พาทัวร์ มหาวิทยาลัยโบโลญญา มหา'ลัยไร้รั้วที่กระจายอยู่ทั่วเมืองโบโลญญา

ก่อนอื่น ปูท้องเรื่องก่อนว่าเมื่อ 30 ปีก่อนฉันเคยมีโอกาสไปเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยโบโลญญาด้วยทุนของรัฐบาลอิตาลีในกำหนด 1 ปีการศึกษา ถ้าเต็มๆ ก็ราว 9 เดือนเท่านั้น มิหนำซ้ำ ยังอยู่แค่ราวๆ 5 เดือน เสียอีกก่อนจะย้ายไปเรียนที่เมืองอื่นต่อ ไม่ได้นมนานอะไรอย่างที่ใครๆ คิด ฉันเลือกเรียนวรรณคดีอิตาลี

ทุนให้เลือกมหาวิทยาลัยใดๆ ก็ได้ ฉันเลือกที่นี่เพียงเพราะคุ้นชื่อที่สุด ไม่ได้คุ้นจากชื่อไส้กรอกด้วย คุ้นอย่างเดียวว่ามหาวิทยาลัยโบโลญญาเป็นมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ที่สุดในโลก มันต้องสวยและดีอย่างแน่นอน (เป็นตรรกะที่แปลกมาก) อะไรนะ Ranking เหรอ วุ้ย จะแร้งกลิ้งแร้งเกลือกอะไรไม่สนหรอก ในใจคิดอยู่อย่างเดียวว่า ถ้าให้เลือกได้ ก็จะไปมหาวิทยาลัยโบโลญญา

มหาวิทยาลัยโบโลญญาก็ต้องย่อมตั้งอยู่ในเมืองโบโลญญา ซึ่งเป็นเมืองเอกของแคว้นเอมิเลีย-โรมาญญา (Emilia-Romagna) ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือด้านล่างของอิตาลี

มหาวิทยาลัยโบโลญญาก่อตั้งในปี 1088 (นี่จำได้ขึ้นใจ เขียนได้โดยไม่ต้องอ้างอิงเลยนะ ไม่ใช่เพราะท่องอะไรทั้งสิ้น แต่อยู่บนโลโก้มหาวิทยาลัยที่ปรากฏอยู่บนถ้วย หมวก กระเป๋า เสื้อยืด เสื้อหนาว กระติกน้ำร้อน-น้ำเย็น ฯลฯ จำได้ไม่ยากเลย ให้ลืมยังจะยากเสียกว่า) แต่การจะอ้างว่ามหาวิทยาลัยแห่งนี้เก่าสุดในโลกได้หรือไม่นั้น ออกจะลำบากสักนิด สรุปแบบเซฟๆ ว่า มหาวิทยาลัยโบโลญญาเก่าแก่ที่สุดในยุโรปก็แล้วกัน อันนี้ไม่ค่อยมีใครกล้าคัดง้างสักเท่าไหร่ (ซึ่งแปลว่ามีอยู่บ้าง)

มหาวิทยาลัยโบโลญญาเคยเป็นทั้งที่ศึกษาและที่ทำงานของปราชญ์ผู้มีชื่อเสียงหลายคน เช่น Petrarca กวีชาวอิตาลี, Marconi ผู้คิดค้นวิทยุ, Erasmus of Rotterdam นักมนุษยนิยมผู้เป็นที่มาของชื่อทุน Erasmus Mundus ฯลฯ

02

แล้วฉันก็ได้กลับไปยืนที่ปากถนนซัมโบนี (Via Zamboni) อีกครั้ง ยังจำภาพฤดูหนาวปี 1992 ได้แจ่มชัด การเดินหามหาวิทยาลัยโบโลญญานั้นเป็นประสบการณ์ที่ผิดจากที่ฉันคาดไปไม่น้อย

นักเรียนเก่า อิตาลี พาทัวร์ มหาวิทยาลัยโบโลญญา มหา'ลัยไร้รั้วที่กระจายอยู่ทั่วเมืองโบโลญญา

เวลาถามทางไปมหาวิทยาลัยโบโลญญา ถ้าเป็นชาวโบโลญญาทั่วไปก็จะบอกทางไปยังถนนซัมโบนี่ (Via Zamboni) จากนั้นก็เป็นหน้าที่ของเราที่จะไปเสาะไปหาเอาเอง แต่ถ้าเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยโบโลญญา ก็อาจจะถามกลับว่า ไปคณะไหนล่ะ ถ้าเราตอบว่า รัฐศาสตร์ค่ะ นางก็จะบอกทางประกอบการชี้มือชี้ไม้ จนเราสรุปได้ว่านางให้เราเดินกลับไปที่สถานีรถไฟ เราอาจจะรู้สึกว่า อ้าวเจ๊ หนูมาดีนะ แต่อย่าว่านางเลย คำตอบก็คือ ขึ้นรถไฟไปค่ะ คณะนี้มีแคมปัสอยู่อีกเมือง

ถนนซัมโบนี ระหว่างทาง ยังไม่ถึงมหาวิทยาลัย
นักเรียนเก่าอิตาลีพาทัวร์ มหาวิทยาลัยโบโลญญา มหา'ลัยไร้รั้วที่กระจายอยู่ทั่วเมืองโบโลญญา
ถนนซัมโบนี คณะของมหาวิทยาลัยโบโลญญาส่วนใหญ่ตั้งอยู่ที่นี่

อย่าอะไรเลย กับกระทั่งคณะเดียวกันเอง แต่ละภาคยังอยู่กระจัดกระจายกันไปทั่วทั้งพระนคร ภาคปรัชญาอยู่ตรงนี้ ละครและการดนตรีอยู่ตรงนั้น ห้องสมุดอยู่อีกที่หนึ่ง

นักเรียนเก่าอิตาลีพาทัวร์ มหาวิทยาลัยโบโลญญา มหา'ลัยไร้รั้วที่กระจายอยู่ทั่วเมืองโบโลญญา
ชื่อมหาวิทยาลัยและคณะ ข้างบนคือป้ายภาควิชาประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม อารยธรรม ป้ายข้างล่างคือภาควิชาปรัชญาและการสื่อสาร
นักเรียนเก่าอิตาลีพาทัวร์ มหาวิทยาลัยโบโลญญา มหา'ลัยไร้รั้วที่กระจายอยู่ทั่วเมืองโบโลญญา
ภาควิชาปรัชญาคลาสสิกและอิตาเลียนศึกษา
นักเรียนเก่าอิตาลีพาทัวร์ มหาวิทยาลัยโบโลญญา มหา'ลัยไร้รั้วที่กระจายอยู่ทั่วเมืองโบโลญญา
เห็นตรามหาวิทยาลัยอยู่รางๆ

ครั้นไปถนนซัมโบนี่แล้วก็อย่าได้ลิงโลดใจไป เพราะต้นถนนเป็นร้านหนังสือ เดินต่อไปเป็นผับ แล้วก็ผับ แล้วก็พิพิธภัณฑ์ แล้วก็คณะนิติฯ แล้วก็ร้านขายเครื่องเขียน แล้วก็โรงละครของเมือง แล้วก็คณะอักษรศาสตร์ แล้วก็ห้องสมุด ฝั่งตรงข้ามของถนนเป็นโบสถ์ สนุกจะแย่

นักเรียนเก่า อิตาลี พาทัวร์ มหาวิทยาลัยโบโลญญา มหา'ลัยไร้รั้วที่กระจายอยู่ทั่วเมืองโบโลญญา
เลขที่ 22 ถนนซัมโบนี ตรงนี้เป็นคณะนิติศาสตร์
นักเรียนเก่า อิตาลี พาทัวร์ มหาวิทยาลัยโบโลญญา มหา'ลัยไร้รั้วที่กระจายอยู่ทั่วเมืองโบโลญญา
อีกฝั่งหนึ่ง (บนถนนซัมโบนี) เป็นโรงละครของเมือง
นักเรียนเก่า อิตาลี พาทัวร์ มหาวิทยาลัยโบโลญญา มหา'ลัยไร้รั้วที่กระจายอยู่ทั่วเมืองโบโลญญา
ถนนซัมโบนี เดินต่อมาจากคณะนิติศาสตร์อีกหน่อย เป็นผับ

อนึ่ง หากใครคิดจะไปมหาวิทยาลัยโบโลญญาเพื่อถ่ายรูปกับป้ายหน้ามหาวิทยาลัย อาจจะอกหักเล็กน้อย เพราะมหาวิทยาลัยแห่งนี้ (และดูเหมือนว่าจะแห่งไหนๆ ในอิตาลี) ไม่ได้มีป้ายหินแกรนิตฟอนต์ทองอยู่หน้ามหาวิทยาลัยไว้ยืนถ่ายรูปลง อตก. (อินสตาแกรม)

นักเรียนเก่า อิตาลี พาทัวร์ มหาวิทยาลัยโบโลญญา มหา'ลัยไร้รั้วที่กระจายอยู่ทั่วเมืองโบโลญญา
ถนนซัมโบนี ระหว่างทาง

03

ฉันเดินผ่าน Piazza Verdi อันเป็นลานหน้ามหาวิทยาลัยซึ่งไม่ได้มีความสวยงามอะไรเลย มุ่งหน้าไปยังประตูทางเข้าตึกที่เคยเรียน แต่ไหนแต่ไร เวลากลับมาก็จะถ่ายรูปอยู่หน้าตึกด้วยความเกรงใจ แต่คราวนี้ลูกศิษย์ที่ไปด้วยยุให้ขึ้นไปที่ห้องเรียนเลย ฉันซึ่งเป็นคนยุขึ้นง่ายมากก็วิ่งปรู๊ดขึ้นตึกไป ความกลัวยามเฝ้าตึกเมื่อก่อนมีเท่าใด คราวนี้ก็ดูจะไม่ลดหย่อนไปเลย ซึ่งก็ไม่รู้จะไปกลัวเขาทำไม

นักเรียนเก่า อิตาลี พาทัวร์ มหาวิทยาลัยโบโลญญา มหา'ลัยไร้รั้วที่กระจายอยู่ทั่วเมืองโบโลญญา
ทางขวาคือลานหน้ามหาวิทยาลัย Piazza Verdi
นักเรียนเก่า อิตาลี พาทัวร์ มหาวิทยาลัยโบโลญญา มหา'ลัยไร้รั้วที่กระจายอยู่ทั่วเมืองโบโลญญา
ทิ้ง Piazza Verdi ไว้ข้างหลังแล้วเดินต่อไป นี่ก็ยังเป็นถนนซัมโบนี

ที่ที่ได้ไปก็คือ ได้ขึ้นไปที่ห้องเรียน แต่ห้องเรียนปิด

ฉันนึกถึงวันที่เข้าไปนั่งห้องเรียนนั้นเป็นครั้งแรก วิชาชื่อ ‘วรรณคดีอิตาลี 2’ เมื่อเข้าไปในห้องเรียนซึ่งเป็นห้องขนาดใหญ่ มีที่นั่งยกสูงเรียงขึ้นไปเหมือนอัฒจันทร์ ฉันพบว่าห้องเต็มแล้ว แต่นักศึกษาก็มานั่งกันตรงพื้นเวทีด้านหน้าที่อาจารย์ยืนสอน ฉันก็ไปนั่งด้วยกลืนๆ ไป ‘กลืนๆ ไป’ เฮอะ ช่างเป็นเด็กน้อยหอยสังข์จากทุ่งลาเวนเดอร์อะไรเช่นนั้น 

นักเรียนเก่า อิตาลี พาทัวร์ มหาวิทยาลัยโบโลญญา มหา'ลัยไร้รั้วที่กระจายอยู่ทั่วเมืองโบโลญญา
ทางเดินขึ้นตึก (ห้องที่เรียนอยู่ชั้นสอง)
นักเรียนเก่า อิตาลี พาทัวร์ มหาวิทยาลัยโบโลญญา มหา'ลัยไร้รั้วที่กระจายอยู่ทั่วเมืองโบโลญญา
นี่คือห้องเรียนของครูก้าในสมัยก่อน เข้าไม่ได้ เขาล็อก

ความจริงก็คือ ฉันไม่ได้กลืนอะไรไปกับเขาเลยแม้แต่น้อย หากแต่ลอยเท้งเต้งเหมือนมะเขือเปราะในแกงเขียวหวาน ค่าที่เป็นเอเชียหัวดำอยู่คนเดียวในห้อง แล้วยังนั่งอยู่ด้านหน้าเสียอีก เงยหน้าจากการจดทีไร มองขึ้นไปบนอัฒจันทร์ เจอแต่สายตาหลบเบี่ยงวูบไปมองอาจารย์อย่างมีพิรุธ ดูก็รู้ว่านั่งจ้องฉันอยู่ก่อนหน้านี้ แล้วก็จะกลับมาจ้องฉันอีกครั้งเมื่อฉันก้มลงจดต่อ

อย่างที่บอกว่าฉันนั่งก้มหน้าจด แต่จดอะไรนั้น จับความไม่ได้เลย เพราะมันยากเหลือเกิน เมื่อหมดชั่วโมง ก็ตามแบบนักเรียนไทยที่ดี คือไปพบอาจารย์ แล้วบอกว่า มีปัญหาคือตามไม่ทัน อาจารย์ก็ไม่พูดพล่ามทำเพลง แนะนำหนังสือมาให้ 2 เล่ม จบ เชิญ… พลางยิ้มหวานส่งแขก

วันเดียวกันนั้นฉันก็เดินดุ่มไปที่ห้องสมุด ซึ่งเชื่อมั่นว่าตอนนี้คงมีความเปลี่ยนแปลงแล้ว ตอนที่ไปนั้นที่นั่งไม่พอกับคนเข้า เคยต้องยืนอ่านหนังสืออยู่มุมห้องอยู่หนหนึ่ง จากนั้นไม่เข้าอีกแล้ว อ้อ อยากได้หนังสือก็ต้องกรอกแบบฟอร์มแล้วยื่นให้บรรณารักษ์นะ นางก็จะหายไปแล้วกลับมาพร้อมกับหนังสือ ที่จะเอียงคอเดินถอยหลังพลางกรีดสันหนังสือนั้นอย่าได้หมาย แล้วถ้าหนังสือที่ได้มานั้นไม่ได้เป็นดังใจเราตั้งแต่แรกเห็น ก็ไม่กล้าบอกบรรณารักษ์ด้วย กลัวคราวต่อไปเธอจะไม่ช่วย ต้องแกล้งเอาไปพลิกๆ สักพัก (ใหญ่ๆ) ก่อนเอาไปคืน

04

หลังจากดื่มด่ำกับความหลังอยู่สักพัก ก็เดินกลับลงมาด้านล่าง ถึงได้สังเกตว่าฝาผนังตามทางเดินนั้นมีภาพวาดอยู่เต็มไปหมด ที่เห็นคือภาพและข้อความเกี่ยวกับการล้มล้างระบบปิตาธิปไตย เป็นภาพเลยนะ ไม่ใช่แค่ขีดเขียนหรือกราฟฟิตี้ แสดงให้เห็นว่าทางมหาวิทยาลัยก็ให้พื้นที่ในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองแก่นักศึกษาเช่นกัน แต่ก็อย่างว่า คงไม่ใช่ใครจะมาเขียนก็ได้ น่าจะเป็นพื้นที่ที่องค์กรนิสิตนักศึกษาโบโลญญาได้รับอนุญาต

นักเรียนเก่า อิตาลี พาทัวร์ มหาวิทยาลัยโบโลญญา มหา'ลัยไร้รั้วที่กระจายอยู่ทั่วเมืองโบโลญญา
จิตรกรรมฝาผนังในคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยโบโลญญา
นักเรียนเก่า อิตาลี พาทัวร์ มหาวิทยาลัยโบโลญญา มหา'ลัยไร้รั้วที่กระจายอยู่ทั่วเมืองโบโลญญา
บนผนังในคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยโบโลญญา
นักเรียนเก่า อิตาลี พาทัวร์ มหาวิทยาลัยโบโลญญา มหา'ลัยไร้รั้วที่กระจายอยู่ทั่วเมืองโบโลญญา
ผนังมหาวิทยาลัย

อันว่าพูดถึงองค์กรนักศึกษานั้น ก็ให้มีประวัตินิดหน่อยพอเล่าได้ นั่นคือเมื่อครั้งไปเรียนวันแรกนั้นก็ให้จิตตก เสียเซลฟ์ รู้สึกล้มเหลวกับชีวิตเหลือเกิน ในความมืดมนทางปัญญานั้นก็แอบมีแสงเรืองรองในความคิดไปว่า เออหนอ เราซึ่งมาสายกิจกรรมอยู่ครึ่งค่อนตัวก็น่าจะไปห้องกรรมการนิสิตบ้าง คิดพลางนางเดินรี่ไปทางห้องกิจกรรม ที่นางเห็นแวบๆ ตอนวิ่งเข้าตึกมา // บัดนั้น เชิด

“ครั้นถึงยังห้องอยู่ตรงหน้า

บุษกาตกจิตคิดฉงน

ยั้งบาทถอยถอนเข้าซ่อนตน

ด้วยผู้คนทั่วถ้วนล้วนแปลกตา”

ที่ว่าแปลกตานี้ไม่ใช่แปลกหน้า เพราะแน่นอนทุกคนย่อมเป็นคนแปลกหน้า แต่ที่ผงะถอยกรูดออกมาตั้งหลักยืนหอบตรงผนังตึกนอกห้องนั้น เพราะในห้องนั้นถึงจะมีคนไม่กี่คน แต่ทุกคนก็ดูหน้าตาจริงจัง เร่งรีบไปเสียหมดสิ้น ผนังห้องนั่นเล่าก็ล้วนเต็มไปด้วยแผ่นผ้า แผ่นโปสเตอร์ อันเต็มไปด้วยการเรียกร้องสิทธิ ความยุติธรรม ต่อต้านทุนนิยมสามานย์ และใดๆๆๆๆๆ ไหนกันกลองทอม ไหนกันโต๊ะปิงปอง ไหนกันห้องดนตรีสากล ไหนกันพี่ที่จะมาบูมให้ฉัน นี่มันอะไรกัน นี่มันอะไรกัน ฮือๆๆๆ

วันนั้น ฉันเดินกลับบ้านอย่างเศร้าสลด คิดถึงเพลง โอ้ทะเลแสนงาม กับ แรกเราพบกัน จับใจ

05

ภาพตัดมาที่ฉันยุคปัจจุบัน ณ บริเวณหน้าตึกเรียนมหาวิทยาลัยโบโลญญาอีกครั้ง ฉันเดินต่อมาอีกหน่อยก็มาถึงทางเข้าห้องสมุดคณะ ฉันยิ้มดีใจ ฉันได้พบอาจารย์ที่ฉันเรียนด้วยในชั้นเรียนนั้น แต่ไม่ได้เจอตัวท่านหรอกนะ แต่ห้องสมุดคณะได้กลายเป็นชื่อท่านไปแล้ว Prof. Ezio Raimondi

เดินออกมาไม่นานนักก็ถืงโรงอาหารที่ฉันเคยกินอยู่เป็นประจำ ตอนนี้กลายเป็นเหมือนคาเฟ่ที่เปิดให้คนทั่วไปมานั่งได้ ฉันเดินก้าวเข้าไปแล้วยิ้ม คือจริงๆ นะ วันนั้นคงมีคนกลับบ้านไปเม้ากับเพื่อนว่าเจอคนเอเชียบ้า ยืนยิ้มให้ตึกไปมา คือถ้ายิ้มให้โบสถ์วิหารอะไรก็ว่าไปอย่าง แต่นี่ไปยืนยิ้มอยู่ในร้านอาหาร สี่แยกกลางถนน ลูบคลำป้ายรถเมล์ ประตู หลักผูกจักรยาน ฯลฯ ไปเรื่อย

นักเรียนเก่า อิตาลี พาทัวร์ มหาวิทยาลัยโบโลญญา มหา'ลัยไร้รั้วที่กระจายอยู่ทั่วเมืองโบโลญญา
ที่ซึ่งเคยเป็นโรงอาหารในสมัยก่อน ตอนนี้เป็นบาร์ของมหาวิทยาลัยไปแล้ว ทันสมัยกว่าเดิม

ตอนที่อยู่นั้น โรงอาหารนี้คือที่พักพิงสำหรับอาหารกลางวัน เรียกว่าถ้าไม่มีโรงอาหารนี้ ชีวิตฉันในโบโลญญาก็จะไม่ได้กินอะไรดีๆ เลย เพราะถึงบ้านก็จะกินแต่ปาสต้าคลุกทูน่ากระป๋อง โรยพริกไทย โอชาจะหาไหนไม่มีเทียบเปรียบมือนาง

อาหารกลางวันที่เขาทำนั้น ถ้าเป็นคนโบโลญญากินเองคงมองบนเบะปาก แต่สำหรับฉันนั้นเหมือนกินอาหารทิพย์ การได้กินลาซาญญา (จริงๆ อิตาเลียนเรียก ลาซาญเญ) เกือบทุกวันนั้น สำหรับฉันฟินสุดๆ แต่ก็นั่นแหละ เขาให้กินทุกวันหรือก็เปล่า ก็มีปาสต้าอื่นบ้าง หรือไม่อยากกิน ก็ไปกินพิซซ่า กินขนมปัง ข้างนอกสิ ใครจะไปว่าอะไร

นักเรียนเก่า อิตาลี พาทัวร์ มหาวิทยาลัยโบโลญญา มหา'ลัยไร้รั้วที่กระจายอยู่ทั่วเมืองโบโลญญา
ร้านพิซซ่า

เพื่อนฉันที่ไปด้วยคนหนึ่ง นางไม่ชอบกินชีส นางว่าเลี่ยน ฉันก็ให้นึกสงสารว่า เออหนอ จะให้ทำอย่างไร มาอิตาลีแล้วไม่กินชีสนี่ประหนึ่งอยู่เมืองไทยแล้วไม่กินเผ็ด ไม่ใช่ว่าจะไม่มีอะไรให้กิน แต่ก็ต้องเสาะต้องหากันนิดหนึ่งนะ วันต่อมา เข้าโรงอาหารด้วยกัน นางก็เอาอาหารที่มีชีสมากินอีก ฉันก็ถามนางว่า แล้วจะกินได้หรือนั่น แทนคำตอบ นางรูดซิปเสื้อกันหนาวของนางออก แล้วคว้าสิ่งที่นางซ่อนไว้ในกระเป๋าเสื้อด้านใน ถ้าไม่ใช่เพื่อนกันฉันคงคิดว่านางหยิบเอาอะไรมาฟาดปากฉันเสียแล้ว ปรากฏว่าสิ่งที่นางหยิบออกมานั้นคือ…

ซอสมะเขือเทศ

ยังไม่ทันหายตะลึง นางก็เทซอสพลั่กๆๆๆ ใส่อาหารจนแดงฉานไปทั้งจาน รสชาติรสชีสคงไม่เหลืออะไรแล้ว นักศึกษาอิตาเลียนหนุ่มสาวนั่งข้างๆ เหล่มามองตาเหลือก ถ้าพรุ่งนี้แม่ครัวกับคนล้างจานถือไม้นวดแป้งเดินตามโต๊ะดักดูว่าอ้ายอีที่ไหนบังอาจมาทำลายวัฒนธรรมอาหารโบโลญญาอันขจรขจายไปทั่วอิตาลีและทั่วโลก ฉันจะไม่แปลกใจเลย แต่เอาจริงคงดักไม่ยากหรอก จะมีใครริอ่านราด Ketchup บนอาหารอิตาเลียนได้ถ้าไม่ใช่คนต่างชาติอย่างพวกเรา

แต่ไม่หรอก เขาไม่ว่าอะไรหรอก แต่ฉันน่ะนึกเสียดายตังค์

ก็ถ้าจะกินอย่างนั้น จะมากินที่โรงอาหารทำไม ก็กลับบ้านไปกินข้าวไข่ดาวหรืออะไรแล้วเอาซอสมาราดเข้าไปสิ ถูกกว่าด้วย

06

เดินต่อมาอีกหน่อยก็เจอบัณฑิตใหม่ เพราะบังเอิญได้ไปช่วงที่เขารับปริญญากัน การรับปริญญาเรียบง่าย อยากรู้ว่าใครได้รับปริญญาก็คือคนที่สวมมงกุฎใบ Laurel 

เรียกว่ารับปริญญาได้ไหม เรียกว่าเรียนจบดีกว่า เรียนจบกันตอนไหนก็รู้กันตอนนั้นเลย นั่นก็คือ สอบปากเปล่า พอสอบเสร็จ อาจารย์ประชุม แล้วก็บอกเลยว่าผ่าน นั่นก็คือเรียนจบนั่นเอง

คนอื่นๆ ก็รู้พร้อมๆ บัณฑิตนั่นล่ะ เพราะก็สอบกันห้อง ให้นึกภาพขึ้นศาล มีผู้พิพากษานั่งอยู่ข้างหน้า มีอาจารย์อีกจำนวนหนึ่งขนาบอยู่ซ้ายขวา เราก็เป็น…พยานแล้วกัน อย่าให้ถึงกับเป็นจำเลยเลย ผู้พิพากษาก็ซักพยานนั่นล่ะว่าเห็นเหตุการณ์ (ทำวิทยานิพนธ์) เองจริงไหม ถ้าเราทำเองก็ไม่ต้องกลัวอะไร มีสติหน่อย ตอบให้ตรงคำถาม อย่าแจ้งความเท็จก็แล้วกัน เมื่อคณะกรรมการหมดคำถามแล้ว ก็จะคิดไตร่ตรองสักพัก ก่อนจะประกาศให้ทราบโดยทั่วกันว่าผ่านหรือไม่ผ่าน

เมื่อผ่าน พอออกมานอกห้อง มงก็ลง มงที่ว่าก็คือมงกุฎใบ Laurel ที่ว่าไปนั่นเอง ถ้าไม่ผ่านน่ะเหรอ ก็พวกพ้องกลุ่มเดิมพากันหิ้วปีกซับน้ำตา ส่งให้ถึงบ้าน ไม่ให้เดินขึ้นที่สูงแล้วร่อนลงมาให้ได้มรณบัตรก่อนปริญญาบัตร

ปริญญาบัตรได้ตอนไหนน่ะเหรอ เฮอะ ลืมไปได้เลย ไปประกอบสัมมาอาชีพอะไรก็ทำไปเถอะ วันดีคืนดีเขาก็จะส่งมาที่บ้านเอง

07

กระนั้น ก็อย่าได้หมายว่า Elite อะไรกันขนาดนี้แล้วจะไม่เชื่อถือโชคลางใดๆ นะ

เด็กมหาวิทยาลัยนี้ก็เช่นเดียวกับเด็กมหาวิทยาลัยอื่นๆ ในอิตาลี มีข้อห้ามบางอย่างที่เข้าตำรา ‘ไม่เชื่อแต่อย่าลบหลู่’ อยู่เหมือนกัน ในบรรดาคำขู่ขวัญใดๆ หรือจะมีอำนาจเท่ากับว่า ถ้าทำแล้วจะเรียนไม่จบ

และสำหรับสิ่งต้องห้ามสำหรับเด็กมหาวิทยาลัยโบโลญญาก็คือ การปีนขึ้นหอคอยกลางเมือง

อันว่าหอคอยนี้ก็คือหอคอยอาสิแนลลี่ (Asinelli) เอาใหม่ เล่าใหม่ กลางเมืองโบโลญญา ย้ำว่ากลางเมืองจริงๆ ไม่เชื่อลองเปิดกูเกิลแมพส์ดูตาม จะมีหอคอยอยู่ 2 หอ หอหนึ่งสูงชะลูดทะยานฟ้า เด่นเป็นสง่า ค่าที่สูงถึง 97.2 เมตร นอกจากจะเป็นสิ่งก่อสร้างที่สูงที่สุดในเมืองโบโลญญาแล้ว เธอ (เพราะหอคอยเป็นเพศหญิงในภาษาอิตาลี) ยังรั้งตำแหน่งหอคอยในยุคกลางที่สูงที่สุดในโลกอีกด้วย อยากชมวิวบนยอดหอก็ย่อมได้ เพราะข้างในกลวง และมีบันไดวนนับได้ถึง 498 ขั้น นำไปสู่ด้านบนสุด ซึ่งมองเห็นโบโลญญาได้ทั้งเมือง ถ้าไม่ฟุบหรือกลิ้งขลุกๆ ตามบันไดเวียนลงไปเสียก่อน หอคอยนี้แหละที่เป็นตำนานไม่ให้นักศึกษาปีนก่อนจบ

ส่วนอีกหอที่อยู่ใกล้ๆ กันนั้นเตี้ยกว่ากันมาก แต่จะไม่ให้พูดถึงก็ไม่ได้ เพราะคนโบโลญญาเรียกจุดใจกลางเมืองนี้ว่า ‘สองหอคอย’ (Le due torri) หอนี้ชื่อการิเซนดา (Garisenda) สูง 48 เมตร และเป็นหอเอน หอนี้ไม่มีใครห้าม อยากจะปีนก็ปีน อาจไม่ถึงกับเรียนไม่จบ แต่อาจจบช้าไปนิด เพราะถูกตำรวจจับติดตารางเสียก่อน

นักเรียนเก่า อิตาลี พาทัวร์ มหาวิทยาลัยโบโลญญา มหา'ลัยไร้รั้วที่กระจายอยู่ทั่วเมืองโบโลญญา
หอสองหอกลางเมือง จากมุมถนนซัมโบนี

08

เคยเล่าไว้แล้วว่า ประสบความล้มเหลวกับการเรียนในชั่วโมงแรก ถามว่าแล้วทำอย่างไร ก็จะขอแชร์ไว้เผื่อจะใช้ได้กับบางคน

ประการแรกคือ ทำใจ 555 เอ้า จริง ต้องทำใจก่อนนะ แล้วก็มองตัวเองจริงๆ ก็จะพบว่าวิชานี้คือวิชาวรรณคดีอิตาลี 2 ซึ่งแปลว่า มันต้องผ่านตัว 1 มาแล้ว ก็จะให้อภัยตัวเองได้หน่อยหนึ่ง จากนั้นก็ต้องคิดต่อว่า นี่คือวิชาวรรณคดีในคณะอักษรศาสตร์ กลับไปมองตอนเรียนอยู่ ถ้ามีนิสิตต่างชาติคนหนึ่งไม่เคยเรียน ลิลิตพระลอ แล้วมานั่งเรียนในห้องจะรู้สึกอย่างไร ก็จะให้อภัยตัวเองไปอีกนิดนึง จริง ๆ ทุนก็ไม่เรียกร้องให้สอบอะไรด้วยนะ แต่ก็อยากแก้ปัญหานี้อยู่ดี เพราะไม่อยากไม่สนุกในห้องเรียน เคยสนุกมาตลอดชีวิต ไม่อยากไม่สนุกตอนมาถึงที่นี่แล้ว

นักเรียนเก่าอิตาลีพาทัวร์ มหาวิทยาลัยโบโลญญา มหา'ลัยไร้รั้วที่กระจายอยู่ทั่วเมืองโบโลญญา
คณะอักษรศาสตร์และทรัพย์สินทางวัฒนธรรม

แล้วทำยังไง

อย่างที่ว่า ถ้าเป็นนักเรียนต่างชาติต้องมาเรียน ลิลิตพระลอ หรือสัมมนาวรรณคดีไทยจะทำอย่างไร คำตอบที่ให้กับตัวเองก็คือ ต้องไปย้อนดูว่า เด็กอิตาเลียนเรียนวรรณคดีอะไรกันมาบ้างก่อนเข้ามหาวิทยาลัย คราวนี้ก็นั่นละ เริ่มตั้งแต่การ์ตูน วรรณคดีฉบับย่อ วรรณคดีฉบับเตรียมสอบ วรรณคดีฉบับจริง แล้วถึงได้รู้ว่า อาจารย์สอนแต่วรรณคดีชิ้นรองๆ (เพราะชิ้นเอกสอนไปแล้วไง) ที่รู้สึกเปิ่นเทิ่นมันเทศไปกว่านั้นก็คือ คำว่า ‘วันที่ 5 พฤษภาคม’ ที่จดไปนั้น คือชื่อของบทกวี หาใช่วันใดๆ ไม่ ฮือๆ

ต่อมาก็เรื่องการฟัง ปัญหาเรื่องการฟังของตัวเองนั้นถือเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดใน 4 ทักษะ (ฟัง พูด อ่าน เขียน) อยู่แล้ว เพราะในระดับภาษาเท่าๆ กัน คิดว่า การฟังของตัวเองแย่ที่สุด แปลกไหม พูดได้ แต่ฟังไม่ทัน เอาจริงๆ ก็คือ ถ้าให้เหตุผลกับตัวเองนะ เทียบเฉพาะแค่การพูดกับการฟังเนี่ย เป็นเพราะการพูด เราเป็นคนตัดสินใจเอง เลือกคำเอง หาคำตรงไม่ได้ ก็หาทางอ้อมได้ เพราะเรารู้อยู่แล้วว่าจะพูดอะไร ทุกอย่างมันแจ่มชัดอยู่ในสมอง คำไม่ได้ มือไม้ก็ต้องออก แต่ฟังเนี่ย มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับเรานะ มันขึ้นอยู่กับคนพูด เขาเลือกคำทั้งหมดมาให้แล้ว แล้วยังสำเนียง ความเร็ว ความดัง-ค่อย ฯลฯ มันยากจริงๆ นะ 5555 นี่ให้เหตุผลกับตัวเองอย่างนี้ ไม่เคยสนใจหาคำตอบทางทฤษฎีภาษาศาสตร์ รู้ว่าฟังไม่เก่ง ก็ต้องหาทางทำให้เก่งขึ้นเท่านั้นเอง

อย่างแรกที่ทำคือ ดูทีวี อันนี้ เวิร์กมาก ได้ความคิดนี้มาจากการเรียนภาษาอิตาเลียนนี่เอง อาจารย์บอกว่า คนอิตาเลียนก็มีปัญหาเรื่องภาษาเมื่อตอนรวมประเทศเหมือนกัน เพราะแต่ละแคว้นก็มีภาษาของตัวเอง เมื่อรวมประเทศ ก็ได้กำหนดให้ภาษาของแคว้นทัสกานีเป็นภาษามาตรฐาน จากนั้นทุกคนในประเทศก็ต้องเรียนภาษานี้ ซึ่งก็ล้มเหลวๆ ลุ่มๆ ดอนๆ มาตลอด จนกระทั่งมีโทรทัศน์เกิดขึ้นในอิตาลี ปัญหานี้ก็แทบจะหายไปในพริบตา คิดได้ดั่งนั้นก็ทำตาม เวลาไหนไม่มีเรียน ก็นั่งดูทีวีทั้งวันเลย รายการจะมีสาระไม่มีสาระไม่สนใจ ดูหมดทุกรายการ มาคิดเอาตอนนี้แล้วสงสารเพื่อนร่วมบ้านเหมือนกันที่ต้องแชร์ค่าไฟเท่าๆ กัน T-T

อีกอย่างที่ฝึกฟังคือ แต่อันนี้เนิร์ดมากนะ คิดถึงตัวนี้แล้วยังคิดว่าเหมือนคนโรคจิต นั่นคือ ไปนั่งอยู่ที่สถานีรถไฟโบโลญญา ทำอะไร ฟังประกาศ นึกออกใช่ไหมว่า เขาจะมีประกาศรถขบวนนี้มาจากไหน กำลังจะไปไหน ดีเลย์กี่นาที ขึ้นที่ชานชาลาอะไร ฯลฯ นั่งฟังอยู่อย่างนั้นจนแน่ใจว่าฟังออกแล้ว ก็กลับบ้าน จนถึงวันนี้ เวลามีประกาศอะไรพวกนี้ก็ยังนึกถึงวันนั้นอยู่เลย

อีกอย่างที่ทำและโรคจิตไม่แพ้กันคือ สั่งกาแฟกินแล้วเงี่ยหูฟังคนข้างๆ คุยกัน อันนี้ได้สำนวนอะไรมาพอสมควร แต่ต้องระวังไม่ให้ฟังเรื่องตลกหรือเรื่องตื่นเต้น เพราะอาจจะหัวเราะหรือเอามือทาบอกก่อนคู่สนทนา แล้วความจะแตก

นี่แหละ ชีวิตฉันที่มหาวิทยาลัยโบโลญญา

Writer & Photographer

Avatar

สรรควัฒน์ ประดิษฐพงษ์

‘ครูก้า’ ของลูกศิษย์และลูกเพจ ผู้เชื่อ (ไปเอง) ว่าตัวเองเป็นครูสอนภาษาอิตาเลียนมือวางอันดับหนึ่งของเอเชียอาคเนย์ หัวหน้าทัวร์ผู้ดุร้าย นักแปลผู้ใจเย็น ผู้เชิดหุ่นกระบอกมือสมัครเล่น และนักเขียนมือสมัครเล่นเข้าไปยิ่งกว่า