ใคร ๆ ก็บ่นว่าค่าไฟแพงขึ้นและไม่มีทีท่าว่าจะปรับลดในเร็ว ๆ นี้ คำถามในใจของใครหลายคนก็คือ ‘ติดโซลาร์เซลล์ดีไหม แล้วจะคุ้มจริงหรือ’

โดยเฉพาะคนที่เปลี่ยนมาทำงานที่บ้านหรือทำงานแบบไฮบริดและคนที่เพิ่งซื้อรถยนต์ไฟฟ้า แม้กระทั่งเจ้าของธุรกิจที่มีสำนักงานและโรงงานต้องใช้ไฟ 7 วันต่อสัปดาห์ หรือผู้นำชุมชนที่กำลังมองหาพลังงานสะอาดมาใช้ในชุมชนเพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายในระยะยาว แถมยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าแหล่งพลังงานไฟฟ้าจากถ่านหินและก๊าซธรรมชาติที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

เมื่อตัดสินใจจะติดตั้งโซลาร์เซลล์ทั้งที พอลงมือหาคำตอบ ข้อมูลมากมายในอินเทอร์เน็ตอาจชวนให้สับสนจนจับต้นชนปลายไม่ถูก เพราะศัพท์เทคนิคทางวิศวกรรมเยอะเหลือเกิน รวมถึงกฎข้อบังคับขององค์กรภาครัฐที่ต้องมีขั้นตอนยื่นขออนุญาตการติดตั้งการใช้พลังงานโซลาร์เซลล์ในบ้าน สำนักงาน โรงงาน และชุมชนที่ยังมีข้อจำกัดต่าง ๆ อยู่มาก การลงทุนติดตั้งโซลาร์เซลล์ที่ต้องใช้เงินก้อนโตจะคุ้มทุนในระยะเวลาเท่าใด แล้วการดูแลรักษาซ่อมบำรุงมีความยุ่งยากซับซ้อนแค่ไหน นโยบายของภาครัฐและแหล่งเงินกู้ในการสนับสนุนการใช้พลังงานแสงอาทิตย์เป็นอย่างไรบ้าง สารพัดคำถามที่หลายคนอยากรู้ เพื่อเป็นข้อมูลในการติดตั้งโซลาร์เซลล์ที่บ้าน องค์กร หรือแม้กระทั่งในชุมชนที่ตัวเองอาศัยอยู่

ทั้งหมดนี้กลายมาเป็นการเดินทางหาคำตอบในทริป ‘Walk with The Cloud 29 : เดินไฟ’ เมื่อวันเสาร์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา จากความตั้งใจของ The Cloud, บริษัท ป่าสาละ จำกัด และสมาคมพลังงานหมุนเวียนไทย (RE100) ที่ต้องการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การใช้พลังงานหมุนเวียน 100% ร่วมกันจัดทริปเพื่อพาทุกคนที่มีแผนกำลังจะติดตั้งโซลาร์เซลล์หรือมีแผนจะติดเพิ่ม มาร่วมสำรวจและเรียนรู้ 1 บ้าน 1 องค์กร และ 1 ชุมชนตัวอย่างในกรุงเทพฯ ที่มีประสบการณ์การติดตั้งโซลาร์เซลล์มานานหลายปี

โซลาร์เซลล์ 101

ก่อนจะไปดูความแตกต่างระหว่างการติดตั้งโซลาร์เซลล์ระหว่างบ้าน องค์กร และชุมชน เราขอปูพื้นฐานความรู้เรื่องของการติดตั้งโซลาร์เซลล์ในประเทศไทยก่อน เพื่อเพิ่มอรรถรสในการอ่านหลังจากนี้ เริ่มจาก

อุปกรณ์พื้นฐาน

1) แผงโซลาร์เซลล์ มีตั้งแต่ขนาดกำลังไฟเริ่มต้นที่ 3, 5 ,10, 20, 25 กิโลวัตต์ ไปจนถึง 1 เมกะวัตต์ ควรเลือกแบรนด์ชั้นนำที่ได้รับการรับรองในกลุ่ม Tier 1 ซึ่งเป็นแบรนด์ที่ผู้ผลิตมีโรงงานเป็นของตัวเองและมีความน่าเชื่อถือสูงสุด จึงทำให้การใช้งานมีประสิทธิภาพสูงสุด แผงโซลาร์เซลล์ควรมีอายุการใช้งานถึง 25 ปี และมีค่าความเสื่อมสภาพไม่ควรเกินปีละ 0.4% เท่านั้น

2) อินเวอร์เตอร์ (Solar Inverter) จะช่วยแปลงกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่เป็นกระแสตรง (DC) ให้กลายเป็นไฟฟ้ากระแสสลับ (AC) เพื่อให้ใช้งานกับเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านได้

3) เครื่องคุมการชาร์จไฟ (Solar Charge Controller) มีหน้าที่ควบคุมการชาร์จไฟที่ได้จากแผงโซลาร์เซลล์เพื่อนำไปเก็บไว้ในแบตเตอรี่

4) แบตเตอรี่ เอาไว้เก็บไฟสำรองเพื่อใช้ในยามกลางคืน หรืออาคารที่มีความจำเป็นต้องติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์แบบ Off-grid หรือระบบ Hybrid

ระบบการติดตั้งโซลาร์เซลล์มี 3 แบบ 

1) ระบบ On-grid เป็นการติดตั้งโซลาร์เซลล์ที่เชื่อมต่อกับระบบส่วนกลางของการไฟฟ้าโดยตรง ใช้ไฟจากแผงโซลาร์เซลล์และจากการไฟฟ้าควบคู่กันโดยไม่ต้องใช้แบตเตอรี่ เป็นระบบที่นิยมกันมากที่สุด นำไฟไปขายให้กับการไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้โดยตรง

2) ระบบ Off-grid หรือ Stand Alone ผลิตไฟใช้ไม่ง้อการไฟฟ้า โดยอาศัยแบตเตอรี่เป็นตัวเก็บพลังงานไฟฟ้าสำรองเพื่อใช้ในตอนกลางคืน ระบบนี้ไม่เป็นที่นิยม เพราะราคาแบตเตอรี่ยังไม่คุ้มค่ากับการติดตั้งและเทคโนโลยียังอยู่ในช่วงกำลังพัฒนา

3) ระบบ Hybrid คือเป็นระบบ On-grid ที่มีแบตเตอรี่สำรองไว้ใช้ในตอนกลางคืน

การติดตั้งโซลาร์เซลล์ควรหันแผงไปทางทิศใต้หรือทิศตะวันตก ซึ่งเป็นทิศที่รับแสงแดดได้ดี และองศาความลาดเอียงที่เหมาะสมอยู่ในช่วง 13 – 15 องศา เป็นมุมที่จะได้รับแสงอาทิตย์ได้ดีที่สุดตลอดวัน

 ระบบการรับซื้อ-ขายไฟจากการไฟฟ้ามีอยู่ 2 แบบ คือ Net Billing และ Net Metering โดยนโยบายการรับซื้อไฟคืนจากการไฟฟ้าในประเทศยังเป็นรูปแบบ Net Billing คือราคาที่ขายไฟคืนให้การไฟฟ้า (2.2 บาท) ต่ำกว่าราคาที่การไฟฟ้าขายไฟให้ประชาชน (4.7 บาท) สำหรับบ้านที่อยู่อาศัยเท่านั้น ในขณะที่ระบบ Net Metering ราคาซื้อ-ขายไฟฟ้าระหว่างการไฟฟ้าและประชาชนเท่ากัน ส่งผลให้แต่ละบ้านที่ผลิตไฟฟ้าเกินกว่าที่ใช้ในช่วงกลางวันส่งกลับคืนเข้าส่วนกลางเพื่อฝากไฟ และถอนไฟกลับมาใช้ในตอนกลางคืนได้ จึงทำให้ระบบนี้เป็นกลไกที่สร้างแรงจูงใจในให้ภาคประชาชนและภาคเอกชนหันมาติดตั้งและผลิตไฟฟ้าจากระบบโซลาร์เซลล์มากขึ้น ซึ่งระบบนี้เป็นที่แพร่หลายในหลายประเทศทั่วโลก

บ้าน ‘ต้นคิดทิพย์ธรรม’

เริ่มจากเดินทางไปเยี่ยม ‘บ้านต้นคิดทิพย์ธรรม’ โดยมี ดร.เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต พรรคก้าวไกล และ คุณรุ่งทิพย์ สุขกำเนิด แห่ง ‘บ้านต้นคิดทิพย์ธรรม’ ที่คอยเปิดบ้านต้อนรับพวกเราเป็นอย่างดี พร้อมด้วย คุณอาทิตย์ เวชกิจ แห่งสมาคมพลังงานหมุนเวียนไทย (RE100) ที่มาร่วมให้ความรู้เรื่องการติดตั้งโซลาร์เซลล์ในบ้าน

ความตั้งใจแต่แรกของ อ.เดชรัตและคุณรุ่งทิพย์ คือต้องการสร้างบ้านให้ประหยัดพลังงานมากที่สุด และมุ่งหมายจะเป็นบ้าน Net Zero คือเป็นบ้านที่มีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ ผ่านการใช้พลังงานทางเลือกและเลือกทำกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สร้างผลกระทบให้น้อยที่สุด

เมื่อ 13 ปีที่แล้วพวกเขาจึงออกแบบบ้านให้ ‘อยู่เย็น’ ที่สุด โดย 9 ปีแรกตั้งแต่สร้างบ้าน ไม่มีการติดเครื่องปรับอากาศ แต่เมื่อเจอปัญหาฝุ่น PM 2.5 เมื่อ 4 ปีก่อน จึงต้องติดเครื่องปรับอากาศ ปรากฏว่าค่าไฟที่เคยอยู่ประมาณ 500 บาท พุ่งไปถึง 2,200 บาท และเมื่อหันมาติดโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้าน ค่าไฟจาก 2,200 บาท ลดลงเหลือแค่ 200 บาทเท่านั้น

โอ้โห ฟังแบบนี้แล้วหูผึ่ง สนใจการติดตั้งโซลาร์เซลล์ที่บ้านขึ้นมาทันที แต่ไม่ใช้ทุกคนที่มีหลังคาบ้านจะติดโซลาร์เซลล์แล้วคุ้มค่าแบบบ้านนี้ ก่อนอื่นเราต้องมาสำรวจพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าในบ้านกันก่อน

เช่น ทำงานที่บ้านและเปิดแอร์ตอนกลางวันในวันธรรมดา หรือออกไปทำงานนอกบ้านในวันธรรมดา อยู่บ้านในวันเสาร์อาทิตย์ เพราะถ้าเราเป็นคนทำงานอยู่บ้านในตอนกลางวันเป็นส่วนใหญ่หรือมีคนอยู่บ้านทั้งวันตลอด เป็นบ้านที่มีค่าไฟมากกว่า 2,000 บาทขึ้นไปก็คุ้มที่จะติดโซลาร์เซลล์ที่บ้านแล้ว จึงมีคำพูดติดปากสำหรับคนที่ติดตั้งแผงโซลาร์ว่า ‘ติดโซลาร์เซลล์ให้คุ้ม ต้องอยู่บ้านตอนกลางวัน’ เพราะเราใช้ไฟที่ผลิตด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ได้โดยตรง จึงช่วยประหยัดค่าไฟในช่วงตอนกลางวันได้มากทีเดียว

การติดตั้งโซลาร์เซลล์ในบ้านส่วนใหญ่นิยมติดตั้งในระบบ On-grid เนื่องจากอุปกรณ์การติดตั้งไม่ซับซ้อนและใช้เงินลงทุนต่ำสุดใน 3 ระบบ อ.เดชรัตและพี่อาทิตย์ให้กฎเหล็ก 2 ข้อ คือหนึ่ง ติดตั้งโซลาร์เซลล์ให้มีขนาดกำลังไฟให้พอดีกับที่จะใช้ ห้ามติดเผื่อเพื่อป้องกันมิเตอร์หมุนย้อนกลับ 

และสอง ห้ามมีอะไรบังแผงโซลาร์เซลล์ ต้องเล็งเงาให้ดี นอกจากนี้ควรติดตั้งกับผู้ให้บริการที่น่าเชื่อถือ เป็นมืออาชีพ ซึ่งตรวจสอบผู้ประกอบการติดตั้งโซลาร์เซลล์ได้จากสมาคมพลังงานหมุนเวียนไทย (RE100)

เมื่อตัดสินใจที่จะติดตั้งโซลาร์เซลล์แล้ว ควรไปขออนุญาตจากภาครัฐก่อน โดยการขออนุญาต ณ ปัจจุบันค่อนข้างยุ่งยากและใช้เวลาพอสมควร ใบอนุญาตมีอยู่ 2 แบบ คือหนึ่ง ใบขอเชื่อมต่อกับการไฟฟ้าแบบไม่ขายไฟคืน และสอง แบบที่ขายไฟคืนได้ แต่เนื่องจากการขออนุญาตติดตั้งโซลาร์เซลล์ค่อนข้างใช้เวลานานพอสมควร จึงนิยมติดตั้งโซลาร์เซลล์ที่บ้านก่อนและขออนุญาตในภายหลัง เพราะยิ่งติดตั้งเร็ว ยิ่งประหยัดค่าไฟได้เร็ว ติดเร็วดีกว่าติดช้าแน่นอน

เทคนิคแบบไทย ๆ ที่ อ.เดชรัตเสริม คือต้องระวังไม่ให้ไฟไหลย้อนกลับ จากการที่โซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้าเกินกว่าที่ใช้ไฟจริง ซึ่งหากการไฟฟ้าตรวจพบจะต้องเสียค่าปรับขั้นต่ำ 3,000 บาท ส่วนบ้านที่ได้ใบอนุญาตแบบที่ขายไฟคืนได้ ต้องผลิตไฟฟ้าให้มากกว่าที่ซื้อจากการไฟฟ้าเป็น 2 เท่า จึงจะได้เงินจากการขายไฟจากการไฟฟ้าคืน และใช้เป็นส่วนลดค่าไฟรายเดือนได้

เมื่อมีคนถามถึงความคุ้มค่าในการติดตั้งโซลาร์เซลล์สำหรับบ้านที่มีการใช้รถยนต์ EV ร่วมด้วย เสมือนให้รถไฟฟ้ามีสถานะเป็นแบตเตอรี่ที่ช่วยเก็บไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ในระหว่างวัน คุณอาทิตย์เสริมว่า มีความเป็นไปได้ที่จะชาร์จแบตเตอรี่รถยนต์ในช่วงกลางวันและมาช่วยทำให้มิเตอร์ไฟฟ้าไม่ไหลย้อนกลับ แต่ต้องระวังการใช้แบตเตอรี่รถยนต์ผิดเงื่อนไขการรับประกันบริษัทรถยนต์ ส่วนในอีก 2 – 3 ปีข้างหน้า แบตเตอรี่ทั่วโลกจะมีประสิทธิภาพสูงขึ้นกว่านี้มาก เนื่องจากเทรนด์ความต้องการในการใช้รถยนต์ไฟฟ้าสูงขึ้นมาก จึงเกิดการพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่รถยนต์อย่างก้าวกระโดด และส่งผลให้ราคาแบตเตอรี่ลดลงในราคาที่เข้าถึงได้ ภายใน 10 ปีนี้เราจะได้เห็นการนำแบตเตอรี่รถยนต์ที่หมดอายุจากการใช้งานสำหรับรถยนต์มาฟื้นคืนสภาพ (Refurbish) และกลายมาเป็นแบตเตอรี่สำรองสำหรับระบบโซลาร์เซลล์ในบ้านต่อไป

ความหวังในอนาคตที่ อ.เดชรัตฝากไว้ คือการผลักดันนโยบายให้ระบบการซื้อขายไฟในประเทศไทยเป็นระบบ Net Metering ซึ่งจะช่วยให้เกิดความเป็นธรรมในการซื้อขายไฟฟ้า และจูงใจให้เกิดการเข้าถึงการใช้พลังงานสะอาดอย่างแพร่หลายสำหรับทุกคน และควรยกเลิกการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับบ้านที่ขายไฟคืนให้การไฟฟ้า เพราะเป็นผู้ผลิตไฟรายเล็ก มูลค่าการขายค่อนข้างต่ำ รวมถึงการพัฒนาระบบการลงทุนติดตั้งโซลาร์เซลล์สำหรับผู้อยู่อาศัยที่ไม่มีพื้นที่ในการติดตั้งโซลาร์เซลล์ เช่น คอนโดมิเนียม อะพาร์ตเมนต์ที่ลดค่าไฟจากปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้ต่อหน่วยที่ลงทุนไปได้เลย และการพัฒนาแหล่งเงินกู้สำหรับการติดตั้งโซลาร์เซลล์เพื่อสร้างผลตอบแทนในการสนับสนุนกลุ่มคนที่เป็นหนี้เรื้อรัง

เพราะการลงทุนติดตั้งโซลาร์เซลล์ให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจที่คุ้มค่าจริง ๆ

บริษัท ปัญญา คอนซัลแตนท์ จำกัด

หลังจากได้รับความรู้และเคล็ดลับการติดตั้งโซลาร์เซลล์ที่บ้านกันไปแล้ว ก็มุ่งหน้าต่อไปที่บริษัท ปัญญา คอนซัลแตนท์ จำกัด ย่านนวมินทร์ ซึ่งติดตั้งโซลาร์เซลล์โดยบริษัท NEPS ผู้ให้บริการโซลาร์เซลล์ชั้นนำของประเทศ และโดดเด่นเรื่องการให้คำปรึกษาอย่างละเอียดในทุกมิติ โดย คุณตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส กรรมการผู้บริหารและ คุณวโรรส อินทรศิริพงษ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท นิว เอ็นเนอร์จี พลัส โซลูชั่นส์ จำกัด ที่มาช่วยไขข้อข้องใจขั้นตอนและรายละเอียดการติดตั้งในอาคารสำนักงาน โรงงาน รวมถึงโรงเรียนและโรงพยาบาลอย่างกระจ่าง

เรื่องพื้นฐานก่อนการติดตั้งโซลาร์เซลล์ในอาคารสำนักงาน คือการสำรวจปริมาณการใช้ไฟฟ้าในช่วงวันธรรมดาและวันเสาร์-อาทิตย์ อย่างที่บริษัท ปัญญา คอนซัลแตนท์ จำกัด ส่วนมากจะใช้ไฟในวันจันทร์ถึงศุกร์และใช้น้อยลงในวันเสาร์-อาทิตย์ ซึ่งทาง NEPS ช่วยทำการจำลองการใช้ไฟฟ้าทั้งระบบของอาคารสำนักงานก่อนการติดตั้งโซลาร์เซลล์จริง เพื่อดูขนาดกำลังไฟที่ทั้งอาคารต้องใช้ทั้งหมด

การติดตั้งโซลาร์เซลล์ในอาคารสำนักงานและโรงงานจำเป็นต้องขอนุญาตจากหลายหน่วยงานภาครัฐให้เรียบร้อยก่อนติดตั้งจริง เริ่มจากขอแบบอนุญาตจากเทศบาลในการดัดแปลงอาคารจากการมีน้ำหนักที่หลังคาเพิ่มขึ้น จากนั้นดำเนินการต่อด้วยการขออนุญาตคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เพื่อแจ้งความจำนง และหากขนาดกำลังติดตั้งมากกว่า 200 กิโลวัตต์ต้องแจ้งกรมพลังงานทดแทนด้วย และสุดท้าย แจ้งขออนุญาตการไฟฟ้าในการขนานไฟ ซึ่งกระบวนการการขออนุญาตในปัจจุบันค่อนข้างซับซ้อน หลายขั้นตอน ไม่ต่างจากการทำการขออนุญาตตั้งโรงงานไฟฟ้า ทางภาครัฐจึงต้องมีการปรับตัวในอนาคตอันใกล้

หลังจากที่ขออนุญาตติดตั้งเรียบร้อยแล้ว การเลือกผู้ให้บริการติดตั้งที่น่าเชื่อถือและมีความมืออาชีพถือเป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยให้การติดตั้งโซลาร์เซลล์สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ซึ่งควรช่วยในการออกแบบระบบ วางระยะการติดตั้ง มีการรับประกันแผงโซลาร์เซลล์ และบริการซ่อมบำรุง ทำความสะอาดแผงโซลาร์เซลล์อย่างน้อยปีละ 1 – 2 ครั้ง ตรวจสอบระบบความร้อนและรายงานผลการตรวจสอบประจำปี

ชวนสำรวจและเรียนรู้ 1 บ้าน 1 องค์กร และ 1 ชุมชนตัวอย่างที่จะตอบคำถามว่า ‘โซลาร์เซลล์’ ยิ่งติดเร็วยิ่งคุ้มค่าจริงไหม

แล้วหลังคาแบบไหนที่ติดโซลาร์เซลล์ได้บ้าง คุณวโรรสเสริมว่า โดยทั่วไปแล้วอุปกรณ์รางยึดโซลาร์เซลล์เกือบทั้งหมดออกแบบมาให้ทุกประเภทหลังคา ยกเว้นเป็นหลังคาที่มีสภาพกระเบื้องเก่า ผุผัง มีความลาดชันหลังคาสูงเกินไป อาจแก้ไขด้วยการปูกระเบื้องซ้อนกระเบื้องเดิม หรือหากอาคารที่ติดตั้งมีดาดฟ้า ก็หล่อแท่นปูนเพื่อติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ได้เช่นกัน ซึ่งการออกแบบทางเดินบนหลังคาจะช่วยให้การบำรุงรักษาแผงโซลาร์เซลล์เป็นไปได้ง่าย และทาง NEPS ก็มีผู้เชี่ยวชาญทางด้านหลังคาโดยเฉพาะ จึงไม่ต้องกังวลในระหว่างติดตั้งว่าจะส่งผลกระทบให้หลังคาหรือดาดฟ้าเกิดความชำรุดเสียหาย

โดยปกติการติดตั้งโซลาร์เซลล์ในทุกที่จะคืนทุนได้ภายใน 5 – 7 ปี แล้วแต่ปริมาณการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่นั้น ๆ ยิ่งใช้ไฟมาก ยิ่งคืนทุนได้เร็ว ซึ่งเป็นการลงทุนแบบซื้อขาด แต่ก็มีการติดตั้งโซลาร์เซลล์อีกแบบที่เรียกว่า Private PPA (Power Purchase Agreement) คือเราไม่ต้องออกเงินลงทุนติดตั้งโซลาร์เซลล์สักบาทเดียว โดยจะมีผู้ให้บริการมาลงทุน ออกแบบ ติดตั้ง เดินระบบ และบำรุงรักษาให้เสร็จสรรพ จากนั้นเราก็ซื้อไฟฟ้าจากบริษัทผู้ให้บริการในราคาส่วนลด ซึ่งขนาดกำลังไฟฟ้าควรไม่น้อยกว่า 500 กิโลวัตต์ และมีจ่ายค่าไฟขั้นต่ำ 500,000 – 600,000 บาทต่อเดือน

เหตุผลสำคัญที่สุดที่ควรติดตั้งโซลาร์เซลล์ตั้งแต่วันนี้ คุณตรีรัตน์เน้นย้ำว่า เพราะเป็นการสร้างโรงไฟฟ้าในบ้าน สำนักงาน และโรงงานของตัวเอง เป็นหนึ่งในการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุด เพราะหลังจากคืนทุนใน 5 – 7 ปีแรกที่ติดตั้ง ปีที่ 6 – 25 ปีต่อมาก็เสมือนได้ใช้ไฟฟ้าฟรี และที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือเทคโนโลยีโซลาร์เซลล์มีประสิทธิภาพสูงสุดขึ้น ในราคาที่ลดลงมาเรื่อย ๆ จึงคุ้มค่าที่จะติดแน่นอน

T77 Community

 สุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุด เราจบทริปการเดินไฟ เรียนรู้เรื่องโซลาร์เซลล์ที่ T77 Community ย่านอ่อนนุช ซึ่งเราได้ คุณองอาจ สุวรรณกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียม บมจ.แสนสิริ (SIRI) ซึ่งเป็นผู้ดูแลพื้นที่ของ T77 Community และ คุณชนสรณ์ ภูวพานิช Residential Team Leads บริษัท ไอออน เอนเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (ION Energy) ผู้นำด้านจัดหาโซลูชันพลังงานโซลาร์ครบวงจร มาช่วยเล่าการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ร่วมกับเทคโนโลยี Blockchain ที่ทำให้การใช้พลังงานสะอาดร่วมกันเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

ชวนสำรวจและเรียนรู้ 1 บ้าน 1 องค์กร และ 1 ชุมชนตัวอย่างที่จะตอบคำถามว่า ‘โซลาร์เซลล์’ ยิ่งติดเร็วยิ่งคุ้มค่าจริงไหม
ชวนสำรวจและเรียนรู้ 1 บ้าน 1 องค์กร และ 1 ชุมชนตัวอย่างที่จะตอบคำถามว่า ‘โซลาร์เซลล์’ ยิ่งติดเร็วยิ่งคุ้มค่าจริงไหม

เมื่อ 7 – 8 ปีที่แล้ว ทางแสนสิริหมายมั่นปั่นมือให้ T77 Community เป็นโครงการชุมชนต้นแบบพื้นที่มากกว่า 50 ไร่ที่พยายามสร้างองค์ประกอบให้คนในชุมชนอยู่อย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น รวมถึงสร้างระบบนิเวศของเมืองในมีความสมดุล (Urban Sustainable Living) ไม่ว่าจะเป็นการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ การมีพื้นที่สีเขียวและสวนผักออร์แกนิกมากกว่า 18 ไร่ การสนับสนุนการแยกขยะอย่างเป็นระบบ รวมถึงการลดมลพิษทางอากาศ ซึ่งองค์ประกอบต่าง ๆ นี้เป็นส่วนหนึ่งในความมุ่งมั่นของแสนสิริที่จะเป็นองค์กรแห่งแรกในอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ที่มีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี 2050

‘เริ่มให้ได้ก่อน ทำได้แล้วไม่ยากอย่างที่คิด’ เป็นคำที่คุณองอาจเน้นย้ำ ถือเป็นความท้าทายในการสร้างสมดุลระหว่างการทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องบริหารต้นทุนการผลิตให้มีประสิทธิภาพสูงสุดควบคู่กับการเดินไปสู่เป้าหมายที่จะเป็นองค์กร Net Zero ในปี 2050 เพื่อส่งมอบวิถีชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้กับลูกบ้านและคนในชุมชน

ชวนสำรวจและเรียนรู้ 1 บ้าน 1 องค์กร และ 1 ชุมชนตัวอย่างที่จะตอบคำถามว่า ‘โซลาร์เซลล์’ ยิ่งติดเร็วยิ่งคุ้มค่าจริงไหม

การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ใน T77 Community ถือเป็นโครงการนำร่องแลกเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าแบบ Peer-to-Peer และใช้เทคโนโลยี Blockchain ในการแลกเปลี่ยนซื้อขายไฟฟ้ากันเองในชุมชม มี บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) หรือบางจากเป็นพันธมิตรหลักในการติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ทั้งหมดนี้ โดยการแลกเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าระหว่างยูนิตในชุมชนมีการติดตั้งโซลาร์เซลล์ในขนาดกำลังแตกต่างกัน เช่น ศูนย์การค้า Habito (ฮาบิโตะ) ติดตั้งขนาดกำลังไฟจากโซลาร์เซลล์ 54 กิโลวัตต์ โรงเรียนนานาชาติ Bangkok International Preparatory & Secondary School (บางกอกเพรพ) มีขนาดกำลังไฟมากกว่า 400 กิโลวัตต์ โครงการคอนโดมิเนียม 6 โครงการจากแสนสิริ) มีขนาดกำลังไฟมากกว่า 300 กิโลวัตต์ และ Park Court Grand Apartment มีขนาดกำลังไฟมากกว่า 150 กิโลวัตต์

หากยังนึกไม่ออกว่าการแลกเปลี่ยนซื้อ-ขายไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ระหว่างยูนิตใน T77 Community หน้าตาประมาณไหน ตัวอย่างเช่น ศูนย์การค้า Habito ที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงในวันเสาร์-อาทิตย์จะได้รับการจ่ายไฟจากแผงโซลาร์เซลล์ที่ผลิตจากโรงเรียนบางกอกเพรพที่มีการใช้ไฟฟ้าในหยุดสุดสัปดาห์น้อยกว่าวันธรรมดา โดยระบบพลังงานไฟฟ้าแบบเพียร์ทูเพียร์ใน T77 Community ลดการค่าไฟต่อหน่วยได้ถึง 12% หรือเทียบเป็นการประหยัดการใช้ไฟจากเครื่องปรับอากาศถึง 2,000 – 2,500 เครื่องเลยทีเดียว ซึ่งการติดตั้งโซลาร์เซลล์เป็นการลงทุนคุ้มค่าและได้ผลตอบแทนดีกว่าซื้อคอนโดเสียอีก

ชวนสำรวจและเรียนรู้ 1 บ้าน 1 องค์กร และ 1 ชุมชนตัวอย่างที่จะตอบคำถามว่า ‘โซลาร์เซลล์’ ยิ่งติดเร็วยิ่งคุ้มค่าจริงไหม

นอกจากนี้ แสนสิริยังมีโครงการที่อยู่อาศัยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นใน มุ่งสู่การเป็นบ้านประหยัดพลังงาน โดยแต่ละบ้านมีการใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม กระบวนการก่อสร้างที่สร้างขยะให้น้อยที่สุด และใช้พลังงานสะอาดจากโซลาร์เซลล์ที่ได้รับการติดตั้งมากกว่า 600 หลัง ส่วนการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาคอนโดมิเนียมก็มีการติดตั้งเต็มพื้นที่หลังคง และทาง ION Energy ยังช่วยลูกบ้านเก่าของแสนสิริในเข้าถึงโซลาร์เซลล์ในราคาพิเศษ เนื่องจากลดต้นทุนจากการซื้อแผงโซลาร์เซลล์เป็นจำนวนมากนั่นเอง

บทสรุปทริป

สรุปง่าย ๆ จากการ ‘เดินไฟ’ ในทริปนี้ วิทยากรทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันจริง ๆ ว่าการติดตั้งโซลาร์เซลล์ไม่ว่าจะเป็นในบ้าน องค์กรสำนักงาน โรงงาน ชุมชน ยิ่งติดเร็วยิ่งดี เพราะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าในระยะยาวและประเทศของเรามีข้อได้เปรียบที่มีแสงแดดดีตลอดทั้งปี แถมยังได้ใช้พลังงานสะอาดจากแสงอาทิตย์ที่เราเองกลายเป็นโรงผลิตไฟฟ้าขนาดย่อมให้บ้านตัวเองมีไฟฟ้าใช้ฟรี ๆ ไปอีก 25 ปี แถมยังช่วยโลกลดก๊าซเรือนกระจกอันเป็นสาเหตุต่อสภาวะภูมิอากาศแปรปรวนอีกต่างหาก ฉะนั้น ใครคิดที่จะติดตั้งโซลาร์เซลล์ เราขอให้ติดโลดไปเลย

Writer

ชลธาร นราตรี

ชลธาร นราตรี

นักหัดฟัง ผู้ชอบทำอาหารในบางเวลา ชอบกินเต้าหู้ นั่งมองแสงแดดอุ่นๆ ยามเช้าและยิ้มให้กับสายลมตรงหน้า ชอบถ่ายรูป เดินทักทายธรรมชาติ กอดต้นไม้ใหญ่ และอารมณ์ดีเมื่อได้กินไอติม

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ