28 พฤศจิกายน 2022
9 K

วันนี้เรามีนัดสัมภาษณ์ คุณตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส ประธานกรรมการบริหาร บริษัท นิว เอ็นเนอร์จี พลัส โซลูชั่นส์ (New Energy Plus Solutions) หรือ NEPS ในฐานะผู้ให้บริการจำหน่ายและติดตั้งโซลาร์เซลล์ที่น่าสนใจมาก

แต่ชีวิตและงานของเขาก่อนหน้านี้ก็น่าสนใจมากเช่นกัน

เขาได้เข้าสู่วงการเพลง เป็นศิลปินฝึกหัดตั้งแต่อายุ 15 ปี ผ่านการชักชวนของ เอฟู-ณรงค์ศักดิ์ ศรีบรรฎาศักดิ์วัชรากรณ์ โปรดิวเซอร์ผู้ร่วมก่อตั้งค่ายกามิกาเซ่ ได้เป็นศิลปินออกอัลบั้มในชื่อวงเอพริลฟูลส์เดย์ กับค่ายอาร์เอส ตอนอายุ 18 ปี จากนั้นก็ได้แต่งเพลง เป็นโปรดิวเซอร์ และทำคอนเสิร์ตให้ศิลปินกามิกาเซ่ อย่าง วงเค-โอติก วงเฟย์ ฟาง แก้ว และวงเซเวนเดส์

เขาเรียนจบสาขาธุรกิจดนตรี วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล พอทำงานเพลงมาจนถึงอายุ 21 ปี เขาก็ขอยกเลิกสัญญากับค่ายเพื่อกลับมาช่วยธุรกิจของครอบครัว

เขาคือทายาทรุ่นสามของบริษัทตัวแทนจำหน่ายกระดาษและนำเข้ากระดาษ แต่เขาเลือกที่จะไม่ทำธุรกิจครอบครัว เขาขอบุกเบิก ‘เปเปอร์กรีน’ กระดาษถนอมสายตารักษาสิ่งแวดล้อม นวัตกรรมใหม่ของวงการสิ่งพิมพ์ไทย

ล่าสุดเขาขยับมาทำธุรกิจโซลาร์เซลล์ในนามบริษัท NEPS ด้วยวิธีคิดเดียวกับการทำดนตรีและกระดาษ

คือตั้งใจสร้างความสุขให้ลูกค้า

ตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส จากศิลปิน RS สู่ CEO บริษัทกระดาษกรีน และโซลาร์เซลล์คิดต่าง

คุณโตมากับความคาดหวังว่าต้องมารับช่วงธุรกิจของครอบครัวต่อไหม

ตอนเด็ก ๆ คุณพ่ออยากให้ผมทำธุรกิจมาก แต่ผมไม่ทำ คุณพ่อเลยบอกว่า ถ้าอยากมาสายดนตรี ก็ต้องหาเลี้ยงชีพด้วยตัวเอง ดนตรีจึงเป็นบทพิสูจน์ของผมว่า ในสายอาชีพนี้ผมจะไปได้สุดแค่ไหน ผมได้ทำอัลบั้ม ได้เป็นโปรดิวเซอร์ ก่อนหน้านี้ผมก็เล่นดนตรีกลางคืน เล่นเปียโนในงานแต่งงานมาไม่ต่ำกว่า 40 งาน เพื่อพิสูจน์ให้ที่บ้านเห็นว่า แม้เราจะไม่ทำการค้า แต่ก็สามารถเลี้ยงดูตนเองได้เช่นกัน ถึงจะสร้างความมั่นคงได้ไม่มากนัก แต่ก็เป็นอาชีพที่มีความสุขมาก ได้สร้างความสุขให้ลูกค้า ให้คนฟังของเรา และนั่นกลายเป็น Core Value ในการทำงานของผมมาตลอดถึงทุกวันนี้

การได้ทำงานทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 20 ถือว่าประสบความสำเร็จ คุณไม่อยากไปต่อหรือ

จริง ๆ อยากไปไกลมากกว่านี้ แต่วงการเพลงไทยไม่เอื้อต่อคนทำเพลงสักเท่าไหร่ เช่น เราทำเพลงไป ลิขสิทธิ์ก็เป็นของค่ายเพลง เราเป็นเสมือนโปรดักต์หนึ่งของเขา อยู่ล่างสุดของห่วงโซ่อุปทาน ผมไม่อยากรับบรีฟจากผู้บริหารค่ายว่า ให้ทำวงนี้ให้เหมือนวงนั้น เราไม่มีอิสระในการทำงาน ทำให้เราสูญเสียความเป็นตัวเองในท้ายที่สุด ยิ่งในตำแหน่งโปรดิวเซอร์จะมียอด KPI เข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น ยอดวิว ยอดดาวน์โหลด มันไม่ใช่การทำศิลปินให้เขาเป็นเขา แต่กลายเป็นเราไปสร้างตัวเขาให้เป็นสิ่งที่เราอยากให้เขาเป็น เลยเป็นจุดที่ผมไม่มีความสุขแล้ว

คุณก็เลยลาออก

ไปบวชจำพรรษาอยู่ที่วัดสระเกศฯ อยู่ 4 เดือน สอบนักธรรมชั้นตรีเลยครับ จริงจังเลย บวชเสร็จคุณพ่อก็มาคุยว่า ได้ใช้ชีวิตในระดับหนึ่งแล้ว ควรจะกลับมาช่วยงานที่บ้านได้แล้ว ผมก็เลยยอม แต่มีข้อแม้ว่าขอทำในแบบของผมเอง ผมจะไม่ยุ่งกับธุรกิจเดิมของที่บ้าน แต่จะทำธุรกิจของผมเอง เลยเปิดบริษัทกระดาษชื่อ เปเปอร์กรีน

ถือเป็นกระดาษตัวหนึ่งที่เปลี่ยนแปลงวงการสิ่งพิมพ์ไทยเลย

ผมไปเมืองนอกแล้วก็เห็นว่าหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊กของเขามีน้ำหนักเบา ถนอมสายตา แล้วก็มีเรื่องความยั่งยืนด้วย เลยสนใจในนวัตกรรมของเขา ได้เห็นแนวคิดเรื่องป่าปลูก หากตัดต้นไม้ 1 ต้น ต้องปลูกคืน 2 ต้น ซึ่งผมได้ไปโรงงานกระดาษที่สวีเดนและแคนาดา ที่น่าสนใจคือการผลิตกระดาษด้วยเยื่อใยยาว ซึ่งเขาบอกว่าเมืองไทยนี่ต้นไม้ใช้เยื่อในสั้น เช่น ต้นยูคาลิปตัส หากยกตัวอย่าง 1 ต้น แปลงเป็นกระดาษได้ 1,000 รีม แต่ถ้าหากใช้ต้นสนของบ้านเขา ซึ่งทำมาจากเยื่อใยยาวที่มาความทนกว่า 1 ต้นอาจจะได้กระดาษถึง 2,000 รีมทีเดียว

ผมจึงตัดสินใจนำเข้ากระดาษประเภทนี้เข้ามาทำตลาดในเมืองไทยเป็นคนแรก ซึ่งตอนนั้นผมอายุ 21 ปี มีลูกค้าชั้นนำหลาย ๆ รายที่ให้โอกาสเรา นิตยสาร a day, a day bulletin สำนักพิมพ์ a book, อัมรินทร์, เนชั่น, Vogue Magazine ก็ใช้กระดาษของเรา เราสามารถปฏิวัติวงการพิมพ์ไทยจากการคุ้นเคยกระดาษปอนด์ขาว ๆ มาเป็นกระดาษถนอมสายตาที่เบาขึ้น และที่ผมภูมิใจมากคือ การได้เข้ามาเปลี่ยนกระดาษในหนังสือแบบเรียนของเด็กนักเรียน ทำให้เด็ก ๆ ถือหนังสือไปเรียนได้ แบกกระเป๋าที่มีน้ำหนักน้อยลง ตอนนั้นถือว่าเราประสบความสำเร็จมาก จนบริษัทอย่าง SCG ต้องออกกระดาษถนอมสายตากรีนรีดออกมาขาย

ตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส จากศิลปิน RS สู่ CEO บริษัทกระดาษกรีน และโซลาร์เซลล์คิดต่าง

คุณไปเรียนการทำธุรกิจมาจากไหน

ผมโตมาในครอบครัวคนจีนที่เต็มไปด้วยการค้า ทุกวันดื่มชากับอาม่าก็พูดเรื่องหุ้น เรื่องค้าขาย มันอยู่ในหัวเรา สิ่งที่ผมได้จากการเล่นดนตรีคือหลักคิด เวลาเราไปเล่นโชว์ มีเวลา 10 นาทีทำให้คนรักเรา แล้วเราก็ต้องทำให้เขามีความสุขกลับบ้าน ดนตรีคือการสื่อด้วยอีโมชันและแพสชันด้วยหลักคิดเดียวกัน ผมบอกตัวเองเสมอว่าเราไม่ได้แค่ขายกระดาษ แต่ผมใส่อารมณ์ ความรู้สึก กลิ่น ฟีลลิ่ง ลงไปในโปรดักต์ของเรา เพื่อให้ลูกค้ามีแพสชันเหมือนเรา การขายต้องไม่ใช่แค่ขาย แต่ต้องรู้สึกดีใจที่ได้ของชิ้นนี้ เพื่อให้ประสบการณ์ของลูกค้าเต็มไปด้วยรอยยิ้ม ซึ่งผมทำแบบนี้กับทุกอย่าง รวมถึงการขายโซลาร์เซลล์ด้วย

คุณมาทำธุรกิจโซลาร์เซลล์ได้ยังไง

เริ่มที่บ้านหลังนี้เลย เมื่อ 4 ปีที่แล้ว ตอนนั้นผมอายุ 28 ปี ผมคุยกับคุณพ่อว่าน่าเอาโซลาร์เซลล์มาติดที่บ้านนะ เพราะเราอยากได้บ้านที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แล้วก็ช่วยลดค่าไฟ ตอนนั้นรัฐบาลมีโครงการรับซื้อไฟฟ้าคืน และซื้อแพงด้วย ทำให้ดูคุ้มค่าในการติด

ณ ตอนนั้น ผมคิดว่าธุรกิจนี้น่าจะไปได้ดี หากเราเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งเป็นพลังงานทางเลือกให้เป็นพลังงานหลักได้จะยั่งยืนมาก ๆ ผมบอกคุณพ่อว่าลองไปดูต่างจังหวัด ในจุดที่ไฟฟ้าเข้าไม่ถึง หากติดโซลาร์ในสถานที่เหล่านั้น เราจะสร้างระบบนิเวศการผลิตไฟฟ้าให้สถานที่นั้น ๆ เองได้เลย แม้ไฟฟ้าเข้าไม่ถึงก็ตาม คิดไปคิดมา ผมเลยคุยกับที่บ้านจริงจังว่า เรามาเปิดบริษัทโซลาร์เซลล์กันเถอะ

บริษัทของคุณจะเข้ามาแก้ปัญหาอะไร

หนึ่ง คนไม่รู้ว่าโซลาร์เซลล์ช่วยประหยัดไฟยังไงได้บ้าง สอง ไม่มีข้อมูล ไม่รู้ว่าจะติดยี่ห้อไหน คืนทุนจริงไหม บ้านเราติดได้ไหม นี่แหละโอกาสของเราที่จะทำให้คนรับรู้ เราก็ลองทำเริ่มต้นจากการเน้นติดตั้งให้โรงงานก่อน เพราะพื้นที่กว้าง ติดตั้งได้เยอะ ใช้ไฟฟ้าในเวลากลางวันเป็นหลัก

คุณเอาโซลาร์เซลล์มาจากไหน

ผมติดต่อโรงงานผลิตโซลาร์เซลล์ชื่อ Jinko Solar ซึ่งเป็นผู้ผลิตแผงโซลาร์อันดับต้นของโลก และประเภท Tier 1 คือเกรดดีที่สุด มีอายุการใช้ได้อย่างน้อย 25 ปี พร้อมมีรับประกัน ซึ่งผมได้รับคัดเลือกเป็นตัวแทนจัดจำหน่ายในไทย นั่นคือจุดเริ่มต้น เราจึงตัดสินใจเปิดบริษัท NEPS โดยมุ่งเน้นการให้บริการเกี่ยวกับโซลาร์รูฟครบวงจร ตั้งแต่จำหน่ายแผงโซลาร์ ทั้งขายส่งและขายปลีกให้ผู้ที่สนใจซื้อแผงไปติดตั้ง DIY เองที่บ้าน นอกจากนี้ เรายังมีให้บริการพร้อมติดตั้ง รวมไปถึงการให้บริการขอใบอนุญาตที่เกี่ยวข้องทั้งหมดด้วย 

ตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส จากศิลปิน RS สู่ CEO บริษัทกระดาษกรีน และโซลาร์เซลล์คิดต่าง
ตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส จากศิลปิน RS สู่ CEO บริษัทกระดาษกรีน และโซลาร์เซลล์คิดต่าง

คุณอยากเข้าไปอยู่ตรงไหนในตลาด

เจ้าตลาดส่วนใหญ่เป็นเจ้าใหญ่ที่อยู่มานาน ซึ่งเขาจะเน้นลูกค้ากลุ่ม PPA ที่มักได้สัญญาการขายไฟให้เอกชนหรือรัฐ แต่ผมกลับมองต่าง ในขณะที่บริษัทจำนวนมากวิ่งไปแข่งขันประมูลงานใหญ่ ๆ ผมกลับเน้นเข้าอุตสาหกรรม ธุรกิจขนาดกลาง และขนาดเล็ก รวมไปถึงโรงเรียน บ้านพักอาศัย โครงการหมู่บ้านจัดสรร เพราะผมอยากให้ทุกคนมีโอกาสเข้าถึงโซลาร์ให้มากที่สุด

เชื่อมั้ยว่าผมเปิดบริษัทมา 4 ปี ทำยอดขายรวมหลายร้อยล้านบาท ผมไม่คิดวิ่งเต้น อยากประมูลงานขายไฟให้รัฐ หรือเอกชนรายใหญ่เลย แม้จะมีหลายคนเข้ามาขอลงทุนร่วม เพราะผมมองว่าอยากขยายตลาดโซลาร์ให้กับทุกคน ให้ประชาชนทั่วไป เพื่อที่พวกเขาจะได้ไม่ต้องง้อรัฐ เวลาค่าไฟขึ้นแพง ไม่อยากให้ประชาชนเป็นส่วนล่างสุดของห่วงโซ่อุปทาน เราจึงจะทำให้เขาเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าเอง

ทำไมเราต้องผลิตไฟฟ้าใช้เอง

ประเทศไทยซื้อไฟฟ้าแพงมากทั้งจากเอกชนผู้ได้สัญญาขายไฟให้รัฐ และการนำเข้าไฟจากต่างประเทศ ถ้าผมไม่ขยายตลาดโซลาร์สู่ภาคประชาชน ให้กลุ่มธุรกิจหรือบ้านพักอาศัยผลิตไฟฟ้าเอง ประชาชนจะตกเป็นทาสของรัฐตลอดไป ไม่มีทางเลือกนอกจากซื้อไฟในราคาแพงจากรัฐ

และวันนี้กระแสรถอีวีก็มาแรงมาก ซึ่งเขาไม่ต้องจ่ายค่าน้ำมันก็จริง แต่ต้องจ่ายค่าไฟมาเติมไฟให้กับรถอีวีนะ ถ้าติดโซลาร์ ค่าไฟก็จะลดลง และเทคโนโลยีโซลาร์วันนี้เองทำให้การติดโซลาร์คืนทุนเร็วกว่าเดิมมาก แผงหนึ่งเคยให้กำลังผลิตไฟได้ 300 วัตต์ แต่เทคโนโลยีวันนี้ผลิตได้ถึง 600 วัตต์ ด้วยขนาดเท่ากัน และยังใช้งานได้ยาวถึง 25 – 30 ปี ส่วนระบบที่เราให้ลูกค้าก็จะมาพร้อมแอปพลิเคชันดูการผลิตไฟได้แบบเรียลไทม์ ว่าตอนนี้ประหยัดค่าไฟแล้วกี่บาท ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เท่าไหร่ เป็นต้น

ขายโซลาร์เซลล์มา 4 ปี ต่างจากขายกระดาษยังไง

ฟีลกู๊ดกว่าครับ มันเป็นการขายของที่ผมรู้สึกว่าเป็นการส่งมอบความสุข มีลูกค้าจำนวนมากมาขอบคุณเราที่ช่วยให้เขาประหยัดค่าไฟที่บ้านหรือโรงงาน ลูกค้าส่วนใหญ่มักบอกกับผมว่า รู้งี้ติดนานแล้ว ชีวิตดีขึ้น เปิดแอร์ให้ลูกทั้งวันเลย ไม่ต้องบ่นลูกเรื่องไม่ปิดทีวี มีอิสรภาพในการใช้ไฟฟ้าในบ้านมากขึ้น ค่าไฟจะขึ้นเท่าไหร่เราก็รับได้ เพราะไม่มีนัยยะต่อการค่าใช้จ่าย คำพูดเหล่านี้ทำให้ผมยิ่งมุ่งเน้นความตั้งใจเพื่อเปลี่ยนพลังงานทางเลือกสู่พลังงานหลัก เปลี่ยนการซื้อไฟฟ้าจากรัฐให้เป็นพลังงานสำรอง และใช้พลังงานแสงอาทิตย์ที่ได้มาฟรีให้มากที่สุดเท่าที่ได้

คุณจะพาบริษัทไปทางไหนต่อ

ในอนาคต ธุรกิจโซลาร์จะมีผู้เล่นมากขึ้น มีการแข่งขันมากขึ้น วันนี้กลุ่มลูกค้าที่ขยายตัวมากที่สุดคือกลุ่มลูกค้าขนาดกลางและขนาดเล็ก เช่น โฮมออฟฟิศ สถานที่โชว์สินค้า หรือบ้านพักอาศัย มีการขยายเติบโตขึ้น 4 – 5 เท่าจากปีที่แล้ว มีงานติดตั้งทุกวัน เป็นกลุ่มลูกค้าที่มาแรง ซึ่งเราจะมุ่งเพิ่มฐานลูกค้าในกลุ่มนี้ต่อไปเพื่อรองรับความต้องการของตลาด 

ส่วนลูกค้าขนาดใหญ่ แม้การแข่งขันจะดุเดือด และหลายเจ้าได้ลงทุนติดโซลาร์ไปมากแล้ว แต่การขยายตัวก็ยังมีอยู่ ซึ่งเราเองก็ต้องรักษาสัดส่วนธุรกิจให้ได้ แม้การเติบโตของภาคอุตสาหกรรมจะไม่มากเท่าตลาดบ้านพักอาศัยก็ตาม

และกลุ่มสุดท้ายที่ทางเราเน้น คือลูกค้ากลุ่มธุรกิจด้านการบริการ เช่น ห้างสรรพสินค้า โรงแรม ฟิสเนส สปา เพราะนักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มกลับมาที่ให้มีการขยายตัวของลูกค้ากลุ่มนี้จำนวนมาก 

ตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส CEO บริษัทโซลาร์เซลล์ NEPS นักธุรกิจคิดต่างที่เริ่มจากการทำกระดาษถนอมสายตาและเป็นศิลปิน RS
ตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส CEO บริษัทโซลาร์เซลล์ NEPS นักธุรกิจคิดต่างที่เริ่มจากการทำกระดาษถนอมสายตาและเป็นศิลปิน RS

การทำเพลงกับขายโซลาร์เซลล์เหมือนกันตรงไหน

ให้ความรู้สึกสุดท้ายเหมือนกัน รอยยิ้มของคนดูกับรอยยิ้มของผู้บริโภคคือรอยยิ้มเดียวกัน เราส่งมอบสิ่งเดียวกัน คือความสุขให้กับเขา

ยังอยากทำเพลงอยู่ไหม

ผมยังเล่นดนตรีอยู่นะ ดนตรีอยู่ในสายเลือดผม ผมเล่นดนตรีเพราะพี่ชาย เขาพิการทางสมองตั้งแต่เกิด ตอนเด็ก ๆ ผมไม่ได้ดูการ์ตูน ดูหนัง ดูละคร เพราะพี่ชายผมไม่อิน เขาพูดไม่ได้ เดินไม่ได้ สิ่งเดียวที่เขาเก็ตคือ ดนตรี พอผมเล่นดนตรีเขาจะเงียบฟังเราเล่น ดนตรีคือภาษาที่เราใช้คุยกัน มันคือความสุข คือความรัก ฉะนั้น ผมจะไม่มีวันหยุดเล่นดนตรีแน่นอน

ตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส CEO บริษัทโซลาร์เซลล์ NEPS นักธุรกิจคิดต่างที่เริ่มจากการทำกระดาษถนอมสายตาและเป็นศิลปิน RS

10 คำถามสำหรับคนอยากรู้

1. การติดโซลาร์เซลล์เหมาะกับคนประเภทไหน

ทุกคนที่ใช้ไฟฟ้า คุ้มที่สุดคือคนที่ใช้ไฟฟ้าเยอะช่วงกลางวัน เปิดแอร์ตอนกลางวัน มีลูกเรียนออนไลน์หรือ Work from Home หรือมีผู้สูงอายุอยู่ที่บ้าน หรือเลี้ยงน้องหมาแล้วอยากเปิดแอร์ให้หมาตอนกลางวัน กลุ่มที่สองคือ ออฟฟิศ โชว์รูม ห้างสรรพสินค้า และโรงงาน

2. อาคารประเภทไหนที่ไม่เหมาะจะติดโซลาร์เซลล์

มีพื้นที่รับแสงน้อย มีเงาเยอะ จะคืนทุนช้า ปัจจัยหลักของการผลิตไฟอยู่ที่ความเข้มของแสง ช่วงที่ผลิตไฟได้มากคือ 10 โมงถึงบ่าย 3 ถ้ามีพื้นที่หลังคาติดเงา เราจะจำลองให้ดูว่าจะโดนเงาบังกี่ชั่วโมง จะแก้ไขได้อย่างไร ถ้าหลังคาไม่ดีก็เปลี่ยนหลังคาได้ ทุกอย่างทำได้หมด หลังคาประเภทที่ติดยากจริง ๆ คือ หลังคาที่เป็นกระเบื้องเกล็ด ๆ แบบหลังคาวัด

3. ถ้าเป็นบ้านเก่า เราจะรู้ได้ยังไงว่าหลังคาบ้านแข็งแรงพอ

โทรหา NEPS ได้เลยครับ ทางเรามีทีมติดตั้งเข้าไปดูหน้างานทุกไซต์ก่อนเสนอราคาอยู่แล้ว หรือจะส่งรูปมาให้ทีมเราดูเบื้องต้นก่อนก็ได้  

ส่วนใหญ่ถ้าเป็นหลังคาซีเมนต์หรือเมทัลชีท สามารถติดโซลาร์ได้อยู่แล้ว แต่ถ้าเป็นหลังคาทีมีอายุค่อนข้างเก่า หรือหลังคาพิเศษแบบบ้านทรงไทย ทางทีมวิศวกรที่เข้าไปสำรวจบ้านก็จะมีคำแนะนำให้ลูกค้าครับ

4. การติดตั้งต้องขออนุญาตจากหน่วยงานไหนบ้าง

3 หน่วยงาน อันดับแรก ต้องขอแก้ไขดัดแปลงอาคาร หรือ อ.1 ที่หน่วยงานด้านมหาดไทย ท้องถิ่นในพื้นที่นั้น ๆ เช่น กรุงเทพฯ ขอที่สำนักงานเขต ต่างจังหวัดขอที่เทศบาล ถ้าเป็นบ้านพักอาศัยได้รับการยกเว้นไม่ต้องขออนุญาต อ.1 อันดับที่สอง ต้องขอใบอนุญาตผลิตไฟฟ้าจาก คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และกรมพลังงานทดแทน  (พ.พ.) อันดับสาม เมื่อได้เอกสารครบแล้วต้องไปขอขนานไฟกับการไฟฟ้า เขาจะได้ไม่งงว่าทำไมค่าไฟถึงลดลง ซึ่งทางรัฐอนุโลมให้เราผลิตไฟฟ้าใช้ได้ก่อนจะขออนุญาตเสร็จได้ แต่ยังไงก็ต้องยื่นขออนุญาตใบดัดแปลงอาคารให้ผ่านก่อน

5. การขายไฟฟ้าคืนให้การไฟฟ้าได้ผลตอบแทนดีไหม

ถ้าจะขายไฟคืนให้การไฟฟ้า ต้องติดต่อการไฟฟ้าขอสมัครเข้าโครงการโซลาร์ภาคประชาชน ซึ่งเปิดรับเป็นรอบ ๆ ปัจจุบันการไฟฟ้าขายไฟให้เราประมาณหน่วยละ 4.86 บาท แต่โครงการรับซื้อไฟคืนจากโซลาร์ภาคประชาชน เขาจะซื้อในราคาหน่วยละ 2.20 บาทเท่านั้น ไม่ค่อยคุ้มหรอก แต่เผื่อกลางวันเราไม่ได้ใช้ไฟฟ้าก็ขายได้ เราแนะนำให้ใช้โซลาร์เซลล์ควบคู่กับไฟฟ้าหลัก แล้วเปลี่ยนมาจ่ายค่าไฟแบบ TOU แทนที่จะซื้อไฟในอัตราเดียวคือ 4.86 บาท ก็จ่ายแบบ TOU ในช่วงกลางวันและหัวค่ำคิดค่าไฟ 6 บาทกว่า ๆ หลัง 2 ทุ่มและวันหยุดคิด 2 บาทกว่า ช่วงกลางวันค่าไฟแพง ๆ เราก็ใช้โซลาร์เซลล์ ช่วงกลางคืนค่าไฟถูก ๆ ก็ซื้อไฟจากการไฟฟ้าใช้ เราต้องช่วยให้คำปรึกษากับลูกค้าเรื่องพวกนี้ด้วย

6. เราควรซื้อแบตเตอรี่เพื่อเก็บไฟฟ้าใช้ตอนกลางคืนไหม

วันนี้ผมไม่เชียร์เรื่องแบตเตอรี่เลย การติดโซลาร์เซลล์ขนาด 5 กิโลวัตต์ ราคาประมาณ 180,000 ต่อบ้าน 1 หลัง เพื่อผลิตไฟฟ้าให้ได้เดือนละ 3,000 บาท ถ้าจะติดแบตเตอรี่ เราต้องเหลือไฟฟ้าในตอนกลางวัน เพื่อให้มีกำลังไฟเหลือเข้าชาร์จแบตเตอรี่ โดยค่าใช้จ่ายแบตเตอรี่ลูกละ 200,000 บาท โซลาร์เซลล์ใช้งานได้ 25 ปี แต่แบตเตอรี่ใช้งานได้ประมาณ 8 ปี ถ้าซื้อแบตเตอรี่ระยะเวลาคืนทุนจะนานขึ้นไปอีก แต่แบตเตอรี่จะเหมาะกับบ้านที่อยู่ในพื้นที่ซึ่งไฟตกบ่อยหรือไฟฟ้าเข้าไม่ถึง เป็นการติดเพื่อให้มีไฟฟ้าใช้

7. เราต้องดูแลซ่อมบำรุงโซลาร์เซลล์ยังไง

ถ้ามีแผงโซลาร์สกปรก ประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าจะลดลงทันที ซึ่งคราบสกปรก ได้แก่ ฝุ่นหรือขี้นก ซึ่งบริษัทเรามีบริการดูแลทำความสะอาดให้ลูกค้าฟรีปีละ 2 ครั้ง ระยะเวลา 2 ปี ที่เหลือก็จ่ายเพิ่มได้ หรือทำเองก็ได้ด้วยการใช้ไม้ม็อบเช็ดทำความสะอาด ใส่น้ำยา ตอนที่เราคำนวณว่าจะคืนทุนในเวลา 5 – 6 ปี เราเอาต้นทุนค่าบำรุงรักษาใส่ลงไปให้แล้ว

การดูแลอีกอย่างคือ ดูว่าแผงโซลาร์ทำงานปกติดีไหม แผงของเรามีระบบเซนเซอร์ซึ่งดูเรียลไทม์ผ่านแอปพลิเคชันเลยว่า แผงไหนผลิตไฟได้เท่าไหร่ ทำงานปกติไหม เมื่อมีความผิดปกติจะมีการแจ้งเตือนผ่าน SMS ทันที

8. การสลับไฟใช้ระหว่างโซลาร์เซลล์กับการไฟฟ้ายากไหม

เป็นระบบอัตโนมัติ จะดึงจากโซลาร์เซลล์ให้มากที่สุด แล้วค่อยดึงจากการไฟฟ้า ในแอปพลิเคชันจะบอกว่าตอนนี้ใช้ไฟจากแหล่งไหนเท่าไหร่ และในแอปฯ ยังบอกด้วยว่า เดือนนี้ประหยัดค่าไฟไปได้แล้วเท่าไหร่ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่าไหร่ เท่ากับการปลูกต้นไม้กี่ต้น

9. มีหน่วยงานไหนให้การสนับสนุนค่าติดตั้งบ้าง

มีแบบเอกชนสู่เอกชน คือมีธนาคารให้เงินกู้สำหรับติดตั้งโดยคิดดอกเบี้ยตามเครดิตผู้กู้แต่ไม่ถึง 4 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่าถูกมากเมื่อเทียบกับเงินกู้ทั่วไป แต่ธนาคารจะให้กู้เฉพาะแผงโซลาร์ที่อยู่ใน Tier 1 เท่านั้น

10. ถ้าอยากติดโซลาร์เซลล์ ควรเลือกผู้ให้บริการอย่างไร

ทุกวันนี้โซลาร์เซลล์แข่งกันด้วยราคา แต่ผมอยากแนะนำให้ หนึ่ง เลือกติดกับผู้ให้บริการที่น่าเชื่อถือ เพราะมันจะอยู่กับบ้านเราไปอีก 25 ปี ไม่ใช่ติดไป 3 ปี แผงเจ๊ง โทรไป อ้าวปิดบริษัทไปแล้ว บางทีราคาต่างกันนิดเดียว แต่อาจจะมีผลต่างกันมากในระยะยาวก็ได้

สอง การรับประกัน ติดตั้งโดยใคร มีประกันหรือเปล่า สิ่งนี้สำคัญมาก เพราะบริษัทผมต้องไปซ่อมให้เคสที่ติดกับเจ้าอื่น แต่ติดต่อมาซ่อมไม่ได้เยอะมาก

สาม ควรหาความรู้พื้นฐานก่อน จะได้รู้ว่าบ้านเราเหมาะกับการติดไหม แต่ถ้าไม่รู้จะเริ่มยังไงก็โทรหาผมได้ครับ (หัวเราะ)

Writer

ทรงกลด บางยี่ขัน

ทรงกลด บางยี่ขัน

ตำแหน่งบรรณาธิการโดยอาชีพ เป็นนักเดินทางมือสมัครเล่น แบ่งเวลาไปสอนหนังสือโดยสมัครใจ และชอบจัดทริปให้คนสมัครไป

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ