“คุณออกแบบปกอัลบั้มมาได้สักกี่อัลบั้มแล้ว” เราเอ่ยถามกับนักออกแบบปกอัลบั้มเบอร์ต้นๆ ของประเทศ
“จำไม่ได้แฮะ ผมไม่เคยนับเลย”
“แต่ในรอบสิบปีที่ผ่านมา ชื่อของ ‘Hereodd’ แทบไม่เคยหายไปจากเครดิตอัลบั้มของศิลปินเลยใช่ไหม” เราถามต่อ
“ใช่”
ไม่ว่าจะปกอัลบั้มของวง Potato, Slot Machine, เบิร์ด-ธงไชย แมคอินไตย์, 25 hours, Kidnappers , ปาล์มมี่, Getsunova, เป๊ก ผลิตโชค, ดา เอ็นโดรฟิน และวงแถวหน้าของประเทศอีกมากมาย ล้วนแต่เป็นผลงานการออกแบบของ Hereodd หรือ อ๊อด–สุพิชาน โรจน์วณิชย์ ทั้งสิ้น รวมไปถึง Merchandise ของหลายๆ ศิลปิน เผลอๆ แม้แต่แผ่นซีดีที่เก็บอยู่ในตู้ของคุณ หากลองพลิกอ่านตัวหนังสือเล็กๆ หลังปกดู อาจจะพบชื่อของเขาเขียนอยู่ก็เป็นได้

“แต่ทุกวันนี้บริษัทของผมก็ไม่ได้จดชื่อเป็น Hereodd นะ คนแค่เรียกติดปากกันมาตั้งแต่ยุค Myspace”
อาจเป็นเพราะเขาทำหลายอย่าง ตั้งแต่เปิดโรงเรียนสอนด้านการออกแบบในชื่อ Bear เปิดบริษัททำแบรนดิ้งชื่อ Layerlayer บทบาทการเป็น Hereodd จึงเหมือนเป็นเงาในโลกฝั่งดนตรีที่ติดตัวเขามาตั้งแต่สมัยที่เป็นนักออกแบบฟรีแลนซ์
เอาเข้าจริงชื่อนี้ก็เป็นชื่อเรียกขานที่เหมาะกับเขาดี เราแค่ไม่มั่นใจว่าควรอ่านคำแรกเป็นภาษาไทยว่าอย่างไร เพราะสำหรับคนห่างไกลคงเรียกกันว่า ‘เฮียอ๊อด’ แต่คนใกล้ตัวล่ะ เราลืมถามข้อนี้กับเขาไป แต่คำถามข้ออื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับวิธีการทำงานของเขา เราเชื่อว่าไม่บกพร่อง และเนื้อความต่อไปด้านล่างคงทำให้ผู้เห็นภาพของชายผู้ออกแบบปกอัลบั้มให้กับศิลปินจำนวนนับไม่ถ้วนอย่าง Hereอ๊อด มากขึ้น ไม่ว่าคุณจะอ่านชื่อเขาแบบไหน
นักออกแบบที่รัก (ปก) ดนตรี
“ผมชอบดนตรี แต่ผมไม่ใช่นักดนตรี”
คำกล่าวนี้ของอ๊อดไม่ได้เจือปนความรู้สึกน้อยใจหรือเสียใจ เพราะทุกวันนี้เขาค้นพบวิธีการทำงานภายใต้อุตสาหกรรมดนตรีในแบบของเขาแล้ว แถมไม่จำเป็นต้องสังกัดวงไหนเป็นพิเศษด้วย เขามีสื่อบอกเล่าเพลงในแบบของเขา สิ่งนั้นคือ ‘ภาพ’ และ ‘สิ่งของ’ ที่เล่าเรื่องได้ไม่น้อยไปกว่าเสียง

“ระหว่างเรียนที่มัณฑนศิลป์ ผมเป็นเนิร์ดที่ชอบฟังเพลงมาก วิธีการฟังเพลงสมัยนั้นก็คือการเปิดจากแผ่นซีดี ซึ่งการเลือกซื้อแผ่นมาฟังหลายๆ ครั้งล้วนเกิดจากการเลือกตามวงที่เราชอบ หรือบางทีถ้าอยากเสี่ยงดวงกับวงใหม่ๆ ก็ต้องลองซื้อมาเลย เพราะโอกาสที่เราจะได้ลองฟังเพลงก่อนนั้นน้อยมาก สำหรับผมหน้าปกจึงกลายมาเป็นสิ่งประกอบการตัดสินใจซื้อที่สำคัญ ซึ่งการเลือกจากปกมันทำให้เราฟังเพลงหลากหลายมากขึ้น และไม่ยึดอยู่กับการฟังแนวไหนเลย”
จากการสั่งสมดีกรีทางดนตรีและซีดีหลายปกระหว่างชีวิตมหาวิทยาลัย ระหว่างเรียนเขาจึงมีโอกาสได้ข้องแวะกับงานในอุตสาหกรรมดนตรี ทั้งที่มาจากรุ่นพี่บ้างและลูกค้าที่เห็นในฝีมือบ้าง
จนกระทั่งเขาพ้นจากรั้วของมหาวิทยาลัยและออกมาดำรงอาชีพนักออกแบบในฐานะ ‘ฟรีแลนซ์’ ซึ่งเป็นเหมือนการเรียนต่อในโลกจริงอันเต็มไปด้วยบทเรียนที่มหาวิทยาลัยไม่ได้สอนไว้
“งานแรกที่ได้ทำเป็นชิ้นเป็นอันคือทำให้กับวง Hangman ที่เป็นภาพคนขี่ม้า ตอนนั้นผมได้ทำทั้งไดเรกชัน ดีไซน์ และโลโก้ แต่ผมไม่ได้เป็นคนจบงานแพ็กเกจจิ้งเอง อาจด้วยความไม่มีประสบการณ์และความดื้อของเราด้วย ทำให้ค่ายเพลงต้องใช้คนอื่นในการมาจบงานที่เราขึ้นไว้” อ๊อดมองย้อนไปอดีตในช่วงวัยที่เขาไม่ประนีประนอมกับสิ่งที่ไม่ตรงกับใจ ยืนยันในตัวตน และยืนยันในความคิด
“แต่ระหว่างที่ทำ Hangman ผมก็มีอีกงานที่ทำควบคู่กันมาคือ Slot Machine อัลบั้ม Gray ซึ่งงานนี้ผมได้ทำทุกขั้นตอนรวมถึงแพ็กเกจจิ้ง เมื่องานจบออกมาสู่ตลาด ผมก็ได้เข้าใจว่าตัวเองอ่อนด้อยมากในเรื่องนี้”

ระหว่างการเล่าเรื่อง อ๊อดขอตัวลุกไปหยิบอัลบั้ม Gray มาให้เราดู มันคือแพ็กเกจจิ้งใส่ซีดีรูปทรงหกเหลี่ยมที่หลายคนอาจเคยได้เห็นผ่านตาบนแผงซีดี
“รู้ไหมว่าทำไมมันถึงไม่เวิร์ก” เขาเอ่ยถาม แต่เราจนในคำตอบ เพราะจากรูปร่างภายนอกแล้วเราก็พบว่ามันก็ดูปกติดี
“เพราะข้อเสียคือมันตั้งไม่ได้” ตั้งไม่ได้ก็หมายความว่ามันวางโชว์บนแผงยาก
“ในช่วงการออกแบบ เราตั้งคำถามกับตัวเองว่าทำไมแพ็กเกจใส่ซีดีถึงจะต้องเป็นสี่เหลี่ยม ถ้าเราอยากทำรูปทรงอื่นที่ทำให้อัลบั้มนั้นแตกต่างจากอัลบั้มอื่นๆ ในแผงจะเป็นไปได้ไหม เราก็เลยทดลองทำแบบหกเหลี่ยมดู ซึ่งตอนนั้นศิลปินชอบ ค่ายชอบ เราชอบ แต่มันดันตั้งบนแผงไม่ได้ เราเลยเฟลกับตัวเองมากๆ”
“อีกเรื่องคือเราได้เรียนรู้ว่าอย่าทำซีดีที่บางเกินไป เพราะภาพจำของคนในยุคนั้นคือซีดีบางๆ เท่ากับ MP3 เราเลยเฟลหนักไปอีกว่าซีดีอัลบั้ม Gray มันทั้งบาง ทั้งตั้งไม่ได้ ทั้งที่เราตั้งใจออกแบบให้เป็นแบบนี้ แต่มันไม่ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค สิ่งนี้สอนเรามาก ว่าการดีไซน์งานให้กับศิลปินมันใช้วิธีคิดเต็มที่ของเราได้ แต่การทำแพ็กเกจจิ้งมันจะต้องแคร์คนนำไปใช้ให้มากขึ้น”

จุดเปลี่ยนชีวิต
สิ่งที่คนที่เพิ่งได้พบกับความเฟลและความผิดหวังต้องการมากที่สุดคือโอกาสในการแก้มือ สำหรับอ๊อดโอกาสนั้นมาถึงอย่างรวดเร็ว และเขาก็รีบคว้ามันเอาไว้
“อัลบั้มพลิกชีวิตของผมคืออัลบั้มพิเศษของ Slot Machine ชื่อ Machinema มันเป็นรอยต่อระหว่างอัลบั้ม Gray กับ Cell ที่คนทั่วไปไม่ค่อยเห็น”
ที่ว่าพลิกชีวิตก็เพราะว่ามันเป็นงานที่ทำให้อ๊อดกลับมามีความมั่นใจอีกครั้ง เพราะผลตอบรับจากลูกค้าและแฟนเพลงเป็นไปในทางที่ดี เขาจึงได้รับความไว้วางใจให้ลงมือออกแบบอัลบั้มต่อไปของวงทันที ซึ่งผลงานชิ้นต่อไปนี้นับว่าเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงที่แจ้งเกิดตัวเขา อัลบั้มนั้นคือ ‘Cell’
อัลบั้ม Cell ของวง Slot Machine คือตำนานบนแผงซีดีที่ยังดูร่วมสมัยอยู่แม้ผ่านเวลามาถึง 10 ปี เราชวนอ๊อดย้อนวันวานและเล่ากระบวนการทำงานของอัลบั้มนี้ให้เราฟังอีกครั้ง แต่ไม่แน่ใจว่าเวลา 1 ทศวรรษจะทำให้ความทรงจำของเขาเลือนหายไปมากน้อยแค่ไหน
“ถ้าเป็นอัลบั้ม Cell เรายังพอจำได้อยู่” เขารีบตอบทันที
“ตอนนั้นเราได้เดโม่อัลบั้ม Cell มาฟังก่อน พอเราฟังจบแล้วเราสัมผัสถึงความ Sci-Fi ของมันอย่างมาก มีพูดถึงดวงดาว อย่างพระจันทร์ ดาวพลูโต และดวงอาทิตย์ แต่ละเพลงในอัลบั้มชวนเราออกไปนอกโลกหมดเลย ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของเฟิดที่บอกผมว่า เขาอยากให้แพ็กเกจอัลบั้มนี้เป็นเหมือนวัตถุโบราณที่บ่งบอกไม่ได้ว่ามันมาจากที่ไหนหรือจากใคร”

หลายคนคงทราบดีว่าสัญลักษณ์ของแฟนวง Slot Machine คือการชูมือขึ้นมาประสานเป็นรูปสามเหลี่ยม แต่ที่มาของสามเหลี่ยมนี้มาจากความสนใจของเฟิดและวงในเรื่องความลี้ลับของธรรมชาติ มนุษย์ต่างดาว และสิ่งที่อยู่นอกโลก ซึ่งความสนใจเหล่านี้ถูกนำมาเป็นตัวแปรในการออกแบบอัลบั้ม Cell ทั้งหมด
“อัลบั้มนี้เป็นอัลบั้มแรกที่วงมีท่าชูมือทำเป็นสามเหลี่ยม ซึ่งทางวงก็บอกว่ามันเชื่อมกับหลายสิ่งมาก ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อ ศาสนา ความลี้ลับ หรือมนุษย์ต่างดาว รวมถึงความต้องการของเฟิดที่บอกผมว่า เขาอยากให้แพ็กเกจอัลบั้มนี้เป็นเหมือนวัตถุโบราณที่บ่งบอกไม่ได้ว่ามันมาจากที่ไหนหรือจากใคร ผมก็เลยดึงเอาสิ่งนี้มาออกแบบเป็นแพ็กเกจจิ้ง และตีความให้มันกลายเป็นวัตถุสามเหลี่ยม ซึ่งบรรจุสารหรือเรื่องเล่าที่รอการส่งต่อไปสู่มือของผู้รับ”
“นอกจากนี้ก็มีพวกรายละเอียดต่างๆ อย่างตัวโลโก้และตราตรงหน้าปกอัลบั้มที่เราได้แรงบันดาลใจมากจาก Crop Circle และปฏิทินดวงดาวของเผ่ามายา ซึ่งผมก็เอาสองอย่างนี้มาผสมผสานกัน และจัดวางบนหน้าปกของอัลบั้ม ทำให้มันดูมีความ Sci-Fi สูงมาก”
หลังจากผ่านจุดเปลี่ยนที่ทำให้เส้นทางชีวิตของเขาเริ่มชัดเจน อ๊อดเล่าให้เราฟังต่อว่า มีจุดเปลี่ยนอีกหนึ่งอย่างที่ทำให้เขาเติบโต และรื้อสร้างมุมมองที่มีต่อการออกแบบไปตลอดกาล
“งานที่ทำให้วง Cocktail เป็นเหมือนครูของผม เขาเป็นศิลปินวงแรกที่เดินเข้ามาปรึกษา แล้วบอกเราว่าต้องการทำแบรนดิ้งให้กับวง แบรนดิ้งในที่นี้คือไม่ใช่ตัวโอม ไม่ใช่ตัวผมที่เป็นนักออกแบบ แต่มันคือตัวตนของ Cocktail”
อัลบั้มที่โอม Cocktail ให้อ๊อดออกแบบและทำแบรนดิ้งใหม่ คืออัลบั้ม Lords of Misery ซึ่งเป็นอัลบั้มที่ใช้เวลาทำงานรวมกันนานถึง 3 ปี เพราะนอกจากการออกแบบแบรนด์ให้กับวงใหม่แล้ว ยังมีเรื่องของจำนวนเพลงที่วงปล่อยออกไปในแต่ละปี ซึ่งกว่าจะรวบรวมเป็นอัลบั้มขึ้นมาได้ก็กินเวลาไปถึง 3 ปี
“งานนี้ผมใช้แรงเยอะมากเพราะต้องหาว่า Cocktail คืออะไร เราจะเล่ามันออกมาแบบไหน จนค่อยๆ รื้อความคิดในการทำงานแบบเก่าๆ ที่แค่ทำโลโก้แล้วจบออกไป เพราะงานนี้เราต้องคิดทุกอย่าง ตั้งแต่มู้ดแอนด์โทน สี สัญญะ และที่สำคัญคือแฟนเพลงต้องรู้สึกไปกับมันด้วย”
จาก ‘แพ็กเกจจิ้ง’ สู่ ‘Merchandise’
ราว 10 ปีหลังจากอัลบั้ม Cell เปิดตัว และชื่อของ Hereodd บินขึ้นไปติดลมบนของนักออกแบบปกอัลบั้ม ช่วงเวลาเพียง 1 ทศวรรษนี้อุตสาหกรรมดนตรีได้เกิดความเปลี่ยนแปลงมากมาย จากที่เคยบูมและขายได้หลักแสนหลักล้าน แผ่นซีดีก็ค่อยๆ หายตัวไปจากแผง และแผงซีดีเริ่มหายไปจากศูนย์การค้า กลายเป็นว่าวันหนึ่งคนทั้งโลกก็หันมาเสพเสียงเพลงผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล จนซีดีได้กลายเป็นความ ‘โบราณ’ ไปเสียแล้ว
ความเปลี่ยนแปลงนี้กระทบกับศิลปินและค่ายเพลงอย่างแน่นอน แต่อ๊อดมองว่า ประเทศไทยเรามีเวลาที่ได้ปรับตัวกับสิ่งนี้ก่อนชาวโลกมานานแล้ว

“ผมว่าบ้านเราเป็นประเทศที่ปรับตัวเรื่องนี้ได้เร็วมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลกเลยก็ว่าได้ ยุคที่ซีดีทั่วโลกกำลังจะตาย ซีดีในบ้านเรามันตายมาก่อนนานแล้ว เพราะว่าเรามี MP3 ขายกันเกลื่อนตลาด พวกค่ายเพลงหรือศิลปินเขาดิ้นรนและอยู่กับความเปลี่ยนแปลงนี้มาก่อนกาลมากๆ”
ค่ายเพลงและศิลปินปรับตัว แล้วนักออกแบบแพ็กเกจจิ้งซีดีต้องปรับตัวด้วยไหม เราถาม
“วันนี้คนก็ยังซื้อซีดีอยู่นะ”
“แต่ไม่ใช่เพื่อเอาไปฟัง เขาเพื่อเอาไปจับ สัมผัส ดูเล่น และสร้างบทสนทนาในกลุ่มของเขา น้อยคนที่จะหยิบซีดีออกมาเปิดฟังจริงๆ ผมเลยไม่ได้เรียกสิ่งที่ผมทำว่ามันว่าแพ็กเกจจิ้งซีดีแล้ว แต่ผมเรียกมันว่า Merchandise”
“เพราะวันนี้ถ้าค่ายเพลงจะออกซีดี คงมีคนพร้อมจ่ายเงินซื้อไม่เกินสามร้อยบาทต่อแผ่น แต่ถ้าบอกว่าสิ่งที่เราทำมันไม่ใช่ซีดีนะแต่เป็น Merchandise จากผลงานของศิลปิน พอเป็นแบบนี้แฟนเพลงเขาพร้อมจ่ายได้มากกว่านั้นเยอะเลย”
“โปรดักต์ Merchandise จึงต้องไม่ใช่แค่ที่ใส่แผ่นซีดีกับโฟโต้บุ๊กหนึ่งเล่มจบ แต่มันควรเป็นสิ่งของที่ช่วยส่งเสริมเพลงและสร้างประสบการณ์ให้ผู้ซื้อได้มากกว่าการเปิดเพลงฟังในสตรีมมิ่ง การทำงานของผมจึงเป็นการถ่ายทอดสิ่งที่ศิลปินต้องการเล่าผ่านภาพและสิ่งของ”
ระหว่างที่เราคุยกันเรื่องนี้ บนโต๊ะของเรามีแพ็กเกจจิ้งซีดีสมัย 10 ปีก่อนของวง Slot Machine วางอยู่ แต่พอเราเปิดประเด็นมาจนถึงตอนนี้ อ๊อดก็ลุกขึ้นอีกครั้งและเดินไปหยิบ ‘Merchandise’ ของ ค.ศ. 2020 ให้เราดู มันเป็นอัลบั้มล่าสุดของ Slot Machine ที่ชื่อ Third Eye View

“อย่างภาพถ่ายนี้เป็นภาพถ่ายจากฟิล์มกระจก ซึ่งมันก็ใช้หลักการของกล้องฟิล์มทั่วไปนี่แหละ เพียงแต่ว่าภาพที่ปรากฏขึ้นมันจะปรากฏบนกระจกที่ฉาบสารเคมีเอาไว้ เป็นภาพแบบ Negative ทีนี้พอเราเอาภาพไปอัดใส่กระดาษเราก็จะได้รูปออกมาเป็นแผ่น ซึ่งรูปเหล่านี้จะอัดออกมาเยอะเท่าไรก็ได้ โดยที่ใช้ฟิล์มกระจกแค่อันเดียว”
“แต่เรายังไม่อยากหยุดแค่นั้น เพราะสิ่งที่ทำให้ฟิล์มกระจกมันพิเศษ คือตัวกระจกที่เป็นฟิล์มซึ่งมีตัวต้นฉบับแค่อันเดียว เราเลยไปหาวิธีในการก็อปปี้ตัวฟิล์มกระจกนี้ โดยการนำภาพที่อัดออกมาไปแปลงเป็นสี Negative ในคอมฯ จากนั้นก็นำไปทำเป็นบล็อกสกรีน ซึ่งกว่าจะได้แบบนี้เราทดลองกันอยู่นานมาก ตอนแรกอยากได้ตัววัสดุเป็นกระจกจริงๆ แต่กลัวมีปัญหาในขั้นตอนการขนส่ง เลยเปลี่ยนมาเป็นพลาสติก ที่เราก็ต้องลองกันว่าต้องใช้ความหนาเท่าไรถึงจะให้ความรู้สึกคล้ายกับฟิล์มกระจกที่สุด”
หลังจากที่ได้ลองหยิบจับ ลูบ คลำ ฟิล์มกระจกดูแล้ว เราอดไม่ได้ที่จะทึ่งกับการต่อยอดและพัฒนา ‘ซองใส่ซีดี’ ให้กลายมาเป็นสิ่งของที่มีทั้งมูลค่าและคุณค่าต่อจิตใจของแฟนเพลง เมื่ออ๊อดได้เห็นเราตื่นตากับของที่อยู่ตรงหน้า เขาก็รีบลุกออกไปหยิบผลงานมาให้เราดูเพิ่มเติมอีกสองสามชิ้น
“อย่างชิ้นนี้เป็นโฮโลแกรม”
“โฮโลแกรม?” เราทวนท้วงถาม
“อัลบั้มนี้เป็นของ เป๊ก ผลิตโชค ที่ชื่อ The Butterfly คาแรกเตอร์ของอัลบั้มคือเป็นเพลงป๊อปที่มีความเป็นอิเล็กทรอนิกส์สูง สีหรือแสงที่ผมเห็นจึงเป็นมู้ดของกลางคืนที่มีสีสัน ไอเดียของอัลบั้มนี้ผมเอามาจากเรื่องที่รู้กันในหมู่แฟนเพลงของเป๊ก ที่ว่าเขาเป็นคนชอบผีเสื้อมาก ภาพที่ผมก็เลยทำเป็นคอลลาจผีเสื้อที่มาผสมผสานกับดอกไม้ เหมือนเป็นการเบ่งบานของตัวผีเสื้อ นอกจากนี้ก็จะมีโปสเตอร์ แล้วก็มีบุ๊กเลตเบื้องหลังการทำอัลบั้มตั้งแต่วันแรก แต่ไฮไลต์ของงานนี้คือตัวโฮโลแกรม เป็นอุปกรณ์ทรงกรวยที่สามารถนำไปวางทาบบนหน้าจอ แล้วจะแสดงผลขึ้นมาเป็นสามมิติ ซึ่งใช้คู่กับคลิปของเป๊กที่ผมใส่เป็น QR Code เอาไว้”
“ถึงแม้คนจะไม่ได้อยากซื้อซีดีเพื่อมาฟังเพลงอย่างเดียวแล้ว แต่แฟนๆ เขาก็ยังอยากเป็นเจ้าของผลงานของศิลปินอยู่ดีแหละ เพราะฉะนั้น การออกแบบ Merchandise ทั้งหลายก็ควรทำให้เขารู้สึกได้ครอบครองสิ่งที่ดีและคุ้มค่าด้วย”
สูตรในการหาเรื่องศิลปิน
“สิ่งสำคัญคือการพูดคุยกับศิลปิน” อ๊อดบอกเคล็ดลับการทำงานกับเราแบบนั้น การพูดคุยของเขาคือกระบวนการแรกที่ช่วยดึงเรื่องราว อัตลักษณ์ และความโดดเด่นของศิลปินแต่ละคนออกมาเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการปรุง ซึ่งเมนูที่เขาปรุงนั้นย่อมแตกต่างกันออกไปตามช่วงเวลาและความต้องการของศิลปิน ที่แม้แต่ตัวศิลปินเองก็อาจยังไม่รู้
“อย่างวิธีคิดกับอัลบั้มแรกของศิลปินจะแตกต่างจากการทำอัลบั้มสอง สาม สี่ เพราะว่าเขายังไม่ได้เป็นที่รู้จักของแฟนเพลงมากนัก เราจึงต้องเล่าตัวตนของเขาให้ชัด เพื่อให้แฟนๆ จดจำว่าศิลปินคนนี้คือสไตล์อะไร แตกต่างจากคนอื่นยังไง ซึ่งเราก็รู้แหละว่าในอัลบั้มแรกศิลปินทุกคนมีเรื่องอยากเล่าเยอะแยะมากมาย เวลาเราคุยกันก็เลยต้องทอนประเด็นเหล่านั้นลงมา เพราะในฐานะคนออกแบบ เราต้องไม่ลืมว่าโจทย์ของอัลบั้มแรกคือการตอบให้ได้ว่า ‘ตัวตนของเขาพิเศษยังไง’ นี่คือสิ่งที่เราต้องดึงออกมาเล่าให้ได้มากที่สุด

“แต่พออัลบั้มถัดๆ มา ตัวตนของศิลปินจะเริ่มชัดเจนมากขึ้น โจทย์ของเราก็จะไปอยู่ที่เรื่องเล่าของเขามากกว่าเดิม เช่น ธีมอัลบั้ม การเติบโตของศิลปิน เรื่องราวที่เขาพบเจอ และความสนใจในช่วงนั้น ซึ่งก็เป็นความสนุกคนละแบบกัน”
การที่ต้องปรุงวัตถุดิบที่หลากหลายและคาดเดาไม่ได้เป็นความยากของนักออกแบบ เพราะมันหมายความว่า เขาต้องเตรียมตัวและวางแผนเป็นอย่างดี ก่อนการเดินเข้าไปพูดคุยเพื่อดึงเนื้อหาออกมาจากตัวศิลปิน อ๊อดเล่าว่าจากประสบการณ์ที่ผ่านมา เขาตกผลึกจนได้ ‘สูตร’ ในการพูดคุยมาหนึ่งสมการ ซึ่งช่วยให้เขาเข้าถึงความต้องการของทุกคนได้อย่างรวดเร็ว
“ทุกวันนี้ลูกค้าของผมสนใจในเรื่องธุรกิจมากขึ้น คือเขาก็ยังเป็นคนทำเพลงและสร้างงานศิลปะนะ แต่ขณะเดียวกันเขาก็เข้าใจความสำคัญของการหารายได้ด้วย ทำให้การพูดคุยของเรามีความเป็นรูปธรรมมากขึ้น จนผมได้สูตรในการถามที่จะทำให้ผมเข้าใจความต้องการของเขาจริงๆ”

“คำถามแรกของผมคือ ทาร์เก็ตคุณคือใคร เราจะได้ถ่ายทอดงานของคุณไปสู่กลุ่มเป้าหมายที่คุณต้องการ ซึ่งยุคนี้มันก็ทำได้ง่ายมากเลย แค่เข้าไปดูที่ Facebook Fanpage ของเขาก่อนเป็นอย่างแรก ว่าเขามีแฟนเพลงแบบไหน ผู้ชายหรือผู้หญิง อายุเท่าไร มีพฤติกรรมแบบไหน การทำงานเดี๋ยวนี้มันเป็นเรื่องของ Data ซึ่งองค์กรใหญ่ๆ เขาก็จะมีเตรียมไว้ให้กับนักออกแบบเลย
“คำถามต่อมาคือ เราจะถามศิลปินว่าอยากให้งานออกมาแล้วแฟนเพลงถูกใจด้วยไหม หรืออยากจะอินดี้แล้วไปให้สุดในแบบที่ตัวเองชอบไปเลย หรืออยากบาลานซ์ทั้งสองสิ่งนี้ก็ทำได้เช่นกัน ซึ่งคำตอบในส่วนนี้ก็จะกำหนดทิศทางของเรา ว่าจะดึงอะไรในตัวเขาออกมาผ่านการพูดคุยบ้าง
“แต่สิ่งที่ต้องไม่ลืมคืองานที่เราออกแบบ ยังไงก็ต้องเป็นงานที่ตัวศิลปินต้องชอบด้วย เพราะเขาคือคนเล่าเรื่อง มันคือเพลงของเขา แตกต่างจากการทำแบรนดิ้งสินค้า ที่เราต้องคำนึงถึงกลุ่มเป้าหมายและตัวสินค้าเป็นหลัก”
ปรัชญาของพระรอง
การทำงานกับศิลปินที่หลากหลาย บ้างซ้ำหน้าแต่ไม่ซ้ำวัย บ้างเป็นศิลปินใหม่ถอดด้าม และบ้างก็เป็นรุ่นใหญ่ที่เพิ่งได้ร่วมงาน อ๊อดต้องเจอกับความต้องการที่แตกต่างในทุกๆ งานของเขา ซึ่งเขาเล่าว่าเป็นหนึ่งในความท้าทาย ที่ทำให้เขาต้องผลัดตัวเองเพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ขึ้นมาตลอดเวลา
“เวลาทำงานผมจะไม่ใช่คนที่คิดว่าตัวเองเก่งหรือมีความสามารถอะไร ผมจึงหาทางพัฒนาตัวเองตลอด และบอกตัวเองเสมอว่าต้องศึกษางานให้เยอะขึ้น ดูงานให้เยอะขึ้น แต่ Input ของผมมีที่มาจากหลายแหล่ง หนึ่งคือตัวศิลปิน สองคือสิ่งที่อยู่รอบๆ ตัว เช่น สมมติว่าผมกำลังจะออกแบบแพ็กเกจจิ้งซีดีอัลบั้มหนึ่ง สิ่งที่ผมศึกษาจะไม่ใช่แค่แพ็กเกจจิ้งซีดีของศิลปินคนอื่นๆ เท่านั้น แต่ผมจะไปดูกล่องใส่ขวดเหล้า กล่องรองเท้า กล่องน้ำหอม หรือแพ็กเกจจิ้งขนม เพราะสิ่งเหล่านี้เต็มไปด้วยไอเดียและวิธีคิดที่สนุกๆ การสร้างสรรค์ของผมจึงอยู่ที่ว่า เราจะหยิบจับอะไรออกมาแล้วมานำมาชนกับอะไร เพื่อสร้างสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมา”

“สิ่งที่ท้าทายและสนุกที่สุดของผมคือ ผมจะทำยังไงให้ทุกๆ งานของผมไม่ซ้ำกัน ผมพยายามทำให้มันแตกต่างและต่อยอดขึ้นไปเรื่อยๆ ไม่ย่ำอยู่กับที่”
ต้นธารของงานที่ก้าวไปข้างหน้าอยู่เสมอคือไอเดียอันสดใหม่ สำหรับอ๊อด เขาเลือกที่จะเปิดกว้างและรับฟัง โดยให้ความต้องการของลูกค้าคัดกรองสิ่งที่ไม่ใช่ออกไป
“ในแต่ละโปรเจกต์ผมมีช่วงเสนอไอเดียที่จะให้น้องๆ ในทีมเข้ามาช่วยกันออกความเห็นตามความชอบและความถนัดของเขา เพราะผมเชื่อว่าในการทำงาน ต่อให้เราเป็นหัวหน้าทีม เราก็ไม่ได้เก่งไปทุกด้านหรือมีความรู้ในทุกเรื่อง การพูดคุยแลกเปลี่ยนคือสิ่งที่สำคัญ ใครมีข้อมูลก็โยนมา ใครมีไอเดียก็โยนลงมา จากนั้นเราเอาข้อมูลและไอเดียที่กองไว้มาผ่านการกรอง ตัวกรองคือความต้องการของลูกค้า ซึ่งตรงนี้แหละที่จะเป็นตัวชี้วัดว่าไอเดียไหนผ่าน ไอเดียไหนไม่ผ่าน”
ทุกวันนี้งานของนักออกแบบอัลบั้มและการทำ ‘Merchandise’ มีแนวโน้มเพิ่มจำนวนขึ้นมากกว่ายุคสมัยก่อน เพราะพฤติกรรมการเสพสื่อของเราที่จะมี ‘ภาพ’ และ ‘เสียง’ อยู่คู่กันตลอด อาร์ตไดเรกชันที่นักออกแบบวางเป็นรากฐานจึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่ในการเล่าเพลงออกมาเป็นภาพ แต่อ๊อดยังยืนยันว่า ภาพหรือแม้กระทั่งสิ่งของต่างๆ ล้วนแต่เป็น ‘พระรอง’ ที่ส่งเสริมผลงานของศิลปินมากกว่าการไปกลบรัศมีของพระเอก
“หน้าที่ของผมคือการส่งเสริมศิลปินและเพลงของเขา สิ่งต่างๆ ที่เราออกแบบจะต้องสะท้อนให้ผู้ฟังเห็นภาพว่าเพลงในอัลบั้มพูดถึงอะไร เป็นสไตล์ไหน มีมู้ดแอนด์โทนอย่างไร สิ่งที่สำคัญคือมันต้องเป็นเรื่องราวเดียวกัน ไปด้วยกันกับเพลง ผมว่าสุดท้ายแล้วการทำงานของผมมันจะต้องอยู่ภายใต้สิ่งที่ศิลปินอยากถ่ายทอด”
