ณ ซาว เอกมัย ร้านอาหารอีสานสุดแซ่บของ อีฟ-ณัฐธิดา พละศักดิ์ หญิงสาวชาวเกาหลีในชุดเดรสสีขาวสุดเก๋ไก๋กำลังยืนคุยเรื่องการหมักสาโทจากข้าวพื้นบ้านของไทยกับเจ้าของแบรนด์สาโทอย่างออกรส
เธอคือ Ha Mi Hyun ดีไซเนอร์เจ้าของโปรเจกต์ SPOKEN RECIPE ที่วิจัยเรื่องอาหารท้องถิ่นเกาหลีซึ่งส่งความรู้ต่อกันแต่โบราณด้วยวิธีมุขปาฐะ แล้วนำความรู้เหล่านั้นมาสื่อสารต่อในรูปแบบน่าสนใจ
เช่นในวันนี้ เธอบินมาร่วมทำ Chef’s Table กับอีฟ ภายใต้ชื่อ We are the same ชวนผู้คนสำรวจความเหมือนของอาหารไทยและเกาหลีที่เสิร์ฟมาเคียงกัน
ณ โต๊ะ Chef’s Table ซึ่งฮามิตกแต่งได้งดงามน่าตื่นตาตื่นใจสมเป็นนักออกแบบ ฉันจิบสาโทรสหวานละมุนไม่แพ้มักกอลลี สลับกับอาหารไทยจากอีฟ และอาหารเกาหลีจากฮามิที่เวียนมาให้ลองชิม ก่อนเริ่มต้นบทสนทนากับนักออกแบบสาวชาวเกาหลี ถึงการเดินทางสำรวจภูมิปัญญาอาหารของเธอ
เด็กหญิงจากเมืองท่าปูซาน สู่สาวนักวิจัยโลกอาหารเกาหลีท้องถิ่น
ฮามิเล่าว่าเธอเกิดและใช้ชีวิตวัยเด็กที่เมืองปูซาน เมืองท่าของประเทศเกาหลีใต้ซึ่งสอนให้เธอรู้จักอาหารจากหลากหลายท้องถิ่นที่ผสมผสานเข้าด้วยกัน ก่อนจะบินลัดฟ้าจากบ้านเกิดสู่ประเทศฝรั่งเศสเพื่อเรียนเรื่องแฟชั่นที่เป็นความสนใจ
หลังเรียนจบ ฮามิทำงานเป็น Art Director สายโฆษณาโทรทัศน์ต่อที่ฝรั่งเศส แต่ระหว่างทำงาน เธอเริ่มเกิดคำถามกับงานที่ทำ เพราะไม่ว่าจะลงแรงสร้างสิ่งที่สวยงามขนาดไหนขึ้นในวงการแฟชั่น ถึงที่สุดสิ่งเหล่านี้ก็จะกลายเป็นขยะอย่างรวดเร็ว
“ฉันรักงานที่ทำนะ” ฮามิบอก “แต่มันก็เป็นเรื่องหนักสำหรับฉัน เพราะทุกอย่างที่ทำขึ้นมาจะถูกโยนทิ้งไปเมื่อเสร็จงาน”
ระหว่างที่เกิดวิกฤตในการทำงานอยู่ ฮามิบินกลับมาบ้านเกิดเพื่อหย่อนใจช่วงสั้น ๆ ตอนนั้นเอง เธอมีโอกาสไปเยี่ยมเยียนวัดในต่างจังหวัด และได้เห็นการทำอาหารของเหล่านักบวช
เด็กหญิงชาวปูซานในตัวฮามิตื่นขึ้นอีกครั้ง เมื่อได้เห็นการทำอาหารอุดมด้วยวัตถุดิบจากธรรมชาติ มีกระบวนการทำที่ยั่งยืน และดูเปี่ยมพลังคล้ายกำลังประกอบพิธีกรรม หลังจากนั้นเธอจึงเริ่มหันกลับมาสนใจวัฒนธรรมอาหารอีกครั้ง
ในมุมมองของฮามิ เรื่องราวอาหารเกาหลีที่พูดถึงกันในสังคมตอนนั้นค่อนข้างแคบ แหล่งข้อมูลที่ค้นหาแล้วเจอก็มักเป็นอาหารชาววัง ซึ่งค่อนข้างอยู่ในกรอบและออกแนววิชาการ สิ่งที่ดึงดูดความสนใจของเธอจึงเป็นอาหารท้องถิ่นซึ่งมีชีวิตชีวา ทำอย่างเรียบง่ายเป็นกิจวัตรประจำวันเพื่อกินเองในครัวเรือน ไม่ได้จัดแต่งงดงามเพื่อเสิร์ฟให้คนอื่น และส่งต่อสูตรกันแบบมุขปาฐะหรือปากต่อปาก เพราะไม่ได้มีเวลานั่งจดสูตรกันอย่างเป็นทางการ
“อาหารเหล่านี้เชื่อมโยงกับชีวิต อะไรคืออาหาร อะไรคือชีวิต คำถามเหล่านี้เชื่อมโยงถึงกัน” ฮามิอธิบายสิ่งที่เธอรู้สึกกับอาหารท้องถิ่นของคนท้องถิ่น
เมื่อค้นพบมุมที่สนใจในวัฒนธรรมอาหาร ฮามิจึงเริ่มต้นวิจัยและเก็บรวบรวมสูตรอาหารผ่านการลงพื้นที่ไปนั่งพูดคุยกับผู้คนซึ่งส่วนใหญ่คือเกษตรกร
และนี่คือจุดเริ่มต้นของโครงการที่กลายเป็นการงานแห่งชีวิตของดีไซเนอร์สาวชาวเกาหลีคนนี้
จุดเริ่มต้นของ ‘SPOKEN RECIPE’
สืบสานอดีต ก้าวสู่อนาคต
ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่จะมาอยู่ใน SPOKEN RECIPE เป็นสิ่งที่คัดสรรอย่างมีระบบและมีหลักการชัดเจน ฮามิเคยแจกแจงไว้ว่ากฎเกณฑ์ในการเก็บข้อมูลของ SPOKEN RECIPE มีอยู่ 3 ข้อด้วยกัน
หนึ่ง อาหารต้องมาจากผู้ผลิตท้องถิ่น เพราะใครจะรู้จักอาหารเหล่านี้ดีเท่าคนที่เพาะปลูกมันลงบนผืนดิน
สอง อาหารต้องมาจากพืชพรรณที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน เพราะเมื่อดำรงอยู่ผ่านกาลเวลา วัตถุดิบเหล่านี้ย่อมยึดโยงอยู่กับหลากหลายมิติของวัฒนธรรมอาหาร และกลายเป็นสิ่งที่ควรรักษาไว้เพื่อไม่ให้วัฒนธรรมสั่นคลอน
สาม สูตรอาหารต้องเป็นสูตรที่ยังทำกินกันอยู่จริงในปัจจุบัน เพื่อบอกเล่าว่าขนบธรรมเนียมนั้นเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้คน
“ฉันคิดว่าอาหารเกาหลีมีคาแรกเตอร์เฉพาะตัวคือการเป็น Slow Fast Food เรามีอาหารประเภทหมักดองที่ใช้เวลาทำนาน เช่น กิมจิ แต่เมื่อนำมาปรุงอาหาร เราปรุงพวกมันอย่างรวดเร็วเสมอ” ฮามิแทรกข้อสังเกตที่ได้จากการทำงาน
เรื่องราวใน SPOKEN RECIPE จึงเป็นภูมิปัญญาที่เลือกสรรมาแล้วอย่างดี และไม่เพียงตระเวนเก็บสูตรอาหารจากคนพื้นถิ่นในภูมิภาคต่าง ๆ ฮามิยังส่งต่อภูมิปัญญาที่ได้รับมาผ่านสื่อหลากหลายรูปแบบ เพื่อส่งไปให้ถึงคนยุคปัจจุบันที่หลายคนอาจไม่คุ้นกับอาหารท้องถิ่นแล้ว
แรกสุด เธอรวบรวมความรู้ถ่ายทอดเป็นหนังสือ เช่น หนังสือรวมสูตรอาหารจากเกาะเชจู
ต่อมา สูตรอาหารถูกนำเสนอในรูปแบบเวิร์กช็อปและนิทรรศการ เช่น นิทรรศการ Recipes from the Earth ที่จัดแสดงเรื่องราวของธัญพืช ณ National Agricultural Museum of Korea
หลายครั้งโปรเจกต์เหล่านี้ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล และอีกหลายครั้งสนับสนุนโดยแบรนด์ต่าง ๆ ที่สนใจอยากทำงานเรื่องวัฒนธรรมอาหาร โดยฮามิทำงานเหล่านี้ร่วมกับคนท้องถิ่น นอกจากคนทั่วไปได้รับรู้ คนต้นเรื่องยังรู้สึกมีส่วนร่วมไปกับงานนี้ด้วย
นอกจากเวิร์กช็อปและนิทรรศการ ฮามิยังคัดเลือกวัตถุดิบน่าสนใจจากท้องถิ่นมาปรุงเป็นอาหาร 1 ฤดูกาล 1 เมนู แล้วส่งพวกมันไปอยู่บนชั้นวางของซูเปอร์มาร์เก็ตในเมืองใหญ่ สู่มือของคนเมืองที่อาจห่างไกลภูมิปัญญาท้องถิ่น
สำหรับฮามิ SPOKEN RECIPE คือเครื่องมือสืบสานภูมิปัญญาจากอดีตไม่ให้สูญหาย เชื่อมต่ออดีตและอนาคตเข้าด้วยกัน
“นี่ไม่ใช่แค่อาหารเกาหลี แต่คือประวัติศาสตร์ของเรา” ฮามิกล่าว “และในยุคนี้ที่ผู้คนยิ่งใกล้ชิดกับความเป็นหุ่นยนต์ อาหารที่เชื่อมโยงกับผืนดินเหล่านี้ทำให้เราได้สัมผัสความเป็นมนุษย์”
จากเกาหลีสู่โลกทั้งใบ
จากวันแรกที่เริ่มต้นในท้องถิ่นเกาหลี ขอบเขตงานของ SPOKEN RECIPE ในปัจจุบันขยายไกลไปสู่อีกหลายประเทศทั่วโลก บางเวลาเราจะพบฮามิเดินสำรวจวัฒนธรรมอาหารในไร่ของอิตาลีและเปรู อีกบางเวลา เธอกำลังตื่นตาตื่นใจกับอาหารที่ไม่คุ้นตาในตลาดเช้าของเมืองไทย
“ฉันชอบเห็นสิ่งต่าง ๆ ด้วยตาตัวเอง ออกไปพบปะผู้คนเอง นอกจากนี้ฉันยังไม่อยากจำกัดตัวเองอยู่แค่กับประเทศเดียว การเป็นคนนอกที่เข้าไปเรียนรู้อาหารของชาติอื่นเปรียบเหมือนการเรียนรู้โลกด้วยดวงตาที่ 3 นี่เป็นสิ่งซึ่งฉันอยากรักษาเอาไว้” ฮามิอธิบาย
และถ้าถามว่าเธอเรียนรู้อะไรจากการเดินทางในโลกอาหารท้องถิ่นที่แสนกว้างใหญ่ ฮามิสรุปไว้ด้วยชื่อ Chef’s Table ของเธอกับอีฟที่ฉันได้ร่วมโต๊ะในวันนี้
‘We are the same’
“เรามีบางสิ่งที่เหมือนกัน” ฮามิบอก ตัวอย่างความคล้ายคลึงที่เธอสังเกตเห็นก็เช่น การที่ชาวไทยและเกาหลีซึ่งอยู่ไกลกันต่างใช้ข้าวและพริกปรุงอาหาร
“แต่ขณะเดียวกัน เราก็มีหลายอย่างต่างกันด้วย และเมื่อเรานำความต่างมาผสมผสานกัน ทุกอย่างจะพัฒนาขึ้น เปล่งประกายยิ่งกว่าเดิม” ดีไซเนอร์เจ้าของ SPOKEN RECIPE ชวนขยายมุมมองจากสิ่งที่เธอเรียนรู้ต่อไป
ณ ปัจจุบัน SPOKEN RECIPE ลงพื้นที่พูดคุยกับคนท้องถิ่นทั่วโลกไปแล้วหลายพันคน เก็บเกี่ยวสูตรอาหารมาแล้วหลายร้อยสูตร และฮามิยังคงก้าวเดินในโลกอาหารท้องถิ่น เรียนรู้ชีวิตมนุษย์ผ่านสิ่งที่อยู่ในจานของแต่ละครัวเรือน
“SPOKEN RECIPE ไม่ใช่แค่โปรเจกต์ แต่มันคือวิถีชีวิตฉัน” ฮามิทิ้งท้าย
Website : spoken-recipe.com