29 กุมภาพันธ์ 2024
1 K

‘Head High Second Floor’ ตั้งอยู่ในบ้านเช่าความสูง 2 ชั้นในซอยเล็กๆ ใกล้วิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่ ภายในย่านเมืองเก่า ดูจากภายนอก เราแทบไม่รู้เลยว่าที่นี่คือพื้นที่แสดงงานศิลปะ

ประเมินจากสายตา อาคารมีพื้นที่ใช้สอยรวมกันไม่น่าจะเกิน 150 ตารางเมตร รูปแบบไม่ต่างจากบ้านพักอาศัยของคนส่วนใหญ่ มีชานด้านหน้า มีโรงจอดรถอยู่ข้างบ้าน เข้ามาเจอห้องรับแขก ฝั่งขวาคือห้องทำงาน ชั้นบนแยกย่อยออกเป็น 3 ห้องเล็ก ห้องน้ำอีก 2 ห้อง และมีพื้นที่ซักล้างอยู่ด้านหลัง

อย่างไรก็ตาม อย่างที่เล่าไว้ในย่อหน้าบน บ้านหลังนี้แตกต่างจากที่พักอาศัยทั่วไปก็ตรงที่มันอัดแน่นไปด้วยงานศิลปะร่วมสมัยที่ล้วนมีเนื้อหาแสบๆ – จิตรกรรมของ อนุวัฒน์ อภิมุขมงคล, ตะวัน วัตุยา, วัลลภ หาญสันเทียะ ประติมากรรมของ โฆษิต จันทรทิพย์ ภาพถ่ายจาก Eva & Adele, Baphoboy, Richard Mosse, อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล, มานิต ศรีวานิชภูมิ, ชรินธร ราชุรัชต ฯลฯ ทั้งหมดล้วนเป็นของสะสมส่วนตัวของผู้เช่าที่จัดแสดงแทบทุกซอกหลืบของบ้าน หนำซ้ำ พื้นที่ชั้น 2 ยังจัดแสดงนิทรรศการหมุนเวียน เปิดให้คนภายนอกเข้าชมโดยไม่มีค่าใช้จ่าย

ไรน์นี่-ไรน์ฮาร์ด เครสเนอร์ (Reinhard Kressner) เจ้าของพื้นที่ ซึ่งในอีกนัยคือผู้เช่าอาคารหลังนี้ บอกผมว่า คุณจะเรียกมันยังไงก็ได้ พื้นที่ศิลปะ ที่จัดงานอีเวนต์ Happening Space ฯลฯ แต่อย่าเรียกว่า ‘อาร์ตแกลเลอรี่’ เพราะมันไม่ใช่

“แล้วคุณนิยามมันว่ายังไง” ผมถาม

“บ้าน” ไรน์นี่ตอบ 

ง่ายๆ แค่นั้น

ซึ่งใช่ แม้จะเป็นที่จัดนิทรรศการศิลปะ ไรน์นี่ อดีตนายแพทย์ชาวเยอรมันวัย 67 ปีผู้นี้ก็ใช้ที่นี่เป็นที่พำนักของชีวิตเพียงแห่งเดียว และหากไม่มีอะไรผิดพลาด เขาตั้งใจให้มันเป็นบ้านหลังสุดท้าย  

“ผมเกิดในเยอรมันตะวันออก แน่นอนในยุคคอมมิวนิสต์ พื้นที่ศิลปะถูกกำกับโดยรัฐอย่างเคร่งครัด ศิลปินยุคนั้นจึงสร้าง Underground Scene) ขึ้นมาในแฟลตหรือในบ้านของตัวเอง ผมเริ่มต้นซึมซับศิลปะจากพื้นที่แบบนั้น พอตั้งใจจะใช้ชีวิตบั้นปลายที่เชียงใหม่ ผมเลยทำบ้านผมเป็นแบบนี้” ไรน์นี่เล่า

พร้อมไปกับชวนทำความรู้จัก Head High Second Floor บทความ Share Location ชิ้นนี้ยังพาไปรู้จักตัวตนของไรน์นี่ ผู้ที่เป็นทุกอย่างของบ้าน และตั้งใจอยากชวนให้ทุกคนมาดื่มด่ำกับศิลปะ พูดคุย และสนุกกับไอเดียใหม่ๆ ในบ้านเช่าที่เขาเปลี่ยนให้กลายเป็นพื้นที่ศิลปะแห่งนี้ด้วยกัน  

นักเสพศิลป์จากดินแดนหลังม่านเหล็ก

อย่างที่บอกว่าไรน์นี่หวังให้บ้านหลังนี้เป็นบ้านหลังสุดท้าย แต่เมื่อผมถามว่าแล้วนี่เป็นบ้านหลังที่เท่าไหร่ในชีวิต เขาหยุดคิดสักพัก ก่อนจะบอกว่าจำไม่ได้แล้ว แต่ถึงอย่างนั้น เขาจำได้ดีเหมือนเช่นทุกคนถึงบ้านหลังแรก บ้านเกิดของเขาใน Mayenburg เมืองเล็กๆ ทางตอนเหนือของกรุงเบอร์ลิน ในเขตปกครองของเยอรมนีตะวันออก 

“ผมรู้ตัวว่าเป็นเกย์ตั้งแต่วัยรุ่น แต่ต้องเติบโตมาในสังคมคอมมิวนิสต์ที่มีความเคร่งครัดในการแสดงออก รวมถึงการต้องเรียนแพทย์ที่ค่อนข้างหนัก ด้วยเหตุนี้ ศิลปะ ดนตรี และวรรณกรรม จึงกลายเป็นทางออก” ไรน์นี่ ย้อนความหลัง 

เขาจำได้ดีถึงช่วงเวลาที่ได้แฮงก์เอาต์กับเพื่อนฝูง การไปดูงานศิลปะที่จัดแสดงในสตูดิโอลับของศิลปิน การรวมกลุ่มกับเพื่อนเพื่อพูดคุยถึงภาพยนตร์และศิลปะจากโลกตะวันตกในบ้านของใครสักคน (เขายังเคยเป็นรูมเมตกับสมาชิกวง Rammstein ในช่วงที่พวกเขากำลังฟอร์มวง) ฯลฯ การกระทำสามัญที่ในยุคสมัยนั้นเขาจำต้องทำแบบ ‘ลักลอบ’ นั่นทำให้เขาตระหนักในเวลาต่อมาว่า ชีวิตที่ถูกรัฐเผด็จการเป็นฝ่ายเซ็นเซอร์ และชี้นำว่าประชาชนควรดูงานศิลปะแบบไหน ต้องฟังเพลงหรืออ่านหนังสือของใคร เป็นเรื่องน่าเศร้าเพียงใด 

“ผมเคยพยายามหนีออกจากเยอรมนีตะวันออกถึง 2 ครั้ง แต่ก็โดนจับได้ทุกครั้ง ครั้งหนึ่งเคยติดคุกอยู่หลายเดือน จนปี 1989 ที่กำแพงเบอร์ลินถูกทำลายลงนั่นล่ะ 2 อาทิตย์หลังจากนั้น ผมก็บินไปหาเพื่อนที่ซานฟรานซิสโก ใช้แรงงานเพื่อเก็บเงินที่นั่นอีกสักพัก ก่อนจะไปนิวยอร์ก” 

ไรน์นี่เล่าต่อว่าความพยายามทั้งหมดก็เพื่อได้เสพศิลปะ ได้ดื่มด่ำกับวัฒนธรรมของเสรีชน ไปจนถึงการเข้าถึงวัฒนธรรมเกย์ที่เปี่ยมสีสัน ที่นิวยอร์ก เขาได้ผูกมิตรกับ Keith Haring ในช่วงสั้น ๆ ก่อนที่หลังจากนั้นไม่กี่เดือน ศิลปินอเมริกันผู้เป็นตำนานคนนี้จะจากไปด้วย HIV และนั่นทำให้ไรน์นี่สักรูปเด็กคลาน หนึ่งในงาน Iconic ของคีธไว้บนแขนซ้าย เป็นการระลึกถึงเพื่อนผู้วายชนม์ 

“จากนิวยอร์ก ผมก็กลับมาเริ่มทำงานเป็นหมอที่เบอร์ลินหลังจากเยอรมนีรวมชาติแล้ว อย่างไรก็ดี ทุกครั้งที่มีเวลาว่าง ผมจะใช้มันหมดไปกับการเดินทางไปดูงานศิลปะหรือคอนเสิร์ตในเมืองต่าง ๆ ผมจำได้ว่าตอนติดคุก ไม่ได้อ่านหนังสือ ดูหนัง หรือฟังเพลงเลย ชีวิตช่างมืดมนและทรมาน พอได้เป็นอิสระ ผมจึงกระหายมันมาก ศิลปะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผมไปแล้ว” เขาเล่า

แต่เมื่อถามว่าเขาเคยคิดอยากทำงานในฐานะศิลปินบ้างไหม ไรน์นี่กลับตอบว่า ไม่ แม้ 10 ปีหลังนี้เขาจะถ่ายรูป และเคยจัดนิทรรศการภาพถ่ายอยู่บ้าง หากเขาก็มีความสุขกับการเป็นผู้ชื่นชมมากกว่า ศิลปะสำหรับเขาไม่ต่างจากเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ

“คนอื่นอาจจะอยากมีบ้านหลังใหญ่ มีรถหรูๆ หรือมีเสื้อผ้าราคาแพง แต่ผมอยากมีชีวิตอยู่กับศิลปะ งานชิ้นไหนที่สัมผัสใจผมได้ ผมนั่งมองมันได้ทั้งวัน ผมเลยเริ่มสะสมงานศิลปะตั้งแต่ตอนอายุ 16 ปี… ใช่ ผมขโมยเงินพ่อมาซื้องาน (หัวเราะ) และหลังจากนั้นพอทำงานหาเงินเอง ก็เก็บงานศิลปะมาเรื่อยๆ โดยไม่เคยคิดถึงการสะสมเพื่อลงทุน ผมแค่อยากเก็บไว้ดูในบ้าน งานทุกชิ้นที่ผมซื้อล้วนมีคุณค่าทางใจกับผมหมด” 

เริ่มต้นที่เชียงใหม่

ไรน์นี่ใช้ชีวิตเป็นหมออยู่ที่เบอร์ลินมากว่า 40 ปี จนราวปี 2010 เขามีโอกาสมาเที่ยวเชียงใหม่ร่วมกับคนรักที่เป็นชาวไทยซึ่งทำงานในสถานทูตไทยในเยอรมนี นั่นคือครั้งแรกที่เขามาเยือนเมืองที่เขาอาศัยอยู่ในเวลานี้ เมืองที่เขาตกหลุมรักธรรมชาติ วัฒนธรรม และแวดวงศิลปะร่วมสมัย เขาตกลงกับคนรักว่าจะย้ายมาวางรกรากใหม่ที่นี่หลังเกษียณ

“เป็นเรื่องตลกร้ายอยู่อย่าง พอผมเกษียณจากงาน และตัดสินใจย้ายมาอยู่เชียงใหม่ ด้วยเหตุผลหลายอย่าง ทำให้แฟนผมในตอนนั้นต้องอยู่ทำงานต่อที่เบอร์ลิน แล้วสุดท้ายเราก็หย่ากัน กลายเป็นผมมาเริ่มใหม่ที่นี่คนเดียว” เขาหัวเราะ

“แต่ผมโอเคมากเลยนะ ผมชอบเมืองนี้ ชีวิตมันมีอะไรให้ค้นพบเสมอ” เขาบอก

แล้วคุณตั้งใจมาทำอะไรที่นี่ – ผมถาม

“ก็มาใช้ชีวิต หาเพื่อนใหม่ และดูงานศิลปะ คุณอยู่เชียงใหม่อยู่แล้ว คงรู้ดีว่าแวดวงศิลปะที่นี่มันสนุกขนาดไหน” ไรน์นี่ตอบ 

“ช่วงแรก ๆ ผมมาทำงานเป็นหมออาสาสมัครที่ศูนย์เด็กกำพร้า จากนั้นก็มีโอกาสรู้จักกับคนที่ทำแกลเลอรีแห่งหนึ่งในย่านวัดเกต ชั้น 2 ของเขาว่างอยู่ ผมเห็นว่ามันน่าจะเหมาะสำหรับทำพื้นที่ศิลปะในแบบของผม เลยตัดสินใจลาออกจากงานที่ศูนย์เด็กกำพร้า และมาทำตรงนี้  

“Head High Second Floor เริ่มต้นที่ตรงนั้น เพราะพื้นที่อยู่ชั้น 2 ก็เลยตั้งชื่อต่อท้ายว่า Second Floor อีกอย่างคือที่แกลเลอรีชั้นแรกเขาไม่มีป้ายบอก ผมก็เลยตั้งว่า Head High คือให้แหงนคอมองขึ้นไปข้างบน

มองขึ้นไปบนชั้นที่ 2 – ผมทวนคำ

“อ่อ มันมาจากคำพูดของแม่ของ Nick Cave ศิลปินที่ผมชื่นชอบด้วย นิคเคยเขียนไว้ที่ไหนสักที่ว่าแม่เคยบอกกับเขา เวลาที่เจอสถานการณ์ยุ่งยาก ยังไงเสียก็ขอให้เชิดหน้าเข้าไว้ – Head high and fuck ‘em all.” 

Head High Second Floor เปิดทำการครั้งแรกเมื่อเดือนตุลาคม 2021 จัดแสดงนิทรรศการเดี่ยวของ Baphoboy ชื่องานว่า Hopeland ตามด้วยนิทรรศการกลุ่มและเดี่ยวอีกหลายครั้ง (อนุวัฒน์ อภิมุขมงคล, สุบรรณกริช ไกรคุ้ม, David Kwan Shon และ โศภิรัตน์ ม่วงคำ เป็นอาทิ) ทำไปได้เกือบปี ไรน์นี่ก็พบว่ามุมมองด้านศิลปะของเขากับเจ้าของพื้นที่ชั้นล่างไม่ตรงกัน เลยตัดสินใจย้ายมาอยู่ในโลเคชันปัจจุบัน

“ผมไม่ได้คิดถึงการทำโชว์เพื่อการค้าขายเป็นหลัก ศิลปะไม่มีทางเกิดขึ้นได้จากการเอาผลงานของศิลปินมาแขวนผนัง เพื่อรอให้นักสะสมมาซื้อเหมือนโชว์รูมขายสินค้า แต่เป็นกระบวนการพูดคุยและถกเถียงของคนดูจากการได้ชมผลงานนั้นๆ ผมจึงให้ความสำคัญกับพื้นที่สำหรับสนทนาและสังสรรค์ไม่น้อยไปกว่าผนังสำหรับแขวนผลงาน คุณถกเถียงถึงคุณค่าและความหมายของมัน และถ้าคุณชอบมันจริงๆ คุณค่อยสะสมไว้ ผมจึงไม่เห็นด้วยกับการสะสมเพื่อการลงทุน” เขาเล่า

“ชีวิตทุกคนมีสีสัน มันคงน่าเบื่อเกินไปถ้าคุณสนใจศิลปะเพียงเพราะเห็นว่าถ้าเก็บมันไป แล้วมันจะมีราคา ผมจึงคิดถึงการขยับขยาย ทำพื้นที่ศิลปะที่เป็นอิสระ ขณะเดียวกัน ผมก็ใช้ชีวิตร่วมไปกับมันได้” 

มาดูงานศิลปะที่บ้านเพื่อน

จากเยอรมนีตะวันออก เบอร์ลิน และวัดเกต และเราก็มาถึง Head High Second Floor ทำเลปัจจุบัน ในบ้านเช่า 2 ชั้นกลางย่านเมืองเก่าเชียงใหม่ 

ผมถามไรน์นี่ว่ามาเจอที่นี่ได้อย่างไร

“ผมรู้จักบ้านหลังนี้จากครูสอนภาษาไทย เขาบอกว่ามันว่างมาหลายปีแล้ว แต่สภาพโทรมน่าดู ผมมาเห็นก็อย่างที่เขาว่าจริง สภาพมันสุดๆ แต่ในขณะเดียวกัน ภาพในหัวผมก็ผุดขึ้นเลยว่า จะเปลี่ยนมันยังไงได้บ้าง ก็เลยใช้เวลาไม่นานในการตัดสินใจทำสัญญาเช่า ก่อนชวนเพื่อนมาช่วยกันรีโนเวต จนเป็นอย่างที่เห็น” เขาตอบ

ไรน์นี่แบ่งพื้นที่หลัก ๆ ออกเป็น 2 ส่วน คือส่วนที่ที่เป็นพื้นที่ส่วนกลางสำหรับแสดงงานศิลปะ ซึ่งจะว่าไปก็คือพื้นที่เกือบทั้งหมดของบ้าน และพื้นที่ส่วนตัว ซึ่งก็คือห้องเก็บงานศิลปะที่ไม่ได้โชว์กับห้องนอนของเขาอีกห้อง 

“ผมอยากสร้างพื้นที่ให้เป็นเหมือนคุณมาดูงานศิลปะบ้านเพื่อน ถ้าผมไม่เดินทางไปไหน ผมก็ใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ตลอด เตรียมนิทรรศการ อ่านหนังสือ ฟังเพลง ดื่มเบียร์ และอื่น ๆ คุณแค่โทรมา หรือทักข้อความมานัดหมายตามเวลาทำการก่อน ผมยินดีต้อนรับทุกคน และถ้าคุณชอบดื่มเบียร์ ผมก็มีเบียร์ต้อนรับด้วย สบาย ๆ” เขายิ้ม

ไรน์นี่บอกว่าเขาตั้งใจไม่ให้ที่นี่เป็นอาร์ตแกลเลอรี่ เพราะจุดประสงค์ของมันหาใช่การขายงานศิลปะ 

“ไม่ใช่ไม่ขายงาน แต่เราจะไม่หักส่วนแบ่งใด ๆ จากศิลปิน” เขาบอก ไรน์นี่ต้องการให้พื้นที่นี้เป็นพื้นที่ศิลปะทางเลือก เป็นพื้นที่สร้างคอนเนกชันของคนที่มีความสนใจคล้าย ๆ กัน และเป็นบ้านสำหรับสังสรรค์ระหว่างศิลปินกับคนรักศิลปะ รวมถึงเพื่อนใหม่ ๆ 

ถ้าไม่หักเปอร์เซ็นต์เลย แล้วคุณจะเอาเงินที่ไหนมาบริหารจัดการที่นี่ – ผมสงสัย

“ผมมีเงินบำนาญและเงินเก็บจากการทำงาน แล้วผมก็แทบไม่มีภาระค่าใช้จ่ายอะไรหนักหนาเลย จะมีก็แค่ค่าเดินทางเวลาไปรีเสิร์ชข้อมูล หรือไปหาศิลปินในเมืองต่าง ๆ ชีวิตเลยไม่ได้ต้องการอะไรมาก ขณะเดียวกัน พอผมไม่หักเปอร์เซ็นต์ใด ๆ กับศิลปิน ศิลปินที่มาแสดงก็เลยทำงานศิลปะมอบให้ผมไว้เป็นการตอบแทน นี่เป็นกำไรที่มีคุณค่ามากนะ” เขาตอบ

พื้นที่สำหรับชีวิตและศิลปะ

ในฐานะที่ไรน์นี่เป็นคนเยอรมัน และใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางแวดวงศิลปะของยุโรปมาหลายทศวรรษ ผมจึงถามเขาต่อว่า พอมาทำงานกับศิลปินไทย เขาพบความแตกต่างอย่างไร

“อย่างที่คุณทราบ คนเยอรมันค่อนข้างจริงจัง และทำทุกอย่างเป็นระบบ แต่ผมก็กลับชอบความเป็นกันเอง และผ่อนคลายของคนที่นี่ จริงอยู่ มีบางครั้งที่นิทรรศการที่นี่อีก 1 ชั่วโมงจะถึงเวลาเปิดเข้าชมแล้ว แต่ศิลปินยังติดตั้งงานไม่เสร็จ ตอนแรก ๆ ผมก็กังวล แต่ถึงอย่างนั้น ทุกอย่างก็เรียบร้อยทันเวลา ในความสบาย ๆ ของคนที่นี่ ทุกคนที่ผมเคยทำงานด้วยล้วนเป็นมืออาชีพ หลัง ๆ ผมจะเคลียร์หน้าที่ของตัวเองทุกอย่างให้เสร็จก่อน และบอกศิลปินว่าที่เหลือคือหน้าที่ของคุณ ทำให้ดีที่สุด ผมจะดื่มเบียร์รอ” เขายิ้ม

นอกจากนี้ ไรน์นี่ยังตั้งข้อสังเกตว่า การที่เขาเคยเติบโตมาในยุคที่ศิลปะถูกตรวจตราอย่างเคร่งครัดโดยรัฐ การได้เห็นพลวัตของศิลปินไทยรุ่นใหม่ที่พยายามคัดง้างกรอบความเชื่อแบบเดิมและการแทรกแซงจากรัฐ หรือการใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือสื่อสารทางการเมือง ไปจนถึงการแสดงอัตลักษณ์อันลื่นไหลทางเพศ ก็ทำให้เขาย้อนนึกถึงความเป็นอันเดอร์กราวนด์ซีนในเยอรมนีตะวันออกไม่น้อย

“มันอาจเปรียบเทียบกันตรง ๆ ไม่ได้ แต่ผมชื่นชมงาน Figurative Art และ Political Art ของศิลปินไทยมาก จริงอยู่ที่ศิลปินส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลด้านเทคนิคมาจากงานตะวันตก แต่ในขณะเดียวกัน เขาก็นำบริบทของสังคมไทยที่กำลังเผชิญมาสื่อสารอย่างแหลมคม อย่าง อนุวัฒน์ อภิมุขมงคล ที่วาดบังลีเพื่อสะท้อนถึง LGBTQ ในสังคมมุสลิม ชรินธร ราชุรัชต ที่ใช้ภาพถ่ายสะท้อนค่านิยมของชนชั้นกลางและจุดยืนทางการเมือง Baphoboy ที่เสียดเย้ยสถานการณ์ทางการเมืองด้วยอารมณ์ขัน หรืออย่างนิทรรศการที่แล้วของเราโดย ปวเรศวร์ โชคแสน ที่ใช้จิตรกรรมสีสดใสและแตกต่างเพื่อสะท้อนความเหลื่อมล้ำ เป็นต้น 

งานเหล่านี้คือส่วนผสมทั้งชีวิตส่วนตัวของผู้สร้าง การประกาศจุดยืนในฐานะศิลปิน และความคับข้องที่พวกเขามีต่อสังคมการเมือง เหล่านี้คือเหตุผลหลักที่ผมอยากร่วมงานกับพวกเขา มันคืองานที่สะท้อนชีวิตและศิลปะ เหมือนกับบ้านหลังนี้ที่เป็นทั้งพื้นที่ชีวิตและศิลปะของผม” 

เมื่อกี้ยังบอกว่ามาอยากให้ที่นี่เหมือนมาดูงานศิลปะที่บ้านเพื่อน แต่ที่คุณพูดนี่ฟังดูเครียดเหมือนกันนะครับ – ผมถามหยอก 

“ถ้าในเชิง Curation ของนิทรรศการ ก็ใช่ ผมจริงจัง และอยากทำให้มีมาตรฐานสูงที่สุด รวมถึงอยากมีส่วนผลักดันให้ศิลปินได้เจอคอนเนกชันใหม่ๆ ต่อยอดพวกเขาไปอีก แต่ในเชิงบรรยากาศ คุณก็เห็น หลายงานที่แสดงมันอาจมีสาส์นการเมืองที่หนัก แต่ภาพที่ปรากฏมันดูสนุก บางรูปก็ชวนให้คิดและชวนให้ขำ Head High Second Floor เป็นแบบนั้น ผมตั้งใจให้บ้านหลังนี้เต็มไปด้วยงานศิลปะ หนังสือ กับผู้คนน่ารัก ๆ ที่รักในสิ่งเดียวกัน และที่สำคัญคือปาร์ตี้ (หัวเราะ) ให้ทุกคนมาพูดคุยและสนุกไปด้วยกัน”

“จะบอกว่าความตั้งใจทั้งหมดก็มีแค่นั้นก็ได้” เขาย้ำ

“To have fun.” ผมบอก

“ใช่เลย Just have fun.”

Head High Second Floor

Head High Second Floor กำลังจัดนิทรรศการ In Seventh Heaven นิทรรศการเดี่ยวของ โฆษิต จันทรทิพย์ ที่รำลึกถึงวาระครบ 30 ปี งานวิวาห์ของโฆษิตกับตุ๊กตายาง Lily Ovary ที่เกิดขึ้นจริง ๆ ณ คริสตจักรแห่งแรกของเมืองเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ปี 1994 นิทรรศการนำเสนอประติมากรรมพลาสติกเพื่อเป็นการเฉลิมฉลองชีวิตและความสัมพันธ์สุดพิเศษของศิลปินกับตุ๊กตายาง และความรักที่ไร้ข้อจำกัด รวมถึงฟุตเทจวิดีโอบันทึกช่วงเวลาเข้าประตูวิวาห์ของศิลปินเมื่อ 30 ปีที่แล้ว นิทรรศการนี้จะแสดงจนถึงช่วงปลายเดือนมีนาคม พ.ศ. 2567 

สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถนัดหมายเข้าชมนิทรรศการและคอลเลกชันศิลปะส่วนตัวของไรน์นี่ได้ทาง Facebook : HEAD HIGH Second Floo

Writer

จิรัฏฐ์​ ประเสริฐทรัพย์

จิรัฏฐ์​ ประเสริฐทรัพย์

นักเขียนและนักแปล แต่บางครั้งก็หันมาทำงานศิลปะ อาศัยอยู่ที่เชียงใหม่ ผลงานล่าสุดคือรวมเรื่องสั้น 'รักในลวง'

Photographer

Avatar

ภูพิงค์ ตันเกษม

ชีวิตผม ชอบการเดินทาง ชอบทำอาหาร และรักการบันทึกความทรงจำด้วยภาพถ่าย